วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด

แนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาประเทศตลอดมา คือแนวคิดที่ว่า การพัฒนาประเทศจะต้องเน้นที่การพัฒนาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ

โดยเชื่อว่า เมื่อประเทศมีเศรษฐกิจดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบอื่นๆดีไปด้วย จึงมีการวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลาง มีการสะสมทุน เน้นการทำให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม  มีการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศด้วยการให้ผลประโยชน์ต่างๆนานา ตลอดจนขอความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีและทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนั้นยังพัฒนาด้วยการ การทำให้ทันสมัย หรือ การทำสังคมให้เป็นสังคมเมือง ตลอดจน พยายามพัฒนาประเทศให้เหมือนชาติตะวันตกบ้าง เหมือนอเมริกาบ้าง ยอมรับกระแสร์โลกาภิวัตน์โดยไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องประกันความสุขของมนุษย์

แต่จากประสบการณ์การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา พบว่า แม้ประเทศจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ไม่ทำให้การครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลง

ไม่มีหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เพิ่มการมีงานทำ สร้างความเท่าเทียมกัน หรือ มีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น

ซ้ำร้ายกลับทำให้คนมีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ทำให้สภาวะแวดล้อมเป็นพิษ ทำลายทรัพยากรอย่างกว้างขวาง มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย สร้างค่านิยมที่ทำให้เกิดความกลัว นิยมชมชอบชาติตะวันตกและประเทสที่พัฒนาแล้วอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนลืมเอกลักษณ์ของชาติตน

นอกจากนั้น จากการศึกษาของธนาคารโลกและองค์การสหประชาชาติ พบว่า การช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว แทนที่จะสร้างความแข็งแกร่งพึ่งตนเองได้ กลับจะช่วยเพิ่มความอ่อนแอ และทำให้ประเทศที่ยากจนเพิ่มลักษณะพึ่งพิงมากขึ้น คอยติดตามแนวทางการพัฒนาและความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ประชาชนเองก็ขาดการมีความคาดหวังที่สูงขึ้น

เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นผลผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ โดยไม่สนใจการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนละเลยการสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด เป็นการพัฒนาที่ละเลยคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ปัญหา 
ทุโภชนาการ โรคภัยไข้เจ็บ ความไม่รู้หนังสือ การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกัน ดังที่เป็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด
---------------------------------------------------------------------------------
                                                  สาระคิด

เดิมเราเคยสนใจผลผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ เพราะคิดว่ามันจะไม่ทำให้เกิดความยากจน แต่ปัจจุบันเราควรสนใจความยากจนเพื่อเพิ่มผลผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ

                                                         Gerald M.Meier

******************************************************


วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

การทำให้ทันสมัยคืออะไร

การทำให้ทันสมัย ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Modernization ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ คำว่า การพัฒนา ใกล้เคียงมาก จนนักวิชาการบางคนกล่าวว่า เป็นคำที่สามารถใช้แทนกันได้ แต่ความจริงคำทั้งสองคำนี้ มีความแตกต่างกัน

การทำให้ทันสมัย เป็นคำที่เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมคร้ังที่ 2 ในทวีปยุโรป ราวๆ ค.ศ.1800  เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตสินค้ามีปริมาณมากขึ้น การอุตสาหกรรมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนไป มีวิธีการดำเนินชีวิตแบบใหม่เกิดขึ้น

ต่อมา เมื่อเกิดมีลัทธิอาณานิคม ประชากรที่อยู่ในประเทศที่เป็นอาณานิคมถูกชักจูงให้เปลี่ยนวิถีชีวิตตามแบบเดิมของตน หันมาใช้ชีวิตแบบใหม่ทั้งในแง่ของการแต่งกาย อาหารการกิน ตลอดจนมีการจัดระบอบการปกครองแบบชาติตะวันตก จนในที่สุด การทำให้ทันสมัย มีความหมายเท่ากับ การทำให้เหมือนสังคมตะวันตก (westernization)

อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการได้อธิบายและให้ความหมาย ของการทำให้ทันสมัย ไว้ดังนี้

คำว่า "ทันสมัย" เป็นคำที่ใช้ได้ทั้งกับ มนุษย์ ประเทศ ระบบการเมือง เศรษฐกิจ เมือง และ สถาบัน เช่น  โรงเรียน โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และการประพฤติปฏิบัติ หรือถ้าจะอธิบายตามตัวอักษรจะได้ว่า ทันสมัย หมายถึง อะไรก็ได้ที่แทนสิ่งในอดีต เช่น การใช้เรือใบแทนเรือพายเป็นครั้งแรกก็ถือว่าทันสมัย  ประเทศที่ทันสมัย หมายถึง ประเทศที่มีการจัดการศึกษาเพื่อมวลชน เป็นสังคมเมือง  เป็นสังคมอุตสาหกรรม มีองค์การแบบราชการ  มีการคมนาคมและการขนส่งที่รวดเร็ว ส่วนการทำให้ทันสมัย หมายถึง การทำให้เกิดลักษณะที่ทันสมัยดังกล่าว

การทำให้ทันสมัย เป็นปรากฏการณ์ที่บุคคล หรือ สังคมผูกพันตัวเองเข้ากับการลอกเลียนแบบ การยืมไปใช้ หรือนำไปปรับใช้ ไม่ว่าเป็นต้นแบบสถาบัน หรือแนวปฏิบัติจากต่างประเทศ ซึ่งคิดว่าจะทำให้ประเทศของตนเจริญขึ้น ดูดีขึ้น หรือเทียบเท่าประเทศอื่นๆ การทำให้ทันสมัยนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดจากพลังภายนอก ที่รับมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง การรับมาใช้จากสังคมภายนอกนั้น ส่วนใหญ่รับมาจากสังคมตะวันตก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว บางครั้ง คำว่า การทำให้สมัย จึงหมายถึง การทำให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม การทำให้เหมือนสังคมตะวันตก และการทำให้เหมือนสังคมอเมริกัน (Americanization) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน และใช้แทนกันได้

จะเห็นว่า การทำให้ทันสมัยแตกต่างกับการพัฒนา อยู่ที่ การทำให้ทันสมัยนั้นเกิดจากพลังภายนอก ส่วนการพัฒนาเกิดจากพลังภายในสังคมนั่นเอง

เนื่องจากการทำให้ทันสมัย เกิดจากการพลังภายนอก เกิดจากการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศที่คิดว่าพัฒนา หากมีการลอกเลียนแบบ หรือรับนำมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริง ของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนเอกลักษณ์และสิ่งดีงามของประเทศ จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้นในประเทศ ดังปรากฎให้เห็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยในขณะนี้

--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                                                คนไทยนั้นชอบความทันสมัย
   แต่เป็นความทันสมัยที่นำไปสู่ความสนุก สะดวก สบาย ไม่ใช่เพื่อการสร้างสรรค์

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

ความเป็นมาของการพัฒนา

การพัฒนานั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยอิสระ ทันทีทันใด แต่การพัฒนาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถจำแนกรูปแบบและช่วงเวลาของการพัฒนาออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ

ระยะแรกของการพัฒนา ระยะนี้ เริ่มตั้งแต่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกเพื่อการยังชีพจนถึงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป การดำรงชีพของมนุษย์ในช่วงนี้มีลักษณะเรียบง่าย สะดวกสบาย มีความเป็นอยู่แบบพอกินพอใช้ พึ่งตนเอง ใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านแบบง่ายๆ  ตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น การพัฒนาในช่วงนี้มุ่งเน้นการพึ่งตนเอง ที่สามารถสนองความจำเป็นของตนเองหรือท้องถิ่นได้ ระบบสังคมเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ระบบตลาดยังไม่มี หรือถ้ามีก็มีอิทธิพลน้อยมาก สังคมสมัยนั้นเป็นสังคมปิด มีความผูกพันเสมือนครอบครัวใหญ่ ระบบข้าราชการเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการถือว่าตนเองเป็นนาย การดำรงชีพของประชาชนขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เคยชินกับการรอคอยจากธรรมชาติและรัฐ

ระยะที่สองของการพัฒนา ระยะนี้ เริ่มตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นับตั้งแต่เริ่มการนำเครื่ิองจักรกลเข้ามาใช้ประโยชน์ในการผลิต การใช้เครื่องจักกลแทนแรงงานมนุษย์ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีการแข่งขัน สังคมกลายเป็นสังคมเปิด มีการใช้กฎระเบียบควบคุมความประพฤติของคนในสังคมแทนจารีตประเพณี ประชาชนถูกแบ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค มีการแบ่งงานกันทำตามความถนัดและความสามารถอย่างชัดเจน สังคมและการผลิตมีระบบมากขึ้น ทำให้การพัฒนาประเทศในทวีปยุโรปเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในยุโรป ทำให้ประเทศอื่นๆที่ล้าหลังมีแรงจูงใจที่จะเร่งรัดการพัฒนาประเทศของตนบ้าง

ระยะที่สามของการพัฒนา ระยะนี้ เป็นระยะการพัฒนาที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และดำเนินต่อไปในอนาคต เป็นยุคของการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ได้นำเครื่องจักรกลมาใช้อย่างกว้างขวาง มีการใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถใช้อิทธิพลทางการเมืองหรือการทหารเข้าไปช่วงชิงผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบประเทศด้อยพัฒนาได้อีกต่อไป ทำให้ประเทศพัฒนาเริ่มหายุทธวิธีหรือแนวทางพัฒนาใหม่ๆ  องค์การระหว่างประเทศ ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศพัฒนาทั้งหลายได้เปลี่ยนแนวทางและวิธีการ เพื่อตอบสนองประเทศด้อยพัฒนามากขึ้น

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาของระยะที่สาม เกิดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สงครามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมามากมาย ประการแรก สงครามทำให้ฐานะทางเศรษฐหกิจและสังคมของประเทศในยุโรปตกต่ำอย่างมาก ทำให้สหรัฐอเมริกาขึ้นมามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และการทหารแทนมหาอำนาจในอดีต และต่อต้านอิทธิพลของรัสเซีย ด้วยการช่วยเหลือประเทศในยุโรปตะวันตกบูรณะประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การทีอาณานิคมต่างๆได้เปลี่ยนแปลงเป็นประเทศเอกราช ประเทศเหล่านั้น ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งสหรัฐอเมริการและรัสเซียที่พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าประเทศเหล่านั้น จะฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ส่วนประเทศเอกราชใหม่เหล่านั้น ก็พยายามช่วยเหลือตนเอง ด้วยการพัฒนาตนเองในรูปแบบและวิธีการต่างๆ  รวมทั้งการลอกเลียนประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งบ้างก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ประสบความล้มเหลว เกิดปัญหาใหม่ๆตามมามากมาย

จะเห็นว่า การพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายของแต่ละสังคมมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งมีนักวิชาการสาขาต่างๆ  ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศให้ความสนใจ และได้ให้นิยามและกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาขึ้น ทำให้เกิดมีประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

การจะดูว่าประเทศใดพัฒนาหรือไม่เพียงใดให้ดูจาก ประเทศนั้นจัดการกับความยากจนอย่างไร ประเทศนั้นจัดการกับการว่างงานอย่างไร และประเทศนั้นได้จัดการกับความไม่เท่าเทียมกันอย่างไร

                                                                      Dudley Seers

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาหมายความว่าอย่างไร

คำว่า"การพัฒนา" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Development" เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีความหมายแตกต่างออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์และค่านิยม ตลอดจน ความรอบรู้ของผู้ให้ความหมายเป็นสำคัญ

นักการศึกษา มีความเห็นการพัฒนาคือ การสร้างความต้องการ ความคาดหวังของบุคคลและสังคม ส่วนนักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะคิดว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการที่ทำให้ทันสมัย ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ มักจะใช้การพัฒนาในความหมายของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสนใจเรื่อง การออม การลงทุน รายได้ประชาชาติ ผลิตภาพ และความสมดุลของการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ไวด์เนอร์ (Weidner) ได้จำแนกความหมายของการพัฒนาเหล่านั้นออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก เห็นว่าการพัฒนาเป็นเรื่องของความเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงในผลที่ได้ของระบบ โดยผลที่ได้มีปริมาณมากกว่าเดิม หรือดีกว่าเดิม

กลุ่มที่สอง เห็นว่าการพัฒนาเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระบบกระทำการ เช่น การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบสังคมและวัฒนธรรม

กลุ่มที่สาม เห็นว่าการพัฒนาเป็นการปฏิบัติการโดยมีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่ก่อให้เกิดความทันสมัย หรือการสร้างชาติ ตลอดจนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสังคม ความทันสมัย หมายถึง การมีสภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิม การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม การรู้หนังสือหรือได้รับการศึกษามากขึ้นกว่าเดิม ฯลฯ  ส่วนการสร้างชาติอาจมองในแง่ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศ สำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนั้น หมายถึงการแก้ไขปรับปรุงโดยทั่วถึง ทั้งในด้านวัตถุและสวัสดิการสังคม เป็นผลที่สามารถวัดได้ เช่น มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น เด็กสำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆเพิ่มขึ้น เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ เห็นว่า การพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลง โดยมีการวางแผนไว้ก่อน กลุ่มนี้เห็นว่า การพัฒนาที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นจะต้องมีการวางแผน และมีการนำแผนไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนที่ว่างไว้

ส่วน ไวด์เนอร์ เอง เห็นว่า การพัฒนาเป็นเพียงแนวทาง โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่เป็นไปตามจุดหมายปลายทางที่แน่นอนตายตัว เพราะการพัฒนาไม่เคยประสบความสำเร็จสมบูรณ์อย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงเกิดผลใกล้เคียงกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การพัฒนา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมายไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนจะดีขึ้นในลักษณะและทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับกับค่านิยมของบุคคลและสังคม และการพัฒนาจะต้องเกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนแปลง การวางแผน การกำหนดทิศทาง และค่านิยมด้วยเสมอ 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                         สาระคำ

การพัฒนา เป็นการต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายที่สำคัญของโลกในทุกวันนี้ อันได้แก่
                  ภาวะทุโภชนาการ โรคภัยไข้เจ็บ การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกัน

                                                                      Streeten

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

ผลเสียของการลงทุนจากต่างประเทศ

แม้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศ จะให้ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ไปลงทุนก็ตาม แต่ก็อาจจะเกิดผลเสียในลักษณะต่อไปนี้

ผลเสียทางด้านแรงงาน ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีแรงงานเหลือเฟือ แต่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ชาวต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนจึงจ่ายค่าแรงน้อย  เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคนงานจนกว่าจะปฏิบัติงานได้ในอัตราที่สูง นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางประเภทแก้ปัญหาเรื่องแรงงานด้วยการใช้เครื่องจักรแทน ทำให้การจ้างงานมีการขยายตัวในอัตราต่ำ และโรงงานอุตสาหกรรมมักจะตั้งอยู่ในเมือง จึงไม่สามารถจ้างแรงงานที่ทำงานไม่เต็มที่ในชนบทบทได้หมด นั่นคือการลงทุนจากต่างประเทศไม่อาจช่วยแก้ปัญหาการว่างงานได้มากนัก

การสูญเสียเงินทุน  การสูญเสียเงินทุนที่เห็นได้ชัด คือ การส่งรายได้ที่เป็นส่วนของเจ้าของทุนกลับประเทศ อันได้แก่ เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ เงินเดือนของพนักงานชาวต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนเงินที่มองไม่เห็น ได้แก่ การสูญเสียที่เกิดจากการใช้นโยบายคุ้มครอง และการสูญเสียเงินออมภายในประเทศเพื่อซื้อสินค้าบริโภคประเภทฟุ่มเฟือย ที่ชาวต่างประเทศลงทุนผลิตขึ้นในประเทศ

การใช้วัตถุดิบ อุตสาหกรรมชาวต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน ได้นำวัตถุดิบและสินค้าประเภททุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขาดดุลการค้าในอัตราที่สูง นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากจะใช้วัตถุดิบในประเทศน้อยลงแล้ว ยังนำสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรกลมากกว่าแรงงานคน  อุตสาหกรรมประเภทนี้จึงไม่เหมาะกับประเทศที่ไปลงทุน

การลงทุนในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม บางครั้งนอกจากชาวต่างประเทศจะมาลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น บาร์ ภัตตาคาร เป็นต้น ซึ่งการลงทุนประเภทนี้ นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการแย่งอาชีพของคนในประเทศอีกด้วย เพราะเป็นกิจการที่คนในประเทศสามารถดำเนินการเองได้

การผูกขาดกิจการบางประเภท การแข่งขันด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน ทำให้มีการเข้ามาลงทุนในกิจการประเภทเดียวกัน เกิดการผูกขาดตลาดการค้า จนเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าไปลงทุน

ผลกระทบต่อมลภาวะ การเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างมาก ทั้งมลภาวะทางน้ำ ทางอากาศ และมลภาวะทางเสียง เป็นอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ มีผลทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์ เกิดภาระทางสังคมตามมา

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นผลเสียที่เกิดจากการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ ฉะนั้นในการส่งเสริมการลงทุน หรือการอนุญาตให้มีการลงทุน จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะก่อให้เกิดผลเสียดังที่กล่าวมาหรือไม่ หากเกิดผลเสีย ก็ควรระงับยับยั้ง หรือกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสม  จริงอยู่ การลงทุนจากต่างประเทศอาจช่วยทำให้ดูเหมือนว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาการว่างงานได้ส่วนหนึ่งก็ตาม แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ควรคำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังประกอบการพิจารณาด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

                              การลงแรงทำงานทุกชนิดทำให้คนเรายิ่งมีศักดิ์ศรี
ถ้าท่านไม่สอนให้ลูกๆรู้จักลงแรงทำงาน นั่นคือ ท่านกำลังพวกสอนเขาให้ปล้นผู้อื่น

                                                            คัมภีร์ทาลมุด

*****************************************************************