วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัย:เครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่

ในระบบเศรษฐกิจที่มีสารสนเทศเป็นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแหล่งของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทในฐานะที่เป็นแหล่งของผลิตภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน

แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาและวัฒนธรรมของแรงงาน และการเชื่อมโยงระหว่างทักษะทางการใช้ปัญญากับศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจยุคสารสนเทศเป็นเศรษฐกิจของโลก เศรษฐกิจของประเทศต่างๆขึ้นอยู่กับการติดต่อส่วนอื่นของโลก บนพื้นฐานของระดับการติดต่อสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานการผลิต และทักษะของแรงงาน

โรงงานอุตสาหกรรมแบบใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะสามารถดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อได้มีการพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสต์และระบบเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนรูปไปจากเดิม เนื่องจากการเพิ่มความสัมพันธ์ของตลาดนานาชาติและการปฏิวัติเทคโนโลยี ตลอดจนมีกระบวนการผลิตอันเกิดจาการค้นพบสิ่งใหม่ๆและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

จากรายงานของธนาคารโลก ยืนยันว่า โอกาสที่ประเทศต่างๆจะพัฒนาอย่างรวดเร็วมีมากกว่าในอดีต ทั้งนี้ เพราะการเชื่อมโยงกับนานาชาติในรูปของการค้า และการไหลของสารสนเทศประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง เกิดจากความก้าวหน้าและการลงทุนทางเทคโนโลยี ยา วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดเทคโนโลยีจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆมีกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ที่สามารถรับการสนับสนุนและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนา กล่าวคือ

          1. มีระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมที่เพียงพอ สามารถเชื่อมโยงกับระบบของโลก

          2. แรงงานมีทักษะ โดยช่างเทคนิค วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ มีความสามารถที่จะประยุกต์ใช้ทักษะของประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

          3. มีสถาบันวิจัย ที่สามารถรับสิ่งที่ค้นพบจากประเทศที่มีความก้าวหน้า และสามารถประยุกต์ใช้ได้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของประเทศ และค่อยๆเพิ่มความสามารถที่จะร่วมเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์กับนานาชาติ

         4. มีระบบสถาบัน ที่สามารถเชื่อมโยงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการใช้และการฝึกอบรมกำลังแรงงานในลักษณะของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ดังนั้น เพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะต้องผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี อันได้แก่ พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทักษะทางวิทยาศาสตร์และความสามารถที่จะเรียนรู้  มีกิจกรรมการวิจัยและการพัฒนาที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยงกระบวนการสร้างความรู้ทั่วโลก

การที่มหาวิทยาลัยจะเพิ่มบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีนำนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ตามความต้องการทางเศรษฐกิจ ที่ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีที่สำคัญต่อการส่งเสริมการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนมากมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เป็นความก้าวหน้าเชิงปริมาณ ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อการพัฒนาได้ แม้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะเก่งทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมได้

เพื่อให้มหาวิยาลัยได้รับการยอมรับว่า เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนา จะต้องเริ่มด้วยการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์วิชาการเพื่อการเรียนรู้และการวิจัย มีการให้การศึกษาทุกระดับทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา เปิดสาขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสต์ และวิทยาลัยการอาชีพชั้นสูง

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเน้นการวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยยกระดับการผลิตของประเทศ การวิจัยจะต้องเกี่ยวข้องทั้งเครือข่ายวิทยาศาสตร์ของโลกและความจำเป็นเฉพาะ ตลอดเจนโครงสร้างการผลิตของประเทศ

มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องมีหน่วยงาน ที่มีหน้าที่และความสามารถเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน เช่น ศูนย์สารสนเทศ โครงการการแลกเปลี่ยนนานาชาติ สำนักถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ตลอดจนเครือข่ายวิสาหกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งการการดำเนินการในลักษณะนี้ได้ มหาวิทยาลัยจะต้องมีอาจารย์และนักวิจัยที่มีคุณภาพชั้นยอด

กล่าวโดยสรุปจะได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจยุคสารสนเทศคือ สมองของมนุษย์และความสามารถที่จะเชื่อมโยงระหว่างสมองของสังคมนั้นๆกับสมองของโลก ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ เป็นหน้าที่อันสำคัญของมหาวิทยาลัย หากประเทศใด มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำภารกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

การดำเนินการของมหาวิทยาลัย หากไม่ผูกพันระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบวัฒนธรรมของ

ประเทศ มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ไร้ประโยชน์ต่อการพัฒนา

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ลักษณะที่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยควรจะมี

นักศึกษาที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย นอกจากจะมีความรู้และทักษะที่จำเป็นแล้ว อาเธอร์ ชิคเคอริง(Arthur Chickering) เห็นว่า ควรจะมีความเจริญเติบโตและมีวุฒิภาวะในทิศทางต่อไปนี้

1.การพัฒนาสมรรถนะ ได้แก่ สมรรถนะทางกาย ปัญญา จิตใจ และสมรรถนะทางสังคมที่จำเป็นต่อการเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะ

2. การจัดการกับอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารณ์ของตนเอง ในสถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มากระทบ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่รุนแรง ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศของนักศึกษาอื่น

3. การพัฒนาความเป็นอิสระ คือ ความสามารถในการกำหนดกฎเกณฑ์และระบบค่านิยมให้กับตนเอง ตลอดจนมีทักษะในการใช้ทักษะอย่างเป็นระบบ รู้จักกำหนดปัญหาและรูปแบบในการตัดสินใจ

4. การส่งเสริมเอกลักษณ์ คือ การเข้าใจถึงลักษณะทางกายภาพและเพศของตน ตลอดจนการสร้างลักษณะเฉพาะตนขึ้นมา

5.การเป็นอิสระในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หมายถึง การยอมรับ การอดทน ในการพัฒนาวุฒิภาว และสร้างความสัมพันธ์กับนักศึกษาและบุคคลอื่น

6. การพัฒนาความมุ่งหมาย เป็นการพัฒนาทิศทางการแสวงหาผลประโยชน์ และรูปแบบชีวิตของตนเอง

7. การพัฒนาบูรณาการ หมายถึง การสร้างความสอดคล้องระหว่างความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมส่วนบุคคล ให้มีลักษณะผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว

เหล่านี้ เป็นลักษณะที่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจะพึงมี นอกเหนือจากความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เพื่อการเป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

อย่างไรก็ตาม จากการให้คำปรึกษาแก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆของโลก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ พบว่า สภาพต่างๆเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ

          (1) ระบบมหาวิทยาลัยได้โดดเดี่ยวจากสังคม

          (2) มีการขยายมหาวิทยาลัยในเชิงปริมาณอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อคุณภาพของกระบวนวิชา

         (3) ทรัพยากรทางการศึกษาที่หายากอยู่แล้ว ยังกระจุกตัวอยู่ที่สาขาวิชาไม่กี่สาขาอีกด้วย

         (4) มหาวิทยาลัยได้สูญเสียการผูกขาดในการสร้างสรรค์ความรู้

         (5) นักวิทยาศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ได้อพยพไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม เพื่อแสวงหาสถานภาพที่ดีกว่า ทั้งเพื่อการทำงานและการวิจัย

นั่นหมายถึงว่า มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เกิดการแยกตัวจากสังคม คุณภาพต่ำ ไม่สามารถสร้างความรู้ใหม่ เพื่อบริการทางวิชาการแก่ชุมชน

ท้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่บ้างได้อพยพไปทำงานในประเทศอุตสาหกรรมที่ให้สถานภาพและบรรยากาศการทำงานที่ดีกว่า

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีสถาพดังกล่าว เป็นเรื่องยากที่นักศึกษาที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยจะมีความรู้ ทักษะ มีการเจริญเติบโต และมีวุฒิภาวะไปในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ จึงเป็นความจำเป็นอันดับแรกที่มหาวิทยาลัยจะต้องแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตกำลังคนได้ตามที่สังคมต้องการ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

            การพัฒนาไปสู่ความพอใจของผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา ผู้ปกครองนักศึกษา ศิษย์เก่า
            อาจารย์ หรือนายจ้าง เป็นเป้าหมายเบื้องต้น ที่จะทำให้เกิดคุณภาพในมหาวิทยาลัย

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

อำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย

ความเป็นอิสระ(autonomy) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อบทบาทการทำงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ ความเป็นอิสระขององค์การ ความอิสระทางวิชาการ และความอิสระทางการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม ความมีอิสระดังกล่าวนี้จะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล มิฉะนั้น การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจะโดดเดี่ยว ไม่ผูกพันกับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศ  มีผลทำให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ผลที่สุด มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะว่างงานของผู้มีการศึกษา

การทำงานของมหาวิทยาลัย นอกจากจะต้องทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม จะต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังจะต้องมีความโปร่งใส สามารถเข้าไปตรวจสอบได้(accountability)

ด้วยเหตุนี้ การบริหารมหาวิทยาลัยจึงต้องมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย คำถามจึงมีว่า ใครควรมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบจะมีความแตกต่างกันไป

คำตอบหนึ่งมีว่า ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์(interest) ส่วนอีกคำตอบหนึ่งเห็นว่า ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารควรเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุน(contribution)มหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อรวมคำตอบทั้งสองเข้าด้วยกัน จะได้ว่า ผู้ควรมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย ควรประกอบด้วย "ผู้ได้รับผลประโยชน์" และ "ผู้ให้การสนับสนุน"มหาวิทยาลัยนั่นเอง

เบอร์ตัน คลาร์ค (Burton Clark) และ เทด โยน(Ted Youn) ได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับว่า ใครควรมีอำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย และได้ผลสรุปว่า  โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการหรือผู้บริหารสถาบันมีอำนาจมากที่สุด ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลมีอำนาจบริหารเท่ากับคณะวิชาหรือคณาจารย์ ส่วนในสหราชอนาจักร คณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจมากที่สุด

แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อำนาจการบริหารได้เปลี่ยนไป การบริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมีอำนาจเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหรือผู้บริหาร คณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจลดลง แต่โดยภาพรวมแล้วคณะกรรมการหรือผู้บริหารมีอำนาจมากที่สุด ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ คณะกรรมการหรือผู้บริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้น ส่วนรัฐบาลและคณะวิชาหรือคณ่จารย์มีอำนาจลดลง โดยภาพรวมคณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจมากที่สุด ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยในสหราชอณาจักร รัฐบาลและคณะกรรมการมีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยคณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจลดลง โดยภาพรวมแล้ว รัฐบาลมีอำนาจมากที่สุด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การบริหารมหาวิทยาลัยในยุโรปแผ่นดินใหญ่ ได้ลดอำนาจของรัฐบาลลง ในสัดส่วนค่อนข้างมาก แต่ในสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มอำนาจรัฐบาลในสัดส่วนที่มาก ในขณะที่ลดอำนาจคณะวิชาหรือคณาจารย์ลงมากเช่นกัน ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่มากนัก ส่วนอำนาจของคณะวิชาหรือคณาจารย์มีน้อยที่สุดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงระยเวลาในการใช้อำนาจเพื่อการบริหารมหาวิทยาลัย อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะแรก มหาวิทยาลัยมีขนาดเล็ก โครงสร้างและทรัพยากรไม่ซับซ้อน อาจารย์ทำหน้าที่สอนและอยู่ในระบบโดยยึดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

ระยะที่สอง มหาวิทยาลัยมีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐบาลเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหาร

ส่วนระยะที่สาม เป็นสถานการณ์บริหารในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งได้ 2 รูปแบบย่อย คือ

          1) รูปแบบที่มุ่งตลาด เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างจะมีอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล อำนาจการบริหารและความรับผิดชอบอยู่ที่มหาวิทยาลัยและผู้นำของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีอำนาจมากที่สุด

          2) รูปแบบที่อำนาจและความรับผิดชอบในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆอยู่ที่รัฐบาลและคณกรรมการของมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย มากกว่าผู้บริหารหรือผู้นำของมหาวิทยาลัย

อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบแรกเป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ส่วนรูปแบบหลัง เป็นรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ในหลายประเทศ

นั่นคือ ในการบริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารหรือสภามหาวิทยาลัยควรประกอบด้วย ผู้ได้รับประโยชน์ และผู้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยจะมีอิสระได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ระยะเวลา ขนาด และ สถานการณ์  แต่ความมีอิสระจะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล และที่สำคัญกว่าการมีอิสระในการบริหาร ก็คือการดำเนินงานมหาวิทยาลัยจะต้องผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็จะเป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ไม่มีประโยชน์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                           ความเป็นอิสระ หากใช้อย่างไม่มีขอบเขต จะนำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบ                   

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

นาถกรณธรรม 10 หลักธรรมที่ใช้ปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเอง

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีลักษณะเป็นเหตุผลนิยม อเทวนิยม และปฏิบัตินิยม เป็นศาสนาที่สอนให้คนเชื่ออย่างมีเหตุผล พิสูจน์ได้ ไม่เชื่อว่าเทพเจ้าจะมีอำนาจเหนือการกระทำของมนุษย์ และความสำเร็จต่างๆเกิดจากการปฏิบัติตน ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน 

นั่นคือ ความสำเร็จหรือความสมหวังทั้งหลายเกิดจากการกระทำของตนเอง ไม่ได้เกิดจากสิ่งศักดิสิทธื์หรือเทพเจ้าองค์ใด

สำหรับหลักธรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงนำไปปฏิบัติแล้วสามารถพึ่งตนเองได้ หรือหลักธรรมที่ปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเอง คือ นาถกรณธรรม ซึ่งมี 10 ประการ ได้แก่

          1. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย มีความประพฤติดี ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น

          2. พาหุสัจจะ คือ การได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มีข้อมูลมาก

          3. กัลยาณมิตตตา  คือการมีเพื่อนดี รู้จักคบคนดี

          4. โสวจัสสตา คือ การเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำ

          5. กิงกรณีเยสุ ทักขตา คือ การเป็นผู้มีความขยัน มีความเอาใจใส่ขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรองจนสามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย

          6. ธัมมกามตา คือ มีความใคร่ในการปฏิบัติธรรม ชอบแสวงหาความจริง

          7. วิริยารัมภะ  คือ วิริยะ มีความเพียร ขยัน จิตใจเข้มแข็ง สู้กิจสู้งาน มีความรับผิดชอบ

          8. สันตุฏฐี คือ ความสันโดษ  มีความพอใจด้วยของๆตน รู้จักพอ ไม่ฟุ้งเฟ้อ

          9. สติ คือ ความระลึกได้ มีสติมั่นคง คุมตัวเองได้ รอบคอบ ไม่ประมาท ทันต่อเหตุการณ์

          10 ปัญญา คือ ความรอบรู้ มีปัญญาเหนืออารมณ์ มีปัญญาเป็นที่พึ่งของตน

นาถกรณธรรม นี้ เป็น พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณความดีทั้งหลายที่ก่อประโยชน์แก่ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้สำเร็จอย่างกว้างชาง

ธรรมะทั้ง 10 ประการนี้ แต่ละข้อล้วนสร้างที่พึ่งให้แก่ผู้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้หลายข้อ หรือทั้ง 10 ข้อ ก็จะยิ่งสร้างที่พึ่งให้ตนเองได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใครอื่น ฉะนั้น ผู้ใดที่อยากจะเป็นบุคคลที่พึ่งตนเองได้ จะต้องปฏิบัติตามนาถกรณธรรม 10 อย่างจริงจัง แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                        มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก

                                                                                                 พุทธสุภาษิต

*********************************************************************************