วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(2)

ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาไทยว่า การอุดมศึกษาไทยเริ่มต้นก่อน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลี แต่มหาวิทยาลัยต่างๆยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพที่จำเป็น

สำหรับสภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย ในทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา มีดังนี้

1. วิกฤตการณ์คุณภาพการศึกษา คุณภาพการศึกษาเน้นเนื้อหาวิชาการมากกว่าการสร้างวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์มาตลอด และยิ่งมีจำนวนนักศึกษามากขึ้น คุณภาพการศึกษายิ่งด้อยลงไปอีก และมีแนวโน้มจะด้อยมากขึ้น บัณฑิตมีความเข้มข้นทางวิชาการต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขาดควาสามารถในการแสวงหาความรู้ใหม่ด้วยตนเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

          1.1 มหาวิทยาลัยของไทยตั้งขึ้นในลักษณะมหาวิทยาลัยสอนเป็นหลัก
          1.2 การขยายตัวเชิงปริมาณเกิดขึ้นมาก และรวดเร็วกว่าการเพิ่มของทรัพยากรและประสิทธิภาพของระบบ

          1.3 ปรัชญาการศึกษาแคบและคลาดเคลื่อน เห็นมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียน เน้นเฉพาะวิชาและการเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก การศึกษานอกหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆถูกละเลย

2. มหาวิทยาลัยของรัฐได้รับเงินอุดหนุนน้อยเกินไปอย่างเรื้อรัง เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน  งบประมาณในการดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการพัฒนามีจำกัด จนการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก

          2.1 รัฐและสังคมยังเข้าใจอุดมศึกษาคลาดเคลื่อน โดยคิดว่าเป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่ทำหน้าที่สอนเป็นหลัก

          2.2 ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสำนักงบประมาณ ไม่ได้สร้างแนวคิดของการอุดมศึกษาที่ถูกต้องอย่างเข้มแข็งพอ สร้างมหาวิทยาลัยใหม่เพิ่มขึ้น จนละเลยมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เดิม

          2.3 ระบบสถาบันอุดมศึกษาไม่มีเอกภาพ ในหลายกรณีที่ขัดแย้งกันเอง

          2.4 มหาวิทยาลัยมีความอ่อนแอภายใน เนื่องจากมีความขัดแย้งและขาดความสามัคคี ประกอบกับระบบสรรหาผู้บริหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเลือกตั้ง

          2.5 อาจารย์นักวิชาการมีความคิดหลากหลาย ขัดกันเอง ไม่มีเอกภาพ เป็นกลุ่มพลังที่ไม่เป็นปึกแผ่น บางกรณีอาจารย์เรียกร้องกันมากเกินไป จนอาจทำให้เห็นว่าเป็นการมุ่งประโยชน์ส่วนตน

          2.6 นิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีพลัง แต่มองคุณภาพการศึกษาที่พึงประสงค์ไม่ออก หรือไม่กล้าที่จะเรียกร้องเกี่ยวกับการศึกษาของตน ระบบทุนการศึกษาและการช่วยเหลืออยู่ในวงจำกัดไม่ทั่วถึง

3. วิกฤตการณ์ด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการแต่กำลังขาดแคลนนักวิชาการ เพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษานักวิชาการไว้ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสติปัญญาดีให้เข้ามาเป็นอาจารย์ได้ สภาพของอาจารย์ที่เสื่อมถอยลงเป็นเหตุให้การบริหารงานบุคคลเสื่อมถอยลงไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้เงินตอบแทนต่ำ เน้นการสอนเป็นหลัก ตลอดจนขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ ขาดการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิชาการ

4. ระบบบริหารที่ด้อยประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุมาจากความอ่อนแอและความเสื่อม ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆต่อไปนี้

          4.1 การบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบที่ดีในการกำกับคุณภาพ  มีการรวบอำนาจมากกว่ากระจายอำนาจและหน้าที่ไปยังภาควิชาและสาขาวิชา ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่อธิการบี คณบดี ผู้อำนวยการหน่วยงาน ตลอดจนหัวหน้าภาควิชา ไม่สามารจัดการหรือกำกับดูแลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ

          4.2 การบริหารการเงิน ด้วยระเบียบการเงินของของราชการ ทำให้การจ่ายเงินไม่มีควาามคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ ข้าราชการและผู้บริหารมุ่งปฏิบัติตามระเบียบเพื่อปกป้องตนเอง ผู้บริหารระดับต่างๆขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารการเงิน

          4.3 การบริหารงานบุคคล มีการบริหารงานบุคคลที่ด้อยคุณภาพและประสิทธิภาพ

ทั้งหมดเป็นทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดี ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัยไทย จะเห็นว่าความเห็นของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลากับงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุลและคณะ มีความสอดคล้องกัน จนสามารถยืนยันได้ว่ามหาวิทยาลัยของไทยมีสภาพและปัญหาดังที่กล่าวมาและอยู่ในขั้นวิกฤต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ จากสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของไทย อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ และกำลังมีการจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

คุณภาพการศึกษา(ไทย)ไม่ได้มาตรฐาน บัณฑิตมีคุณภาพด้อยกว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน

                                                                                    อานันท์ ปันยารชุน
                                                                                                 อดีตนายกรัฐมนตรี

*********************************************************************************












วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(1)

ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ ได้ทำการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก" พบว่า สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย มีดังนี้

1. สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุด มีบทบาทในการพัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย แต่พบว่าสภามหาวิทยาลัยมีปัญหาดังนี้

          1.1 องค์ประกอบของกรรมการสภาในบางมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดปัญหาการครอบงำทางความคิดจากบุคคลภายในมหาวิทยาลัย

          1.2 สภามหาวิทยาลัยเลือกบุคคลภายนอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงจำกัด โดยเลือกเฉพาะบุคคลที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง

          1.3. การประชุมสภาใช้เวลาส่วนใหญ่พิจารณาแต่เรื่องภายในมหาวิทยาลัย โดยไม่ใช้เวลาพูดถึงนโยบายหรือแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย

          1.4. สภาไม่ใช้อำนาจออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย

2. หน้าที่ นโยบาย และเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีการกำหนด หน้าที่ นโยบาย และเป้าหมายที่ชัดเจน มีผลทำให้

          2.1. การเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยไร้ทิศทาง

          2.2. การใช้ทรัพยากรมีความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง

3. การแบ่งส่วนราชการและโครงสร้างการบริหาร โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยถอดแบบมาจากตะวันตก คือ แบ่งเป็นภาควิชา คณะ สถาบัน เป็นต้น พบว่ามีการแบ่งภาควิชาและคณะมากเกินจำเป็น ทำให้เกิดการแบ่งแยก ยากที่จะประสานความร่วมมือ ประสานวิชา และประสานหลักสูตร

4. ผู้บริหาร ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยแทบจะทุกระดับและเกือบทั้งหมด ไม่ได้เรียนรู้ด้านบริหาร การบริหารในมหาวิทยาลัยจึงใช้ประสบการณ์เป็นหลัก ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับผู้บริหารมีดังนี้

           4.1. สภาไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการสรรหาให้ได้คนดีมีฝีมือเข้ามาบริหาร

          4.2. การสรรหาที่ใช้ระบบเลือกตั้งเป็นหลัก สร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความแตกแยก ขาดความร่วมมือในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้า

          4.3. ผู้บริหารที่ไม่มีระบบ มักจะถูกชักนำจากข้าราชการชั้นผู้น้อย

          4.4. ผู้บริหารมักจะมีวาระการดำรงตำแหน่งสั้น เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง

5. หลักสูตร โดยทั่วไปหลักสูตรจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และค่อนข้างจะซ้ำซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรมีดังนี้

          5.1. หลักสูตรขาดความหลากหลาย ส่วนใหญ่เลียนแบบซึ่งกันและกัน มีความคล้ายคลึงกัน

          5.2. หลักสูตรขาดความยืดหยุ่น ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างเสรีเพียงพอ

          5.3 หลักสูตรล้าสมัย

          5.4. หลักสูตรจำนวนมากลอกเลียนหรืออ้างอิงจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย

          5.5. หลักสูตรไม่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดความคิดเชิงบูรณาการ

          5.6. หลักสูตรนานาชาติมีน้อย ทำให้ไม่เป็นสากล

          5.7 อาจารย์ไม่เข้าใจการปรับหลักสูตรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก

6. คุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอน คุณภาพของอาจารย์คือคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอนมีดังนี้

          6.1. อาจารย์ที่มีคุณภาพด้านการสอนและผลงานวิจัยมีจำนวนน้อยมาก

          6.2. ไม่มีมาตรการที่ดีพอที่จะขจัดอาจารย์ที่ไร้คุณภาพ ภายใต้ระบบราชการและสังคมวัฒนธรรมไทย

          6.3. ตำราอันเป็นสื่อการสอนหลักมีคุณภาพต่ำ

          6.4. การลงทุนเพื่อการวิจัยมีน้อย ทำให้องค์ความรู้ไทยมีน้อย

          6.5. ห้องสมุดไม่ทันสมัย

          6.6. วิธีสอนของอาจารย์ใช้แบบเดิมๆ คือถ่ายทอดความรู้

          6.7 วิกฤตศรัทธาต่ออาชีพอาจารย์ตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถจูงใจให้คนดีมาเป็นอาจารย์

          6.8 มาตรการกำหนดกำลังคนของภาครัฐ มีผลทำให้ขาดแคลนอาจารย์และบุคลากกรสนับสนุน
ทั้งด้านวิชาการและธุรการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          6.9 ขาดกลไกการพัฒนาคุณภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

7. การวิจัย รัฐลงทุนเพื่อการวิจัยต่ำ ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ

8. ความขาดแคลนบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐมีสาเหตุมาจาก

          8.1. ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะการขาดแคลนกำลังคน เริ่มปรากฎให้เห็นตั้งแต่แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 แล้ว

          8.2. การจำกัดอัตรากำลังของรัฐที่ใช้กับทุกหน่วยราชการ มีผลทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากร

          8.3 การบริหาจัดการไม่ดี ใช้กำลังคณาจารย์เกินความจำเป็น และไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งแต่งตั้งรองอธิการบดีถึง 15 คน และ พบว่าได้สูญเสียคณาจารย์เพื่อไปทำหน้าที่บริหารมากกว่าร้อยละ 30

งานศึกษาวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก"นี้ เป็นงานวิจัยที่ได้มีการเผยแพร่ในปี พ.ศ.2540 แต่ไม่พบว่า ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยของไทยมากนัก ยกเว้นเรื่องอาคารสถานที่ และการขยายวิทยาเขต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

  อาจารย์มหาวิทยาลัย(ไทย)มีอยู่ 3 ประเภท คือมีความรู้และมีความรับผิดชอบ

  มีความรู้แต่ใช้ข้างนอกมหาวิทยาลัย และ ไม่มีความรู้

                                                                                                                   เกษม สุวรรณกุล

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นเรื่องคุณภาพมหาวิทยาลัย ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ผู้ร่วมอภิปรายมีทั้งบรรดารัฐมนตรี ข้าราชการ นายจ้าง และคนในวงการธุรกิจ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้เพิ่มความสนใจเกี่ยวกับผลผลิตของมหาวิทยาลัย ว่าสังคมได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่

ความสนใจอยู่ที่ว่า จะรักษาและปรับปรุงระดับการเรียนรู้และการสอนในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นได้อย่างไร แสวงหาวิธีการให้ผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร มีวิธีการจูงใจหรือหลักประกันอะไรว่ามหาวิทยาลัยจะทำงานเต็มสมรรถนะเพื่อการประกันคุณภาพของผู้จบการศึกษาหรือไม่

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนนักศึกษา ตลอดจนขนาดและความหลากหลายของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องคุณภาพได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ประกอบกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลและวงการอุตสาหกรรม เชื่อว่ามหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการผลิตและการบริการ ซึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญดังกล่าวได้ตือ คุณภาพ ความสอดคล้อง และความยืดหยุ่น

ในประเทศออสเตรเลีย นักการเมืองและนักอุตสาหกรรม ย้ำว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยจะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถแข่งกับนานาชาติได้ การพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญปัญหาหนึงของออสเตรเลีย

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ตกอยู่ท่ามกลางความวิกฤติ คุณภาพการสอนและการเรียนต่ำกว่ามาตรฐานของนานาชาติมาก กิจกรรมการวิจัยได้รับทุนอุดหนุนน้อย และมีคำถามเรื่องความถูกผิดอยู่เสมอ

สิ่งที่ปรากฎให้เห็นในมหาวิทยาลัยของประเทศกำลังพัฒนา คือการมีนักศึกษามากเกินไป อาจารย์ไม่พอ สิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพเสื่อมสภาพลง ทรัพยากรในห้องสมุดคุณภาพต่ำ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์มีไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพภายในต่ำ บัณฑิตไม่มีงานทำ ผลิตบัณฑิตที่ทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้น้อย

ซึ่งสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีสาเหตุมาจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ

ประเด็นทรัพยากรมีไม่เพียงพอ เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างมากที่สุด ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม

2. อาจารย์ 

ปัญหาอาจารย์เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งในหลายประเทศ ซึ่งได้แก่ปัญหาขาดแคลนอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ที่มีคุณภาพ อันมีผลทำให้สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เป็นที่น่าพอใจ

บางประเทศมีปัญหาเรื่องสมองไหลจากมหาวิทยาลัยไปสู่เอกชน ซึ่งให้เงินเดือนสูงกว่า มีการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนระบบคุณธรรม และที่เหนือกว่านั้น คือการที่อาจารย์ไปทำงานในต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยในทวีปแอฟริกาบางประเทศ อาจารย์ยังคงทำงานอยู่กับมหาวิทยาลัย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ค้าขายหรือทำธุรกิจอื่นเพื่อหารายได้เพิ่ม อาจารย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่พยายามปรับปรุงคุณภาพการสอนให้ดีขึ้น หรือทำให้นักศึกษามีความรู้ที่ทันสมัยขึ้น เกิดภาวะสมองรั่วซึม(brain leakage)

นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง อุทิศเวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการทำงานกับพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่ยังดำรงตำแหน่งอาจารย์อยู่

พฤติกรรมของอาจารย์ที่กล่าวมานี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นพฤติกรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาแทบจะทุกประเทศก็ว่าได้

3. การสอน

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากจะมีวิธีสอนและหลักสูตรที่ล้าสมัยแล้ว วิชาต่างๆยังไม่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพัฒนาอีกด้วย ขาดตำราเรียนและสื่อการเรียนอย่างรุนแรง และที่สำคัญคือ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานการสอน

พฤติกรรมการสอนในห้องเรียนมีลักษณะอำนาจนิยม ทำให้นักศึกษาไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ วิธีสอนส่วนใหญ่ เป็นการให้นักศึกษาอ่านแผ่นปลิวที่เตรียมไว้เพื่อการบรรยาย เป็นแผ่นปลิวที่มีการถ่ายสำเนาเพื่อขายนักศึกษา 

การสอบ ปกติจะใช้แบบตัวเลือกหลายตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาระในการตรวจให้คะแนน โดยข้อสอบจะมาจากเนื้อหาในแผ่นปลิวที่ขายนักศึกษานั่นเอง จึงไม่เพียงแต่นักศึกษาเท่านั้นที่อ่านหนังสืออื่นน้อย อาจารย์เองก็แทบจะไม่ได้อ่านหนังสืออื่น นอกเหนือจากตำราที่ใช้เตรียมการสอนไม่เกิน 2-3 เล่ม

4. ประสิทธิภาพภายในต่ำ

ในระบบมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะก้าวหน้าไปอย่างช้าๆและมีอัตราการก้าวหน้าต่ำ ขาดความสมดุลระหว่างบัณฑิตที่จบการศึกษากับระบบต่างๆที่ขยายการรับนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนามากนัก ซึ่งได้แก่ สาขาวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งในการผลิตบัณฑิตสาขาเหล่านี้ได้ใช้งบประมาณซึ่งควรจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศสาตร์และเทคโนโลยี จนทำให้เกิดปัญหาว่างงานของผู้จบการศึกษา และในบางประเทศนักศึกษาจะต้องใช้เวลา 7-8 ปี หรือมากกว่านั้น เพื่อเรียนให้จบหลักสูตรที่สามารถเรียนได้จบในเวลา 4-5 ปี แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม

5. การนิเทศในมหาวิทยาลัยเอกชนมีน้อยและขาดประสิทธิผล

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมมือเพื่อจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนน้อย

เกี่ยวกับสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา ธนาคารโลกได้เชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสของมหาวิทยาลัยจากประเทศกำลังพัฒนา 22 ประเทศ ตัวแทนองค์การนานาชาติ และสมาคมมหาวิทยาลัยต่างๆมาประชุมสัมมนา และได้ข้อสรุปว่า วิกฤตการณ์ของมหาวิทยาลัยอันดับแรก คือ วิกฤตการณ์ของคุณภาพ อันเกิดจากข้อจำกัดทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งสมรรถนะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยประยุกต์ไม่สอดคล้องกับปัญหาการพัฒนา การจะสร้างคุณภาพขึ้นมาจะต้องแก้ปัญหาการคัดเลือก ปรับโครงสร้างของสถาบันให้มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย ในขณะเดียวกันจะต้องสร้างวัฒนธรรมการประเมินขึ้นมาในมหาวิทยาลัย

ในส่วนของธนาคารโลกเองก็ได้เสนอแนวทาง เพื่อช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ ซึ่งได้แก่ การเลือกระหว่างการสอบคัดเลือกกับคุณภาพ ความมีอิสระกับการเข้าไปตรวจสอบได้ ความยุติธรรมกับประสิทธิภาพ ทุนอุดหนุนจากรัฐกับเอกชน และการวิจัยพื้นฐานกับการวิจัยประยุกต์ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งมีทรัพยากรจำกัดจำเป็นจะต้องเลือก เพราะมิฉะนั้นจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ เป็นทรัพยากรที่มีค่าน้อย

ฉะนั้น ไทยในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จะพบว่าสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยของไทยไม่ค่อยแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆมากนัก   อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ฉะนั้น ถ้านำผลการสัมมนาและข้อเสนอแนะของธนาคารโลกไปปรับใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

คุณภาพของมหาวิทยาลัย ไม่เหมือนกับการทำให้ลูกค้าพอใจแบบเดียวกับพอใจรถยนต์รุ่นล่าสุด คุณภาพของมหาวิทยาลัยจะต้องรวมเอาความหมายของคำว่า ความมีประสิทธิผล(effectiveness) ความมีประสิทธิภาพ(efficiency) และความสามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้(accountability)เข้าไว้ด้วย

                                                                                 Malcolm Frazer
                                                               
*********************************************************************************




วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย

หลักใหญ่ๆที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารมหาวิทยาลัย ก็เพื่อการประกันคุณภาพ การตรวจสอบ และการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเพื่อความแน่ใจว่าการศึกษาอบรมกำลังคนที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ ได้สนองตอบความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่อย่างไร

โดยรัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องงบประมาณ  การรับนักศึกษาเข้าเรียน ตลอดจนการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพ คุณภาพ และการยอมรับนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย

การเข้าไปมีบทบาทของรัฐบาลในระบบอุดมศึกษานั้น จะต้องเพื่อการส่งเสริมความมีอิสระด้วย อันได้แก่ ความอิสระขององค์การ ความอิสระทางวิชาการ ความอิสระทางการเงิน เป็นต้น นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้นวัตกรรม อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นโดยรวม

ฉะนั้น ตัวแบบของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม ในการที่จะส่งเสริมให้มีลักษณะดังกล่าวในประเทศกำลังพัฒนา คือ ตัวแบบที่รัฐกำกับดูแล(the state supervising model) อันเป็นตัวแบบที่มห่วิทยาลัยมีความอิสระ แต่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

เป็นตัวแบบที่มหาวิทยาลัยมีอิสระพอที่จะกำหนดเป้าหมายและโปรแกรมวิชาของตน มีอิสระพอที่จะตัดสินใจว่า อะไรควรสอน อะไรควรวิจัย และควรสอนและวิจัยอย่างไร โดยปราศจากการกดดันของรัฐบาล

เพราะความอิสระโดยปราศจากการเข้าไปตรวจสอบ จะทำให้มหาวิทยาลัยแยกตัวออกไปจากภาคการผลิตและความต้องการของสังคม ไม่สามารถสนองตอบสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานได้

การกำกับดูแลของรัฐบาล จะต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำสิ่งใหม่ๆมาใช้ในระบบ ตลอดจนทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการเข้าไปยุ่งเกี่ยวของรัฐบาลกับความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย

ในประเทศกำลังพัฒนา การกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบต่อสังคม อันเนื่องมาจากการที่มหาวิทยาลัยใช้เงินอุดหนุุนของรัฐบาลที่มีอยู่จำกัด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ปัญหาจากการใช้กฎเกณฑ์กับมหาวิทยาลัย จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัด มากกว่าที่จะใช้เพื่อเพื่อการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยเกิดความยืดหยุ่นและมีทางเลือก ซึ่งลักษณะการใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัดกับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการรักษาสภาพเดิมๆไว้ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

กล่าวโดยสรุปก็คือ มหาวัทยาลัยภายใต้กำกับของรัฐบาลนั้น หมายถึง การที่รัฐบาลสามารถเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวกับเป้าหมาย เนื้อหา มาตรฐานการสอนและการวิจัย รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบถึงประสิทธิผลและค่าใช้จ่าย ว่านำไปสู่ผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งท้าทายที่เผชิญหน้ามหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา คือการทบทวนความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย โดยรัฐบาลเพียงแต่กำนดกฎเกณฑ์ทั่วไป ไม่ลงในรายละเอียด เพื่อสถาบันจะได้ใช้ความอิสระให้เกิดประโยขน์ในการผลิตกำลังคน ตามความต้องการของตลาดแรงงาน และมหาวิทยาลัยเองควรพยายามเพิ่มความสามารถในการใช้นวัตกรรมให้มากที่สุด ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดโดยรัฐบาล      

นั่นคือ ความมีอิสระของมหาวิทยาลัย  เป็นความอิสระที่จะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล มิฉะนั้นแล้ว การดำเนินการของมหาวิทยาลัยจะโดดเดี่ยว ไม่ผูกพันกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ทำให้ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ผลที่สุด มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยเป็นลักษณะที่รัฐบาลผ่อนคลายการควบคุม เพื่อความอิสระของมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีการเข้าไปตรวจสอบ  และปรับปรุงการบริหารจัดการแบบกึ่งเอกชน(quasi private)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                 การศึกษาในโลกมีลักษณะเป็นหมาหางด้วน

                                 คือ สอนแต่หนังสือและอาชีพ ไม่สอนการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง

                                                                                                        พุทธทาส ภิกขุ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัยกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระบวนการพัฒนาในปัจจุบัน มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานที่สำคัญ มีผลทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องสร้างองค์ความรู้ที่มีฐานอยู่บนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาและขยายสมรรถนะการวิจัยที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนั้น ยังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่จะต้องเข้าไปร่วมในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ ที่อาศัยกลไกการตลาดและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้ตลาดไร้พรมแดนมีคววามสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

ประเทศที่ไม่สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนใหญ่เนื่องจากกำลังแรงงานมักจะขาดทักษะและความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของผลิตภาพทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขัน

มหาวิทยาลัยจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาอบรมกำลังแรงงาน ตลอดจนสร้างสรรค์ความรู้และวิจัยที่จำเป็นต่อการเพิ่ม และการใช้เทคโนโลยีที่สนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม

แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก มักจะมีความอ่อนด้อยทางเทคโนโลยี และมีปัญหามากมายจนไม่สามารถปรับปรุงสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้ดีขึ้นได้

อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา คือสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนและการฝึกอบรมที่ไม่เหมาะสม ขาดแคลนวารสาร วัสดุอ้างอิง ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องปฏิบัติการ

เมื่อการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์และวิชาชีพชั้นสูงมีความไม่เหมาะสม ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหันไปเพิ่มการรับนักศึกษาในสาขาเดิมๆ ซึ่งได้แก่ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกและง่ายต่อการสอน โดยใช้สิ่งอำนวนความสะดวกที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาโครงสร้างทางวัตถุสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะต้องเริ่มด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจเป็นเบื้องต้น

การขาดวัฒนธรรมของผู้ประกอบการ การขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาล จะเพิ่มอุปสรรคต่อการวิจัยแบบยั่งยืน รวมทั้งสมรรถนะในการพัฒนา

บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมสมรรถนะการสอน และระดับบัณฑิตศึกษาจะต้องสร้างองค์ความรู้และการวิจัยที่ก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน  จะต้องยอมรับและให้ความสำคัญในการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประชาชนทั่วไป ด้วยการปรับปรุงการสอนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษาทั้งหมด

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างของประเทศที่มุ่งใช้ระบบอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยเชิงประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนเริ่มด้วยการพัฒนาอาจารย์เป็น 2 แบบ คือ อาจารย์สอนซึ่งใช้เวลาเพื่อการสอนร้อยละ 70 และเพื่อการวิจัยร้อยละ 30  กับอาจารย์วิจัยซึ่งใช้เวลาร้อยละ 70 เพื่อการวิจัย และใช้เวลาร้อยละ 30 เพื่อการสอน ผลก็คือ ทำให้จีนสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปได้ด้วยดีประเทศหนึ่ง

นั่นก็คือ การจะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าไปได้ มหาวิทยาลัยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการส่งเสริมสมรรถนะการสอน การสร้างองค์ความรู้และการวิจัยที่ก้าวหน้า ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องยอมรับและให้ความสำคัญในการปรับปรุงการสอนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมด การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงจะประสบความสำเร็จ และก้าวทันเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

การประเมินผลของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการกรองและการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งหมดของ

มหาวิยาลัยให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อการลงโทษหรือผูกพันกับการจัดสรรทรัพยากรใดๆ

*********************************************************************************