วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

โครงสร้า่งสังคมระยะเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือสังคมจารึตนิยม สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน และสังคมสมัยใหม่

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมที่แปรเปลี่ยนจากสังคมจารึตนิยมไปสู่สังคมสมัยใหม่ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากอยู่ในช่วงสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆหลายด้าน มีการย้ายถิ่น มีการพัฒนาไปสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ตัวที่จะเป็นสังคมสมัยใหม่ จึงทำให้เกิดลักษณะทั้งใหม่และเก่าในสังคมเดียวกัน

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นระยะที่ก่อให้เกิดความสับสนแก่คนในสังคมที่ต้องการจะปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องค่านิยมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ในองค์กรรูปแบบใหม่ การให้ความสำคัญกับความอาวุโสลดลง เพราะต้องใช้ความสามารถในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง  อันเป็นเหตุให้หลักเกณฑ์ของความเคารพนับถือเปลี่ยนไปด้วย

โดยภาพรวม สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน จะมีลักษณะโครสร้างทางสังคม ดังนี้

1.สังคมเปิดกว้างขึ้น

ลักษณะทางสังคมที่เปิดกว้าง นำไปสู่การเลือ่นชั้นทางสังคมและการเปลี่ยนย้ายทางสังคม โดยมีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งการศึกษาจะเป็นตัวเปิดโอกาสให้ชนชั้นรากหญ้า เช่น กรรมกร และชาวนาสามารถขยับชั้นทางสังคมขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย วิศวกร และข้าราชการ

การเลื่อนชั้นทางสังคม ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คนที่อยู่ในชนบทมีโอกาสหางานทำและการย้ายถิ่นเข้าเมือง ผลสุดท้าย ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา เป็นชนชั้นที่มีความรู้ ชนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้าและนักธุรกิจมีจำนวนมากขึ้น

ดังนั้น โครงสร้างทางสังคมเดิมที่ประกอบด้วยชนชั้นผู้มีอำนาจทางการเมืองและชาวนาเป็นหลัก จะแปรเปลี่ยน มีชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักธุรกิจ และ กรรมการมากขึ้น

2. ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนา

ในสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนาจะเริ่มถูกกระทบกระเทือน ทั้งนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการย้ายถิ่น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งมีหลักเกณฑ์แบบจารีตนิยมเริ่มเสื่อมคลายลง  และยังไม่มีค่านิยมใหม่ที่เป็นระบบมาทดแทน ทำให้เกิดความสับสน เกิดความขัดแย้งทางค่านิยม

ศาสนาซึ่งเคยเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ก็เริ่มจะทำหน้าที่ได้น้อยลง ทำให้เกิดความเคว้งคว้าง ทั้งนี้เพราะคนห่างศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง  ประกอบกับคนในสังคมมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความคิดแนวใหม่ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นครั้งคราว

3. พฤติกรรม

เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและการเปลี่ยนชนชั้นทางสังคม ประกอบกับมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในสังคม ทำให้พฤติกรรมของสมาชิกในสังคมระยะเปลี่ยนผ่านสับสนอยู่บ้าง เช่น กรณีของคนชนบทที่เข้ามาอยู่ในเมือง ที่ยังมีความเป็นอยู่และดำเนินชีวิตแบบชนบท แต่ต้องมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เช่น การรักษากฎจราจรในการขับรถ การข้ามถนน ฯลฯ

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ค่านิยมบางประการและชนชั้นทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเริ่มแปรเปลี่ยน การเคารพตามฐานะและความอาวุโสเริ่มลดลง ทำให้เกิดความสับสน ในการแสดงพฤติกรรมต่อกันของคนในสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

4. สถาบันหรือโครงสร้างทางสังคมเดิมแบบจารีตนิยมบางประการยังคงอยู่

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆดังที่กล่าวมา แต่สถาบันหรือโครงสร้างแบบจารีตนิยมบางประการก็ยังคงอยู่ ถึงแม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เช่น การเล่นพวก หรือการอุปถัมภ์ช่วยเหลือสนับสนุน ยังคงมีความสำคัญต่อการได้ประโยชน์จากการทำงาน

ในสังคมไทย การวิ่งเต้นฝากเนื้อฝากตัว มีเจ้านายคุ้มครอง การถือตระกูลหรือเชื้อสาย การนับเครือญาติ ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่

กล่าวโดยสรุป จะได้ว่าสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างของเก่าที่ตกค้างมาจากสังคมจารีตนิยมกับของใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม อันเป็นกระบวนการปกติที่นำไปสู่สังคมสมัยใหม่

สำหรับสังคมไทยที่อยู่ระยะเปลี่ยนผ่าน ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป เพียงแต่ว่าไทยมีวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ  จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดปัญหาแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด แต่โดยภาพรวมแล้วไม่ถือว่าต่างกันมาก ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เหตุเพราะในสังคมระยะเปลี่ยนผ่านคนไทยบางกลุ่มมีความคิดความเชื่อ ค่านิยม เปลี่ยนไป  ในขณะที่บางกลุ่มพยายามที่จะรักษาของเดิมไว้ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นตามมาเป็นครั้งคราว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมเห็นว่ามีคุณค่า ทำให้คนในสังคมอยากได้ อยากเป็น และอยากมี

พฤติกรรม หมายถึง การกระทำ หรือแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เศรษฐกิจกับสังคมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร

เศรษฐกิจกับสังคมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเรื่องที่ตอบได้ไม่ยาก เพราะหน้าที่ทางเศรษฐกิจเป็นหน้าที่อันจำเป็นของสังคม ที่สังคมจะต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่รอดของสังคม

หากสังคมใดไม่ได้จัดให้มี หรือไม่สนใจหน้าที่ทางเศรษฐกิจของสังคมเท่าที่ควร สังคมนั้นก็จะเสื่อมสลาย เพราะมนุษย์ในสังคมนั้นจะไม่มีกินมีใช้หรือมีกินมีใช้แต่ไม่เพียงพอ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเป็นกิจกรรมที่สังคมจะต้องจัดขึ้น เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในสังคม เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคม 

กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจและสังคมมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน(interdependent) เมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและหน้าที่ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยเสมอ และในทางกลับกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามด้วยเสมอ การมีเศรษฐกิจตกตำ่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม

นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ยังพบว่า ความแตกต่างของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา เกิดมาจากความแตกต่างในแบบแผนทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ 

แบบแผนทางสังคมที่ปรากฎอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา มักจะไม่เอื้ออำนวยต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปรัชญาและค่านิยมในสังคมด้อยพัฒนาไม่กระตุ้นให้คนทำงานหนัก ไม่กล้าเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจนไม่กระตุ้นให้เกิดการออม

ทั้งนี้เป็นเพราะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ดี การพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ดี มีผลมาจากความพยายามของมนุษย์ และความพยายามของมนุษย์ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ค่านิยม และโครงสร้างทางสังคม 

สภาพแวดล้อมทางสังคม จึงอาจจะส่งเสริม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้เช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวความคิดใหม่ จึงมุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นในทุกๆด้าน 

นั้นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อสามารถลดหรือกำจัดความยากจน ภาวะการว่างงาน และมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน อันมีผลทำให้คุณภาพของชีวิตมนุษย์ดีขึ้นใน 3 ด้านใหญ่ๆคือ

          1. มีสิ่งสนองความต้องการสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และบริการด้านแพทย์และสาธารณะสุข เป็นต้น

          2. มีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เนื่องจากมีการศึกษา การมีงานทำ และมีสถานภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม

          3.มีเสรีภาพในสังคมด้านต่างๆ เช่น การเลือกประกอบอาชีพ การเลือกบริโภค เป็นต้น

ซึ่งเป็นความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ยอมรับถึงอิทธิพลของเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อกัน 

นั่นคือ ถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ดำเนินไปได้ด้วยดี จะต้องพัฒนาสังคมไปพร้อมๆกันด้วย เพราะเศรษฐกิจและสังคมต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

ในกรณีของสังคมไทย จากผลการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย พบว่าคนไทย มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมการทำงาน และการศึกษาอบรม ที่ไม่ค่อยจะเอื้อกับการพัฒนามากนัก ด้วยเหตุนี้ในการจะพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยควบคู่กันไปด้วย การพัฒนาจึงจะมีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคำ

สังคม คือ กลุ่มคน ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน มีความรู้สึกเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน และยอมรับแบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่มมาประพฤติปฏิบัติ

เศรษฐกิจ คือ การกระทำใดๆที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย กิจกรรมเกี่ยวกับการผลิต การแลกเปลี่ยน การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภค

*********************************************************************************




วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม

การจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง จะต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ระบบการศึกษา ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจบัน เพื่อลดความสูญเปล่า ตลอดจนปรับปรุงการดำเนินงานของระบบให้สามารถตอบสนองความต้องการทางสังคนและเศรษฐกิจให้มากขึ้น

เมื่อสมาชิกของสังคมได้ศึกษาเล่าเรียนจากระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมเชื่อได้ว่า จะเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้เร็วขึ้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

สำหรับการใช้การศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือ ในการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถทำได้ใน 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ 1 จัดการศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงมนุษย์โดยตรง เพื่อให้มนุษย์มีลักษณะเหมาะสมต่อการที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหน้าที่นี้เป็นหน้าที่โดยตรงของการศึกษา

ลักษณะที่ 2 ใช้การศึกษาในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง ด้วยการให้บริการทางวิชาการ การวิจัย ตลอดจนให้ความรู้จากการศึกษาค้นคว้า่สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นมี 2 ทิศทาง คือการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ต้องการ กับการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ไม่ต้องการ

การจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีเป้าหมาย มีการวางแผน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมาย และมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ก็คือ การพัฒนานั่นเอง

สำหรับเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น อย่างน้อยควรมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ ดังนี้

          1. มีการยกระดับความเป็นอยู่ ขจัดความยากจน และมีการขยายบริการทางสังคม ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

          2. มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเพื่อลดช่องว่าง ระหว่างวิถีชีวิตและการมีส่วนร่วมในกิจการของประเทศของคนส่วนใหญ่กับชนชั้นสูง ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยให้แคบลง เป็นสังคมที่มีความต่อเนื่องระหว่างชนชั้นทางสังคม มีการกระจายโอกาส และเกิดความคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น จะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ต้องการได้

ในการจัดการศึกษามีข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษา ที่ผู้จัดการศึกษาจะต้องตระหนักไว้เสมอ คือ

          1) การศึกษาเป็นสิ่งดี มีความจำเป็นต่อการกินดีอยู่ดีของมนุษย์

          2) การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับปัญหาและความต้องการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นการศึกษาที่สูญเปล่า

          3) การศึกษาแบบผิดๆ จะทำลายทรัพยากรมมนุษย์ได้มาก เพราะทำให้มนุษย์เกิดลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา กลับสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคม

ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จะต้องจัดการศึกษาอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน และจะต้องตระหนักถึงข้อตกลงเบื้องต้นที่กล่าวมาให้มาก ทั้งนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ ทั้งในส่วนของบุคคลและสังคม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

สถาบันทางสังคม เป็นแบบแผนหรือแนวปฏิบัติที่ทำมาจนเคยชิน และเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นๆ
สถาบันทางสังคม มีขึ้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ เป็นองค์การที่มีการจัดระเบียบ มีกระบวนการ กฎเกณฑ์ และนโยบาย ซึ่งทำให้คนในสังคมเกิดความพอใจ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ปัญหาและอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการศึกษา

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น ต่างก็ส่งเสริมการลงทุนทางการศึกษาอย่างมาก เพราะเห็นว่าแรงงานที่มีความรู้ความสามารถสูง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ทรัพยากร การบริหาร และการจัดการ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศกำลังพัฒนาก็เห็นความสำคัญของการศึกษา และได้ส่งเสริมการศึกษาอย่างมากเช่นกัน แต่พบว่ามีหลายประเทศ ที่ผู้สำเร็จการศึกษาบางส่วนไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานของผู้มีการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะมีสาเหตุมาจาก

1. ขาดการวางแผนการศึกษาที่ดี

การวางแผนการศึกษา คือ การวางแผนดำเนินการทางศึกษาของชาติในอนาคต ด้วยวิธีการแก้ไข ปรับปรุง หรือขยายการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อลดความผิดพลาดและความสิ้นเปลือง

การศึกษาที่เป็นปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่ ยังขาดการวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ ทั้งนี้ เพราะขาดข้อมูลที่ถุกต้อง ว่าต้องการกำลังคนประเภทนั้นๆจำนวนเท่าไร

 นอกจากนั้น ยังเป็นการวางแผนที่ขาดการวิเคราะห์โครงการ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีความไม่เหมาะสม ทำให้การลงทุนทางการศึกษาไม่ตรงเป้าหมาย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมากนัก

2. การลอกเลียนแบบการศึกษาจากต่างประเทศ

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นว่า ประเทศพัฒนาทั้งหลายประสบความสำเร็จในการลงทุนทางการศึกษา จึงพยายามที่จะนำแบบอย่างของประเทสพัฒนาเหล่านั้นมาใช้โดยไม่มีการดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

การศึกษาจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาและสนองความต้องการของประเทศได้ ซ้ำร้ายกลับก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ เป็นต้นว่า  การอพยพผู้มีการศึกษาสูงไปทำงานต่างประเทศ การมีทัศนคติที่ดีต่อการการทำงานในสำนักงานจนทำให้เกิดนิสัยเลือกงาน

3. ระบบการศึกษาขาดประสิทธิภาพ

ระบบการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ เป็นการศึกษาที่เตรียมคนสำหรับการเป็นเสมียนและรับราชการ ส่วนการศึกษาในระดับสูงเน้นการเรียนรู้วิชาสามัญต่างๆในเชิงทฤษฎี โดยวิธีการท่องจำมากกว่าที่จะสอนให้รู้จักวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่ม

หลักสูตรไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ครูอาจารย์ขาดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงวิธีสอนและค้นคว้าเพิ่มเติมให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ

ส่วนนิสิตนักศึกษาก็มุ่งแต่ประกาศนียบัตรปริญญาบัตร ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถที่ควรจะได้ ดังนั้นคนที่จบการศึกษจึงขาดคุณภาพ ไม่มีความสามารถในวิชาชีพเพียงพอ ไม่ชอบทำงานหนัก

นอกจากนั้น ระบบการศึกษายังมีแนวโน้มที่จะผลิตคนในบางสาขาวิชามากเกินไป เช่น สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะผลิตได้ง่าย ต้นทุนการผลิตตำ และสังคมยอมรับเท่าๆกันกับการผลิตแพทย์ วิศวกร และช่างเทคนิค ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก

การผลิตคนในบางสาขาออกมามากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาว่างงานของผู้มีการศึกษา

4.ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา

ความไม่เท่าเทียมกัยทางการศึกษา เกิดจากจัดการจัดการศึกษาไม่ทั่วถึง หรือเป็นการจัดการศึกษาทั่วถึงในเชิงปริมาณ แต่มีปัญหาในเชิงคุณภาพ เพราะขาดครู ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ครบวิชา ตลอดจน มีอุปกรณ์ทางการศึกษาไม่เพียงพอกับความต้องการ

ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

5.หลักสูตรไม่สอดคล้องกับสถาพเศรษฐกิจและสังคม

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีอาชีพหลัก คือการเกษตร แต่หลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอ มุ่งแต่จะเตรียมคนให้เรียนรู้ เพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ

ความรู้ที่ได้จากระบบการศึกษาจึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้จบการศึกษาไม่สามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพได้

6. การจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนขาดความหลากหลาย

การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถือเอาความยืดหยุ่นเป็นสำคัญ เป็นการศึกษาระบบเปิด ที่จัดการศึกษาแตกต่างไปจากการศึกษาในระบบโรงเรียน

เป็นการศึกษาที่สร้างความรู้ทักษะ และสมรรถภาพให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เช่น พัฒนาทักษะและความรู้ให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่ เตรียมคนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน สร้างความรู้และความเข้าใจในโลกของการทำงาน เป็นต้น

แต่จากการศึกษา พบว่า การจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสายวิชาสามัญ ขาดความหลากหลาย จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

7.. การสูญเสียกำลังคนที่มีการศึกษาสูง

กำลังคนที่มีการศึกษาสูงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา เป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างเทคนิค และการผลิตคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ

แต่พบว่า ผู้มีการศึกษาสูงไม่ได้ทำงานในประเทศทั้งหมด มีอีกส่วนหนึ่งที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพสูงกว่า มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ที่เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญให้กำลังคนระดับสูงไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก  จึงมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไม่ก้าวหน้าได้เร็วเท่าที่ที่ควร

จะเห็นว่า หากการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนามนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มุ่งแต่จะลอกเลียนแบบการศึกษาของประเทศพัฒนา ขาดการวางแผนที่ดี ขาดครูอาจารย์ ขาดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขาด อุปกรณ์ทางการศึกษา การศึกษาก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เช่นเดียวกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                   ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา

                                            จะต้องเป็นความเสมอภาคที่ถึงพร้อม
                                 
                                                        ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

*********************************************************************************