วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียน

การศึกษาขั้นพื้นฐานนอกจากจะจัดในระบบโรงเรียนแล้ว ยังสามารถจัดในรูปแบบอื่น  ซึ่งได้แก่ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  แต่ปกติจะให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียนมากกว่า
 
อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของการศึกษาในระบบ  ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  ที่สำคัญคือ  ผู้จบการศึกษามีคุณถาพต่ำลง ขาดความรู้พื้นฐานและทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น

จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการศึกษา เกิดจากเหตุปัจจัยต่อไปนี้

การขาดแคลนทรัยากร  เพื่อสนองตอบทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้ต้องเพิ่มทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งได้แก่ครูบาอาจารย์  อาคารสถานที่  อุปกรณ์ทางการศึกษา  ตำราเรียนและงบประมาณ  จนทำให้เกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรง  ไม่ทันต่อความต้องการทางการศึกษา  ทำให้ระบบการศึกษาเกิดข้อจำกัดมากมาย  ไม่สามารถสามารถสนองตอบความต้องการทางการศึกษาได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น  การมีทรัพยากรจำกัด  ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้เรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น  เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆของประเทศ  นอกจากนั้น การมีเงินเฟ้อในบางปะเทศ  มีผลกระทบต่องบประมาณทางการศึกษาและรายได้ของครูอาจารย์

ผลผลิตไม่มีความเหมาะสม  ความพยายามที่มุ่งสนองตอบความต้องการทางการศึกษา ทำให้การศึกษามีคุณภาพไม่ดีพอ  ผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนในชนบทจะด้อยกว่าผู้จบการศึกษาในเมือง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะอ่อนด้อยวิชาที่เกี่ยวกับการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และที่สำคัญคือไม่มีความรู้และทักษะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร นอกจากนั้น ยังพบว่าผลผลิตทางการศึกษาไม่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

การบริหารการศึกษาขาดประสิทธิภาพ ระบบการศึกษาเอง ถ้าจะทำงานในลักษณะอย่างที่เคยทำมา จัดการศึกษาแบบเดิมซึ่งเคยได้ผล เช่น การบริหารหลักสูตร วิธีสอน  ฯลฯ แบบเดิมๆ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า  ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ๆ การทำอย่างที่เคยทำ กลายเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดผลที่แย่กว่าเดิม จนเกิดความเฉื่อยทางการศึกษา  มีผลกระทบต่อคุณภาพอย่างมาก

ความเฉื่อยทางสังคม ทัศนคติแบบเดิม ประเพณี ศักดิ์ศรี และรูปแบบของสิ่งล่อใจ  ตลอดจนโครงสร้างของสถาบันทางสังคม บางครั้ง กลายเป็นสิ่งปิดกั้นไม่ให้ใช้ประโยชน์จากระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้สูงสุด

การออกกลางคันและการซ้ำชั้น ปัญหาการออกกลางคันและการซ้ำชั้น  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ  เกิดขึ้นกับนักเรียนในชนบทมากกว่าในเมือง  โดยสาเหตุมาจากความยากจน หลักสูตรและการสอนที่ไม่เหมาะสม เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเพื่อนักเรียนส่วนน้อยที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ครูไม่ได้รับการฝึกอบรม ขาดวัสดุ ตำราเรียน  การออกกลางคัน และการซ้ำชั้นจึงเกิดขึ้น แต่อาจมีบางประเทศที่มีนโยบายไม่ให้มีการซ้ำชั้น ผลก็คือ นักเรียนอานหนังสือไม่ออก

ปัญหาที่กล่าวมา  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จึงเป็นโอกาสดีของประเทศที่จะปฏิรูปการศึกษา ให้เป็นการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้อย่างดี  แต่การปฏิรูปจะต้องไม่มุ่งแต่การเพิ่มหรือลดหน่วยงานบริหารการศึกษาเพียงอย่างเดียวอย่างที่เคยทำมา แต่ควรให้ความสำคัญในการที่จะแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วอย่างจริงจัง  การปฏิรุปการศึกษาจึงจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
                              -------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

ทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือตัวมนุษย์เอง  เป็นส่วนที่ติดตัวมาแต่กำเนิด กับทักษะและความสามารถของมนุษย์ ที่เกิดจากกาสร้างสมประสบการณ์ในภายหลัง
                                              ---------------------------------------

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทัศนคติกับการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน

นยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   การเรียนการสอนและโรงเรียนจะมีประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อ  โรงเรียนพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง  โรงเรียนที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วและทันกับการเปลียนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีเท่านั้น  จึงจะเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิผล คือบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  
แต่พบว่าแต่ละโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงเร็วช้าต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละโรงเรียนต่างกัน  ซึ่งทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแบ่งได้ 4 แบบด้วยกัน กล่าวคือ

แบบที่ 1 เป็นโรงเรียนที่ครูไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเห็นว่าได้พยายามเปลี่ยนแปลงแล้ว  แต่ล้มเหลว เพราะโรงเรียนรู้สึกว่าไม่มีอำนาจ การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น เกิดจากปัจจัยภายนอกมากกว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความจำเป็น แม้จะรู้สึกว่าไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาก็ตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เป็นต้น

แบบที่ 2 เป็นโรงเรียนที่เริ่มใช้นวัตกรรม  แต่เป็นการเริ่มใช้นวัตกรรมที่มีความแตกต่างอยู่มาก  นวัตกรรมถูกใช้ไม่เต็มที่  หรือไม่ได้ใช้ทั้งโรงเรียน  ต่างคนต่างพัฒนา  ต่างคนต่างใช้ ตามแนวคิดของตน  โดยปราศจากการวางแผนร่วมกัน จึงมีเป้าหมายในการใช้นวัตกรรมไม่สอดคล้องกัน  ครูมีการแบ่งแยกจึงล้มเหลวไปพร้อมกับนวัตกรรม

แบบที่ 3 เป็นโรงเรียนที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีความจำเป็น  เพราะโรงเรียนมีความเป็นมาและประสบความสำเร็จที่น่าประทับในในอดีตอันยาวนาน ครู ผู้ปกครองนักเรียน เห็นว่าเมื่อโรงเรียนประสบความสำเร็จมานาน ย่อมเป็นเครื่องประกันว่าจะต้องมีความสำเร็จในอนาคต เพียงแต่โรงเรียนใช้วิธีทำงานแบบเดิมๆ  และรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายนอก และเป็นเรื่องที่น่าสงสัย

แบบที่ 4 เป็นโรงเรียนที่มีความผสมกลมกลืนระหว่างการเปลี่ยนแปลงกับความมั่นคง  โรงเรียนยอมรับการเปลี่ยนแปลง  และมีความปรารถนาที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทิศทางการเปลี่ยนแปลงมีการวางแผนอย่างดี คณะครูมีความชัดเจนว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ และจะก้าวไปในทิศทางใด  ตลอดจนยอมรับแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกด้วยความเต็มใจ

ในบรรดาโรงเรียนทั้ง 4 แบบ  แบบที่ 4  เป็นแบบของโรงเรียนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี โรงเรียนแบบที่ 4 จึงเป็นลักษณะของโรงเรียนที่พึงประสงค์ในยุคของการเปลี่ยนแปลง
                           -------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคำ

ทรัพยากรมนุษย์  เป็นพลังงาน ทักษะ และความรู้ของมนุษย์ ที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าและบริการ  ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
                                                                                             Harbison
                                           ----------------------------------------------------------

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หัวหน้าสถานศึกษากับความสำเร็จตามภาระกิจของโรงเรียน

โรงเรียนมีภาระกิจที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ    พัฒนา ความรู้ วิธีการ ปัญญา และลักษณะนิสัย

ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เห็นพ้องต้องกันว่า  ความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนในเชิงบวก  เป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกต่อการบริหารจัดการให้ภาระกิจประสบความสำเร็จ จากการศึกษาวิจัยพบว่า

ในสหราชอาณาจักร จากการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา 10 แห่ง พบว่าปัจจัยเดี่ยวที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จ คือคุณภาพของความเป็นผู้นำของโรงเรียน เพราะหัวหน้าสถานศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร การประเมิน การฝึกอบรม  ตลอดจนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบ

ในสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาพบว่าหัวหน้าสถานศึกษามีอิทธิพลต่อการตอบสนองของครู ในการริเริ่มที่จะปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น  มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการรับความคิดใหม่ๆของครู

ในทวีปยุโรป ซึ่งมีรูปแบบการบริหารที่มีการควบคุมจากส่วนกลาง หัวหน้าสถานศึกษาได้รับการคาดหวังว่า  จะมีบทบาทในการส่งเสริมการสอน  ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล จึงต้องมีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็ง อุทิศเวลาให้กับการประสานงาน  การจัดการเกี่ยวกับการสอน ใกล้ชิดกับการสอน  เป็นผู้นำในเชิงสร้างสรรค์ ใช้ท่าทีของความเป็นผู้นำอย่างเหมาะสม รู้จักแก้ปัญหาด้วยการอาศัยความร่วมมือ การตัดสินใจโดยกลุ่ม  รู้จักมอบอำนาจ เปิดโอกาสให้ครู ผู้ปกครอง ชุมชน นักธุรกิจ นักการศึกษา และตัวนักเรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการจัดการ  ใช้ตำแหน่งผู้บริหารเพื่อประโยชน์ของครูและนักเรียนเป็นสำคัญ  สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น

นั่นคือ  หัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็ง  จะทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จตามภาระกิจที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิผล
                 -------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

              The thing that upsets people is not what happens but what they think it means.

                                                                               Andrew  Weil
                                                  ---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หน้าที่ของโรงเรียน

โรงเรียนก็เหมือนสถาบันการศึกษาโดยทั่วๆไป คือมีหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

โรงเรียนเป็นองค์กรสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยทั่วไปโรงเรียนจะต้องจัดให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะพัฒนาในเรื่องต่อไปนี้

ความรู้ (Knowledge) ความรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องต่างๆได้

วิธีการ (Know how) เป็นความรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำสิ่งต่างๆได้  เป็นความรู้ที่สามารถประยุกต์เพื่อการปฏิบัติงานที่ซับซ้อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางเทคนิค

ปัญญา (Wisdom) ปัญญาช่วยให้ผู้เรียนสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆได้

ลักษณะนิสัย (Character) ลักษณะนิสัยช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะที่จะประสานงาน มีความพากเพียร กลายเป็นสมาชิกของสังคมที่ได้รับการยอมรับ  ได้รับการไว้วางใจจากสังคม

ทั้ง 4 ประการเป็นเนื้อหาการศึกษาที่โรงเรียนจัดขึ้น แต่ในทางทฤษฎี  การจัดการศึกษาจะพิจารณาแต่เพียงเนื้อหาอย่างเดียวไม่พอ  จะต้องพิจารณาถึงระบบ สภาพแวดล้อม รูปแบบ และกระบวนการที่จำเป็นต่อการใช้เนื้อหาด้วย
                                    ---------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเองและอารมณ์ของผู้อื่น  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ตนเอง และเพื่อจัดการกับอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสม

                                                                             แดเนียล  โกลแมน