วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แนวทางการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

การจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศนั้น ควรเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพและปัญหาของประเทศ แม้ว่าแต่ละประเทศอาจมีแนวทางจัดการศึกษาแตกต่างกันไป แต่ควรเป็นการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสร้างลักษณะดังต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน

          1. เสริมสร้างความสำนึกทางสังคม การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะสร้างความสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม เพราะหากขาดความสำนึกทางสังคมแล้ว กระบวนการพัฒนาประเทศอาจเกิดขึ้นไม่ได้

          2. สร้างความตระหนักในความเข้มแข็งและความภูมิใจในตนเอง คนเราจะเกิดความรู้สึกภูมิใจ เมื่อรู้ว่าตนเองมีข้อดีและมีความเข้มแข็ง ซึ่งการศึกษาจะต้องทำให้เกิดลักษณะนี้ขึ้นมา ด้วยการให้ผู้เรียนรู้จักคุณค่าของตัวเอง รู้ว่าตนเองมีดีและมีความเข้มแข็ง

          3. สร้างความรู้สึกร่วมและทักษะของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศประการหนึ่ง เพราะความรู้สึกร่วมและมีทักษะของการอยู่ร่วมกัน จะช่วยให้ประชาชนร่วมมือกันช่วยตัวเองอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็หาวิธีการที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น ทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          4.รู้จักริเริ่มการกระทำเพื่อส่วนรวม การศึกษาจะต้องจัดให้มีกิจกรรมที่มีการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม เช่น การสหกรณ์ ซึ่งกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา การศึกษาจะต้องส่งเสริมให้มีกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นมาในสถาบันการศึกษา

          5. รู้จักการแสวงหาทรัพยากร ทรัพยากรในที่นี้หมายรวมถึงทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจมีอยู่ในชุมชนนั้น หรือนอกชุมชนนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา

          6. เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการผลิต การศึกษาที่มีความหมายต่อการพัฒนา คือการศึกษาที่มีความหมาย มีประโยชน์ และเพิ่มศักยภาพในการผลิต การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับการผลิต เป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค หาประโยชน์ในการพัฒนาได้น้อย

          7. สร้างบรรทัดฐานการลงโทษและกลไกการลงโทษทางสังคม การจะพัฒนาองค์กรและสถาบันต่างๆได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาบรรทัดฐานของการลงโทษ และการลงโทษโดยอาศัยกลไกทางสังคม ซึ่งการศึกษาจะต้องสร้างลักษณะเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน

          8. สร้างทักษะการจัดการ ทักษะการจัดการเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การตลาด ฯลฯ ส่วนประโยชน์ทางสังคม เช่น การจัดการการรวมกลุ่มเป็นองค์การเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม

          9. สร้างระบบจัดการ ระบบการจัดการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานร่วมกันจำเป็นจะต้องมีระบบควบคุมการจัดการ ตลอดจนดูแลติดตามให้คนในชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆอย่างทั่วถึง

          10. สร้างสถาบัน สถาบันทางสังคมมีหลากหลาย หากสถาบันที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนา ก็จำเป็นจะต้องมีการสร้างสถาบันใหม่ขึ้นมา รวมทั้งมีกระบวนการปรับปรุงสถาบันเดิมให้เอื้อต่อการพัฒนามากยิ่งขึ้น

ในการจัดการศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในลักษณะดังกล่าว ผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษา จะต้องศึกษาวิเคราะห์ระบบการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของประเทศ ไม่ใช่จัดการศึกษาโดยการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศหรือจัดตามคำสั่งของผู้มีอำนาจทางการเมือง เพราะการจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศ เป็นการศึกษาที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ
---------------------------------------------------------------------------------

                                           สาระคิด

การทำดี คือหนทางที่แน่นอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะนำไปสู่ความสุข
******************************************************

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จุดมุ่งหมายทางการศึกษา:ผลจากการวิเคราะห์ความต้องการเชิงจิตวิทยาของมนุษย์

จุดมุ่งหมายทางการศึกษาอาจแตกต่างได้ในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับว่าผู้กำหนดจุดมุ่งหมายนั้นเป็นนักวิชาการด้านใด เป็นนักวิชาการด้านสังคมวิทยา การเมือง เศรษฐศาสตร์ หรือ นักวิชาการทางการศึกษา

ในทางจิตวิทยา Clen Heathers  ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงความต้องการเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ แล้วสรุปว่า การศึกษาควรมีจุดมุ่งหมายดังนี้

1. สอนให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพในการแก้ปัญหา โดยสอดแทรกการแก้ปัญหาไว้ในหลักสูตรทุกส่วน  ทักษะต่างๆควรจะสอนด้วยการกำหนดและวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจน การนำไปใช้และทดลองแก้ปัญหาโดยยึดหลักวิชาและสถานการณ์ในชีวิตจริง

2. สอนผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยศึกษาถึงอาชีพต่างๆ ทั้งการทำงานในชีวิตจริง และในสถานการณ์ที่สร้างขึ้น สถาบันการศึกษาควรให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพเป็นรายบุคคล มีโปรแกรมต่างๆให้ผู้เรียนได้ศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานการประกอบอาชีพ

3. สอนผู้เรียนเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง โดยสอนให้รู้จักวิเคราะห์ปัญหาสังคมและปัญหาสำคัญๆ ในรูปของค่านิยมที่มีผลต่อการตัดสินใจ ผู้เรียนควรมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองผ่านองค์การบริหารของผู้เรียน และการมีส่วนร่วมในสถานการณ์เลือกตั้ง ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองจริงๆ

4. สอนผู้เรียนให้มีสมรรถภาพในการติดต่อกับคนอื่น การรวมกลุ่ม และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม สอนให้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล กับกลุ่ม ที่มีความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ เพศ อายุ และคุณลักษณะอื่นๆ

5. สอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่มในการศึกษาชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน  โดยโรงเรียนร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรในชุมชน

6. สอนให้ผู้เรียนให้มีความเข้าใจและเกิดความซาบซึ้งในประชาชน และวัฒนธรรมทุกหนทุกแห่งในโลก

7. สอนให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง และมีมโนภาพเกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี

8.สอนให้ผู้เรียนรู้จักพัฒนาการใช้เวลาว่าง ความสนใจ และทักษะ รวมทั้งการแสดงออกทางกาย สติปัญญา และสุนทรียะ สอนให้สนใจทั้งกิจกรรมส่วนบุคคลและสังคม

9.จัดโปรแกรมการเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาลักษณะเฉพาะตนได้เต็มที่

10. สถาบันการศึกษาควรปฏิติต่อผู้เรียนแต่ละคนในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีเกียรติ ไม่ว่าผู้เรียนจะมีอายุเท่าไร  สถาบันการศึกษาจะต้องให้บริการเต็มที่ ผู้เรียนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโปรแกรมการเรียนให้มากที่สุดเท่าที่ความมีวุฒิภาวะของผู้เรียนจะอำนวย

โดยภาพรวมจะเห็นว่า จุดมุ่งทางการศึกษาตามแนวคิดทางจิตวิทยา เป็นจุดมุ่งหมาย ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเอง ชุมชน และสังคมที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง รู้จักแก้ปัญหา มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และการเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของชุมชนและสังคม
---------------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคิด

                    คนชั่วไม่เพียงแต่ทำลายผู้อื่น  แต่ทำลายตนเองด้วย

                                                                 โสเครตีส
******************************************************

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การพัฒนาประเทศ:ทัศนะที่แตกต่างระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมและสังคมนิยม

ความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมและเศรษฐกิจสังคมนิยมในสาระสำคัญอยู่ที่ เศรษฐกิจทุนนิยม เป็นเศรษฐกิจที่ให้บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตและทำการผลิตโดยจ้างแรงงาน เพื่อแสวงหากำไร  ส่วนเศรษฐกิจสังคมนิยม เป็นเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานอยู่ที่ รัฐและสังคมร่วมกันเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และการกระจายผลผลิต

ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจทุนนิยมและเศรษฐกิจสังคมนิยม จึงมีทัศนะที่มีต่อการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

การมองสภาพความด้อยพัฒนา ในแง่ของความด้อยพัฒนา ทุนนิยมจะมองว่าความด้อยพัฒนา อยู่ที่ความด้อยพัฒนาของบุคคล ฉะนั้นการพัฒนาประเทศจะต้องพัฒนาบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ยังไม่พัฒนาให้พัฒนาขึ้นมา  ส่วนสังคมนิยมมองว่า ปัญหาความด้อยพัฒนาอยู่ที่โครงสร้างของระบบสังคม แม้ว่าบุคคลจะดิ้นรนต่อสู้เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองเพียงใดก็ตาม หากโครงสร้างของระบบสังคมไม่เอื้ออำนวย บุคคลและกลุ่มบุคคลก็จะถูกครอบงำต่อไป

ยุทธวิธีในการพัฒนา ในการพัฒนาประเทศ การสร้างความเจริญทางวัตถุ ทุนนิยม มุ่งที่ประสิทธิภาพของความเจริญ ในขณะที่สังคมนิยม มุ่งที่ความเสมอภาคของความเจริญ ในด้านเสถียรภาพและความเรียบร้อยของสังคม ทุนนิยมยึดกฎระเบียบของรัฐเป็นหลัก ส่วนสังคมนิยมเห็นว่ากฎหมายของรัฐไม่อาจมีประสิทธิภาพสูงสุดในเรื่องของความเป็นกลาง  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่อยู่นอกเหนือกฎระเบียบของรัฐ คือ ใช้ความยุติธรรมทางสังคมเป็นตัวกำหนดความเสมอภาค

ด้านเสรีภาพ ในเรื่องเสรีภาพ ทุนนิยมเห็นว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์และจะขาดเสียมิได้ ส่วนสังคมนิยมเห็นว่าเสรีภาพจะต้องควบคู่กับวินัย และเงื่อนไขความเป็นจริงตามฐานะของบุคคล

วิธีการพัฒนา  สำหรับวิธีการพัฒนา ทุนนิยมมองว่าเสรีภาพและการแข่งขันเสรี เป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา จึงต้องส่งเสริมบทบาทเอกชนที่จะเข้าช่วยดำเนินการพัฒนา โดยรัฐเข้าควบคุมและแทรกแซงในเรื่องที่จำเป็น ส่วนสังคมนิยมไม่เชื่อว่าจะมีการแข่งขันเสรีได้ตลอดไป เพราะในการแข่งขันเอง เมื่อดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง จะหนีการผูกขาดไม่พ้น เกิดการผูกขาดได้เสมอ

จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเลือกแนวทางทางการพัฒนาโดยใช้ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยมกับเศรษฐกิจสังคมนิยม ก็ใช่ว่าจะดีกว่าอีกทางเลือกหนึ่งในทุกกรณี ฉะนั้นการจะเลือกทางเลือกใด ควรจะได้มีการวิเคราะห์ปัญหาของสังคมนั้นๆอย่างละเอียดเสียก่อน แล้วจึงจะกำหนดยุทธวิธีในการพัฒนา  และอาจเป็นทางเลือกการพัฒนาประเทศที่ดีกว่า หากมีการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมกับเศรษฐกิจสังคมนิยมเข้าด้วยกัน
---------------------------------------------------------------------------------

                                         สาระคิด

การพัฒนาที่ยึดแนวความคิด หรือลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ โดยปราศจากการศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้ง
******************************************************

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คำถามที่ใช้ตรวจสอบว่าประเทศพัฒนาหรือไม่เพียงใด

การจะดูว่าประเทศใดพัฒนาเพียงใดหรือไม่ นอกจากจะวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมายการพัฒนาแล้ว ยังดูได้จากความยากจน การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกัน ว่าลดลงหรือไม่ลดลงมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม  Michael P. Todaro เห็นว่าคำถามต่อไปนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะบอกว่าประเทศใดพัฒนาหรือไม่ ซึ่งได้แก่

          1. ระดับการครองชีพ ความยากจนสัมบูรณ์ และความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ ระดับการมีงานทำ ธรรมชาติและคุณภาพของการศึกษา สุขภาพ และการบริการทางสังคมและวัฒนธรรม ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือไม่

          2. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ได้ส่งเสริมให้บุคคลนับถือตนเอง กลุ่มบุคคล ประเทศตนเอง และประเทศอื่นหรือไม่

          3. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ได้ขยายทางเลือกของประชาชน ประชาชนเป็นอิสระจากการการพึ่งพิงภายนอก ตลอดจนความรู้สึกเป็นทาสของบุคคลและสถาบันหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เปลี่ยนการพึ่งพิง จากรูปแบบหนึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

คำถามทั้ง 3 ข้อนี้ หากได้รับคำตอบว่า "ใช่" ทั้งหมด ก็ถือได้ว่าเป็นคำตอบ ที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างเต็มที่ ประเทศใดที่มีลักษณะดังกล่าว จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย

แต่ถ้ามีเพียงคำถามข้อแรกเท่านั้นที่ได้รับคำตอบว่า"ใช่" ส่วนอีก 2 ข้อที่เหลือได้รับคำตอบว่า"ไม่ใช่" กล่าวได้ว่าประเทศนั้นเป็นประเทศที่พัฒนาเฉพาะเศรษฐกิจมากกว่า แต่ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาตามความหมายพื้นฐานของการพัฒนา จึงเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะเรียว่าเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ร่ำรวย หรือประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่วนจะตัดสินว่าเป็นประเทศพัฒนาหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์ระบบสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ประกอบด้วย

หากประเทศใดที่คำถามข้อ 2 และข้อ 3 ได้รับคำตอบว่า"ไม่ใช่"โดยไม่ให้ความสำคัญกับข้อ 1 เช่น ประชาชนมีความนับถือตนเอง การยอมรับหรือศักดิ์ศรีของคนมีน้อย ตลอดจนเสรีภาพในการที่จะเลือกถูกจำกัด แม้ว่าประเทศนั้นจะมีเครื่องยังชีพเพียงพอ ระดับการครองชีพได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ตาม ก็ไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้

นั่นคือ การพัฒนาประเทศจะต้องพัฒนาทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ไปด้วยกันในทุกมิติของการพัฒนา จึงจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
---------------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

ตราบใดที่คนในประเทศ ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จะเรียกประเทศนั้นว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้

******************************************************