วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของมาสโลว์

อับราฮัม มาสโลว์(Abraham Maslow) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการจูงใจของมนุษย์(Theory of Human Motivation) และทฤษฎีการพัฒนาเต็มศักยภาพ(Self-actualization Theory)

มาสโลว์เชื่อว่า โดยพื้นฐานมนุษย์นั้นดี หรือไม่ดีไม่ชั่ว มากกว่าที่จะชั่วร้าย  มนุษย์ทุกคนมีแรงกระตุ้นให้เจริญเติบโตและสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพตามที่ต้องการ

จากการที่มาสโลว์ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักจิตวิทยาชั้นนำหลายๆแนวความคิด ทำให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดจิตวิทยามนุษยนิยมในเวลาต่อมา เขามีความเห็นว่า การจะศึกษามนุษย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จะต้องศึกษาในลักษณะต่อไปนี้

          1) ศึกษาจากบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี มีอารมณ์จิตใจและบุคลิกภาพมั่นคง การศึกษาจากบุคคลที่มีบุคลิกภาพมั่นคง สุขภาพจิตดี และประสบความสำเร็จในชีวิต จะช่วยให้ทราบว่า คุณลักษณะดังกล่าว จะต้องอาศัยองค์ประกอบอะไรบ้าง และสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร

          2) การศึกษาทางจิตวิทยาจะต้องศึกษาจากคนทั้งคน ไม่ใช่ศึกษาปัญหาของคนโดยแยกคนเป็นส่วนๆ แล้วนำมาวิเคราะห์สรุปเป็นกฎเกณฑ์ ซึ่งการศึกษาในลักษณะดังกล่าว เสี่ยงต่อความผิดพลาด เพราะคนประกอบด้วย กาย อารมณ์ ความคิด ฯลฯ มีลักษณะเป็นองค์รวม

สำหรับธรรมชาติของมนุษย์ มาสโลว์ได้ศึกษาแล้วสรุปว่า มนุษย์มีธรรมชาติดังนี้

1. มนุษย์ใฝ่ดี  ต้องการบรรลุศักยภาพ ไม่มีสัญชาตญาณของความก้าวร้าวและความต้องการที่จะทำลายล้างผู้อื่น นอกจากนั้น มนุษย์ยังมีความสร้างสรรค์ สมรรถภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แสดงออกได้หลายวิธี เช่น แสดงออกด้วย การเขียน การทำงาน ฯลฯ

2. มนุษย์ต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ คือสัตว์ไม่มีความคิดซับซ้อน ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่มีความละอายต่อบาป ฯลฯ การเอาหลักจิตวิทยาและพฤติกรรมที่สรุปมาจากการทดลองสัตว์ มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ จึงไม่ถูกต้อง เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์

3 การพัฒนาเต็มที่และพัฒนาอย่างสมบูรณ์ของมนุษย์ จะเกิดจากตัวมนุษย์เอง มากกว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก

4. ความผิดปกติทางจิตใจของมนุษย์ เกิดจากการปฏิเสธ การบิดเบือน และการบีบคั้น ไม่ให้มนุษย์ได้แสดงศักยภาพ สิ่งแวดล้อมทำให้มนุษย์เป็นทุกข์ เป็นโรคประสาท งมงาย และมีความผิดปกติทางสังคม

5. มนุษย์มีธรรมชาติภายใน(inner nature)ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่อำนาจภายในนี้ไม่แรงเท่าสัญชาตญาณของสัตว์  มนุษย์จึงทนต่อความกดดันทางสังคมและทัศนคติแบบผิดๆได้น้อย อำนาจธรรมชาติภายในแม้ไม่แรง แต่ยังคงอยู่ในตัวมนุษย์ตลอดชีวิต ทำให้มนุษย์ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อการมีชีวิตและการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ธรรมชาติภายในของมนุษย์เป็นพลังสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องรู้จักตนเอง  อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์ทุกคนจะมีธรรมชาติภายใน แต่มนุษย์แต่ละคนก็มีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

6. การพัฒนาตนเองเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ บุคคลอื่นเป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือ ส่งเสริม จึงไม่ควรบังคับ หรือไม่เปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาได้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงเสริมการพัฒนากับแรงฉุดการพัฒนา ว่าอย่างไหนจะมีแรงมากกว่ากัน

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของมาสโลว์ ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นคนดีมีความคิดสร้างสรรค์ สามารพัฒนาตนเองได้ การนำหลักจิตวิทยาที่ได้จากการทดลองจากสัตว์มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                  โดยพื้นฐานมนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำ และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

                                                                                            Abraham Maslow

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของมหาวิทยาลัย

จากหนังสือชื่อ International Development in Assuring Quality in Higher Education ซึ่งมี Alma Craft เป็นบรรณาธิการ และหนังสือชื่อ Total Quality in Higher Education ซึ่งมี Ralf Lewis และ Douglas Smith เป็นบรรณาธิการ ทำให้ได้ข้อสรุปถึงเหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของมหาวิทยาลัยดังนี้

1. การขยายตัวอย่างรวดเร็วของมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากความต้องการทางสังคม ความต้องการส่วนบุคคล และนโยบาบของรัฐบาล ทำให้มีจำนวนนักศึกษาและสาขาวิชาเพิ่มขึ้น การขยายตัวเชิงปริมาณ ทำให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของบัณฑิต สมรรถภาพ ทักษะทางวิชาชีพ  จริยธรรมและคุณภาพส่วนบุคคล โดยที่เชื่อกันว่าการขยายตัวของมหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลดมาตรฐานทางการศึกษาลง

2. ความจำกัดเรื่องงบประมาณได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ การตัดงบประมาณและการปฏิบัติเพื่อลดรายจ่าย นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับคุณภาพของกระบวนการผลิตโดยอัตโนมัติ ประสิทธิผลของการสอนและการวิจัยของอาจารย์ควรได้รับการประเมิน การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยควรได้รับการตรวจสอบ

3. การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นฐาน ทำให้หลายประเทศมีนโยบายที่จะชี้นำความต้องการของนักศึกษาไปสู่สาขาที่ยอมรับกันว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

4. ความต้องการที่จะเพิ่มการตรวจสอบในหลายประเทศ อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นที่จะให้มหาวิทยาลัยบริการสังคม และจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ และสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการได้มากกว่าเดิม

5. ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย การเคลื่อนย้ายของอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย รวมทั้งการทำให้เป็นนานาชาติของตลาดแรงงาน ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเทียบเท่าทางวิชาการและคุณสมบัติทางวิชาชีพ

6. โลกซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า มหาวิทยาลัยได้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือไม่ ผู้จบมหาวิทยาลัยมีความรู้ ทักษะ และ มีทัศนคติ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

7. นักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องเชื่อว่า มหาวิทยาลัยเป็นกุญแจที่ไขไปสู่การจ้างงาน การเจริญเติบโตทางอาชีพ จึงได้เพิ่มคุณค่าของปริญญาบัตร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้ถึงคุณภาพของการเรียนรู้และการบริหารของมหาวิทยาลัย

8. ในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีหนังสือรายงานและการวิพากษ์วิจารณ์ ที่แสดงถุึงการเพิ่มความไม่พอใจต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

9. มหาวิทยาลัยเป็นวิสาหกิจที่ใช้ทั้งทุนและคนมาก  เป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยลง โดยหวังว่าในอนาคตนักศึกษาแต่ละคนจะได้รับการศึกษาโดยมีค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่น้อยกว่าในอดีต ทำให้การประเมินมหาวิทยาลัยเป็นการประเมินในรูปของ"ความมีประสิทธิภาพ"และ"ความมีประสิทธิผล"มากขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน  จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่มหาวิทยาลัยจะต้องได้รับการประเมิน การควบคุม การรับรอง และการประกันคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การผลิตกำลังคนระดับสูงเป็นกระบวนที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                       สารคิด

                                        มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

                                        ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น

                                        แต่เป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ลักษณะมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ

การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีปรัชญาและเป้าหมายที่แตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยมีพันธกิจที่สำคัญคือการสร้างความรู้ใหม่ ผลิตกำลังคนระดับสูงที่มีทักษะก้าวหน้า และมีทักษะที่สนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นกำลังแรงงานที่มีสมรรถนะ ที่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

การที่กำลังแรงงานมีทักษะทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

เดิมเชื่อกันว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่จำเป็นจะต้องถามถึงคุณภาพ ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นชนชั้นสูงของสังคม

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 คุณภาพของมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จนทำให้มีการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ในสหราชอาณาจักร คุณภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกสำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และในหลายประเทศเริ่มกำหนดรูปแบบของการประเมินคุณภาพ

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา คุณภาพของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกลายเป็นประเด็นสำคัญของมหาวิทยาลัยทั่วโลก

การให้นิยามคำว่า"คุณภาพ"ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคำว่าคุณภาพไม่ได้มีความหมายเดียวสำหรับทุกๆคน อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงร่วมกันว่า คุณภาพของกิจการใดๆก็ตาม ควรประเมินจากความสัมพันธ์กับความมุ่งหมาย เพราะฉะนั้นคุณภาพ คือความเหมาะเจาะกับความมุ่งหมาย

คุณภาพของมหาวิทยาลัย ก็คือ การที่มหาวิทยาลัยหรือโปรแกรมวิชา มีคุณลักษณะตรงกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ คุณภาพจะสัมพันธ์กับพันธกิจของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะมีคุณภาพถ้าสามารถบรรลุพันธกิจของมหาวิทยาลัย หรือตรงกับความคาดหวังของผู้ใช้บริการ

ในแง่ของปรัชญา"คุณภาพ"เป็นคำที่ดี เป็นคำที่แสดงการยอมรับมากกว่าที่จะปฏิเสธ ผลสัมฤทธิ์และคุณสมบัติของมหาวิทยาลัย ถูกเรียกร้องให้ใช้คุณภาพเป็นตัวชี้

การใช้คำว่า"คุณภาพ"แสดงถึงความรู้สึกที่ดี รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะดูคุณภาพจากการปฏิบัติ ชุมชนวิชาการมีแนวโน้มที่จะดูคุณภาพจากทัศนะ ที่แสดงถึงความพอใจของมหาวิทยาลัยด้วยกัน ส่วนระบบตลาดจะดูคุณภาพจากความพอใจของผู้บริโภค

คุณภาพของมหาวิทยาลัย อาจแสดงออกจากการพัฒนาสติปัญญาที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ทั้งในทางลึกและทางกว้าง ซึ่งดูได้จาก ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ความสามารถในการวิเคาระห์ตนเอง การประยุกต์ และความสามารถในการวิจารณ์ตนเอง

อย่างไรก็ตาม มาลคอล์ม เฟรเซอร์(Malcolm Frazer) ได้ให้ความหมายคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัยได้รวมความหมายของคำว่า ความมีประสิทธิผล(effectiveness) ความมีประสิทธิภาพ(efficiency) และความสามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้(accountability) เข้าไปไว้ด้วย

นั่นคือ คุณภาพของมหาวิทยาลัย นอกจากจะตรงกับความมุ่งหมายแล้ว ยังจะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความพอใจ

คุณภาพของมหาวิทยาลัย จึงเป็นคุณภาพของหน้าที่ และกิจกรรมทั้งหมดของมหาวิทยาลัยได้แก่

          1. คุณภาพการสอน การฝึกอบรม และการวิจัย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพของอาจารย์ โปรแกรมวิชาและทรัพยากรที่ใช้

          2.คุณภาพการเรียนรู้ ซึ่งสัมพันธ์กับการสอนและการวิจัย และรวมทั้งคุณภาพของนักศึกษา

          3.  คุณภาพการบริหารและการจัดการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ การสอน การเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมของการวิจัย

จะเห็นว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่การดำเนินการจะต้องตรงกับความมุ่งหมายเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย คุณภาพของมหาวิทยาลัยจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาจารย์ นักศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการ รวมทั้งคุณภาพของผู้บริหารหรือคุณภาพของการบริหารจัดการ ที่สามารถนำมหาวิทยาลัยไปสู่ความมุ่งหมายที่ตั้งไว้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                               สาระคิด

บทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา จะต้องสนับสนุนในเรื่องการให้ความคิด กำลังคน และบริการ เพื่อความเสมอภาคของมนุษย์ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                                                                                    Julius Nyerere
                                                                                            อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศแทนซาเนีย

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(3)

รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ คุปรัตน์ ได้เขียนรายงานการศึกษาเรื่อง"ระบบอุดมศึกษาไทย" เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาทิศทางอุดมศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ และจากรายงานเรื่องนี้สรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยมีสภาพและปัญหาดังนี้

1. การขาดพัฒนาการทางวิจัย การอุดมศึกษาโดยทั่วไป การวิจัยมีความจำเป็น แต่มหาวิทยาลัยของไทยไม่ให้ความสำคัญในการวิจัยมากนัก ปัญหาของการวิจัยที่เห็นได้ชัด คือ

          1.1 นักวิชาการที่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัย ไม่สามารถที่จะทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้

          1.2 การไม่พัฒนาการวิจัยทำให้ไม่มีการพัฒนาการเรียนการสอน การเรียนการสอนจึงเป็นกระบวนการเล่าของเก่า และการสอนที่ไม่มีการวิจัยเป็นการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

          1.3 ขาดการการจัดการเรื่องเงินและเครื่องมือเพื่อการวิจัย ตลอดจนขาดแรงจูงใจในการวิจัย

          1.4 เอกชนไทยไม่ให้ความสำคัญในบทบาทการวิจัยและการสร้างความรู้ใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย จึงอาศัยเทคโนโลยีจากตะวันตก ด้วยการซื้อโดยตรง รับจ้างผลิต และการร่วมทุน

          1.5 ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวิจัยจากรัฐบาลและวิธีการบริหาร

2. ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ มหาวิทยาลัยไทยมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้

          2.1 การเร่งผลิตทำให้ขาดการเตรียมความพร้อม

          2.2 ผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยขาดคุณภาพ เพราะการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาขาดคุณภาพ

          2.3 อาจารย์ผู้สอนไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณภาพแต่ไม่จริงจังในกระบวนการเรียนการสอน

          2.4 ระบบการเรียนการสอนยังเป็นระบบเดิม ทั้งๆที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

          2.5 ขาดการลงทุนที่เหมาะสม

          2.6  ขาดการจัดการที่ดีไม่มีคุณภาพ

          2.7 ไม่มีการตรวจสอบและการประเมินคุณภาพ

          2.8 ระบบการผลิตขาดการแข่งขัน ระบบการศึกษายังเป็นระบบผูกขาด

          2.9 กลไกของผู้บริโภคหรือตลาดแรงงานยังไม่พร้อมและขาดทักษะในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน

          2.10 สังคมและระบบราชการยังไม่เข้าใจเรื่องคุณภาพ เช่น ให้อัตราเงินเดือนโดยยึดปริญญาบัตร

3. ปัญหาเกี่ยวกับการบริหาร ลักษณะการบริหารของมหาวิทยาลัยมีลักษณะดังนี้

          3.1 อาจารย์และนักวิชาการมีเสรีภาพทางวิชาการมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถนำเสนอความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในคณะรัฐบาลได้

          3.2 มีระบบการปกครองของอาจารย์ โดยอาจารย์ และเพื่ออาจารย์

          3.3 การได้มาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้มาโดยการเลือกตั้ง

          3.4 มีการแต่งตั้งตำแหน่งทางบริหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดผลที่ตามมา คือ

                    3.4.1 การขาดวัฒนธรรมการบริหารด้วยมืออาชีพ ไม่มีการพัฒนาผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

                    3.4.2 ทำให้การบริหารเกิดการแตกแยก มีการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่อยู่ในฐานะที่ใช้คนดีมีความสามารถ กลายเป็นว่าต้องใช้คนที่มีบุญคุณต่อกันทางการเมือง สูญเสียประสิทธิภาพในการบริหาร

                    3.4.3 อาจารย์และบุคลากรเสียวินัยในการทำงาน ขาดการตอบสนองต่อสังคม กลายเป็นกลไกปกป้องตัวอาจารย์อีกระดับหนึ่ง เพราะในกรณีที่ไม่ทำงานให้ตอบสนองต่อมหาวิทยาลัยผู้บริหารก็ไม่กล้าทำอะไร

                    3.4.4 สูญเสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน ยิ่งปล่อยไปนานจะยิ่งล้าและยากแก่การเปลี่ยนแปลง เพราะอาจารย์เองจะกลายเป็นตัวอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน รู้สึกว่างานที่ทำไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีความหมาย ระบบค่าตอบแทนไม่ดึงดูดเพียงพอ ยิ่งทำให้เสียขวัญในการทำงาน

                    3.4.5 รัฐขาดกลไกการควบคุมการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพราะการได้ผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบสนองต่อรัฐ

                    3.4.6 สังคมภายนอกขาดการเชื่อมโยงกับภายในสถาบัน เพราะการเลือกตั้งผู้บริหารภายในเพื่อสนองภายใน งบประมาณที่ใช้จ่ายก็มีเงินของรัฐสนับสนุน ความรู้สึกที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากภายนอกก็น้อยลง

จะเห็นว่ารายงานเรื่อง"ระบบอุดมศึกษาไทย" ของรองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ คุปรัตน์ โดยสาระสำคัญมีความสอดคล้องกับผลงานการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก"ของศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุลและคณะ รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทัศนะของศาตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ที่กล่าวถึงวิกฤตการณ์มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึงพบว่ามหาวิทยาลัย มีปัญหาเรื่องบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย ดังรายละเอียดที่กล่าวมา

จริงอยู่ผลงานที่กล่าวมา เป็นผลงานที่ผลิตมาและนำเสนอหลายปีมาแล้ว แต่ไม่มีผลทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงมากนัก บางเรื่องอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้น บางเรื่องอาจถูกละเลยแม้เรื่องนั้นๆจะมีความสำคัญต่อการเป็นอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ก็ตาม จึงอยากจะถามผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติว่า ถึงเวลาที่จะปฏิรูปหาวิทยาลัยไทยอย่างจริงจังแล้วหรือยัง เพราะหากปล่อยไว้อย่างที่เป็นอยู่ มหาวิทยาลัยไทยก็จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ คงเป็นได้แค่แหล่งผลิตปริญญาบัตรขนาดใหญ่ของประเทศเท่านั้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารมหาวิทยาลัยที่อ่อนแอ ทั้งที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการแต่งตั้งผู้บริหาร แต่กลับยอมให้มีการใช้กฎหมู่และไม่รับผิดชอบ

                                                                                วิจิตร ศรีสอ้าน
                                                                                 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

*********************************************************************************