วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะของคนที่รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น

ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น เป็นความรู้สึกที่แสดงถึงบุคคลไม่นับถือตนเอง หรือเป็นความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไม่มีคุณค่า เป็นความรู้สึกที่เกิดจาการประเมินคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับ ความดี ความมีคุณค่า และความสำคัญตน ด้วยตนเอง

ความรู้สึกที่ว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น จะส่งผลในลักษณะต่อไปนี้

เป็นคนที่ไม่ยอมรับว่าตนเองมีค่า จะแสดงออกถึงความคับข้องใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เป็นคนที่พยามชดเชยความรู้สึกที่ด้อยความสามารถ ด้วยการกระทำที่แสดงถึงการมีปมด้อย และมีผลในเชิงลบต่อบุคลิกภาพ

เป็นคนที่อาจทำให้ตนเองด้อยลงอย่างต่อเนื่อง แม้ตนเองจะประสบความสำเร็จก็ตาม

เป็นคนที่อาจจะมีความทุกข์ อันเกิดมาจากอาการทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่น วิตกกังวล กลัว นอนไม่หลับ ปวดหัว กัดเล็บ ใจสั่น ฯลฯ

เป็นคนที่รู้สึกตื่นกลัว ไม่สบายเมื่อยู่ในสังคม และทำทุกอย่างเพื่อกลบเกลื่อนความอาย และต้องการการยอมรับจากสังคมอย่างมาก

เป็นคนที่มีแนวโน้มที่จะชักจูงได้ง่าย และมีความโน้มเอียงที่จะทำตัวให้เหมือนคนอื่น

เป็นคนที่มีทัศนคติที่ทำให้ตนเองพ่ายแพ้  เกิดความรู้สึกไร้ค่า

นอกจากนั้น ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับสติปัญญา อารมณ์ การจูงใจ พฤติกรรม และความไม่มีระเบียบ

สำหรับสัญญาณและอาการ  ที่บ่งบอกถึงความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น มีดังนี้

หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคำวิพาษ์วิจารณ์เป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตน ที่ทำให้ตนเกิดความเจ็บปวด

ตอบสนองต่อการยกย่องเกินจริง เพราะการยกย่องสรรเสริญทำให้คนที่รู้สึกด้อย มีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ชอบการวิจารณ์คนอื่นจนเกินเหตุ เพราะการวิจารณ์คนอื่นเป็นการป้องกันตัวและเบนความสนใจไปที่อื่น การวิจารณ์คนอื่นเป็นอาการของความก้าวร้าว ใช้เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกด้อย

มีแนวโน้มที่จะตำหนิคนอื่น เพราะการตำหนิทำให้คนอื่นต่ำลง ขณะเดียวกันก็เป็นการยกตัวเองให้สูงขึ้น

มีความรู้สึกว่าตนถูกกลั่นแกล้ง เป็นความเชื่อ ที่เชื่อว่าคนอื่นกำลังทำให้ตนต่ำ เช่น ถ้าครูให้เกรดต่ำ ก็คิดว่าครูไม่ชอบหน้าตน

มีความรู้สึกเกี่ยวกับการแข่งขันในเชิงลบ แม้อยากจะเป็นผู้ชนะเหมือนคนอื่นๆ แต่กลับมองการแข่งขันในแง่ไม่ดี โดยมองว่าเป็นการสร้างความแตกแยก หรือที่คนอื่นชนะเพราะโชคดี เพราะเป็นคนโปรด และหากมีทัศนคติในเชิงลบต่อการแข่งขันสูง ก็จะปฏิเสธการแข่งขันในทุกเรื่องไปเลย

มีแนวโน้มที่จะถูกชักจูงและยอมรับอิทธิพลได้ง่าย เพราะการทำตามความเห็นของคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

มีแนวโน้มที่จะแยกตัวขี้อายและขี้ตื่น  ความรู้สึกด้อยปกติจะคู่กับความกลัวระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น  จึงชอบทำตัวลึกลับ เพราะหากไม่มีใครเห็นหรือได้ยิน จะทำให้รู้สึกปลอดภัย

มีความต้องการทางประสาทเพื่อการเป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นมากเกินเหตุ  พยายามปรับปรุงตนเองเต็มที่เพราะกลัวความล้มเหลว และการวิพากษ์วิจารณ์ที่จะตามมา ซึ่งเป็นความต้องการในลักษณะที่เป็นอาการทางประสาท(neurotic perfectionist) คือ แม้ว่าตนเองจะทำดีที่สุดแล้ว แต่ไม่เคยเห็นว่าดีพอ อย่างน้อยก็ในสายตาของตัวเอง

ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น  จะแตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่วนจะมากหรือจะน้อยขึ้นอยู่กับการคิดของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ลองสำรวจตัวเองดูสิว่า ตนเองได้รับรู้ถึงสัญญาณและอาการดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ควรจะต้องหาทางแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำเนินชีวิต วิธีง่ายๆที่ใช้แก้ไขความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยการคิดในเชิงบวก และการมองโลกในแง่ดี แค่นี้ก็จะช่วยแก้ไขความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นได้มาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                             สาระคิด

    All your behavior is shaped by who and what you think you are.

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โรงเรียนกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน

ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน โดยมีความรู้และทักษะเพื่อการทำงานมากกว่าสถาบันใดๆ

ส่วนครอบครัว ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญมาแต่เดิมนั้น ปัจจุบันไม่อาจสร้างประสบการณ์การทำงานได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป

แต่จากการศึกษาพบว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการผลิตคนเพื่อการทำงาน ทำหน้าที่ได้แค่เพียงการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ทำอะไรไม่ค่อยเป็น หรือไม่ค่อยทำอะไร ตลอดจนรังเกียจงานที่ต้องใช้แรงงาน  แม้แต่การทำงานในสำนักงานก็เป็นพนักงานที่ขาดระเบียบวินัย

นอกจากนั้น การศึกษาในสถาบันการศึกษา ยังก่อให้เกิดผลในลักษณะต่อไปนี้อีกด้วย คือ

               1) การเรียนการสอนไม่ได้สร้างทักษะเพียงพอ

               2) โรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะจบการศึกษาไปโดยปราศจากการฝึกอบรมเพื่อการทำงานอาชีพ

               3) กระบวนการเรียนการสอนตามตำรา ทำให้ได้ผู้จบการศึกษาที่มีทัศนคติชอบการทำงานในสำนักงาน

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่ต้องปรับปรุงระบบการศึกษาในโรงเรียนเสียใหม่ ซึ่งแนวทางการปรับปรุงอาจทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

               1) ควรปรับปรุงหลักสูตรแต่ละระดับ ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ไม่รู้สึกแปลกแยก เมื่อจบการศึกษาจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง และผลที่ได้จากการปรับปรุงหลักสูตรในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและรักท้องถิ่นของตนเองแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นช่องทางที่จะประกอบอาชีพต่อไปภายหน้าอีกด้วย

               2) จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงานในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรในลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้
                    ลักษณะที่ 1 จัดหลักสูตรโดยรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกับการทำงาน เป็นลักษณะการเรียนครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่ง ผู้เรียนต้องเรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป
                    ลักษณะที่ 2 จัดหลักสูตรโดยการเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ เป็นการสอนเฉพาะที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง หรือสอนทุกสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่สอนเพียงเพื่อให้รู้
                    ลักษณะที่ 3 จัดหลักสูตรโดยการกำหนดเนื้อหาจากปัญหาในการปฏิบัติและมีความจำเป็นจะต้องแก้ปัญหานั้น ซึ่งจะต้องเริ่มด้วยการที่โรงเรียนสำรวจปัญหาของชุมชน แล้วหาทางแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

จะเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน มุ่งให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับโลกของการทำงาน

 อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงานมิได้มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำงาน รักงาน มองเห็นช่องทางการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพในภายหน้า

               3) การเรียนการสอนควรเปลี่ยนวิธีการจากการบอก มาให้เด็กปฏิบัติจริง ควรให้เด็กมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ควรลดการป้อนเนื้อหา  ทุกวิชาจะต้องมีการปฏิบัติควบคู่ไปด้วยเสมอ การวัดผลการศึกษาจะต้องวัดทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติควบคู่กันไป การเรียนการสอนครูควรเน้น"การเสนอแนวปฏิบัติ"มากกว่า"ห้าม"

               4) ครูไม่ควรสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับนักเรียน อาจจำเป็นจะต้องจัดอบรมครู เพื่อการเปลี่ยนแปลง แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานเสียใหม่ เพราะหากครูยังมีความคิดแบบดั้งเดิม ย่อมยากที่จะเปลี่ยนความคิดของนักเรียนได้ นอกจากนั้น ควรมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ"การศึกษาเพื่อการทำงาน" ทั้งนี้ เพื่อให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ของวิชา

               5) จัดให้มีการแนะแนวอาชีพทุกระดับชั้น ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นช่องทางการทำงาน ตลอดจนช่วยให้เด็กมีข้อมูลเพียงพอที่จะช่วยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม  การจัดบริการแนะแนวอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ  ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กสนใจการทำงานมากขึ้น

จะเห็นว่า การจะพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ให้มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนการมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม โรงเรียนมีบทบาทสำคัญ หากโรงเรียนมุ่งแต่การให้ความรู้ทางด้านทฤษฎี โดยไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติจริงดังที่ผ่านมา เชื่อได้เลยว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของคนต่างชาติอย่างแน่นอน 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

การเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย เน้นความรู้ เน้นการแข่งขัน การเรียนการสอนในโรงเรียน จึงพยายามปรับปรุงให้สอนความรู้มากขึ้น ให้ดีขึ้น  ครูแต่ละคนต่างก็มีหน้าที่กรอกน้ำของตนลงขวด  โดยไม่สนใจเด็กแต่ละคน(ขวดแต่ละใบ)  จนทำให้เด็กไม่รู้จักหาความรู้ด้วยตนเอง
                                                                              สมาน  แสงมลิ
*****************************************************************


วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ครอบครัวกับการฝีกอบรมเลี้ยงดูเด็กให้รู้จักการทำงาน

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กมาก  ลักษณะของพ่อแม่ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี  จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังเด็กโดยการอบรม ทั้งโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เกี่ยวกับการทำงานก็เช่นกัน ชีวิตภายในบ้านเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์และความคุ้นเคยในการทำงาน เด็กจะได้รับการปลูกฝังค่านิยมและนิสัยการทำงานโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น หากประสงค์จะให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยม และนิสัยการทำงานที่ดี ควรจะเริ่มให้การศึกษาอบรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มที่ครอบครัว

แต่จากการวิจัยพบว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง  พ่อแม่จะแสดงความรักลูกด้วยการช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ยอมให้ลูกทำอะไร ถนอมลูกมากเกินไป ไม่ยอมให้ลูกลำบาก การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เด็กจะไม่สามารถทำงานช่วยตัวเองได้เท่านั้น ยังทำให้เด็กมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์  ไม่ยอมผูกพันตัวเองกับกฎเกณฑ์ของสังคมอีกด้วย

สำหรับแนวทางการฝึกอบรมเด็ก เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ควรจะกระทำในลักษณะต่อไปนี้

อบรมเลี้ยงดูให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง งานใดที่เด็กสามารถทำได้  อย่าช่วยเหลือจนเด็กทำอะไรไม่เป็น อบรมให้เด็กรู้จักทำงานที่เป็นหน้าที่ของตน เช่น รู้จักเก็บรักษาเครื่องใช้ของตน ซักรีดเสื้อผ้า จัดเก็บที่หลับที่นอน ฯลฯ การจะให้เด็กทำงานเพื่อช่วยตัวเองในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ จะช่วยให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่คิดจะพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

ฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพ ความจริงการให้ความรู้และทักษะเพื่อการทำงานนั้น ครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน การฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพในที่นี้ เป็นเพียงการสร้างความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสม เช่น ให้เด็กมีแนวคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ผู้ทำงานสุจริตทุกชนิดเป็นผู้มีเกียรติ มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ ถ้าพยายาม ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็ฝึกนิสัยของผู้ทำงานที่ดี ให้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพในโลกปัจจุบัน ตลอดจนรู้จักใช้จ่ายเงินที่หามาได้ เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับประสบการณ์ในการทำงาน ควรเริ่มด้วยการให้เด็กรู้จักทำงานง่ายๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำงานทุกชนิด การให้เด็กทำงานนั้น อย่าให้เด็กทำเพราะเป็นการแบ่งเบาภาระ แต่ให้เด็กทำเพื่อฝึกการทำงาน ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เด็กทำงานจึงต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำด้วยเสมอ

การอบรมเลี้ยงดูไม่ควรตามใจหรือ"โอ๋"เด็กมากจนเกินไปจนทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญเหนือคนอื่น อย่ากลัวว่าเด็กจะลำบาก อย่ามุ่งแต่สร้างความพอใจให้เด็กเป็นสำคัญ เพราะการอบรมเลี้ยงดูในลักษณะนั้น เป็นการทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ไม่ยึดถือระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ยอมผูกพันตัวเองเพื่อรับผิดชอบสังคม ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยิ่ง

ควรหลีกเลี่ยงการกระทำหรือการชี้แนะที่ทำให้เด็กเกิดความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น เชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ โชคชะตา อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ บุญกรรมแต่ปางก่อน ฯลฯ เพราะความเชื่อในลักษณะนี้ มีผลทำให้เด็กเชื่ออำนาจภายนอก มากกว่าที่จะเชื่อความสามารถของตนเอง(self-reliance) ซึ่งคนที่เชื่ออำนาจภายนอกจะมีลักษณะเฉื่อย(passive) ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม

ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการทำงานเพื่อตนเองและสังคมแล้ว จะต้องเริ่มฝึกอบรมตั้งแต่วัยเด็กให้รู้การทำงาน และคนที่เป็นพ่อแม่จะต้องจำไว้เสมอว่า  รักลูกต้องสอนให้ลูกรู้จักทำงาน เพราะการทำงานแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

เด็กไทยไม่ได้รับการสอนให้พึ่งตนเอง(self-dependent) แต่ค่อนข้างจะสอนให้พึ่งคนอื่น เพื่อสนองความต้องการของตน

                                                               Niels Mulder
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การฝึกอบรมเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก (2)

2. ในวัยเด็กคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ

จากการวิเคราะห์เอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า การอบรมเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องการทำงาน แต่เน้นที่จะสร้างลักษณะอื่นๆ เพื่อให้เป็นที่รักของผู้ใหญ่และคนอื่นๆ ที่จะเป็นที่พึ่งได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การเรียนการสอนในโรงเรียน ก็ไม่ได้มุ่งให้นักเรียนทำงาน หรือรู้จักเตรียมตัวเพื่อการทำงาน  การเรียนการสอนมุ่งที่จะเตรียมตัวนักเรียนให้สามารถเรียนต่อสูงขึ้น

เด็กไม่ได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น เด็กรู้สึกรังเกียจการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานใช้แรงกาย แม้จะเรียนมาทางสายอาชีพ ก็ไม่มีทักษะเพียงพอที่จะประกอบอาชีพได้

การเตรียมตัวเพื่อที่จะทำงานอาชีพได้รับการละเลย  ทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน

การทำงานมีความสำคัญควบคู่กับความเป็นมนุษย์ มนุษย์เกิดมาโดยไม่ทำงานไม่ได้  การฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานจึงเป็นภาระหน้าที่ของสังคม

การฝึกอบรมที่ไม่ส่งเสริมให้คนรู้จักการทำงาน เป็นการฝึกอบรมที่ไม่ช่วยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือการฝึกอบรมที่เน้นแต่ให้ทำงานโดยใช้สมองเพียงประการเดียว ให้ละเลยหรือรังเกียจการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย ก็เป็นการฝึกอบรมที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะไม่มีสังคมใดที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการทำงานโดยใช้สมองหรือแรงกายเพียงอย่างเดียว

การที่พบว่า คนไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ ก็ดี หรือการสอนให้ดูถูกงานที่ต้องใช้แรงงาน ก็ดี เป็นเรื่องที่ควรแก้ไขโดยรีบด่วน มิฉะนั้นสังคมไทยจะประกอบสมาชิกที่ไร้ความสามารถในการทำงาน  เป็นสังคมที่นิยมการบริโภคมากกว่าการผลิต
           -----------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                 สาระคิด

ความมุ่งหมายของหลักสูตร เนื้อหาที่จัดให้เรียน และวิธีสอน ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้ เพื่อ"รู้ไว้ใช่ว่า"มิใช่"รู้เพื่อปฏิบัติ" และถ้าเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของผู้เรียน ก็มักจะเล็งไปที่"สิ่งที่ไม่ควรประพฤติ"มากกว่า"วิธีที่จะประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม"
                                                                   เฉลียว บุรีภักดี
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การฝึกอบรมเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก (1)

1.ในวัยเด็กคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้ทำงานเพื่อช่วยตัวเอง แต่จะสอนให้พึ่งผู้อื่น เพื่อสนองความต้องการของตน 

พ่อแม่เลี้ยงดูลูก โดยไม่ยอมให้ลูกต้องลำบาก  พ่อแม่และญาติพี่น้องจะให้ความสำคัญกับเด็กมาก เอาใจเด็กด้วยประการต่างๆ จนเด็กทำอะไรไม่เป็น

ส่วนการศึกษาอบรมในโรงเรียนก็จะยิ่งทำให้เด็กไทย ซึ่งมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่ำอยู่แล้วยิ่งต่ำลงไปอีก

การเรียนการสอนนั้น  ครูเป็นคนบอก เด็กมีหน้าที่จำ เด็กไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักหาความรู้ หรือคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

นอกจากนั้น สิ่งที่ครูสอน ไม่ค่อยสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันเท่าใดนัก ครูมักจะสอนไปตามเนื้อหาที่ปรากฎในแบบเรียนมากกว่า

การฝึกอบรมมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพของบุคคล การฝึกอบรมให้รู้จักทำงานเพื่อช่วยตัวเอง นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองแล้ว ยังให้เด็กรู้จักคุ้นเคยกับการทำงานอีกด้วย

การที่พบว่า ในวัยเด็กคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง  แต่ส่งเสริมให้เด็กพึ่งคนอื่น  ตลอดจนการที่พ่อแม่ญาติพี่น้องคอยช่วยเหลือทุกอย่าง เหล่านี้ เป็นการส่งเสริมให้คนไทยรังเกียจการทำงาน และมีผลทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองต่ำลง

ผลสุดท้าย สังคมไทยจะประกอบด้วยสมาชิกที่คอยจะให้คนอื่นช่วยเหลือ ไม่อาจจะพึ่งตนเองได้เลย
                --------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์)  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
               --------------------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคิด

วิธีการเลี้ยงดูและอบรมเด็กอีกอย่างหนึ่งของไทย ที่มีผลโดยตรงต่อบุคลิกภาพ คือการที่พ่อแม่และญาติพี่น้อง มักจะให้ความสำคัญแก่เด็กมากเกินไป แบบที่เรารู้กันทั่วไปว่า'โอ๋'เสียจนลูกเสียคนไปเลย เพราะเป็นการเลี้ยงดูที่ไม่ต้องการเห็นเด็กของตน'ลำบาก' จึงให้คนเอาอกเอาใจเด็กด้วยประการต่างๆ จนเด็กกลายเป็น'นาย'คนอื่นไปทั้งหมด  แม้แต่พ่อแม่ของตนเอง
                                                                      สนิท  สมัครการ
                *********************************************************