วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พฤติกรรมที่ใช้จำแนกทีท่าของมนุษย์

ดร.เดวิด เมอริลล์(David Merrill) นักจิตวิทยาอุตสาหกรรม เห็นว่า การแบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 แบบ อันได้แก่ พวกช่างคิด พวกแสดงออกตามความรู้สึก พวกสนใจแต่ความรู้สึกของตน และ พวกรู้สึกเร็ว ตามทัศนะของคาร์ล จุง นั้น เป็นการแบ่งตามสภาวะภายใน(inner states)ของมนุษย์มากว่าที่จะดูจากพฤติกรรมภายนอก จึงยากที่จะจำแนกมนุษย์ออกเป็นพวกๆได้

ดร.เมอริลล์ จึงได้สร้างตัวแบบขึ้นมา ให้เป็นตัวแบบที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยดูจากพฤติกรรมภายนอก(outer behavior) มากกว่าที่จะดูจากสภาวะภายใน และจากการดูพฤติกรรมภายนอก เขาได้แบ่งคนออกเป็น 4 ทีท่า คือ นักวิเคราะห์ นักแข่งขัน นักแสดงออก และนักสังคม

เหตุที่ดูความแตกต่างระหว่างบุคคลจากพฤติกรรมไม่ใช่ดูจากบุคลิกภาพ เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลกระทำเพื่อแสดงให้เห็นถึงชีวิตของตน เป็นตัวแบบที่เกี่ยวข้องกับภาษากาย ส่วนบุคลิกภาพเป็นผลรวมของลักษณะทางสมอง อารมณ์ และพฤติกรรม เป็นการมองทั้งภายนอกและภายใน ซึงเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจถึงสภาวะภายในของบุคคลได้

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงทีท่าของบุคคลได้ จะต้องเป็นพฤคิกรรมที่บุคคลทำซ้ำๆทุกๆวัน ทำโดยไม่ต้องคิด จนเกือบเป็นสัญชาตญาณ ไม่ใช่เป็นพฤติกรรมที่ทำในบางครั้งบางโอกาส

ดร.เมอริลล์ เห็นว่า พฤติกรรมของมนุษย์มีอยู่ 2 กลุ่ม คือพฤคิกรรมยืนกราน และพฤติกรรมตอบสนอง  ซึ่งพฤติกรรมทั้ง 2 กลุ่ม เป็นมิติของพฤติกรรมที่ช่วยในการทำนายทีท่าของบุคคล

พฤติกรรมยืนกราน หมายถึง พฤติกรรมที่มีระดับของพฤติกรรมที่บุคคลอื่นเห็นว่า เป็นการบังคับ หรือชี้นำ ระดับของพฤติกรรมยืนกราน เป็นการรับรู้ของบุคคลอื่น โดยไม่จำเป็นว่าพฤติกรรมนั้นจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงแรงขับหรือสภาวะภายในที่แท้จริงของบุคคล พฤติกรรมยืนกรานแบ่งได้เป็นพฤติกรรมยืนกรานสูงและพฤติกรรมยืนกรานต่ำ

ลักษณะของบุคคลที่มีพฤติกรรมยืนกรานสูงได้แก่
                                   +ใช้พลังมากกว่า
                                   +เคลื่อนไหวเร็วกว่า
                                   +แสดงกิริยากระฉับกระเฉงกว่า
                                   +ใช้ตาสัมผัสหนักแน่นกว่า
                                   +ตัวตรงหรือโน้มไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชี้
                                   +พูดเร็วกว่า่
                                   +พูดเสียงดังกว่า
                                   +พูดมากกว่า
                                   +บอกปัญหาได้เร็วกว่า
                                   +ตัดสินใจได้เร็วกว่า
                                   +ชอบเสี่ยงมากกว่า
                                   +เผชิญหน้ามากกว่า
                                   +ชี้นำและย้ำมากกว่าเมื่อแสดงความคิดเห็น ขอร้อง และกำหนดทิศทาง
                                   +มีความกดดันเพื่อให้ตัดสินใจหรือกระทำมากกว่า
                                   +แสดงอาการโกรธเร็วกว่า
ผู้มีพฤติกรรมยืนกรานสูง จะมีลักษณะดังกล่าวนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด

ลักษณะของบุคคลที่มีพฤติกรรมยืนกรานต่ำ ได้แก่
                                   +ใช้พลังน้อยกว่า
                                   +เคลื่อนไหวช้ากว่า
                                   +แสดงกิริยากระฉับกระเฉงน้อยกว่า
                                   +ใช้สายตาสัมผัสหนักแน่นน้อยกว่า
                                   +ลำตัวเอนไปข้างหลังแม้ขณะที่ชี้
                                   +พูดช้ากว่า
                                   +พูดนุ่มกว่า
                                   +พูดน้อยกว่า
                                   +ตัดสินใจช้ากว่า
                                   +ชอบเสี่ยงน้อยกว่า
                                   +ชี้นำและย้ำน้อยกว่าเมื่อแสดงความคิดเห็น ขอร้อง และกำหนดทิศทาง
                                   +มีความกดดันให้ตัดสินใจหรือกระทำน้อยกว่า
                                   +แสดงความโกรธช้ากว่า
ผู้มีพฤติกรรมยืนกรานต่ำ จะมีลักษณะเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีทั้งหมด

พฤติกรรมตอบสนอง หมายถึง พฤติกรรมที่มีระดับของพฤติกรรมที่บุคคลอื่นเห็นจากการแสดงอารมณ์ หรือ การแสดงถึงความตระหนักที่มีต่อความรู้สึกของคนอื่น เป็นระดับการตอบสนองที่คนอื่นเห็น พฤติกรรมตอบสนองแบ่งออกได้ เป็นพฤติกรรมตอบสนองสูง และพฤติกรรมตอบสนองต่ำ

ลักษณะของบุคคลที่มีพฤติกรรมตอบสนองสูง ได้แก่
                                   +แสดงความรู้สึกเปิดเผยกว่า
                                   +แสดงความเป็นมิตรมากกว่า
                                   +แสดงทางสีหน้ามากกว่า
                                   +แสดงกิริยาเสรีมากกว่า
                                   +มีเสียงกังวาลมากกว่า
                                   +พอใจอยู่กับการพูด
                                   +ใช้เกร็ดแทนเรื่องราวมากกว่า
                                   +แสดงความเอาใจใส่ประเด็นที่เกี่ยวกับมนุษย์มากกว่า
                                   +ชอบทำงานกับคนอื่น
                                   +เอาใจใส่กับการแต่งกายมากกว่า
                                   +ใช้เวลาอย่างมีโครงสร้างน้อยกว่า
ผู้ที่มีพฤติกรรมตอบสนองสูง จะมีลักษณะดังกล่าวนี้ แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีลักษณะเหล่านี้ทั้งหมด

ลักษณะของบุคคลที่มีพฤติกรรมตอบสนองต่ำ ได้แก่
                                   +แสดงความรู้สึกเปิดเผยน้อยกว่า
                                   +ไว้ตัวมากกว่า
                                   +แสดงสีหน้าน้อยกว่า
                                   +แสดงกิริยาท่าทางน้อยกว่า
                                   +มีเสียงกังวาลน้อยกว่า
                                   +สนใจที่จะพูดน้อยกว่า
                                   +ใช้ข้อเท็จจริงและตรรกะมากกว่า
                                   +มุ่งงานมากว่า
                                   +ชอบทำงานคนเดียวมากกว่า
                                   +แต่งกายเรียบร้อยกว่า
                                   +ใช้เวลาอย่างมีโครสร้างมากกว่า
ผู้มีพฤติกรรมตอบสนองต่ำ จะมีลักษณะดังกล่าวนี้ แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีพฤติกรรมเหล่านี้ทั้งหมด

โดยนำมาจำแนกทีท่าของมนุษย์ได้ดังนี้ นักวิเคราะห์ จะมีพฤติกรรมยืนกรานและพฤติกรรมตอบสนองต่ำ นักสังคม จะมีพฤติกรรมยืนกรานต่ำแต่มีพฤติกรรมตอบสนองสูง นักแสดงออก จะมีพฤติกรรมยืนกรานสูงแต่มีพฤติกรรมตอบสนองต่ำ ส่วนนักแข่งขัน จะมีพฤติกรรมยืนกรานสูงแต่มีพฤติกรรมตอบสนองต่ำ

ลักษณะพฤติกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นพฤติกรรมที่ ดร.เดวิด เมอริลล์ ใช้จำแนกทีท่าของมนุษย์ ออกเป็น นักวิเคราห์ นักแข่งขัน นักแสดงออก และนักสังคม  โดยเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดจาการถูกบังคับ หรือแสดงออกในบางครั้งบางโอกาส แต่เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

                      Success is the ability to go from failure to failure without losing your enthusiasm.

                                                                            Winston Churchill

*********************************************************************************
หมายเหตุ เพื่อความเข้าใจ ควรอ่าน "ทีท่าของมนุษย์" จาก http://PaisarnKr.blogspot.com ประกอบด้วย


วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ทีท่าของมนุษย์

การเข้าใจทีท่า(style)ของมนุษย์ จะช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่น ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำงานและมีความสุขในชีวิต ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความเข้าใจตนเองและผู้อื่น นั่นคือการเข้าใจทีท่าของมนุษย์ จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในการทำงานและมีความสุขในชีวิต

ทีท่า คืออะไร ทีท่าของบุคคลใด ก็คือ พฤติกรรมของบุคคลที่บุคคลอื่นมองเห็น  ซึ่ง เดวิด เมอริลล์ (David Merrill)  เห็นว่า การจะบอกว่าทีท่าของบุคคคลนั้นเป็นอย่างไร จะต้องใช้แบบแผนของพฤติกรรมยืนกราน(assertive behavior)และพฤติกรรมตอบสนอง(responsive behavior) ที่สังเกตเห็นได้ประกอบกันเป็นตัวทำนาย

พฤติกรรมยืนกราน แบ่งออกเป็น พฤติกรรมยืนกรานสูงและพฤติกรรมยืนกรานต่ำ ซึ่งทั้ง 2 พฤติกรรมมีลักษณะแตกต่างกัน

                                      ดัชนีชี้วัดบอกระดับของพฤติกรรมยืนกราน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                 รายการ                                          ยืนกรานต่ำ                                     ยืนกรานสูง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. ปริมาณการพูด                                            น้อย                                                มาก
2. อัตราการพูด                                               ช้ากว่า                                             เร็วกว่า
3. น้ำเสียง                                                      เบากว่า                                           ดังกว่า
4. การเคลื่อนไหว                                           น้อย/ช้ากว่า                                     มาก/เร็วกว่า
5. การแสดงพลัง                                            น้อย                                                 มาก
6. ท่าทาง                                                       เอนไปข้างหลัง                                ชะโงกไปข้างหน้า
7. การแสดงปฏิกิริยาที่เต็มไปด้วยการบังคับ   น้อย                                                  มาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ส่วนพฤติกรรมตอบสนองแบ่งออกเป็น พฤติกรรมตอบสนองสูงและพฤติกรรมตอบสนองต่ำ เช่นเดียวกัน และทั้ง 2 พฤติกรรมมีลักษณะแตกต่างกัน

                                          ดัชนีชี้วัดระดับของพฤติกรรมตอบสนอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                 รายการ                                             ตอบสนองต่ำ                                    ตอบสนองสูง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. การแสดงออกทางสีหน้า                                น้อย                                                  มาก
2. การเปลี่ยนของน้ำเสียง                                  น้อย                                                  มาก
3. การเลื่อนไหลของการเปลี่ยนกริยาท่าทาง       น้อย                                                  มาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เดวิด เมอริลล์ได้ใช้พฤติกรรมยืนกรานและพฤติกรรมตอบสนอง จำแนกท่าทีของมนุษย์ ตามที่บุคคลอื่นรับรู้ออกเป็น นักวิเคราะห์ นักแข่งขัน นักแสดงออก และนักสังคม

                                                               1.นักวิเคราะห์ 

นักวิเคราะห์เป็นกลุ่มที่มีทีท่าสมบูรณ์ที่สุด เป็นพวกที่มีพฤติกรรมตอบสนองต่ำกว่าเฉลี่ย และมีพฤติกรรมยืนกรานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน

นักวิเคราะห์จะกำหนดค่ามาตรฐานไว้สูง การทำงานจึงต้องใช้เวลาเพื่อให้บรรลุมาตรฐานที่กำหนดไว้

พวกนี้มีแนวโน้มที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เพราะมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะสมบูรณ์แบบนิยม จึงเป็นคนจริงจังทั้งกับตนเองและผู้อื่น

นักวิเคราะห์จะทำงานที่เป็นระบบ การจัดการดี กระหายข้อมูลยิ่งมากยิ่งดี เพราะเชื่อว่าความรู้คืออำนาจ เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่เสี่ยงจะรอบคอบ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าเสียใจภายหลัง

นักวิเคราะห์ชอบอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับคนไม่มาก ชอบอยู่ประจำสำนักงาน  ถ้าเป็นผู้บริหารชอบเดินดูรอบๆเพื่อหาข้อเท็จจริง

นักวิเคราะห์มีทีท่าที่เงียบที่สุด พุดน้อยกว่าทีท่าอื่นๆ เว้นแต่จะพูดถึงรายละเอียด ชอบเขียนมากกว่าใช้วิธีการสื่อสารอย่างอื่น ไม่ชอบแสดงความรู้สึกในเรื่องต่างๆ เลี่ยงการใช้อารมณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

                                                                 2.นักแข่งขัน 

นักแข่งขันเป็นพวกนี้มีระดับการยืนกรานสูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีพฤติกรรมตอบสนองต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เป็นพวกมุ่งผลที่จะได้ มุ่งเป้าหมาย เป็นพวกอิสระ ชอบกำหนดเป้าหมายด้วยตนเองมากกว่าที่จะให้คนอื่นกำหนดให้

นักแข่งขันชอบการทำงานให้สำเร็จ เมื่อเจอปัญหาจะต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับปัญหานั้น แม้จะได้ผลไม่ดีที่สุดก็ตาม แต่นักแข่งขันจะรู้สึกโล่งที่ได้ทำอะไรบางอย่าง ชอบการตัดสินใจ และเชื่อว่าการไม่ตัดสินใจคือการตัดสินใจและเป็นการตัดสินใจที่แย่มากๆ

ในเรื่องความคิดเห็นหรือนโยบาย นักแข่งขันเปลี่ยนใจง่าย พวกนี้มีจุดมุ่งหมาย มีเหตุผล แต่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแผนเร็ว พูดเร็ว

เป็นพวกมุ่งงานมากว่ามุ่งคน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่เอาใจใส่คนอื่น คือเป็นห่วงเหมือนกันแต่ไม่พูดมาก คนทั่วไปมองว่านักแข่งขันเป็นพวกที่มีพฤติกรรมยืนกรานสูงที่สุด

                                                                 3.นักแสดงออก

นักแสดงออกเป็นพวกที่มีระดับของพฤติกรรมยืนกรานสูงกว่าค่าเฉลี่ย  มีพฤติกรรมตอบสนองสูงกว่าทีท่าอื่นๆ

เนื่องจากมีพลังมากพวกนี้จึงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ชอบอยู่ที่จุดใจุดหนึ่งนานๆ หากมีการประชุมนานๆยังแสดงอาการไม่หยุดนิ่ง โดยเปลี่ยนเก้าอี้ไปเรื่อยๆ หรือเคลื่อนมือไม้เล่นไปเรื่อยๆ นักแสดงออกมีทีท่าทีเด่นกว่ากลุ่มอื่นๆ

นักแสดงออกมีเพื่อฝูงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เมื่อใดที่นักแสดงออกต้องเลือกระหว่างการทำงานตามลำพังกับทำงานร่วมกับคนอื่น จะเลือกที่จะทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะชอบสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น

นักแสดงออกเป็นพวกช่างฝัน ชอบสร้างวิมานในอากาศ เป็นพวกที่ทำก่อนคิดทีหลัง ทำให้เกิดปัญหากับตนเองและคนอื่นในที่ทำงานอยู่เสมอ ชอบทำงานตามโอกาสมากกว่าทำตามแผน ความรู้สึกของนักแสดงออกจะมีอิทธิพลเหนือตนเองมากกว่าทีท่าอื่นๆ

นักแสดงออกชอบเล่น ชอบสนุก หาวิธีการทำงานให้สนุกมากขึ้น เมื่อนักแสดงออกพูดจะแสดงออกในทุกส่วนทั้งหน้าตาท่าทางเพื่อการสื่อสาร พูดเสียงดัง เป็นพวกมุ่งคนมากกว่ามุ่งงาน

                                                                4. นักสังคม 

นักสังคมเป็นพวกที่มีพฤติกรรมยืนกรานน้อยกว่าค่าเฉลี่ย มีพฤติกรรมตอบสนองสูงกว่านักวิเคราะห์

นักสังคมชอบเล่นเป็นทีม โดยปกติชอบทำงานกับคนอื่น แต่ไม่ชอบเด่น รู้จักให้เวลากับคนอื่น ชอบช่วยเหลือคนอื่น ชอบอาสา

นักสังคมมีความเป็นมิตร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีค่าในการทำงานกับคนอื่น นักสังคมมุ่งคนมากกว่างาน    สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่าคนส่วนใหญ่ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่แน่นอนและมีโครงสร้างที่ชัดเจน

นักสังคมมีแนวโน้มที่จะไม่ตัดสินใจ และระมัดระวังในการตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อหาหลักประกันความเสี่ยง ไม่ชอบตัดสินใจอะไรที่เสี่ยงๆ นักสังคมมีความอดทนต่อคนอื่น ยึดมโนธรรม ไม่กระตือรือร้นที่จะอ่านรายงาน แต่ชอบฟังรายงาน

นักสังคมปฏิเสธที่จะบอกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะกลัวว่าจะเกิดความแปลกแยก ไม่ชอบแสดงทัศนะโต้แย้ง ชอบรักษาความสัมพันธ์ ไม่เผชิญกับปัญหา

จากทีท่าของมนุษย์ทั้งสี่ทีท่า ไม่อาจสรุปได้ว่าทีท่าใดดีกว่าหรือเลวกว่าที่ท่าอื่น แต่ละทีท่ามีทั้งเข้มแข็งและอ่อนแอ แต่ละบุคคลจะมีทีท่าที่เด่น ที่มีอิทธิพลเหนือการทำงานของบุคคลนั้น แต่ละทีท่าประสบความสำเร็จได้ และแบบแผนพฤติกรรมของทีท่าหนึ่ง มีแนวโน้มที่จะก่อความเครียดกับอีก3 ทีท่า

หากบุคคลมีความเข้าใจทีท่าของมนุษย์ที่กล่าวมาทั้งหมด จะช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น ถ้าใช้ความสังเกตและการวิเคราะห์อย่างมีระบบและสม่ำเสมอ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานและมีความสุขในชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

                       Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success.
                             If you love what you are doing, you will be successful.

                                                                              Albert Schweitzer

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ธรรมชาติและองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์

มีคำกล่าวว่า การจะเข้าใจตนเองและบุคคลอื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติและปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์

ถึงกระนั้นก็ตาม หากพิจารณาถึงธรรมชาติของมนุษย์ นักจิตวิทยาเองก็มีความเชื่อแตกต่างกันแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ

          1. กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของการปรับตัวในสภาพแวดล้อม นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ เลวิน พีอาเจท์ และ โคลเบอร์ก

          2. กลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของการเรียนรู้ นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ ฮัลและ สกินเนอร์

          3. กลุ่มมนุษยนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์ดีได้ด้วยตนเอง พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเป็นผลิตผลของความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ โรเจอร์ส และมาสโลว์

          4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ กลุ่มนี้เชื่อเรื่องจิตและการวิเคราะห์จิตซึ่งเป็นพฤติกรรมภายใน นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ ฟรอยด์ และ ฟรอมม์

นักจิตวิทยาเหล่านี้มีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์แตกต่างกันก็จริง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน เป็นการมองต่างมุม เมื่อผสมผสานความเชื่อของแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน กลับทำให้มองเห็นธรรมชาติของมนุษย์ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในการที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่น นอกจากจะต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ยังจะต้องเข้าใจองค์ประกอบของตวามเป็นมนุษย์ ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่า  ความเป็นมนุษย์ประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ กล่าวคือ

           1. สิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยผ่าน ยีนส์ ซึ่งได้แก่ ลักษณะของสีที่ปรากฎในส่วนต่างๆของร่างกาย  ลักษณะของใบหน้า ลักษณะประจำเพศ สัดส่วนของร่างกาย การทำงานของร่างกาย เพศ หมู่เลือด โรคบางชนิด สติปัญญา และความถนัด

          2. สิ่งแวดล้อม หมายถึง เงื่อนไขหรือสภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

                 2.1 สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาก เพราะวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของมนุษยในสังคมหนึ่งๆ ซึ่งคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันจะมีวิถีชีวิตอย่างเดียวกัน มนุษย์ถูกกล่อมเกลาให้การศึกษาอบรมตั้งแต่เด็กว่าให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับวัฒนธรรม ประสบการณ์ต่างๆของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม การแสดงพฤติกรรมต่างๆจะเป็นไปตามแนวทางที่ได้รับการกล่อมเกลาทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมได้แก่ ขนบธรรมเนียม ภาษา สื่อต่างๆทางสังคม เป็นต้น

                 2.2 สิ่งแวดล้อมระหว่างบุคคล เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คือคนๆหนึ่งจะมีคนอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลที่มาเกี่ยวข้องจัดเป็นสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น เช่น พ่อแม่เป็นสิ่งแวดล้อมของลูก เป็นต้น

          3. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่า มนุษย์เป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ในลักษณะที่พันธุกรรมเป็นตัววางขอบข่ายของการพัฒนา ส่วนสิ่งแวดล้อมจะตัดสินว่าจะพัฒนาไปในลักษณะใด ซึ่งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคคลใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ

                 3.1 การควบคุมจากสังคม เป็นการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล ให้เป็นไปตามค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม โดยใช้วิธีให้รางวัลถ้าทำตามกฎเกณฑ์ และจะถูกลงโทษเมื่อทำผิดไปจากกฏเกณฑ์ของสังคม

                 3.2 ความปรารถนาจากสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงมีความต้องการที่จะได้รับการยอมรับ และความชื่นชมจากกลุ่ม พฤติกรรมของมนุษย์จึงต้องอยู่ภายใต้ความปรารถนาของสังคม ภายใต้ มโนธรรม  ความภูมิใจในตน และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

ธรรมชาติของมนุษย์และองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ที่กล่าวมา เป็นสาระสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลเข้าใจตนเองและผู้อื่น หากบุคคลไม่เข้าธรรมชาติและองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ ก็ยากที่จะเข้าใจตนเอง มีผลทำให้การพัฒนาตนไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันหากไม่เข้าใจผู้อื่นก็ยากที่จะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีผลทำให้ทำอยู่ในสังคมไม่ปกติสุขนัก 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                             Good luck and good fortune come to those who seek opportunity.

                                                                                      Frank Newman

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจตนเองและผู้อื่น

การเข้าใจตนเองมีความสำคัญต่อการพัฒนาตน เป็นกุญแจสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนตน ตลอดจนการดำเนินชีวิตของตน เพราะยิ่งรู้จักตนเองดีเท่าไร ย่อมจะมีความสามารถในการตัดสินใจและเลือกสิ่งที่เหมาะสมสำหรับตนมากขึ้นเท่านั้น

การพัฒนาตนจะไม่สามารถดำเนินไปได้ ถ้าไม่ทราบถึงความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของตน ตราบใดที่บุคคลมีข้อมูลหรือเข้าใจตนเอง ตราบนั้นบุคคลจะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ คนที่ต้องการจะพัฒนาตนอย่างจริงจัง จะต้องตระหนักว่า ความรู้เกี่ยวกับตนเป็นพื้นฐานของการพัฒนา

การรู้จักตนเองยังเป็นปัจจัยเบื้องต้น สำหรับการมีสุขภาพจิตดี ตลอดจนความสามารถที่จะรักและยอมรับคนอื่น เพราะยิ่งรู้จักตนมากเท่าไรจะยิ่งจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งเข้าใจคนอื่นลึกซึ้งมากเท่าไร จะยิ่งเข้าใจตนเองมากขึ้นเท่านั้น การเข้าใจตนเองจึงเป็นการเพิ่มอำนาจการเข้าใจคนอื่น

การเข้าใจตนเองและผู้อื่น มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพราะมนุษย์ไม่อาจทำอะไรได้สำเร็จแต่เพียงลำพังโดยปราศจากความร่วมมือจากคนอื่น

นักปราชญ์จีนยกย่องคนที่เข้าใจตนเองและผู้อื่นว่า "คนที่รู้จักคนอื่นเป็นปราชญ์ คนที่รู้จักตนเองเป็นคนฉลาด" และไม่ว่าในการทำกิจกรรมใดๆ แม้แต่การทำสงคราม  การเข้าใจตนเองและผู้อื่น จะช่วยให้การทำกิจกรรมนั้นประสบความสำเร็จ ดังคำพูดที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"

คำพูดของนักปราชญ์จีนที่กล่าวมานั้น แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการที่จะต้องเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

ในทำนองเดียวกัน โสเครติส มีความเห็นในเชิงแนะนำว่า "จงรู้จักตนเอง เพราะชีวิตที่ไม่รู้จักตนเองนั้น เป็นชีวิตที่ปราศจากคุณค่า" คุณค่าของชีวิตจึงอยู่ที่การสำรวจตนเอง เพื่อรู้ว่าชีวิตคืออะไร กำลังทำอะไรอยู่ และดำรงชีวิตอยู่เพื่ออะไร คำถามเหล่านี้ ช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า คุ้มค่าต่อการที่เกิดมา

ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง เห็นว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ถูกต้องนั้นมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน กล่าวคือ

         ขั้นที่ 1. ศึกษาตนเองทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้เข้าใจตนเองในทุกๆด้าน

         ขั้นที่ 2. ยอมรับตนเอง หลังจากที่ได้รู้จักตนเองอย่างดีแล้ว ทั้งนี้การยอมรับตนเองควรจะยอมรับทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย เพื่อจะได้ปรับปรุงตนเองต่อไป

         ขั้นที่ 3. การยอมรับและเข้าใจผู้อื่น จากการที่เรารู้จักตนเอง จะช่วยให้เรายอมรับและเข้าใจผู้อื่นได้ด้วย

          ขั้นที่ 4. ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตน เพื่อว่าการดำเนินชีวิตในโลกนี้ จะเป็นไปอย่างมีความสุข

จะเห็นว่า นักปราชญ์ทุกยุคทุกสมัย ต่างก็มองเห็นความสำคัญของการศึกษาตนเอง รู้จักตนเอง เพราะไม่มีอะไรใกล้ชิดตัวเรามากกว่าตัวเราเอง แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เรารู้จักน้อยที่สุดคือตัวเราเอง

ดังนั้น หากบุคคลใดต้องการที่พัฒนาตนเอง และดำเนินชีวิตอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จ อย่างมีคุณค่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาตนเอง เพื่อการเข้าใจตนเองและผู้อื่น อันเป็นแนวทางที่จะนำชีวิตของตนไปสู่ความต้องการดังกล่าวได้สำเร็จ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

               ผู้มีปัญญาจะมองหาทุกสิ่งจากด้านในตัวเขาเอง ส่วนคนบ้าจะมองหาทุกสิ่งในตัวผู้อื่น

                                                                                                    ขงจื๊อ

*********************************************************************************