วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

การทำให้การแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ในการแก้ปัญหาจะต้องระลึกเสมอว่า "ทุกปัญหามีไว้ให้แก้" การแฏิเสธปัญหาไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นพวกที่แสวงหาปัญหาแล้วหาแนวทางที่จะแก้ไข

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหามีได้ทั้งยากและง่าย แต่จะแก้ปัญหาได้ยากหรือง่าย บุคคลจะต้องอาศัยวิธีการ ทักษะ เทคนิควิธี และการเรียนรู้การแก้ปัญหา เพื่อที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

          1. วางแผนที่จะเผชิญกับปัญหา  ด้วยการเตรียมตัวเตรียมวิธีการที่จะแก้ปัญหา ที่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด การวางแผนเพื่อเผชิญกับปัญหาจึงเป็นเรื่องจำเป็นอันดับแรก

          2. เผชิญกับปัญหาด้วยความกล้าศรัทธาและความหวัง โดยทั่วไปเบื้องหลังของปัญหามักจะเป็นโอกาส การเผชิญกับปัญหาด้วยความศรัทธา ความหวัง และความกล้า จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ และนำไปสู่เป้าหมาย เพื่อรับโอกาสมที่อยู่เบื้องหลังปัญหานั้น

          3. เผชิญกับปัญหาอย่าเลี่ยงปัญหา บุคคลที่เฉลียวฉลาด คือบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาก่อนที่ปัญหาจะใหญ่โตจนไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจจะเกิดอันตรายในที่สุด การเลี่ยงปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

          4. ทำให้ตนเองแน่ใจว่าเข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คือการไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของปัญหา การพยายามทำความเข้าใจกับปัญหา นอกจากจะช่วยให้เข้าใจปัญหาแล้ว อาจจะพบความจริงที่ว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหานั้น แท้จริงเป็นเพียงอาการของปัญหา

          5. ตรวจสอบปัญหาด้วยการตั้งคำถาม ในการแก้ปัญหาอย่าได้รีบสรุปปัญหาจนกว่าจะเห็นปัญหาในบริบททั้งหมด จะต้องตรวจสอบปัญหาด้วยการตั้งคำถามก่อน เพราะในขณะที่ตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบปัญหา อาจพบวิธีการแก้ปัญหาออกมา และสามารถนำไปแก้ปัญหาได้

          6. กำหนดวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้หลายๆวิธี ในการแก้ปัญหาจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ในใจก่อนที่จะเริ่มเขียนทางเลือกหลายๆทาง และจงเลือกทางเลือกที่แก้ปัญหาได้ง่ายที่สุด

          7. เลือกวิธีแก้ปัญหาแล้วลงมือทำ จงระลึกไว้เสมอว่า การทำผิดดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย หรือดีกว่าที่จะเลื่อนการกระทำออกไป การเริ่มทำงานใหญ่จะต้องเริ่มด้วยการลงมือทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

          8. เมื่อแก้ปัญหาเสร็จจะต้องหันหลังให้กับปัญหานั้นแล้วหันหน้าไปสู่ท้าทายใหม่ๆ เมื่อแก้ปัญหาเสร็จ จงอย่าสนใจปัญหานั้นอีก ให้หาสิ่งท้าทายใหม่ๆเพื่อแก้ไขต่อไป ปัญหาบางอย่างอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ จึงต้องมีการปรับวิธีแก้ปัญหา โดยการหาข้อมูลใหม่ๆ แต่อย่ายอมแพ้

หากดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆที่กล่าวมา เชื่อได้ว่า สามารถทำให้การแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และการแก้ปัญหาก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

                        มนุษย์ทุกคนมีปัญหา การแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนจะต้องทำ

                      การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล จะทำให้การพัฒนาตนเองดำเนินไปได้ด้วยดี

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

วิธีแก้ปัญหาของมนุษย์

มนุษย์ทุกคนย่อมมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องทำทุกวัน

แต่ละคนต้องเผชิญกับปัญหาที่มีความสำคัญ มีขอบข่ายและมีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน ปัญหาบางอย่างเป็นเหตุการณ์ประจำวันและแก้ไขได้ง่ายๆ แต่บางปัญหามีความซับซ้อนและไม่ง่ายนักที่จะแก้ไข

และเนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างในเรื่องเจตคติ ความจำเป็น ประสบการณ์ สติปัญญา ฯลฯ ทำให้มีวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกันไป มีประสิทธิผลแตกต่างกันไป

การแก้ปัญหาที่ขาดประสิทธิผลจะต้องได้รับการลงโทษเสมอ ในทางธุรกิจอาจได้รับการลงโทษในรูปของการเสียค่าปรับ ยอดขายลดลง สูญเสียลูกค้า การผลิตขาดประสิทธิภาพ หรือย่างน้อยที่สุดจะทำให้เสียเวลาและโอกาส

ในส่วนบุคคล การแก้ปัญหาที่ขาดประสิทธืผล ทำให้เกิดความคับข้องใจ ผลงานลดลง ขาดแรงจูงใจ ขาดขวัญและกำลังใจ เครียด เป็นทุกข์ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ และจะเกิดความหายนะในที่สุด ในทางตรงกันข้ามหากการแก้ปัญหามีประสิทธิผล การพัฒนาตนเองจะดำเนินไปได้ด้วยดี

ในการแก้ปัญหาสิ่งแรกที่ต้องทำ คือจะต้องเข้าใจปัญหา เพราะในการแก้ปัญหา การเข้าใจความหมายของคำว่า"ปัญหา" เป็นความจำเป็นเบื้องต้น เพราะจะช่วยให้เข้าใจความคิดรวบยอดของการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้มากขึ้น

คำว่า "ปัญหา" มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลาย แต่สรุปได้ว่า ปัญหา หมายถึง ข้อสงสัย คำถาม ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข ที่เผชิญอยู่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เกี่ยวข้องกับอันตรายหรือความยากลำบาก หรือ  เรื่องราวที่ต้องคิด หรือ ต้องทำให้สำเร็จ 

อย่า่งไรก็ตาม คนจีนมองว่าปัญหาเป็นตัวแทนของโอกาสหรือความท้าทาย ซึ่งหมายถึงว่า หากแก้ปัญได้สำเร็จ จะทำให้มีโอกาสเจริญเติบโต หรือมีความก้าวหน้าในชีวิต

การแก้ปัญหาจึงเป็นการแสวงหาทางเลือกอย่างจริงจัง การเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผลมากที่สุดจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่มนุษย์ใช้กันอยู่มีผู้รวบรวมไว้ดังนี้

          1.โดยบังเอิญ เป็นการแก้ปัญได้อย่างไม่คาดคิดมาก่อน เช่น วิธีการจับสัตว์โดยการขุดหลุมพราง เกิดจากการที่มนุษย์ล่าสัตว์ แล้วสัตว์หนีไปตกเหวหรือหลุ่ม เป็นต้น

          2. โดยการลองผิดลองถูก เป็นวิธีแก้ปัญหาด้วยการลองผิดลองถูกหลายครั้ง ซึ่งครั้งแรกอาจแก้ปัญหาไม่ตรงเป้าหมาย แต่เมื่อทดลองหลายๆครั้ง ก็พบวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้

          3. โดยอาศัยผู้มีอำนาจ เป็นวิธีแก้ปัญหาโดยอาศัยผู้มีอำนาจในสังคม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เหนือคนอื่นในสังคม เช่น พระภิกษุ  ครู เป็นต้น

          4. โดยทางประเพณีและวัฒนธรรม เป็นวิธีการแก้ปัญโดยการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

          5. โดยผู้เชี่ยวชาญหรือนักปราชญ์ เป็นวิธีแก้ปัญหาโดยอาศัยนักคิด ผู้มีการศึกษา หรือผู้เชียวชาญเฉพาะเรื่อง เช่น แก้ปัญหาด้านกฎหมายโดยอาศัยนักกฎหมาย แก้ปัญเรื่องโรคภัยไข้เจ็บโดยอาศัยแพทย์ เป็นต้น

          6. โดยประสบการณ์ส่วนบุคคล  เป็นวิธีแก้ปัญหาโดยอาศัยประสบการณ์ของบุคคลแต่ละบุคคลที่ได้พบได้เห็นมา

          7.โดยวิธีไสบศาสตร์ เป็นวิธีการการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการทางไสยศาสตร์ เช่น หาหมอผีขับไล่ภูตผีที่สิงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย หาหมอดุเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น

          8. โดยวิธีอนุมาน เป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นระบบ โดยอาศัยหลักเหตุผล ที่สามารถทดสอบได้ วิธีอนุมานเป็นวิธีหาเหตุผลโดยนำสิ่งที่เป็นข้อเท็จริงตามธรรมชาติมาอ้างประกอบ เช่น
                        ข้อเท็จจริงใหญ่         คนเป็นสัตว์เลือดอุ่น
                        ข้อเท็จริงย่อย            นายแดงเป็นคน
                        ข้อสรุป                      นายแดงเลือดอุ่น

         9. โดยวิธีอุปมาน เป็นวิธีแก้ปัญหาหรือค้นหาความจิง โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล จากข้อเท็จริงย่อย แล้วนำข้อเท็จจริงย่อยเหล่านั้น มาพิจารณาสิ่งที่เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกัน หรือสัมพันธืกัน แล้วสรุปเป็นหลักใหญ่ หรือข้อเท็จริงใหญ่ เป็นวิธีที่กลับกันกับวิธีอนุมาน เช่น
                         ข้อเท็จริงย่อย             สัตว์แต่ละชนิด พืชแต่ละชนิด หายใจ
                         ความสัมพันธ์              สัตว์และพืชเป็นสิ่งมีชีวิต
                         สรุป                            สิ่งมีชีวิตต้องหายใจ

          10. โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีแก้ปัญหาโดยนำวิธีอนุมานมาใช้รวมกับวิธีอุปมาน ซึ่งเริ่มด้วยการกำหนดปัญหา แล้วใช้วิธีอนุมานเพื่อเดาคำตอบ เก็บรวบรวมข้อมูมูลเพื่อนำมาทดสอบหาคำตอบว่ารับได้หรือไม่ แล้วใช้หลักการของอุปมานเพื่อสรุปผลออกมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล เชื่อถือได้

วิธีแก้ปัญหาแต่ละวิธีที่กล่าวมา ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะเลือกใช้วิธีใดนั้น ขึ้นอยู้กับความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยจะเลือกวิธีแก้ปัญหารที่ตนถนัด และไม่คำนึงว่าวิธีแก้ปัญหานั้นจะเป็นระบบหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล ผู้แก้ปัญหาจะต้องใช้ความคิด มีวิธีคิด รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ และใช้ทักษะที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับปัญหานั้นๆ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคำ

ประสิทธิผล หมาถึง การแก้ปัญหาได้ตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้

ประสิทธิภาพ หมายถึง การแก้ปัญหาได้ตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยใช้ เวลา และทรัพยากรต่างๆอย่างประหยัด

*********************************************************************************







วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

พุทธธรรมอันเป็นเครื่องส่งเสริมการพัฒนาตน

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตนเอง เป็นศาสนาแห่งการฝึกอบรมตน มีหลักธรรมเกี่ยวกับการพัฒนาเป็นแกนกลาง

คำว่า "ภาวนา" ซึ่งแปลว่า "พัฒนา" ได้ถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง บุคคลสูงสุดในทางพุทธศาสนานับตั้งแต่ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือ อริยบุคคลทั่วไป ล้วนเกิดจาการพัฒนาตนด้วยตนเองทั้งสิ้น

ในทางพุทธศาสนา ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วย"กาย"กับ"จิต" การพัฒนาตนด้วยตนเอง ก็คือ"การพัฒนากาย"กับ"การพัฒนาจิต"ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนด้วยตนเอง จะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ นอกจากจะต้องดำเนินตามวิธีการแล้ว พระอมรโมลี(ประศาสน์ ปัญญาธโร) กล่าวว่า จะต้องมีหลักพุทธธรรมต่อไปนี้ประกอบ

          1.อินทรีย์ 5 หรือ พละ 5 เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องวัดความพร้อม ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ตลอดจนเป็นการบ่งชี้ว่า การพัฒนาตนมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด อิทรีย์ 5 เป็นหลักธรรมที่ใช้ในการพัฒนาตนเพื่อให้เกิดกำลังภายใน ประกอบด้วย

               1.1 ศรัทธา คือ ความเชื่อที่มีเหตุผล ความมั่นในใจใน ความจริง ความดี ของสิ่งที่นับถือหรือสิ่งที่ถือปฏิบัติ ทำหน้าที่กำจัดความไม่เชื่อถือ

               1.2 วิริยะ คือ ความเพียรพยามอย่างมีกำลังใจ ก้าวหน้า ไม่ท้อยถอย ทำหน้าที่กำจัดความเกียจคร้าน

               1.3 สติ คือ ความระลึกได้ กำกับจิตใจไว้กับกิจการงานที่ทำ นึกถึงสิ่งที่พึงทำพึงเกี่ยวข้อง  ทำหน้าที่กำจัดความประมาท

               1.4 สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น ความแน่วแน่ในกิจในสิ่งที่ทำ ทำหน้าที่กำจัดความฟุ้งซ่านรำคาญ

               1.5 ปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง รู้สิ่งที่ทำที่ปฏิบัติ หยั่งรู้ หรือรู้เท่าทันสภาวะ ทำหน้าที่กำจัดอวิชชา

นอกจากนั้น อินทีย์ 5 ยังส่งผลเป็นปัจจัยต่อเนื่องกัน กล่าวคือ ศรัทธาทำให้เกิดความเพียร ความเพียรทำให้เกิดสติมั่นคง  เมื่อสติมั่นคนทำให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิดีแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจ มองเห็นถึงโทษของอวิชชา

     2.อิทธิบาท 4 เป็นธรรมอันช่วยให้สำเร็จตามประสงค์  เป็นหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการนั้นๆ การพัฒนาตนก็เช่นกัน ถ้าประกอบด้วยอิทธิบาท 4 ก็จะประสบความสำเร็จ  สำหรับอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

               2.1 ฉันทะ แปลว่า ความรักความพอใจ ทำอะไรถ้าทำด้วยความรักความพอใจ จะช่วยให้เกิดความสำเร็จ ความพอใจเกิดจากการเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นหรือของงานนั้น ฉันทะไม่ใช่เฉพาะแต่รักงานเท่านั้น แต่หมายถึงว่า เมื่อทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด ทำให้เรียบร้อยสมบูรณ์

               2.2 วิริยะ คือความเพียร ซึ่งความเพียร แปลว่า ความแกล้วกล้า คือเจองานแล้วไม่ถอย เป็นผู้มีจิตสำนึกในการฝึกตน ชอบทำงานที่ยาก รู้จักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา มองเห็นงานเป็นสิ่งท้าทาย เป็นคนมีจิตใจสู้จนสำเร็จ

               2.3 จิตตะ แปลว่า ใจจดจ่อ เป็นลักษณะของคนที่อุทิศตนต่องาน เพราะเห็นความสำคัญของกิจ ที่ทำที่มีต่อตน ที่มีต่อชีวิตของตน

               2.4 วิมังสา  แปลว่า ทดลอง หรือ ทดสอบ คือคอยตรวจตราหาทางแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ ซึ่งต้องใช้ปัญญาประกอบ เป็นการทำงานด้วยปัญญา

ในการพัฒนาตนด้วยตนเอง เริ่มต้นด้วยการวัดความพร้อม โดยใช้ อินทรี่ย์ 5 แล้วจึงดำเนินการพัฒนาตนโดยใช้ อิทธบาท 4 หากบุคคลใดที่ต้องการพัฒนาตนเอง ถึงพร้อมด้วยหลักธรรมอินทรีย์ 5  และอิทธิบาท 4 จะช่วยให้การพัฒนาตนด้วยตนเองบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                               สาระคิด

                          ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด

*********************************************************************************


                                 
                                                                                         

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

คุณภาพส่วนตัวที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาตนด้วยตนเอง

การพัฒนาตนด้วยตนเอง เป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์ผู้หวังก้าวหน้าในชีวิตการทำงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างในยุคปัจจุบัน ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการพัฒนาตนด้วยตนเอง จะกลายเป็นคนล้าหลัง ขาดทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน

แต่การพัฒนาตนด้วยตนเองเป็นงานหนัก การจะประสบความสำเร็จได้ บุคคลจำเป็นจะต้องมีคุณภาพส่วนตัวดังต่อไปนี้ เป็นแรงผลักดัน

          1. ความกล้าและความตั้งใจมั่น การพยายามทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ การทำสิ่งต่างๆด้วยวิธี
การที่แตกต่างไปจากเดิม จะต้องอาศัยความกล้า ทั้งนี้เพราะไม่สามารถทราบผลได้ที่แน่นอน ในขณะเดียวกัน เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี เกิดความยุ่งยาก อาจเลิกถอยกลางคัน การพัฒนาตนด้วยตนเองจึงจำเป็นจะต้องมีความตั้งใจมั่น

          2. ความเปิดตัวและความถ่อมตัว บุคคลไม่สามารถพัฒนาได้ หากไม่ยอมรับเจตคติและแนวทางใหม่ๆ แต่การเปิดตัวเพื่อการพัฒนตนเองจำเป็นจะต้องอาศัยการถ่อมตัวด้วย มิฉะนั้นจะกล่ายเป็นคนที่รู้สารพัด กลายเป็นคนวางโตโอ้อวด แต่การถ่อมตนมากเกิดไป จะกลายเป็นคนที่มีปัญหาต่อการพัฒนาตนได้เช่นกัน  เพราะเป็นผลทำให้เกิดปมด้อยและขาดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ทำให้การพัฒนาตนเองเกิดขึ้นได้

          3. ความมั่นคงศรัทธา ความรู้สึกมั่นคงและมีความเชื่อมั่นว่า ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ทำให้บุคคลสามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆและสามารถยืนหยัดอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีความมั่นคงศรัทธาในลักษณะดังกล่าวมากเกินไป จะทำให้เกิดความใจเย็นจนเฉื่อยชา เชื่อในชะตากรรมไม่พยายามแก้ไขหรือทำอะไร คอยดูแต่เพียงว่าอะไรจะเกิดและเกิดขึ้นได้อย่างไร

          4. การมีเป้าหมายและความหวัง ในการพัฒนาตนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พัฒนาจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถบรรลุได้ มีความหวังว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น การไม่มีเป้าหมายทำให้ขาดทิศทางในการพัฒนา การขาดความหวังทำให้ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง การพัฒนาตนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการพัฒนาที่ขาดความหวัง จะนำไปสู่ความล้มเหลวตั้งแต่ต้น

นั่นคือ การพัฒนาตนจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อผู้พัฒนามีความ กล้า ตั้งใจมั่น เปิดตัวรับสิ่งใหม่ ถ่อมตัวพอสมควรแก่เหตุ มีศรัทธา มีเป้าหมาย และมีความหวัง

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาตนด้วยตนเอง ก็อาจมีสิ่งต่อไปนี้ที่จะมีส่วนปิดกั้นไม่ให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตนได้ 

          1. การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัส การไม่รับรู้ หรือการที่ไม่สามารถมองเห็นปัญหาหรือโอกาสที่จะพัฒนา จะมีส่วนในการปิดกั้นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาตนได้

          2. วัฒนธรรม การถูกวางเงื่อนไขจากบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถบอกได้ถึงความดีเลว ความถูกต้อง อะไรควรเปลี่ยนแปลง อะไรความถือปฏิบัติต่อไป

          3. อารมณ์ การรู้สึกไม่ปลอดภัยในบางสถานการณ์ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตนตามความคิดและความเชื่อของตนได้ ผลก็คือ ไม่อาจเริ่มการพัฒนาตน หรือทำให้การพัฒนาตนก้าวหน้าต่อไปได้

          4. สติปัญญา การขาดทักษะในการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ขาดสมรรถนะทางสมอง หรือขาดประสบการณ์ในการแก้ปัญหา ตลอดจนขาดวิธีแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตน

          5. การแสดงออก ในการพัฒนาตนด้วยตนเอง บางครั้งจำเป็นจะต้องสื่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การขาดทักษะในการสื่อสาร ทำให้ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ และอาจนำไปสู่การปิดกั้นการเรียนรู้และโอกาสในการพัฒนาได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาตนด้วยตนเองจะบรรลุเป้าหมายได้ นอกจากจะต้องมีคุณภาพส่วนตัวที่จำเป็นต่อการพัฒนาแล้ว ยังจะต้องไม่มีส่วนปิดกั้นที่เกี่ยวกับ การรับรู้ วัฒนธรรม อาราณ์ สติปัญญา และการแสดงออก จนไม่สามารถเกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตนด้วยตนเองได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคิด

            สิ่งดีๆจะมาหาคนที่มีความอดทน และลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสิ่งที่ตนเองต้องการ

                                                                                       Jeffrey Gitomer

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

การพัฒนาตนด้วยตนเอง:ความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน

การพัฒนาตน มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ที่ต้องการความก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงขึ้น ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความพึงพอใจที่จะทำงานมากขึ้น ตลอดจนมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่สมบูรณ์

การพัฒนาตนมีความจำเป็นสำหรับทกๆคน ที่ต้องการความสำเร็จในทุกๆด้าน บุคคลที่ไม่รู้จักพัฒนาตน จะเป็นผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

ตน ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า self หมายถึง ความรู้ ความรู้สึก และแนวความคิดเกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล

การพัฒนาตน เป็นการพัฒนาตนด้วยตนเอง เพื่อไปสู่เป้าหมาย เป็นการกระทำด้วยตนเอง ถ้าเป็นการเรียนก็เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่มีผู้สอน ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจในทุกระดับของกระบวนการเรียนรู้

การพัฒนาตน เป็นการพัฒนาบุคคล ซึ่งแตกต่างไปจากการพัฒนาองค์การหรือธุรกิจ เป็นการพัฒนาที่ริเริ่มด้วยตนเอง ทำด้วยตนเอง เป็นความรับผิดชอบของผู่พัฒนา ผู้พัฒนามีอิสระ และมีความรับผิดชอบที่จะเลือกว่าจะพัฒนาอะไร เมื่อไร และอย่างไร และรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาจากการตัดสินใจเหล่านั้น

หากจำแนกเป็นข้อๆจะได้ว่า การพัฒนาตนด้วยตนเอง หมายถึง

          1. การที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลึ่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกว่าเดิม ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรม เพื่อสนองความต้องการ สนองแรงจูงใจ หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้

          2. การพัฒนาตนด้วยตนเอง เป็นการพัฒนาศักยภาพของตนให้ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขของตน 

เหตุทีึ่ต้องพัฒนาตนด้วยตนเอง เนื่องจากในการพัฒนาบางเรื่อง บางพฤติกรรม การจะพัฒนาโดยบุคคลอื่นเป็นวิธีการที่ขาดประสิทธิผล หรือบุคคลผู้ใช้บริการไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนด การพัฒนาตนด้วยตนเองจึงเป็นวิธีการที่จำเป็น

เหตุผลที่มนุษย์จะต้องพัฒนาตนด้วยตนเอง อาจจำแนกออกได้ดังนี้มีดังนี้

          1. มีพฤติกรรหลายอย่างที่ไม่สามารถปรับพฤติกรรมโดยบุคคลอื่นได้ง่ายๆ ยกเว้นตนเอง เช่น พฤติกรรมทางเพศ หรือ การมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ เป็นต้น

          2. พฤติกรรมที่มีปัญหา เป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการมีปฏิกิริยาต่อตนเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมทางสมอง เช่น การคิด การใฝ่ฝัน จินตนาการ หรือการวางแผน

          3. การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก และไม่มีความสุข การรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ทำให้เกิดแรงจูงที่จะเปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอ จึงต้องพัฒนาด้วยตนเอง

          4. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ใช่เพียงแต่การทำให้พฤติกรรมที่มีปัญหาหมดไป หรือทำให้สถานการณ์บางอย่างหมดไป แต่ยังเพื่อประโยชน์ในการจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิผลมากกว่าในอดีตอีกด้วย ซึ่งความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงต้องเป็นของตนเองด้วย ด้วยการสร้างแรงจูงใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนด้วยพฤติกรรมใหม่

ในการพัฒนาตนด้วยตนเอง มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

          1. วิเคราะห์ตนเอง บุคคลที่สามารถพัฒนาตนเองได้ จะต้องรู้จักตนเสียก่อน ต้องค้นหาเอกลักษณ์ของตนให้พบ ยอมรับตนตามสภาพความเป็นจริง รู้สถานภาพของตน ตลอดจนวิเคราะห์ตนเองได้ว่าแสดงบทบาทสอดคล้องกับสถานภาพหรือไม่เพียงใด การวิเคราะห์ตนอาจเริ่มด้วยการศึกษาและประเมินตน เพื่อทราบถึงรูปร่างหน้าตา สุขภาพ สติปัญญา ความสามารถพิเศษ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนกิริยาท่าทาง ซึ่งการวิเคราะห์ตนเองเป็นขั้นของการทำความรู้จักตนเอง  การพัฒนาตนด้วยตนเองจะต้องเริ่มด้วยการรู้จักตนเองเสียก่อน

          2. การวางแผนเพื่อการพัฒนาตน การวางแผนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการพัฒนาตน เพราะจะช่วยให้ทราบแนวทาง วิธีการ และเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน การพัฒนาตนที่ขาดการวางแผน จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปโดยขาดทิศทางและอาจประสบความล้มเหลวในที่สุด

          3. พัฒนาตน ในการพัฒนาตนจำแนกได้เป็น 2 ด้าน คือ

                  3.1 การพัฒนาตนด้านรูปธรรม คือการพัฒนาส่วนที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอวัยวะสัมผัส เช่น การแต่งกาย กิริยามรรยาท ฯลฯ ซึ่งทำได้ด้วยการฝีึักฝน ทั้งกาย วาจา ภาษา ท่าทาง อย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย

                  3.2. การพัฒนาด้านนามธรรม คือการพัฒนาด้านจิตใจ ให้เป็นคนที่มีจิตใจดี มีปัญญา มีหูตา กว้างไกล ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอนการพัฒนาดังที่กล่าวมานี้ จะต้องทำให้ครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไม่ได้ มิฉะนั้น การพัฒนาตนจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่กล่าวมาเป็นความหมาย ความจำเป็น และกระบวนการในการพัฒนาตนด้วยตนเอง หากบุคคลใดประสงค์จะพัฒนาตนด้วยตนเองจะต้องดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต 

ป็นการไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่า การพัฒนาตนด้วยตนเอง เป็นกระทำที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้บุคคลที่หวังความก้าวหน้าจะต้องพัฒนาตน  เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มิฉะนั้น จะเป็นบุคคลที่มีความรู้และทักษะที่ล้าสมัย กลายเป็นคนไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคำ

ปัจเจกบุคคล (Individual) หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล ซึ่งบุคคลแต่คนมีลักษณะเฉพาที่แตกต่างกัน
*********************************************************************************