วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การศึกษาคืออะไรกันแน่

คำว่า"การศึกษา" ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Education" นั้นมีความหมายที่กว้างมาก และยากที่จะให้ความหมายที่ชัดเจน

นักการศึกษาและนักปรัชญาแต่ละท่าน นับตั้งแต่โสเครตีส(Socrates)จนถึงปัจุจบัน ได้ให้ความหมายการศึกษาแตกต่างออกไปตามปรัชญาชีวิตของคนเหล่านั้น ผลก็คือ ทำให้ความคิดรวบยอดและความหมายของการศึกษามีความหลากหลาย

มีบางคนมองว่า การศึกษานั้นเปรียบเหมือนเพชรที่เจียรนัยแล้ว ซึ่งจะมีสีต่างกันเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกัน

หรือบางคนเปรียบเทียบว่าเหมือนคนตาบอดคลำช้าง คลำไปเจอส่วนไหนก็อธิบายบอกเล่า ให้ความหมายกับลักษณะที่ตนได้คลำเจอมา

พูดง่ายๆ ทุกคนไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ พระภิกษุ นักปรัชญา นักจิตวิทยา รัฐบุรุษ ครูอาจารย์ คนดูแลร้าน พ่อค้า และศิลปิน ต่างก็มีความหมายของการศึกษาเป็นของตนเอง เป็นความหมายที่ได้มาจากทัศนะอันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตตนเองและจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในแวดวงที่จำกัด

ตัวอย่างต่อไปนี้ แสดงถึง ความแตกต่างของทัศนะที่มีต่อความหมายของการศึกษา ของบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ต่างกัน กล่าวคือ

จอห์น ดิวอี้(John Dewey) นักการศึกษาชาวอเมริกัน ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ดังนี้
          การศึกษา คือชีวิต  เป็นการมองว่าการศึกษากับชีวิตเป็นของคู่กัน ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ตราบนั้นจะต้องมีการศึกษา
          การศึกษา คือความเจริญงอกงาม เป็นการมองการศึกษาในแง่ของผลที่ได้รับ  คนที่มีการศึกษาย่อมมีความเจริญเติบโตทั้งทาง ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
          การศึกษา คือการสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่ชีวิต  หมายถึง การศึกษาจะต้องจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี
          การศึกษา เป็นกระบวนการทางสังคม ที่ช่วยให่บุคคลเข้าใจตนเองและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ เป็นความเข้าใจชีวิตและสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่เพื่อชีวิตในอนาคต

ไนเยเรเร(Nyerere) อดีตประธานาธิบดีแห่งแทนซาเนีย ซึ่งเป็นนัการเมือง ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือ การเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรก็ได้ ที่ช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เรามีชีวิตอยู่ การเรียนรู้วิธีการที่ช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนและใช้สภาวะแวดล้อมเพื่อปรับปรุงตัวเราเอง การศึกษาจะต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในพลเมืองแต่ละคน 3 ประการ คือ มีจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากคนอื่น และเป็นสมาชิกที่เท่าเทียมกันของสังคม

ชูลทซ์(Schultz) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือ กิจกรรมการการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดความสามารถที่มีประโยชน์ สำหรับความสามารถที่มีประโยชน์นั้น ชูลทซ์อธิบายว่า หมายถึงความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

ยอร์จ ดี สปินด์เลอร์(George D. Spindler) นักมานุษยวิทยา มีความเห็นว่า การศึกษาคือ กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยความชำนาญด้านต่างๆ ความรู้ต่างๆ ทัศนคติต่างๆ ค่านิยมต่างๆ และรูปแบบของพฤติกรรมต่างๆ หรือการศึกษาก็คือ การทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรมนั่นเอง

นักการศึกษาไทย ดร.สาโรช บัวศรี ได้ให้ความหมายการศึกษาว่า การศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ห้า อันประกอบด้วย รูป คือ ร่างกาย เวทนา คือ ความรู้สึก สัญญา คือความจำ สังขาร คือ ความคิด และวิญญาณ คือ ความรู้ การพัฒนาขันธ์ห้า ก็เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้ และเพื่อขจัดตัณหา อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง

ทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ความเข้าใจและนิยามการศึกษาแตกต่างกันนั้นเกิดจาก ธรรมชาติของบุคลิกภาพของมนุษย์มีความซับซ้อน  การที่มนุษย์มีปรัชญาชีวิตที่แตกต่างกัน การมีทฤษฎีและการปฏิบัติทางการศึกษาที่แตกต่างกัน การมีค่านิยมที่แตกต่างกัน และความซับซ้อนของสภาวะแวดล้อมของมนุษย์ นั่นเอง

ฉะนั้น ความหมายของการศึกษาที่แต่ละคนให้ไว้ จึงเป็นเพียงความหมายหนึ่งเท่านั้น และเป็นการยากที่จะทำให้การศึกษามีความหมายเดียว เพราะการทำให้การศึกษามีความหมายเดียวนั้น ยากพอๆกับการหาโปรแกรมการศึกษาที่ถูกต้องและดีที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                            สาระคิด

                     การปฏิรูปการศึกษาที่เกิดจากความคิดของผู้มีอำนาจ
                ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่แท้จริง นำไปสู่ความล้มเหลว

*****************************************************************



.

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บทคัดย่อปริญญานิพนธ์เรื่อง วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย*

การวิจัยนี้ มีความมุ่งหมายสำคัญที่จะศึกษาองค์ประกอบเชิงมนุษย์ของคนไทย เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงาน อันจะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ตลอดจนสามารถนำผลที่ได้ไปใช้เป็นหลักการและแนวทางในการจัดการศึกษาอบรม ส่งเสริมให้คนไทยมีวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาเหล่านั้นยิ่งขึ้น การวิจัยนี้ได้กำหนดปัญหาเชิงวิจัยไว้ 4 ข้อ คือ

     1.คนไทยมีแนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการทำงานอย่างไร

     2.คนไทยมีค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานอย่างไร

     3.คนไทยมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการทำงานอย่างไร

     4.ในวัยเด็กคนไทยได้รับการฝึกอบรมเพื่อการทำงานอย่างไร

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนี้ เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 210 ชื่อเรื่อง ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลที่ได้นำมาหาความถี่ ค่าร้อยละ และการทดสอบค่าไค-สแควร์

ผลการวิจัย สามารถสรุปเพื่อตอบปัญหาเชิงวิจัยได้ดังนี้

          1.คนไทยมีแนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการทำงานดังนี้
                  1) การทำงานและการหาความสนุกเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้
                  2) การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเอาชนะสภาวะแวดล้อมเป็นการกระทำที่เป็นไปได้ยาก
                  3) การทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
                  4) การสะสมทรัพย์อันหามาได้จากการทำงานไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ

           2. คนไทยมีค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานดังนี้
                  1) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ
                  2) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
                  3) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องเสี่ยง
                  4) ต้องการทำงานที่มีอิสระ

            3. คนไทยมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการทำงานดังนี้
                  1) ไม่มีการวางแผนในการทำงาน
                  2) มีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว
                  3) ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
                  4) ไม่มีวินัยในการทำงาน

            4. ในวัยเด็กคนไทยได้รับการฝึกอบรมเพื่อการทำงาน ดังนี้
                  1) ไม่ได้ฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง
                  2) ไม่ได้รับการอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ

จากผลการวิจัยนี้ สามารถให้ข้อเสนอแนะได้ว่า การพัฒนาวัฒนธรรมของคนไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะต้องมีการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานตั้งแต่วัยเด็ก โดยเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการนี้โดยเฉพาะ
--------------------------------------------

*ไพศาล ไกรสิทธิ ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต    สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโวฒ
สนใจรายละเอียดหาอ่านได้ที่ http://PaisarnKr.blogspot.com

*****************************************************************

                                                      สาระคิด

มีสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากและขอเสนอไว้ในวันนี้คือ คุณไพศาล ไกรสิทธิ์ ได้ทำการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดมากในวงการศึกษาของเรา เพราะถ้าเราไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนในชีวิต ไม่มีวิธีการที่จะทำงานให้ถูกต้องแล้ว ประเทศชาติของเราจะไปรอดหรือ

                                                                           บรรจง ชูสกุลชาติ
                                                                    อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สถาบันการศึกษาจะฝึกอบรมเด็กไทยให้รู้จักการทำงานได้อย่างไร

สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน ให้เป็นผู้มีความรู้ และทักษะ เพื่อการทำงาน มากกว่าสถาบันใดๆในสังคม

สถาบันครอบครัว ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญแต่เดิมนั้น ปัจจุบันนี้ไม่อาจสร้างประสบการณ์ ทักษะการทำงาน ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป ภาระอันนี้จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

แต่พบว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการผลิตคนเพื่อการทำงานได้ทุกประเภท มีความสามารถเฉพาะการผลิตคนเพื่อทำงานนั่งโต๊ะ และเป็นผู้ทำงานนั่งโต๊ะที่ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน เนื่องจากสถาบันการศึกษาได้สร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องให้กับผู้เรียน

ดังน้้น เพื่อเป็นการฝึกอบรมเด็กไทบให้รู้จักการทำงาน สถาบันการศึกษาจะต้องปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่ ให้เป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการทำงาน โดยใช้แนวทางและวิธีการดังนี้

หลักสูตร ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทุกระดับชั้น ปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ ไม่เกิดความรู้สึกแปลกแยกเมื่อจบการศึกษา ตลอดจนเป็นการช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนไปใช้ได้จริง

ผลที่ได้จากการปรับปรุงหลักสูตรในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและรักท้องถิ่นของตนแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นช่องทางที่จะประกอบอาชีพต่อไปภายหน้าอีกด้วย

ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ควรมมีหลักสูตร "การศึกษาเพื่อการทำงาน" เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับโลกของการทำงาน สร้างแนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างจริยธรรมของการทำงานไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพื่อการทำงาน มิได้มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน แต่ต้องการให้ผู้เรียน เห็นคุณค่า และความสำคัญของการทำงาน รักงาน และเห็นช่องทางการทำงานที่จะทำเพื่อเลี้ยงชีวิตในภายหน้า

การเรียนการสอน ควรเปลี่ยนวิธีสอนจาการบอก เป็นการให้เด็กปฏิบัติจริง ให้เด็กมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ควรลดการป้อนเนื้อหา ทุกๆวิชาจะต้องมีการปฏิบัติควบคู่ไปด้วยเสมอ การวัดผลการศึกษาจะต้องวัดทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป การเรียนการสอนควร"เสนอแนวปฏิบัติ" มากกว่า"ห้าม"

การฝึกงาน ถ้าเป็นไปได้ทุกโรงเรียนควรมีโรงฝึกงาน เป็นโรงฝึกงานที่เหมาะกับระดับชั้นของผู้เรียน ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทำงาน เป็นโรงฝึกงานที่มีเครื่องมือครบครัน และมีมากพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกงานอย่างทั่วถึง

นอกจากนั้น ควรมีระบบการฝึกงานให้ผู้เรียนได้ออกไปฝึกงานในโรงงานหรือสถานประกอบการในฐานะลูกมือ ทั้งนี้เพื่อจะได้สัมผัสชีวิตการทำงานที่แท้จริง และ ถ้าเป็นโรงเรียนในชุมชนที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก ก็ควรให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานในท้องไร่ท้องนาจริงๆ

ครู ต้องยอมรับความจริงว่ามีครูจำนวนมาก ที่สร้างทัศนคติไม่ถูกต้องให้กับผู้เรียน ครูจึงควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยม เกี่ยวกับการทำงานเสียใหม่ เพราะหากครูมีความคิดแบบดั้งเดิม ย่อมยากที่จะเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของนักเรียน

นอกจากนั้น ครูควรได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับ"การศึกษาเพื่อการทำงาน" ทั้งนี้เพื่อให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ของวิชา

การแนะแนวอาชีพ จะต้องจัดให้มีทุกระดับการศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เห็นช่องทางการทำงาน ตลอดจนมีข้อมูลเพียงพอ ที่จะช่วยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับการแนะแนวอาชีพในปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารเท่าที่ควร การดำเนินการจึงขาดงบประมาณ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การจัดบริการแนะแนวให้มีประสิทธิผลก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้เด็กสนใจการทำงานมากขึ้น

มหาวิทยาลัย นอกจากจะเปิดสอนคณะวิชาให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนที่ถึงพร้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างมีคุณภาพแล้ว ควรจะมีหน่วยงานเพื่อการวิจัยและพัฒนาการทำงาน  ทำหน้าที่วิจัยเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมการทำการทำงานของคนไทย ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เป็นการวิจัยเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพก็ได้ และผลการวิจัยควรได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง มีระบบและมีความสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานต่อไป

แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อให้เด้กไทยรู้จักการการทำงานดังที่กล่าวมา จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกระดับ ตั้งแต่ ครู ผู้ปกครอง  ผู้บริหารการศึกษา และรัฐบาล เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา จากการเรียนเพื่อเรียนต่อสูงขึ้น เป็นเรียนเพื่อการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความคิดความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมการทำงาน ที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยน้ำมือของคนไทย
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

ระบบการประถมศึกษา มีส่วนสร้างความรู้สึกรังเกียจการใช้แรงกายอย่างชัดเจน ไม่มีงานปฏิบัติในโรงเรียนประถมศึกษา หรือเรียนรู้ทักษะชนิดที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียน ภายหลังที่ออกจากโรงเรียน หลักสูตรเน้นวิชาการมากเกินไป ไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิบัติ
                                                                                                                                                                                             นิโคลัส เบนเนตต์
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ครอบครัวจะฝึกอบรมเด็กไทยให้รู้จักการทำงานได้อย่างไร

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางบุคลิกภาพของเด็กมาก ลักษณะของพ่อแม่ทั้งในทางดีและไม่ดี จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังตัวเด็ก โดยผ่านการอบรมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เกี่ยวกับการทำงานก็เช่นกัน ชีวิตภายในบ้านเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์การทำงานให้แก่คนในวัยเด็ก การให้เด็กมีประสบการณ์และคุ้นเคยกับการทำงาน เด็กจะได้รับการปลูกฝังค่านิยม และนิสัยการทำงานโดยไม่รู้ตัว

ฉะนั้น ถ้าต้องการให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยม และนิสัยการทำงานที่ดี ควรเริ่มให้การศึกษาอบรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มที่ครอบครัว

แต่จากการวิจัย*พบว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง พ่อแม่จะแสดงความรักลูกด้วยการช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ยอมให้ลูกทำอะไร ถนอมลูกเกินไป ไม่ยอมให้ลูกลำบาก

ซึ่งการอบรมในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เด็กจะไม่สามารถจะทำงานช่วยตัวเองได้แล้ว ยังทำให้เด็กมีลักษณะมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ยอมผุกพันตัวเองกับกฏเกณฑ์ของสังคมอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เด็กมี แนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม เอื้อต่อการพัฒนา ครอบครัวควรจะมีการฝึกอบมเด็กไทยในลักษณะต่อไปนี้

อบรมเลี้ยงดูเด็กให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยตัวเอง งานใดที่เด็กทำได้ก็ให้เด็กทำ อย่าช่วยเหลือเด็กจนเด็กทำอะไรไม่เป็น อบรมให้เด็กรู้จักทำงานที่เป็นภาระหน้าที่ของตน เช่น รู้จักเก็บรักษาสิ่งของเครื่องใช้ของตน ซักรีดเสื้อผ้า จัดเก็บที่หลับที่นอน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การจะให้เด็กทำงานเพื่อช่วยตัวเองในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัยของเด็กด้วย การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ จะช่วยใหเด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่คิดที่จะพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

ฝึกอบรมเพื่อเดรียมตัวประกอบอาชีพ ความจริงการให้ความรู้และทักษะเพื่อการทำงานนั้น สถาบันครอบครัวไม่อาจจะทำหน้าที่ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงานได้ทุกเรื่อง

การฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพในที่นี้ จึงเป็นเพียงการสร้างความคิด ความเชื่อ และค่านิยม เกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสม เช่น ให้เด็กมีแนวความคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ผู้ทำงานสุจริตทุกชนิดเป็นผู้มีเกียรติ มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จถ้ามีความพยายาม การทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นต้น

 ขณะเดียวกันก็ฝึกอุปนิสัยของผู้ทำงานที่ดี ให้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพในปัจจุบัน รู้จักการหางานทำ รู้จักใช้จ่ายเงินที่หามาได้ ฯลฯ

สำหรับประสบการณ์ในการทำงาน ควรเริ่มด้วยการให้เด็กทำงานง่ายๆจนถึงงานที่ยาก และเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานทุกชนิด

การให้เด็กทำงานนั้น อย่าให้เด็กทำเพราะเป็นการแบ่งเบาภาระ แต่ให้เด็กทำเพื่อการฝึกงาน ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เด็กทำงาน จึงต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำด้วยเสมอ

การอบรมเลี้ยงดูเด็กไม่ควรตามใจหรือ"โอ๋"เด็กมากเกินไป จะทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญเหนือคนอื่น ฉะนั้น อย่ากลัวเด็กลำบาก อย่ามุ่งแต่จะสร้างความพอใจให้แก่เด็กเป็นสำคัญ เพราะลักษณะการเลี้ยงดูเช่นนั้น เป็นการทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ไม่ยึดถือระเบียบกฏเกณฑ์ ไม่ยอมผูกพันตนเองเพื่อรับผิดชอบสังคม ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยิ่ง

หลีกเลี่ยงการกระทำหรือการชี้แนะที่ทำให้เด็กมีความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น เชื่อในเรื่องโชคชตา  อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ เรื่องอำนาจบุญกรรมแต่ปางก่อน ฯลฯ เพราะความเชื่อในลักษณะเช่นนั้น มีผลทำให้เด็กเชื่ออำนาจภายนอกมากกว่าที่จะเชื่อในความสามารถของตนเอง(self-reliance) คนที่เชื่อในอำนาจภายนอกมักจะมีบุคลิกภาพเฉื่อย(passive) ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของบุคคลและสังคม

ด้วยเหตุที่ครอบครัวไทยไม่ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมในลักษณะที่กล่าวมา เด็กไทยจึงโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ และหากครอบครัวไทยยังคงมีการอบรมเด็กแบบเดิมๆ ก็เชื่อได้ว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคนต่างชาติอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ดังที่เริ่มปรากฎให้เห็นเป็นตัวอย่างบ้างแล้วในปัจจุบัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ ข้อมูลการวิจัย*จาก: วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ ของไพศาล ไกรสิทธิ์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                             สาระคิด

                  เด็กไทยไม่ได้รับการสอนให้พึ่งตนเองตามประสาเด็ก
           แต่ค่อนข้างจะสอนให้พึ่งคนอื่น เพื่อสนองความต้องการของตน

                                                                        Niels  Mulder
*****************************************************************