วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หน้าที่ของมหาวิทยาลัย

หน้าที่ของมหาวิทยาลัย หมายถึง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ พันธกิจ หรือ ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย เดิมมหาวิทยาลัยมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือการสอนและการวิจัย โดยหน้าที่ทั้งสองมุ่งไปที่การให้การศึกษาและการฝึกอบรมกำลังคนระดับสูง ตลอดจนสร้างความรู้ใหม่ๆ ต่อมาจึงได้เกิดหน้าที่ประการที่สามขึ้น คือหน้าที่ในการส่งเสริมและบริการชุมชน

1.หน้าที่วิจัย

การวิจัยในใหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนานักศึกษาเพื่อสร้างนักวิจัย

ปัจจุบันการวิจัยเพื่อการพัฒนามีบทบาทสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะแนวโน้มการพัฒนาในทุกวันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมซึ่งตั้งอยู่บนฐานของวัตถุดิบและพลังงาน มาเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ทำให้ความรู้เป็นยุทธวิธีของการพัฒนาแทนแร่ธาตุและน้ำมันปิโตรเลี่ยม ความรู้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยจึงต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแทนเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม เป็นเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง

นอกจากมหาวิทยาลัยจะสร้างเทคโนโลยีต้นแบบแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่ถ่ายโอนเทคโนโลยีจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือจากวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เช่น จากห้องปฎิบัติการไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และจากโรงงานอุตสาหกรรมไปยังตลาด ในลักษณะของธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อสังคมจะได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน ในการที่จะเสริมสร้างวิสาหกิจและสร้างงานใหม่

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีจะต้องคำนึงถึงจริยธรรม มิฉะนั้นจะเกิดการคุกคามชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศน์

2. หน้าที่สอน

การสอนเป็นหน้าที่ที่คู่กับสถาบันการศึกษา เป็นภารกิจของการศึกษาในการพัฒนาบุคคล หน้าที่สอนไม่จำกัดเฉพาะเนื้อหาวิชาการที่เกี่ยวกับศาตร์ต่างๆเท่านั้น แต่ต้องสอนให้นักศึกษารู้จักตนเอง มีความขยัน มีความฉลาด

การสอนควรเป็นการเปิดโอกาสไปสู่ความรู้ใหม่ๆ นักศึกษาควรได้รับการศึกษาทั่วไป ที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ รักความจริง และปราศจากความเห็นแก่ตัว การศึกษาของนักศึกษาไม่ควรมุ่งเฉพาะเพื่อการทำงาน โดยละเลยเรื่องจิตใจ ปัญญา และการพัฒนาคุณธรรม

การสอนจะต้องให้นักศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจ เพื่อการสร้างสรรค์สังคม เรียนรู้ที่จะร่วมมือกับคนอื่นและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต เรียนรู้ที่จะประยุกต์ เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำ และสุดท้ายเรียนรู้ที่จะค้นหาคุณธรรม วิชาที่สอนจึงควรมีลักษณะเป็นวิชาเฉพาะน้อยลง แต่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ(interdisciplinary)มากขึ้น

นอกจากนั้น สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่ความรู้ สังคมสารสนเทศ และสังคมการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จะช่วยให้การสอนทันกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

3. การให้บริการทางวิชาการ

การให้บริการทางวิชาการ เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาในระบบกับการศึกษานอกระบบ เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบได้มีโอกาสเรียนและทำงานไปพร้อมๆกัน ในลักษณะของการศึกษาตลอดชีวิต

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังให้บริการทางวิชาการในรูปของการทำงานร่วมกัน กับการอุสาหกรรมและธุรกิจ โดยการสร้างหลักสูตรที่มีบูรณาการระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เห็นว่า หน้าที่การสอนและการวิจัยเป็นหน้าที่ทางสติปัญญาของมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่ทางการศึกษาที่สัมพันธ์กับการสร้างลักษณะนิสัย ภาวะจิตใจ ตลอดจนการถ่ายทอดความติด ส่วนการบริการทางวิชาการเป็นหน้าที่ทางสังคม เป็นการเชื่อมโยงหน้าที่ทางสติปัญญาให้เข้ากับการพัฒนาสังคม

อย่างไรก็ตาม นอกจากหน้าที่หลัก 3 ประการของมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว ในแต่ละประเทศ อาจกำหนดหน้าที่ พันธกิจของมหาวิทยาลัย แตกต่างกันออกไปตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ด้วยการกำหนดหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นจุดเน้นของสถาบันหรือระบบการศึกษาของประเทศนั้น อย่างกรณีของไทย มหาวิทยาลัยมักจะเพิ่มหน้าที่ทางศิลปวัฒนธรรมเข้าไปอีกข้อหนึ่ง ความจริงเป็นหน้าที่ที่ไม่แตกต่างจากหน้าที่หลัก 3 ประการดังกล่าวแล้วมากนัก เพียงแต่เพิ่มเติมเพื่อเน้นความชัดเจนในบทบาทมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

อาจารย์มหาวิยาลัยมีหน้าที่วิจัย สอน สังเคราะห์ และประยุกต์ความรู้ในลักษณะที่สมดุล เพื่อความสมบูรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา

                                                                                      มูลนิธิคาร์เนกี

*********************************************************************************


วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ความสำคัญของอุดมศึกษา

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า อุดมศึกษา (Higher Education) ในความหมายทั่วไป และมหาวิทยาลัย (University)ในความหมายเฉพาะนั้น มีความจำเป็นมากขึ้น เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีลักษณะที่เน้นการใช้ความรู้มากขึ้น เทคโนโลยีสูงขึ้น การทำงานจึงต้องการคนระดับวิชาชีพ(professional)มากขึ้น นักบริหารจัดการเพิ่มขึ้น

อุดมศึกษาเป็นทุนที่ไม่เหมือนทุนชนิดอื่น เพราะผลตอบแทนของอุดมศึกษาไม่ได้มีผลตอบแทนเฉพาะผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ผลตอบแทนของอุดมศึกษาคือ รากฐานของการพัฒนาและความก้าวหน้าของสังคม คนที่มีการศึกษาสามารถตัดสินใจได้ดีกว่า และสามารถจัดสรรสภาวะแวดล้อมเพื่อนวัตกรรมของสังคมได้อย่างดี

อุดมศึกษาทำให้มีกำลังคน ที่ได้รับการฝึกอบรมให้มีทักษะที่สามารถสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานได้ ซึ่งกำลังแรงงานเหล่านี้มีความสามารถที่จะรับการปรับเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ในขณะเดียวกัน อุดมศึกษาจะสร้างผู้ประกอบการที่มีความรู้ ที่สามารถใช้ทรัพยากรได้ดี ทั้งนี้ เพราะการมีทักษะทางเทคโนโลยี  ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

อุดมศึกษาเป็นกระบวนการที่มีความรู้(knowledge)เป็นศูนย์กลาง คำว่า ความรู้ ประกอบด้วย สติปัญญา(intelect) จิต(mind) ความคิด(thought) และการเข้าใจ(understanding) พันธกิจที่สำคัญของอุดมศึกษา คือการสร้างความรู้ใหม่ และการตระเตรียมทรัพยากรมนุษย์เพื่อตำแหน่งผู้นำ และรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดชึ้นอย่างรวดเร็ว

ในโลกของการแข่งขันที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อุดมศึกษาได้เพิ่มความหวังและเพิ่มความกระหายส่วนบุคคลในการที่จะแสวงหาความรู้

อุดมศึกษาส่งเสริมคุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล การนับถือตนเอง ตลอดจนการมีอำนาจเหนือชีวิตของตน ซึ่งถือว่าเป็นความอิสระของบุคคลอย่างแท้จริง

แม้ว่าการศึกษาไม่จำเป็นจะต้องลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ แต่ถ้าเป็นการศึกษาที่มีประสิทธิผลแล้ว จะช่วยลดความแตกต่างของทักษะและความรู้ให้แคบเข้า ทำให้มีโอกาสในแนวตั้ง ได้รับการยอมรับมากขึ้น สร้างทางเลือกได้มากขึ้น

นอกจากนั้น สถาบันอุดมศึกษายังเป็นศูนย์กลางของสมรรถนะของชาติ ที่เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ของนานาชาติ ทั้งโดยการประยุกค์และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมา สถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

ในสังคมประชาธิปไตย อุดมศึกษามีคุณค่าในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเลื่อนชั้นทางสังคม ความมั่นคง และความสามารถที่จะเข้าถึงโอกาสที่เคยถูกปิดกั้นในอดีต ระบบอุดมศึกษาในปัจจุบันส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคมและความเสมอภาคในโอกาสมากขึ้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนซึ่งยากที่จะแสดงในเชิงปริมาณเหมือนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น อุดมศึกษายังมีหน้าที่จะต้องสนับสนุนการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากอุมศึกษาปราศจากระบบการวิจัย และการฝึกอบรมที่ดี ทำให้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้รับการพัฒนาในเชิงวิชาชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจทางการศึกษา

ด้วยเหตุที่อุดมศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ด้วยการผลิตกำลังคนระดับสูง การวิจัย การบริการทางวิชาการ ตลอดจนการบริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ดังที่กล่าวมา หากไม่มีระบบการอุดมศึกษาที่ดี ประเทศจะไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคในการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นได้ และจะต้องพึ่งพิงประเทศอื่นต่อไป อันเป็นลักษณะร่วมของประเทศกำลังพัฒนา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

                                     หากไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของบัณฑิต

                                           มหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงสถานที่ผลิตใบปริญญาบัตย

                                                               ที่หาประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ความรู้เพื่อการปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

ความรู้เพื่อการปฏิบัติงานในสถานที่ทำงาน เกิดจากกระทรวงแรงานของสหรัฐไม่เห็นด้วยกับ วิสัยทัศน์ อเมริกัน2000 ที่กระทรวงการศึกษาได้จัดทำขึ้น 

เนื่องจากเห็นว่า วิสัยทัศน์การศึกษาที่เรียกว่า อเมริกัน 2000 นั้น ให้ความสำคัญกับการทดสอบระดับชาติ การมีมาตรฐานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ขั้นสูง การปรับปรุงและการควบคุมคุณภาพแวดล้อมทางกายภาพในโรงเรียน เช่น การลดยาเสพติด การเพิ่มความปลอดภัย และมีการตระเตรียมการเรียนการสอนที่ดีกว่าเดิม

ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กระทรวงแรงงานเห็นว่า เป็นวิสัยทัศน์ที่เรียกร้องให้กลับไปสู่กระบวนทัศน์การศึกษาแบบเก่า ที่เน้นการสอบและการแข่งขัน ไม่ได้เป็นวิสัยทัศน์ที่มุ่งอนาคต  แต่จะมุ่งที่การแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษา

กระทรวงแรงงานจึงได้ทำรายงานขึ้นมา  รู้จักกันในชื่อ รายงานสแกนสำหรับอเมริกา 2000 (A SCANS Report for America 2000 ) โดยเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้ เป็นลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับการจัดการศึกษา คือ

          1. การสอนควรสอนให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ควรแยกการเรียนเพื่อจะรู้ ออกจากการเรียนเพื่อการแฏิบัติ

          2. จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีสอนและวิธีเรียนของนักเรียน เพื่อให้ความต้องการของนักเรียนกับความต้องการเพื่อการทำงานไปด้วยกัน

          3. จะต้องใช้ระบบการประเมินและการบริหารการศึกษาใหม่ เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับที่สูง

          4. ชุมชนจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา

รายงานสแกนสำหรับอเมริกา 2000 ระบุว่า ความรู้เพื่อการปฏิบัติ (know how)ในสถานที่ทำงาน จะต้องมีสมรรถนะ  5 ประการ กับทักษะและคุณภาพที่เป็นพื้นฐานของผู้ทำงานอีก 3 ประการ จึงจะทำให้ผู้ทำงานปฏบัติงานได้ดีและรู้วิธีการทำงาน ได้แก่

          1. สมรรถนะ คนทำงานที่มีประสิทธิผล  จะต้องมีความสามารถในเรื่องต่อไปนี้เพื่อการผลิต ได้แก่
               1.1 ทรัพยากร ได้แก่ เวลา เงิน วัสดุ สถานที่ และบุคลากรที่ได้รับการจัดสรร
               1.2 ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งได้แก่การทำงานเป็นทีม การสอนบุคคลอื่น การนำ การเจรจาต่อรอง และสามารถทำงานได้ดีกับบุคคลที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย
               1.3 สารสนเทศ ซึ่งได้แก่ การรู้จักแสวงหาสารสนเทศและการประเมินสารสนเทศ การจัดและการเก็บรักษาแฟ้ม การแปลความหมายและการสื่อสาร ตลอดจนการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดกระทำสารสนเทศ
               1.4 ระบบ ซึ่งได้แก่ การเข้าใจสังคม ระบบขององค์การ ระบบเทคโนโลยี การตรวจสอบติดตาม การแก้ไขการปฏิบัติงาน ตลอดจนการออกแบบหรือการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น
               1.5 เทคโนโลยี ซึ่งได้แก่ การเลือกอุปกรณ์และเครื่องมือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อภารกิจเฉพาะ ตลอดจนการรักษาและและการแก้ปัญหาเทคโนโลยี

          2. ทักษะพื้นฐาน ทักษะพื้นฐานและลักษณะที่จำเป็นสำหรับความรู้เพื่อการปฏิบัติ ได้แก่
               2.1 ทักษะขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การอ่าน การเขึยน จำนวน คณิตศาสตร์ การพูด และการฟัง
               2.2 ทักษะการคิด ได้แก่ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การรู้วิธีเรียน และการมีเหตุผล
               2.3 คุณภาพส่วนบุคคล ได้แก่ ความรับผิดชอบ การนับถือตนเอง ความสามารถทางสังคม การจัดการเกี่ยวกับตนเองและการบูรณาการ

นอกจากสมรรถนะและทักษะพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ลักษณะนิสัยและสติปัญญา ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของผู้ทำงานที่มีประสิทธิผล แต่พบว่า ในขณะที่นักเรียนยิ่งเรียนสูงขึ้น สติปัญญาและลักษณะนิสัยได้รับความสนใจน้อยลง ซึ่งลักษณะนิสัยที่จำเป็นต่อการทำงาน ได้แก่
                    *ความซื่อสัตย์
                    *ความเชื่อถือได้
                    *การริเริ่ม
                    *ความสามารถที่จะทำงานคนเดียว
                    *ความมีคุณค่าควรแก่การเชื่อถือ
                    *การมีบูรณาการ
                    *การนับถือตนเอง
                    *ความสามารถที่จะทำงานเป็นกลุ่ม
                    *ความเชื่อมั่น
                    *ความอยากรู้อยากเห็น
                    *ความร่วมมือ
                    *ความถ่อมตน
                    *ความพากเพียร ความมีหลักการ

สมรรถนะ ทักษะ และลักษณะนิสัยเหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ทำงานในอนาคต จึงต้องสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน และเป็นลักษณะที่ควรได้รับการพัฒนาขึ้น โดยความร่วมมือย่างกว้างขวางจากพ่อแม่ ผู้แทนจากอุตสาหกรรม ครู ผู้บริหาร และตัวนักเรียนเอง

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาสมรรถนะ ทักษะ และลักษณะนิสัยเหล่านี้ จำเป็นจะต้องใช้วิธีสอนที่แตกต่างกัน เป็นการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และจะต้องมีความสมดุลระหว่าง ความรู้ วิธีการ สติปัญญา และลักษณะนิสัย จึงจะได้ผู้ทำงานที่มีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

วิสัยทัศน์ หมายถึง ความสามารทางสมองในการที่จะมองเห็น จิตนาการ หรือคาดการณ์ ในสิ่งที่คิดว่าจะ                  เกิดขึ้นในอนาคต

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การสร้างความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษานำไปสู่ความเสมอภาคในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความเสมอภาคที่แท้จริง จะต้องเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน

การจะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชนได้อย่างมีประสิทธิผล วิธีหนึ่งก็คือ การสร้างความเสมอภาคในโอกาส เพื่อให้ผู้เรียนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งการสร้างความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถทำได้ดังนี้

1. แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางภูมิศาสตร์ เป็นการจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ด้วยการจัดสรรทรัพยากรให้อย่าเงเพียงพอ และทำให้การศึกษาในชนบทมีความเข้มแข็งขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจในเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การอบรมครู และการมีอิสระในการใช้งบประมาณระดับหนึ่ง โดยทั้งหมดจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายแห่งชาติ ซึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอกับความหลากหลายของท้องถิ่น

2. แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเพศ  เป็นการจัดการศึกษาที่ให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น เหตุที่เด็กหญิงมีโอกาสน้อยกว่าเด็กผู้ชาย อาจเกิดจากประเพณีของสังคม ที่ไม่เห็นความสำคัญที่สตรีจะต้องมีการศึกษา ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศนั้น อาจทำได้ด้วยการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่เปิดหลักสูตรให้นักเรียนหญิงมีโอกาสเลือกเรียนหลักสูตรได้มากขึ้น หรือด้วยการบรรจุผู้หญิงใหทำงานในตำแหน่งที่ไม่เคยบรรจุผู้หญิงมาก่อน เพื่อเป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง

3. แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จากปรากฎการณ์ที่พบเห็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ก็คือ การที่นักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง มีโอกาสที่จะเรียนมากกว่า เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่า และเรียนในระดับที่สูงขึ้นมากกว่า ในระดับอุดมศึกษาซึ่งนักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่าและมีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว แต่รัฐยิ่งทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อการศึกษาระดับนี้ นอกจากนั้นยังมีทุนอุดหนุนมากมายเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนฟรี การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรทำ คือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เปล่าสำหรับทุกคน และรัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น จะต้องปรับปรุงการเรียนรู้ทางการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกของการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาสามารถหาเงินเพื่อใช้จ่ายในระหว่างเรียนได้ด้วย

4. การจัดบริการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อลดโอกาสความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา รัฐจะต้องหันมาเอาใจใส่การศึกษาก่อนประถมศึกษาให้มากขึ้น โดยจัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆตามทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งอาจขยายศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัดและในชนบท  โดยให้บริการทั้งในเรื่องโภชนาการ สุขภาพ สันทนาการ และกิจกรรมทางการศึกษา

5. สร้างทางเลือกสำหรับการเรียนในระดับมัธยมศึกษา การศึกษาระดับมัธยมศึกษามีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแก้ปัญหาขาดแคลนสถานศึกษา หรือปัญหาเด็กไม่ยอมเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่หลากหลาย เช่น จัดโรงเรียนที่เป็นศูนย์กลางของชนบท โรงเรียนประจำ  จัดให้นักเรียนทำงานสลับกับการเรียนในโรงเรียน หลักสูตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือจัดโรงเรียนให้เด็กหารายได้ไปพร้อมๆกับการเรียน เป็นโรงเรียนเพื่อการผลิต โดยการเรียนในโรงเรียนเกื้อกูลกับการทำงานในโรงงาน วิชาสามัญมีความสัมพันธ์กับกระบวนการผลิต เป็นต้น

6. สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่คนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งมีหลายวิธีที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ด้วยการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษานอกระบบที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสแล้ว ยังช่วยให้การศึกษาในระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้ง 6 วิธีดังกล่าวนี้ จะช่วยลดความไม่เสมอภาคในโอกาสได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันเป้าหมายในการที่จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนก็จะใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น และในการจัดการศึกษาจะต้องระลึกเสมอว่า ความเสมอภาคทางการศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องคู่กันเสมอ และถ้าจะให้สมบูรณ์ตามปรัชญาและเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากที่สุด การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเฉพาะในระบบโรงเรียนย่อมจะไม่เพียงพอ จะต้องจัดการศึกษานอกระบบและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยควบคู่ไปด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

           การศึกษาที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าระดับ เป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา

*********************************************************************************