วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ค่านิยมและสถาบันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ค่านิยมเป็นการตัดสินใจ หรือการลงความเห็นของบุคคลและของส่วนรวมว่า อะไรเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและควรแสวงหา

ค่านิยมเป็นเครื่องจูงใจให้บุคคลเลือกกระทำหรือหลีกเลี่ยงการกระทำ ค่านิยมมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล เป็นมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของมนุษย์ เมื่ออยู่ในสถานการที่ต้องเลือก ค่านิยมเป็นตัวกำหนดว่าอะไร"ถูก" อะไร"เหมาะ"อะไร"ที่จะปฏิบัติ" อะไร"ที่จะเชื่อ"

ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากคนเราจะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญที่จูงใจให้คนเราทำงานคือค่านิยม ค่านิยมต่ออาชีพจึงเป็นรากแก้วของปัญหาการว่างงาน

เนื่องจากแต่ละสังคมมีค่านิยมที่แตกต่างกัน ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละสังคมจึงแตกต่างกันด้วย

เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ค่านิยมทำหน้าที่ 2 ประการ คือ ประการแรก ค่านิยมทำให้เกิดเป้าหมายทั้งเป้าหมายส่วนบุคคลและเป้าหมายสาธารณะ ค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมการผลิต ประการที่สอง ค่านิยมทำให้เกิดนิสัยชอบ หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ฉะนั้น แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากปราศจากการมีระบบค่านิยมที่เหมาะสม ก็ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ระบบค่านิยมที่เหมาะสมจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ส่วนสถาบันมีความหมายเป็น 2 นัย คือในแง่รูปธรรม สถาบันหมายถึง องค์การหรือสมาคม ส่วนในแง่นามธรรม สถาบันหมายถึง ระเบียบหรือระบบการปฏิบัติที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมหนึ่งๆ เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่ปฏิบัติกันมาจนเคยชินและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมนั้น

สถาบันต่างๆของ ระบบการเมือง ระบเศรษฐกิจ และระบบสังคม มีอิทธิพลต่อความพยายามและความตั้งใจในการทำงานของมนุษย์

สถาบันเป็นตัวกำหนดทัศนคติ แรงจูงใจ และเงื่อนไขในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าสถาบันกระตุ้นให้คนแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน ย่อมจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถาบันทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ

นั่นคือ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องมีสถาบันที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงจะเกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยสถาบันจะกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ตลอดจนมีการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสถาบันทางสังคมที่เหมาะสม

โดยทั่วไปค่านิยมและสถาบันมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะต่อไปนี้

          1.มีอิทธิพลต่อทัศนคติที่เกี่ยวกับการใช้ความพยายามทางเศรษฐกิจทั่วๆไป เช่น ทัศนคติต่อการทำงาน  การเสี่ยงในการลงทุน เป็นต้น

          2. มีอิทธิพลต่อผลิตภาพของแรงงาน  สถาบันที่เหมาะสมจะเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน  ส่วนสถาบันที่มักจะเป็นอุปสรรคต่อคุณภาพหรือผลิตภาพของแรงงาน เช่น ระบบการแบ่งทรัพย์สินให้บุตรเท่ากันทุกคน ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ เป็นต้น

          3. มีอิทธิพลต่อการออมและการลงทุน ค่านิยมและสถาบันบางลักษณะไม่เอื้อต่อการออมและการลงทุน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การทำบุญเกินกำลัง ลักษณะมุ่งปัจจุบัน เป็นต้น

          4. มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของผู้ประกอบการ การขยายตัวของผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสถาบันและค่านิยม การมีค่านิยมและสถาบันที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของผู้ประกอบการได้มาก เช่น ค่านิยมในการสะสมความมั่งคั่ง เป็นต้น

          5. มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลทางเทคโนโลยีจะเกิดได้อย่างรวดเร็ว ก็ต่อเมื่อทัศนคติของคนในระบบสังคมยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งใหม่ๆ และสถาบันได้มีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่า ความแตกต่างของอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา เกิดจากความแตกต่างในรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยค่านิยมและสถาบันในประเทศพัฒนามีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

ด้วยเหตุนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มิฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ยาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ยาก และไม่มีคำแนะนำใดๆ พอเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติ ลักษณะเฉพาะของคนไทยก็แสดงออกมาทันที คือจะ"เลี่ยง" หรือ"ถอยหนี"จากสถานการณ์ที่ยากนั้น

                                                                                                   Blanchard

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การศึกษาและเทคโนโลยีกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในแง่ที่ว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มี แรงงาน ผู้ประกอบการ และสร้างทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน การศึกษายังช่วยให้บุคคลมีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นผู้พร้อมที่จะรับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ส่วนเทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน  การผลิต หรือการอุตสาหกรรม

สำหรับเทคโนโลยีทางด้านการผลิต อาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกัน  คือ ความรู้ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตแบบประหยัดปัจจัยประเภททุนและแรงงานในสัดส่วนเท่าๆกัน ความรู้ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับผลิตแบบประหยัดปัจจจัยประเภททุนมากกว่าแรงงาน และความทางโทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการประหยัดแรงงานมากกว่าปัจจัยประเภททุน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิผลและผลผลิตในกระบวนการผลิต ในลักษณะต่อไปนี้

          1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ช่วยให้สามารถนำทรัพยากรมาใช้ดำเนินการได้หลายแนวทาง สามารถจัดสรรปัจจัยการผลิตได้เหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ หากมีแรงงานมากก็อาจเลือกใช้เทคโนโลยีแบบประหยัดทุนกับกระบวนการผลิต

         2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของที่ดินและแรงงาน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

         3. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีผลทำให้กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ก่อให้เกิดกระบวนการลงทุนและการจ้างงาน

        4. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ หรือวิธีการผลิตใหม่ๆ แทนสินค้าและบริการชนิดเดิม

ที่สำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะหยุดนิ่ง ตลอดจนไม่อาจนำทรัพยากรมาใช้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้

นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต่อเมื่อ การศึกษาได้สร้างทุนมนุษย์ที่มี ความรู้ และทักษะ เป็นแรงงานที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การผลิต และการอุตสาหกรรม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคำ

ทุนมนุษย์ หมายถึง ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญ ที่สะสมอยู่ในตัวบุคคลแต่ละคน  ในทางเศรษฐศาสต์ ทุนมนุษย์เป็นสินค้าทุน เป็นสินค้าที่ผลิตสินค้าอื่นได้อีก

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ผู้ประกอบการกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการ เป็นบุคคลที่ผสมผสานปัจจัยการผลิตต่างๆ ทำการก่อตั้งสถานธุรกิจ ผลิตสินค้าหรือบริการ เพื่อการจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป

ผู้ประกอบการ เป็นผู้ก่อให้เกิดการลงทุน เป็นผู้นำในการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ตลอดจนเป็นผู้นำวัตถุดิบชนิดอื่นมาใช้แทนวัตถุดิบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ผู้ประกอบการ เป็นผู้ดัดแปลงสัดส่วนของปัจจจัยการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งผลิตสินค้าและบริการแปลกๆใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางออกไป

ผู้ประกอบการ เป็นผู้ที่สามารถแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์ให้เกิดให้เกิดประกอบการใหม่ๆ

ผู้ประกอบการจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดการผลิต และใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสิ่งที่ค้นพบใหม่ๆ ดังที่กล่าวมา

อย่างไรก็ตาม การจะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติดังนี้

          1. มีจิตใจกล้าเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และการทำงานมากกว่าปกติ โดยการเสี่ยงแต่ละครั้ง จะต้องมีความรู้และทักษะในเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจหรืองานที่ทำอยู่มีความก้าวหน้า หรือขยายกิจการใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อการเสี่ยงโชค

         2. มีความขยันขันแข็งในการทำงาน หนักเอาเบาสู้ อดทนไม่ท้อถอย มีความเชื่อว่า ความสำเร็จของชีวิตอยู่ที่การทำงานหนัก และมีไหวพริบในการทำงาน

          3. มีความรับผิดชอบและมีวินัยในตนเอง

          4. เมื่อจะทำกิจการใดๆจะต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับ

          5. มีการคาดการณ์ล่วงหน้าในงานที่ทำ มีการวางแผนระยะยาว มีการแบ่งขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด และแผนที่กำหนดขึ้นนั้นมีผลมาจากการศึกษาถึงสภาพ โอกาส และทรัพยากรที่มีอยู่

          6. มีความสามารถในการจัดการและการบริหารงาน

          7. เป็นผู้มีความกระตือรือร้น และมีความมั่นใจในตนเอง

          8. เป็นคนที่สร้าสรรค์โดยไม่อาศัยแรงจูงใจทางด้านผลกำไร หรือต้องการอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ฉะนั้น ประเทศหรือสังคมใดที่ต้องการความก้าวหน้า จะต้องมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างเพียงพอ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเอาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  และหากประเทศใดขาดผู้ประกอบการ แน่นอนว่าจะทำให้การเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

                                ทุกสังคมมีทรัพยากรจำกัด แต่คนในสังคมมีความต้องการไม่สิ้นสุด

                                จึงควรหาวิธีการที่จะนำทรัพยากรมาใช้ในทางที่ประหยัดที่สุด

                                และสามารถสนองความต้องการได้สูงสุด

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทุนเป็นสินค้าที่ได้มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าตัวอื่นได้ต่อไปในอนาคต

นความหมายทางเศรษฐกิจ ทุน มีความหมายเป็น 2 อย่างคือ ทุนในความหมายอย่างแคบ และทุนในความหมายอย่างกว้าง

ทุนในตวามหมายอย่างแคบ หมายถึง เครื่องจักร เครื่องมือโรงงาน วัตถุดิบ สินค้าที่กำลังผลิตอยู่ในโรงงาน และสินค้าที่ผลิตแล้วแต่ยังไม่ได้จำหน่าย

ส่วนทุนในความหมายอย่างกว้างนั้น นอกจากจะรวมเอาสิ่งต่างๆที่กล่าวมาแล้วในความหมายอย่างแคบ ยังรวมเอาความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ ที่ประชากรของประเทศได้สร้างสมไว้ซึ่งเรียกว่าทุนมนุษย์และทุนขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่อำนวยบริการให้แก่ระบบการผลิตและการจำหน่าย เช่น ถนนหนทาง เครื่องมือ การขนส่ง การคมนาคม การประปา การไฟฟ้า การสาธาณะสุข การพลังงาน และสาธารณูปโภคอื่นๆ

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เห็นว่าทุนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก เพราะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อผลิตภาพและความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ  ในลักษณะต่อไปนี้

         1.การมีทุนเพิ่มขึ้น จะทำให้การผลิตมีโอกาสขยายตัวเป็นการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มความชำนาญในการผลิตให้กับแรงงานมากขึ้น

         2. ทุนจำเป็นสำหรับการขยายการผลิตและการจ้างงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มจำนวนประชากร

         3. ถ้าสามารถสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว จะยังผลให้อุปทานของเครื่องมือและ เครื่องจักร ต่อคนงานแต่ละคนเพิ่มสูงขึ้น มีผลให้แรงงานสามารถทำหน้าที่ของตนได้รวดเร็วขึ้น  นั่นคือประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจะเพิ่มขึ้น

ในประเทศพัฒนาอัตราการสะสมทุนจะมีค่อนข้างสูง ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศด้อยพัฒนาที่มีอัตราการสะสมทุนต่ำ อันเนื่องมาจากการมีผลิตภาพและรายได้ต่ำ มีการนำเงินออกไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ ใช้เงินเพื่อความสนุกสนานและพิธีกรรมต่างๆ  ขาดสิ่งจูงใจให้มีการลงทุน ตลอดจนขาดสถาบันการเงินที่เหมาะสม นอกจากนั้น คนในประเทศด้อยพัฒนามีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสูงตามอย่างประเทศที่เจริญแล้วอีกด้วย 

จะเห็นว่า ทุนมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปัจจัยอื่นๆ ฉะนั้นหากประเทศกำลังพัฒนาต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดำเนินไปด้วยดี จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการการสะสมทุนอย่างจริงจัง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

 การพัฒนาเศรษฐกิจที่อาศัยทุนจากต่างประเทศ ไม่่อาจเป็นการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้

*********************************************************************************