วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

โลกาภิวัตน์ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าประทานมา

หลายคนอาจมองโลกาภิวัตน์ในเชิงบวก มองในแง่ดี แต่อยากจะบอกว่า โลกาภิวัตน์ ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าประทานมา เป็นกฎทองคำ หรือกฎธรรมชาติ หรือเป็นหลักมนุษยธรรม

โลกาภิวัตน์เป็นเพียงความคิดรวบยอดอย่างหนึ่ง  เป็นนโยบายกลุ่มหนึ่่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  ในทางทฤษฎี
โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน เป็นความคิดที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับคำว่า "ประชาธิปไตย" "เสรีภาพ" "การพัฒนา"  "ความร่วมมือกัน" หรือคำว่า "การหาข้อตกลงร่วมกัน"
  
แต่ในความเป็นจริง  โลกาภิวัตน์ถูกกำหนดขึ้นมาโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว  เพื่่อประโยชน์ของบริษัทและสถาบันการเงินของประเทศเหล่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเอาชนะกฎเกณฑ์ต่างๆที่ประเทศกำลังพัฒนากำหนดขึ้น เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและบริษัทภายในประเทศของตน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นส่วนใหญ่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

ในทางปฏิบัติ โลกาภิวัตน์อาจนำประเทศกำลังพัฒนาไปสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็นำความเสี่ยงใหม่ๆเข้ามา  เป็นความเสี่ยงที่สามารถทำลายความอุดมสมบูรณ์ของประเทศได้ 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเตือนถึงภัยจากโลกาภิวัตน์ ให้มีการระวังเรื่องลัทธินานาชาตินิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิปกป้องนิยม ซึ่งอาจเป็นผลลบต่อการค้าขายและการลงทุนไร้พรมแดน ซึ่งอาจทำลายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่อ่อนแอกว่า และอาจกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยทั้งของประเทศที่เข้มแข็งและอ่อนแอ ทั้งนี้  เพราะโลกาภิวัตน์เป็นอุดมการณ์ที่ประเทศมั่งคั่งรำรวยสร้างขึ้น  อาจเป็นภาพลวงตาเพื่อนำไปสู่การครอบงำอย่างมีหลักการ

ได้เคยกล่าวแล้วว่า โลกาภิวัตน์ได้พัฒนามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  จึงสามารถเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนหลายอย่างในปัจจุบัน  อันแสดงถึงลักษณะของโลกาภิวัตน์  เป็นการเลื่อนไหลของ สินค้า เงิน ข้อมูลข่าวสาร คน การพัฒนาเทคโนโลยี ระบบกฎหมาย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน  ที่ช่วยให้มีความสะดวกสบายต่อการเลื่อนไหลของปรากฏการณ์เหล่านั้น
 
ลักษณะโลกาภิวัตน์อาจสังเกตได้จากปรากฏการณ์เหล่านี้ กล่าวคือ

มีการเพิ่มการค้าระหว่างประเทศในอัตราที่รวดเร็ว มีการไหลเข้าออกของทุน รวมทั้งการลงทุนในต่างประเทศโดยตรงเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาของระบบการเงินการคลังโลก บรรษัทข้ามชาติเพิ่มส่วนแบ่งเศรษฐกิจโลกมากขึ้น องค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบทบาทมากขึ้น

มีการกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยและเขตแดนของประเทศต่างๆ  โดยอาศัยข้อตกลงระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การค้าโลก เป็นต้น มีการผลักดันและสนับสนุนให้มีศาลระหว่างประเทศ  เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรม  และสร้างความยุติธรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนมีการกำจัดการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ  แม้ประเทศนั้นๆไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยตรงก็ตาม

มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาติมากขึ้น   คนจึงเข้าถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านั้น บางครั้งได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก เป็นเหตุให้ลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมลง เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมมากขึ้น

มีการท่องเที่ยวและการอพยพเพื่มขึ้น  รวมทั้งการอพยพของผู้ทำผิดกฎหมาย และอาชญกรข้ามชาติ

มีการพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายโทรคมนานาคมทั่วโลก มีการใช้เทคโนโลยี เช่น อินเตอร์เนต การสื่อสารผ่านดาวเทียม  และโทรศัพท์มากขึ้น  ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวข่าวสารอย่างรวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการเพิ่มมาตรฐานของสิ่งของที่ใช้ทั่วโลก เช่นกฎหมายลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรต่างๆ 

ที่กล่าวมา จะเห็นว่าลักษณะโลกาภิวัตน์ ได้มีปรากฎชัดเจนในประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม โลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อุดมการณ์ที่พระเจ้าประทานมา จึงมีทั้งส่วนดีและส่วนที่ไม่ดี  คนไทยจึงควรรับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมีสติ ไตร่ตรองพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าให้กระแสโลกาภิวัตน์ครอบงำได้ 
                             ----------------------------------------------------                                                                                                                        สาระคำ
                                            IMF = International Monetary Fund.
                                                        ------------------------
                                                           

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

โลกาภิวัตน์:ที่มาและความหมาย

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวงการวิชาการของไทย เป็นกล่าวถึงในเชิงบวก เพราะเป็นแนวความคิดใหม่จากตะวันตก ซึ่งปกติคนไทยก็ยอมรับโดยไม่มีข้อสงสัยอยู่แล้ว  แต่ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ที่ผ่านมากระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากมาย

ที่พูดถึงโลกาภิวัตน์อีกครั้งหนึ่ง  ก็เพื่อให้มีการทบทวนว่า กระแสโลกาภิวัตน์  เป็นแนวความคิดที่ดี ที่เหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยเราจริงหรือ

ความจริงโลกาภิวัตน์มีอยู่ 2 ยุค ยุคแรกเกิดมาพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ล่มสลายในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930  ประเทศที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ในยุคนั้น เป็นประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา  มีเจตนาที่จะทำให้ความไม่เสมอภาคระหว่างประเทศเหล่านั้นที่ประกอบด้วยคนเชื้อสายเดียวกันหมดไป  ทำให้สินค้า ทุน และแรงงานสามารถไหลเข้าออกได้อย่างเสรี

ส่วนโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดจาการประชุมเจรจาการค้าที่รู้จักกันในชื่่อ แกตต์ (GATT)  ซึ่งได้ตกลงที่จะยกเลิกข้อกำหนดบางอย่าง  เกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า  เพื่อให้เกิดการค้าเสรี และการประชุมรอบอุรุกวัย (The Uruguay Round) มีผลทำให้เิกิดองค์การค้าโลก (WTO)  เป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้า เกิดสนธิสัญญามาสทริชท์ (Masstricht Treaty) ซึ่งเป็นสัญญาเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประชาคมยุโรป  เกิดแนฟต้า (NAFTA) เพื่อลดอัตราภาษีีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้า

ต่อมาการตกลงในลักษณะนี้ ได้เกิดขึ้นทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี  กว้างขวางออกไปเกือบทั่วทุกมุมโลก

คำว่า "โลกาภิวัตน์" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Globalization" ซึ่งหมายถึง "การทำให้เป็นโลกเดียวกัน" ทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ที่สามารถติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกันของประชาคมโลกได้สะดวกรวดเร็ว

ในตอนแรกที่ไทยเริ่มรู้จักคำๆนี้ นักวิชาการนิยมใช้คำว่า "โลกไร้พรมแดน" ต่อมาเปลี่ยนเป็นไปใช้คำว่า "โลกานุวัตร" อยู่พักหนึ่ง  ในความหมายที่ว่า "ประพฤติตามโลก" คือสังคมโลกเปลี่ยนไปในทางใดก็เปลี่ยนตามๆกันไป

แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนมาใช้ "โลกาภิวัตน์" อย่างในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง การกระจายทั่วโลก ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ณที่ใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความหมายที่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับระบบสารสนเทศ  ที่ก่อให้เกิดการกระจายหรือเกิดผลกระทบไปทั่วโลก

นอกจากนั้น โลกาภิวัตน์ อาจหมายถึง กระบวนการหรือกลุ่มของกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นความสัมพันธ์ทางสังคม อันมีเหตุมาจาก การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่ง เกิดสภาพโลกไร้พรมแดน ทำให้ส่วนต่างๆของโลกมีความใกล้ชิดมากขึ้น สามารถเพิ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล  มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดความเป็นมิตรระหว่างพลเมืองโลก

โลกาภิวัตน์เป็นการเชื่อมระหว่างสังคมทั้งในด้านกว้าง ลึก และความรวดร็ว ทั้งในการดำเนินชีวิต จนถึงการประกอบอาชญากรรม 

โลกาภิวัตน์อาจมองได้ในหลายมิติ กล่าวคือ

โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ หมายถึง  การเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก การค้าระหว่างประเทศ การไหลเข้าออกของทุน และการอพยพย้ายถิ่น

โลกาภิวัตน์ทางสิ่งแวดล้อม หมายถึง การกระทบต่อโลก  เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม

โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม หมายถึง การเชื่อมโยงทางภาษาและวิถีชีวิต

โลกาภิวัตน์ทางการเมือง หมายถึง การยอมรับมาตรฐานทางการเมืองของโลก เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และมีการร่วมมือประสานงานกับรัฐบาลทั่วโลกในเรื่องเหล่านี้

จะเห็นว่าโลกาภิวัตน์แม้จะเริ่มด้วยมิติทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันได้เกี่ยวข้องกับทุกมิติของโลก ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ ทางสิ่งแวดล้อม ทางวัฒนธรรม หรือทางการเมือง การยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ของคนไทยจึงต้องรับด้วยความระมัดระวัง  มิฉะนั้นจะลอยตามกระแสโลกาภิวัตน์โดยไม่มีจุดยืนเป็นของตนเอง
                                      ------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

                                    GATT = General Agreement on Tariffs and Trade.

                                    WTO  = World Trade Organization.

                                    NAFTA = The North American Free Trade Agreement.
                                               -----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

การพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน (Sustainable Human Development)

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นคำที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน  อะไรๆก็พัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือวัฒนธรรม  ก็ต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
  
การพัฒนาที่ยั่งยืน  มีสาเหตุมาจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม  จนกลายเป็นพิษภัย  จึงเกิดความคิดว่าน่าจะมีการจัดการ เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้นานๆ  โดยที่ยังสามารถสนองตอบความต้องการของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ไม่เป็นภาระหรือเป็นปัญหากับคนรุ่นใหม่

ดังได้กล่าวในตอนก่อนแล้วว่า มนุษย์เป็นศุนย์กลางของการพัฒนา เพราะมนุษย์เองเป็นทั้งทรัพยากรและผู้ใช้ทรัพยากร การพัฒนาจึงต้องเริ่มที่การพัฒนามนุษย์  จะต้องเป็นการพัฒนาที่ทำให้มนุษย์มีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนยากคนจนคนด้อยโอกาส  การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม ก็ดี ไม่อาจอาจจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยอัตโนมัติ  ถ้าไม่มีการพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน

สำหรับแนวทางการพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน  มีแนวทางดังต่อไปนี้ คือ

การเพิ่มอำนาจ (Empowerment) เป็นการพัฒนาเพื่อขยายสมรรถนะและทางเลือกให้กับมนุษย์ ให้หลุดพ้นจากความหิวโหยและการถูกกีดกัน เป็นการพัฒนาให้มนุษย์มีความรู้ความสามารถมากกพอที่จะพึ่งพิงตนเองได้  ในขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในเรื่องต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของตน

ความร่วมมือ (Co-operation) เป็นการพัฒนาให้มนุษย์ที่รู้จักการทำงานร่วมกันกับคนอื่น เพื่่อให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ  ทำให้เกิดรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมในกิจการนั้นๆ

ความเสมอภาค (Equity) เป็นการพัฒนาที่เป็นการเพิ่มความเท่าเทียมกันในโอกาส  ที่จะได้รับการศึกษาและบริการต่างๆจากรัฐ  ตลอดจนเท่าเทียมกันทางสังคม

ความยั่งยืน (Sustainable) เป็นการพัฒนาที่สนองตอบความต้องการในปัจจุบัน  โดยไม่กระทบต่อสิทธิของคนในรุ่นต่อไป

ความปลอดภัย (Security) เป็นการพัฒนาที่ให้มนุษย์ปลอดจาการข่มขู่คุกคามทุกประเภท

การพัฒนามนุษย์จะต้องครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ  จึงจะเรียกว่าเป็นการพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน ขาดองค์ประกอบหนึ่งประกอบใดไม่ได้  
                                    ------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                There is enough in the world for everyone's need, but not for everyone's greed.

                                                                      Frank Buchman
                                                      -------------------------------
 

                                                   

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

ปรัชญาและเป้าหมายของการพัฒนา

เมื่อพูดถึงการพัฒนา  มีวิธีการอยู่ 2 วิธี คือการพัฒนาวัตถุ และการพัฒนามนุษย์  แม้การพัฒนาวัตถุซึ่งเป็นการพัฒนาแบบดั้งเดิมจะทำได้ไม่ยาก  แค่มีงบประมาณก็สามารถดำเนินการได้ก็จริงอยู่  แต่กลับพบว่ามีปัญหาตามมาหลายประการ

ปัจจุบันจึงมีปรัชญาและเป้าหมายของการพัฒนาในลักษณะต่อไปนี้

พัฒนาจะต้องพัฒนามนุษย์  เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง การพัฒนามนุษย์เป็นการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้มีคุณภาพในการสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น  การพัฒนามนุษย์นั้น  จะต้องพัฒนามนุษย์ในฐานะมนุษย์เป็นมนุษย์ คือพัฒนาทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม และพัฒนามนุษย์ในฐานะที่มนุษย์เป็นทรัพยากร คือให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการที่จะทำงาน มีแนวคิดที่เหมาะสม  และมีสุขภาพสมบูรณ์

การพัฒนาจะต้องพัฒนาให้มนุษย์มีความรู้สึกคุ้นเคยกับกระบวนการพัฒนา  โดยการพัฒนานั้นไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก คือไม่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา การพัฒนาเป็นเรื่องของคนอื่น ตนเป็นเพียงผู้รับการพัฒนา

การพัฒนาจะต้องพัฒนาให้มนุษย์มีบุคลิกภาพเพื่อส่วนรวม  คือเป็นผู้ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมควบคู่กับประโยชน์ส่วนตน ซึ่งบุคลิกภาพเพื่อส่วนรวมนั้น ควรประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้ กล่าวคือ ร่วมมือกันด้วยความอุตสาหะพยายาม ร่วมมือกันอย่างเสมอภาค มีความรับผิดชอบที่จะให้บริการ มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น และมีความสำนึกในความสำคัญของกลุ่ม

การพัฒนาจะต้องพัฒนาให้มนุษย์มีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย คือใช้กระบวนการประชาธิปไตยในทุกขั้นตอน และจะต้องเกิดจากการกระทำร่วมกันของประชาชน

การพัฒนาจะต้องพัฒนาให้มนุษย์มีศรัทธาในความสามารถของตนเอง คือให้มนุษย์เกิดความรู้่สึกว่าตนเองนั้นมีความสามารถที่จะทำได้ ถ้าใช้ความพยายาม  โดยไม่จำเป็นจะต้องร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือพึ่งพิงคนอื่น

อนึ่ง  ในการพัฒนานั้นจะต้องคำนึงในเรื่องต่อไปนี้เป็นสำคัญ  กล่าวคือ

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา  จะพัฒนาคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มากกว่ามุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ

ความสำเร็จทางการเมือง สังคม  และวัฒนธรรม  มีความสำคัญเท่าๆกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

การพัฒนาประเทศใด ก็จะต้องมีรูปแบบเฉพาะของประเทศนั้น นำรูปแบบการพัฒนาของประเทศหนึ่งไปใช้ในอีกประเทศหนึ่งโดยไม่มีการปรับปรุง  จะทำให้การพัฒนาสำเร็จได้ยาก

จะเห็นว่าการพัฒนาแนวใหม่ เชื่อว่าการพัฒนาจะต้องพัฒนามนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นทั้งทรัพยากรและเป็นผู้ใช้ทรัพยากร  ถ้าได้มนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ  มีคุณภาพ  มนุษย์ก็จะเป็นทรัยากรที่ดี  ที่สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
                                     -------------------------------------------------------

                                                                       สาระคำ

                                  ปรัชญา  คือความเชื่่อที่บอกให้ทราบถึงจุดมุ่งหมาย

                                                            -----------------------

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

วัฒนธรรม:อุปสรรคในการพัฒนา

คำว่าวัฒนธรรม ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นวัฒนธรรมในความหมายทางมานุษยวิทยา ซึ่งหมายถึง วิถีชีวิตในสังคมหนึ่งๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนรุ่นหนึ่ง  อันประกอบด้วยความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมที่สังคมนั้นๆยอมรับ  และไม่สามารถนำไปใช้ตัดสินว่าวัฒนธรรมใดสูงหรือต่ำ ดีหรือเลว  แต่เป็นวิถีชีวิตที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ  เมื่่อเวลาเปลี่ยนไป   สภาพทางสังคมเปลี่ยนไป บางวัฒนธรรมอาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน

เดิมเชื่อกันว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวกำหนดการพัฒนาที่สำคัญ  ประเทศใดมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ประเทศนั้นจะพัฒนาได้เร็ว  แต่จากการศึกษาพบว่า  คนต่างหากที่สำคัญต่อการพัฒนา เพราะคนเป็นทั้งผู้ใช้ทรัพยากร เป็นผู้ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของคน

การที่คนจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลักษระใด หรือเปลี่ยนแปลงทรัพยากรให้เป็นไปในลักษณะใด ขึ้นอยู่กับความคิด  ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนพฤติกรรมของคนในสังคมนั้นๆ  หรือขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้นๆนั่นเอง

วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทุกอย่าง  นั้บตั้งแต่  การกิน การนอน จนถึงการทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ

แต่เมื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมของคนไทย จะพบว่าสังคมไทยมีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนพฤติกรรมหลายอย่าง  ที่น่าจะเป็อุปสรรคต่การพัฒนา ทั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง

ในทางเศรษฐกิจ มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมในลักษณะต่อไนี้ น่าจะเป็นอุสรรคในการพัฒนา กล่าวคือ

เชื่อว่างานเบาเป็นงานที่มีเกียรติกว่างานหนัก  ใครยิ่งทำงานห่างจากการใช้แรงกายมากเท่าไร จะยิ่งมีเกียรติมากขึ้นเท่านั้น คนไทยจึงเลี่ยงงานที่ใช้แรงกาย เกิดการเลือกงาน งานที่ต้องใช้แรงงานจึงตกไปอยู่กับคนต่างชาติ  ที่นับวันจะเข้ามาทำงานลักษณะนี้ในประเทศไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันส่งผลให้คนไทยว่างงานมากขึ้น

เชื่อว่าบุญกรรมเป็นตัวกำหนดสภาพปัจจุบัน  เปลี่ยนแปลงไม่ได้  ทำให้ขาดการดิ้นรนที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติโดยรวม

การเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติและสิ่งลึกลับมากกว่าอำนาจในตน เชื่อว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวขึ้นอยู่กับการสวดมนต์อ้อนวอนหรือฤกษ์ยาม  มีผลทำให้ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อพิธีกรรมต่างๆมากเกินจำเป็น

เชื่อว่าความสำเร็จในการทำงานขึ้นอยู่กับโชคชะตา  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความขยันหรือขี้เกียจ   และขึ้นอยู่กับว่ามีีคนอุปถัมภ์หรือไม่

เชื่อว่าการประหยัดไม่เป็นสิ่งจำเป็น   ความยากจนเป็นสิ่งที่น่าอับอาย  จึงชอบแสดงออกด้วยการหรูหราฟุ่มเฟือย ขาดความสำนึกเรื่องเงิน รู้แต่ว่าเงินมีไว้ซื้อของเพื่อสนองความต้องการของตน จึงขาดการประหยัด  มีผลทำให้ขาดเงินลงทุนในที่สุด

นอกจากนั้น คนไทยยังขาดความอดทนในการทำงานที่ยาก ขาดการวางแผนในการทำงาน ทำงานโดยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ชอบทำงานคนเดียวมากกว่าทำงานเป็นกลุ่ม  ขาดระเบียบวินัย ทำงานตามความพอใจของตนเอง ยึดความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากว่าความถูกต้อง

ในทางการเมือง  ก็เช่นกัน ดังที่เคยกล่าวไว้ในตอนก่อนๆว่า วัฒนธรรมไทยมีหลายลักษณะที่น่าจะเป็นอุปสรรค  ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เป็นอุสรรคต่อการพัฒนาทางการเมือง เช่น

ลักษณะอิสระนิยม ชอบความเสรี ทำได้ตามใจคือไทยแท้  บางครั้งให้ความสำคัญกับอิสระนิยมมากจนขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ลักษณะปัจเจกชนนิยม เป็นลักษณะที่ยึดตนเองเป็นสำคัญ  มากกว่าที่จะคำนึงถึงส่วนรวม  มีผลทำให้ยึดประโยชน์ตนมากกว่าส่วนรวม

ลักษณะอำนาจนิยม คนไทยชอบแสวงหาอำนาจ ชอบการมีอำนาจ เพราะอำนาจช่วยให้มีสภานภาพทางสังคมสูงขี้น

ยึดตัวบุคคลมากว่ากฎเกณฑ์หรือหลักการ  เคารพบุคคลมากกว่าอุดมการณ์หรือข้อบังคับ เพราะเชื่อว่าข้อบังคับต่างๆทำขึ้นด้วยคน เปลี่ยนแปลงได้

ลักษณะทางวัฒนธรรมของคนไทยเหล่านี้  เป็นลักษณะที่น่าจะเป็นอุสรรคต่อการพัฒนา ถ้าจะพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจหรือพัฒนาทางการเมืองหรือทางสังคม จะต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เอื้อต่อการพัฒนาควบคู่ไปด้วย มิฉะนั้นการพัฒนาจะดำเนินไปได้ยาก  
                                             ------------------------------------------------

                                                                       สาระคิด

                   ผู้มีอำนาจบริหาร  ถึงจะมีกำลังอำนาจ  แต่เป็นคนพาล  ย่อมไม่เป็นผลดี

                                                                            พุทธสุภาษิต
                                                            -----------------------

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

ลักษณะของคนไทยกับการพัฒนาประเทศ

ก่อนที่จะกล่าวถึงการพัฒนาประเทศ ขอกล่าวถึงความหมายของการพัฒนาเป็นเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจตรงกัน คำว่า การพัฒนา นั้น  นักวิชาการแต่ละท่านให้ความหมายแตกต่างกันไป แต่สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า

การพัฒนา  หมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผน มีระบบ  เปลี่ยนแปลงจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งที่มีคุณค่ามากกว่า  ดีกว่า ทำให้ปัญหาหมดไป เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้ง  ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  กล่าวคือ

ทางด้านเศรษฐกิจ  การผลิตผลผลิต และรายได้ จะต้องมีการกระจายอย่างเสมอเท่าเทียมกัน อันจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ทางด้านสังคม  สังคมที่พัฒนาจะต้องมีการระดมพลังของมวลชน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างกันตามเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และธรรมเนียมประเพณี เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขของสังคม

ทางด้านการเมือง ระบบการเมืองที่พัฒนา  จะต้องเป็นระบบการเมือง ที่องค์การปกครองทุกระดับ มีความสามารถตัดสินใจอย่างเพียงพอ ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการยอมรับจากประชาชน มีข้าราชการที่ไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง  ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ อันจะนำไปสู่สันติสุขในขั้นสุดท้าย

นั่นคือประเทศที่พัฒนา จะต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง  สังคมมีความสงบสุข การเมืองไม่ยุ่งเหยิง   องค์ประกอบที่สำคัญ  ที่บ่งชี้ว่าก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศหรือไม่ ก็คือพลเมืองหรือประชากรของประเทศนั้นๆ  ว่ามีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนามากน้อยเพียงใด  ถ้ามีมากก็พัฒนาได้เร็ว ถ้ามีน้อยก็พัฒนาช้า

สำหรับประเทศที่พัฒนาได้เร็ว ประชากรของประเทศส่วนใหญ่จะมีลักษณะดังต่อไปนี้  คือ เป็นผู้ที่พร้อมกับการคาดการณ์ล่วงหน้า ชอบที่จะเสี่ยง พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี เต็มใจที่จะให้ความร่วมมือ  ยอมรับกฎเกณฑ์ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

สำหรับสังคมไทยนั้น มีทั้งลักษณะที่เอื้อและไม่เอื้อต่อการพัฒนา ในส่วนตัวเห็นว่าลักษณะของคนไทยต่อไปนี้ เป็นลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา ซึ่งได้แก่

ความรักอิสระ  ความรักอิสระทำให้คนรู้จักช่วยตัวเอง เชื่อตนเอง ไม่ต้องการจะพึ่งพิงคนอื่น ทำให้เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์  ที่จะหาวิธีการที่จะทำตนให้สามาถพี่งตนเองได้  อันก่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะ มีความก้าวหน้าในอาชีพ  อันเป็นลักษณะของการพัฒนา

ความนิยมครอบครัวเดี่ยว การแยกออกเป็นครอบครัวเล็กๆ ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องช่วยกันทำมาหากิน ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเศษฐกิจ

การเล็งผลการปฏิบัติ  คือ การกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน เป็นการส่งเสริมให้มีการวางแผน ซึ่งจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จ  และทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะทำงานต่อๆไป

การยกย่องสตรี  ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม  ซึ่งจะเป็นเครื่องส่งเสริมให้บุคคลได้คิดได้ทำตามที่ตนเห็นว่าถูกต้อง อันเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งเสริมหลักความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย

การยกย่องผู้มีความรู้ เป็นเหตุให้บุคคลเกิดการแข่งขัน ในการแสวงหาความรู้  ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวาง  ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ  ที่จะนำไปสู่การพัฒนา

ลักษณะดังกล่าวนี้  เป็นลักษณะของคนไทย สังคมคมไทย ที่เอื้อต่อการพัฒนา แต่อาจจะมีข้อสังสัยว่าในเมื่อคนไทยมีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา แต่ทำไมการพัฒนาประเทศจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร คำตอบจึงอยู่ที่ว่าอาจมีลักษณะบางประการที่ไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา  ซึ่งจะต้องหาคำตอบกันต่อไป
                                      -------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

              ถ้าคุณปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม   พวกเขาก็จะปฏิบัติต่อคุณอย่างเหมาะสมเช่นกัน

                                                                       Franklin D. Roosevelt
                                                        ---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

ค่านิยมของคนไทย

ค่านิยมเป็นแบบแผนของความประพฤติของคนในสังคม  เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ  เป็นตัวกำหนดว่าอะไรมีค่าควรแก่การเลือก  ค่านิยมบอกให้ทราบว่า  อะไรเป็นสิ่งที่ต้องการ  อะไรดีที่สุด ตลอดจน เป็นตัวกำหนดว่าอะไรถูก อะไรเหมาะสมที่จะปฏิบัติ ที่จะเชื่ื่อ

สำหรับค่านิยมของคนไทย ที่สำคัญๆ มีดังนี้

รักความอิสระ  คนไทยไม่อยากให้คนอื่น มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของตน  และตนก็ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น  ไม่ชอบอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนอื่น รักความเป็นอิสระ  เป็นตัวของตัวเอง จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว  เอาตัวรอด  คำนึงความสะดวกสบายของตนเป็นเกณฑ์  ค่านิยมรักความอิสระนี้เห็นได้จาก คติพจน์ สุภาษิต และคำกลอนต่างๆ เช่น "ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้" "ตัวใครตัวมัน" "รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"   เป็นที่น่าสังเกตว่า  โดยทั่วไป ค่านิยมรักความอิสระเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมอุตสาหกรรม  ไม่น่าจะมีในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตร

การนิยมครอบครัวเดี่ยว  ครอบครัวเดี่ยว หมายถึงครอบครัวที่ประกอบด้วย บิดา มารดา และบุตร ค่านิยมข้อนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากค่านิยมรักความอิสระ

การเล็งผลปฏิบัติ  คนไทยจะไม่ยึดมั่นในสิทธิ  และไม่ยึดถือปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เห็นผล  หรือไม่สอดคล้องกับประโยชน์ตน เช่น เชื่อว่า อุดมการ หลักการ และกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะปฏิบัตตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ถ้าไม่เกิดประโยชน์กับตนก็ไม่ถือปฏิบัติ

ค่านิยมบทบาทของสตรี  คนไทยนิยมยกย่องสตรี สตรีในสังคมไทยมีโอกาสเท่าเทียมกับบุรุษในเรื่องการงานและตำแหน่งหน้าที่   ตลอดจนให้ความสำคัญกับความเป็นเพศแม่ของสตรี

ความเฉื่อย  เป็นค่านิยมที่แสดงถึงมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในสิ่งที่ตนเป็นอยู่  บางครั้งทำให้ขาดความกระตือรือร้น ทำงานเท่าที่จำเป็นในการครองชีพเท่านั้น ชอบทำงานสบาย เพราะเคยชินกับความสบาย

การถือฐานานุรูป  เป็นค่านิยมที่ถือว่า  การได้ตำแหน่งหน้าที่การงานนั้นเป็นไปตามฐานะ   ตามกำเนิด การมีฐานะดี การเกิดในตระกูลสูง จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงเป็นเรื่องปกติ

การถือความสัมพันธ์ส่วนตัว  เป็นค่านิมที่ถือเอาความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นเครื่องตัดสินในการติดต่อ  ในการให้คุณให้โทษคนอื่น

การถือประโยชน์ตน  เป็นค่านิยมที่ถือเอาประโยชน์ตนเองเป็นเหตุจูงใจ ว่าจะทำหรือไม่ทำ  หรือจะทำอย่างไร

การถืออำนาจ  เป็นค่านิยมที่ถือว่า  ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเพียงผู้รับคำสั่งและนำไปถือปฏิบัติ  ส่วนผู้ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่อยากเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่

ค่านิยมที่กล่าวมา  ในเมืองใหญ่ๆอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  แต่ในชนบทค่านิยมเหล่านี้จะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน เมื่อสังคมเปลี่ยนไปค่านิยมเหล่านี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบ้าง เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่สังคมอุตสาหกรรม
                                           ----------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                                              มิยอมรับผิด นั่นคือ  มีความผิดจริงแท้

                                                                          สามก๊ก
                                                             ----------------------------

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

ลักษณะสังคมไทย

แต่ละสังคมย่อมมีลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ของสังคม  ซึ่งจะช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมได้ชัดเจนขึ้น การที่แต่ละสังคมจะมีลักษณะอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ตลอดจนค่านิยมของสังคมนั้นๆเป็นสำคัญ การจะแก้ปัญหาหรือการพัฒนาสังคมใดๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะจะต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของสังคมนั้นๆให้มาก  มิฉะนั้นอาจนำไปสู่การมีปัญหาใหม่ๆ  หรือการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความล้มเหลวได้

สำหรับสังคมไทยก็มีลักษณะเฉพาะ  ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น ดังนี้

ความเป็นเอกราช  ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชมาช้านาน  ความมีเอกราชทำให้คนไทยรักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเอง   และไม่ชอบอยู่ใต้บังคับบัญชาของใครนานๆ

สังคมไทยเป็นสังคมเกษตร    จริงอยู่ในสภาพปัจจุบัน อาจจัดประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาบางส่วนหรือกึ่งพัฒนา คือนอกจากอาชีพการเกษตรแล้ว  ยังมีอุตสาหกรรมและการบริการเข้ามามีส่วนด้วย แต่เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม  จึงก่อให้เกิดสังคมที่มีลักษณะต่อไปนี้ กล่าวคือ อยู่รวมกันแบบทุกคนรู้จักกัน  ติดต่อคุ้นเคยกันโดยตรง ครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญทางเศรษฐกิจ คือเป็นทั้งหน่วยผลิตและหน่วยบริโภค  มีโลกทัศน์เป็นคนหัวโบราณ ยึดมั่นในประเพณีต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ยาก  ชอบเก็บเงินไว้เฉยๆ ทำให้เงินไม่หมุนเวียน เชื่อโชคลาง  ใช้เงินส่วนใหญ่ในพิธีการต่างๆ ไม่กระตือรือร้น ไม่ดิ้นรน เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง  กล่าวคือ ข้าราชการแทบทุกหน่วย  ที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ในส่วนภูมิภาค  เป็นข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งไปจากส่วนกลาง  นอกจากนั้น กรุงเทพยังเป็นเมืองสำคัญยิ่งกว่าเมืองใดๆในประเทศ เป็นเมืองโตเดี่ยว เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง  การพัฒนประเทศก็มุ่งพัฒนากรุงเทพเป็นสำคัญ  คนกรุงเทพจึงมีโอกาสและได้รับบริการมากกว่าคนในชนบท จึงไม่แปลกที่กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่ดึงดูดคนจากชนบทเข้ามาอยู่อาศัย ก่อให้เกิดปัญหามากมาย  ในขณะเดียวกันเป็นเหตุให้ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้า  จนเกิดลักษณะทวิลักษณ์ขึ้นในสังคมไทย

สังคมไทยเป็นสังคมเจ้านาย  การเป็นเจ้าคนนายคนมีความหมายยิ่งสำหรับคนไทย  มีความหมายมากกว่าเงินทอง ครอบครัวและเพื่อนฝูง คนไทยได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆว่า  โตขึ้นขอให้เป็นเจ้าคนนายคน  ลักษณะที่แสดงถึงการเป็นเจ้านายที่สำคัญ ได้แก่ การนิยมอาชีพรับราชการ ชอบพิธีการที่แสดงถึงความสำคัญของตน เห็นงานที่ใช้แรงงานเป็นงานต่ำ ไร้เกียรติ  กับชอบนิยมการมีข้าทาสบริวาร ชอบเลี้ยงดูลูกน้องหรือสมุน ดำเนินชีวิตเกินตัวเกินฐานะ  หรือบางคนทำตัวเป็นลูกน้องฝากเนื้อฝากตัวผู้มีอำนาจ  แม้แต่นักการเมืองบางคนก็ยอมรับว่าตนเองเป็นขี้ข้า ก็มี

สังคมไทยมีปรัชญาชีวิตที่สงบสุข อันเป็นปรัชญาที่เกิดจากการนับถือศาสนาพุทธและสังคมเกษตร เช่น เชื่อในเรื่องบุญกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว การระงับปัญหาด้วยการไม่จองเวรต่อกัน เหล่านี้ เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างหลวม  อันหมายถึงสังคมที่เปิดโอกาสให้เลือกตัดสินใจกระทำแตกต่างกันออกไปไปได้แม้ในสถาณะการณ์เดียวกัน จึงทำให้คนไทยมีลักษณะ ขาดความสม่ำ่เสมอ ขาดความสำนึกเรื่องเวลา  ยึดตนเองมากว่าที่จะยึดหรือนึกถึงส่วนรวม  ขาดความรับผิดชอบผูกพันในระยะยาว  มีระเบียบวินัยน้อย  และมีแนวโน้มที่จะเอาฐานะตำแหน่งหนึ่งเป็นหลักครอบคลุมกิจกรรมอื่น แม้กิจกรรมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาระหน้าที่ของตำแหน่งที่ตนครองอยู่

ลักษณะดังกล่าวนี้  เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมไทย บางลักษณะก็สามรถยอมรับได้ในโลกยุคปัจจุบัน แต่บางลักษณะจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัตน์  มิฉะนั้นสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา  ดังที่นักสังคมวิทยาตะวันตกได้กล่าวไว้
                                                   ------------------------------------------

                                                                           สาระคิด

                                      ผู้หวังประโยชน์ด้วยอุบายไม่แยบคาย   ย่อมเดือดร้อน

                                                                                         พุทธสุภาษิต
                                                                   ------------------------                

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

การเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ เป็นลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  ฉะนั้นควรที่จะส่งเสริมให้ลักษณะดังกล่าว เป็นลักษณะประจำของคนไทยของสังคมไทยต่อไป  แต่พบว่าผู้มีความรู้บางส่วนถูกครอบงำโดยสังคมทุนนิยม จึงไม่อาจชี้นำได้อย่างถูกต้อง  ประกอบกับในปัจจุบันมีความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการอย่างกว้างขวาง ทำให้ไม่สามารถพึ่งพิงผู้มีึความรู้ได้ในทุกเรื่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  เพื่อให้ทุกคนเป็นผู้มีความรู้   ซึ่งอาจจะทำได้โดยอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้

1. การให้การศึกษาอบรม  การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน จะต้องเน้นเรื่องการเสริมสร้างการเรียนรู้  จนกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 

ตนเอง  จะต้องสร้างลักษณะความเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้  มีศรัทธาว่า  ความรู้ทำให้สถานะภาพของตัวเองและโครงสร้างของสังคมเปลี่ยนไปได้  และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่จะแสวงหาความสำเร็จจากการมีความรู้

พ่อแม่ญาติพี่น้อง จะต้องคอยส่งเสริมยั่วยุให้เด็กเกิดลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ด้วยการให้กำลังใจ  แนะนำ  และช่วยเหลือในการหาแหล่งวิทยาการ  ในวัยเด็กพ่อแม่จะต้องพร้อมที่จะเป็นแหล่งวิทยาการของลูกด้วยการตอบคำถามของเด็ก

ครูอาจารย์ เป็นบุคลลสำคัญ ที่จะทำให้เด็กอยากเป็นผู้มีความรู้  เพราะครูเป็นผู้มีความรู้ และเด็กชอบเลียนแบบครู  ถ้าการสอนของครูไม่มีลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆที่ปฏิบัติได้จริง เด็กจะเสื่อมศรัทธา เมื่อศรัทธาหมดไป ความใฝ่ใจที่จะแสวงหาความรู้ก็หมดไปด้วย  เกิดความรู้สึกว่าคนที่มีความรู้กับคนที่ไม่มีความรู้นั้น หาได้มีความแตกต่างกันแต่ประการใดไม่

บรรยากาศในโรงเรียน  โรงเรียนจะต้องมีบรรยาการทางวิชาการ  มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆพร้อมมูล เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัตการวิทยาศาสตร์ ศูนย์ข่าวสารต่างๆ เป็นต้น

2. สภาพแวดล้อมทางสังคม  ที่ส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน จะมีลักษณะดังนี้

แหล่งข่าวสาร  ข่าวสารที่เด็กได้รับนั้น  ควรเป็นข่าวสารที่ยั่วยุใ้ห้เด็กมีลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน ยกย่องผู้มีความรู้  ซึ่งอาจจะแทรกอยู่ในนิทานสำหรับเด็ก หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนสื่อต่างๆ โดยการชี้นำให้เด็กเห็นว่า ลักษณะดังกล่าว มีผลดีต่อตนเองและประเทศชาติอย่างไร

ด้วยการให้รางวัล  สังคมจะต้องมีสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าสำหรับบุคคลในสังคมที่มีความรู้  ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม  หรือผู้ที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยหาความรู้ใหม่ๆ  หรือประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ที่ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ

ความมีระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม  การมีระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม แสดงถึงความก้าวหน้าทางการศึกษา การเป็นผู้มีเหตุผล และทำให้สมาชิกในสังคม  เกิดความรู้สึกว่าความรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่ก่อให้เกิดระเบียบ ใช้ได้ในชีวิตจริง

แนวทางดังกล่าว หากสังคมช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างจริงจัง    สังคมไทยก็จะกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเริ่มตั้งวัยเด็ก  แต่เป็นที่น่าเสียดาย  สังคมไทยกำลังก้าวไปแนวทางที่ผิดพลาด กำลังเป็นสังคมที่ยกย่องปริญญาบัตร  มากกว่ายกย่องผู้มีความรู้ที่แท้จริง อันเกิดจากการใช้การศึกษาไปแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ  ซึ่ีงแน่นอนว่าการได้ปริญญาบัตรโดยไม่มีความรู้ที่แท้จริง ย่อมไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด  กลับทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษาด้วยซ้ำไป
                                               ----------------------------------------------

                                                                           สาระคิด

                         คนมีการศึกษาน้อย ย่อมแก่เปล่า  เหมือนวัวที่มีกำลังมากแต่ไม่ได้ใช้งาน

                                                                                  พุทธสุภาษิต
                                                                ----------------------