วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของระบบการเมือง

ระบบ หมายถึง ปฎิสัมพันธ์ของส่วนย่อยๆหลายๆส่วน เพื่อให้ระบบดำเนินไปตามปกติ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับความกระทบกระเทิอน จะส่งผลไปถึงส่วนอื่นด้วย

ระบบการเมือง หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่า่งส่วนย่อยๆในทางการเมือง เพื่อให้ระบบการเมืองดำเนินไปตามปกติ

ระบบการเมืองประกอบด้วยหน่วยสำคัญ 3 หน่วย คือ 1) รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลทั้งหลาย ได้แก่ รัฐบาลและกลไกของรัฐ 2) รูปแบบและอุดมการณ์ทางการเมือง อันได้แก่ ประชาธิปไตย เผด็จการ และ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ และ 3) กลุ่มคนที่อยู่รวมกันและมีความภักดีต่อหน่วยการเมืองหน่วยเดียวกัน เช่น เมื่ออยู่ในประเทศไทยจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนไทย

Gabriel A. Almond นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้แบ่งความสามารถหรือสมรรถนะของระบบการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ออกเป็น ดังนี้

1. ความสามารถในการนำเอาทรัพยากรในสังคมมาใช้ 

ในการรักษาโครงสร้างต่างๆทางการเมือง  ตลอดจนกลไกการดำเนินงานบริหารรัฐ จำเป็นจะต้องมีทรัพยากร ทั้งที่เป็นวัตถุและมนุษย์ เป็นเครื่องสนับสนุนรัฐ ที่จะต้องให้บริการแก่สมาชิกของสังคม

การให้บริการเหล่านี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยิ่งรัฐขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวางออกไปมากเท่าใด ความสามารถในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมมาใช้ก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

2. ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม 

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความคุ้มครองป้องกันคนในสังคม เพราะปกติคนและกลุ่มคนในสังคมมีผลประโยชน์และความต้องการที่แตกต่างกันและมีความขัดแย้งอยู่เสมอ

การควบคุมกลุ่มคนไม่ให้ขัดแย้งกันจนเป็นเหตุทำให้สังคมระส่ำระสาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขแรกของการดำรงอยู่ของสังคม

3. ความสามารถในการแจกจ่าย 

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดการแบ่งสรรปันส่วนสิ่งที่สังคมเห็นว่ามีคุณค่า เช่น การแบ่งสรรปันส่วนสินค้าและบริการต่างๆ การให้โอกาสอันเท่าเทียมกันที่จะได้รับบริการของรัฐ เช่น บริการทางการศึกษาและสาธารณูปโภค

ความสามารถในการแจกจ่ายเป็นหน้ที่ที่สำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน แม้จะเป็นหน้าที่ที่สำคัญ แต่การแบ่งปันผลประโยชน์โดยระบบการเมืองอาจกระทำได้ไม่ทั่วถึง หรือมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มหรือบางท้องถิ่น

ความสามารถในการนำเอาทรัพยากรในสังคมมาใช้ ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งได้แก่การใช้กฎหมาย  และความสามารถในการแจกจ่ายผลประโยชน์ มีความสมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง

ความสามารถในการแบ่งสรรผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำทรัพยากรมาใช้ และถ้าระบบการเมืองไม่มีความสามารถในการใช้กฎหมายบังคับ หน้าที่ในการเก็บภาษีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำทรัพยากรในสังคมมาใช้ ก็เป็นไปได้ยาก

4. ความสามารในการใช้สัญลักษณ์ทางการเมือง 

สัญลักษณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนความชอบธรรมของผู้ปกครองและตัวระบบการเมือง ซึ่งสัญลักษณ์ทางการเมืองได้แก่ ธงชาติ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ พิธีการต่างๆ เช่น วันสำคัญของชาติ เป็นต้น

ในสังคมที่ไม่มีความแตกต่างทางด้านศาสนามากนัก ศาสนาประจำชาติก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นจุดรวมแห่งความจงรักภักดีของคนในสังคม สถาบันกษัตริย์ก็จัดเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง

ในบางประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน และต่อมาสามารถเรียกร้องเอกราชได้สำเร็จ ผู้นำทางการเมืองอาจใช้สัญลักษณ์บางประการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อเชื่อมโยงกับการเรียกร้องนั้น

5. ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของประชาชน 

เป็นความสามารถในการตอบสนองต่อการมีปฏิกิริยาของระบบการเมืองต่อความเคลื่อนไหวของสภาพแวดล้อมทางการเมือง

ความสามารถของระบบการเมืองข้อนี้อยู่ที่ความฉับไวในการตอบสนองความต้องการ ถ้าระบบการเมืองละเลยหรือปล่อยให้กลุ่มชนเกิดความคาดหวังและความต้องการโดยไม่ได้รับการตอบสนอง  ในระยะยาว ความตึงเครียดจะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้


Gabriel A. Almond ไม่ได้สรุปว่า รูปแบบและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง  แบบประชาธิปไตย แบบเผด็จการ หรือ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ แบบใดที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่ากัน

ความสามารถของระบบการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 5 ประการนีึ้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะจะก่อความไม่สมดุลขึ้นในระบบการเมือง และเมื่อระบบขาดความสมดุล ปัญหาทางการเมืองจะเกิดตามมาอีกมากมาย และอาจนำไปสู่ระบบการเมืองที่ล้มเหลวได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                                 What you want in the state , you must put into the school.

                                                                                                     Plato

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การเมืองคืออะไร

คำว่า"การเมือง" ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า"politics" เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก และที่ให้ความหมายตรงกันนั้นมีน้อย

อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกเป็นคนแรกที่พูดถึง "politics"โดยตั้งข้อสังเกตว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง การเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์ และเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างจะซับซ้อนตามลักษณะของสังคมนั้นๆ การอธิบายหรือการให้ความหมายของคำว่า"การเมือง"ให้ครอบคลุมและตรงกันจึงเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ตาม มีผู้พยายามจะให้ความหมายและอธิบายเกี่ยวกับการเมืองในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

เวบเบอร์(Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้อธิบายว่า การเมือง คือการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อใช้อำนาจแบ่งสรรอำนาจหน้าที่ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือแบ่งสรรอำนาจระหว่างส่วนย่อยๆภายในรัฐนั้น การเมืองจึงเป็นกิจกรรมของรัฐ

ลาสส์เวลล์(Lasswell) อธิบายว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เกี่ยวกับใครจะได้อะไร ได้เมื่อไร และได้อย่างไร การเมืองเป็นเรื่องอิทธิพลของผู้มีอิทธิพล ขอบเขตของอำนาจหรืออิทธิพลจะมีกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นได้ใช้สิ่งที่มีคุณค่าที่ตนเองครอบครองอยู่ ในขอบเขตกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ซึ่งการใช้อำนาจหรืออิทธิพลนั้น อาจทำได้ทั้งการบังคับและการชักจูง

ลาสส์เวลล์ได้จำแนกคุณค่าในที่นี้ออกเป็น 2 ประการ คือ คุณค่าทางเกียรติศักดิ์(deference values) อันประกอบด้วย อำนาจ ความเคารพนับถือ ความถูกต้อง ความนิยมชมชอบ และคุณค่าทางสวัสดิการ(welfare values) ซึ่งได้แก่ ความอยู่ดีกินดี ความมั่งคั่ง ทักษะ และความรู้

ดาห์ล(Dahl) อธิบายว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ เป็นกฎเกณฑ์ หรืออำนาจที่ชอบธรรม ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอำนาจหรืออิทธิพลคือ ทรัพยากรทางการเมือง(political resources) ซึ่งได้แก่ ทรัพย์สมบัติ ฐานะทางสังคม ตำแหน่งหน้าที่การงาน อำนาจในการใช้อาวุธหรือกำลัง การเข้าถึงข้อมูล เพศ การศึกษา การครองอำนาจรัฐ เหล่านี้เป็นต้น

การจะมีอำนาจทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า เขามีทรัพยากรทางการเมืองอยู่ในครอบครองมากน้อยเพียงใด มีความสามารถและมีทักษะในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อการเมืองมากน้อยเพียงใด และประการสุดท้าย บุคคลนั้นมีความสนใจในทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

อีสตัน(Easton) อธิบายว่า การเมือง คือการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ชอบใช้กัน

จากคำอธิบายนี้ สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า สังคมประกอบด้วยคนซึ่งมีความต้องการสิ่งต่างๆ และสิ่งที่สังคมต้องการนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่มีปริมาณจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจจัดสรรให้ตามความเหมาะสม

จากคำอธิบายถึงความหมายของการเมืองที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า การเมือง เป็นเรื่องของอำนาจ การแสวงหาอำนาจ และการใช้อำนาจ ในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม

อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองที่ได้มา จะต้องเป็นอำนาจทางการเมืองที่สังคมส่วนใหญ๋ให้ความเห็นชอบ และเมื่อมีอำนาจแล้ว จะต้องใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ปัญหาทางการเมืองจึงจะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมือง นักการเมืองจะต้องยึดแนวทางการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจดังที่กล่าวมา  การได้อำนาจทางการเมืองมาโดยวิธีการทุจริต ก็ดี การใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง ก็ดี เป็นการเร่งรัดให้อำนาจที่ได้มาหมดไปอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบในสังคมตามมา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

นักการเมือง คือ ผู้ฝักใฝ่ในทางการเมือง ผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา

                                                                            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

Politician is a person involved in politics,especially national or international politics.

                                                                             P.H.Collin

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ลักษณะของคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ

อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการพัฒนาตนเต็มศักยภาพ อธิบายว่า การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เป็นการพัฒนาขั้นสุดท้าย เป็นความพยายามที่จะสนองความต้องการอย่างต่อเนื่อง เป็นระดับการพัฒนาส่วนบุคคลที่สูงที่สุด ผู้ที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพตามอุดมคติถือว่าเป็นคนที่สมบูรณ์

ซึ่งมาสโลว์ ได้จำแนกลักษณะของคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ไว้ดังนี้

1. การรับรู้มีความถูกต้องมากกว่าคนอื่นๆ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักภาพ สามารถที่จะรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง โดยไม่มองว่าความเป็นจริงเหล่านั้นเป็นปัญหาหรือบิดเบือนความเป็นจริงเหล่านั้น เป็นผู้มีความเข้าใจผู้อื่นและตัดสินผูัอื่นได้อย่างรวดเร็ว บุคคลที่สามารถรับรู้ความจริงได้ถูกต้อง จะมีสุขภาพจิตดี ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มองโลกในแง่ร้าย มีความอดทนต่อความผิดหวังและความไม่แน่นอนมากกว่าคนอื่น

2. ยอมรับตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติของโลกอย่างที่มันเป็น ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ เป็นคนที่เห็นคุณค่าของตนและผู้อื่นตามความเป็นจริง มีความอดทนต่อข้อบกพร่องของตน มีอิสระจากการถูกครอบงำ ยอมรับในธรรมชาติของโลกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งทั้งหลายจะมีธรรมชาติของมันเอง

3. ทำได้ด้วยตนเอง มีความเรียบง่าย และมีความเป็นธรรมชาติ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ เป็นผู้มีจุดเด่นอยู่ที่การเป็นตัวของตัวเอง ทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น มีพฤติกรรมที่ไม่เสแสร้ง ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมบางอย่างอาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น

4. ยึดปัญหาเป็นศูนย์กลางมากกว่าที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา แต่มุ่งที่จะแก้ที่สาเหตุของปัญหา โดยไม่เอาความรู้สึกของตนเข้าไปเกี่ยว จะมีชีวิตเพื่อการทำงาน และอุทิศตนเพื่อการทำงานเต็มที่ตามหน้าที่และพันธกิจ

5. ชอบปลึกตัวและมีความต้องการเป็นส่วนตัว ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ไม่กลัวที่จะอยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน ชอบที่จะอยู่คนเดียว ความต้องการลักษณะนี้จะมีมากกว่าคนอื่นๆ ไม่สร้างความผูกพันหรือพึ่งพาคนอื่นมากนัก เพราะเชื่อความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่เดือดร้อนที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความเป็นมิตรอย่างลึกซึ้งกับคนไม่มาก ไม่ชอบเข้าสังคม ต้องการมีสมาธิอย่างจริงจังในเรื่องที่สนใจ

6. เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระจากวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความอิสระและไม่พึ่งบุคคลอื่น ไม่สร้างเงื่อนไขให้ความพอใจของตนขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เป็นผู้มีวินัยในตนเอง รู้จักำหนดวิถีชีวิตด้วยตนเอง เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตน สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้เมื่อต้องเผชิญกับการปฏิเสธหรือไม่เป็นที่นิยม

7.ชอบความใหม่มากกว่าแบบเดิมๆ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แบบเดิมๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกี่ยวกับตนหรือสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน จะมองสิ่งต่างๆด้วยความสดชื่นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  สามารถมีความซาบซึ้งและสดชื่นกับสิ่งดีๆที่เป็นพื้นฐานของชีวิต

8. เข้าใจสิ่งลึกลับและจิตวิญญาณ แม้สิ่งนั้นจะไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ตาม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความลึกซึ้งกับสิ่งลึกลับ ด้วยการศึกษาสิ่งลึกลับเหล่านั้น จะแสดงออกด้วยการหยั่งรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องลักษณะนี้สูง

9. เข้าในมนุษย์และสนใจสังคม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ มีความรู้สึกเป็นญาติและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมนุษยชาติ มีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น สนใจความเป็นอยู่ในสังคม มีความรู้สึกลึกๆและหนักแน่นต่อมวลมนุษย์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นมนุษยชาติทั้งมวล

10. มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์และรักคนไม่มาก ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งไม่มาก ต้องการเพื่อนแท้ โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะและความสามารถพิเศษคล้ายๆกัน และเมื่อไม่พอใจ จะแสดงความรู้สึกไม่พอใจอย่างเปิดเผย

11. มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตย ผู้ที่พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ จะมีความสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีความเคารพตอ่ผู้อื่น และเห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นเพื่อนโดยไม่ยึดเชื้อชาติ ศาสนา แต่ตั้งอยู่บนความเป็นมนุษย์

12. รู้ความแตกต่างระหว่างวิธีการและเป้าหมาย ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะยึดมั่นเป้าหมายดีงามที่เกิดขึ้น สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างของเป้าหมายที่ต้องการกับวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น และมีความสุขที่ได้พบวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ มีการพัฒนาทางจริยธรรมสูงและมีการปฏิบัติโดยยึดจริยธรรม

13. มีอารมณ์ขันอย่างมีสติ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะเป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดศัตรู หรือทำให้คนอื่นเสียหาย เช่น ไม่มีอารมณ์ขันกับข้อบกพร่องหรือปมด้อยของผู้อื่น หรือไม่สร้างสถานการณ์ขบขันให้ผู้อื่นอับอาย หรือเจ็บปวด

14. มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนอื่น โดยแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวัน บุคลิกภาพ และในการทำงาน

15. ต่อต้านการทำอะไรเหมือนๆกันเพื่อให้เป็นไปตามวัฒนธรรม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่ยอมทำอะไรเพียงเพราะมีเหตุผลเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ยินดีที่จะทำสิ่งใหม่ๆ รับวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและสังคม และมีความรู้สึกส่วนตัวที่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคม

16. เข้าใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะเข้าถึงธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมและความพอใจของตน

มาสโลว์ เชื่อว่า การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ แม้ว่าสติปัญญาจะช่วยในการพัฒนา แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ และคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่สมบูรณ์ทุกอย่าง มีความสำเร็จสมปรารถนาทุกอย่าง หรือสามารถปรับตัวได้ดียิ่ง แต่สำคัญอยู่ที่บุคคลเหล่านั้นเข้าใจตนเอง เช้าใจโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องชี้นำชีวิตตน ให้ประสบความสุขและความสำเร็จดีกว่าคนอื่น

มาสโลว์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เพราะถ้าบุคคลไม่เรียนรู้ ไม่แสวงหาความรู้ จะทำให้การพัฒนาเกิดการหยุดนิ่ง การศึกษาจึงเป็นกุญแจใขไปสู่การพัฒนาตน การศึกษาที่ดี จะช่วยให้บุคคลมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง คือ รู้ค่านิยมของตน ซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการพัฒนาตนไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเป้าหมาย

สำหรับคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักภาพแห่งตน  มาสโลว์เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Healthy Self, Self-actualzing Person, Fully Metamotivated Person, Alpsy, Fully Evolved Person และ Fully Human Person  ซึ่งหมายถึง การเป็นคนที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพทั้งสิ้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคำ

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของสังคมโดยส่วนรวม  ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา เป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน

 *********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความต้องการตามลำดับขั้นของมนุษย์

อับราฮัม มาสโลว์ ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการจูงใจของมนุษย์ มีความเห็นว่า ระบบแรงจูงใจอันเกิดจากความต้องการ(need- motive system) เป็นโครงสร้างที่มีลำดับขั้น แต่ละระดับเป็นกลุ่มของความต้องการ ไม่ใช่เป็นความต้องการเดี่ยวๆ ความต้องการเหล่านี้ทำให้เกิดแรงจูงใจ

ตามทัศนะของมาสโลว์ ความต้องการแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานหรือความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลน(Basic or Deficiency Needs)  กับ ความต้องการเจริญเติบโตหรือความต้องการที่จะพัฒนา (Higher or Meta or Growth Needs)

ปกติความต้องการอันเกิดจากความขาดแคลน จะมีอำนาจเหนือความต้องการพัฒนาหรือความต้องการเจริญเติบโต และความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลนทั้งหมดจะต้องได้รับการตอบสนองก่อน ความต้องการเจริญเติบโตหรือความต้องการพัฒนาจึงจะเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุที่มองว่าความต้องการเป็นโครงสร้างที่มีลำดับขั้น ดังกล่าวแล้ว มาสโลว์ได้แบ่งความต้องการออกเป็นลำดับขั้นดังนี้

1. ความต้องการทางสรีระ(Physiological Needs)

เป็นความต้องการพื้นฐานเพื่อให้ชีวิตรอด ประกอบด้วยความต้องการทางชีวภาพและความต้องการทางจิต เป็นความต้องการขั้นต่ำสุดและมีอำนาจมากที่สุด ทำให้เกิดแรงขับทางสรีระหรือแรงขับขั้นต้น ความต้องการเหล่านี้เป็นทั้งความต้องการทั่วไป และความต้องเฉพาะ

ความต้องการทางสรีระ ประกอบด้วยด้วย ความต้องการ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ความต้องการทางเพศ ความต้องการที่จะฟื้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย  ความอบอุ่น การออกกำลัลกาย การหลับนอน การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน รสชาติ กลิ่น ฯลฯ ตลอดจนความต้องการต่างๆที่ก่อให้เกิดความสุขสบายทางกายและมีชีวิตรอด

2.ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs)

ความต้องการความปลอดภัยเกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางสรีระได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ เป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายและการคุกคามทางกาย รวมทั้งความต้องความรู้สึกปลอดภัยจากความเจ็บปวดทางกายและทางอารมณ์ ตลอดจนความปลอดภัยจากความกลัว

ความต้องการความปลอดภัยหรือความรู้สึกมั่นคง จะสังเกตได้ง่ายในวัยทารกและเด็กเล็กๆ เนื่องจากในวัยนี้ เป็นวัยที่ต้องการความช่วยเหลือและต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และแม้จะผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว ความต้องการความปลอดภัยยังคงมีอิทธิพลต่อบุคคล ศาสนาและปรัชญาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการใฝ่หาความแลอดภัยของมนุษย์

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ(Love and Belongingness Needs)

เป็นความต้องการขั้นที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางสรีระและความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว เป็นความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้แก่ คู่ครอง เพื่อน ฯลฯ

การได้รับการตอบสนองจากคนอื่นในขณะที่เครียด ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตลอดจน ความต้องการได้รับการยอมรับจากคนอื่น ล้วนจัดอยู่ในความต้องการขั้นนี้ ความเปล่าเปลี่ยวเป็นความเจ็บปวดของผู้ที่มีความต้องการในขั้นนี้ บุคคลที่ติดอยู่ในขั้นนี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ตาม เพราะให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่จะเป็นเจ้าของและเลิกที่จะเป็นผู้นำ

4. ความต้องการมีคุณค่า(Esteem Needs)

เมื่อความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของได้รับการตอบสนอง มนุษย์จะเกิดความต้องการขั้นที่ 4 คือ ความต้องการมีคุณค่าหรือความต้องการเป็นคนสำคัญ(Ego Needs) ซึ่งความต้องการมีคุณค่าอาจแบ่งได้เป็น ดังนี้

          4.1 ความต้องการความแข็งแกร่ง ความรอบรู้ ความมีสมรรถนะ ความเชื่อมั่นในตน ความอิสระไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น และการประสบความสำเร็จ จัดอยู่ในความต้องการรู้คุณค่าแห่งตน(self-esteem)

          4.2 ความต้องการเกียรติยศ การยอมรับจากผู้อื่น ความต้องการสถานภาพ ชื่อเสียง การมีอำนาจ การมีศักดิ์ศรี การเห็นคุณค่าจากผู้อื่น จัดเป็นความต้องการรู้คุณค่าจากคนอื่น((public -esteem)

การรู้คุณค่าจะเกิดจากความเพียรพยายามของบุคคล ความต้องการนี้อาจมีอันตราย ถ้าบุคคลนั้นต้องการมีคุณค่าจากคนอื่นเกินความเป็นจริง

5. ความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ(Self-actualization)

เมื่อความต้องการขั้นต้นๆได้รับการตอบสนอง หรือความต้องการอันเกิดจากความขาดแคลนได้รับการตอบสนองจนเป็นที่พอใจ ความต้องการเจริญเติบโตเพื่อพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพจะเกิดขึ้น
การพัมนาตนให้เต็มศักยภาพมาสโลว์ระบุว่ามีความสัมพันธ์กับทฤษฎีของของจุง แอดเลอร์ ฮอร์นาย และทฤษฎีของโรเจอร์

ความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เป็นภาวะสุดท้าย เป็นความต้องการที่อยู่ในระดับสูงสุด เป็นการพัฒนาตนเพื่อความสมบูรณ์ของตนตามที่ตนเองมีศักยถาพ เป็นการพัฒนาเพื่อให้มีศักยภาพสูงสุด มีสมรรถภาพตามที่บุคคลสามารถเป็นได้

เกี่ยวกับความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ มีข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

          1) เมื่อความต้องการในขั้นต่ำกว่าได้รับการตอบสนอง ความต้องการในขั้นที่สูงกว่าจึงจะเกิดขึ้น

          2. เมื่อความต้องการในขั้นที่สูงกว่าเกิดขัดข้อง บุคคลจะถอยไปอยู่ขั้นที่ต่ำกว่าลงไปอีก จนกว่าจะได้รับการตอบสนองจนพอใจ

          3)มีการเข้าใจผิดว่า ในเวลาเดียวกันบุคคลสามารถตอบสนองความต้องการได้ทีละขั้นและทีละอย่าง  และเข้าใจว่าความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ เป็นความต้องการของมนุษย์ที่สนองตอบได้ทั้งหมด

          4) มนุษย์แต่ละคน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากตามที่ตนต้องการ แต่สามารถตอบสนองได้เพียงร้อยละต่อไปนี้ สนองตอบความต้องการทางสรีระได้ร้อยละ 85 ความต้องการความปลอดภัยได้ร้อยละ 70 ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ได้ร้อยละ 50 ความต้องการมีคุณค่าได้ร้อยละ 40 และสนองตอบความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

แรงจูงใจของมนุษย์เกิดจากภายในตัวบุคคล มากกว่าถูกจูงใจจากสิ่งแวดล้อม ผู้ใฝ่ดีและคนที่ต้องการ

พัฒนา จะต้องได้รับการกระตุ้นจากการรู้คุณค่าของตน ภายในตน และด้วยตนเอง

                                                                              Abraham Maslow

*********************************************************************************





วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของมาสโลว์

อับราฮัม มาสโลว์(Abraham Maslow) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการจูงใจของมนุษย์(Theory of Human Motivation) และทฤษฎีการพัฒนาเต็มศักยภาพ(Self-actualization Theory)

มาสโลว์เชื่อว่า โดยพื้นฐานมนุษย์นั้นดี หรือไม่ดีไม่ชั่ว มากกว่าที่จะชั่วร้าย  มนุษย์ทุกคนมีแรงกระตุ้นให้เจริญเติบโตและสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพตามที่ต้องการ

จากการที่มาสโลว์ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักจิตวิทยาชั้นนำหลายๆแนวความคิด ทำให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดจิตวิทยามนุษยนิยมในเวลาต่อมา เขามีความเห็นว่า การจะศึกษามนุษย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จะต้องศึกษาในลักษณะต่อไปนี้

          1) ศึกษาจากบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี มีอารมณ์จิตใจและบุคลิกภาพมั่นคง การศึกษาจากบุคคลที่มีบุคลิกภาพมั่นคง สุขภาพจิตดี และประสบความสำเร็จในชีวิต จะช่วยให้ทราบว่า คุณลักษณะดังกล่าว จะต้องอาศัยองค์ประกอบอะไรบ้าง และสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร

          2) การศึกษาทางจิตวิทยาจะต้องศึกษาจากคนทั้งคน ไม่ใช่ศึกษาปัญหาของคนโดยแยกคนเป็นส่วนๆ แล้วนำมาวิเคราะห์สรุปเป็นกฎเกณฑ์ ซึ่งการศึกษาในลักษณะดังกล่าว เสี่ยงต่อความผิดพลาด เพราะคนประกอบด้วย กาย อารมณ์ ความคิด ฯลฯ มีลักษณะเป็นองค์รวม

สำหรับธรรมชาติของมนุษย์ มาสโลว์ได้ศึกษาแล้วสรุปว่า มนุษย์มีธรรมชาติดังนี้

1. มนุษย์ใฝ่ดี  ต้องการบรรลุศักยภาพ ไม่มีสัญชาตญาณของความก้าวร้าวและความต้องการที่จะทำลายล้างผู้อื่น นอกจากนั้น มนุษย์ยังมีความสร้างสรรค์ สมรรถภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แสดงออกได้หลายวิธี เช่น แสดงออกด้วย การเขียน การทำงาน ฯลฯ

2. มนุษย์ต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ คือสัตว์ไม่มีความคิดซับซ้อน ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่มีความละอายต่อบาป ฯลฯ การเอาหลักจิตวิทยาและพฤติกรรมที่สรุปมาจากการทดลองสัตว์ มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ จึงไม่ถูกต้อง เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์

3 การพัฒนาเต็มที่และพัฒนาอย่างสมบูรณ์ของมนุษย์ จะเกิดจากตัวมนุษย์เอง มากกว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก

4. ความผิดปกติทางจิตใจของมนุษย์ เกิดจากการปฏิเสธ การบิดเบือน และการบีบคั้น ไม่ให้มนุษย์ได้แสดงศักยภาพ สิ่งแวดล้อมทำให้มนุษย์เป็นทุกข์ เป็นโรคประสาท งมงาย และมีความผิดปกติทางสังคม

5. มนุษย์มีธรรมชาติภายใน(inner nature)ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่อำนาจภายในนี้ไม่แรงเท่าสัญชาตญาณของสัตว์  มนุษย์จึงทนต่อความกดดันทางสังคมและทัศนคติแบบผิดๆได้น้อย อำนาจธรรมชาติภายในแม้ไม่แรง แต่ยังคงอยู่ในตัวมนุษย์ตลอดชีวิต ทำให้มนุษย์ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อการมีชีวิตและการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ธรรมชาติภายในของมนุษย์เป็นพลังสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องรู้จักตนเอง  อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์ทุกคนจะมีธรรมชาติภายใน แต่มนุษย์แต่ละคนก็มีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

6. การพัฒนาตนเองเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ บุคคลอื่นเป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือ ส่งเสริม จึงไม่ควรบังคับ หรือไม่เปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาได้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงเสริมการพัฒนากับแรงฉุดการพัฒนา ว่าอย่างไหนจะมีแรงมากกว่ากัน

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของมาสโลว์ ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นคนดีมีความคิดสร้างสรรค์ สามารพัฒนาตนเองได้ การนำหลักจิตวิทยาที่ได้จากการทดลองจากสัตว์มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                  โดยพื้นฐานมนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำ และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

                                                                                            Abraham Maslow

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของมหาวิทยาลัย

จากหนังสือชื่อ International Development in Assuring Quality in Higher Education ซึ่งมี Alma Craft เป็นบรรณาธิการ และหนังสือชื่อ Total Quality in Higher Education ซึ่งมี Ralf Lewis และ Douglas Smith เป็นบรรณาธิการ ทำให้ได้ข้อสรุปถึงเหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของมหาวิทยาลัยดังนี้

1. การขยายตัวอย่างรวดเร็วของมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากความต้องการทางสังคม ความต้องการส่วนบุคคล และนโยบาบของรัฐบาล ทำให้มีจำนวนนักศึกษาและสาขาวิชาเพิ่มขึ้น การขยายตัวเชิงปริมาณ ทำให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของบัณฑิต สมรรถภาพ ทักษะทางวิชาชีพ  จริยธรรมและคุณภาพส่วนบุคคล โดยที่เชื่อกันว่าการขยายตัวของมหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลดมาตรฐานทางการศึกษาลง

2. ความจำกัดเรื่องงบประมาณได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ การตัดงบประมาณและการปฏิบัติเพื่อลดรายจ่าย นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับคุณภาพของกระบวนการผลิตโดยอัตโนมัติ ประสิทธิผลของการสอนและการวิจัยของอาจารย์ควรได้รับการประเมิน การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยควรได้รับการตรวจสอบ

3. การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นฐาน ทำให้หลายประเทศมีนโยบายที่จะชี้นำความต้องการของนักศึกษาไปสู่สาขาที่ยอมรับกันว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

4. ความต้องการที่จะเพิ่มการตรวจสอบในหลายประเทศ อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นที่จะให้มหาวิทยาลัยบริการสังคม และจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ และสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการได้มากกว่าเดิม

5. ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย การเคลื่อนย้ายของอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย รวมทั้งการทำให้เป็นนานาชาติของตลาดแรงงาน ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเทียบเท่าทางวิชาการและคุณสมบัติทางวิชาชีพ

6. โลกซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า มหาวิทยาลัยได้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือไม่ ผู้จบมหาวิทยาลัยมีความรู้ ทักษะ และ มีทัศนคติ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

7. นักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องเชื่อว่า มหาวิทยาลัยเป็นกุญแจที่ไขไปสู่การจ้างงาน การเจริญเติบโตทางอาชีพ จึงได้เพิ่มคุณค่าของปริญญาบัตร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้ถึงคุณภาพของการเรียนรู้และการบริหารของมหาวิทยาลัย

8. ในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีหนังสือรายงานและการวิพากษ์วิจารณ์ ที่แสดงถุึงการเพิ่มความไม่พอใจต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

9. มหาวิทยาลัยเป็นวิสาหกิจที่ใช้ทั้งทุนและคนมาก  เป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยลง โดยหวังว่าในอนาคตนักศึกษาแต่ละคนจะได้รับการศึกษาโดยมีค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่น้อยกว่าในอดีต ทำให้การประเมินมหาวิทยาลัยเป็นการประเมินในรูปของ"ความมีประสิทธิภาพ"และ"ความมีประสิทธิผล"มากขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน  จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่มหาวิทยาลัยจะต้องได้รับการประเมิน การควบคุม การรับรอง และการประกันคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การผลิตกำลังคนระดับสูงเป็นกระบวนที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                       สารคิด

                                        มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

                                        ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น

                                        แต่เป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ลักษณะมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ

การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีปรัชญาและเป้าหมายที่แตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยมีพันธกิจที่สำคัญคือการสร้างความรู้ใหม่ ผลิตกำลังคนระดับสูงที่มีทักษะก้าวหน้า และมีทักษะที่สนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นกำลังแรงงานที่มีสมรรถนะ ที่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

การที่กำลังแรงงานมีทักษะทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นแหล่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

เดิมเชื่อกันว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่จำเป็นจะต้องถามถึงคุณภาพ ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นชนชั้นสูงของสังคม

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 คุณภาพของมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จนทำให้มีการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ในสหราชอาณาจักร คุณภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกสำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และในหลายประเทศเริ่มกำหนดรูปแบบของการประเมินคุณภาพ

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา คุณภาพของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกลายเป็นประเด็นสำคัญของมหาวิทยาลัยทั่วโลก

การให้นิยามคำว่า"คุณภาพ"ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคำว่าคุณภาพไม่ได้มีความหมายเดียวสำหรับทุกๆคน อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงร่วมกันว่า คุณภาพของกิจการใดๆก็ตาม ควรประเมินจากความสัมพันธ์กับความมุ่งหมาย เพราะฉะนั้นคุณภาพ คือความเหมาะเจาะกับความมุ่งหมาย

คุณภาพของมหาวิทยาลัย ก็คือ การที่มหาวิทยาลัยหรือโปรแกรมวิชา มีคุณลักษณะตรงกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ คุณภาพจะสัมพันธ์กับพันธกิจของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะมีคุณภาพถ้าสามารถบรรลุพันธกิจของมหาวิทยาลัย หรือตรงกับความคาดหวังของผู้ใช้บริการ

ในแง่ของปรัชญา"คุณภาพ"เป็นคำที่ดี เป็นคำที่แสดงการยอมรับมากกว่าที่จะปฏิเสธ ผลสัมฤทธิ์และคุณสมบัติของมหาวิทยาลัย ถูกเรียกร้องให้ใช้คุณภาพเป็นตัวชี้

การใช้คำว่า"คุณภาพ"แสดงถึงความรู้สึกที่ดี รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะดูคุณภาพจากการปฏิบัติ ชุมชนวิชาการมีแนวโน้มที่จะดูคุณภาพจากทัศนะ ที่แสดงถึงความพอใจของมหาวิทยาลัยด้วยกัน ส่วนระบบตลาดจะดูคุณภาพจากความพอใจของผู้บริโภค

คุณภาพของมหาวิทยาลัย อาจแสดงออกจากการพัฒนาสติปัญญาที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ทั้งในทางลึกและทางกว้าง ซึ่งดูได้จาก ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ความสามารถในการวิเคาระห์ตนเอง การประยุกต์ และความสามารถในการวิจารณ์ตนเอง

อย่างไรก็ตาม มาลคอล์ม เฟรเซอร์(Malcolm Frazer) ได้ให้ความหมายคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัยได้รวมความหมายของคำว่า ความมีประสิทธิผล(effectiveness) ความมีประสิทธิภาพ(efficiency) และความสามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้(accountability) เข้าไปไว้ด้วย

นั่นคือ คุณภาพของมหาวิทยาลัย นอกจากจะตรงกับความมุ่งหมายแล้ว ยังจะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความพอใจ

คุณภาพของมหาวิทยาลัย จึงเป็นคุณภาพของหน้าที่ และกิจกรรมทั้งหมดของมหาวิทยาลัยได้แก่

          1. คุณภาพการสอน การฝึกอบรม และการวิจัย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพของอาจารย์ โปรแกรมวิชาและทรัพยากรที่ใช้

          2.คุณภาพการเรียนรู้ ซึ่งสัมพันธ์กับการสอนและการวิจัย และรวมทั้งคุณภาพของนักศึกษา

          3.  คุณภาพการบริหารและการจัดการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ การสอน การเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมของการวิจัย

จะเห็นว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่การดำเนินการจะต้องตรงกับความมุ่งหมายเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย คุณภาพของมหาวิทยาลัยจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาจารย์ นักศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการ รวมทั้งคุณภาพของผู้บริหารหรือคุณภาพของการบริหารจัดการ ที่สามารถนำมหาวิทยาลัยไปสู่ความมุ่งหมายที่ตั้งไว้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                               สาระคิด

บทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา จะต้องสนับสนุนในเรื่องการให้ความคิด กำลังคน และบริการ เพื่อความเสมอภาคของมนุษย์ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                                                                                    Julius Nyerere
                                                                                            อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศแทนซาเนีย

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(3)

รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ คุปรัตน์ ได้เขียนรายงานการศึกษาเรื่อง"ระบบอุดมศึกษาไทย" เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาทิศทางอุดมศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ และจากรายงานเรื่องนี้สรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยมีสภาพและปัญหาดังนี้

1. การขาดพัฒนาการทางวิจัย การอุดมศึกษาโดยทั่วไป การวิจัยมีความจำเป็น แต่มหาวิทยาลัยของไทยไม่ให้ความสำคัญในการวิจัยมากนัก ปัญหาของการวิจัยที่เห็นได้ชัด คือ

          1.1 นักวิชาการที่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัย ไม่สามารถที่จะทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้

          1.2 การไม่พัฒนาการวิจัยทำให้ไม่มีการพัฒนาการเรียนการสอน การเรียนการสอนจึงเป็นกระบวนการเล่าของเก่า และการสอนที่ไม่มีการวิจัยเป็นการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

          1.3 ขาดการการจัดการเรื่องเงินและเครื่องมือเพื่อการวิจัย ตลอดจนขาดแรงจูงใจในการวิจัย

          1.4 เอกชนไทยไม่ให้ความสำคัญในบทบาทการวิจัยและการสร้างความรู้ใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย จึงอาศัยเทคโนโลยีจากตะวันตก ด้วยการซื้อโดยตรง รับจ้างผลิต และการร่วมทุน

          1.5 ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวิจัยจากรัฐบาลและวิธีการบริหาร

2. ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ มหาวิทยาลัยไทยมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้

          2.1 การเร่งผลิตทำให้ขาดการเตรียมความพร้อม

          2.2 ผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยขาดคุณภาพ เพราะการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาขาดคุณภาพ

          2.3 อาจารย์ผู้สอนไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณภาพแต่ไม่จริงจังในกระบวนการเรียนการสอน

          2.4 ระบบการเรียนการสอนยังเป็นระบบเดิม ทั้งๆที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

          2.5 ขาดการลงทุนที่เหมาะสม

          2.6  ขาดการจัดการที่ดีไม่มีคุณภาพ

          2.7 ไม่มีการตรวจสอบและการประเมินคุณภาพ

          2.8 ระบบการผลิตขาดการแข่งขัน ระบบการศึกษายังเป็นระบบผูกขาด

          2.9 กลไกของผู้บริโภคหรือตลาดแรงงานยังไม่พร้อมและขาดทักษะในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน

          2.10 สังคมและระบบราชการยังไม่เข้าใจเรื่องคุณภาพ เช่น ให้อัตราเงินเดือนโดยยึดปริญญาบัตร

3. ปัญหาเกี่ยวกับการบริหาร ลักษณะการบริหารของมหาวิทยาลัยมีลักษณะดังนี้

          3.1 อาจารย์และนักวิชาการมีเสรีภาพทางวิชาการมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถนำเสนอความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในคณะรัฐบาลได้

          3.2 มีระบบการปกครองของอาจารย์ โดยอาจารย์ และเพื่ออาจารย์

          3.3 การได้มาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้มาโดยการเลือกตั้ง

          3.4 มีการแต่งตั้งตำแหน่งทางบริหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดผลที่ตามมา คือ

                    3.4.1 การขาดวัฒนธรรมการบริหารด้วยมืออาชีพ ไม่มีการพัฒนาผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

                    3.4.2 ทำให้การบริหารเกิดการแตกแยก มีการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่อยู่ในฐานะที่ใช้คนดีมีความสามารถ กลายเป็นว่าต้องใช้คนที่มีบุญคุณต่อกันทางการเมือง สูญเสียประสิทธิภาพในการบริหาร

                    3.4.3 อาจารย์และบุคลากรเสียวินัยในการทำงาน ขาดการตอบสนองต่อสังคม กลายเป็นกลไกปกป้องตัวอาจารย์อีกระดับหนึ่ง เพราะในกรณีที่ไม่ทำงานให้ตอบสนองต่อมหาวิทยาลัยผู้บริหารก็ไม่กล้าทำอะไร

                    3.4.4 สูญเสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน ยิ่งปล่อยไปนานจะยิ่งล้าและยากแก่การเปลี่ยนแปลง เพราะอาจารย์เองจะกลายเป็นตัวอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน รู้สึกว่างานที่ทำไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีความหมาย ระบบค่าตอบแทนไม่ดึงดูดเพียงพอ ยิ่งทำให้เสียขวัญในการทำงาน

                    3.4.5 รัฐขาดกลไกการควบคุมการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพราะการได้ผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบสนองต่อรัฐ

                    3.4.6 สังคมภายนอกขาดการเชื่อมโยงกับภายในสถาบัน เพราะการเลือกตั้งผู้บริหารภายในเพื่อสนองภายใน งบประมาณที่ใช้จ่ายก็มีเงินของรัฐสนับสนุน ความรู้สึกที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากภายนอกก็น้อยลง

จะเห็นว่ารายงานเรื่อง"ระบบอุดมศึกษาไทย" ของรองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ คุปรัตน์ โดยสาระสำคัญมีความสอดคล้องกับผลงานการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก"ของศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุลและคณะ รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทัศนะของศาตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ที่กล่าวถึงวิกฤตการณ์มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึงพบว่ามหาวิทยาลัย มีปัญหาเรื่องบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย ดังรายละเอียดที่กล่าวมา

จริงอยู่ผลงานที่กล่าวมา เป็นผลงานที่ผลิตมาและนำเสนอหลายปีมาแล้ว แต่ไม่มีผลทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงมากนัก บางเรื่องอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้น บางเรื่องอาจถูกละเลยแม้เรื่องนั้นๆจะมีความสำคัญต่อการเป็นอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ก็ตาม จึงอยากจะถามผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติว่า ถึงเวลาที่จะปฏิรูปหาวิทยาลัยไทยอย่างจริงจังแล้วหรือยัง เพราะหากปล่อยไว้อย่างที่เป็นอยู่ มหาวิทยาลัยไทยก็จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ คงเป็นได้แค่แหล่งผลิตปริญญาบัตรขนาดใหญ่ของประเทศเท่านั้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารมหาวิทยาลัยที่อ่อนแอ ทั้งที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการแต่งตั้งผู้บริหาร แต่กลับยอมให้มีการใช้กฎหมู่และไม่รับผิดชอบ

                                                                                วิจิตร ศรีสอ้าน
                                                                                 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(2)

ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาไทยว่า การอุดมศึกษาไทยเริ่มต้นก่อน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลี แต่มหาวิทยาลัยต่างๆยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพที่จำเป็น

สำหรับสภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย ในทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา มีดังนี้

1. วิกฤตการณ์คุณภาพการศึกษา คุณภาพการศึกษาเน้นเนื้อหาวิชาการมากกว่าการสร้างวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์มาตลอด และยิ่งมีจำนวนนักศึกษามากขึ้น คุณภาพการศึกษายิ่งด้อยลงไปอีก และมีแนวโน้มจะด้อยมากขึ้น บัณฑิตมีความเข้มข้นทางวิชาการต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขาดควาสามารถในการแสวงหาความรู้ใหม่ด้วยตนเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

          1.1 มหาวิทยาลัยของไทยตั้งขึ้นในลักษณะมหาวิทยาลัยสอนเป็นหลัก
          1.2 การขยายตัวเชิงปริมาณเกิดขึ้นมาก และรวดเร็วกว่าการเพิ่มของทรัพยากรและประสิทธิภาพของระบบ

          1.3 ปรัชญาการศึกษาแคบและคลาดเคลื่อน เห็นมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียน เน้นเฉพาะวิชาและการเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก การศึกษานอกหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆถูกละเลย

2. มหาวิทยาลัยของรัฐได้รับเงินอุดหนุนน้อยเกินไปอย่างเรื้อรัง เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน  งบประมาณในการดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการพัฒนามีจำกัด จนการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก

          2.1 รัฐและสังคมยังเข้าใจอุดมศึกษาคลาดเคลื่อน โดยคิดว่าเป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่ทำหน้าที่สอนเป็นหลัก

          2.2 ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสำนักงบประมาณ ไม่ได้สร้างแนวคิดของการอุดมศึกษาที่ถูกต้องอย่างเข้มแข็งพอ สร้างมหาวิทยาลัยใหม่เพิ่มขึ้น จนละเลยมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เดิม

          2.3 ระบบสถาบันอุดมศึกษาไม่มีเอกภาพ ในหลายกรณีที่ขัดแย้งกันเอง

          2.4 มหาวิทยาลัยมีความอ่อนแอภายใน เนื่องจากมีความขัดแย้งและขาดความสามัคคี ประกอบกับระบบสรรหาผู้บริหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเลือกตั้ง

          2.5 อาจารย์นักวิชาการมีความคิดหลากหลาย ขัดกันเอง ไม่มีเอกภาพ เป็นกลุ่มพลังที่ไม่เป็นปึกแผ่น บางกรณีอาจารย์เรียกร้องกันมากเกินไป จนอาจทำให้เห็นว่าเป็นการมุ่งประโยชน์ส่วนตน

          2.6 นิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีพลัง แต่มองคุณภาพการศึกษาที่พึงประสงค์ไม่ออก หรือไม่กล้าที่จะเรียกร้องเกี่ยวกับการศึกษาของตน ระบบทุนการศึกษาและการช่วยเหลืออยู่ในวงจำกัดไม่ทั่วถึง

3. วิกฤตการณ์ด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการแต่กำลังขาดแคลนนักวิชาการ เพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษานักวิชาการไว้ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสติปัญญาดีให้เข้ามาเป็นอาจารย์ได้ สภาพของอาจารย์ที่เสื่อมถอยลงเป็นเหตุให้การบริหารงานบุคคลเสื่อมถอยลงไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้เงินตอบแทนต่ำ เน้นการสอนเป็นหลัก ตลอดจนขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ ขาดการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิชาการ

4. ระบบบริหารที่ด้อยประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุมาจากความอ่อนแอและความเสื่อม ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆต่อไปนี้

          4.1 การบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบที่ดีในการกำกับคุณภาพ  มีการรวบอำนาจมากกว่ากระจายอำนาจและหน้าที่ไปยังภาควิชาและสาขาวิชา ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่อธิการบี คณบดี ผู้อำนวยการหน่วยงาน ตลอดจนหัวหน้าภาควิชา ไม่สามารจัดการหรือกำกับดูแลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ

          4.2 การบริหารการเงิน ด้วยระเบียบการเงินของของราชการ ทำให้การจ่ายเงินไม่มีควาามคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ ข้าราชการและผู้บริหารมุ่งปฏิบัติตามระเบียบเพื่อปกป้องตนเอง ผู้บริหารระดับต่างๆขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารการเงิน

          4.3 การบริหารงานบุคคล มีการบริหารงานบุคคลที่ด้อยคุณภาพและประสิทธิภาพ

ทั้งหมดเป็นทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดี ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัยไทย จะเห็นว่าความเห็นของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลากับงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุลและคณะ มีความสอดคล้องกัน จนสามารถยืนยันได้ว่ามหาวิทยาลัยของไทยมีสภาพและปัญหาดังที่กล่าวมาและอยู่ในขั้นวิกฤต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ จากสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของไทย อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ และกำลังมีการจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

คุณภาพการศึกษา(ไทย)ไม่ได้มาตรฐาน บัณฑิตมีคุณภาพด้อยกว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน

                                                                                    อานันท์ ปันยารชุน
                                                                                                 อดีตนายกรัฐมนตรี

*********************************************************************************












วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(1)

ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ ได้ทำการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก" พบว่า สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย มีดังนี้

1. สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุด มีบทบาทในการพัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย แต่พบว่าสภามหาวิทยาลัยมีปัญหาดังนี้

          1.1 องค์ประกอบของกรรมการสภาในบางมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดปัญหาการครอบงำทางความคิดจากบุคคลภายในมหาวิทยาลัย

          1.2 สภามหาวิทยาลัยเลือกบุคคลภายนอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงจำกัด โดยเลือกเฉพาะบุคคลที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง

          1.3. การประชุมสภาใช้เวลาส่วนใหญ่พิจารณาแต่เรื่องภายในมหาวิทยาลัย โดยไม่ใช้เวลาพูดถึงนโยบายหรือแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย

          1.4. สภาไม่ใช้อำนาจออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย

2. หน้าที่ นโยบาย และเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีการกำหนด หน้าที่ นโยบาย และเป้าหมายที่ชัดเจน มีผลทำให้

          2.1. การเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยไร้ทิศทาง

          2.2. การใช้ทรัพยากรมีความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง

3. การแบ่งส่วนราชการและโครงสร้างการบริหาร โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยถอดแบบมาจากตะวันตก คือ แบ่งเป็นภาควิชา คณะ สถาบัน เป็นต้น พบว่ามีการแบ่งภาควิชาและคณะมากเกินจำเป็น ทำให้เกิดการแบ่งแยก ยากที่จะประสานความร่วมมือ ประสานวิชา และประสานหลักสูตร

4. ผู้บริหาร ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยแทบจะทุกระดับและเกือบทั้งหมด ไม่ได้เรียนรู้ด้านบริหาร การบริหารในมหาวิทยาลัยจึงใช้ประสบการณ์เป็นหลัก ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับผู้บริหารมีดังนี้

           4.1. สภาไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการสรรหาให้ได้คนดีมีฝีมือเข้ามาบริหาร

          4.2. การสรรหาที่ใช้ระบบเลือกตั้งเป็นหลัก สร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความแตกแยก ขาดความร่วมมือในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้า

          4.3. ผู้บริหารที่ไม่มีระบบ มักจะถูกชักนำจากข้าราชการชั้นผู้น้อย

          4.4. ผู้บริหารมักจะมีวาระการดำรงตำแหน่งสั้น เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง

5. หลักสูตร โดยทั่วไปหลักสูตรจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และค่อนข้างจะซ้ำซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรมีดังนี้

          5.1. หลักสูตรขาดความหลากหลาย ส่วนใหญ่เลียนแบบซึ่งกันและกัน มีความคล้ายคลึงกัน

          5.2. หลักสูตรขาดความยืดหยุ่น ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างเสรีเพียงพอ

          5.3 หลักสูตรล้าสมัย

          5.4. หลักสูตรจำนวนมากลอกเลียนหรืออ้างอิงจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย

          5.5. หลักสูตรไม่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดความคิดเชิงบูรณาการ

          5.6. หลักสูตรนานาชาติมีน้อย ทำให้ไม่เป็นสากล

          5.7 อาจารย์ไม่เข้าใจการปรับหลักสูตรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก

6. คุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอน คุณภาพของอาจารย์คือคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอนมีดังนี้

          6.1. อาจารย์ที่มีคุณภาพด้านการสอนและผลงานวิจัยมีจำนวนน้อยมาก

          6.2. ไม่มีมาตรการที่ดีพอที่จะขจัดอาจารย์ที่ไร้คุณภาพ ภายใต้ระบบราชการและสังคมวัฒนธรรมไทย

          6.3. ตำราอันเป็นสื่อการสอนหลักมีคุณภาพต่ำ

          6.4. การลงทุนเพื่อการวิจัยมีน้อย ทำให้องค์ความรู้ไทยมีน้อย

          6.5. ห้องสมุดไม่ทันสมัย

          6.6. วิธีสอนของอาจารย์ใช้แบบเดิมๆ คือถ่ายทอดความรู้

          6.7 วิกฤตศรัทธาต่ออาชีพอาจารย์ตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถจูงใจให้คนดีมาเป็นอาจารย์

          6.8 มาตรการกำหนดกำลังคนของภาครัฐ มีผลทำให้ขาดแคลนอาจารย์และบุคลากกรสนับสนุน
ทั้งด้านวิชาการและธุรการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          6.9 ขาดกลไกการพัฒนาคุณภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

7. การวิจัย รัฐลงทุนเพื่อการวิจัยต่ำ ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ

8. ความขาดแคลนบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐมีสาเหตุมาจาก

          8.1. ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะการขาดแคลนกำลังคน เริ่มปรากฎให้เห็นตั้งแต่แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 แล้ว

          8.2. การจำกัดอัตรากำลังของรัฐที่ใช้กับทุกหน่วยราชการ มีผลทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากร

          8.3 การบริหาจัดการไม่ดี ใช้กำลังคณาจารย์เกินความจำเป็น และไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งแต่งตั้งรองอธิการบดีถึง 15 คน และ พบว่าได้สูญเสียคณาจารย์เพื่อไปทำหน้าที่บริหารมากกว่าร้อยละ 30

งานศึกษาวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก"นี้ เป็นงานวิจัยที่ได้มีการเผยแพร่ในปี พ.ศ.2540 แต่ไม่พบว่า ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยของไทยมากนัก ยกเว้นเรื่องอาคารสถานที่ และการขยายวิทยาเขต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

  อาจารย์มหาวิทยาลัย(ไทย)มีอยู่ 3 ประเภท คือมีความรู้และมีความรับผิดชอบ

  มีความรู้แต่ใช้ข้างนอกมหาวิทยาลัย และ ไม่มีความรู้

                                                                                                                   เกษม สุวรรณกุล

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นเรื่องคุณภาพมหาวิทยาลัย ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ผู้ร่วมอภิปรายมีทั้งบรรดารัฐมนตรี ข้าราชการ นายจ้าง และคนในวงการธุรกิจ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้เพิ่มความสนใจเกี่ยวกับผลผลิตของมหาวิทยาลัย ว่าสังคมได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่

ความสนใจอยู่ที่ว่า จะรักษาและปรับปรุงระดับการเรียนรู้และการสอนในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นได้อย่างไร แสวงหาวิธีการให้ผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร มีวิธีการจูงใจหรือหลักประกันอะไรว่ามหาวิทยาลัยจะทำงานเต็มสมรรถนะเพื่อการประกันคุณภาพของผู้จบการศึกษาหรือไม่

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนนักศึกษา ตลอดจนขนาดและความหลากหลายของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องคุณภาพได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ประกอบกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลและวงการอุตสาหกรรม เชื่อว่ามหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการผลิตและการบริการ ซึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญดังกล่าวได้ตือ คุณภาพ ความสอดคล้อง และความยืดหยุ่น

ในประเทศออสเตรเลีย นักการเมืองและนักอุตสาหกรรม ย้ำว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยจะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถแข่งกับนานาชาติได้ การพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญปัญหาหนึงของออสเตรเลีย

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ตกอยู่ท่ามกลางความวิกฤติ คุณภาพการสอนและการเรียนต่ำกว่ามาตรฐานของนานาชาติมาก กิจกรรมการวิจัยได้รับทุนอุดหนุนน้อย และมีคำถามเรื่องความถูกผิดอยู่เสมอ

สิ่งที่ปรากฎให้เห็นในมหาวิทยาลัยของประเทศกำลังพัฒนา คือการมีนักศึกษามากเกินไป อาจารย์ไม่พอ สิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพเสื่อมสภาพลง ทรัพยากรในห้องสมุดคุณภาพต่ำ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์มีไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพภายในต่ำ บัณฑิตไม่มีงานทำ ผลิตบัณฑิตที่ทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้น้อย

ซึ่งสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีสาเหตุมาจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ

ประเด็นทรัพยากรมีไม่เพียงพอ เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างมากที่สุด ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม

2. อาจารย์ 

ปัญหาอาจารย์เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งในหลายประเทศ ซึ่งได้แก่ปัญหาขาดแคลนอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ที่มีคุณภาพ อันมีผลทำให้สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เป็นที่น่าพอใจ

บางประเทศมีปัญหาเรื่องสมองไหลจากมหาวิทยาลัยไปสู่เอกชน ซึ่งให้เงินเดือนสูงกว่า มีการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนระบบคุณธรรม และที่เหนือกว่านั้น คือการที่อาจารย์ไปทำงานในต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยในทวีปแอฟริกาบางประเทศ อาจารย์ยังคงทำงานอยู่กับมหาวิทยาลัย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ค้าขายหรือทำธุรกิจอื่นเพื่อหารายได้เพิ่ม อาจารย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่พยายามปรับปรุงคุณภาพการสอนให้ดีขึ้น หรือทำให้นักศึกษามีความรู้ที่ทันสมัยขึ้น เกิดภาวะสมองรั่วซึม(brain leakage)

นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง อุทิศเวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการทำงานกับพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่ยังดำรงตำแหน่งอาจารย์อยู่

พฤติกรรมของอาจารย์ที่กล่าวมานี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นพฤติกรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาแทบจะทุกประเทศก็ว่าได้

3. การสอน

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากจะมีวิธีสอนและหลักสูตรที่ล้าสมัยแล้ว วิชาต่างๆยังไม่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพัฒนาอีกด้วย ขาดตำราเรียนและสื่อการเรียนอย่างรุนแรง และที่สำคัญคือ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานการสอน

พฤติกรรมการสอนในห้องเรียนมีลักษณะอำนาจนิยม ทำให้นักศึกษาไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ วิธีสอนส่วนใหญ่ เป็นการให้นักศึกษาอ่านแผ่นปลิวที่เตรียมไว้เพื่อการบรรยาย เป็นแผ่นปลิวที่มีการถ่ายสำเนาเพื่อขายนักศึกษา 

การสอบ ปกติจะใช้แบบตัวเลือกหลายตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาระในการตรวจให้คะแนน โดยข้อสอบจะมาจากเนื้อหาในแผ่นปลิวที่ขายนักศึกษานั่นเอง จึงไม่เพียงแต่นักศึกษาเท่านั้นที่อ่านหนังสืออื่นน้อย อาจารย์เองก็แทบจะไม่ได้อ่านหนังสืออื่น นอกเหนือจากตำราที่ใช้เตรียมการสอนไม่เกิน 2-3 เล่ม

4. ประสิทธิภาพภายในต่ำ

ในระบบมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะก้าวหน้าไปอย่างช้าๆและมีอัตราการก้าวหน้าต่ำ ขาดความสมดุลระหว่างบัณฑิตที่จบการศึกษากับระบบต่างๆที่ขยายการรับนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนามากนัก ซึ่งได้แก่ สาขาวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งในการผลิตบัณฑิตสาขาเหล่านี้ได้ใช้งบประมาณซึ่งควรจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศสาตร์และเทคโนโลยี จนทำให้เกิดปัญหาว่างงานของผู้จบการศึกษา และในบางประเทศนักศึกษาจะต้องใช้เวลา 7-8 ปี หรือมากกว่านั้น เพื่อเรียนให้จบหลักสูตรที่สามารถเรียนได้จบในเวลา 4-5 ปี แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม

5. การนิเทศในมหาวิทยาลัยเอกชนมีน้อยและขาดประสิทธิผล

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมมือเพื่อจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนน้อย

เกี่ยวกับสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา ธนาคารโลกได้เชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสของมหาวิทยาลัยจากประเทศกำลังพัฒนา 22 ประเทศ ตัวแทนองค์การนานาชาติ และสมาคมมหาวิทยาลัยต่างๆมาประชุมสัมมนา และได้ข้อสรุปว่า วิกฤตการณ์ของมหาวิทยาลัยอันดับแรก คือ วิกฤตการณ์ของคุณภาพ อันเกิดจากข้อจำกัดทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งสมรรถนะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยประยุกต์ไม่สอดคล้องกับปัญหาการพัฒนา การจะสร้างคุณภาพขึ้นมาจะต้องแก้ปัญหาการคัดเลือก ปรับโครงสร้างของสถาบันให้มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย ในขณะเดียวกันจะต้องสร้างวัฒนธรรมการประเมินขึ้นมาในมหาวิทยาลัย

ในส่วนของธนาคารโลกเองก็ได้เสนอแนวทาง เพื่อช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ ซึ่งได้แก่ การเลือกระหว่างการสอบคัดเลือกกับคุณภาพ ความมีอิสระกับการเข้าไปตรวจสอบได้ ความยุติธรรมกับประสิทธิภาพ ทุนอุดหนุนจากรัฐกับเอกชน และการวิจัยพื้นฐานกับการวิจัยประยุกต์ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งมีทรัพยากรจำกัดจำเป็นจะต้องเลือก เพราะมิฉะนั้นจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ เป็นทรัพยากรที่มีค่าน้อย

ฉะนั้น ไทยในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จะพบว่าสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยของไทยไม่ค่อยแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆมากนัก   อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ฉะนั้น ถ้านำผลการสัมมนาและข้อเสนอแนะของธนาคารโลกไปปรับใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

คุณภาพของมหาวิทยาลัย ไม่เหมือนกับการทำให้ลูกค้าพอใจแบบเดียวกับพอใจรถยนต์รุ่นล่าสุด คุณภาพของมหาวิทยาลัยจะต้องรวมเอาความหมายของคำว่า ความมีประสิทธิผล(effectiveness) ความมีประสิทธิภาพ(efficiency) และความสามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้(accountability)เข้าไว้ด้วย

                                                                                 Malcolm Frazer
                                                               
*********************************************************************************




วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย

หลักใหญ่ๆที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารมหาวิทยาลัย ก็เพื่อการประกันคุณภาพ การตรวจสอบ และการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเพื่อความแน่ใจว่าการศึกษาอบรมกำลังคนที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ ได้สนองตอบความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่อย่างไร

โดยรัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องงบประมาณ  การรับนักศึกษาเข้าเรียน ตลอดจนการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพ คุณภาพ และการยอมรับนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย

การเข้าไปมีบทบาทของรัฐบาลในระบบอุดมศึกษานั้น จะต้องเพื่อการส่งเสริมความมีอิสระด้วย อันได้แก่ ความอิสระขององค์การ ความอิสระทางวิชาการ ความอิสระทางการเงิน เป็นต้น นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้นวัตกรรม อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นโดยรวม

ฉะนั้น ตัวแบบของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม ในการที่จะส่งเสริมให้มีลักษณะดังกล่าวในประเทศกำลังพัฒนา คือ ตัวแบบที่รัฐกำกับดูแล(the state supervising model) อันเป็นตัวแบบที่มห่วิทยาลัยมีความอิสระ แต่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

เป็นตัวแบบที่มหาวิทยาลัยมีอิสระพอที่จะกำหนดเป้าหมายและโปรแกรมวิชาของตน มีอิสระพอที่จะตัดสินใจว่า อะไรควรสอน อะไรควรวิจัย และควรสอนและวิจัยอย่างไร โดยปราศจากการกดดันของรัฐบาล

เพราะความอิสระโดยปราศจากการเข้าไปตรวจสอบ จะทำให้มหาวิทยาลัยแยกตัวออกไปจากภาคการผลิตและความต้องการของสังคม ไม่สามารถสนองตอบสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานได้

การกำกับดูแลของรัฐบาล จะต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำสิ่งใหม่ๆมาใช้ในระบบ ตลอดจนทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการเข้าไปยุ่งเกี่ยวของรัฐบาลกับความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย

ในประเทศกำลังพัฒนา การกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบต่อสังคม อันเนื่องมาจากการที่มหาวิทยาลัยใช้เงินอุดหนุุนของรัฐบาลที่มีอยู่จำกัด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ปัญหาจากการใช้กฎเกณฑ์กับมหาวิทยาลัย จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัด มากกว่าที่จะใช้เพื่อเพื่อการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยเกิดความยืดหยุ่นและมีทางเลือก ซึ่งลักษณะการใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัดกับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการรักษาสภาพเดิมๆไว้ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

กล่าวโดยสรุปก็คือ มหาวัทยาลัยภายใต้กำกับของรัฐบาลนั้น หมายถึง การที่รัฐบาลสามารถเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวกับเป้าหมาย เนื้อหา มาตรฐานการสอนและการวิจัย รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบถึงประสิทธิผลและค่าใช้จ่าย ว่านำไปสู่ผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งท้าทายที่เผชิญหน้ามหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา คือการทบทวนความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย โดยรัฐบาลเพียงแต่กำนดกฎเกณฑ์ทั่วไป ไม่ลงในรายละเอียด เพื่อสถาบันจะได้ใช้ความอิสระให้เกิดประโยขน์ในการผลิตกำลังคน ตามความต้องการของตลาดแรงงาน และมหาวิทยาลัยเองควรพยายามเพิ่มความสามารถในการใช้นวัตกรรมให้มากที่สุด ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดโดยรัฐบาล      

นั่นคือ ความมีอิสระของมหาวิทยาลัย  เป็นความอิสระที่จะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล มิฉะนั้นแล้ว การดำเนินการของมหาวิทยาลัยจะโดดเดี่ยว ไม่ผูกพันกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ทำให้ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ผลที่สุด มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยเป็นลักษณะที่รัฐบาลผ่อนคลายการควบคุม เพื่อความอิสระของมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีการเข้าไปตรวจสอบ  และปรับปรุงการบริหารจัดการแบบกึ่งเอกชน(quasi private)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                 การศึกษาในโลกมีลักษณะเป็นหมาหางด้วน

                                 คือ สอนแต่หนังสือและอาชีพ ไม่สอนการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง

                                                                                                        พุทธทาส ภิกขุ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัยกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระบวนการพัฒนาในปัจจุบัน มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานที่สำคัญ มีผลทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องสร้างองค์ความรู้ที่มีฐานอยู่บนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาและขยายสมรรถนะการวิจัยที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนั้น ยังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่จะต้องเข้าไปร่วมในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ ที่อาศัยกลไกการตลาดและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้ตลาดไร้พรมแดนมีคววามสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

ประเทศที่ไม่สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนใหญ่เนื่องจากกำลังแรงงานมักจะขาดทักษะและความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของผลิตภาพทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขัน

มหาวิทยาลัยจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาอบรมกำลังแรงงาน ตลอดจนสร้างสรรค์ความรู้และวิจัยที่จำเป็นต่อการเพิ่ม และการใช้เทคโนโลยีที่สนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม

แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก มักจะมีความอ่อนด้อยทางเทคโนโลยี และมีปัญหามากมายจนไม่สามารถปรับปรุงสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้ดีขึ้นได้

อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา คือสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนและการฝึกอบรมที่ไม่เหมาะสม ขาดแคลนวารสาร วัสดุอ้างอิง ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องปฏิบัติการ

เมื่อการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์และวิชาชีพชั้นสูงมีความไม่เหมาะสม ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหันไปเพิ่มการรับนักศึกษาในสาขาเดิมๆ ซึ่งได้แก่ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกและง่ายต่อการสอน โดยใช้สิ่งอำนวนความสะดวกที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาโครงสร้างทางวัตถุสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะต้องเริ่มด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจเป็นเบื้องต้น

การขาดวัฒนธรรมของผู้ประกอบการ การขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาล จะเพิ่มอุปสรรคต่อการวิจัยแบบยั่งยืน รวมทั้งสมรรถนะในการพัฒนา

บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมสมรรถนะการสอน และระดับบัณฑิตศึกษาจะต้องสร้างองค์ความรู้และการวิจัยที่ก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน  จะต้องยอมรับและให้ความสำคัญในการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประชาชนทั่วไป ด้วยการปรับปรุงการสอนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษาทั้งหมด

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างของประเทศที่มุ่งใช้ระบบอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยเชิงประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนเริ่มด้วยการพัฒนาอาจารย์เป็น 2 แบบ คือ อาจารย์สอนซึ่งใช้เวลาเพื่อการสอนร้อยละ 70 และเพื่อการวิจัยร้อยละ 30  กับอาจารย์วิจัยซึ่งใช้เวลาร้อยละ 70 เพื่อการวิจัย และใช้เวลาร้อยละ 30 เพื่อการสอน ผลก็คือ ทำให้จีนสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปได้ด้วยดีประเทศหนึ่ง

นั่นก็คือ การจะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าไปได้ มหาวิทยาลัยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการส่งเสริมสมรรถนะการสอน การสร้างองค์ความรู้และการวิจัยที่ก้าวหน้า ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องยอมรับและให้ความสำคัญในการปรับปรุงการสอนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมด การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงจะประสบความสำเร็จ และก้าวทันเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

การประเมินผลของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการกรองและการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งหมดของ

มหาวิยาลัยให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อการลงโทษหรือผูกพันกับการจัดสรรทรัพยากรใดๆ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัย:เครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่

ในระบบเศรษฐกิจที่มีสารสนเทศเป็นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแหล่งของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทในฐานะที่เป็นแหล่งของผลิตภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน

แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาและวัฒนธรรมของแรงงาน และการเชื่อมโยงระหว่างทักษะทางการใช้ปัญญากับศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจยุคสารสนเทศเป็นเศรษฐกิจของโลก เศรษฐกิจของประเทศต่างๆขึ้นอยู่กับการติดต่อส่วนอื่นของโลก บนพื้นฐานของระดับการติดต่อสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานการผลิต และทักษะของแรงงาน

โรงงานอุตสาหกรรมแบบใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะสามารถดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อได้มีการพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสต์และระบบเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนรูปไปจากเดิม เนื่องจากการเพิ่มความสัมพันธ์ของตลาดนานาชาติและการปฏิวัติเทคโนโลยี ตลอดจนมีกระบวนการผลิตอันเกิดจาการค้นพบสิ่งใหม่ๆและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

จากรายงานของธนาคารโลก ยืนยันว่า โอกาสที่ประเทศต่างๆจะพัฒนาอย่างรวดเร็วมีมากกว่าในอดีต ทั้งนี้ เพราะการเชื่อมโยงกับนานาชาติในรูปของการค้า และการไหลของสารสนเทศประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง เกิดจากความก้าวหน้าและการลงทุนทางเทคโนโลยี ยา วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดเทคโนโลยีจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆมีกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ที่สามารถรับการสนับสนุนและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนา กล่าวคือ

          1. มีระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมที่เพียงพอ สามารถเชื่อมโยงกับระบบของโลก

          2. แรงงานมีทักษะ โดยช่างเทคนิค วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ มีความสามารถที่จะประยุกต์ใช้ทักษะของประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

          3. มีสถาบันวิจัย ที่สามารถรับสิ่งที่ค้นพบจากประเทศที่มีความก้าวหน้า และสามารถประยุกต์ใช้ได้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของประเทศ และค่อยๆเพิ่มความสามารถที่จะร่วมเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์กับนานาชาติ

         4. มีระบบสถาบัน ที่สามารถเชื่อมโยงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการใช้และการฝึกอบรมกำลังแรงงานในลักษณะของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ดังนั้น เพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะต้องผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี อันได้แก่ พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทักษะทางวิทยาศาสตร์และความสามารถที่จะเรียนรู้  มีกิจกรรมการวิจัยและการพัฒนาที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยงกระบวนการสร้างความรู้ทั่วโลก

การที่มหาวิทยาลัยจะเพิ่มบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีนำนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ตามความต้องการทางเศรษฐกิจ ที่ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีที่สำคัญต่อการส่งเสริมการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนมากมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เป็นความก้าวหน้าเชิงปริมาณ ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อการพัฒนาได้ แม้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะเก่งทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมได้

เพื่อให้มหาวิยาลัยได้รับการยอมรับว่า เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนา จะต้องเริ่มด้วยการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์วิชาการเพื่อการเรียนรู้และการวิจัย มีการให้การศึกษาทุกระดับทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา เปิดสาขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสต์ และวิทยาลัยการอาชีพชั้นสูง

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเน้นการวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยยกระดับการผลิตของประเทศ การวิจัยจะต้องเกี่ยวข้องทั้งเครือข่ายวิทยาศาสตร์ของโลกและความจำเป็นเฉพาะ ตลอดเจนโครงสร้างการผลิตของประเทศ

มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องมีหน่วยงาน ที่มีหน้าที่และความสามารถเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน เช่น ศูนย์สารสนเทศ โครงการการแลกเปลี่ยนนานาชาติ สำนักถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ตลอดจนเครือข่ายวิสาหกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งการการดำเนินการในลักษณะนี้ได้ มหาวิทยาลัยจะต้องมีอาจารย์และนักวิจัยที่มีคุณภาพชั้นยอด

กล่าวโดยสรุปจะได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจยุคสารสนเทศคือ สมองของมนุษย์และความสามารถที่จะเชื่อมโยงระหว่างสมองของสังคมนั้นๆกับสมองของโลก ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ เป็นหน้าที่อันสำคัญของมหาวิทยาลัย หากประเทศใด มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำภารกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

การดำเนินการของมหาวิทยาลัย หากไม่ผูกพันระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบวัฒนธรรมของ

ประเทศ มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ไร้ประโยชน์ต่อการพัฒนา

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ลักษณะที่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยควรจะมี

นักศึกษาที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย นอกจากจะมีความรู้และทักษะที่จำเป็นแล้ว อาเธอร์ ชิคเคอริง(Arthur Chickering) เห็นว่า ควรจะมีความเจริญเติบโตและมีวุฒิภาวะในทิศทางต่อไปนี้

1.การพัฒนาสมรรถนะ ได้แก่ สมรรถนะทางกาย ปัญญา จิตใจ และสมรรถนะทางสังคมที่จำเป็นต่อการเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะ

2. การจัดการกับอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารณ์ของตนเอง ในสถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มากระทบ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่รุนแรง ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศของนักศึกษาอื่น

3. การพัฒนาความเป็นอิสระ คือ ความสามารถในการกำหนดกฎเกณฑ์และระบบค่านิยมให้กับตนเอง ตลอดจนมีทักษะในการใช้ทักษะอย่างเป็นระบบ รู้จักกำหนดปัญหาและรูปแบบในการตัดสินใจ

4. การส่งเสริมเอกลักษณ์ คือ การเข้าใจถึงลักษณะทางกายภาพและเพศของตน ตลอดจนการสร้างลักษณะเฉพาะตนขึ้นมา

5.การเป็นอิสระในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หมายถึง การยอมรับ การอดทน ในการพัฒนาวุฒิภาว และสร้างความสัมพันธ์กับนักศึกษาและบุคคลอื่น

6. การพัฒนาความมุ่งหมาย เป็นการพัฒนาทิศทางการแสวงหาผลประโยชน์ และรูปแบบชีวิตของตนเอง

7. การพัฒนาบูรณาการ หมายถึง การสร้างความสอดคล้องระหว่างความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมส่วนบุคคล ให้มีลักษณะผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว

เหล่านี้ เป็นลักษณะที่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจะพึงมี นอกเหนือจากความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เพื่อการเป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

อย่างไรก็ตาม จากการให้คำปรึกษาแก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆของโลก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ พบว่า สภาพต่างๆเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ

          (1) ระบบมหาวิทยาลัยได้โดดเดี่ยวจากสังคม

          (2) มีการขยายมหาวิทยาลัยในเชิงปริมาณอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อคุณภาพของกระบวนวิชา

         (3) ทรัพยากรทางการศึกษาที่หายากอยู่แล้ว ยังกระจุกตัวอยู่ที่สาขาวิชาไม่กี่สาขาอีกด้วย

         (4) มหาวิทยาลัยได้สูญเสียการผูกขาดในการสร้างสรรค์ความรู้

         (5) นักวิทยาศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ได้อพยพไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม เพื่อแสวงหาสถานภาพที่ดีกว่า ทั้งเพื่อการทำงานและการวิจัย

นั่นหมายถึงว่า มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เกิดการแยกตัวจากสังคม คุณภาพต่ำ ไม่สามารถสร้างความรู้ใหม่ เพื่อบริการทางวิชาการแก่ชุมชน

ท้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่บ้างได้อพยพไปทำงานในประเทศอุตสาหกรรมที่ให้สถานภาพและบรรยากาศการทำงานที่ดีกว่า

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีสถาพดังกล่าว เป็นเรื่องยากที่นักศึกษาที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยจะมีความรู้ ทักษะ มีการเจริญเติบโต และมีวุฒิภาวะไปในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ จึงเป็นความจำเป็นอันดับแรกที่มหาวิทยาลัยจะต้องแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตกำลังคนได้ตามที่สังคมต้องการ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

            การพัฒนาไปสู่ความพอใจของผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา ผู้ปกครองนักศึกษา ศิษย์เก่า
            อาจารย์ หรือนายจ้าง เป็นเป้าหมายเบื้องต้น ที่จะทำให้เกิดคุณภาพในมหาวิทยาลัย

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

อำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย

ความเป็นอิสระ(autonomy) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อบทบาทการทำงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ ความเป็นอิสระขององค์การ ความอิสระทางวิชาการ และความอิสระทางการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม ความมีอิสระดังกล่าวนี้จะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล มิฉะนั้น การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจะโดดเดี่ยว ไม่ผูกพันกับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศ  มีผลทำให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ผลที่สุด มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะว่างงานของผู้มีการศึกษา

การทำงานของมหาวิทยาลัย นอกจากจะต้องทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม จะต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังจะต้องมีความโปร่งใส สามารถเข้าไปตรวจสอบได้(accountability)

ด้วยเหตุนี้ การบริหารมหาวิทยาลัยจึงต้องมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย คำถามจึงมีว่า ใครควรมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบจะมีความแตกต่างกันไป

คำตอบหนึ่งมีว่า ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์(interest) ส่วนอีกคำตอบหนึ่งเห็นว่า ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารควรเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุน(contribution)มหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อรวมคำตอบทั้งสองเข้าด้วยกัน จะได้ว่า ผู้ควรมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย ควรประกอบด้วย "ผู้ได้รับผลประโยชน์" และ "ผู้ให้การสนับสนุน"มหาวิทยาลัยนั่นเอง

เบอร์ตัน คลาร์ค (Burton Clark) และ เทด โยน(Ted Youn) ได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับว่า ใครควรมีอำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย และได้ผลสรุปว่า  โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการหรือผู้บริหารสถาบันมีอำนาจมากที่สุด ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลมีอำนาจบริหารเท่ากับคณะวิชาหรือคณาจารย์ ส่วนในสหราชอนาจักร คณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจมากที่สุด

แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อำนาจการบริหารได้เปลี่ยนไป การบริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมีอำนาจเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหรือผู้บริหาร คณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจลดลง แต่โดยภาพรวมแล้วคณะกรรมการหรือผู้บริหารมีอำนาจมากที่สุด ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ คณะกรรมการหรือผู้บริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้น ส่วนรัฐบาลและคณะวิชาหรือคณ่จารย์มีอำนาจลดลง โดยภาพรวมคณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจมากที่สุด ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยในสหราชอณาจักร รัฐบาลและคณะกรรมการมีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยคณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจลดลง โดยภาพรวมแล้ว รัฐบาลมีอำนาจมากที่สุด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การบริหารมหาวิทยาลัยในยุโรปแผ่นดินใหญ่ ได้ลดอำนาจของรัฐบาลลง ในสัดส่วนค่อนข้างมาก แต่ในสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มอำนาจรัฐบาลในสัดส่วนที่มาก ในขณะที่ลดอำนาจคณะวิชาหรือคณาจารย์ลงมากเช่นกัน ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่มากนัก ส่วนอำนาจของคณะวิชาหรือคณาจารย์มีน้อยที่สุดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงระยเวลาในการใช้อำนาจเพื่อการบริหารมหาวิทยาลัย อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะแรก มหาวิทยาลัยมีขนาดเล็ก โครงสร้างและทรัพยากรไม่ซับซ้อน อาจารย์ทำหน้าที่สอนและอยู่ในระบบโดยยึดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

ระยะที่สอง มหาวิทยาลัยมีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐบาลเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหาร

ส่วนระยะที่สาม เป็นสถานการณ์บริหารในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งได้ 2 รูปแบบย่อย คือ

          1) รูปแบบที่มุ่งตลาด เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างจะมีอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล อำนาจการบริหารและความรับผิดชอบอยู่ที่มหาวิทยาลัยและผู้นำของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีอำนาจมากที่สุด

          2) รูปแบบที่อำนาจและความรับผิดชอบในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆอยู่ที่รัฐบาลและคณกรรมการของมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย มากกว่าผู้บริหารหรือผู้นำของมหาวิทยาลัย

อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบแรกเป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ส่วนรูปแบบหลัง เป็นรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ในหลายประเทศ

นั่นคือ ในการบริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารหรือสภามหาวิทยาลัยควรประกอบด้วย ผู้ได้รับประโยชน์ และผู้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยจะมีอิสระได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ระยะเวลา ขนาด และ สถานการณ์  แต่ความมีอิสระจะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล และที่สำคัญกว่าการมีอิสระในการบริหาร ก็คือการดำเนินงานมหาวิทยาลัยจะต้องผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็จะเป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ไม่มีประโยชน์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                           ความเป็นอิสระ หากใช้อย่างไม่มีขอบเขต จะนำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบ                   

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

นาถกรณธรรม 10 หลักธรรมที่ใช้ปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเอง

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีลักษณะเป็นเหตุผลนิยม อเทวนิยม และปฏิบัตินิยม เป็นศาสนาที่สอนให้คนเชื่ออย่างมีเหตุผล พิสูจน์ได้ ไม่เชื่อว่าเทพเจ้าจะมีอำนาจเหนือการกระทำของมนุษย์ และความสำเร็จต่างๆเกิดจากการปฏิบัติตน ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน 

นั่นคือ ความสำเร็จหรือความสมหวังทั้งหลายเกิดจากการกระทำของตนเอง ไม่ได้เกิดจากสิ่งศักดิสิทธื์หรือเทพเจ้าองค์ใด

สำหรับหลักธรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงนำไปปฏิบัติแล้วสามารถพึ่งตนเองได้ หรือหลักธรรมที่ปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเอง คือ นาถกรณธรรม ซึ่งมี 10 ประการ ได้แก่

          1. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย มีความประพฤติดี ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น

          2. พาหุสัจจะ คือ การได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มีข้อมูลมาก

          3. กัลยาณมิตตตา  คือการมีเพื่อนดี รู้จักคบคนดี

          4. โสวจัสสตา คือ การเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำ

          5. กิงกรณีเยสุ ทักขตา คือ การเป็นผู้มีความขยัน มีความเอาใจใส่ขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรองจนสามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย

          6. ธัมมกามตา คือ มีความใคร่ในการปฏิบัติธรรม ชอบแสวงหาความจริง

          7. วิริยารัมภะ  คือ วิริยะ มีความเพียร ขยัน จิตใจเข้มแข็ง สู้กิจสู้งาน มีความรับผิดชอบ

          8. สันตุฏฐี คือ ความสันโดษ  มีความพอใจด้วยของๆตน รู้จักพอ ไม่ฟุ้งเฟ้อ

          9. สติ คือ ความระลึกได้ มีสติมั่นคง คุมตัวเองได้ รอบคอบ ไม่ประมาท ทันต่อเหตุการณ์

          10 ปัญญา คือ ความรอบรู้ มีปัญญาเหนืออารมณ์ มีปัญญาเป็นที่พึ่งของตน

นาถกรณธรรม นี้ เป็น พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณความดีทั้งหลายที่ก่อประโยชน์แก่ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้สำเร็จอย่างกว้างชาง

ธรรมะทั้ง 10 ประการนี้ แต่ละข้อล้วนสร้างที่พึ่งให้แก่ผู้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้หลายข้อ หรือทั้ง 10 ข้อ ก็จะยิ่งสร้างที่พึ่งให้ตนเองได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใครอื่น ฉะนั้น ผู้ใดที่อยากจะเป็นบุคคลที่พึ่งตนเองได้ จะต้องปฏิบัติตามนาถกรณธรรม 10 อย่างจริงจัง แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                        มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก

                                                                                                 พุทธสุภาษิต

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

การมีเพื่อนสนิท การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและครอบครัว จะทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในสมรรถนะและคุณค่าของตน 

เพราะบุคคลเหล่านั้นจะช่วยให้ตนประสบความสำเร็จ ด้วยการให้ข้อมูลที่มีคุณค่า ช่วยแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ยาก ช่วยฟังปัญหาและให้ข้อมูลป้อนกลับ ช่วยในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดจนช่วยให้สามารถต่อสู้กับการท้าทายและบรรลุเป้าหมายในที่สุด ด้วยเหตุนี้ การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

สำหรับเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีดังนี้

1. เชิ้อเชิญผู้อื่น การจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่ารอเพื่อรับการเชื้อเชิญ แต่จะต้องเริ่มด้วยการเชิญผู้อื่นทำสิ่งต่างๆร่วมกัน เช่น เชิญเพื่อนร่วมงานมารับประทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เพราะมนุษย์ชอบให้ผู้อื่นเชิญมากกว่าที่จะเชิญผู้อื่น

2. แสดงความสนใจผู้อื่น ทรัพยากรที่มีพลังที่สุดสำหรับสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น คือ ความสนใจ เมื่อบุคคลใดสนใจผู้อื่น บุคคลนั้นจะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น  ซึ่งการแสดงความสนใจผู้อื่นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพียงแต่ถาม ซึ่งจะถามเรื่องอะไรก็๋ได้ เช่น ถามเรื่องงานอดิเรก ความรู้สึกที่มีต่อชุมน ฯลฯ  และให้ความสนใจเป็นพิเศษในสิ่งที่ผู้อื่นอยากทำให้สำเร็จ

3. ทำให้ผู้อื่นเป็นผู้ชนะ  เป็นเรื่องง่ายในการที่จะทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเป็นผู้ชนะ  เพียงแต่สังเกตุในสิ่งที่คนอื่นทำได้ดีแล้วให้คำวิจารณ์ในเชิงบวก โดยใช้เวลาไม่นานเพียง 1 นาที บุคคลนั้นก็จะรู้สึกว่าเป็นผู้ชนะแล้ว

4. พร้อมที่จะช่วยเหลือ เป็นความจริงที่ว่า เมื่อเราช่วยให้ผู้อื่นบรรลุเป้าหมาย บุคคลนั้นก็พร้อมที่จะช่วยเรา การช่วยเหลือบุคคลอื่น ไม่จำเป็นจะต้องใช้ความพยายามมาก บางครั้งง่ายพอๆกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการแนะนำให้คนรู้จักกัน ลองคิดดูซิว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยผู้อื่นได้ แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยเหลือจริงๆ แต่ก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดี

5. ขอคำแนะนำ  เมื่อเราขอคำแนะนำจากบุคคลใด จะทำให้บุคคลผู้นั้นมีความรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่ามีความสำคัญ จะเกิดความผูกพัน และต้องการเห็นผู้ที่ขอคำแนะนำประสบความสำเร็จ

นอกจากนั้น จะต้องระลึกไว้เสมอว่า การจะมีเพื่อนจะต้องเริ่มด้วยการเป็นเพื่อน ด้วยเหตุนี้ จงเริ่มด้วยการเป็นเพื่อนเพื่อจะได้มีเพื่อน ซึ่งการจะมีเพื่อนนอกจากจะใช้เทคนิคดังกล่าวแล้ว ยังสามารถทำได้ดังนี้

          1) เป็นคนน่ารัก ปฏิบัติในสิ่งที่คนอื่นชอบ

          2) ริเริ่มแนะนำตนเองก่อนในทุกโอกาส

          3) เรียกชื่อคนอื่นให้ถูกต้อง

          4) อย่าหวังว่าคนอื่นจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ จงยอมรับข้อแตกต่าง และข้อจำกัดของมนุษย์

          5) ค้นหาลักษณะที่น่าพอใจของคนอื่น

          6) สนทนาโดยการกระตุ้นให้คนอื่นพูด

          7) เป็นคนสุภาพอ่อนโยนตลอดเวลา

          8) ยอมรับผู้อื่นตามที่เขาเป็น การยอมรับอย่างมีเงื่อนไขจะเป็นการทำลายความเป็นเพื่อน

          9) สร้างความสนใจร่วมกัน

          10) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะมีมิตรภาพที่ลึกซึ้งและยาวนาน

          11) เป็นคนเปิดเผย การเปิดเผยเป็นความเสี่ยงแต่จะได้รับรางวัลมหาศาล

          12) เป็นคนสนุกสนาน อันเป็นการแสดงถึงการมีความสุข

หากบุคคลใดต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น จะต้องเริ่มด้วยการสำรวจตรวจสอบตนเองว่ามีอะไรที่สามารถทำได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน กับบุคคลในครอบครัว หรือในที่ทำงาน แล้วทำตามนั้นต่อไป  แต่หากบุคคลใดไม่มีลักษณะที่กล่าวมาข้อใดข้อหนึ่ง  จะตัองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำมาใช้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

           You can change the negative bias in your head, so that you interpret things more positively.

                                                              Dr.Jessamy Hibberd and Jo Usmar

*********************************************************************************