วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของปีเตอร์ ดรัคเกอร์

ในปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ปรมาจารย์ทางด้านบริหาร ได้เขียนหนังสือชื่อ Post Capitalist Society   หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไว้ดังนี้

          1. โลกในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ความเชื่อ โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนโลกทัศน์ ซึ่งในยุคปัจจุบันคาดไม่ถึง โดยมีความรู้เป็นทรัพยากรและเป็นรากฐานที่สำคัญ

          2. สังคมแห่งการเรียนรู้  เป็นสังคมยุคหลังทุนนิยม เป็นสังคมที่ต้องใช้ความรู้ในการทำงาน  ผู้บริหารที่มีความรู้  จะนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการผลิต แบบเดียวกับที่นายทุนเคยใช้ทุนให้เกิดประโยชน์ ความรู้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตควบคู่ไปกับทุนและแรงงาน

          3. ผลิตภาพของความรู้ เป็นตัวกำหนดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และสังคม ของแต่ละประเทศ

          4. การปฏิวัติด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเเรียนการสอน และจะเปลี่ยนแปลงไปจนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจและระบบการศึกษา

           5. ในสังคมแห่งความรู้ ผู้คนจะต้องเรียนรู้ที่จะเรียน สังคมยุคหลังทุนนิยมต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้  มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ถ้าปราศจากความรู้พื้นฐานแล้ว จะไม่สามารถมีสมรรถภาพระดับสูงในสังคมหลังทุนนิยมและสังคมแห่งความรู้ได้

ทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์ อัลวิน ทอฟเฟลอร์ และปีเตอร์ ดรัคเกอร์ ที่กล่าวมาทั้งหมด  จะเห็นว่ามีแนวคิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจแตกต่างในรายละเอียด
  
อย่างไรก็ตาม จากทัศนะของนักอนาคตวิทยาทั้ง 3 ท่าน สามารถสรุปแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ได้ดังนี้

                  1) สังคมในอนาคต เป็นสังคมแห่งความรู้  สังคมแห่งการเรียนรู้  หรือสังคมสารสนเทศ

                  2) เทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างของครอบคัว การทำงาน และการเรียนรู้เปลี่ยนไป

                  3) ความรู้ สารสนเทศ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิต และเป็นที่มาของอำนาจ

                  4) ความรู้ทางศาสนาได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ สตรีเป็นผู้นำมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และมีการพึ่งตนเองมากขึ้น

                   5) มีเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจเสรี เป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน มีการแข่งขันแบบเสรีทั่วโลก

                   6) การบริหารจัดการ  มีการกระจายอำนาจ มีความสัมพันธ์แบบเครือข่าย และมีการตัดสินใจร่วมกัน

                   7) การปกครองจะเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

                   8) สถาบันการศึกษาและรูปแบบการศึกษา จะมีความแตกต่างไปจากปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเห็นได้ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ส่วนอัตราการเปลี่ยนแปลงจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ
               ---------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                    ธรรมะคือ หน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ  ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
                                                                                          พุทธทาสภิกขุ
                                -------------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของ อัลวิน ทอฟเฟลอร์

อัลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) ได้เขียนหนังสือชื่อ The Third Wave   โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ 2523 (ค.ศ.1980) โดยกล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม หลังจากผ่านคลื่นลูกที่หนึ่งคือสังคมเกษตร และคลื่นลูกที่สองคือสังคมอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่สามคือสังคมเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

          1. อุตสาหกรรม  จะไม่อาศัยเพียงเครื่องจักรกลไฟฟ้าอีกต่อไป แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ผสมผสานวิธีการทางวิทยาศาตร์แขนงใหม่ๆ  เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะในการผลิตสูงขึ้น และมีการวิจัยควบคู่ไปกับการผลิต
 
           2. คอมพิวเตอร์  ถูกใช้เชื่อมต่อ ธนาคาร ร้านค้า บ้าน องค์การรัฐบาลและสถานที่ทำงาน  ทำให้เกิดวงจรทางธุรกิจ มีผลทำให้ลักษณะการทำงาน และโครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนไป คอมพิวเตอร์จะกลายเป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน

           3. โครงการพัฒนา จะควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี และจะส่งผลต่อการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนสารสนเทศมากมายมหาศาล  จนเข้าสู่สังคมสารสนเทศ

           4. บ้าน จะกลายเป็นทั้งสถานที่ทำงาน สถาบันครอบครัว และโรงเรียน

           5. การกระจายอำนาจ  กลายเป็นคำที่แพร่หลายในการจัดการ องค์การขนาดใหญ่จะปรับให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้มีอิสระมากขึ้น  และสามารถหากำไรเลี้ยงตัวเองได้ ลำดับชั้นในองค์การและผู้บริหารระดับสูงจะน้องลง

            6. วัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ใช้ในทุกอุตสาหกรรมคือสารสนเทศ  และสารสนเทศจะกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิตมากกว่าเดิม ทำให้โครงสร้างทางการศึกษาและระบบงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป

             7. ระบบการศึกษา  จะเปลี่ยนไปเป็นการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน มากกว่าภายในห้องเรียน ระยะเวลาของการศึกษาภาคบังคับจะสั้นลง การศึกษาจะปะปนและเกี่ยวพันกับการทำงานมากขึ้น และจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต

             8. คนในยุคคลื่นที่สาม ต้องการความสมดุลในชีวิต  ระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนหย่อนใจ ระหว่างการผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายกับการผลิตเพื่อบริโภค  และระหว่างงานใช้สมองกับงานใช้มือ

ในปีพศ.2533 (ค.ศ.1990) เขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อ Power Shift โดยมุ่งที่จะกล่าวถึงทิศทางของการเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่าอำนาจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ 3 แหล่ง คือ ความรุนแรง ความมั่งคั่ง และความรู้ แต่อำนาจที่มีคุณภาพ  คืออำนาจที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

สังคมในอนาคต นอกจากความรู้จะทำให้เกิดอำนาจแล้ว ความรู้ยังทำให้เกิดความมั่งคั่ง  ควบคุมสังคม และเป็นแหล่งอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
                    ---------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                         ความเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดปัญหาทุกชนิด
                       ปัญหาใดๆ วิกฤตการณ์ใด ที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัวนั้นไม่มี
                                                                   พุทธทาสภิกขุ
                                            ------------------------------------------------------

       

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์ และ อเบอร์ดีน

ในปีพ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) จอห์น ไนซ์บิตต์ และ อเบอร์ดีน (Aburdene) ได้เขียนหนังสือร่วมกันชื่อ "Megatrends 2000" โดยเพิ่มแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงชุดที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ดังนี้

          1. ตั้งแต่ ค.ศ.1990 เศรษฐกิจโลกไร้พรมแดนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ประเทศต่างๆจะหันมาสนใจด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านการเมือง  มีการแข่งขันเสรีทั่วโลก โทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญ ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติและภาษีจะลดต่ำลง ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะมีขนาดเล็กลง  เงินเฟ้อและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การบริโภคในทวีปเอเซียจะเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของประชาธิปไตยและวิสาหกิจ ความเสี่ยงของสงครามมีจำกัด มีความตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมมากขึ้น

           2. มีการฟื้นฟูศิลปะใหม่ๆ เพราะความมั่งคั่งทำให้คนสนใจศิลปะมากขึ้น

           3. เกิดระบบสังคมนิยมตลาดเสรี  เศรษฐกิจแบบตลาดเสรีจะกลายเป็นเป้าหมายของประเทศสังคมนิยม

           4. เกิดรูปแบบของชีวิตโลกไร้พรมแดนและมีวัฒนธรรมแบบชาตินิยมในหลายส่วนของโลก  มนุษย์จะรื้อฟื้นวัฒนธรรมแบบชาตินิยมขึ้นใหม่

           5. มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะเปลี่ยนสวัสดิการของรัฐไปเป็นของเอกชน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆทั่วโลก

           6. ประเทศชายขอบมหาสมุทรแปซิฟิก (The Pacific Rim)  จะมีความมั่งคั่ง มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 5 เท่าของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

            7. สตรีจะเข้าสู่ตำแหน่งของความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น  โดยไม่จำเป็นจะต้องสร้างลักษณะความเป็นผู้ชายเพื่อจะเป็นผู้นำอีกต่อไป

            8. ประเทศทั้งหลายจะเข้าไปสู่ยุคเทคโนโลยีชีวภาพ  โดยเปลี่ยนจากฟิสิกส์เป็นชีววิทยา  ซึ่งนำไปสู่ความสนใจที่จะดูแลสุขภาพ การปรับปรุงพืชพันธุ์ให้ดีขึ้น ตลอดจนมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ

            9. ความเชื่อทางศาสนาจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่  และจะมีความหนักแน่นมากขึ้น

           10.ในหลายประเทศ การทำงานเป็นกลุ่มได้สิ้นสุดลง ปัจเจกชนที่เป็นผู้ประกอบการจะมีอำนาจมากขึ้น  สามารถแสวงหาโอกาสเพื่อชับชนะในการประกอบธุรกิจได้มากขึ้น

แนวโน้มดังกลาวนี้  เป็นแนวโน้มเข้าสู่ยุคสารสนเทศ  เทคโนโลยีใหม่ๆที่ได้รับการพัฒนาจะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น และการเรียนรู้จะกระตุ้นให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ จนเกิดยุคการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี (Technology-Learning Era) ซึ่งจะผลักดันให้เกิดขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
                                 -------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                                       ผู้มีสติ  คือผู้ตื่นรู้

                                                                  ว.วชิรเมธี
                                                 --------------------------------------------
 

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีหลักฐานยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี และรูปแบบทางสังคม โดยเฉพาะเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามาก จนมีอิทธิพลเหนือระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

สำหรับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงนั้น  นักอนาคตวิทยา ได้เขียนหนังสือ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไว้หลายเล่ม เล่มแรกที่จะพูดถึง เป็นผลงานของ จอห์น ไนซ์บิตต์

จอห์น ไนซ์บิตต์ ได้เขียนหนังสือชื่อ  "Megatrends: Ten New Directions Transforming Our Lives" ในปี พ.ศ. 2525  กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงว่า ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง 10 แนวโน้ม ดังต่อไปนี้

แนวโน้มแรก จะเปลี่ยนแปลงจากสังคมอุตสาหกรรม  เป็นสังคมสารสนเทศ และทำให้มนุษย์หิวความรู้มากขึ้น

แนวโน้มที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการถูกบังคับด้วยเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์สร้างระบบค่านิยมที่มีความเป็นส่วนบุคคลสูงขึ้น

แนวโน้มที่ 3 เศรษฐกิจ  จะเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจประเทศเป็นเศรษฐกิจโลก

แนวโน้มที่ 4 จะเปลี่ยนแปลงจากการจัดการที่มีการวางแผนระยะยาว  มาเป็นการจัดการที่วางแผนระยะสั้นเพื่อจะได้ทำกำไรรวดเร็ว

แนวโน้มที่ 5  สถาบันต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน จะเปลี่ยนจากองค์การที่รวบอำนาจมาเป็นการกระจายอำนาจมากขึ้น  ทำให้องค์การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

แนวโน้มที่ 6 มีการพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น การพึ่งตนเองเกี่ยวกับสุขภาพ การศึกษา และบริการพิเศษต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีและแหล่งข้อมูลที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น  ปัญหาสุขภาพหลายอย่างสามารถวินิจฉัยและรับบริการโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้าน การศึกษาอบรมพิเศษเพื่อปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น หรือเพื่อการอาชีพใหม่ๆ  สามารถกระทำได้โดยใช้เทคโนโลยี เช่น เครือข่ายดาวเทียม  การเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนทางไกล เป็นต้น

แนวโน้มที่ 7 จะมีการเปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ไปเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยคนที่ได้รับผลกระทบจาการการตัดสินใจทางการเมือง ขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

แนวโน้มที่ 8  มีการเปลี่ยนรูปแบบจากองค์การที่มีลำดับชั้นตามแบบเดิม ไปเป็นองค์การที่ใช้กลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือร่วมมือกันตัดสินใจ

แนวโน้มที่ 9 การเคลื่อนย้ายประชากรของสหรัฐอเมริกา จะเปลี่ยนจากการเคลื่อนย้ายไปทางเหนือและตะวันออก เป็นการเคลื่อนย้ายไปทางใต้และทางตะวันตก

แนวโน้มที่ 10 ชาวอเมริกันจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่น การบริโภค การทำงาน และศิลปะ มีความสนใจที่หลากหลาย  เกิดสังคมที่มีพหุวัฒนธรรม

แนวโน้มทั้ง 10 ประการยนี้ จอห์น ไนซ์บิตต์ ได้ทำนายสังคมอเมริกันเป็นสำคัญ  แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่านอกจากแนวโน้มที่ 9 แล้ว แนวโน้มอื่นๆ สามารถจะเป็นแนวโน้มในอนาคตของโลกได้ทั้งสิ้น แม้แต่แนวโน้มที่ 10 ซึ่งเกี่ยวกับชีวิต จะมีทางเลือกมากขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
                       ------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                                    มันเป็นเรื่องที่ดีถ้าคนเราจะมีความสุขอย่างเรียบง่าย
                                                                                   Henry Miller
                                                              ----------------------------
                                 



วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในต่างประเทศ

เพื่อให้เห็นภาพรวมของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานชัดเจนชึ้น  จะขอยกตัวอย่างการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของบางประเทศให้เห็นพอสังเขป ดังนี้

การศึกษาขั้นพื้นฐานในเยอรมนี
           การบริหารจัดการ  การศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ
           หลักสูตร  กำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทางการศึกษาของแต่ละรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐไม่ขึ้นต่อกัน   การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง  มีการทบทวนหลักสูตรทุกปีโดยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นภายในแต่ละรัฐ

การศึกษาขั้นพื้นฐานในฝรั่งเศส
           การบริหารจัดการ การศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ
           หลักสูตร หลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นหลักสูตรระดับชาติ  ใช้หลักสูตรเหมือนกันทั้งประเทศ  ทั้งในโรงเรียนเอกชนและรัฐบาล  หลักสูตรมีรายละเอียดที่ชัดเจนทั้งเนื้อหาและวิธีสอน

การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหราชอาณาจักร
           การบริหารจัดการ การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหราชอาณาจักร มีสำนักงานการศึกษาส่วนท้องถิ่น  มีกรมการศึกษาและวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดูแลการศึกษาในระบบของอังกกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนการศึกษาในสก๊อตแลนด์ กรมการศึกษาของสก๊อตแลนด์เป็นผู้ดูแล  อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลกลางพยายามที่จะควบคุมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากขึ้น  การตัดสินเกี่ยวกับเนื้อหาในหลักสูตร เป็นความรับผิดชอบของแต่ละโรงเรียน  และสำนักงานการศึกษาส่วนท้องถิ่นพยายามที่จะชี้นำมากขึ้นเรื่อยๆ
           หลักสูตร   การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหราชอาณาจักร  ไม่มีหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในระดับชาติ หลักสูตรและกระบวนวิชามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  โดยการพิจารณาจากรายงานของสมาคมครูหรือองค์การต่างๆ

การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหรัฐอเมริกา
            การบริหารจัดการ  การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหรัฐอเมริกา  อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ  และ District of Columbia  และมีหน่วยงานระดับเขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารเบื้องต้น
             หลักสูตร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ

จะเห็นว่า แต่ละประเทศมีรูปแบบการบริหารจัดการ  ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรแตกต่างกันไป  แต่มีแนวโน้มที่จะมอบภารกิจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ให้เป็นความรับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่น  หรือท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
                   ---------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

คนเราไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด  จะมีคนที่มีสถานะสูงกว่าและมีสถานะต่ำกว่าเสมอ  เพราะเป็นธรรมดาโลก
                                          ---------------------------------------------------------
 

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียน

การศึกษาขั้นพื้นฐานนอกจากจะจัดในระบบโรงเรียนแล้ว ยังสามารถจัดในรูปแบบอื่น  ซึ่งได้แก่ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  แต่ปกติจะให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียนมากกว่า
 
อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของการศึกษาในระบบ  ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  ที่สำคัญคือ  ผู้จบการศึกษามีคุณถาพต่ำลง ขาดความรู้พื้นฐานและทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น

จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการศึกษา เกิดจากเหตุปัจจัยต่อไปนี้

การขาดแคลนทรัยากร  เพื่อสนองตอบทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้ต้องเพิ่มทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งได้แก่ครูบาอาจารย์  อาคารสถานที่  อุปกรณ์ทางการศึกษา  ตำราเรียนและงบประมาณ  จนทำให้เกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรง  ไม่ทันต่อความต้องการทางการศึกษา  ทำให้ระบบการศึกษาเกิดข้อจำกัดมากมาย  ไม่สามารถสามารถสนองตอบความต้องการทางการศึกษาได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น  การมีทรัพยากรจำกัด  ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้เรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น  เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆของประเทศ  นอกจากนั้น การมีเงินเฟ้อในบางปะเทศ  มีผลกระทบต่องบประมาณทางการศึกษาและรายได้ของครูอาจารย์

ผลผลิตไม่มีความเหมาะสม  ความพยายามที่มุ่งสนองตอบความต้องการทางการศึกษา ทำให้การศึกษามีคุณภาพไม่ดีพอ  ผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนในชนบทจะด้อยกว่าผู้จบการศึกษาในเมือง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะอ่อนด้อยวิชาที่เกี่ยวกับการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และที่สำคัญคือไม่มีความรู้และทักษะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร นอกจากนั้น ยังพบว่าผลผลิตทางการศึกษาไม่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

การบริหารการศึกษาขาดประสิทธิภาพ ระบบการศึกษาเอง ถ้าจะทำงานในลักษณะอย่างที่เคยทำมา จัดการศึกษาแบบเดิมซึ่งเคยได้ผล เช่น การบริหารหลักสูตร วิธีสอน  ฯลฯ แบบเดิมๆ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า  ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ๆ การทำอย่างที่เคยทำ กลายเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดผลที่แย่กว่าเดิม จนเกิดความเฉื่อยทางการศึกษา  มีผลกระทบต่อคุณภาพอย่างมาก

ความเฉื่อยทางสังคม ทัศนคติแบบเดิม ประเพณี ศักดิ์ศรี และรูปแบบของสิ่งล่อใจ  ตลอดจนโครงสร้างของสถาบันทางสังคม บางครั้ง กลายเป็นสิ่งปิดกั้นไม่ให้ใช้ประโยชน์จากระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้สูงสุด

การออกกลางคันและการซ้ำชั้น ปัญหาการออกกลางคันและการซ้ำชั้น  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ  เกิดขึ้นกับนักเรียนในชนบทมากกว่าในเมือง  โดยสาเหตุมาจากความยากจน หลักสูตรและการสอนที่ไม่เหมาะสม เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเพื่อนักเรียนส่วนน้อยที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ครูไม่ได้รับการฝึกอบรม ขาดวัสดุ ตำราเรียน  การออกกลางคัน และการซ้ำชั้นจึงเกิดขึ้น แต่อาจมีบางประเทศที่มีนโยบายไม่ให้มีการซ้ำชั้น ผลก็คือ นักเรียนอานหนังสือไม่ออก

ปัญหาที่กล่าวมา  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จึงเป็นโอกาสดีของประเทศที่จะปฏิรูปการศึกษา ให้เป็นการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้อย่างดี  แต่การปฏิรูปจะต้องไม่มุ่งแต่การเพิ่มหรือลดหน่วยงานบริหารการศึกษาเพียงอย่างเดียวอย่างที่เคยทำมา แต่ควรให้ความสำคัญในการที่จะแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วอย่างจริงจัง  การปฏิรุปการศึกษาจึงจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
                              -------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

ทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือตัวมนุษย์เอง  เป็นส่วนที่ติดตัวมาแต่กำเนิด กับทักษะและความสามารถของมนุษย์ ที่เกิดจากกาสร้างสมประสบการณ์ในภายหลัง
                                              ---------------------------------------

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทัศนคติกับการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน

นยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   การเรียนการสอนและโรงเรียนจะมีประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อ  โรงเรียนพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง  โรงเรียนที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วและทันกับการเปลียนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีเท่านั้น  จึงจะเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิผล คือบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  
แต่พบว่าแต่ละโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงเร็วช้าต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละโรงเรียนต่างกัน  ซึ่งทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแบ่งได้ 4 แบบด้วยกัน กล่าวคือ

แบบที่ 1 เป็นโรงเรียนที่ครูไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเห็นว่าได้พยายามเปลี่ยนแปลงแล้ว  แต่ล้มเหลว เพราะโรงเรียนรู้สึกว่าไม่มีอำนาจ การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น เกิดจากปัจจัยภายนอกมากกว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความจำเป็น แม้จะรู้สึกว่าไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาก็ตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เป็นต้น

แบบที่ 2 เป็นโรงเรียนที่เริ่มใช้นวัตกรรม  แต่เป็นการเริ่มใช้นวัตกรรมที่มีความแตกต่างอยู่มาก  นวัตกรรมถูกใช้ไม่เต็มที่  หรือไม่ได้ใช้ทั้งโรงเรียน  ต่างคนต่างพัฒนา  ต่างคนต่างใช้ ตามแนวคิดของตน  โดยปราศจากการวางแผนร่วมกัน จึงมีเป้าหมายในการใช้นวัตกรรมไม่สอดคล้องกัน  ครูมีการแบ่งแยกจึงล้มเหลวไปพร้อมกับนวัตกรรม

แบบที่ 3 เป็นโรงเรียนที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีความจำเป็น  เพราะโรงเรียนมีความเป็นมาและประสบความสำเร็จที่น่าประทับในในอดีตอันยาวนาน ครู ผู้ปกครองนักเรียน เห็นว่าเมื่อโรงเรียนประสบความสำเร็จมานาน ย่อมเป็นเครื่องประกันว่าจะต้องมีความสำเร็จในอนาคต เพียงแต่โรงเรียนใช้วิธีทำงานแบบเดิมๆ  และรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายนอก และเป็นเรื่องที่น่าสงสัย

แบบที่ 4 เป็นโรงเรียนที่มีความผสมกลมกลืนระหว่างการเปลี่ยนแปลงกับความมั่นคง  โรงเรียนยอมรับการเปลี่ยนแปลง  และมีความปรารถนาที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทิศทางการเปลี่ยนแปลงมีการวางแผนอย่างดี คณะครูมีความชัดเจนว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ และจะก้าวไปในทิศทางใด  ตลอดจนยอมรับแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกด้วยความเต็มใจ

ในบรรดาโรงเรียนทั้ง 4 แบบ  แบบที่ 4  เป็นแบบของโรงเรียนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี โรงเรียนแบบที่ 4 จึงเป็นลักษณะของโรงเรียนที่พึงประสงค์ในยุคของการเปลี่ยนแปลง
                           -------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคำ

ทรัพยากรมนุษย์  เป็นพลังงาน ทักษะ และความรู้ของมนุษย์ ที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าและบริการ  ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
                                                                                             Harbison
                                           ----------------------------------------------------------

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หัวหน้าสถานศึกษากับความสำเร็จตามภาระกิจของโรงเรียน

โรงเรียนมีภาระกิจที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ    พัฒนา ความรู้ วิธีการ ปัญญา และลักษณะนิสัย

ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เห็นพ้องต้องกันว่า  ความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนในเชิงบวก  เป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกต่อการบริหารจัดการให้ภาระกิจประสบความสำเร็จ จากการศึกษาวิจัยพบว่า

ในสหราชอาณาจักร จากการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา 10 แห่ง พบว่าปัจจัยเดี่ยวที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จ คือคุณภาพของความเป็นผู้นำของโรงเรียน เพราะหัวหน้าสถานศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร การประเมิน การฝึกอบรม  ตลอดจนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบ

ในสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาพบว่าหัวหน้าสถานศึกษามีอิทธิพลต่อการตอบสนองของครู ในการริเริ่มที่จะปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น  มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการรับความคิดใหม่ๆของครู

ในทวีปยุโรป ซึ่งมีรูปแบบการบริหารที่มีการควบคุมจากส่วนกลาง หัวหน้าสถานศึกษาได้รับการคาดหวังว่า  จะมีบทบาทในการส่งเสริมการสอน  ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล จึงต้องมีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็ง อุทิศเวลาให้กับการประสานงาน  การจัดการเกี่ยวกับการสอน ใกล้ชิดกับการสอน  เป็นผู้นำในเชิงสร้างสรรค์ ใช้ท่าทีของความเป็นผู้นำอย่างเหมาะสม รู้จักแก้ปัญหาด้วยการอาศัยความร่วมมือ การตัดสินใจโดยกลุ่ม  รู้จักมอบอำนาจ เปิดโอกาสให้ครู ผู้ปกครอง ชุมชน นักธุรกิจ นักการศึกษา และตัวนักเรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการจัดการ  ใช้ตำแหน่งผู้บริหารเพื่อประโยชน์ของครูและนักเรียนเป็นสำคัญ  สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น

นั่นคือ  หัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็ง  จะทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จตามภาระกิจที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิผล
                 -------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

              The thing that upsets people is not what happens but what they think it means.

                                                                               Andrew  Weil
                                                  ---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หน้าที่ของโรงเรียน

โรงเรียนก็เหมือนสถาบันการศึกษาโดยทั่วๆไป คือมีหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

โรงเรียนเป็นองค์กรสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยทั่วไปโรงเรียนจะต้องจัดให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะพัฒนาในเรื่องต่อไปนี้

ความรู้ (Knowledge) ความรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องต่างๆได้

วิธีการ (Know how) เป็นความรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำสิ่งต่างๆได้  เป็นความรู้ที่สามารถประยุกต์เพื่อการปฏิบัติงานที่ซับซ้อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางเทคนิค

ปัญญา (Wisdom) ปัญญาช่วยให้ผู้เรียนสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆได้

ลักษณะนิสัย (Character) ลักษณะนิสัยช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะที่จะประสานงาน มีความพากเพียร กลายเป็นสมาชิกของสังคมที่ได้รับการยอมรับ  ได้รับการไว้วางใจจากสังคม

ทั้ง 4 ประการเป็นเนื้อหาการศึกษาที่โรงเรียนจัดขึ้น แต่ในทางทฤษฎี  การจัดการศึกษาจะพิจารณาแต่เพียงเนื้อหาอย่างเดียวไม่พอ  จะต้องพิจารณาถึงระบบ สภาพแวดล้อม รูปแบบ และกระบวนการที่จำเป็นต่อการใช้เนื้อหาด้วย
                                    ---------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเองและอารมณ์ของผู้อื่น  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ตนเอง และเพื่อจัดการกับอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสม

                                                                             แดเนียล  โกลแมน

วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล

โรงเรียนจะมีประสิทธิผลได้  จะต้องปัจจัยเด่นๆ  ดังต่อไปนี้

มีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ ความสามารถในการเรียนของนักเรียน  ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน  การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ง่าย  ถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ เช่น ครูดูแลนักเรียนให้เข้าชั้นเรียนตามตารางสอนที่กำหนดไว้  สิ่งอำนวยความสะดวกต่างมีความสะอาด และได้รับการซ่อมแซมเป็นอย่างดี  โรงเรียนมีห้องเรียนที่ครูปรับแต่งและได้รับความสนใจจากนักเรียน  ครูรักษาวินัยด้วยการเริ่มและเลิกสอนตรงเวลา ตลอดจนมีการประเมินการทำงานของนักเรียนเป็นระยะๆ

มีเป็าหมายที่ชัดเจนและมีความคาดหวังสูง  ความคาดหวังแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการปฏิบัติของโรงเรียน  เป้าหมายเป็นลักษณะพึงประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและตัวผู้เรียน  โรงเรียนที่มีความคาดหวังต่ำแสดงว่ามีมาตรฐานต่ำ  โรงเรียนที่มีมาตรฐานสูงแสดงว่ามีความคาดหวังสูง ฉะนั้น โรงเรียนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความหวังสูง จึงเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

มีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีสำนึกของชุมชน  โรงเรียนที่มีประสิทธิผลจะต้องมีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข็มแข็ง อุทิศเวลาให้กับการบริหาร มีความใกล้ชิดกับการเรียนการสอนของครู นอกจากนั้น  ผู้นำที่มีประสิทธิผล ยังก่อให้เกิดการร่วมมือระหว่าครูและชุมชน และการบริหารแบบมีส่วนร่วมย่อมจะมีประสิทธิผลมากกว่าแบบอัตตานิยม

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล นอกจากจะช่วยให้สามารถบรรลุพันธกิจของโรงเรียนแล้ว ยังทำให้เด็กทีจบการศึกษาออกไปมีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์อีกด้วย
             ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคำ

ประสิทธิภาพ หมายถึง  ขีดความสามารถในการผลิต  หรือการให้บริการที่สามารถลดความสูญเสีย ค่าใช้จ่าย แรงงาน หรือความพยายาม

ประสิทธิผล หมายถึง ขีดความสามารถในการบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย  ไม่เน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรมากหรือน้อย  งานที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิผลด้วย
                                        ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะคนทันสมัย

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นได้  เมื่อระบบสังคมและกระบวนการทางสังคมมีความทันสมัย และประเทศจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนา ก็ต่อเมื่อประชาชนมีทัศนคติ ค่านิยม  และความเชื่อที่ทันสมัย

สำหรับคนที่ทันสมัยนั้นจะมีคุณลักษณะดังนี้

          1. เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ

          2. มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

          3. ตระหนักถึงความหลากหลายทางทัศนคติและความคิดเห็น ตลอดจนสามารถสร้าง หรือมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองได้

          4. มีความกระตือรือร้นที่จะหาข้อเท็จจริงและข้อมูล  เพื่อเป็นพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็น

          5. เป็นคนมุ่งปัจจุบันและอนาคต

          6.มีความเชื่อว่าบุคคล  สามารถมีอิทธิพลเหนือสภาพแวดล้อมของตัวเองได้

          7. มุ่งการวางแผนระยะยาว  ทั้งในเรื่องกิจการสาธารณะและชีวิตส่วนตัว

          8. มีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า ภาวะแวดล้อม มนุษย์ และสถาบันต่างๆ  สามารถใช้เพื่อสนองความต้องการของตนได้

          9. ให้คุณค่าสูงกับทักษะทางเทคนิค  และใช้เป็นพื้นฐานในการให้รางวัล

          10. ให้คุณค่ากับการศึกษาในระบบ   และหวังจะเรียนให้สูงขึ้นเพื่อการอาชีพ

          11. นับถือศักดิ์ศรีของคนอื่น

          12. เข้าใจตรรกะที่รองรับการผลิตและอุตสาหกรรม

การเป็นคนทันสมัยยังจะต้องประกอบด้วยอีก 2 มิติ คือ

ความเป็นสากล คือ คนที่ทันสมัย  เชื่อว่ากฎหรือบรรทัดฐานทางสังคม  ควรให้ทุกคนเสมอภาคกัน โดยไม่คำนึงถึงอายุ  เพศ มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์ที่มีต่อกันเป็นส่วนตัว

การมองโลกในแง่ดี  คือ คนที่ทันสมัย จะต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี  เกี่ยวกับความสามารถที่จะควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมาย  และไม่ถูกควบคุมด้วยความเชื่อเรื่องพรหมลิขิต หรือการที่จะต้องยอมรับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

สำหรับประเทศที่ทันสมัยนั้น  ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สนใจอย่างจริงจัง  ในกิจการสาธารณะ   และปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่  ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน มากกว่าที่จะปฏิบัติต่อกันในฐานะของความเป็นญาติ  หรืออยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ส่วนสถาบันที่ทันสมัยนั้น   ต้องการบุคคลที่รักษาเวลา ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์  และตัดสินใจตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
            ------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

           การศึกษาจะต้องฝึกสอนให้คนรู้จักแก้ปัญหา  และรู้จักหาทางออกจากความทุกข์
                                                                 พระราชวรมุนี
                                           ----------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การใช้ทรัพยากรมนุษย์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ:กรณีเกาหลีใต้

ทรัพยากรมนุษย์ เป็นความรู้ ทักษะ และความสามารถของมนุษย์ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจจำแนกความหมายออกได้ดังนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสะสมทุนมนุษย์ และความมีประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรมนุษย์พัฒนาเศรษฐกิจ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นการเตรียมพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เมื่อเติบโตเป็นผู็ใหญ่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นการช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่นคง ติดยึดกับประเพณีที่ล้าหลังน้อยลง

จากความหมายทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การทรัพยากรมนุษย์นั้น  มิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

ในทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายใกล้เคียงกับ กำลังคน ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ในรูปปัจจัยการผลิต

ประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิผลที่เป็นตัวอย่างได้อย่างดี ก็คือ สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ที่มีนโยบายใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิผล จนทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะเริ่มแรก โดยเกาหลีใต้ได้ดำเนินนโยบายในลักษณะต่อไปนี้ คือ

          1. พัฒนาระบบการศึกษาอย่างดี จนประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน ตลอดจนพัฒนาให้ประชากรมีความสามารถในการบริหารจัดการและการประกอบการ

          2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออก  ที่เน้นการใช้แรงงานอย่างจริงจัง  โดยไม่สนับสนุนการผลิตที่เน้นการใช้ทุน

          3. รักษาระดับค่าจ้างและเงินเดือนของภาคเศรษฐกิจระดับกลางและภาคทันสมัย ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ

          4. ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรรมที่เน้นใช้แรงงงาน  พร้อมๆไปกับการปฏิรูปที่ดินและการทำฟาร์มขนาดเล็ก

          5. ผลิตกำลังคนที่มีการศึกษาสูง  ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2540 เกาหลีใต้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต้องเข้าโปรแกรมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund  หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อย่อว่า IMF) เช่นเดียวกับประเทศไทย

จึงสอดคล้องกับความคิดที่ว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว  

แต่จากการที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเกาหลีใต้ได้รับการพัฒนาอย่างดีดังกล่าวแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีความก้าวหน้าอย่างที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
                         -----------------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

 การศึกษาไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว  ที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ แต่ต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ควบคู่ไปด้วย
                                                 ----------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์ทางการศึกษา

การศึกษาเป็นระบบอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน เป็นระบบที่ใช้เงินภาษีมากที่สุดเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างและเงินเดือน
 
การศึกษายังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับขึ้นได้ด้วยตนเอง  การขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาทำให้เกิดแรงกดดันที่จะต้องขยายระดับมัธยมศึกษา เพิ่มผู้จบระดับมัธยมศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดอุดมศึกษามากขึ้น และเมื่อขยายระดับอุดมศึกษาทำให้เกิดบัณฑิตศึกษามากขึ้น  กลายเป็นความต้องการที่ไม่รู้จักพอ  เพราะการศึกษาทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษา
  
การศึกษายิ่งเจริญเติบโตมากเท่าไร  ประชาชนจะยิ่งต้องการการศึกษามากขึ้นเท่านั้น แต่การเจริญเติบโตทางการศึกษาแบบเดิมๆ  ทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษา เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดจากระบบการศึกษาเอง ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะ

ผลผลิตของระบบการศึกษา ในระยะแรกของการพัฒนา  เกือบทุกประเทศต่างก็ให้ความสำคัญที่การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา  เพื่อผลิตกำลังคนเป็นจำนวนมาก  แต่พบว่าการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ผลิตคนได้ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ จนเกิดปัญหาว่าจะขยายการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำอย่างรวดเร็ว  หรือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างช้าๆ  แต่พบว่า ส่วนใหญ่จะเลือกประการแรก  ที่จะจัดการศึกษาให้เด็กด้วยครูที่ไม่มีคุณภาพ  ขาดตำราเรียน และมีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมไม่เพียงพอ ทั้งนี้  เพราะเกิดจากความกดดันทางการเมืองเป็นสำคัญ

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา พบว่า แทบทุกประเทศ เด็กในเมืองมีโอกาสที่จะเรียนในโรงเรียนดีๆกว่าเด็กในชนบท  ในกรณีที่มีการเก็บค่าเล่าเรียน เด็กจากครอบคัวที่ร่ำรวยจะได้ประโยชน์กว่า ตราบใดที่การศึกษาในระบบ เป็นหนทางไปสู่ความมั่งคั่ง เกียรติยศ ชื่อเสียงและอำนาจ การศึกษาก็จะเป็นระบบสำหรับคนส่วนน้อยโดยค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่

จุดมุ่งของการศึกษา ในแทบทุกประเทศจุดมุ่งของการศึกษาไม่ชัดเจน ว่าจะจัดสอนอะไร จะเน้นเรื่องอะไร จะเรียนในสาขาใดสำคัญที่สุด โดยมากจะมุ่งจัดการศึกษาตามค่านิยม  เพราะการได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย มีผลอย่างสำคัญต่อการมีรายได้สูง มีตำแหน่งสูง ตลอดจน การมีอำนาจ  สถาบันอุดมศึกษาจึงพอใจที่จะสอนวิชาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย  และสังคมศาสตร์  มากกว่าที่จะเปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มีการผลิตแพทย์ วิศวกร  และบุคลากรเกี่ยวกับเทคนิคน้อยมาก แต่มีนักกฎหมายและนักสังคมศาสตร์มากเกินพอ  และยังพบว่า  ระดับมัธยมศึกษาเองก็ไม่สามารถเตรียมนักศึกษา  เพื่อเรียนในสาขาวิชาที่มีคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นฐานได้อีกด้วย

การจัดงบประมาณ พบว่า ประเทศกำลังแทบทุกประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เพิ่มการศึกษาในระบบมากขึ้น เพราะมีอัตราผู้เข้าเรียนเพิ่ม โดยเฉพาะแรงกดดันให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความรุนแรงมาก  มีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ  ที่จัดสรรให้ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นธรรม โดยมีการจัดสรรให้สถาบันการศึกษาในชนบทน้อยกว่าจัดให้สถาบันการศึกษาในเมือง หรือสถาบันที่มีชื่อเสียง  จนก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษา

ข้อจำกัดขององค์การและคน   ความจริงในการจัดการศึกษา ทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญมาก มากกว่าข้อจำกัดทางการเงิน การขาดครูอาจารย์และผู้บริหาร เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การศึกษาไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ จนอาจกล่าวได้ว่า การขาดครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีสมรรถนะ ทำให้ยากที่จะพัฒนาการศึกษาในยุคสารสนเทศได้

ปัญหาแลวิกฤตการณ์ทางการศึกษาที่กล่าวมานี้  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ยกเว้นระบบการศึกษาของไทย หากไม่มีการแก้ไขอย่างรีบด่วนจะนำไปสู่วิกฤตชาติอย่างแน่นอน
                  ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                     การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัพยากรมนุษย์
                                          ------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การศึกษามีหน้าที่อย่างไร

ทุกคนมีการศึกษามากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป  แต่มีน้อยคนนักที่รู้ว่าการศึกษาในฐานะที่เป็นระบบและสถาบันมีหน้าที่อย่างไร  ทุกวันนี้การศึกษาได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

ในฐานะที่เป็นระบบและสถาบันทางสังคม  การศึกษามีหน้าที่ดังต่อไปนี้

การศึกษาทำให้ชีวิตดีขึ้น  การศึกษาทำให้บุคคลได้ตระหนัก รู้จักโลก รู้จักชุมชน ตลอดจนความเป็นมนุษย์  การศึกษาถูกมองว่าเป็นสิทธิมนุษยชน  แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่เอื้อมไม่ถึงก็ตาม    การศึกษายังเป็นเครื่องคัดเลือกขนาดใหญ่  ที่กำหนดความมั่งคั่ง สถานภาพและอำนาจ เป็นพลังสำคัญในการสร้างชนชั้น   นอกจากนั้น  การศึกษายังกระตุ้นให้เกิดกำแพงปิดกั้นคนที่มีการศึกษาน้อยไม่ให้เข้าสู่กระบวนการไปสู่ความทันสมัยอีกด้วย

การศึกษาช่วยสร้างค่านิยม  การศึกษามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในชาติ ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์  การทำงาน การร่วมมือกัน การมีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งในชุมชน ประเทศ และระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ประเทศที่ยังด้อยพัฒนาอยู่  เกิดจากการมึค่านิยมที่ด้อยพัฒนา นั่นคือ  ถ้าอยากให้ประเทศพัฒนา  การศึกษาจะต้องสร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่  เป็นค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนา

การศึกษาเป็นเครื่องมือปลูกฝังระบบความเชื่อและปรัชญาทางการเมือง ระบบการศึกษาของทุกชาติทุกประเทศ  ล้วนแต่ปลูกฝังความเชื่อทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย  การศึกษาเป็นตัวการ  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองของประเทศ  เป็นตัวกำหนดความเชื่อและปรัชญาพื้นฐานทางการเมือง นั่นคือ  หากต้องให้ประเทศมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย  การศึกษาจะต้องสร้างความเชื่อและปรัชญาประชาธิปไตย ตลอดจนสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและปรัชญาประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

การศึกษาเป็นเครื่องมือการพัฒนาความรู้และสมรรถนะของคน  การศึกษาจะต้องสร้างความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่ช่วยให้บุคคลสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

หน้าที่ของการศึกษาที่กล่าวมา  สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่า การศึกษาของไทยได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ ยังขาดหน้าที่ใด  และจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์
                                     ---------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

                    ประชาธิปไตยจะพัฒนาไม่ได้  ถ้าไม่สร้างพื้นฐานประชาธิปไตยที่ถูกต้องในสถาบันการศึกษา
                                                         -----------------------------------

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ระบบวัฒนธรรม

วัฒนธรรม  หมายถึง  วิถีการดำเนินนชีวิตของคนในสังคมหนึ่งๆ  อันเกิดจาการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังตนอีกรุ่นหนึ่ง  วัฒนธรรมเป็นระบบที่มีการจัดการและมีความกลมกลืนกันระบบหนึ่ง

นักวิชาการได้แบ่งระบบวัฒนธรรมออกเป็น 3 ระบบย่อย ดังนี้

ระบบเทคโนโลยี ประกอบด้วย  เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุ จักรกล ตลอดจนสารเคมีต่างๆ รวมทั้งเทคนิคในการใช้สิ่งต่างๆเหล่านั้น ระบบย่อยนี้หมายรวมถึงเครื่องมือในการผลิต วิธีการดำรงชีวิต วัสดุ  อุปกรณ์ที่ใช้สร้างที่อยู่อาศัย  ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้เพื่อการต่อสู้และป้องกันตัวเองด้วย

ระบบเทคโนโลยี เป็นระบบย่อยที่นักวิชาการให้ความสำคัญมากกว่าระบบย่อยอื่นๆ เพราะเป็นระบบย่อยที่แสดงบทบาทเบื้องต้นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ต้องการอาหาร ต้องมีวิธีป้องกันตัวเองจากศัตรู และต้องรู้จักรักษาบำบัดตนเองทางด้านสุขภาพอนามัย มนุษย์จึงจะอยู่รอดได้  เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้ เป็นระบบที่มีความสำคัญสูงสุด

ระบบสังคมวิทยา ประกอบด้วย  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ซึ่งแสดงออกในรูปของแบบแผนของพฤติกรรมของส่วนรวมหรือของแต่ละบุคคล  ระบบย่อยนี้หมายรวมถึงลักษณะทางสังคมต่างๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติ เศรษฐกิจ จริยธรรม การเมือง การทหาร การศาสนา อาชีพ และสันทนาการ

ระบบสังคมวิทยา เป็นระบบที่มีความสำคัญรองลงมา  ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมระบบเทคโนโลยีอีกต่อหนึ่ง  เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของระบบเทคโนโลยี  เป็นตัวแปรตามระบบเทคโนโลยี  ระบบเทคโนโลยีจึงเป็นตัวกำหนดรูปแบบของระบบสังคมวิทยา

ระบบอุดมการณ์ ประกอบด้วย  แนวความคิด ความเชื่อ ความรู้  ซึ่งแสดงออกด้วยภาษาพูดและใช้สัญลักษณ์ในรูปแบบอื่นๆ  ระบบย่อยนี้ ประกอบด้วยนิยายลึกลับมหัศจรรย์ต่างๆ ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ความรู้พื้นบ้าน และความรู้แบบสามัญสำนึก

ระบบอุดมการณ์ เป็นระบบที่เปลี่ยนตามระบบเทคโนโลยีเช่นเดียวกับระบบสังคมวิทยา

จะเห็นว่า  ระบบย่อยเหล่านี้จะสอดคล้องกลมกลืนกันพอสมควร   การเปลี่ยนแปลงในระบบย่อยหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอื่นๆด้วย  แต่มากน้อยไม่เท่ากัน

แต่หากจะพิจารณาระบบวัฒนธรรม โดยแยกเป็นชั้นๆตามลำดับสูงต่ำแล้ว  จะพบว่า ระบบเทคโนโลยีอยู่ชั้นต่ำสุด  ระบบอุดมการณ์อยู่ชั้นสูงสุด ส่วนระบบสังคมนิยมอยู่ชั้นกลางๆ
                         -------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่ไม่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ  คำตอบส่วนหนึ่ง ก็คือว่าประเทศเหล่านั้นมีวัฒนธรรมต่างกัน
                                                         --------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะการเมืองที่พัฒนา

ระบบการเมืองก็เหมือนระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ที่มีทั้งด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว เพียงแต่ว่า การเมืองจะพัฒนาได้ต้องมีการ พัฒนาทางกฎหมาย พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมและความสามารถในการบริหารการพัฒนา ควบคู่ไปด้วย การพัฒนาทางการเมืองจึงจะบรรลุเป้าหมายสู่การเมืองที่พัฒนาแล้ว

สำหรับการเมืองที่พัฒนานั้น จะมีลักษณะร่วมดังต่อไปนี้

ความเสมอภาค  ซึ่งดูได้จาก
          1. ประชาชนมีความสนใจที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
          2. ใช้กฎหมายบังคับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของแต่ละบุคคล
          3. บุคคลแต่ละคน  มีโอกาสที่จะได้รับการเลือกสรรเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน โดยยึดความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเป็นเกณฑ์สำคัญ ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติดั้งเดิมที่ได้มาแต่กำเนิด
การพัฒนาทางด้านนี้จะเกี่ยวกับการพัฒาวัฒนธรรมทางการเมือง

ความสามารถของระบบการเมือง หมายถึง ความสามารถที่จะสนองความต้องการด้านต่างๆ ของระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจ  รวมทั้งความสามารถของรัฐบาลในการปฏิบัติงาน  และการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ  มีระบบบริหารที่ยึดหลักเหตุผล  เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความชำนาญในวิชาชีพและการปฏิบัติงาน
การพัฒนาส่วนนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างอำนาจรัฐ

การแบ่งงานตามความรู้ความสามารถ หมายถึง การกระจายโครงสร้าง  และการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม  มีการแบ่งงานกันทำตามความรู้ความสามารถ  หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ชัดเจน  ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาทางด้านนี้  จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ให้สัมพันธ์กับโครงสร้างทางการเมืองอย่างไร

ลักษณะร่วมทั้งหมดที่กล่าวนี้ ระบบการเมืองที่พัฒนาจะต้องมีครบถ้วนทุกประการ หากขาดลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นระบบการเมืองที่พัฒนา อย่างมากก็เป็นได้แค่กำลังพัฒนา

เห็นจะไม่ต้องถามว่าการเมืองไทยพัฒนาแล้วหรือยัง?
                          -----------------------------------------------------------------

                                                           สาระคำ

ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง  การเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ และค่อนข้างจะเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนไปตามลักษณะของสังคมนั้นๆ

                                                               อริสโตเติล
                                             --------------------------------

วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปทัสถานที่พึงประสงค์ของสังคมไทย

ปทัสถาน  หมายถึง มาตรฐานของพฤติกรรมของคนในสังคม เป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ สมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานของสังคม
  
ประเทศชาติจะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งเกิดจากปทัสถานทางสังคม ว่าเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

หากพิจารณาถึงปทัสถานของสังคมไทย พบว่ามีปทัสถานทางสังคมหลายอย่างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา  เช่น การไม่มีวินัย การเชื่อในอำนาจภายนอก เหล่านี้เป็นต้น

นักวิชาการได้ทำการศึกษาและสรุปว่า สังคมไทยควรมีการปรับเปลี่ยนปทัสถานของสังคมใหม่ ให้เอื้อต่อการพัฒนามากขึ้น ในลักษณะต่อไปนี้คือ

          1. การยึดหลักการและบุคคล โดยปกติคนไทยนั้นยึดบุคคลมากกว่าหลักการ  จึงควรเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญกับหลักการมากกว่าบุคคลบ้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างหลักการกับบุคคลเกิดขึ้น  จะต้องให้หลักการสำคัญกว่าบุคคลเสมอ

           2. นิยมในการทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และมีความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้ เพราะคนไทยมีการเลือกงานค่อนข้างสูง ไม่นิยมงานที่ต้องใช้แรง ตลอดจนมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในแทบทุกวงการ  หากมีการเลือกงานและทุจริตกันต่อไป  แน่นอนว่าความหายนะจะเกิดขึ้นในสังคมแน่นอน

           3. นิยมยกย่องบุคคลหรือกลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม  และประณามหรือลงโทษผู้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม  โดยวิธีการที่เฉียบขาดและพร้อมเพรียงกัน โดยเลิกนิสัยธุระไม่ใช่

           4. นิยมการออมเพื่อการลงทุน  ลดการบริโภคในทางฟุ่มเฟือยลง

           5. ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิชาการชั้นสูงต่างๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อความรู้ต่างๆจะได้ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่มบางพวก

           6. ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นระเบียบ การเคารพกฎหมาย และเคารพในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

           7. สร้างแนวความคิดเกี่ยวกับสาธารณสมบัติ  อันเป็นสมบัติของส่วนรวมและสังคมให้ลึกซึ้งและถูกต้องยิ่งขึ้น

            8.ลดการเชื่ออำนาจภายนอกให้น้อยลง  และศรัทธาในความสามารถของตนเองมากขึ้น สร้างความเชื่อที่ว่าตนเองสามารถทำได้ ถ้าใช้ความพยายามเต็มที่ ขณะเดียวกัน ลดการเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติให้น้อยลง

            9.เพิ่มลักษณะการมุ่งอนาคตให้มากขึ้น และลดการมุ่งปัจจุบันให้น้อยลง  อันจะนำไปสู่การทำงานอย่างมีแผน แทนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปทัสถานดังกล่าวนี้  จะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ จะต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างปทัสถานทางสังคม ให้สมาชิกของสังคมมีปทัสถานที่พึงประสงค์
                          --------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

   ธรรมะช่วยให้เรามีชีวิตอย่างถูกต้อง  สิ่งที่เรียกว่าบาป หรือโชคร้าย ย่อมไม่มีแก่ผู้ประพฤติธรรม

                                                                        พุทธทาสภิกขุ
                                           ----------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การศึกษาพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างไร

การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม  เป็นการพัฒนาระบบความสัมพันธ์ หน้าที่ ปทัสถาน แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสังคม เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่กันอย่างปกติสุข

สำหรับการจัดการศึกษเพื่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมนั้น  เป็นการจัดเพื่อให้ระบบการศึกษาได้ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ

การถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม  เพราะวัฒนธรรมเป็นมรดกทางสังคม  จึงเป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมให้กับผู้เรียน  เพื่อให้สังคมรักษาไว้  เพราะหากไม่มีวัฒนธรรม  ความเป็นสังคมและความเป็นชาติจะหมดไปในที่สุด  อย่างก็ตาม  วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดนั้นจะต้องมีการเลือกสรรอย่างดี เพื่อจะได้ถ่ายทอดเฉพาะแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เอื้อต่อความอยู่รอดของสังคม เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยให้สังคมเกิดความก้าวหน้า และดำรงไว้ซึ่งความมีเอกลักษณ์ของชาติ

การเปลี่ยนแปลง การศึกษาจะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ และปทัสแบบดั้งเดิมบางอย่าง  ที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนา เป็นต้นว่า การไม่เห็นความสำคัญของเวลา การเชื่อในอำนาจภายนอก การมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ การไม่มีวินัย  รังเกียจงานใช้มือ การมุ่งในปัจจุบัน ฯลฯ เหล่านี้  การศึกษาจะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลง  เพราะลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั้น  ไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเท่านั้น  ยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นมาอีกด้วย

การสร้างเสริม  ถ้าหากจะให้การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมดำเนินไปด้วยดี  การศึกษาจะต้องทำหน้าที่สร้างเสริมลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา  ให้เกิดขึ้นในตัวสมาชิกของสังคม  เป็นต้นว่า การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความมีศรัทธาในความสามารถของตนเอง  ความมีวินัย การรักการทำงาน การมุ่งประโยชน์ส่วนรวม  มีค่านิยมในเชิงเสมอภาค การมุ่งอนาคต ฯลฯ เพราะลักษณะดังกล่าวนี้  เป็นลักษณะที่ช่วยให่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อสังคมจะได้อยู่กันอย่างปกติสุขและมีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้สมบูรณ์  ก็ต่อเมื่อระบบการศึกษามีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านบริหาร การเรียนการสอน การจัดกิจกรรม ตลอดจนการวัดผลการศึกษา เพื่อไม่ให้การศึกษาเป็นตัวแทนของความด้อยพัฒนา ที่สร้างเสริมและอนุรักษ์ความด้อยพัฒนาให้คงอยู่ในสังคม
                                  ---------------------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด 
   
ระบบการศึกษาที่ด้อยพัฒนา  ไม่อาจสร้างลักษณะที่เอื้อพัฒนาขึ้นมาในตัวผู้เรียนได้  การพัฒนาประเทศ  จึงต้องเริ่มด้วยการพัฒนาระบบการศึกษา

                                                           ------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ยุทธวิธีเพื่อการเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาประเทศ  ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ ด้านวัฒนธรรม  เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง  เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผน มีเป้าหมาย  และมีทิศทางที่แน่นอน
 
ซึ่งยุทธวิธีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้มีดังนี้

ยุทธวิธีการปฏิบัติด้วยเหตุผล ยุทธวิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและจะทำตามเหตุผลที่ตนคิดว่าถูกต้อง  ฉะนั้นการ เปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกในสังคมมีความเห็นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลง จะก่อให้เกิดความพึงพอใจและดีกว่าเดิม  ด้วยความคิดที่มีเหตุผลในลักษณะดังกล่าว    จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของมนุษย์     อันนำไปสู่การเปลี่ยนสังคมโดยรวม
              
          ยุทธวิธีตามข้อนี้ มีหลักการคือ การวิจัยและการแสวงหาความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า  การเลือกสรรบุคคลให้เหมาะกับงาน ตลอดจนการจัดการทำงานอย่างเป็นระบบ

ยุทธวิธีการสร้างปทัสถานใหม่ ยุทธวิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า  ทุกสังคมมีปทัสถานที่มีอิทธิพลต่อแบบแผนของพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ โดยที่ปทัสถานทางสังคมได้รับอิทธิพลจากทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคม ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงแบบแผนของพฤติกรรมของคนในสังคม จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงปทัสถานจากแบบเดิมไปสู้แบบใหม่ สร้างปทัสถานขึ้นมาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และระบบความสัมพันธ์ที่สำคัญๆด้วย
                
           ยุทธวิธีตามข้อนี้ อาศัยอิทธิพลจากภายนอกในการที่จะสร้างปทัสถานใหม่ โดยอาศัย การปรับปรุงความสามารถในการแก้ปัญหาในระบบสังคม ปรับปรุงกระบวนการและเทคนิควิธีและนำหลักการแก้ปัญหาโดยวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเลี่ยนแปลง

ยุทธวิธีการใช้อำนาจบังคับ  ยุทธวิธีนีี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ถ้าหากมีการใช้อำนาจบางอย่าง  เช่น อำนาจทางการเมืองการปกครองและอื่นๆ  จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ อำนาจดังกล่าว ปกติมักจะอาศัยการบังคับด้วยกฎหมาย  ยุทธิวิธีนี้เป็นงานระดับชาติ มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการวางแผน และตรากฎหมายเพื่อบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่กำหนดไว้
  
          ยุทธวิธีตามข้อนี้ ดำเนินการในลักษณะที่ไม่ใช้มาตรการที่รุนแรง แต่อาจใช้วิธีต่อต้านอย่างสงบหรือการอภิปรายถกเถียง โดยพยายามชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ต่อจากนั้น จะใช้สถาบันการปกครองเพื่อให้บรรลุถึงการเปลี่ยนแปลง โดยตราเป็นกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา

จะเห็นว่า  การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องวิชาความรู้และเทคโนโลยี หรือการใช้กฎหมายแต่เพียงประการเดียว แต่จะต้องพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปทัสถาน ค่านิยม ทัศนคติและความเชื่อของคนในสังคมประกอบด้วย  ควบคู่กันไป  การเปลี่ยนแปลงจึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
                                    -----------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคำ

           ปทัสถาน (Norm) หมายถึง  กฎ หรือ แบบแผน หรือ มาตรฐานของพฤติกรรมของคนในสังคม
                                                    ------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การศึกษากับการพัฒนาประเทศ:พัฒนาอะไร

ต่อคำถามที่ว่า การศึกษากับการพัฒนาประเทศ พัฒนาอะไร ตอบง่ายๆก็จะได้ว่า เป็นการใช้การศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือพัฒนาคน เพื่อให้คนมีลักษณะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ตอบได้แต่ก็ไม่ค่อยจะชัดเจน

การพัฒนาประเทศนั้น ไม่ได้หมายความว่า  จะต้องพัฒนาทั้งประเทศหรือทั่วประเทศเท่านั้น  แต่อาจจะพัฒนาบางส่วนหรือบางด้านของประเทศ ก็ได้ จะพัฒนาในระดับจุลภาคหรือระดับมหภาค ก็ได้ กล่าวคือจะพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน หรือพัฒนาทั้งประเทศ ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศ ทั้งนั้น

นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ จำแนกการพัฒนาประเทศออกเป็น 3 ด้าน คือ

           1) การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม เป็นการพัฒนาการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

            2) การพัฒนาการเมือง เป็นการพัฒนาในเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กัยสมาชิกในสังคม

            3) การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเกี่ยวกับผลิตและการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ

จะเห็นว่า  การพัฒนาประเทศ คือการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ  ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

ส่วนการศึกษาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างไรนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 2 แนวทาง คือ

การพัฒนาการศึกษา  เป็นการพัฒนาระบบการศึกษา เป็นเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ ให้ลดความสูญเปล่าลง ในขณะเดียวกัน ก็ปรับปรุงการดำเนินงานของระบบการศึกษา  ให้สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้มากขึ้น เป็นระบบที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะเมื่อผู้เรียนได้ศึกษาเล่าเรียนจากระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว  ย่อมเชื่อได้ว่า จะเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถที่จะพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไปได้  หรืออย่างน้อยก็ไม่มีลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง เช่น ผลิตคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรู้และทักษะในการที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจน เป็นสมาชิกที่ดีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ในฐานะที่เป็นสถาบัน การศึกษา ก็สามารถพัฒนาประเทศได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยที่กำนดไว้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัย นอกจากจะมีหน้าที่สอนและวิจัยแล้ว ยังจะต้องมีหน้าที่บริการทางวิชาการแก่ชุมชน  และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อีกด้วย

ที่กล่าวมา พอจะตอบคำถาม ได้ชัดเจนว่า การศึกษาพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาเองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ทำหน้าที่พัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีลักษณะที่เอื้อต่อ การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม  การพัฒนาการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 
                            ------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

                  อำนาจนั้นมีจำกัด ถ้าใช้โดยขาดคุณธรรมและความถูกต้อง  จะหมดเร็ว
                                           -------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาหรือสร้างทุนมนุษย์ในประเทศใดประเทศหนึ่ง  ก่อนจะเริ่มการพัฒนาจำเป็นจะต้องมีการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อทราบปัญหาและความต้องการกำลังคนที่แท้จริง โดยจะต้องชัดเจนว่า ต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าไร  ตลอดจนจะพัฒนาด้วยวิธีการใด เมื่อชัดเจนแล้วจึงจะดำเนินการพัฒนา 

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1.การให้การศึกษา  เป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถและทักษะให้กับมนุษย์โดยตรง ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น

           1.1 การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือสถานศึกษา  เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จัดกันอย่างแพร่หลาย เป็นวิธีการที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจำแนกเป็น
                  1.1.1.  การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เน้นความรู้ทั่วๆไป  ตลอดจนเป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับสูงและการประกอบอาชีพ
                   1.1.2. การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพโดยตรง เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ

             1.2. การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน  เป็นการศึกษาที่จัดให้ผู้อยู่นอกวัยเรียนเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้กำลังทำงาน เป็นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ  แต่ก็มีเหมือนกันที่เรียนเพื่อเรียนต่อในระดับสูงขึ้น แบ่งออกได้เป็น
                     1.2.1. การฝึกอบรมในระหว่างประจำการ เป็นการฝึกอบรมผู้ที่กำลังทำงานอาชีพอยู่  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้น อาจเป็นความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างหรือความรู้สามารถทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
                      1.2.2. การพัฒนาตนเอง  เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหาความรู้  ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง  ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ  เช่นจากการอ่าน เรียนจากตำรา  วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนอื่นๆ  ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. การจัดให้มีบริการสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดี เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีสุขภาพดีขึ้น  อันจะทำให้สมรรถภาพในการทำงานดีขึ้นด้วย  ทำการผลิตได้นานและผลิตได้มากขึ้น

3. การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในขณะปฏิบัติงาน เพื่อจะได้เป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ดีและมีแรงจูงใจที่จะทำงาน

4. การปรับปรุงภาวะโภชนการ  เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานรู้จักรับประทานอาหารที่มีคุณค่า อันส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นในที่สุด

5. การอพยพย้ายถิ่น เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้กำลังแรงงานมีประสบการณ์ใหม่ๆ   และเป็นการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการผลิดในระบบเศรษฐกิจ

จากวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าว จะเห็นว่าวิธีการให้การศึกษาเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด จัดกันมากที่สุด เพียงแต่จะต้องเป็นการจัดการศึกษา ที่สามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนอย่างแท้จริง  ไม่ใช่เป็นแค่การจัดการศึกษาเพื่อการศึกษา
                                       ---------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

กำลังแรงงาน (Labour force) หมายถึง ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งผู้ที่มีงานทำและไม่มีงานทำ แต่ประสงค์จะทำงานและสามารถทำงานได้
                                                         ---------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สาเหตุของการศึกษาที่สูญเปล่า

ความสูญเปล่าของการศึกษา อยู่ที่การไม่สามารถพัฒนาคนให้มีลักษณะตามที่สังคมต้องการได้ กลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นในสังคม  นักการศึกษาได้พยายามศึกษาวิเคราะห์ว่า เหตุใดการศึกษาจึงสูญเปล่า พบว่า

การวางแผนการศึกษาไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงและความต้องการทางสังคม  ปกติการจัดการศึกษาจะต้องเริ่มด้วยการวางแผน แต่พบว่าเป็นการวางแผนที่ขาดข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน  หรือมีการวางแผนแต่ไม่ปฏิบัติตามแผน ผลก็คือ การศึกษาไม่ได้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามที่ต้องการ กลายเป็นการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของผู้ปกครองประเทศมากกว่าเพื่อมวลชน

เป็นระบบการศึกษาที่นำรูปแบบมาจากแหล่งอื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของประเทศตะวันตก เพราะเชื่อว่าระบบการศึกษาในประเทศเหล่านั้นทำให้ประเทศพัฒนา หากนำมาใช้บ้างก็น่าจะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้เช่นกัน  แต่พบว่าระบบการศึกษาที่นำเข้า ไม่สอดคล้องกับระบบสังคมวัฒนธรรม ระบบครอบครัว ระบบเศรษฐกิจและค่านิยม มีผลทำให้ขาดบูรณาการระหว่างการศึกษาในระบบโรงเรียนกับชีวิตการทำงาน  เป็นการศึกษาที่ไม่สนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่สนองความต้องการของคนในเมืองใหญ่  เป็นคนกลุ่มเล็กๆที่มีอิทธิพล  ที่ควบคุมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ส่วนระดับอุดมศึกษาก็มุ่งสนองความต้องการทางด้านบริหารและการค้า แทบจะไม่สนใจปัญหาชนบท ระบบการศึกษาที่นำเข้าจึงไม่เพียงแต่ไม่สนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะพิการขยายความด้อยพัฒนาให้กว้างขวางออกไป

หลักสูตรส่วนมากจะเน้นหนักทางด้านวิชาการ  เป็นหลักสูตรที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพในอดีตที่เจริญมากกว่าจะเป็นภาพอนาคตของประเทศ  เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ แต่เน้นการเตรียมตัวเพื่อการเรียนต่อในชั้นสูง  จนทำให้คนที่พลาดโอกาสไม่ได้เรียนสูงๆ กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ของสังคม  ระบการศึกษากลายเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความแปลกแยกระหว่างผู้เรียนกับชีวิตจริง

ระบบการศึกษามีแนวโนมที่จะผลิตกำลังคนเพื่อทำงานในเมือง นอกจากจะเป็นระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตของผู้เรียน และความต้องการเชิงพัฒนาสังคมที่ผู้เรียนอาศัยอยู่  ยังพบว่าเป้าหมายของการศึกษา มุ่งที่จะสร้างชนชั้นกลางเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การได้ออกจาการใช้ชีวิตในชนบทกลายเป็นแรงจูงใจของการศึกษาอย่างหนึ่ง

มีรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มของการพัฒนา  การเรียนการสอนใช้วิธีการจำเป็นสำคัญ  จำแบบนกแก้วนกขุนทอง โดยจำสิ่งที่ดีที่สุดในอดีต ความดีที่เป็นมาในอดีต  ผลก็คือ ผู้จบการศึกษา จะมีความเชื่อฟังต่อระเบียบ มีจิตใจที่จะรักษาสิ่งที่ดีๆไว้  มีสติปัญญาตามรูปแบบ ยอมรับอดีต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พอใจที่ได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตเพื่อประโยชน์ของอดีต  นอกจากนั้น ยังพบว่าการเรียนการสอน มุ่งเน้นการฝึกหัดรับการถ่ายทอดข้อมูล แทนการสร้างความเข้าใจและการสร้างสรรค์

ผลของการศึกษาในลักษณะดังกล่าว  จึงเป็นการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ คนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง  ทำอะไรไม่ค่อยเป็นหรือไม่ค่อยกล้าที่จะทำอะไร  รวมทั้งไม่ชอบทำงานหนัก  จึงไม่อาจใช้การศึกษาผลิตคนเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าตามที่ต้องการได้ นับว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง
                          -------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

             การศึกษาเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งมากยิ่งดี แต่การศึกษาแบบผิดๆ  จะทำลายทรัพยากรมนุษย์
                                                   --------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สภาพของการศึกษาที่สูญเปล่า

เป็นที่ยอมรับกันว่า  การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ใช้ในการพัฒนามนุษย์ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  แต่การศึกษาที่มีสภาพต่อไปนี้ จัดว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า เป็นการศึกษาที่ไม่สนองตอบความต้องการกำลังคนของประเทศ กล่าวคือ

เป็นการศึกษาที่มีลักษณะแคบ (insular) เป็นการเรียนการสอนที่ขาดการวางแผนล่วงหน้า  เป็นการสอนอย่างหยาบๆ  โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฟัง สังเกต อ่าน และเขียน กิจกรรมของครูคือ บรรยาย อบรมความประพฤติ ให้งานนักเรียนทำและสอบ เป็นการเรียนการสอนตามทฤษฎี ที่ไม่ได้สร้างทักษะที่จำเป็น

โรงเรียนมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย เป็นแหล่งของอำนาจวาสนาทางสังคม  ทั้งๆที่ เชื่อว่าการศึกษานั้นสามารถสนับสนุนเป้าหมายของการพัฒนา สร้างความเป็นพี่น้องของคนในชาติ และส่งเสริมเกียรติของความเป็นมนุษย์ได้ก็ตาม

ผูู้บริหารประเทศและประชาชนมีเป้าหมายทางการศึกษาที่ต่างกัน กล่าวคือ ผู้บริหารประเทศหวังจะใช้การศึกษา เพื่อให้สถานะภาพของประเทศสูงขึ้นในสายตาของชาวโลก  ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ทัศนคติใหม่ๆที่ทันสมัย  ส่วนประชาชนหวังว่าการศึกษาจะช่วยทำให้ตนเองห่างไกลจากการทำงานที่ต้องใช้มือหรือใช้แรงงาน  เห็นการศึกษาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำงานเบาๆในสำนักงาน เป็นเสมียนหรือข้าราชการ

เป็นการศึกษาที่สร้างทัศนคติที่กระตุ้นให้เรียนสูงขึ้น ผู้จบระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มุ่งที่จะเรียนสูงในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อได้ปริญญา ส่วนมากเป็นปริญญาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ประกอบกับการศึกษาขั้นต่ำนั้นไม่จบในตัวเอง ไม่ช่วยให้ผู้เรียนทำงานได้ ถนนทางการศึกษาแทบทุกสายจึงมุ่งสู่ปริญญา จนเกิดปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษาสูง

เป็นการศึกษาที่ไม่ได้จัดเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ที่มุ่งสร้างชนชั้นนำเป็นสำคัญ

เป็นการศึกษาที่ปฏิเสธอดีตและไม่สนใจอนาคต เน้นการฝึกหัดรับข้อมูล แทนการสร้างความเข้าใจไม่สอนให้รู้จักคิดเพื่อแก้ปัญหา มีรูปแบบการเรียนการสอน  ที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มของการพัฒนา

โดยสรุป สภาพการศึกษที่สูญเปล่า เป็นระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม  กลับผลิตคนที่มีแนวความคิดและค่านิยมผิดๆที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ทั้งๆที่มีการทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาเป็นอับดับต้นๆ ก็ตาม
                   ----------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

เพราะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ  ที่จะช่วยให้การวางแผนสอดคล้องกับความเป็นจริง  สถาบันการศึกษาจึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้
                                                                                George M. Foster
                                       --------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นพลังงาน ทักษะ พรสวรรค์และความรู้ของประชาชน  ที่สามารถนำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

 การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงจำเป็นต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
 และวัฒนธรรม หากประเทศใดไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาระบบต่างๆดังกล่าวจะเป็นไปได้ยาก

ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่  จะประกอบด้วยพลเมืองที่ด้อยพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ การช่วยเหลือและการค้าขายกับต่างประเทศ แม้จะมีความสำคัญแต่ไม่เท่าทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนา

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาที่ตรงกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือกว่าตัวบ่งชี้อื่นๆ  เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายตรงกับ การสร้างทุนมนุษย์ ในทางเศรษฐศาสตร์  ซึ่งหมายถึงกระบวนการให้ได้มา หรือ เพิ่มจำนวนของบุคคลที่มีทักษะทางการศึกษา และประสบการณ์ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ เป็นกระบวนการเพิ่มความรู้ ทักษะ และสมรรถวิสัยให้แก่มนุษย์ในสังคม

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์ หมายถึง การสร้างสมทุนมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมคนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการเมือง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม   การพัฒนามนุษย์ หมายถึง การช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่งคั่ง  ติดยึดอยู่กับประเพณีดั้งเดิมน้อยลง

ในความหมายที่สั้นที่สุด การพัฒนามนุษย์ หมายถึงการเปิดประตูให้มนุษย์ไปสู่ความทันทันสมัย

จะเห็นว่า แนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง จะต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนามนุษย์  ให้มนุษย์มีคุณค่าต่อการพัฒนา แม้ประเทศจะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม หากพลเมืองของประเทศส่วนใหญ่ด้อยพัฒนา  การพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ยาก
                            -----------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

ประเทศด้อยพัฒนาต้องการกำลังคนระดับสูงอย่างรีบด่วน  เท่าๆกับต้องการเงินทุน  ถ้าประเทศเหล่านั้นไม่สามารถพัฒนากำลังคนระดับสูงขึ้นมาได้ตามที่ต้องการ  ก็ไม่อาจที่จะใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้

                                                                               Paul G. Hoffman

                                                   --------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนให้มีลักษณะที่สังคมต้องการ

การศึกษาในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ย่อมจะแตกต่างไปจากประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ

การศึกษาในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เป็นการศึกษาที่จัดโดยรัฐและเพื่อรัฐ ครูจะต้องโฆษณาชวนเชื่อและปลูกฝังในสิ่งที่ชนชั้นผู้ปกครองกำหนด ผู้เรียนจะไม่ได้รับการส่งเสริมให้รู้จักวิพากษ์วิจารณ์

ส่วนการศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น   การศึกษาจะเน้นความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลเมือง เน้นความสำคัญของการทำงาน การริเริ่ม ความศรัทธาในตนเอง ฯลฯ จุดมุ่งหมายของการศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  จึงควรมีลักษณะดังนี้

ผู้เรียนทุกคนควรได้รับการพัฒนาให้มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน

สังคมทัศน์หรือมุมมองทางสังคมของผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนา

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนา ให้มีความสามารถในการที่จะคิดอย่างอิสระและสร้างสรรค์

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถภาพ  ในการที่จะกลั่นกรองเอาความถูกต้องจากความผิดพลาด มีสมรรถภาพที่จะแยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริงอะไรคือโฆษณาชวนเชื่อ รู้จักปฏิเสธอันตรายอันเกิดจากความคลั่งไคล้และอคติ

ผู้เรียนควรได้รับการอบรมในเรื่องความมีเกียรติของการใช้แรงงาน

ทุกคนควรจะมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้เทิดทูนความยุติธรรมในสังคม  โดยตระหนักถึงความชั่วร้ายของสังคมที่ตักตวงเอาผลประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอกว่า

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้รู้จักรักและยอมรับคนอื่นและเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์

ผู้เรียนควรได้รับการสอนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ควรพยายามสอนให้มีความรู้สึกว่ามนุษย์มีความเหมือนๆกัน

ผู้เรียนควรได้รับการกระตุ้นให้รู้จักการริเริ่มตลอดจนรู้จักประดิษฐ์คิดค้น

การเรียนการสอนควรแสดงให้เห็นถึงการมีทางเลือกด้านอาชีพอย่างกว้างขวาง

จะเห็นว่า การจัดการศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น  ทุกคนมีความสำคัญ จึงควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งนี้ เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
                                 ----------------------------------------------------------------------

                                                                                     สาระคิด

                                                     ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนทั้งความสุขและความทุกข์
                                                                             ---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคง

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  จะต้องเริ่มด้วยการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์เป็นเบื้องต้น  จากการศึกษาพบว่า มนุษย์ทุกคนต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในเรื่องต่อไปนี้
        
1.การยอมรับ การยอมรับมีความจำเป็นต่อการสร้างความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักพูดเสมอว่า การยอมรับผู้อื่นเป็นนโบายที่ดี  แต่การยอมรับนั้น จะต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรี  และการแสดงถึงการยอมรับด้วยการไม่ดูหมิ่น การมีมรรยาทที่ดีต่อกัน ตลอดจนแสดงออกถึงความหวังดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ
             การมีมรรยาทดี สามารถใช้สร้างความสัมพันธ์กับบุคลอื่นได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยให้การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นง่ายขึ้น และมีประสิทธิผล การมีมรรยาททำให้บุคคลอื่นอยากคุยด้วย  ทำให้คนอื่นสบายใจ
             กล่าวโดยสรุป การยอมรับบุคคลอื่น ก็คือ การแสดงต่อคนอื่นในฐานะที่คนอื่นเป็นมนุษย์ ปราศจาการดูถุกดูแคลน มีมรรยาทดี และแสดงออกถึงความหวังดี

2.ความยุติธรรม คนทุกคนอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตนอย่างยุติธรรม ปราศจากการลำเอียง ซึ่งแน่นอนว่าหาความยุติธรรมที่ตรงกันได้ยาก      เพราะบางคนใช้ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินความยุติธรรม                 ความยุติธรรมที่ยอมรับกันทั่วไป  ก็คือ ความยุติธรรมที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือตามเหตุผล
             จงระลึกไว้เสมอว่า ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเกิดจาการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างยุติธรรมและตรงไปตรงมา

3.ความซื่อสัตย์  ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ  เพราะความซื่อสัตย์เป็นผลมาจากการมีคุณธรรม การจะบอกว่าคนใดซื่อสัตย์หรือไม่  ให้ดูจาการปฏิบัติใน 3 สิ่งต่อไปนี้ว่าปฏิบัติอย่างสมำ่เสมอหรือไม่เพียงใด
           คนที่มีความซื่อสัตย์  พูดอะไรออกมาผู้พูดเองก็จะต้องเชื่อคำพูดนั้น คือไม่โกหกนั่นเอง
           คนที่มีความซื่อสัตย์  ไม่ดึงข้อมูลที่สำคัญๆไว้กับตน โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผลต่อความสำเร็จของคนอื่น โดยให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง  แม้ตัวเองจะต้องเสียประโยชน์ก็ตาม
           คนที่มีความซื่อสัตย์  จะต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่เสแสร้ง หรือหยิ่งยะโส

ซึ่งเมื่อมีการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างยอมรับ ยุติธรรม และซื่อสัตย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว บุคคลอื่นจะรับรู้ด้วยประสบการณ์ของเขาเองว่า บุคคลนั้นเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้รักษาและเพิ่มความสัมพันธ์ที่มั่นคงตลอดไป

นั่นคือ การยอมรับ ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ เป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีความมั่นคง
                          -------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                           "การคิดถึงตัวเองน้อยลง" เป็นการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" อย่างหนึ่ง

                                                                                  Shigeta Saito
                                                  ------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

มนุษยสัมพันธ์

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น  เป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เพราะเกือบทุกเรื่องในชีวิตจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงาน เพราะแทบจะไม่มีงานไหนในปัจจุบันที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งนี้เพราะการทำงานในปัจจุบันมีลักษณะที่เน้นคน (people intensive)มากขึ้น  ทุกตำแหน่งจะต้องติดต่อเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ลักษณะเช่นนี้มีมากกว่า 2-3 ทศวรรษแล้ว

ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในการทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลยังมีความจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ในหลายๆทาง  ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโต หรือการพัฒนาทางด้านความคิดและสังคม

การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดียังช่วยสร้างเอกลักษณ์ส่วนบุคคลในทางบวก มีความรู้สึกมั่นใจ ตลอดจนช่วยในการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคลให้ปกติหรือดีขึ้น

จาการศึกษาพบว่า ร้อยละ 80 ของคนที่ประสบความล้มเหลวในการทำงาน เกิดจากความไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะประกอบอาชีพอะไร ผู้จัดการ พยาบาล เลขานุการ ช่างไม้ อัยการ แพทย์  ครูอาจารย์ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ล้วนจะต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นทั้งสัิ้น

มนุษย์สัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จึงเป็นความผูกพันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของมนุษย์ทั้งในเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม
                        --------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                        จงให้ความหวังแก่ตัวเอง  แต่อย่ามองข้ามความจริง

                                                                               Winston Churchill
                                                         -----------------------------------------