วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การจัดการศึกษเพื่อการพัฒนามวลชน

รูปแบบการพัฒนาที่นิยมกันหลังปี ค.ศ. 1980 คือยุทธวิธีการพัฒนาที่มุ่งการพัฒนามวลชนโดยตรง มุ่งการปรับสภาพการดำรงชีวิตของบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ

เป็นยุทธวิธีการพัฒนาที่ไม่เพียงแต่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพียงประการเดียว แต่ยังมุ่งถึงการใช้ทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย ซึ่งรูปแบบการพัฒนาใหม่นี้ มีผลให้มีการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น

ทั้งนี้เพราะ ระบบการศึกษาที่จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพัฒนา เป็นการศึกษาที่ไม่ได้ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และ ค่านิยมที่ช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเพื่อการผลิตในสังคมที่นักเรียนอาศัยอยู่ มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาต้องไปทำงานที่อื่น

โรงเรียนไม่ได้สอนให้เขามีทักษะที่จำเป็น ต่อการที่จะช่วยให้เขามีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เขามีชีวิตอยู่ ในทางตรงกันข้ามเป็นการสอนให้เรียนเพื่อไต่บันไดการศึกษาให้สูงขึ้น เป็นการเรียนประถมศึกษาเพื่อมัธยมศึกษา และเรียนมัธยมศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัย

การเรียนการสอน ใช้วิธีแบบท่องจำ ขยันเพื่อสอบ ทำให้เกิด"โรคประกาศนียบัตร"(disease diploma) เป็นการเรียนที่ทั้งพ่อแม่และนักเรียนไม่สนใจที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียน คุณค่าของเนื้อหาหลักสูตรอยู่ที่การช่วยให้นักเรียนสามารถสอบได้ เพื่อไต่บันไดการศึกษาให้สูงขึ้น

สำหรับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามวลชน สามารถทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

            1. จัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เป็นการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าคนมีการศึกษานั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนา

จากการศึกษาพบว่า ประชากรที่มีการศึกษาจะแสดงความตั้งใจ และสามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการตัดสินใจทางการเมือง และมีความพยายามที่จะพัฒนาชุมชน

การศึกษาจะช่วยเพิ่มและส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักทดลองนำความคิดใหม่ๆไปปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพ  การวางแผนครอบครัว การทดลองใช้พืชพันธุ์ใหม่ๆ และเทคนิคการเกษตรแบบใหม่ ฯลฯ

ขณะเดียวกันการศึกษาพื้นฐานเพื่อมวลชน ยังสนับสนุนให้ระบบการศึกษามุ่งไปสู่การเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นการศึกษาที่ไม่เพียงให้รู้หนังสือ แต่ช่วยให้มีทักษะเพิ่มขึ้น อันจะช่วยให้สามารถปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นด้วย

            2. การปฏิรูปหลักสูตร ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อประชากรทั้งมวล จำเป็นจะต้องปรับทิศทางโปรแกรมการศึกษา ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการของสังคม คือ การทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีประโยชน์ในตัวมันเองมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาเพื่อการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว

ในเรื่องของการเรียนการสอน จะต้องให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียน โดยเลิกวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้วิธีท่องจำเป็นหลัก มีการเพิ่มเนื้อหาที่สนองความต้องการของนักเรียนเข้าไปในหลักสูตร โดยหลักสูตรใหม่จะต้องตั้งอยู่บนประสบการณ์ของชีวิตให้มากที่สุด มีเนื้อหาทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนมีชีวิตอยู่

การสร้างหลักสูตร ควรมีการกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถบรรจุเนื้อหาสาระในท้องถิ่นเพิ่มเข้าไปในหลักสูตร อันจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมมากขึ้น ช่วยให้นักเรียนเข้าใจวัฒนธรรม ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับ พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเขา

นอกจากนั้น จะต้องสร้างให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐาน มีความเข้าใจสภาวะแวดล้อมและวัฒนธรรม สอนให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะในสาขาวิชาที่ช่วยให้เขาสามารถปรับปรุงคุณภาพของชีวิตและชุมชนให้ดีขึ้น โดยเน้นให้รู้จักปรับปรุงสุขภาพ โภชนาการ การปฏิบัติงานเกษตร และทักษะอื่นๆที่จำเป็นต่อการปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น

การสอนควรมุ่งเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น วิธีปฏิบัติแบบใหม่ๆ พืชพันธุ์ใหม่ๆ และวิธีปลูกแบบใหม่ๆ มากกว่าที่จะมุ่งฝึกการผลิตแบบเดิมๆโดยใช้พันธุ์พืชที่อยู่ในชุมชนนั้น

จะเห็นว่า การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนมวลชนนั้น นอกจากจะมีจุดมุุ่งหมายเพื่อความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังมุ่งที่จะจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ และทักษะเพื่อใช้ชีวิตในชุมนที่ตนอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพตลอดจนมีความรู้ใหม่ๆไปใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง และชุมชนที่อาศัยอยู่อีกด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                สาระคิด

                                     การศึกษายิ่งมากยิ่งดี
          แต่การจัดการศึกษาแบบผิดๆ จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นดรรชนีชี้วัดการพัฒนา  ที่ตรงกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือกว่าดรรชนีอื่นๆแต่เพียงตัวเดียว

เป็นที่ยอมรับกันว่า ประเทศด้อยพัฒนาเพราะประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา ไม่มีโอกาสขยายศักยภาพและสมรรถภาพ เพื่อทำงานพัฒนาและบริการสังคม

ด้วยเหตุนี้ หากประเทศใดขาดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบต่างๆดังกล่าวแล้วจะเป็นไปได้ยาก 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คืออะไร  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการเพิ่ม ความรู้ ทักษะ และสมรรถวิสัย ให้กับมนุษย์ในสังคม 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสร้างสมทุนมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมคนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่งคั่ง มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติที่เหมาะสม

นอกเหนือจากการใช้การศึกษาแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถทำได้ด้วยการจัดให้มีบริการสาธารณะสุขและการแพทย์ที่ดี การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงภาวะโภชนาการ และการอพยพย้ายถิ่น

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่บทบาทสำคัญกว่าวิธีการอื่นๆ  การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สามารถใช้ได้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการพัฒนาตนเอง

การศึกษาในระบบ หมายถึง การศึกษาในระบบโรงเรียน โดยเริ่มตั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นอุดมศึกษา ปกติเมื่อพูดถึงการศึกษา คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการศึกษาในระบบนี่เอง

การศึกษานอกระบบ หมายถึง การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบเปิด เป็นการศึกษาที่ช่วยสร้างความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพ ให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและบริการด้านอื่นๆ

การพัฒนาตนเอง เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหา ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ เป็นการศึกษาที่เกิดจากอิทธิพลทางบ้าน สังคม และสื่อต่างๆ

ในการวางแผนเพื่อจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน จำเป็นจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจน

          1. การจัดการศึกษาภาคบังคับ ควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ หรือ ปริมาณ

          2. ระดับอุดมศึกษา  จะให้ความสำคัญกับการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ จะให้ความสำคัญกับ วิชา นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์

          3. การพัฒนาทักษะ  จะพัฒนาก่อนทำงาน หรือ จะพัฒนาในระหว่างทำงาน

          4. การสร้างแรงจูงใจทางการศึกษา จะใช้โครงสร้างของค่าจ้างและเงินเดือน หรือ ปล่อยให้เป็นเรื่องของตลาดแรงงาน

          5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ควรเป็นไปเพื่อสนองความต้องการและความปรารถนาของแต่ละบุคคล  หรือ สนองความต้องการและความปรารถนาของรัฐ

การตอบคำถามดังกล่าว จำเป็นจะต้องคำนึงถึง งบประมาณ ทรัยากรทางการศึกษา ลักษณะของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของแต่ประเทศ หากตอบผิด การศึกษาจะก่อให้เกิดปัญหาต่อไปนี้คือ

          1. ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนา

          2. ปัญหาเรื่องกำลังคนเหลือเฟือ ที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่ผลิตได้ไม่เต็มที่

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในการสร้งหลักสูตรหรือโปรแกรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศหนึ่งประเทศใด จะต้องมีการประเมินในเรื่องต่อไปนี้

          1.ความต้องการกำลังคนในระดับต่างๆ เป็นการคาดคะเนการใช้กำลังคนในอนาคต ว่าต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าใด

          2. การศึกษาในระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีมากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร

          3. สถาบันสำหรับการฝึกอบรมระหว่างประจำการ และการศึกษาผู้ใหญ่ มีมากน้อยเพียงใด

          4.โครงสร้างของแรงจูงใจให้บุคคลเข้ารับการศึกษาเหมาะสมหรือไม่ และการใช้ประโยชน์จากกำลังคนระดับสูงมากน้อยเพียงใด

จะเห็นว่าการใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น  ใช่เพียงแค่เปิดสถานศึกษาหรือให้บริการศึกษาเพียงพอเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความต้องการกำลังคนที่สอดคล้องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประกอบด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                 สาระคิด

you cannot teach a man anything. You can only help him discover it within himself.
                                                              Galileo Galilei
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ

ความเชื่อเรื่องการพัฒนาทรัยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นความเชื่อที่มีการปฏิบัติตามอย่างกว้างขวาง เป็นยุทธวิธีในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะทรัพยากรมนุษย์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม

มนุษย์เป็นแหล่งสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางสังคม  เป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ เพราะมนุษย์เป็นผู้ผลิต ผู้สะสมทุน ผู้กระทำ ผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นผู้สร้างองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นดัชนีที่แท้จริง ที่บอกให้ทราบถึงภาวะของการพัฒนา หรือภาวะความทันสมัย มากกว่าที่จะวัดโดยใช้ดัชนีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ในประเทศด้อยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการด้อยพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยคุณภาพทั้งสิ้น มีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่มั่งคั่งด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มีเงินทุนอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถใช้ทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหามากมาย ต้องเสียเปรียบดุลการค้า    มีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม สังคมมีความวุ่นวาย ฯลฯ

ในทางตรงกันข้าม หากดูประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าประชาชนส่วนมากมีสมรรถภาพในการดำรงชีวิตสูง เป็นประชาชนที่มีทัศนคติไม่ล้าหลัง มีความรู้ความชำนาญในการทำงาน มีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย มีค่านิยมที่เหมาะกับการพัฒนา เช่น นิยมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำงานหนัก ประหยัด  และมุ่งประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น ผลก็คือ ประเทศมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปมาก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่อยู่นิ่ง ถ้าไม่มีผู้ใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ส่วนมนุษย์เป็นผู้กระทำ เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา

ในทางเศรษฐศาสตร์ มนุษย์เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษบกิจ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้สร้างอุปสงค์ หรือความต้องการสินค้า และบริการที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตได้ และความต้องการอันไม่จำกัดของมนุษย์นี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหาทางตอบสนองให้เพียงพอ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตโดยรวมสูงที่สุด

หากพิจารณาถึงการผลิตในระบบเศรษฐกิจ จะพบว่าปัจจัยผลิตทั้งสี่ประการ คือที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ มีมนุษย์เป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือเป็นทั้งแรงงาน และผู้ประกอบการ

สำหรับแรงงาน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง พบว่าประสิทธิภาพในการผลิตของมนุษย์ มีค่ามากกว่าประสิทธิภาพในการผลิตของปัจจัยอื่นรวมกัน

คุณภาพกำลังคนจึงมีผลโดยตรงต่อการผลิตของระบบเศรษฐกิจ การปรับปรุงคุณภาพของมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นเท่ากับหรือมากกว่าการลงทุนทางกายภาพ

ทั้งนี้เพราะประสิทธิภาพของการใช้ทุนทางกายภาพขึ้นอยู่กับทุนมนุษย์ หากมีการลงทุนทางด้านทุนมนุษย์น้อย อัตราการเพิ่มทุนทางกายภาพจะถูกจำกัด เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เทคนิคการผลิต  ทักษะที่จำเป็น เงื่อนไขและโอกาสของตลาด ตลอดจนขาดสถาบันที่เอื้อต่อความพยายามทางเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ ในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีความสามารถที่จะรับทุนทางกายภาพอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เพราะความสามารถของมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนาตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของการสะสมทุนทางกายภาพ

หากจะพิจารณาในแง่อุปทานปัจจัยการผลิตของระบบเศรษฐกิจ มนุษย์ก็เป็นอุปทานปัจจัยการผลิตของระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า มนุษย์มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

ด้วยเหตุนี้ ในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ทำการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม หากทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนา โอกาสที่จะพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                                ประเทศด้อยพัฒนา เพราะคนในประเทศด้อยพัฒนา

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำไมมนุษย์ต้องเรียนรู้

การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องจากการมีประสบการณ์ การเรียน หรือ การศึกษาที่ไม่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ เป็นได้แค่การรับรู้ หรือการมีประสบการณ์ 

สำหรับเหตุผลที่มนุษย์ต้องเรียนรู้นั้น มีดังนี้

1.เศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ และรูปแบบการค้านานาชาติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆ

การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ได้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา มีผลทำให้มีการสร้างงานใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆ  ความสามารถใหม่ๆที่ได้จากการเรียนรู้

แม้การใช้ชีวิตในบ้าน ก็ต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆเหมือนกัน  เพราะแต่ละบ้านจำเป็นจะต้องติดตั้งเครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำความสะอาด เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ ซึ่งเครื่องใช้เหล่านี้ จำเป็นจะต้องดูแลรักษาด้วยตนเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย จึงต้องเรียนรู้การซ่อมแซม และการติดตั้ง นอกจากนั้น การเรียนรู้ยังทำให้มีโอกาสการมีงานทำและหารายได้เพิ่มขึ้น

2. การเมือง เป็นความจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคน ที่ต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความรับผิดชอบ ด้วยการเข้าไปจัดการกับปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองควรเรียนรู้ เพื่อเตรียมตัวที่จะกำหนดทิศทาง และย่างก้าวของประเทศ มากกว่าที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเพียงประการเดียว

3. สังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ใหม่ๆ เพราะแต่ละคนในสังคมจำเป็นจะต้องเพิ่มทัศนคติ ค่านิยม และทักษะ ที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น สังคมปัจจุบันยังเพิ่มการแบ่งแยกเป็นกลุ่มมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีการที่ได้จากการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม หรือระหว่างชาติ ความไม่เชื่อถือต่อกัน ความรู้สึกเป็นศัตรูต่อกัน ตลอดจนการปฏิเสธซึ่งกันและกัน

4. เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอของเทคโนโลยี การเพิ่มสมรรถนะการสื่อสารของโลก และกระบวนการผลิตใหม่ๆ มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งที่ทำงานในภาค เกษตรกรรม ช่างฝีมือ ช่างซ่อม ตลอดจนคนงานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้ต้องเพิ่มความต้องการที่จะเรียนรู้มากขึ้นทั้งสิ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมด คงจะได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า  ที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ก็เพราะ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยีเปลี่ยนไปจากเดิม หากมนุษย์ไม่มีการเรียนรู้ จะไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้ไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้  จนกลายเป็นคนล้าหลัง ไม่สามารถใช้ประประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคำ

ประสบการณ์ หมายถึง ผลที่ได้จากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัส

การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส

*****************************************************************


--------------------------------------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำไมมนุษย์ต้องทำงาน

การทำงานเป็นกิจกรรมที่จำเป็น และเป็นกิจกรรมเฉพาะของมนุษย์ การทำงานของมนุษย์ต่างจากการกระทำตามสัญชาตญาณของสัตว์ การทำงานเป็นการกระทำที่เห็นผลที่เกิดขึ้นในสมองก่อนลงมือทำจริง เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะและความรู้สึก ตลอดจนมีการตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ควรทำ

คำถามมีว่าทำไมมนุษย์ต้องทำงาน ไม่ทำงานไม่ได้หรือ ซึ่งเรื่องนี้ นักจิตวิทยาได้อธิบายถึงความจำเป็นที่มนุษย์ต้องทำงานไว้ดังนี้

          1. เพื่อสนองตอบความต้องการด้านวัตถุ การทำงานเป็นการเปลี่ยนวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้เป็นสิ่งที่สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ ทำให้ได้สินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

          2. เพื่อสนองตอบความต้องการการยอมรับตนเอง การทำงานมีความสัมพันธ์กับการยอมรับตนเอง การเห็นคุณค่าของตน เพราะการทำงานทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถเอาชนะได้ทั้งตนเองและสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม หากมนุษย์ประสบความล้มเหลวในการทำงาน จะทำให้คุณค่าของตนลดลง

          3. เพื่อสนองตอบการมีกิจกรรม มนุษย์ทุกคนต้องการทำกิจกรรมเพื่อเลี่ยงความเบื่อหน่าย การทำงานทำให้มนุษย์มีกิจกรรม  มีจิตใจจดจ่อยู่กับงาน จดจ่ออยู่กับสภาวะแวดล้อมของงาน ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นการลดความวิตกกังวล และไม่เกิดความเบื่อหน่ายอันเนื่องมาจากการมีเวลาว่าง

          4. เพื่อสนองตอบความต้องการการริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างผลผลิต สร้างสรรค์วิธีทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์เครื่องมือในการทำงานใหม่ๆ การริเริ่มสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ ทำให้สามารถสนองตอบความต้องการของมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น

นอกจากนั้น  การทำงานยังก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ ดังต่อไปนี้

               1) การทำงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อม ช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคง
               2) การทำงานสนองตอบเป้าหมายทางสังคมของมนุษย์ สถานที่ทำงานช่วยให้บุคคลได้พบปะสร้างความเป็นมิตรต่อกัน แลกเปลี่ยนทักษะและความรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถประเมินตนเองได้ว่ามีสมรรถนะอยู่ในระดับใด
               3) รูปแบบการทำงาน เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ทำงานและสมาชิกในครอบครัว
              4) การทำงานช่วยสร้างกฎเกณฑ์ให้แก่ชีวิต สร้างรูปแบบของชีวิต ช่วยกำหนดแนวทางทางการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี การไม่ทำงานหรือไม่มีงานทำ มีผลทำให้บุคคลอยู่ในภาวะที่ไม่มีระเบียบ เป็นภาวะที่บุคคลไม่สามารถวางแผนได้
               5. การทำงานมีส่วนทำให้บุคคลมีศีลธรรมสูงขึ้น พวกลักเล็กขโมยน้อยส่วนใหญ่เป็นคนไม่ทำงาน

จึงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า การทำงานคือชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของชีวิต ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ใช้ความรู้ สติปัญญา และทักษะ เพื่อสนองตอบในโลกของการทำงาน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                             A warrior never worries about his fear.

                                                               Carlos Castaneda
*****************************************************************