วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อะไรทำให้คนเราเป็นผู้ชนะและประสบความสำเร็จในชีวิต

ถ้าศึกษาประวัติบุคคล จะพบว่ามีคนจำนวนมากที่ทุกข์ทรมาน เนื่องจากความพิการอย่างรุนแรง มีสติปัญญาด้อยกว่าคนอื่นที่อยู่รอบข้าง บางครั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุด ประสบความพ่ายแพ้เป็นประจำ  แต่สุดท้ายกลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เป็นผู้ชนะในชีวิต

ทำไมและมีอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ  ในเมื่อมีคนรอบข้างล้มเหลว มีคนอื่นที่ฉลาดกว่า มีโอกาสมากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า คำตอบคือ คนเหล่านั้นไม่มีข้อจำกัดที่สร้างขึ้นมาเอง แต่มีทัศนคติของผู้ชนะ

ข้อจำกัดที่สร้างขึ้นเอง  เป็นข้อจำกัดที่แท้จริงที่ตนเองสร้างขึ้นมา ถ้าตนเองไม่แก้ไข คนอื่นไม่สามารถช่วยเหลือได้ ข้อจำกัดที่สร้างขึ้นเอง ประกอบด้วย
                      มีทัศนะต่อชีวิตในเชิงลบ
                      มีคำแก้ตัวตลอด
                      ใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์
                      ใจแคบ
                      ไม่ยืดหยุ่น
                       สงสารตัวเอง
                       มีความวิตกกังวล
                       ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
                       ความขี้เกียจ
                       ไม่มีวินัยในตนเอง
                        มีนิสัยไม่ดี
แต่ข้อจำกัดที่ตัวเองสร้างขึ้นมานี้ จะหมดไป ถ้าบุคคลมีทัศนคติของผู้ชนะ

ทัศนคติคืออะไร  ทัศนคติ หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อสิ่งหนึ่งใด บุคคลหนึ่งบุคคลใด สถานที่หนึ่งสถานที่ใดฯลฯ ในลักษณะที่ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็แสดงว่ามีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้น ถ้าไม่ชอบก็แสดงว่ามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งนั้น

ทัศนคติของผู้ชนะ ก็คือ เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดี ต่อการที่ตนเองมีชัยชนะเหนือปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

หากศึกษาจะพบว่า ผู้ชนะกับผู้แพ้จะมีความคิดที่แตกต่างกันในลักษณะต่อไปนี้
                        ผู้ชนะ                                        ผู้แพ้
             มีแนวความคิดเสมอ                      มีข้อแก้ตัวเสมอ
             พูดเสมอว่า"ฉันจะทำ"                   พุดเสมอว่า"มันไม่ใช่งานของฉัน"
             เห็นคำตอบทุกๆปัญหา                  เห็นปัญหาทุกๆคำตอบ
             พูดเสมอว่า"ฉันทำได้"                   พูดเสมอว่า"ฉันทำไม่ได้"
             หาวิธีการที่จะทำ                            หาวิธีการที่จะไปให้พ้น
จะเห็นว่า การคิดแบบผู้แพ้โอกาสที่จะชนะแทบจะไม่มี

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของผู้ชนะ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่จะต้องสร้างขึ้นมา ซึ่งการ
สร้างทัศนคติของผู้ชนะ มีหลักการดังนี้

          1. มีความมุ่งมั่นและจริงจัง  ในการที่จะใช้ชีวิตและความเฉลียวฉลาดที่มีอยู่เพื่อแสวงหาความสำเร็จ  อันเกิดจากความพยายามที่ดีที่สุดของตน ผู้มีทัศนคติของผู้ชนะ รู้ว่าชื่อเสียงและโชคลาภไม่ใช่สิ่งที่บอกถึงความสำเร็จ แต่ความสำเร็จอยู่ที่การเอาชนะความกลัว โดยเฉพาะความกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

          2. มีความมุ่งมั่นและจริงจัง ในการที่จะใช้สิ่งที่ตนมีและตนเป็นทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ความสำเร็จ ไม่ใช่ความเฉลียวฉลาด ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ความกระตือรือร้น แต่เป็นความมุ่งมั่นไม่ลดละ ความเพียรพยายามและการตัดสินใจที่แน่วแน่ ผูัประสงค์จะสร้างทัศนคติของผู้ชนะ จะต้องมีความมุ่งมั่นที่เข้มแข็ง ไม่ถอย และใช้ความพยายามทั้งหมดที่มี ที่เป็นอยู่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้เลือกแล้ว

          3. มีความมุ่งมั่นและจริงจัง ในการที่จะสร้างเข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุศักยภาพที่สูงสุดในฐานะที่เป็นมนุษย์ ในการตัดสินใจทุกครั้ง  ผู้มีทัศนคติของผู้ชนะ จะต้องทำหรือเป็นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเท่าที่จะเป็นได้

นั่นคือ ถ้าอยากเป็นผู้ชนะ จะต้องสร้างทัศนคติของผู้ชนะขึ้นมาให้ได้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หากสร้างไม่ได้ แน่นอนว่าโอกาสที่จะชนะไม่มี และจะเป็นผู้แพ้ตลอดไป
                  -------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

ไม่ว่าท่านจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว แทบจะไม่เกี่ยวกับกรณีแวดล้อม  แต่เกี่ยวข้องอย่างมากกับทัศนคติของท่านเอง
                               --------------------------------------------------


วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เป้าหมายเพื่อความสำเร็จในชีวิต

เป้าหมายมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การมีเป้าหมายที่เหมาะสมแก่ตนจะก่อประโยชน์แก่บุคคลได้หลายทาง ผู้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน

การมีเป้าหมายทางอาชีพ และชีวิตส่วนตัวที่ชัดเจนและแน่นอน   ทำให้เกิดความ
เพียรพยายาม  เกิดความก้าวหน้าในชีวิต

คนที่มีเป้าหมาย แม้จะมีภาระการงานมากมาย ก็สามารถจัดการลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง  และรู้จักใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์

มีผู้กล่าวว่า มีวิธีเดียวที่มนุษย์จะดูแลชีวิตของตนได้ ก็โดยการกำหนดเป้าหมายและดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้น เพราะการมีเป้าหมายทำให้สุขภาพดีขึ้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ลดความเครียด ความสับสน และความกลัว เพราะการมีเป้าหมายช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวก

เป้าหมายคืออะไร เป้าหมาย  คือจุดหมายปลายทาง หรือผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ

เป้าหมายที่เหมาะสมกับตน คือเป้าหมายที่เกิดจากความต้องการ และสอดคล้องกับศักยภาพของตน

การฝันกลางวันเกี่ยวกับเป้าหมาย ไม่สามารถช่วยให้บุคคลไปถึงที่หมายได้ ทางที่ดีควรเขียนเป้าหมายเป็นลายลักอักษร เพราะทำให้มั่นใจได้ว่า ท่านมีองค์ประกอบของเป้าหมายครบถ้วน การเขียนเป้าหมายจึงเป็นเหมือนการวางแผน

เป้าหมายที่ดีมีลักษณะอย่างไร เป้าหมายที่ดีจะต้อง SMART ซึ่งย่อมาจาก
S=Specific เป้าหมายที่ดี จะต้องมีลักษณะจำเพาะเจาะจง มีรายละเอียดหรือมีจุดเน้น ที่จะบอกว่าต้องการบรรลุอะไร
M=Measurable เป้าหมายที่ดี จะต้องสามารถวัดได้ มีมาตรฐานในการเปรียบเทียบ ตลอดจนมีวิธีการไปสู่ลักษณะจำเพาะที่กำหนดได้
A=Action - oriented เป้าหมายที่ดี จะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้
R=Realistic เป้าหมายที่ดี  จะต้องเป็นไปได้ และทำได้จริง
T=Time - concious เป้าหมายที่ดี จะต้องมีข้อกำหนดเรื่องเวลา

อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่เป้าหมายได้ บุคคลต้องทำตามแผนปฏิบัติ และต้องใช้เวลา ซึ่งวิธีการต่อไปนี้จะช่วยให้บุคคลก้าวไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ กล่าวคือ

          1. มุ่งทำตามแผนปฏิบัติการทุกวัน  วิธีการหนึ่งที่สร้างความมั่นใจได้มากที่สุด สามารถหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลและความกลัว ว่าจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่  ก็คือการทำอะไรเล็กๆน้อยๆทุกวัน เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติ

          2. สร้างระบบเตือนตน มีระบบเตือนตนที่แสดงถึงความก้าวหน้า เช่น ปฏิทิน กราฟ หรือตาราง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าได้ก้าวไปข้างหน้า ระบบจะเป็นตัวชี้นำการปรับตัว เมื่อพบว่าความก้าวหน้าในระยะยาวช้าเกินไป หรือมีเป้าหมายใดที่กำลังจะเป็นไปไม่ได้

          3. ขอความร่วมมือจากเพื่อน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้อยู่ในแนวทางที่กำหนด ก็คือการบอกเป้าหมายให้เพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจทราบ เพื่อจะช่วยกระตุ้นหรือช่วยเหลือในคราวที่จำเป็น แต่การเลือกเพื่อนจะต้องใช้สามัญสำนึกหน่อยหนึ่ง ว่าเป็นผู้เหมาะสมเพียงใด

          4. มีวินัยในตนเอง เพื่อความก้าวหน้าตามเป้าหมาย จำเป็นจะต้องมีวินัยในตนเอง รู้ว่าอะไรควรทำอะไรหรือไม่ควรทำ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น

          5. กำหนดระบบการให้รางวัลตนเองเพื่อเป็นแรงจูงใจ  จริงอยู่เป้าหมายเองก็เป็นรางวัลอยู่แล้ว แต่การให้รางวัลเป็นระยะๆตลอดเวลา จะเป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง รางวัลจะต้องให้ในจุดที่ประสบความสำเร็จเป็นขั้นๆ  และต้องมีวินัย หากไม่ถึงจุดที่กำหนด อย่าให้รางวัลตนเองเป็นอันขาด

          6. ควบคุมไม่ให้เกิดความล้มเลิกกลางคันโดยการจัดลำดับความสำคัญและทำจุดเน้นให้แคบลง คนจำนวนมากคิดว่า โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมาย คือการทำทุกอย่างพร้อมกัน ในทุกเรื่อง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง การจะมีแผนปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรทำก่อนหลัง และกำหนดจุดแห่งความสำเร็จเป็นช่วงสั้นๆและแคบลง ง่ายต่อการที่จะไปถึงเป้าหมายระยะสั้นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมาย นอกจากจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอนตามลักษณะของเป้าหมายที่ดีแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวินัยตนเองที่จะดำเนินตามเป้าหมายอย่างเครงครัดสม่ำเสมอ การบรรลุเป้าหมายจึงจะเกิดขึ้นได้
            -----------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

      ถ้าไม่มีเป้าหมายเพื่อเป็นทิศทางแล้ว   จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไปทางไหน
      ถ้าไม่มีเป้าหมายเพื่อบอกถึงความก้าวหน้าแล้ว   จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน
      ถ้าไม่มีเป้าหมายเพื่อบอกถึงผลสำเร็จแล้ว   จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไปถึงเมื่อไร
                     -------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อคิดสำหรับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาเป็นกิจกรรมพัฒนามนุษย์และสมรรถภาพของมนุษย์ ที่สัมพันธ์กับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ เป็นการลงทุนเพื่อให้มนุษย์มีความสามารถและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การศึกษาเกี่ยวข้อง ทั้งการบริโภค และการผลิต ที่มุ่งไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ความรู้ในการผลิตของมนุษย์ จะช่วยยกศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพิ่มทางเลือกและเสรีภาพของมนุษย์

พบว่า ปัญหาพื้นฐานของประเทศด้อยพัฒนาส่วนมาก ไม่ได้เป็นเพราะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นเพราะความด้อยพัฒนาของทรัพยากรมนุษย์

หากไม่พัฒนาศักยภาพของมนุษย์  การพัฒนาจะเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางวัตถุ เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม

ฉะนั้นในการพัฒนา ภาระกิจแรกที่ต้องทำ คือการปรับปรุงการศึกษา ซึ่งในเรื่องนี้
 Myers และ Hanson ได้ให้ข้อคิดสำหรับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ดังนี้

          1. มีความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาการศึกษาของประเทศ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

          2. การศึกษาเพียงลำพัง ไม่เป็นเครื่องประกันที่เพียงพอว่าประเทศจะมั่งคั่ง อย่างกรณีของอียิปต์ อินเดีย และประเทศไทย ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับสูง แต่มีรายได้ต่อหัวต่ำ

          3. การลงทุนทางการศึกษา จะต้องปรับให้อยู่ในภาวะที่สมดุลย์ เหมาะสมกับความต้องการ และระดับของการพัฒนา  มิฉะนั้นจะดำเนินไปสู่ความลำบาก  และในการจัดการศึกษาจะต้องเลือกว่า
                3.1. จะเน้นเรื่องคุณภาพ หรือปริมาณ
                3.2. จะเปิดสอนเน้นหนักไปทางวิทยาศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์
                3.3. การฝึกอบรมด้านอาชีพจะอบรมในสถาบันการศึกษา  หรือในระหว่างทำงาน โดยความรับผิดชอบของภาคธุระกิจและอุตสาหกรรม
                3.4. จะกำหนดเงินเดือนโดยรัฐ หรือโดยตลาดแรงงาน
                3.5. จะให้ความสำคัญกับความต้องการของแต่ละบุคคล หรือความต้องการของรัฐ

         4. การลงทุนและเป้าหมายทางการศึกษา จะต้องปรับให้ตรงกับความเป็นจริงและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ

          5. จะต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษาอย่างรุนแรง และผลักดันที่จะได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น กล่าวคือ การพัฒนาประถมศึกษาจะเพิ่มอุปสงค์ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

แม้ว่าการศึกษาจะเป็นการลงทุนเพื่อให้มนุษย์มีความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม  แต่หากแผนการศึกษากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่ไปด้วยกัน  การพัฒนาเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก
                ---------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

การลงทุนทางการศึกษา จะต้องปรับโปรแกรมให้สมดุลย์  เหมาะสมกับความต้องการของคนและระดับการพัฒนา มิฉะนั้นจะพบกับความยากลำบาก
                                                                  Harbison
                         ------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาระดับอุมศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนระดับสูง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างจะรวดเร็ว กลับมีคำถามถึงผลผลิตของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถตอบสนองสังคมได้คุ้มค่ากับทุนที่ลงไปหรือไม่เพียงใด

จากการศึกษาพบว่า การอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามีลักษณะและปัญหาที่สำคัญดังต่อไปนี้

          1. เป็นระบบอุดมศึกษา ที่มีความหลากหลาย จัดตั้งโดยการประยุกต์ใช้ทั้งตัวแบบอังกฤษและอเมริกา บางครั้งจึงไม่อาจสนองตอบความต้องการของท้องถิ่นได้

          2. เป็นระบบอุดมศึกษา ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความกดดันให้ขยายต่อไปเรื่อยๆ เป็นการขยายตัวที่ขาดการวางแผน และไม่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่

          3. เป็นระบบอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับกับการเปิดสอนสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พอๆกับกับการเปิดสอนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยี

          4. การบริหารมหาวิทยาลัยขาดประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพภายในต่ำ ไม่มีกระบวนการที่เหมาะสม ในการตรวจสอบเนื้อหาในกระบวนวิชาต่างๆ  ตลอดจนการสอนและการประเมินคุณภาพ

          5. มีจำนวนนักศึกษามากเกินไป ขาดแคลนอาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพไม่เหมาะสม ห้องสมุดมีคุณภาพที่แย่ และมีอุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ

          6. มีหลักสูตรและวิธีสอนที่ล้าสมัย  ธรรมชาติการสอนในห้องเรียนมีลักษณะอำนาจนิยม ทำให้นักศึกษาไม่กล้าคิดอย่างอิสระ วิธีสอนใช้วิธีอ่านเนื้อหาคำสอนที่เตรียมไว้เพื่อการบรรยาย โดยมีการถ่ายสำเนาเพื่อขายนักศึกษา และข้อสอบส่วนใหญ่มีข้อคำถามตามสำเนาที่ขายนักศึกษานั่นเอง โดยที่นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือตำราค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม

          7. ในส่วนของอาจารย์ พบว่ามีปัญหาดังต่อไปนี้
                  (1) เกิดปรากฏการณ์สมองไหล อาจารย์ลาออกไปทำงานในมหาวิทยาลัยอื่น หรือไม่ก็มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  หรือธุรกิเอกชนที่มีสภาพการทำงานและให้ผลตอบแทนดีกว่า
                  (2) มีอาจารย์ส่วนหนึ่ง ใช้เวลางานทำธุรกิจส่วนตัว หรือทำกิจกรรมอื่นเพื่อหารายได้  แทนที่จะพยายามปรับปรุงคุณภาพการสอนการวิจัยให้ดีขึ้น
                  (3) มีอาจารย์จำนวนหนึ่ง อุทิศเวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยทำงานกับพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน โดยอ้างความเป็นนักวิชาการ

ทั้งหมด เป็นลักษณะและปัญหาของการอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษา ว่า มีทักษะทางวิชาชีพที่พร้อมจะใช้ในการทำงานหรือไม่ มีคุณธรรมจริยธรรมและคุณภาพส่วนบุคคลเป็นที่ต้องการหรือไม่ คุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไปหรือไม่

         -------------------------------------------------------------------------------

                                           สาระคิด

         คุณภาพของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย และคุณภาพของอาจารย์
                                    คือคุณภาพของบัณฑิต
                                -------------------------------------

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความเป็นผู้นำกับความมีประสิทธิผลของสถานศึกษา

ความเป็นผู้นำ หมายถึง ความสามารถในการใช้ให้ผู้อื่นกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้นำอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้นำโดยตำแหน่ง และผู้นำที่เกิดจากการยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ คือผู้นำที่เป็นโดยตำแหน่งและเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน

โดยพื้นฐานความเป็นผู้นำ จะลักษณะร่วมดังต่อไปนี้
          - มีทักษะเกี่ยวกับคน รู้ธรรมชาติของคน และรู้จักใช้คน
          - มีความปรารถนาที่จะมีอิทธิพลเหนือคนอื่น ซึ่งเป็นอิทธิลในทางที่ดี
          - มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ทั้งความรู้วิชาชีพ และความรู้ทั่วไป
          - มีนิสัยการทำงานที่ดี และ
          - มีทักษะเกี่ยวกับองค์การ รู้โครงสร้าง สายบังคับบัญชาและอำนาจขององค์การ
รวมทั้งจะต้องมี ลักษณะต่อไปนี้ อันเป็นลักษณะที่จำเป็นควบคู่ไปกับความเป็นผู้นำ กล่าวคือ
          - เป็นผู้มองโลกในแง่ดี มองเห็นโอกาสของทุกปัญหา ไม่ใช่มองเห็นปัญหาในทุกโอกาส
          - มีความกล้า กล้าที่จะคิด กล้าที่จะริเริ่ม กล้าที่จะตัดสินใจ และ
          - มีวินัยในตนเอง เป็นผู้ที่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร

ในเรื่องของการศึกษา มีคำกล่าวว่า "ไม่เคยเห็นสถานศึกษาที่ดีที่มีหัวหน้าสถานศึกษาที่แย่ หรือไม่เคยเห็นสถานศึกษาที่แย่ที่มีหัวหน้าสถานศึกษาที่ดี" ทั้งนี้เพราะความเป็นผู้นำ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสถานศึกษาธรรมดากับสถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ

จากการศึกษาวิจัยพบว่า สถานศึกษาจะมีประสิทธิผลหรือไม่  ขึ้นอยู่กับ ความเป็นผู้นำของหัวหน้าสถานศึกษา ในลักษณะต่อไปนี้

          1. มีความปรารถนาที่จะนำ มีความตั้งใจที่จะกระทำด้วยความกล้าหาญ และด้วยความมั่นคง แม้ในสถานะการณ์ที่ยุ่งยาก

          2. เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม และเป็นผู้ที่คิดอย่างมีข้อมูล

          3. ทำงานโดยมุ่งไปที่เป้าหมาย  โดยมีเป้าหมายขององค์การที่ชัดเจนและหลักแหลม

          4. เป็นตัวอย่างที่ดี โดยที่ตนเองทำงานหนัก

          5. ยอมรับเอกลักษณ์ของครูอาจารย์ ที่แตกต่างเกี่ยวกับ รูปแบบ ทัศนคติ ทักษะ และมุ่งหมายของการสอน ตลอดจน ยอมรับความแตกต่างของวิธีสอนเหล่านั้น

          6. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จ  และกระตุ้นให้บุคคลากรทำงานเพื่อทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง

          7. มีความคาดหวังสูง ทั้งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และการปฏิบัติงานของ
บุคคลากร ตลอดจน มีการตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าเป็นระยะๆ

          8. มีการสังเกตการสอนของครูอาจารย์  และให้ข้อมูลป้อนกลับในเชิงบวกและสร้างสรรค์

          9. กระตุ้นให้ใช้เวลาสอนอย่างมีประสิทธิภาพ  และกำหนดกรรมวิธีดำเนินการเรียนการสอนให้เกิดความยุ่งยากน้อยที่สุด

          10. ใช้วัสดุและและทรัพยากรบุคคลอย่างสร้างสรรค์

จะเห็นว่า สถานศึกษาจะมีประสิทธิผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับ วิสัยทัศน์ การอุทิศตน และความมีพลัง ของผู้นำของสถานศึกษานั้นๆ
                 -------------------------------------------------------------------

                                                    สาระคิด

         ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้พร้อมที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก
                                     ----------------------------------------