วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

การจัดการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะประชากรที่มีการศึกษาสูงขึ้นจะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น มีทัศนคติและพฤติกรรมที่ทันสมัย

แม้ว่าการศึกษาจะมีความสำคัญดังกล่าว แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนว่า ทำให้เกิด"โรคประกาศนียบัตร(diploma disease)" ระบาดไปทั่ว ซึ่งเป็นการระบาดทั่วโลก

นอกจากนั้นยังพบว่า สถาบันการศึกษาได้ฝึกนักเรียนนักศึกษาให้ทำงานผิดประเภท และสร้างทักษะที่ไม่เหมาะสมกับตลาดแรงงาน เช่น ประเทศไนจีเรีย มีผู้จบการศึกษาในระบบโรงเรียนมากมายที่ว่างงานเพราะมีทักษะไม่เพียงพอ ส่วนทักษะที่เหมาสมต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

จากการศึกษาพบว่า จัดการศึกษาที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทรัยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิผล ประกอบด้วย

          1. สิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา เพื่อสนองความต้องการทางสังคมโดยเฉพาะในชนบทห่างไกล มีไม่เพียงพอกับความจำเป็น

          2. มีวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตรมากเกินไป

          3. หลักสูตรการศึกษาขาดวิทยาศาสตร์ประยุกย์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

          4. เน้นการลงทุนทางการศึกษาของรัฐบาลมากเกินไป

          5. การศึกษา เทคโนโลยี และตลาดแรงงานไม่ไปด้วยกัน

          6..การจัดการศึกษา มีลักษณะเป็นระบบราชการ และไม่ยืดหยุ่น

         7. การเรียนการสอนเน้นทฤษฎี ละเลยการปฏิบัติ

         8. มีการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามความต้องการของนักการเมือง

         9. เป็นการจัดการศึกษาที่เลียนแบบต่างประเทศ จัดโดยขาดข้อมูลของประเทศ

         10. ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการศึกษาประเภทต่างๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีส่วนแบ่งเพื่อการมัธยมศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา

และที่สำคัญยังพบว่า เป็นการจัดการศึกษาที่ขาดการวางแผนการใช้กำลังคน จนทำให้เกิดผลที่ตามมาในลักษณะต่อไปนี้

          (1) งานต่างๆต้องการผู้จบการศึกษาที่มีวุฒิบัตรสูงขึ้น เช่น งานธุรการ เดิมต้องการผู้จบชั้นมัธยมศึกษาก็พอ แต่ปัจจุบันนี้ต้องใช้ผู้จบปริญญาตรี ทำให้ผู้จบปริญญาตรี ซึ่งเดิมเป็นระดับการศึกษาสำหรับผู้มีตำแหน่งสูง ต้่องทำงานที่เหมาะสมกับระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น

          (2) การใช้ผู้มีวุฒิการศึกษาสูงเกินจำเป็น ทำให้ต้องมีการขยายการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีวุฒิบัตรสูงขึ้น

          (3) อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณทางการศึกษา เป็นการศึกษาที่ปริมาณนำหน้าคุณภาพ และเป็นการลดค่าวุฒิบัตรทางการศึกษาลงตามค่าที่ตลาดกำหนด

          (4) ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศมีการผลิตบัณฑิตในระดับอุดมศึกษาจนเหลือใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการทักษะ เช่น ในประเทศอินเดีย แม้แต่แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรก็ผลิตเหลือใช้ จนทำให้เกิดปัญหาว่างงาน การทำงานต่ำกว่าระดับ และอพยพย้ายถิ่น

 การจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าว นำไปสู่การขาดแคลนคนที่มีความรู้เพื่อการปฏิบัติการทางเทคนิคที่ซับซ้อน(know how) นักวิทยาศาตร์และวิศวกรสนใจอยู่กับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุดของประเทศพัฒนา เพราะไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นมาภายในประเทศ

ตลอดจนนำไปสู่การเกิดปรากฎการณ์นำเข้าและส่งออกบุคคลที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็น ที่มีความสามารถสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ อันมีผลมาจากการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในประเทศพัฒนา จนเสียดุลทางทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ยาก

นั่นคือ แม้ว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญ แต่หากไม่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่แท้จริงของประเทศ การศึกษาก็เป็นเพียงอุตสาหกรรมผลิตประกาศนียบัตร ก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศน้อยมาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                   การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์

*********************************************************************************






วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

ข้อควรพิจารณาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีทางการศึกษา

แม้ว่าการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่การศึกษาก็เป็นได้ทั้งพลังสร้างสรรค์หรือพลังทำลาย

การศึกษาสามารถพัฒนามนุษย์ให้มีทักษะที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์สำหรับการพัฒนา การศึกษาอาจช่วยเลือกผู้นำที่ส่งเสริมความก้าวหน้าหรือสร้างความหยุดนิ่ง การศึกษาอาจสร้างจิตใจที่มุ่งงานหรือมุ่งการพักผ่อน ตลอดจนการศึกษาอาจเพิ่มพลังให้มนุษย์หรือทำลายการริเริ่มก็ได้

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าได้นั้น จะต้องเป็นการศึกษาที่มีการวางแผนเป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพทั้งภายนอกและภายใน

และด้วยเหตุที่การศึกษาเป็นได้ทั้งพลังสร้างสรรค์หรือพลังทำลายดังกล่าวแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีการศึกษา จึงมีข้อที่ควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

1.การจัดการศึกษาในระบบจะเน้นคุณภาพหรือปริมาณ

ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บางครั้งจำเป็นจะต้องเลือกระหว่างการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน กับการจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและระดับมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพสูงสำหรับคนส่วนน้อยที่มีศักยภาพเป็นผู้นำ

หรือจะต้องเลือกระหว่างการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนจำนวนน้อยที่สอนด้วยครูที่มีคุณภาพ กับการสอนนักเรียนจำนวนมากด้วยครูที่ขาดคุณภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ความกดดันทางการเมืองและสังคม ทำให้ต้องเน้นปริมาณ ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเน้นคุณภาพของกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนา

2. การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือจะเน้นนิติศาตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์  

การเลือกระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับนิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษาเป็นความยากอย่างหนึ่งสำหรับประเทศที่ต้องการพัฒนาทุกระดับ

ในแทบทุกประเทศจะขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขาดแคลนครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนขาดแคลนผู้บริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ยุคนี้จะเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการพัฒนา แต่ประเทศก็ยังต้องการศิลปิน นักเขียน นักดนตรี นักกฎหมาย ตลอดจนนักประวัติศสาตร์เช่นกัน หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการเลือกระหว่างการศึกษาที่มีราคาแพงกับการศึกษาราคาถูกลงทุนน้อย

แต่ในความเป็นจริง สังคมและการเมืองมีแนวโน้มที่จะเน้นความสำคัญของศิลปศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เศรษฐกิจและการทหารต้องการที่จะเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า

3. การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะ จะเลือกการฝึกอบรมก่อนมีงานทำหรือการฝึกอบรมในระหว่างประจำการ 

การสร้างทักษะทางเทคนิค โดยเฉพาะระดับช่างฝีมือ ประเทศชาติจะต้องเลือกที่จะให้ความสำคัญด้วยการจัดการฝึกอบรมในระบบการศึกษา หรือจะผลักภาระให้กับสถาบันผู้จ้างงานที่จะร่วมมือกับองค์การแรงงานจัดการฝึกอบรม

ในความเป็นจริง การฝึกอบรมหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่จ้าง ไม่สามารถจะหนีความรับผิดชอบ ในการจัดการฝึกอบรมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งไปได้

ตามอุดมคติ บทบาทของโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษานั้น จะผลิตผู้มีการศึกษาอย่างกว้างๆ ที่พร้อมจะรับการฝึกอบรมต่อไป แต่การฝึกอบรมบ่างอย่าง โรงเรียนจะต้องจัดให้ก่อนที่จะทำงาน หรือเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน

การร่วมมือที่จะอบรมทักษะทางเทคนิค ควรเป็นความร่วมมือระหว่างนายจ้าง สหภาพแรงงาน และสถาบันการศึกษา

4. การสร้างสิ่งล่อใจจะต้องเลือกระหว่างความสำนึกเรื่องโครงสร้างของค่าจ้างและเงินเดือนกับการพึ่งพิงตลาดแรงงาน 

ทุกวันนี้ไม่มีประเทศใดที่สามารถพึ่งตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์ การสร้างสิ่งล่อใจจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนา ในบางกรณีพบว่า สถานภาพและการตอบแทนสำหรับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต่ำไป

เกือบทุประเทศ ครูมีเงินเดือนไม่เพียงพอกับความจำเป็น ค่าจ้างที่จ่ายให้ช่างเทคนิคไม่มากพอที่จะดึงดูดคนงานได้มากพอตามที่ต้อง

ด้วยเหตุนี้ ทุกประเทศจึงต้องกำหนดมาตรการในการจัดสรรกำลังคน มาตรการดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นรูปของการบังคับ จนถึงสิ่งจูงใจที่เป็นเงินและอื่นๆ

5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะพิจารณาถึงความจำเป็นของแต่ละบุคคลหรือความต้องการของรัฐ 

หรืออาจกล่าวอีกแย่างหนึ่งจะได้ว่า จะเลือกผลประโยชน์ของบุคคลหรือผลประโยชน์ของชาติ

ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การจะตอบว่ารัฐอยู่ได้ด้วยบุคคลหรือบุคคลอยู่ได้ด้วยรัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยุทธวิธีการพัฒนาทรัยากรมนุษย์ มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างเสริมเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และคุณค่าของมนุษย์ แต่มนุษย์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันสร้างเศรษฐกิจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเพื่อการดำรงชีวิตที่ได้มาตรฐาน ในขณะเดียวกันมนุษย์จะต้องได้รับการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ในทุกสังคมจะต้องมีประนีประนอม หรือผสมผสานระหว่างผลประโยชน์ของรัฐและของบุคคลเข้าด้วยกัน ซึ่งการผสมผสานนี้จะแตกต่างกันไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองและคุณลักษณะของสังคม

ความจำเป็นสำหรับยุทธวิธีของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือผลสำเร็จของการสร้างความสมดุลในการเลือกนโยบายมาปฏิบัติ ธรรมชาติของความสมดุลขึ้นอยู่กับเป้าหมายของสังคม ระดับของการพัฒนาและความเป็นผู้นำ

ประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการสร้งความสมดุล จะผลิตทรัพยากรมนุษย์ผิดประเภท มีการลงทุนการศึกษาที่ผิด ใช้สิ่งล่อใจที่ผิด และเน้นการฝึกอบรมที่ผิด 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

ไม่ควรมองว่าการศึกษาเป็นเพียงการบริโภค แต่ควรมองว่า เป็นการลงทุนเพื่อการผลิตด้วย เพราะประชากรที่มีการศึกษา ทำให้มีกำลังแรงาน ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

                                                                           Theodore Schultz

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561

ความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนามนุษย์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาประเทศ ความสำคัญของที่การพัฒนาอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ และการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากร

การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เป็นการพัฒนาเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่า่งปกติสุข ในระยะแรก แนวคิดนี้มองว่ามนุษย์เป็นผู้พัฒนา(subject)และผู้ถูกพัฒนา(object) โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาสังคม

เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาโดยเน้นความต้องการพื้นฐาน  การพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน และการพัฒนาที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีปรัชญาและเป้าหมายเหมือนกัน คือให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ แต่แตกต่างในรายละเอียด

ส่วนการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากร เป็นการพัฒนาเพื่อให้มนุษย์มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาในระยะแรกๆ แนวติดนี้มองว่ามนุษย์เป็นเครื่องมือ(means)ในการพัฒนา โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ

แนวคิดและวิธีการการพัฒนามนุษย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในอดีตอาจมีอาจมีความแตกต่างอยู่บ้างในแง่ที่ว่า แนวคิดการพัฒนาทรัพยากมนุษย์ถุกมองว่าละเลยการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ หรือถูกมองว่าละเลยมนุษย์ที่ไม่มีประโยชน์ในการผลิต ไม่สามารถทำงานได้ เช่น คนแก่ คนป่วย หรือ คนที่ด้อยโอกาส

แต่ในปัจจุบันถ้าพิจารณาถึงค่านิยมหรือความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการพัฒนมนุษย์ก็ดี การพัฒนาทรัพยากรมนุษยืก็ดี หรือการพัฒนาในแนวคิดใหม่ก็ดี การพัฒนามนุษย์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่มีความแตกต่างกัน

เพียงแต่ว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นการพัฒนามนุษย์เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาที่ดีมีคุณภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม แต่ทั้งนี้ไม่ได้ละเลยการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะถ้าหากมีการละเลยแล้ว มนุษย์ก็จะเป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ไม่มีประโยชน์มากนัก กลับก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอีกด้วย

ในส่วนของแนวคิดการพัฒนามนุษย์ ก็ยอมรับแนวคิดที่จะต้องพัฒนามนุษย์ให้เป็นเครื่องมือของการพัฒนามากขึ้น เป็นการพัฒนาที่มุ่งเสริมสร้างคุณภาพของมนุษย์ ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของยุคสมัย

ด้วยเหตนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า  เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนามนุษย์มี 2 แนวทาง คือการพัฒนามนุษย์ในฐานะผู้พัฒนา ผู้ถูกพัฒนา  และในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาไปพร้อมๆกัน

สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนามนุษย์กับการพัฒนาทรัยากรมนุษย์ สามารถกระทำได้ด้วยมาตรการต่อไปนี้

มาตรการแรก เน้นการลงทุนในเรื่องการศึกษาสุขภาพและทักษะของประชากร เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์ และการจ้างงาน

มาตรการที่ 2 มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่มีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม อัตราการเพิ่มของรายได้ประชาชาติจะลดลง

มาตรการที่ 3 ปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายทางสังคม โดยรัฐจะต้องจัดบริการทางสังคมมากขึ้น

มาตรการที่ 4 เพิ่มความมีอำนาจในตนในทุกเรื่องของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอำนาจในตนของสตรี

มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ใช้ร่วมกันเพื่อการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์และพัฒนามนุษย์ในฐานะที่มนุษย์เป็นทรัพยากร มาตรการดังกล่าวนี้ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมและสังคมกำลังพัฒนา เป็นมาตรการที่นำไปสู่การได้มนุษย์และทรัพยากรมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และการมีชีวิตที่สมบูรณ์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                 ความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม ขึ้นอยู่กับค่านิยมซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีอยู่

                                                                                      David McClelland

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

มนุษย์มีความสำคัญต่อการพัฒนา การพัฒนามนุษย์จึงมีความจำเป็น แนวคิดในการพัฒนามนุษย์มีหลากหลาย การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน

 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) ได้ให้ความหมายของการพัฒนามนุษย์ว่า เป็นการเพิ่มทางเลือกของมนุษย์ จริงอยู่แม้ทางเลือกของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ในการพัฒนาทุกระดับ มีทางเลือกที่จำเป็นมีอยู่ 3 ประการ คือการพัฒนาให้มนุษย์ มีชีวิตที่ยืนยาว มีสุขภาพดี  และมีความรู้ความสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ได้มาตรฐาน

เป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ จึงอยู่ที่การเพิ่มทางเลือกของมนุษย์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยเป้าหมายนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า

          1. การพัฒนามนุษย์จะต้องวางมนุษย์ไว้ที่ศูนย์กลาง

          2. จุดมุ่งหมายของการพัฒนา คือการเพิ่มทางเลือกของมนุษย์ ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มรายได้

          3. การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เกี่ยวข้องทั้งการสร้างสมรรถนะของมนุษย์ และการใช้สมรรถนะของมนุษย์อย่างเต็มที่

          4.การพัฒนามนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ ความยุติธรรม ความยั่งยืน ผลิตภาพ และความมีอำนาจในตน

          5.การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กำหนดให้มนุษย์เป็นเป้าหมายของการพัฒนา และมีการวิเคราะห์ทางเลือกที่เป็นไปได้

สำหรับองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ที่ใช้เป็นหลักในการพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ความยุติธรรม ความยั่งยืน ผลิตภาพ และความมีอำนาจในตน

                                                           ความยุติธรรม(Equity)

หากการพัฒนาเป็นการขยายทางเลือกให้กับมนุษย์ มนุษย์จึงต้องได้รับความยุติธรรมในโอกาส การพัฒนาที่ปราศจากควายุติธรรม เป็นการจำกัดทางเลือกของมนุษย์ในสังคม

ความยุติธรรมในโอกาส ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกับผลที่ได้รับ ความยุติธรรมในโอกาส ไม่ได้หมายถึงว่าจะมีทางเลือกหรือผลที่ได้รับคล้ายกัน หรือเหมือนกัน เพราะความยุติธรรมในโอกาสสามารถนำไปสู่การได้รับผลที่ไม่เท่าเทียมกันได้เสมอ และในการพัฒนามนุษย์ จะต้องยอมรับว่าความยุติธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง คุณค่าอยู่ที่ชีวิตมนุษย์ และไม่ได้มีคุณค่าเพราะมนุษย์มีความสามารถในการผลิตสินค้า แต่คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่มนุษย์แต่ละคนสามารถพัฒนาสมรรถนะได้สูงสุดหรือไม่ และใช้สมรรถนะได้ดีที่สุดในทุกเรื่องหรือไม่

                                                            ความยั่งยืน(Sustainability)

ความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ความยั่งยืนในที่นี้ หมายถึง ความยั่งยืนของทุนทุกรูปแบบ อันได้แก่ ทุนทางกายภาพ การเงินการคลัง และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ความคิดเรื่องความยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติไว้ทั้งหมด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็สามารถจะช่วยสร้างสิ่งทดแทนทรัพยากรธรรมชาติได้ และถ้าการทดแทนมีประสิทธิภาพ จะทำให้ทางเลือกของมนุษย์ในอนาคตมีความยั่งยืน

เราไม่จำเป็นจะต้องปล่อยให้โลกเป็นไปตามธรรมชาติเหมือนกับโลกที่เป็นอยู่ขณะนี้ทุกประการ เพราะนอกจากจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ยังไม่ตรงกับความหมายของความยั่งยืนอีกด้วย ความยั่งยืนเป็นความคิดรวบยอดที่เป็นพลวัตเพื่อให้เหมาะกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โลกที่หยุดนิ่ง สิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้คือโอกาสของชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ใช่ความยากลำบากของมนุษย์

                                                            ผลิตภาพ(Productivity)

องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ก็คือ ผลิตภาพ การจะให้มนุษย์มีผลิตภาพจำเป็นจะต้องมีการลงทุนในมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์มีศักยภาพสูงขึ้น

ประเทศในเอเซียตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ได้ส่งเหล็กและผลิตภัณฑ์ของเหล็กเป็นสินค้าออกได้อย่างไร ทั้งๆที่ทั้งสองประเทศไม่มีแร่เหล็กหรือถ่านหินเลย คำอธิบายก็คือว่า เป็นเรื่องผลิตภาพของมนุษย์และการลงทุนในมนุษย์ของทั้งสองประเทศอย่างมากมาย

มีการพัฒนามากมายที่เล็งไปที่ผลิตภาพของมนุษย์ บางตัวแบบยึดทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ แต่มองมนุษย์เป็นเพียงเครื่องมือการพัฒนา จึงไม่ใช่เป้าหมายของการพัฒนาตามกระบวนการพัฒนาโดยยึด
มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ที่มองผลิตภาพเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา แต่มีความสำคัญพอๆกับความยุติธรรม ความยั่งยืน และความมีอำนาจในตน

                                                           ความมีอำนาจในตน (Empowerment)

การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มุ่งที่การเลี้ยงดู การตั้งมูลนิธิ หรือการให้สวัสดิการ แต่มุ่งที่การพัฒนาให้มนุษย์มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนา

นโยบายที่แย่ที่สุดสำหรับคนยากจนหรือประเทศที่ยากจน ก็คือการทำให้มนุษย์ต้องอยู่ในความดูแลตลอดไป ซึ่งยุทธวิธีแบบนี้ไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มีความยั่งยืน

ความมีอำนาจในตน หมายถึง การที่มนุษย์อยู่ในฐานะที่จะเลือกได้อย่างอิสระตามความต้องการ มีระบอบ การเมืองแบบประชาธิปไตย ที่มนุษย์สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง มีการกระจายอำนาจ ตลอดจนความมีเศรษฐกิจเสรี

ความมีอำนาจในตนของมนุษย์ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนทางการศึกษาและสุขภาพ เพื่อว่ามนุษย์จะได้รับประโยชน์จากโอกาส การพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง จึงแตกต่างไปจากการพัฒนามนุษย์แบบอื่นๆ

กระบวนการพัฒนาโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง จะครอบคลุมถึงการพัฒนาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ งบประมาณหรือนโยบายการคลัง การประหยัด การลงทุน เทคโนโลยี บริการพื้นฐานของสังคม หรือการสร้างเครือข่ายเพื่อความปลอดภัยของคนยากคนจน แต่ต้องอยู่ภายใต้องค์ประกอบของความยุติธรรม ความยั่งยืน  ผลิตภาพ และความมีอำนาจในตน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคำ

การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สนองตอบความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปในอนาคต ต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขา ในการที่สนองความต้องการของเขาเอง

                                        คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา

*********************************************************************************




วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

การพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาประเทศมีหลายแนวทาง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นแนวทางที่ทำให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นระบบ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้พัฒนา และผู้ถูกพัฒนา ด้วยการยกระดับความสามารถของบุคคล เพิ่มสมรรถภาพในการผลิต ตลอดจนความสามารถที่จะสร้างสรรค์และเสริมสร้างความเป็นผู้นำ โดยวิธีการทางการศึกษา การฝึกอบรม และการวิจัย

การพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตั้งอยู่บนสมติฐานที่ว่า

           1. ในการพัฒนาประเทศ ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีมากที่สุด มีมากกว่าทรัพยากรอื่นๆ และส่วนใหญ่ถูกใช้ต่ำกว่าระดับ

          2. ทักษะ ความรู้ และสมรรถภาพของทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างไม่มีข้อจำกัด และประเทศส่วนมาก ได้พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติน้อยกว่าความเป็นจริง

          3. แม้จะขาดทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางกายถาพ ประเทศก็สามารถใช้กำลังคน เพื่อประโยชน์ในการผลิตและการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิผล

สำหรับเป้าหมาย ในการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย

          1. การใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมการผลิต  การพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์จึงต้องสอดคล้องกับกิจกรรมการผลิต หากสามารถผลิตสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ แสดงถึงการใช้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทะิผล การพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะเน้นความสำคัญของการใช้และการพัฒนาทักษะ ความรู้ และสมรรถภาพเพื่อการผลิตของทรัพยากรมนุษย์

          2. การลดการว่างงาน การลดการว่างงานเป็นการยกระดับการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคของผู้ยากไร้ในสังคม การเพิ่มรายได้ของแรงงานส่วนใหญ่ แมัเป็นแต่เพียงรายได้จำนวนเล็กน้อย ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

           3. การลดความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสและเพิ่มความมั่งคั่ง เป้าหมายข้อนี้หมายรวมถึง การมีสุขภาพดี และมีภาวะโภชนาการที่ดีด้วย

จะเห็นว่าการพัฒนาประเทศโดยยึดแนวทางการะัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการพัฒนาที่เน้นการพัฒนาทักษะ ความรู้ และสมรรถภาพของกำลังแรงงาน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาทรัยากรมนุษย์ก็มิได้ละเลยปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยยอมรับคุณค่าของการพัฒนาวัฒนธรรม การสร้างตวามสำนึกของชุมชน ตลอดจนบทบาทและอุดมการณ์สร้างชาติ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) มองว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความสัมพันธ์กับการศึกษา การฝึกอบรมและการใช้ศักยภาพของมนุษย์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มพลังให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพและโภชนาการ สิ่งแวดล้อม การจ้างงาน  รวมทั้งเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ปัจจัยทั้ง 5 ประการนี้ มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมีการศึกษาเป็นพื้นฐานของปัจจัยอื่นๆ

การศึกษาเป็นปัจจัยที่จำเป็น ต่อการปรับปรุงสุขภาพและโภชนาการ รักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงคุณภาพของแรงงานให้ดีขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มจากการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน ซึ่งจะมีผลผลักดันให้มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทำให้เกิดอุปสงค์อุปทานทางการศึกษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการขยายการศึกษาในลักษณะ "มากขึ้นแบบเดิมๆ (more of the same)" จะกลายเป็นการขยายการว่างงาน หรือการทำงานต่ำกว่าระดับของผู้การศึกษาได้เช่นกัน

เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องพัฒนาให้มนุษย์มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่พึงประสงค์ และมีความก้าวหน้าได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 และในการ การพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นจะต้องตระหนักเสมอว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                              สาระคำ

ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง ทักษะทั้งหมดของมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

                                                                                     UNESCO

*********************************************************************************