วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

ข้อคิดเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษา

ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา ได้ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า การศึกษาที่ดีกว่าและมีคุณภาพสำหรับทุกคนเท่านั้น ที่จะทำให้ความยากจนหมดไปและทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาเหล่านี้ ไม่อาจจัดการศึกษาในลักษณะที่มากขึ้นแต่เหมือนเดิม( more of the same) ได้อีกต่อไป แน่นอนว่าเมื่อสังคมให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการศึกษามากชึ้น การวิจารณ์การศึกษาในแง่มุมต่างๆจึงเกิดขึ้นตามมา

มีผู้วิจารณ์ว่าการศึกษาสมัยนี้เสื่อมลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งผู้วิจารณ์ประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่มองแต่เรื่องดีๆในอดีต ในช่วงที่ผู้วิจารณ์กำลังเรียนหนังสืออยู่ เช่น วิจารณ์ว่าสมัยก่อนหลักสูตรมีเนื้อหาที่เป็นแก่นสาร ครูทุ่มเทในการสอน ครูมีความสำนึกต่อหน้าที่ ครูเป็นผู้รักษาวินัย และเรียกร้องเรื่องมาตรฐาน นักเรียนเองก็เรียนอย่างจริงจัง ทำงานหนักและมีความรู้ที่แน่นกว่าเด็กสมัยนี้ คำวิจารณ์ลักษณะนี้ตั้งอยู่บนความคิดของคุณภาพที่หยุดนิ่งอยู่กับที่

เป็นความคิดที่ผูกติดอยู่กับมาตรฐาน ซึ่งผู้วิจารณ์ถือว่าเป็นความจริงอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นความคิดที่ผู้วิจารณ์ยึดถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงามและถูกต้องทุกสมัย ทุกสถานที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและกฎเกณฑ์ที่ยึดถือมาตั้งแต่ดังเดิมจึงเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง ความคิดลักษณะนี้เป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาโดยความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน สัมพันธ์ในแง่ของเวลา ผู้เรียน และสถาพแวดล้อม อะไรเป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาในฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือไทย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แน่นอนว่าไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันหรือผู้เรียนในคริสต์ศตวรรษที่ 21

การตัดสินว่าระบบการศึกษาใดมีคุณภาพหรือไม่ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าเป็นการศึกษาเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร จึงเป็นความผิดพลาดที่เปรียบเทียบเรื่องคุณภาพการศึกษา ระหว่างระบบการศึกษาของประเทศที่แตกต่างกัน หรือแม้ประเทศเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก็ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้

นอกจากนั้น มักจะเข้าใจผิดว่าการจัดการศึกษามากๆจะเป็นการศึกษาที่แย่ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะการศึกษาเพื่อมวลชนย่อมจัดการได้ยากกว่าการจัดการศึกษาเพื่อชนชั้นสูง แต่ไม่ได้หมายความว่า การศึกษาเพื่อมวลชนจะทำให้มีคุณภาพไม่ได้

การประเมินการปฏิบัติงานของโรงเรียนเช่นกัน มักจะมีแนวโน้มที่จะประเมินปัจจัยภายในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ราวกับว่าโรงเรียนอยู่ในสูญญากาศทางสังคม จริงอยู่ปัจจัยภายในโรงเรียนมีความสำคัญมาก แต่ปัจจัยภายนอกก็มีความสำคัญต่คุณภาพและมาตรฐานของสถาบันการศึกษาเช่นกัน

ปกติปัญหาคุณภาพการศึกษาเกิดจากเหตุเบื้องต้น 2 ประการ คือ

      1. เกิดจากความแข็งตัวของระบบการศึกษา ที่ไม่ปล่อยให้หลักสูตรและเนื้อหาวิชาได้ก้าวหน้า ในขณะที่โลกแห่งความรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปในอัตราที่รวดเร็ว

      2. เกิดจากการที่ประเทศกำลังพัฒนานำรูปแบบการศึกษามาจากประเทศพัฒนา ซึ่งไม่เหมาะกับความต้องการ สภาพแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศอย่างอย่างแท้จริง

เหล่านี้เป็นสาเหตุเบื้องต้น ที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

นั่นคือ การจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เป็นการศึกษาเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร ไม่ใช่คิดแต่จะลอกเลียนระบบการศึกษาจากประเทศพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ จนนำไปสู่การสูญเปล่าทางการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

                           The enemy of the best is often the good.

                                                                           Stephen R.Covey.

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

ทีมงานเพื่อคุณภาพเป็นอย่างไร

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ จำเป็นจะต้องมีการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้เพราะกระบวนการในการปฏิบัติงานไม่ว่าในวงการธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และการศึกษา มีความซับซ้อนอยู่เหนือการควบคุมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงบุคคลเดียว วิธีการที่มีประสิทธิภาพวิธีเดียวที่จะปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น หรือสามารถจะแก้ปัญหาได้ก็โดยอาศัยการทำงานเป็นทีม

การใช้ทีมงานสามารถแก้ปัญหาได้หลายลักษณะ ดังนี้

     1. ปัญหาที่มีความซับซ้อน หลากหลาย ใหญ่โต เหนือสมรรถนะของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่ง สามารถแก้ไขได้จากการระดมทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของทีมงาน

     2. ปัญหาที่ต้องการความหลากหลายของความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และต้องการที่จะแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการได้โดยใช้ทีมงาน

     3. วิธีแก้ปัญหาโดยอาศัยการทำงานเป็นทีม จะสร้างความพอใจให้กับสมาชิกในทีมมากกว่า และจะสร้างขวัญ สร้างความเป็นเจ้าของ ด้วยการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ

     4. สามารถแก้ปัญหาที่ข้ามแผนก หรือข้ามขอบข่าย หรือข้ามหน้าที่ได้ง่ายขึ้น ความขัดแย้งที่แท้จริงหรือศักยภาพของความขัดแย้ง สามารถระบุได้ง่ายกว่า และสามารถแก้ปัญหาได้

     5. การแนะนำหรือข้อเสนอแนะสามารถนำไปใช้กับทีมงานได้ มากกว่าการแนะนำเป็นรายบุคคล ทำให้คุณภาพในการตัดสินใจในการทำงานมีสูง

อย่างไรก็ตาม ทีมงานที่สามารถทำงานเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ จะต้องเป็นทีมงานที่มีประสิทธิผล

สำหรับทีมงานที่มีประสิทธิผลมีลักษณะดังนี้

     1. เป้าหมาย ทีมงานจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการสร้างเป้าหมายร่วมกัน และเป้าหมายมีความสำคัญสำหรับแต่ละบุคคลในกลุ่ม

     2. การมีส่วนร่วม ผู้รวมทีมทั้งหมดมีความกระตือรือร้น และรับฟังซึ่งกันและกัน

     3 ความรู้สึก ผู้ร่วมทีมจะต้องมีความรู้สึกอิสระในการแสดงออก และการแสดงออกนั้นจะต้องได้รับการสนองตอบ

     4. ปัญหาของกลุ่ม จะต้องได้รับการวินิจฉัย ได้รับการดูแล และได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ

     5. ความเป็นผู้นำ ผู้นำจะต้องแสดงออก เพื่อสนองตอบความต้องการเฉพาะบางอย่าง

     6. การตัดสินใจ การตัดสินใจของทีมเกิดจากความเห็นพ้องต้องกัน และใช้ความคิดเห็นของทีม เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจให้ดีขึ้น

     7. ความเชื่อถือ สมาชิกในทีมงานจะต้องเชื่อถือซึ่งกันและกัน สามารถแสดงปฏิกิริยาในทางลบโดยปราศจากความเกรงกลัว

     8. การสร้างสรรค์ ทีมงานจะต้องแสวงหาวิธ๊การใหม่ๆและดีกว่าอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ทีมงานจะมีประสิทธิผลได้จะต้องมีทรัพยากรเพียงพอ มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และสามารถเข้าไปตวจสอบได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

                     Your boss is your customer. Your colleagues are the competition.

                                                                               Richard Templar

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562

บ้านแห่งคุณภาพเป็นอย่างไร

บ้านแห่งคุณภาพ( The House of Quality)  เป็นการเปรียบเทียบความคิดรวบยอดและหลักการพื้นฐานที่สัมพันธ์กับคุณภาพทั้งองค์การกับบ้าน ซึ่งโดยปกติบ้านจะต้องมีหลังคา เสา พื้นฐาน และฐานราก ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้ของบ้านมีความแข็งแรงหรือมีคุณภาพ บ้านจะมีคุณภาพด้วย

องค์การที่มีคุณภาพก็เช่นเดียวกับบ้านแห่งคุณภาพ ที่จะต้องมีหลังคา เสา พื้นฐาน และฐานรากที่มีคุณภาพจึงจะดำรงความเป็นบ้านแห่งคุณภาพอยู่ได้

Ralph G. Lewis  และ Douglas H. Smith  อธิบายว่าสาระสำคัญเกี่ยวกับบ้านแห่งคุณภาพมีดังนี้

1. หลังคา (Roof) เป็นโครงสร้างใหญ่อันประกอบด้วยระบบย่อย 3 ระบบ คือ

          1.1 ระบบสังคม(Social system) โดยพื้นฐานแล้ว ระบบสังคมคือวัฒนธรรมขององค์การนั่นเอง ระบบสังคมมีผลกระทบต่อการทำงานเป็นทีม การจูงใจ การสร้างสรรค์ และการเสี่ยง ระบบสังคมรวมถึงโครงสร้างของรางวัล สัญลักษณ์ของอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม สิทธิพิเศษ ทักษะ รูปแบบโครงสร้างของอำนาจ การปรับปรุงบรรทัดฐานและค่านิยม ตลอดจนองค์ประกอบเชิงมนุษย์

          1.2 ระบบเทคนิค(Technical system) เป็นระบบที่เกี่ยวกับการเลื่อนไหลของงานทั้งองค์การ เป็นขั้นตอนการปฏิบัติงาน ไม่ว่างานนั้นจะทำโดยใช้เครื่องมือ คอมพิวเตอร์ หรือใช้มนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นงานใช้มือหรือใช้สมอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในโรงงานหรือในสำนักงาน ล้วนจัดอยู่ในระบบเทคนิคทั้งสิ้น

          1.3 ระบบการจัดการ(The management system) เป็นระบบที่ทำให้เกิดบูรณาการ เป็นระบบที่กำหนดวิธีการปฏิบัติ การดำเนินการ พิธีการ และนโยบายในการสร้างและบำรุงรักษา เป็นระบบขององค์การที่บอกว่าวิธีการต่างๆจะดำเนินไปได้อย่างไร

2. เสา(Four pillars) บ้านแห่งคุณภาพประกอบด้วยเสา 4 เสา คือ ความพอใจของลูกค้า การปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพูดตามข้อเท็จจริง และเคารพในผู้ใช้บริการ

3. พื้นฐาน(Foundation) ประกอบด้วยการจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการกระบวนการ การจัดการโครงการ และการจัดการภารกิจของแต่ละบุคคล

4. ฐานราก(Four cornerstones) ประกอบด้วยพันธกิจ วิสัยทัศน์ ค่านิยม และวัตถุประสงค์ ที่สนับสนุนและมีบูรณาการกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การวางแผนปฏิบัติการ การวางแผนโครงการ และการวางแผนเชิงคุณภาพ ที่ค้ำยันการจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการกระบวนการ การจัดการโครงการ และการจัดภารกิจของแต่ละบุคคลอีกชั้นหนึ่ง

องค์ประกอบทั้ง 4 แห่งบ้านคุณภาพ จะมีผลต่อคุณภาพของบ้าน ถ้าองค์ประกอบทั้ง 4 มีคุณภาพ บ้านก็จะมีคุณภาพด้วย ในเชิงประยุกต์ คุณภาพขององค์การหรือสถาบันต่างๆจะมีคุณภาพหรือไม่จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้ง 4 เช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                Good listening is a skill, a special talent, that you will have to practise and learn.

                                                                                Richard Templar

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาไทย พ.ศ.2517

การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2517ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา"

คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่พิจารณาการศึกษาทั้งระบบและกระบวนการเพื่อตรวจสอบปัญหา พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง ให้การศึกษาสามารถสนองตอบความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระบอบประชาธิปไตย และเหมาะสมแก่กาลสมัย

คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอเอกสารชื่อ "แนวทางปฏิรูปการศึกษาสำหรับรัฐบาลในอนาคต"  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. สาเหตุที่ต้องปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการเห็นว่าควรมีการปฏิรูปการศึกษา ด้วยสาเหตุต่อไปนี้

          1.1 ปัญหาอันเกิดจากการเปลียนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ คือสภาพสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่การศึกษาไม่ได้จัดเพื่อปรับปรุงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น ตลอดจนไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพและการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างทางฐานะ เศรษฐกิจ และละทิ้งคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรให้ล้าหลัง

          1.2 ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้แนวความคิดของคนไทยเปลี่ยนไป เกิดแนวคิดเรื่องชนชั้น ความเสมอภาคในสังคม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ แนวคิดเหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รู้จักใช้เหตุผลพิจารณาปัญหาอย่างลึกซึ้ง

          1.3 ปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาเอง คือจุดมุ่งหมายการศึกษาของไทยมุ่งสร้างคนเพื่อรับราชการ และต่อมาเพื่อสร้างแรงงานชั้นสูงและชั้นกลาง เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ส่วนแนวคิดใหม่ทางการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างของระบบการศึกษาใหม่เป็นระบบเปิด หลักสูตรควรสอดคล้องกับวุฒิภาวะของเด็ก และตั้งอยู่บนความจริงของแผ่นดินไทย

2. แนวทางการปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาเสนอแนะไว้ดังนี้

          2.1 ลักษณะการศึกษาที่พึงประสงค์ จะต้องเป็นการศึกษาที่เสริมสร้างความรู้ ความคิด และความชำนาญ ให้คนไทยทุกคนรู้จักตนเอง รู้จักชีวิตและเช้าใจสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ตนร่วมอยู่ เพื่อให้สามารถครองชีวิตและประกอบกิจการงานได้ด้วยความรู้เท่าทัน แก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมได้ดีขึ้นอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

         2.2 ความมุ่งหมายการศึกษาที่พึงประสงค์ ได้แก่

               1) จะต้องสร้างสำนึกของความเป็นไทย และเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ

               2) ปลูกฝังให้บุคคลยึดมั่นในความสามารถ ความยุติธรรม รักอิสรภาพ รักการแสวงหาความจริง เคารพกฎหมาย และเคารพความเสมอภาคในสังคม

               3) ช่วยให้บุคคลเข้าใจและกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรับผิดชอบตอ่สังคมและตนเอง

               4) เสริมสร้างความรู้ความสามารถแก่บุคคลในสังคมเดียวกัน ให้สื่อสารเข้าใจกัน

               5) เสริมสร้างบุคคลให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ มีศีลธรรม มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดริเริ่ม และรู้จักใช้ความสามารถของตนให้เกิดผลดีต่อสังคม

               6) เสริมสร้างความรู้ความชำนาญ ความนิยมนับถือในงานอาชีพต่างๆ สามารถประกอบกิจการงานด้วยความรอบรู้เท่าทันและแก้ปัญหาได้

               7) เสริมสร้างให้บุคคลมีความรู้ความซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรม และวิทยาการต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์

          2.3 ผู้ที่ควรได้รับความสนใจและได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดการศึกษาของรัฐ รัฐจะต้องจัดการศึกษาเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน และมีโอกาสเท่าเทียมกันในการรับการศึกษา

          2.4 แนวทางในการบริหารจัดการศึกษา มีดังนี้

               1) จะต้องเน้นความเสมอภาคทางการศึกษา

               2) จะต้องจัดให้มีเอกภาพในการบริหารการศึกษา

               3) จะต้องเลือกสรรทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ

               4) จะต้องจัดให้มีการประสานสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาในโรงเรียนกับการศึกษานอกโรงเรียน

               5) จะต้องจัดให้มีสาระ กระบวนการเรียนรู้ มีความผสมผสานความงอกงามทางคุณภาพ จริยธรรม และปัญญา กับความเจริญทางวัตถุ

               6) จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทฐานะของครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

               7) จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดเวลา

3. เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการปฏิรูปการศึกษา มี 2 ประการ คิอ

          3.1 จะต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งในหลักการ ระบบ และกระบวนการ มีการกำหนดเวลาและขั้นตอนให้เหมาะสม

          3.2 จะต้องปฏิรูประบบแลโครงสร้างอื่นที่สัมพันธ์กับการศึกษา โดยให้เกื้อกูลซึ่งกันและกันกับการจัดการศึกษาตามแนวใหม่

จะเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2517 มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดลอม ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทย และปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาเอง และด้วยเหตุจากการเปลี่ยนแปงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และการศึกษาเพื่อชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคำ

                                          คนชั่วไม่เพียงทำลายผู้อื่น แต่ทำลายตัวเองด้วย

                                                                                             โสเครตีส

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความจริงการปฏิรูปการศึกษา เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางการเมือง หรือการคุกคามของของจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งเริ่มต้นคุกคามเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง กับปัจจัยทางสติปัญญาหรือการท้าทายทางความคิดของตะวันตก ซึ่งท้าทายระบบสังคมแบบโบราณของไทย 

อันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2 พระองค์ทรงตระหนักถึงภัยของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเห็นความสำคัญของความคิดของตะวันตก จึงเริ่มมีการปรับปรุงการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ทำให้เกิดระบบโรงเรียน อันเป็นตัวแบบของการจัดการศึกษาไทยในสมัยปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอใเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2411 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้จำเป็นจะต้องปรับปรุงการทหารให้มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันชายแดนพระราชอาณาจักร การศึกษาแผนใหม่ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 ก็เพื่อสนองการป้องกันประเทศเช่นเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาการต่างๆของตะวันตกที่ไทยเริ่มรู้เห็นความสำคัญจึงเป็น ปืนใหญ่ เรือกลไฟ และการจัดระเบียบกองทัพ ความรู้ตะวันตกที่นำมาใช้ส่วนมากเป็นเทคนิคในการจัดกองทัพ เพื่อใช้อาวุธมากกว่าเทคนิคการผลิตอาวุธ ในสมัยรัชกาลที่ 5 การจัดตั้งโรงเรียนแผนใหม่ขึ้น แต่ในระยะแรกส่วนใหญ่จึงเป็นสถานศึกษาสำหรับวิชาทหาร

2. ความต้องการกำลังคนที่มีความรู้เข้ารับราชการ การที่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องการคนเข้ารับราชการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีสาเหตุมาจาก

          2.1นโยบายสร้างชาติ โดยการโยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง กลไกของรัฐขยายตัว ทำให้ต้องส่งคนไปทำหน้าที่ตามหัวเมืองมากขึ้น

          2.2 พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในมรสุมของลัทธิล่าอาณานิคม จำเป็นต้องมีผู้นำ การสร้างข้าราชการที่พร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการนำประเทศไปสู่ความเจริญ

          2.3 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น  ทำให้ต้องการข้าราชการมากขึ้น การเปิดประเทศทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าขาย และการขยายตัวทางการค้า ทำให้เกิดเมืองต่างๆ มีผลทำให้เกิดความต้องการข้าราชการจำนวนมาก ที่จะไปทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองเหล่านั้น

3. พระบาทสมเด็พระเจ้าพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกจากผู้ถวายความรู้ซึ่งเป็นคนตะวันตก นอกจากนั้น พระองค์ยังได้เสด็จประพาสยุโรป ทรงเห็นความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และทรงเห็นว่า เหตุของความเจริญทั้งหลายมีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.2440 ทำให้เกิดแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับแรก ในชื่อว่า "โครงการศึกษา พ.ศ.2441"

4. ความคิดและความรู้ใหม่ๆที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาเผยแพร่ เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์ การนำเครื่องพิมพ์มาใช้  ตลอดจนการตั้งโรงเรียนของหมอสอนศาสนา

เหล่านี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยจัดตั้งสถาบันการศึกษาแห่งแรกขึ้นในปี พ.ศ.2414 เรียกว่าโรงเรียนหลวง เป็นการก้าวออกจากวงการศึกษาตามธรรมเนียมไทยโบราณ เป็นสถานที่เล่าเรียนที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ มีครูสอนตามเวลาที่กำหนด วิชาที่สอนมี ภาษไทย ภาษาต่างประเทศ และวิชาอื่นๆ มีการรับนักเรียนโดยเฉพาะเพื่อที่จะฝึกหัดเล่าเรียน เพื่อให้รู้หนังสือ รู้จักคิดเลข และธรรมเนียมราชการ และต่อมาระบบโรงเรียนได้พัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

             คนที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา

                                                              พุทธศาสนสุภาษิต

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างไร

การปฏิรูป(Reformation) เป็นคำที่พบเสมอเมื่อต้องการบอกถึงการเปลี่ยนแปลง เช่น ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมือง ฯลฯ 

อย่างคำว่าปฏิรูปสังคมในความหมายที่กว้าง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม อุดมการณ์ และโครงสร้างทางเมืองครั้งสำคัญ ปกติจะเกิดขึ้นขึ้นหลังจากปฏิวัติ หรือการยึดครองการเมืองที่รุนแรง

การปฏิรูปอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ การปฏิรูปบางครั้งถูกใช้ในความหมายของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ในทางการศึกษา การปฏิรูป หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการศึกษาของประเทศ โดยการปฏิรูปการศึกษาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่อไปนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ซึ่งได้แก่
          1) การจัดสรรทรัพยากรให้กับการศึกษาสาขาต่างๆ
          2) การจัดสรรทรัพยากรให้กับระบบการศึกษาทุกระดับ
          3) ร้อยละของนักเรียนนักศึกษาซึ่งจบการศึกษาในระดับต่างๆ
          4) ร้อยละของนักเรียนนักศึกษาที่มาจากสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน หรือร้อยละของสตรีที่จบจากระบบการศึกษาในระดับต่างๆ
         5) จุดมุ่งหมายของหลักสูตรและเนื้อหาของหลักสูตร

การปฏิรูปการศึกษามักจะเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากร  ตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเปลี่ยนจากการศึกษาแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการศึกษาของชนชั้นสูงให้เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคม เป็นผู้มีความสามารถในเชิงเหตุผล เปลี่ยนเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อประชาชนทั้่วไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการศึกษา มีผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรและหลักสูตร

ส่วนการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
          1) ความซับซ้อนของการปฏิรูป
          2) ความมุ่งมั่นของระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
          3) ความมีรูปแบบเดียวกัน
          4) ทรัพยากร

สำหรับยุทธวิธีในการปฏิรูปที่ใช้กันอยู่มี 2 ยุทธวิธี คือยุทธวิธีตรง เป็นยุทธวิธีที่ใช้อำนาจหรืออำนาจเชิงบริหารดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย กับ ยุทธวิธีโดยอ้อม เป็นยุทธวิธีที่ใช้สิ่งล่อใจ หรือชักชวนให้เห็นคุณค่าของการปฏิรูป แต่ในความเป็นจริง การปฏิรูปจะประสบควาสำเร็จก็ต่อเมื่อใช้สองยุทธวิธีรวมกัน

การปฏิรูปการศึกษา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่และซับซ้อน จำเป็นจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมืองสูง และต้องมีงบประมาณสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ และการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เกิดจากข้าราชการระดับบนและนักการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากครู ครูใหญ่ ผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้นอกจากจะต้องใช้ยุทธวิธีที่เหมาะสมแล้ว ผู้มีอำนาจและกรรมการปฏิรูปการศึกษาจะต้องรู้เป็นเบื้องต้นว่าการศึกษาคืออะไร ประเทศมีสภาพและปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างไร และต้องการกำลังคนคนระดับใด จำนวนเท่าไร  ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ใช้วิธีการลอกเลียนแบบการปฏิรูปการศึกษาจากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะเป็นการปฏิรูปที่นำไปสู่ความล้มเหลวทางการศึกษา เป็นการศึกษาที่ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

การศึกษา เป็นกระบวนทางสังคมที่ทำหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอด สิ่งที่มีคุณค่าให้กับ                     สมาชิกในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รูปแบบการศึกษาในยุคของการเปลี่ยนแปลง

ในยุคของการเปลี่ยนแปลง การศึกษาได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สถานศึกษาต้องปรับปรุงตนเองให้มีระบบการเรียนที่เปิดกว้างขึ้น พ่อแม่สามารถเลือกสถานศึกษาให้ลูกได้มากขึ้น สถานศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจมากขึ้น มีการเปิดโปรแกรมวิชาเพื่อการแข่งขันมากขึ้น

สำหรับสถานศึกษารูปแบบใหม่ในประเทศพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีการเพิ่มโรงเรียนเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่สอนเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาเลิศ(gifted child) โรงเรียนสำหรับเด็กที่ต้องเรียนพิเศษ ตลอดจนโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ

2. โรงเรียนที่มุ่งสอนเฉพาะภาษา เช่น ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยงบประมาณของรัฐและเงินทุนของเอกชน

3. เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ด้วยการเป็นแหล่งวิทยากร หุ้นส่วน ให้การสนับสนุน และโดยการร่วมกันสร้างหลักสูตรที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมมากขึ้น

4. การเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัทโทรคมนาคมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการเรียนทางไกล

5. การขยายตัวของการเรียนการสอนที่บ้าน(home-schooling) เป็นการเรียนรู้ที่พ่อแม่เป็นผู้แนะนำ โดยการสนับสนุนของเทคโนโลยีสารสนเทศ พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาแก่บุตรของตนโดยเน้นความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้
          5.1 การสนับสนุนการเรียนการสอนด้วยตนเอง
          5.2 การเรียนการสอนตามความถนัดของแต่ละบุคคล
          5.3 ความเป็นโรงเรียนแห่งอนาคตเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ
          5.4 การอาศัยพ่อแม่และครอบครัวสร้างบุคลิกภาพอันดีงามให้กับเด็ก

นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนระบบสัญญา(charter school) มีลักษณะเป็นโรงเรียนของรัฐที่ปรับกลไก เพื่อให้สามารถดำเนินการในลักษณะของเอกชนที่ต้องมีต้นทุนการดำเนินการ มีการแข่งขัน จึงต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอกับความต้องการ

โรงเรียนแม่เหล็ก(magnet school) เป็นรูปแบบโรงเรียนในสหรัฐอเมริการูปแบบหนึ่งในยุคของการเปลี่ยนแปลง  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างชนชั้น

โรงเรียนรูปแบบนี้เชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด โดยแต่ละแบบแต่ละโรงไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน เช่น บางโรงอาจสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่บางโรงอาจสอนวิจิตรศิลป์และศิลปะการแสดง หลักสูตรเป็นแบบสังคมย่อยลอกเลียนแบบสังคมในชีวิตจริง

การเข้าศึกษาโรงเรียนแม่เหล็กถือเกณฑ์ว่าใครมาก่อนได้ลงทะเบียนก่อน และประกันว่า่นักเรียนที่อยู่ในเขตการศึกษาของตนจะได้เข้าเรียนทุกคน หลักสูตรประกอบด้วยวิชาพื้นฐานและวิชาเฉพาะซึ่งนักเรียนสามารถเรียนได้ตามความต้องการ ความสนใจ และความสามารถ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

 ในด้านงบประมาณโรงเรียนจะได้รับงบประมาณแบบเหมาจ่าย ซึ่งจะได้รับเงินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน และโรงเรียนมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณนั้นอย่างไร

มหาวิทยาลัยเสมือน (virtual university) เป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริการูปแบบหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นในยุคของการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยรูปแบบนี้เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดระบบ รูปแบบ และวิธีการศึกษาใหม่ขึ้นมา

มหาวิทยาลัยเสมือน เป็นมหาวิทยาลัยแบบใหม่ที่มีระบบการเรียนการสอนที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก ทุกๆวิชาจะมีเทคโนโลยีเป็นสื่อส่งผ่านความรู้ การเรียนการสอนใช้ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และวีดิทัศน์ปฏิสัมพันธ์(interactive video)เป็นอุปกรณ์หลัก

ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆดังกล่าว ทำให้เพิ่มศักยภาพในการนำการศึกษาไปถึงผู้เรียนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น จนกระทั่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกอย่าง ทุกแห่ง และทุกเวลา

จะเห็นว่าในยุคของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้การจัดการศึกษาในยุโรปและอเมริกาเหนือได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เป็นระบบการศึกษาที่ช่วยให้บุคคลได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาได้ทั่วถึง และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เรียนมากขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                                        To know and not to do is really not to know.

                                                                                Stephen R. Covey

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การรู้หนังสือสำคัญอย่างไร

เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่นักการศึกษาว่า พื้นฐานอารยธรรมที่สำคัญคือการประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ทำให้มีการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้สามารถถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งได้อีกด้วย

ส่วนการพัฒนาที่ใกล้ชิดกับกับการประดิษฐ์ตัวอักษร ก็คือการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับจำนวน การอ่าน การเขียน และเลขคณิตเบื้องต้น

การเรียนรู้ การอ่าน และการเขียน ช่วยให้เข้าใจแหล่งสารสนเทศใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในส่วนบุคคลและชุมชน

มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัย พบว่า การอ่านออกเขียนได้มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกษตรกรที่สามารถอ่านออกเขียนได้และมีการศึกษาสูง จะมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรในระดับสูง ทำให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ความสัมพันธระหว่างการอ่านออกเขียนได้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ชัดเจนในชุมชนเมือง

และยังพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีระดับการศึกษาจำกัด จะมีอัตราการมีงานทำต่ำ มีอัตราการว่างงานสูง และงานที่ทำจะเป็นงานที่มีค่าจ้างต่ำด้วย

จากงานวิจัยและประสบการณ์ยังแสดงให้เห็นต่อไปว่า การอ่านออกเขียนได้ยังมีความสัมพันธ์กับความยากจน ผลิตภาพ การสูญเสียบุตร ภาวะทุโภขนาการ  อัตราการเพิ่มของประชากร ตลอดจน เป็นองค์ประกอบของความด้อยพัฒนาทุกด้าน การอ่านออกเขียนได้จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

และประเทศต่างๆได้เห็นถึงความสำคัญของเงื่อนไขที่จำเป็นนี้ จึงได้ประกาศสิทธิมนุษยชนสากลขึ้นในปี พ.ศ.2491ความว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การศึกษาจะต้องให้ฟรีอย่างน้อยในระดับประถมศึกษา  และการศึกษาระดับประถมศึกษาต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับ" ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า การรู้หนังสือ  เป็นการศึกษาสำหรับทุกคนที่จะต้องได้รับ อย่างน้อยที่สุดในระดับประถมศึกษา

การรู้หนังสือ(Literacy) คืออะไร การรู้หนังสือตามความหมายที่ Miller ให้ไว้ มีดังนี้

1. ความหมายของการรู้หนังสือตามประเพณีนิยม(Conventional literacy) หมายถึง มีทักษะเกี่ยวกับการอ่านและเขียนอย่างง่ายๆ เช่น สามารถอ่านและเขียนชื่อของตนเอง สถานที่ เข้าใจความหมายของคำที่มีความหมายทางสังคม และเขียนประโยคง่ายๆเพื่อการสื่อสารได้ ตลอดจนเข้าใจเครื่องหมาย ฉลาก คำสอน หรือคำสั่ง ที่จำเป็นต่อการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ

2. ความหมายของการรู้หนังสือเพื่อการปฏิบัติการ(Functional literacy) หมายถึง ชุดของทักษะที่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพ ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน เป็นความสามารถของบุคคล ที่จะจัดการกับงานในชีวิตประจำวันด้วยความสามารถและความรับผิดชอบ ความหมายของการรู้หนังสือเพื่อการปฏิบัติงาน จึงขึ้นอยู่กับภาระกิจ ทักษะ หรือจุดมุ่งหมายเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความหมายของการรู้หนังสือที่แท้จริง ทีสามารถครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด เพราะแต่ละความหมายถูกกำหนดขึ้นสำหรับความมุ่งหมายหนึ่งความมุ่งหมายใดโดยเฉพาะ ตลอดจนความต้องการที่จะใช้ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึกไว้เสมอคือ การรู้หนังสือเป็นขั้นแรกของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในขณะที่โลกของการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีทักษะและการฝึกอบรมที่สูงขึ้น ความหมายของการรู้หนังสือจะกว้างขึ้น เพราะความต้องการในสถานที่ทำงานไม่ใช่มีเพียงความสามารถในการอ่าน เขียน และคำนวณเท่านั้น  แต่จะต้องมีความสามารถที่จะใช้ทักษะในการแก้ปัญหาด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการรู้หนังสือ ที่เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดให้มีโปรแกรมเพื่อการรู้หนังสือมีดังนี้

1. วัตถุประสงค์ทางสังคมการเมือง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพในชาติ การมีส่วนร่วมของมวลชน เพื่อให้มวลชนสนับสนุนระบอบการปกครอง

2. วัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น  ซึ่งอาจจัดเป็นโปรแกรมที่มุ่งเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ หรือจัดเป็นโปรแกรมทั่วๆไป เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. วัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการ วัตถุประงค์ข้อนี้อาจมีความสำคัญน้อยที่สุด แต่การจัดโปรแกรมเพื่อการรู้หนังสือ เพื่อสนองตอบความต้องการเฉพาะกลุ่มบุคคลและสังคม ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่

นั่นคือ การรู้หนังสือนอกจากจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาทรัยากรมนุษย์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคำ

การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลและชุมชน โดยยึดความจำเป็นของบุคคลและ
สังคมเป็นหลัก

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎีทุนมนุษย์กับการพัฒนา

จากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอันยาวนาน บอกให้ทราบว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมนุษย์เป็นผู้ใช้ทักษะและความสามารถ ทำให้เกิดเครื่องจักร สินค้า และบริการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และยังพบว่า ปัจจัยเชิงมนุษย์เป็นแหล่งเพิ่มรายได้ส่วนบุคคล ผลิตภาพของสถาบัน และรายได้ประชาชาติที่สำคัญ

ในขณะที่ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เป็นความคิดของของนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาสังคม โดยเน้นที่ค่านิยมและทัศนคติของแต่ละบุคคล นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาของตนเองขึ้นมา คือ ทฤษฎีทุนมนุษย์(Human Capital Theory) ซึ่งเน้นที่สมรรถนะในการผลิตของทรัพยากรมนุษย์   โดยเชื่อว่า หนทางที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ อยู่ที่การปรับปรุงประชากรให้ดีขึ้น

ผู้ที่กล่าวถึงทุนมนุษย์เป็นคนแรก คือ Theodore Schultz ซึ่งกล่าวต่อสมาคมนักเศษฐศาตร์อเมริกัน ในหัวข้อเรื่อง Investment in Human Capital (การลงทุนในมนุษย์)โดยเขามีความเห็นว่า ไม่ควรมองว่าการศึกษาเป็นเพียงการบริโภครูปแบบหนึ่ง แต่ควรมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อการผลิตด้วย เพราะประชากรที่มีการศึกษา ทำให้มีกำลังแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจาก Schultz แล้ว นัดเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆที่มีส่วนในการสร้างทฤษฎีทุนมนุษย์ขึ้นมา ได้แก่ DennisonBecker และ Rubenson

Dennison ด้เขียนหนังสือชื่อ The sources of Economic Growth in the United states (แหล่งเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐ) ซึ่งมีอิทธิพลทำให้การลงทุนทางการศึกษากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์มากขึ้น หนังสือเล่มนี้คู่กับผลงานของ Schultz ได้ส่งผลต่อกระทบต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษาทั่วโลก

ทฤษฎีทุนมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การศึกษาในระบบเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และจำเป็นต่อการปรับปรุงสมรรถนะในการผลิตของประชากรให้ดีขึ้น ประชากรที่มีการศึกษาจะเป็นประชากรที่มีความสามารถในการผลิต

นักทฤษฎีทุนมนุษย์เชื่อว่า การเจริญเเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากปัจัจย 2 ประการต่อไปนี้ คือ

ประการแรก การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีให้สูงขึ้น  เพราะเทคโนโลยีระดับสูงทำให้การผลิตเพิ่มมากขึ้น

ประการที่ 2 ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการมีทักษะและแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการผลิต

นักทฤษฎีทุนมนุษย์เชื่อว่า การลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อผลิตภาพของมนุษย์ สำหรับปัจจัยอื่นที่ช่วยให้เกิดประโยชน์จาการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพดี ความเป็นอยู่ดี เป็นต้น

ทฤษฎีทุนมนุษย์เหมือนกับทฤษฎีการทำไให้ทันสมัยในแง่ที่ว่า กุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ ลักษณะของแต่ละบุคคลที่ได้รับการพัฒนาโดยอาศัยกระบวนการทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีทุนมนุษย์ได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง เมื่อ Sobel ได้รวมเอา เศรษฐศาสตร์การศึกษา เศรษฐศาสตร์การจำแนก และเศรษฐศาสตร์ความยากไร้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์จุลภาค ในชื่อว่า เศรษฐศาสตร์ทรัยากรมนุษย์ ทำให้สามารถครอบคลุมทั้งในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายโอกาสทางการศึกษา มีผลทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในโอกาสของการมีรายได้และอำนาจในที่สุด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคำ

การเจิญเติบโทางเศรษฐกิจ หมายถึง ผลผลิตที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากมีการขยายต้วของกำลังการผลิต

การพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันมีผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ประเทศด้อยพัฒนา หมายถึง ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจน และยากจนมาเป้นเวลานาน ความยากจนนี้มิได้เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติหรือแรงงาน แต่เกิดจากไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยกับการพัฒนา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรื่องที่ได้รับความสนใจจาก นักสังคมศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และนักการเมืองเป็นอย่างมาก คือเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาในช่วงแรก เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะต้องเน้นการพัฒนาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าเมื่อประเทศมีระบบเศรษฐกิจดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบอื่นดีตามไปด้วย

แต่ความเจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ นอกจากการพัฒนาจะต้องมีการพัฒนาหลายมิติ คือ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางวัฒนธรรมแล้ว การพัฒนาที่มุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้น

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (The Modernization Theory) มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ เป็นทฤษฎีที่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาใช้กันอยู่ โดยเฉพาะนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาสังคมใช้กันมาก

นักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย โดยเน้นความสนใจที่การแปลงรูปสถาบันทางสังคมและการเมืองเป็นเบื้องต้น

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าการทำให้ทันสมัยและการพัฒนา คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การออม การลงทุน รายได้ประชาชาติ ผลิตภาพ และดุลยภาพในการใช้จ่ายเป็นสำคัญ

ทฤษฎีนี้ครั้งแรก เกิดจากการวิเคราะห์ความทันสมัยของ David McClelland และเขาได้เขียนหนังสื่อชือ The Achieving Society (สังคมแห่งความสำเร็จ) หนังสือมีเนื้อหาระบุว่า ความเจริญหรือความเสื่อมของอารยธรรม ขึ้นอยู่กับค่านิยมที่ประชากรส่วนใหญ่มีอยู่ สังคมจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ก็เพราะสังคมนั้นประกอบด้วยประชากรที่มีคุณลักษณะทางบุคลิกภาพที่เรียกว่า แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ได้มาจากการกล่อมเกลาทางสังคม

ในทางสังคมวิทยาได้กล่าวถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดความทันสมัยคล้ายกับของ McClelland แต่เน้นเรื่อง ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อ มากกว่าที่จะสนใจบุคลิกภาพโดยรวม

ต่อมา Alex Inkeles นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันได้สร้างคำถามเพื่อวัดทัศนคติขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่ามาตราส่วนวัดความทันสมัย ซึ่งมาตราส่วนนี้ถูกนำไปใช้วัดความทันสมัยอย่างกว้างขวางในระหว่างปี พ.ศ.2503 ถึงปี พ.ศ.2513

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ความทันสมัยเกิดจากความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างตัวแปร 5 ชุด ซึ่งได้แก่ สถาบันทันสมัย ค่านิยมทันสมัย พฤติกรรมทันสมัย สังคมทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ซึ่งตัวแปรทั้ง 5 ชุด มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่อไปนี้คือ สถาบันทันสมัย ส่งผลให้เกิดค่านิยมทันสมัย ค่านิยมทันสมัยส่งผลให้เกิดพฤติกรรมทันสมัย และพฤติกรรมทันสมัยส่งผลให้เกิดสังคมทันสมัย ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนเศรษฐกิจในที่สุด นั่นคือ การทำให้เกิดความทันสมัยจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เห็นความสำคัญของการทำให้เกิดความทันสมัย โดยเชื่อว่า

          1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับความดีของการทำงาน ความสามารถและความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีค่านิยมที่เกี่ยวข้องอื่นๆในจำนวนที่เหมาะสม การทำให้ทันสมัยเป็นการพัฒนา สังคมไม่สามารถพัฒนาได้จนกว่าคนส่วนใหญ่มีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย

          2. การสร้างค่านิยมที่ทันสมัย เกิดจากการวางแผนเกี่ยวกับมนุษย์ โดยสถาบันทางสังคมมีความสำคัญในการพัฒนาค่านิยมเล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางเศรษฐกิจ

          3. โครงสร้างทางวัฒนธรรม  สังคม และการเมืองแบบดั้งเดิม ทำให้ยุทธวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพหมดโอกาส เว้นแต่จะทำให้อุปสรรคเหล่านี้หมดไป สังคมจึงจะพัฒนาไปได้ อุปสรรคเหล่านี้จะหมดไปได้ก็โดยการทำให้ทันสมัย

          4. ประเทศยากจนหรือด้อยพัฒนา เป็นเพราะขาดโครงสร้างภายในที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำไปสู่ระบบอุตสาหกรรม คุณสมบัติเหล่านั้น ได้แก่ ทุนเพื่อการลงทุน ค่านิยมของการเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เป็นทฤษฎีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศตะวันตกในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มอย่างจริงจังในโครงการฟื้นฟูประเทศยุโรปตะวันตกและแผ่ขยายออกไปในประเทศด้อยพัฒนาในช่วงปีพ.ศ. 2493-2503

ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อว่า การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยจะต้องดำเนินการทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความรู้สึกนึกคิด และความรู้ของคนในสังคมไปพร้อมๆกัน จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคำ

แรงจูงใจ คือ พลังผลักดันอันเกิดจาก ความต้องการ แรงขับ และความปรารถนา ให้คนมีพฤติกรรมที่นำไปสู่เป้าหมาย

ค่านิยม คือ สิ่งที่บุคคลหรือสังคมเห็นว่ามีค่า ทำให้อยากเป็นอยากมี

ทัศนคติ หรือ เจตคติ คือ ความรู้สึกที่แสดงออกถึงความชอบหรือไม่ชอบต่อบุคคล สถานที่ สิ่งของ หรือเหตุการณ์

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

หลักเกณฑ์การลงทุนทางการศึกษาในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์

การลงทุนทางการศึกษา นอกจากจะต้องคำนึงถึงความมีประสิทธภาพ ความเสมอภาค และความมีคุณภาพแล้ว การตัดสินใจลงทุนทางการศึกษา จะต้องตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์หลายอย่าง ดังต่อไปนี้

1.ในแง่ของการกระจายการลงทุนทางการศึกษา การจะกระจายการลงทุนทางการศึกษา จะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ คือ ค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากการลงทุนได้กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วถึงหรือไม่ มีการกระจายในระหว่างชายและหญิงหรือไม่ กระจายในกลุ่มที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจหรือไม่ มีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาได้เท่าเทียมกันหรือไม่ มีการกระจายการเงินและผลตอบแทนทางการศึกษาหรือไม่ ฯลฯเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผู้จัดการศึกษาจะต้องตอบ ถ้าต้องการการลงทุนทางการศึกษาที่มีความเสมอภาค

2. การศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะที่การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมีประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประสิทธิภาพทางการศึกษา สามารถแสดงได้ใน 2 ลักษณะ คือ

          2.1 ประสิทธิภาพภายใน ดูได้จากความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษากับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่จบการศึกษา ดูว่าปัจจัยป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษาช่วยใ้ห้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ สำหรับประสิทธิภาพภายในสามารถปรับปรุงได้ด้วยการจัดตำราเรียนให้กับผู้เรียน หรือปรับปรุงคุณภาพการสอนให้ดีขึ้น การมีตำราเรียนอาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของภายในของสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น ประสิทธิภาพภายในของแต่ละสถาบันการศึกษาจะเปรียบเทียบผลผลิตกับเป้าหมายของสถาบันมากกว่าที่จะเปรียบเทียบกับเป้าหมายของสังคม

          2.2 ประสิทธิภาพภายนอก สามารถตัดสินได้จากหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

                    2.2.1 โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการฝึกอบรม จะต้องสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ และผู้จบการศึกษาได้ถูกดูดซับเข้าไว้ในตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด มีงานทำหรือไม่ มีรายได้ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ตลอดจนสามารถใช้ทักษะที่ได้จากสถาบันการศึกษาทำงานเพื่อการรับจ้างได้มากน้อยเพียงใด

                    2.2.2 ความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางการศึกษากับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยวัดจากผลิตภาพของของคนทำงานที่มีการศึกษาว่าสูงขึ้นหรือไม่

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การเพิ่มการลงทุนทางการศึกษาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้เกิดการพัฒนา ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงทุนทางการศึกษาจะต้องตอบคำถามที่สำคัญต่อไปนี้ เป้าหมายของการศึกษาคืออะไร จัดการศึกษาเพื่ออะไร การศึกษาที่จัดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง และแต่ละประเภทจัดมากน้อยเท่าไร วิธีจัดการศึกษาวิธีใดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

หากไม่ตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจน พบว่ามีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ไม่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น มีผู้จบทางวิศวกรรมศาสตร์มากกว่าผู้จบช่างเทคนิคระดับกลาง หรือมีการผลิตแพทย์มากกว่าพยาบาล เป็นต้น ผลที่สุด คือจบการศึกษาในระดับวิชาชีพต้องทำงานในหน้าที่ที่ใช้เพียงกำลังคนระดับกลาง เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษาและปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคำ

ประสิทธิภาพ หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่าปัจจัยป้อนกับผลผลิตในเชิงเปรียบเทียบ หากใช้ปัจจัยป้อนน้อยแต่ได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ถือว่ามีประสิทธิภาพ

ประสิทธิผล หมายถึง สามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการจัดการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนาแต่ละประเทศ จะให้ความสำคัญและเป้าหมายในการจัดการศึกษาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละประเทศ  

ถ้าจะจัดแบ่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายออกเป็นกลุ่มๆ โดยยึดแนวทางการจัดการศึกษา  สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเลือกขยาย(Selective expansion) ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มนี้จะต้องพัฒนาระบบการส่งมอบความรู้ โดยอาจใช้วิทยุ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยู่ในโรงเรียน ให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดี มีอาหารเพียงพอ สภาพแวดล้อมในโรงเรียนจะต้องปรับปรุง เพื่อให้มีอุปกรณ์การสอนที่ดี ครูได้รับการฝึกอบรมให้มีความสามารถเพื่อลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ประเทศเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษานอกระบบเป็นอย่างมาก

2. กลุ่มส่งเสริมความเท่าเทียมกัน (Promotion of equality) ประเทศในกลุ่มนี้มีเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย มีอัตรานักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสูงกว่า มีบางประเทศที่ต้องเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษานอกระบบ ประเทศเหล่านี้จะต้องปรับปรุงสิ่งล่อใจและการสอน ให้ความสำคัญพิเศษกับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนมีการระดมทรัพยากรจากองค์กรเอกชนเพื่อเป็นทุนทางการศึกษา

3. กลุ่มปรับปรุงคุณภาพและสภาพภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น (Improvement of quality and teaching-learning condition) ประเทศในกลุ่มนี้มีระดับรายได้ปานกลาง การศึกษามีเป้าหมายใกล้จะถึงระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน มีอัตราผู้เข้าเรียนสูงในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยมศึกษา เป็นประเทศที่สนใจการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้

4. กลุ่มสร้างความมั่นคงและขยายการปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น (Consolidation and extension of improvement) ประเทศในกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กำลังอยู่ในระยะพัฒนาระบบการศึกษา เป็นกลุ่มประเทศที่สามารถผลักดันอัตราการรู้หนังสือได้สูงกว่าร้อยละ 90 และสามารถจัดการอบรมคนงานให้มีทักษะได้ตามความจำเป็น เป็นประเทศที่ปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรและวิธีสอน มีการขยายการฝึกอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่งเสริมโครงการการทำวิจัยร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษา เป็นกลุ่มประเทศที่พยายามทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษาหมดไป

5. กลุ่มจัดการเพื่อลดความแตกต่างระหว่าภูมิภาค ( Managing differences in regional priorities) ประเทศในกลุ่มนี้มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ละภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมาก และมีความแตกต่างในเรื่องความก้าวหน้าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ มีเด็กในประเทศกลุ่มนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ถึง 11 ปีประมาณร้อยละ 40 อยู่นอกระบบโรงเรียน เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และวิศวกร โดยถือว่าการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะระดับสูงเป็นเรื่องสำคัญ

อนึ่ง ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องไม่มองข้ามเรื่องการเพิ่มความเป็นเมือง ความกดดันทางวัฒนธรรม อิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการกำหนดรูปแบบของสังคม ตลอดจนแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันผู้วางนโยบายทางการศึกษาจะต้องคำนึงถึง การแก้ไขการขาดดุลทางการศึกษา พยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่ให้ทุกคนรู้หนังสือ  การลดความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ขยายการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึง การปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

โดยสรุป จะเห็นว่า การจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงหลักทางการศึกษา คุณภาพชีวิต ความเสมอภาค ความสอดคล้อง ความหลากหลาย เศรษฐกิจ   สังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคำ

การศึกษา คือ กิจกรรมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดควาสามารถที่มีประยชน์

ความสามารถที่มีประโยชน์ คือ ความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

                                                                Theodore W Schultz.
                                                           นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รัฐกับการจัดการศึกษา

นักเศรษฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะมองว่า การศึกษาเป็นสินค้ากึ่งสาธารณะ ฉะนั้น ความรับผิดชอบการศึกษาจึงเป็นทั้งของรัฐบาลและของผู้เรียน โดยรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ผู้พัฒนาและผู้ทำให้เกิดความเป็นธรรม ด้วยการดำเนินการจัดการศึกษาในลักษณะต่อไปนี้คือ 1) พัฒนาโครงสร้างของการบริการของรัฐและของสถาบันการศึกษา 2) สร้างความเป็นธรรมทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในการจัดการศึกษา จะมีสถานการณ์ 2 แบบ ที่เป็นปัญหาถกเถียงจนเกิดความเครียดและความขัดแย้งในสังคม ปัญหาดังกล่าวคือ

1. ความยุติธรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ในระบบการศึกษาการจัดการศึกษาเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อความเท่าเทียมกันในโอกาสมักจะคู่กันเสมอ แต่ไม่ง่ายที่จะทำไปพร้อมๆกัน เพราะการเพิ่มจำนวนประชากร ความกดดันของผู้ปกครองและการเมือง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างความยุติธรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

2. ปริมาณและคุณภาพ ในการจัดการศึกษาจะมีความขัดแย้งเรื่องปริมาณและคุณภาพอยู่เสมอเมื่อทรัพยากรมีจำกัด เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความต้องการขยายการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น เรามักจะต้องการเพิ่มจำนวนนักเรียน ครู อาคารสถานที่ พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพต่างๆ เช่น มีตำราเรียนที่ได้มาตรฐาน มีครูที่มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ที่ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดี มีอาคารเรียนที่มีอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ฉะนั้น ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา จะต้องเป็นการตัดสินใจที่สร้างความสมดุลในเรื่องต่อไปนี้ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสมอภาค คุณภาพกับปริมาณ และ การคัดเลือกกับการเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ในกรณีที่จำเป็นจะต้องเลือก นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ควรเน้นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ควรขยายระบบอุดมศึกษา เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

เนื่องจากการศึกษาเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ ให้มีความสำนึกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  การศึกษาจึงต้องช่วยให้ทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเสรี มีประสิทธิผล ส่งเสริมความเข้าใจ มีความอดทนในความแตกต่าง เกิดความสามัคคีระหว่างคนในชาติและนานาชาติ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการที่จะประกันสิทธิทางการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษา ดังนี้

1. การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องกระตุ้นให้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกระบบโรงเรียน การประถมศึกษาจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ฟรีสำหรับทุกคน ส่วนระดับมัธยมศึกษาควรจัดในรูปแบบต่างๆทั้งสามัญศึกษา ช่างเทคนิค และอาชีวศึกษา และจัดให้ทั่วถึงสำหรับทุกคนโดยใช้วิธีที่เหมาะสม

2.  การศึกษาระดับอุดมศึกษา จะต้องเปิดโอกาสให้ทุคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมรรถภาพของแต่ละบุคคลและใช้วิธีที่เหมาะสม

3. การศึกษาในระบบ สื่อการสอน และครู จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางและความรับผิดชอบของรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนจะจัดได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับทรัพยากร รวมทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคำ

การศึกษ คือ ความเจริญงอกงาม (Education is growth.)

                                                                  John Dewey

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รูปแบบการเรียนรู้ในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีวิธีการสื่อสาร การสะสม และการเผยแพร่ข้อมูลมากมาย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หากจะจัดการศึกษาโดยวิธีดั้งเดิม ซึ่งมุ่งในเรื่องปริมาณและอาศัยความรู้เป็นหลัก ย่อมจะไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไป

และหากจะป้อนความรู้ให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพียงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภายหน้านั้นย่อมไม่เพียงพอ จะต้องสอนให้ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และเจตคติของตน ตลอดจนสามารถปรับตัวไปตามกระแสที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และผันแปรตลอดเวลา รวมทั้งทุกคนจะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

คณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่ 21 พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องเผชิญในคริสต์ศตวรรษที่ 21  จำเป็นจะต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการศึกษา เปลี่ยนความคาดหวังจากการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษาที่อาศัยวิธีการเรียนรู้ 4 แบบ ที่เป็นเสาหลักขององค์ความรู้ คือ

1. การเรียนรู้เพื่อรู้

การเรียนรู้แบบนี้เป็นการเรียนรู้วิธีแสวงหาความรู้ ซึ่งเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายร่วมกัน

การเรียนรู้เ้พื้่อรู้ในฐานะที่เป็นวิธีการ จะช่วยให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพียงพอที่จะให้สามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี พัฒนาทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ และสามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างดี

ในฐานะที่เป็นเป้าหมาย การเรียนรู้ประเภทนี้ อาศัยความพอใจที่ได้เข้าใจ ได้รู้ และได้ค้นพบสิ่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรู้มีมากมายหลายแบบ จึงไม่มีประโยชน์ที่พยายามรู้ทุกอย่างหลังจากการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า การเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งจะต้องตัดความรู้ทั่วไปออกเสียเลย เพระผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีภูมิหลังที่กว้าง เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ ร่วมมือกับผู้อื่นได้

2. การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ

การเรียนรู้เพื่อรู้กับการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ แทบจะแยกออกจากันไม่ได้ แต่การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัตินั้นมีความสัมพันธ์กับการฝึกวิชาชีพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้แต่เพียงให้มีความชำนาญด้านวิชาชีพเท่านั้น ย่อมไม่เป็นการเพียงพอ ต้องสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะ การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ใหม่โดยอาศัยประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นการเรียนนอกระบบโรงเรียนหรือในระบบโรงเรียน ที่ใช้หลักสูตรซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติสลับกับการฝึกปฏิบัติงาน

3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน

การเรียนรู้ประเภทนี้ เป็นประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่งสำหรับการศึกษาในปัจจุบัน เพราะหลายครั้งที่โลกของเรากลายเป็นโลกแห่งความรุนแรง

จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะวางระบบการศึกษาที่ช่วยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี สอนให้เข้าใจผู้อื่น ตลอดจนตระหนักว่ามนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดำเนินโครงการ และเรียนรูวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆร่วมกัน

4. การเรียนรู้เพื่อชีวิต

ในคริสต์ตวรรษที่ 21 จำเป็นจะต้องมีบุคคลที่มีความสามารถและมีบุคลิกภาพอันหลากหลาย ทำให้จำเป็นจะต้องจัดให้เด็กได้มีโอกาสมากที่สุดที่จะคิดค้นและทดลองในด้านต่างๆ เพื่อจะได้ปรับปรุงบุคลิกภาพให้ดีขึ้น ดำเนินงานโดยอิสระเสรียิ่งขึ้น มีดุลยพินิจและความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น

ทั้งนี้จะต้องไม่ละเลยศักยภาพเกี่ยวกับความจำ การใช้เหตุผล ความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ สมรรถนะทางร่างกายและการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

ที่ผ่านมา การศึกษาจะมุ่งในเรื่องการเรียนรู้เพื่อรู้เป็นส่วนใหญ่ โดยให้ความสนในใจการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติน้อย ส่วนอีก 2 หลักการ ถูกละเลย หรือเหมาเอาเองว่าเป็นผลพลอยได้ของ 2 หลักการแรก  ซึ่งความจริงแล้วในการเรียนรู้ควรให้ความสำคัญแก่ทุกหลักการโดยเท่าเทียมกัน เพื่อการศึกษาจะได้เป็นประสบการณ์โดยรวมตลอดชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคำ

การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการมีประสบการณ์

ประสบการณ์ หมายถึง ผลที่ได้จากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัส

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือน

การเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือนเป็นวิธีการหนึ่งในสามวิธี อันได้แก่ การเป็นตัวแบบเพื่อให้คนอื่นเห็น การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังเพื่อให้คนอื่นรู้สึก และการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือนเพื่อให้เขาได้ยิน จากหนังสือ Principle-centered Leadership ของ Stephen R.Covey ประกอบด้วยวิธีการต่อไปนี้

1.เตรียมจิตใจก่อนจะเตรียมคำพูด  เพราะสิ่งที่จะพูดอาจไม่สำคัญเท่าวิธีพูด ด้วยเหตุนี้ก่อนจะพูดกับคนอื่นจะต้องเตรียมจิตใจให้พร้อม คือทำตัวให้มีลักษณะน่าสนใจและสนุกสนาน ตลอดจนมีความสนใจความต้องการของคนที่จะพูดด้วยอย่างเต็มที่ โดยถามตัวเองก่อนว่า จะทำให้คนอื่นมีความสุขได้อย่างไร

2.หลีกเลี่ยงการต่อสู้หรือหนี ในการบอกเตือน บุคคลหลายคนไม่ต่อสู้ก็หนีเมื่อไม่เห็นด้วย การต่อสู้สามารถทำได้หลายลักษณ ตั้งแต่ใช้ความรุนแรง แสดงความโกรธ และความเกลียดชังอย่างเปิดเผย ใช้คำที่ทำให้คนอื่นเป็นตัวตลก จนถึงการมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างอื่น ส่วนการหนีอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ถอยหนีไปเลย รู้สึกเสียใจกับตนเอง เย็นชาไม่ยุ่งเกี่ยว ฯลฯ การกระทำในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการแก้แค้นหรือการแก้เผ็ดในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงควรพูดตามที่เห็นแตกต่าง โดยไม่มีพฤติกรรมต่อสู้หรือถอยหนี

3. ยอมรับและใช้เวลาเพื่อจะสอน  การสอนจะต้องเลือกเวลา บางเวลาก็ควรสอนบางเวลาก็ไม่ควรสอน เวลาที่ควรสอนได้แก่เวลาซึ่ง 1) คนอื่นไม่รู้สึกถูกคุกคาม 2) ตัวเราเองไม่มีความรู้สึกโกรธหรือคับข้องใจ และ 3) เมื่อคนอื่นต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน

4. ตกลงเรื่องข้อจำกัด กฎเกณฑ์ ความคาดหวัง และผลที่ตามมา ความมั่นคงของบุคคลเกิดจากความสำนึกของความยุติธรรม การรู้ว่าควรจะคาดหวังอะไร อะไรคือข้อจำกัด กฎเกณฑ์ และผลที่จะตามมา เพราะจะทำให้ชีวิตไม่มีระเบียบหากมีความคาดหวังที่ไม่แน่นอน หรือเปลี่ยนข้อจำกัดหรือกฎเกณฑ์บ่อยๆ วันนี้เป็นอย่างหนึ่งอีกวันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

5. อย่าเลิกและอย่ายอมจำนน เป็นการกระทำที่ไม่ดีนักที่ปกป้องไม่ให้บุคคลได้รับผลจากการกระทำของตนเอง เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการสอนให้เขาเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเรายอมจำนนกับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้วินัยของบุคคลเสียไป

6. กระทำด้วยความรอบคอบ การตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลระยะยาว ไม่ควรตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ในกรณีที่ต้องเผชิญกับบุคคลที่ใช้อารมณ์และเพื่อรักษาการมีอิทธิพลของเราไว้ เราควรปฏิบัติดังนี้ ประการแรก คิดก่อนที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบ คืออย่าโต้แย้งด้วยอารมณ์ หรือทำอะไรก็ตามที่กระทบต่อความสัมพันธ์ ประการที่ 2 . จะต้องเข้าใจว่าคนทุกคนมีแนวโน้มที่จะทำตามความรู้สึกมากกว่าทำตามที่รู้ ทำตามหัวใจมากกว่าทำตามสมอง เมื่อรู้สึกว่าเหตุผลของเราไม่สามารถสื่อสารกับอารมณ์ของเขาได้ เราจะต้องพยายามเข้าใจเขา โดยไม่ตำหนิหรือปฏิเสธ การสื่อสารด้วยการยอมรับตามที่เขาเป็น จะทำให้การป้องกันตนของเขาลดลง ลดการต่อสู้ และมีความปรารถนาที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

7. พูดภาษาของเหตุผลและภาษาของอารมณ์ ภาษาของเหตุผลและภาษาของอารมณ์มีความแตกต่างกัน เมื่อใดที่รู้สึกว่าเราไม่มีภาษาร่วมกันคือพูดคนละภาษา คนหนึ่งใช้ภาษาเหตุผลแต่อีกคนหนึ่งใช้ภาษาอารมณ์ อาจจะต้องสื่อสารกันในลักษณะต่อไปนี้ 1) ให้เวลา 2) อดทน 3) พยายามเข้าใจ และ 4) แสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย

8. มอบหมายงานอย่างมีประสิทธิผล ในกรณีที่เป็นผู้บริหาร การมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิผลจะต้องมีความกล้าในระดับหนึ่ง ในการที่จะอนุญาตให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายทำผิดพลาดเกี่ยวกับ การใช้เวลา เงิน และชื่อเสียง ความกล้าในที่นี้ประกอบด้วย ความอดทน การควบคุมตัวเอง ความศรัทธาในศักยภาพของคนอื่น ตลอดจนการยอมรับในความแตกต่างระหว่า่งบุคล สำหรับการมอบหมายที่มีประสิทธผลมี 2 ทาง คือ ให้ผู้ที่รับมอบหมายรับผิดชอบกับรับผิดชอบด้วยตนเอง

9. เกี่ยวข้องกับคนอื่นในโครงการที่มีความหมาย โครงการที่มีความหมายมีอิทธิพลในการส่งเสริมบุคคล  โครงการจะมีความหมายก็ต่อเมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการวางแผนและคิดกระบวนการ มนุษย์ทุกคนอยากเกี่ยวข้องกับสิ่งดีๆ เพราะถ้าชีวิตไม่มีโครงการดีๆชีวิตจะไม่มีความหมาย

10. ฝึกอบรมตามกฎของการเก็บเกี่ยว หมายถึง การฝึกให้เข้าใจตามหลักการทำการเกษตร ว่าในการทำการเกษตรจะต้องมีการ เตรียมดิน ไถ ปลุก รดน้ำ้ กำจัดวัชพืช แล้วจึงเก็บเกี่ยว อันเป็นกระบวนการการทำการเกษตร ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีขั้นตอนในการทำงาน เพราะหากมีกระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสม จะได้รับผลตอบแทนที่ดี เพราะในการทำงานผลที่ได้รับ จะเป็นผลจากที่บุคคลได้ทำลงไป

11. ปล่อยให้ผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสอนพฤติกรรมความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นวิธีสอนวิธีหนึ่งที่สอนให้เกิดความรับผิดชอบได้ กล่าวคือเมื่อบุคคลตัดสินใจทำอะไรลงไป จะต้องรับผิดชอบผลที่เกิดจากการกระทำนั้น คนอื่นไม่ควรรับผิดชอบแทน

อนึ่ง ในการใช้วิธีสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นในเชิงบวกของ Covey ทั้ง 3 วิธี ให้เกิดประสิทธิผล จะต้องใช้ทั้งสามวิธี  ตามควรแ่ก่เหตุ แม้วิธีการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือนค่อนข้างจะยาก ก็ตาม เพราะคนส่วนมากไม่ค่อยจะยอมรับคำเตือนจากบุคคลอื่น

อย่างไรก็ตาม จากความพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือคนอื่น มักจะมีความผิดพลาด 3 ประการ ได้แก่

ข้อผิดพลาดประการที่ 1 ให้คำแนะนำก่อนที่จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลนั้น การแนะนำโดยไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ต่อกันทำให้เกิดความผิดพลาดได้

ข้อผิดพลาดประการที่ 2 พยายามสร้างความสัมพันธ์โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงความประพฤติหรือทัศนคติทั้ง 2 ฝ่าย

ข้อผิดพลาดประการที่ 3 สรุปเอาว่า เพียงแต่เป็นตัวอย่างและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็เพียงพอต่อการมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอน ใช้แรงจูงใจหรือกำหนดมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก 

ความผิดพลาดดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้การสร้างอิทธิพลในเชิงบวกเหนือบุคคลอื่นขาดประสิทธิผลได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                         สาระคิด

             การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เพราะ ความสำเร็จ ความสุข ตลอดจนการมีชีวิตที่ดี ล้วนเกิดจากความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นทั้งสิ้น

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง

การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง เป็นวิธีการหนึ่งใน 3 วิธี อันได้แก่ การเป็นตัวแบบ การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง และการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือน ซึ่งเป็นวิธีที่ Stephen R. Covey เห็นว่าเป็นวิธีการที่ใช้ในการสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นในเชิงบวก

สำหรับวิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเราเข้าใจและเอาใจใส่ ประกอบด้วย

1. สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนอื่นเป็นคนดี เพราะการสันนิษฐานในทางที่ดีจะได้รับผลในทางที่ดี มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะตอบสนองตามลักษณะที่เราปฏิบัติต่อเขา และตามที่เรามีความเชื่อในตัวเขา เมื่อไรก็ตามที่มีศรัทธาที่ดี จะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ดี มีความมั่นคงภายใน และดึงดูดให้คนอื่นศรัทธาในความดีนั้นเช่นกัน

2. แสวงหาความเข้าใจ  เราจะต้องเข้าใจคนอื่นก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นเข้าใจเรา คือเมื่อเราสื่อสารกับคนอื่นจะต้องให้ความสนใจอย่างเต็มที่ จะต้องสนใจทัศนะของคนอื่นด้วยความกล้า อดทน และมั่นคงภายใน เพราะปกติมนุษย์จะไม่ยอมให้บุคคลอื่นมีอิทธิพลเหนือตน ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจในตัวเขา

3. ยอมรับการแสดงออกที่เปิดเผยและคำถามที่ซื่อสัตย์ มีบ่อยครั้งที่บุคคลลงโทษความซื่อสัตย์ คำถาม และการแสดงออกที่เปิดเผยของบุคคลอื่น ด้วยการตัดสิน หรือทำให้บุคคลนั้นเกิดความอายจนต้องป้องกันตัวเอง  การวิพากษ์วิจารณ์และการตัดสินว่าถูกผิด เป็นการขัดขวางการสื่อสารที่ตรงไปตรงมามากที่สุด

4. การตอบสนองที่แสดงถึงความเข้าใจ การตอบสนองที่แสดงถึงความเข้าใจ จะได้รับการตอบสนองที่ดี 3 ลักษณะ คือ 1) เพิ่มความเข้าใจที่ชัดเจนถึงความรู้สึกและปัญหา 2) มีความกล้าใหม่ๆเกิดชึ้น และมีความเจริญเติบโตอย่างอิสระด้วยความรับผิดชอบ 3) สร้างความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง การตอบสนองในลักษณะนี้จะมีคุณค่าใหญ่หลวงมาก เมื่อมีการพูดในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่แสดงถึงความไม่เข้าใจ

5. ถ้าถูกทำให้ขุ่นเคืองจงใช้ความริเริ่ม หากมีใครมาทำให้เกิดความขุ่นเคืองอย่างต่อเนื่อง จงริเริ่มที่จะทำให้เกิดความชัดเจน พยายามเข้าใจถึงความรู้สึกของตน แต่อย่าตัดสินใจหรือหมายหัวคนอื่น เพราะการทำเช่นนั้น ทำให้ศักดิ์ศรีและการยอมรับตนเองหมดไป จงตอบสนองและเรียนรู้โดยปราศจากการถูกคุกคามอันเนื่องมาจากความรู้สึกของตน

6.ยอมรับผิดแสดงความเสียใจและขอโทษ เมื่อความสัมพันธ์ในกลุ่มเกิดความตึงเครียด อาจมีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่า ตนมีส่วนในการทำให้เกิดความตึงเครียดนั้น การยอมรับความผิดพลาดแสดงความเสียใจและขอโทษ ไม่กล่าวหาใคร ไม่แก้ตัว ไม่อธิบาย หรือปกป้องตัวเอง จะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีชึ้น

7. อย่าสนใจการโต้แย้ง อย่าตอบโต้การโต้แย้งหรือข้อกล่าวหาที่ผิดๆ เพราะถ้าหากตอบโต้หรือให้เหตุผล จะทำให้เกิดศัตรูหรือความโกรธเกิดขึ้นได้  แต่ถ้าเงียบไม่ตอบโต้ คนอื่นจะเกิดการต่อสู้ภายในของเขาเอง พลังของการไม่ตอบโต้ทำให้ความสงบเกิดขึ้นภายใน ความสงบคือการดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและยึดมั่นในมโนธรรม

8. สนใจคนบางคนเป็นพิเศษ มีเสมอที่เราละเลยคนบางคน แต่ให้ความเอาใจใส่กับคนจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ตนเองมีคุณค่าและมีความกตัญญูกตเวที ซึ่งความจริงแล้ว เราควรหาเวลาให้กับตนเอง เพื่อดูแลคนพิเศษบางคน เช่น พ่อแม่ ลูก ภรรยา ฯลฯ

9.ทบทวนความมุ่งมั่นที่มีร่วมกับคนอื่น การทบทวนความมุ่งมั่นที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เช่น เพื่อน ครอบครับ และเพื่อนร่วมงาน ความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันจะทำให้เกิดควมภักดีและความรู้สึกที่มั่นคง ฉะนั้น จึงควรมีการทบทวนความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันอยู่เสมอ

10. รับอิทธิพลจากคนอื่นก่อน จงมีอิทธิพลเหนือคนอื่นในระดับเดียวกับที่คนอื่นรู้สึกว่าเขามีต่อเรา เมื่อใดที่คนอื่นรู้สึกว่าเรามีความสนใจตัวเขาอย่างแท้จริง เขาจะรู้สึกว่าเขามีอิทธิพลเหนือเรา ทำให้เขาเปิดตัว ซึ่งจะทำให้เรามีอิทธิพลในเชิงบวกต่อเขามากขึ้น

11. ยอมรับบุคคลและสถานการณ์ ขั้นแรกของการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงบุคคลอื่นให้ดีขึ้น ก็คือการยอมรับเขาตามที่เขาเป็น เพราะไม่มีอะไรจะเสริมแรงพฤติกรรมการป้องกันตัวเองมากไปกว่า การตัดสิน การเปรียบเทียบ หรือการปฏิเสธ ความรู้สึกยอมรับในคุณค่า ทำให้บุคคลปลอดจากการป้องกันตัวเอง มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น การยอมรับเป็นการยืนยันคุณค่าของบุคคลอื่น

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง ทั้ง 11 ประการ ที่กล่าวมา หากบุคคลใดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเป็นการช่วยให้มีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

                                                 ตระเตรียมตนไว้ให้ดีก่อน แล้วต่อไปจะได้สิ่งที่รัก

                                                                                                   พุทธศาสนสุภาษิต

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคอื่นในเชิงบวกด้วยการเป็นตัวแบบ

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคลลอื่นมีทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ เพียงแต่ว่า หากใช้วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงลบ จะได้การตอบสนองในเชิงลบเช่นเดียวกัน

ดังนั้น มนุษย์จึงควรสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในเชิงบวก ทั้งในเรื่องส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอาชนะในทางธุรกิจ รักษามิตรภาพ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น

Stephen R. Covey  ผู้เขียนหนังสือ Principle-centered Leadership เห็นว่า การจะสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นในเชิงบวก สามารถทำได้ด้วยการเป็นตัวแบบเพื่อให้คนอื่นเห็น สร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังเพื่อให้คนอื่นรู้สึก เป็นคู่คิดด้วยการบอกเตือนเพื่อให้เขาได้ยิน

สำหรับการเป็นตัวแบบเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเป็นใครและมีพฤติกรรมอย่างไร Covey ระบุว่ามีวิธีการดังนี้

1.ละเว้นการพูดที่ขาดความเมตตาหรือพูดในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกยั่วยุหรือเมื่อมีความเหนื่อยอ่อน การไม่พูดด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเป็นการชนะใจตนเอง เป็นความกล้าอย่างหนึ่ง

2. แสดงถึงความอดทนต่อผู้อื่นในขณะที่เครียด บุคคลมักจะขาดความอดทน อาจจะพูดในสิ่งที่ไม่คิดจะพูด หรือตั้งใจจะพูด ขณะที่มีความเครียด ความอดทนแสดงให้เห็นถึงความศรัทธา ความหวัง ปัญญา และความรัก ความอดทนเป็นความฉลาดทางอารมณ์

3. แยกให้ออกระหว่าง ตัวบุคคล พฤติกรรม และการปฏิบัติ ขณะที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือการปฏิบัติที่แย่ บุคคลจะต้องสื่อสารและช่วยสร้างความสำนึกของการมีคุณค่าที่แท้จิงให้กับคนอื่น พร้อมกันกับการเห็นคุณค่าแห่งตย โดยไม่มีการเปรียบเทียบและการตัดสินว่าถูกหรือผิด เป็นการแยกพฤติกรรมและการปฏิบัติออกจากตัวบุคคล

4 บริการโดยไม่หวังผลตอบแทน เมื่อไรก็ตามที่เราทำความดีกับคนอื่น ความสำนึกของการมีคุณค่าที่แท้จริงและการยอมรับตนเองจะเพิ่มขึ้น มากไปกว่านั้น การบริการโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำให้เราเห็นคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย การบริการโดยปราศจากการเห็นแก่ตัว เป็นวิธีที่สร้างอิทธิพลที่มีพลังมากที่สุดวิธีหนึ่ง

5. เลือกที่จะตอบสนองด้วยความรับผิดชอบ เป็นการเลือกของตนเองและตอบสนองด้วยตนเอง  เป็นการเลือกตอบสนองด้วยความรับผิดชอบ แต่ถ้าไม่ฝึกการเลือกที่ฉลาด การกระทำของเราจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขต่างๆ การเลือกที่จะตอบสนองด้วยความรับผิดชอบ เป็นสิทธิและพลังในการที่จะตัดสินใจ ว่าจะยอมให้บุคคลหรือสิ่งภายนอกมีอิทธิพลต่อเรามากน้อยเพียงใด

6.รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่น การให้สัญญาและการรักษาสัญญาทำให้บุคคลมีอิทธิพลเหนือคนอื่น เพื่อการเป็นคนดีและเป็นการกระทำที่ดี บุคคลจะต้องรักษาสัญญา แต่อย่าให้สัญญาในสิ่งที่ทำตามสัญญาไม่ได้ การรู้จักตนทำให้เรารู้ว่าสัญญาใดที่ทำขึ้นแล้วสามารถรักษาได้หรือรักษาไม่ได้ การรักษาสัญญาเป็นมาตรการที่แสดงถึงความศรัทธาและความมีบูรณาการในตัว

7. มุ่งขยายขอบเขตอิทธิพล เพียงแต่มุ่งทำสิ่งที่เราควบคุมได้ในเชิงบวก ขอบเขตของอิทธิพลก็จะขยายออก ปัญหาใดที่ควบคุมได้จะต้องแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนนิสัยการกระทำและการคิด ส่วนปัญหาที่ควบคุมไม่ได้จะต้องเปลี่ยนวิธีการ

8. มีชีวิตภายใต้กฎแห่งความรัก มนุษย์มีความนุ่มนวลภายใน แม้คนที่ดูกระด้างและพึ่งตนเองได้ เราสามารถมีอิทธิพลต่อคนอื่นเพิ่มขึ้นด้วยการแสดงความรัก โดยเฉพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เพราะทำให้บุคคลอื่นรู้สึกว่ามีคุณค่าและปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมเหมือนหรือมีการเปรียบเทียบกับคนอื่น

วิธีการสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวก ทั้ง 8 ประการนี้ เป็นตัวแบบที่ทำให้คนอื่นเห็น เมื่อคนอื่นเห็นการกระทำของเราในลักษณะที่กล่าวมา ทำให้เกิดความรู้สึกในทางที่ดี จะทำให้เรามีอิทะิพลในเชิงบวกเหนือบุคลอื่นได้ในระดับหนึ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                                     ปัญญาย่อมเกิดเพราะการใช้

                                                                        พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

การพัฒนาตนตามทัศนะของโรเจอร์ส

คาร์ล โรเจอร์ส(Carl Rogers) เป็นนักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิทยามนุษยนิยม เป็นเจ้าของทฤษฎีเกี่ยวกับตน(Self-Theory) และวิธีการบำบัดที่เรียกว่า Client centered Theory หรือ Non-directive Theory หรือ Person-centered Theory ซึ่งเป็นวิธีบำบัดที่ยึดผู้รับการบำบัดเป็นศูนย์กลาง เพราะเชื่อว่าผู้รับการบำบัดเป็นผู้รู้ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาชองตน

ปัจจุบันทฤษฎีการยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง ได้รับการยอมรับและนำไปประยุกต๋ใช้อย่างกว้างขวาง โดยนำไปใช้กับบุคคลปกติมากขึ้น เพื่อพัฒนาบุคคลให้งอกงามเต็มศักยภาพ

ในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคคล โรเจอร์ส เห็นว่า มนุษย์นั้นมีลักษณะเปราะบาง แต่ยืดหยุ่นได้เหมือนสาหร่ายทะเล  ส่วนบุคลิกภาพจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้ตน(self-perception)และประสบการณ์ หากการรับรู้ตนกับประสบการณ์ทำหน้าที่ผสมกลมกลืนมากเท่าไร ความมั่นคงปลอดภัยจะเกิดขึ้นกับตนเองมากขึ้นเท่านั้น

โรเจอร์ส เห็นว่ามนุษย์มีความปรารถนาที่จะสร้างภาวะสมดุลย์  เพื่อการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น มีอิสระมากขึ้น มีเสรีภาพที่จะแสดงออก มนุษย์ทุกคนสามารถแก้ปัญหาของตนได้ มนุษย์ไม่มีธรรชาติใฝ่ต่ำ แต่สถานการณ์แวดล้อมไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้ และจากประสบการณ์ทำจิตบำบัดของเขา พบว่า มนุษย์ทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดี แต่มีเป้าหมายของชีวิตแตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล

เกี่ยวกับการพัฒนาตน มนุษย์แต่ละคนมีแรงขับเพื่อการพัฒนาตนให้เป็นตนตามความเป็นจริง แต่การมีแรงจูงใจหรือแรงขับอย่างเดียว บุคคลไม่สามารถจะพัฒนาตนไปสู่ความเป็นตนตามความเป็นจริงได้ เพราะมนุษย์มีความต้องการ 2 ประการ คือ ความต้องการที่จะได้รับความนับถือจากบุคคลอื่นในเชิงบวก การยอมรับในที่นี้ หมายรวมถึงการเห็นอกเห็นใจ การให้ความอบอุ่น ฯลฯ กับความต้องการนับถือตนเอง ซึ่งความต้องการทั้ง 2 ประการนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาตนด้วย

การพัฒนาตนเริ่มตั้งแต่วัยทารก โลกของทารกคือการมีประสบการณ์ที่เป็นจริง ที่สัมผัสได้ด้วยตนเอง มีทั้งแรงขับและแรงจูงใจ ที่ผลักดันให้บุคคลต้องการรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เมื่อเด็กโตขึ้นจะสามารถจำแนกประสบการณต่างๆ และรู้ว่าอะไรเป็นของคนอื่นอะไรเป็นของตน

ด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข บุคคลนั้นจะปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี มีประสิทธิภาพ มีสุขภาพจิตดี ส่วนเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบไม่คงเส้นคงวา ตั้งความหวังกับลูกมากเกินไป ลูกเป็นสิ่งชดเชยความรักหรือความขาดแคลนของพ่อแม่ ทำให้เด็กมีตัวตนสับสน เด็กจะพัฒนานิสัยใจคอไปในทางลบ เช่น ชอบหลอกตัวเองและบุคคลอื่น ชอบกล่าวโทษผู้อื่น หนีสังคม มักมองเห็นสังคมและผู้คนรอบข้างไม่น่าไว้วางใจ

และจากประสบการณ์การทำจิตบำบัด ทำให้โรเจอร์สพบความจริงว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็ดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตที่ดีตามเป้าหมายของชีวิตที่แตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล 

สำหรับชีวิตที่ดีตามทัศนะของโรเจอร์สมีดังนี้

          1.เปิดรับความคิดหรือความรู้สึกของตนอย่างจริงใจ ไม่ว่าความคิดหรือความรู้สึกนั้นจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ตลอดจน มีความสามารถในการจัดการกับความคิดหรือความรู้สึกนั้นได้อย่างเหมาะสม

          2.มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ผูกมัดตนเองกับประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งจะมี จะเป็น ในอนาคต

          3. ตัดสินใจเลือกวิถึชีวิตหรือการกระทำด้วยความคิดและสติปัญญาของตน แต่ไม่ได้เป็นคนดื้อรั้นหรือหลงตน โดยไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เป็นบุคคลยอมรับกฎเกณฑ์ท างสังคมและวัฒนธรรมมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือก

          4. มีอิสระที่จะทำกิจกรรม หรือบทบาทต่างๆด้วยความรับผิดชอบ ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของศีลธรรมจรรยา

          5. มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ทำอะไรโดยผูกติดกับอยู่กับประเพณีและวัฒนธรรมตลอดเวลา

โดยสรุป โรเจอร์สซึ่งเป็นเจ้าทฤษฎีเกี่ยวกับตน และกระบวนการจิตบำบัดโดยยึดบุคลลเป็นศูนย์กลาง มีทัศนะว่่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนดี ต้องการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายการมีชีวิตที่ดี แต่ที่ไม่อาจพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้ก็เพราะสิ่งแวดล้อมทางชักนำให้เป็นไป  โดยเฉพาะการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

            มนุษย์ทุคนมีตัวตน 3 แบบ คือตนที่ตนมองเห็น ตนตามที่เป็นจริง และตนตามอุดมคติ

                                                                           Carl Rogers

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ลักษณะบุคคลที่มีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์

ทัศนคติมีความสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์ การจะแสดงพฤติกรรมในลักษณะใดจะขึ้นอยู่กับทัศนคติของบุคคลผู้นั้น 

ในการแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากจะต้องใช้วิธีการและกระบวนวิธีที่ถูกต้องแล้ว ยังจำเป็นที่บุคคลจะต้องมีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์(Scientific Attitude)ด้วย การแก้ปัญหาจึงจะประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผล

ซึ่งผู้มีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์จะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

          1. มีความอยากรู้อยากเห็นในการที่จะแสวงหาคำตอบที่มีเหคุผลในข้อปัญหาต่างๆ เพราะความอยากรู้อยากเห็นทำให้เกิดความยินดีเมื่อพบปัญหาใหม่ๆ

          2.มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอยเมื่อมีปัญหาอุปสรรค หรือประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหา และหากมีความล้มเหลวเกิดขึ้นให้ถือว่าเป็นข้อมูลที่ต้องบันทึกไว้

          3. เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับในคำอธิบายเมื่อมีหลักฐานข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ ตลอดจนเป็นผู้อธิบายหรือแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล

          4. มีความซื่อสัตย์ เมื่อมีการบันทึก จะต้องบันทึกผลหรือข้อมูลตามความเป็นจริง ถูกต้อง ละเอียด สามารถตรวจสอบได้

          5.เป็นผู้มีระเบียบรอบคอบ และเห็นประโยชน์ของการวางแผน มีการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักไตร่ตรองพินิจพิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ

          6. เป็นผู้มีใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้อื่น รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ข้อโต้แย้ง หรือข้อคิดเห็นที่มีเหตุผลของผู้อื่น โดยไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดของตนฝ่ายเดียว ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อยังหาข้สรุปที่แน่นอนไม่ได้

ทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมา เป็นทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ บุคคลใดที่ต้องการแก้ปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นระบบ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับกระบวนวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ

ทัศนคติ(Attitude) หมายถึง กรอบของความคิดที่แสดงออกถึงความชอบ ไม่ชอบ หรือไม่แสดงออก ต่อ บุคคล สถานที่ หรือ เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแนวโน้มของพฤติกรรมตอบสนอง อันเกิดจากการรู้คิด อารมณ์ และพฤติกรรม
                                        *********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แนวทัศนะของนักจิตวิทยากลุ่มต่างๆเป็นอย่างไร

จิตวิทยา คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อเข้าใจ อธิบาย และทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ 

แนวทัศนะทางจิตวิทยาที่สำคัญๆแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มจิตวิเคราะห์(Psychoanalysis)

จิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2443 ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มนี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ เขาเห็นว่า จิตแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ จิตสำนึก จิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึก

จิตใต้สำนึกและจิตไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยทางอ้อม จิตไร้สำนึกเป็นเหตุจูงใจให้บุคคลมีพฤติกรรมโดยใช้พลังจิต อันได้แก่ อิด(Id) อีโก(Ego) และซุปเปอร์อีโก(Super Ego) ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมให้เป็นไปตามสัญชาตญาณที่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง นักจิตวิทยากลุ่มนี้ศึกษาจากคนป่วยโรคจิต โรคประสาท

นอกจากฟรอยด์แล้ว นักจิตวิทยากลุ่มนี้ยังมี แอดเลอร์(Adler) อีริคสัน(Erikson) เป็นต้น

ฟรอยด์เองไม่ได้กล่าวถึงการพัฒนาตนไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี แต่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในอดีตของมนุษย์มาก

กลุ่มพฤติกรรมนิยม(Behaviorism)

กลุ่มพฤตกรรมนิยมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 วิธีการศึกษาของกลุ่มนี้ใช้วิธีการทดลอง ประกอบด้วยการสังเกตอย่างมีแบบแผน

นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์จะต้องมีสาเหตุ และพฤติกรรมของมนุษย์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสิ่งเร้า และเมื่อมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าติดต่อกันเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดการเรียนรู้

สำหรับแนวทัศนะของกลุ่มพฤติกรรมนิยมสรุปได้ดังนี้

1. การวางเงื่อนไขเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

2. พฤติกรรมของคนส่วนมากเกิดจากการเรียนรู้มากกว่าเป็นไปเองตามธรรมชาติ

3. การเรียนรู้ของคนไม่ต่างจากสัตว์มากนัก จึงสามารถศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ได้จากการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนามนุษย์ ก็คือ การจัดสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและทางสังคม หรือด้วยการวางเงื่อนไขที่เหมาะสม

นักจิตวิทยากลุ่มนี้ปฏิเสธเรื่องจิตสำนึก เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นอัตนัยไม่สามารถเห็นหรือสังเกตเห็นได้อย่างเป็นปรนัย

นักจิตวิทยาคนสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัตสัน(Watson) สกินเนอร์(Skinner) เป็นต้น

กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism)

กลุ่มมนุษยนิยมเป็นนักจิตวิทยากลุ่มหลังสุด นักจิตวิทยากลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในด้านดีงาม มนุษย์มีธรรมชาติใฝ่ดี รู้คุณค่าในตน มีความรับผิดชอบในชีวิตและการกระทำของตน สุข ทุกข์ ชั่ว ดี เกิดจาการเลือกของมนุษย์เอง และที่สำคัญคือมนุษย์ต้องการรู้จักตนเอง ต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ

ทัศนะของนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ไม่ได้มองว่ามนุษย์ "เลว" หรือ "เหมือนหุ่นยนต์"  แต่มองว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และมนุษย์มีการเจริญเติบโตอย่างสร้างสรรค์

กลุ่มมนุษยนิยมเน้นการศึกษามนุษย์ในเชิงบวก มีวิธีการและจิตใจที่เปิดกว้าง ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตน ของตน และโดยตนได้

ผู้นำของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ ได้แก่ อับรมฮัม มาสโลว์(Abraham Maslow) และคาร์ล โรเจอร์ส(Carl Rogers)

จะเห็นว่านักจิตวิทยาทั้ง 3 กลุ่ม แม้จะ มีทัศนะที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายไม่ค่อยจะต่างกัน คือต่างก็พยายามจะอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ และมองตรงกันว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาตน ของตน และโดยตนได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ

                                                                         Abraham Maslow

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562

วัฒนธรรมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

วัฒนธรรม หมายถึงวิถึชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวล ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม

ส่วนการทำงานเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลผลิต สังคมใดที่สมาชิกในสังคมทำงานหนัก สังคมนั้นจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเป็นประเทศพัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด

แต่ระบบการทำงานของแต่ละสังคม จะถูกกำหนดโดยความเป็นไปได้ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะกำหนดคุณค่าให้กับงาน แรงจูงใจที่จะะทำงาน และความหมายของการทำงานให้แตกต่างกันออกไป

ความแตกต่างของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จึงเกิดจากความแตกต่างในรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่

ค่านิยมและสถาบันในประเทศพัฒนา จะมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

David C. McClelland  ผู้แต่งหนังสือ The Achieving Society. เห็นว่า ในประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมักจะมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนี้

1. มีวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานแบบเดิมๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและวิธีการทำมาหากิน เต็มใจที่จะละทิ้งการกระทำแบบเดิมๆ และเทคนิคต่างๆที่ใช้อยู่เดิม แล้วหันไปรับสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม

2. มีการพัฒนากฎหมายต่างๆที่ใช้ได้กับทุกคนในลักษณะที่เสมอภาค ยึดลัทธิสากลนิยม(universalism)

3. บุคคลในสังคมได้รับสถานภาพทางสังคมโดยอาศัยความสำเร็จส่วนตัว ส่วนในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเจริญอย่างช้าๆ สถานภาพของบุคคลมักจะได้มาโดยกำเนิด

4. มักจะเน้นความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง และการเป็นผู้รู้จักใช้จ่าย

5. เป็นสังคมที่ปราถนาความก้าวหน้า และเน้นบากบั่นการทำงานหนัก ว่าเป็นเครื่องช่วยให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายต่างๆ

หากนำความคิดเห็นของ McClelland มาวิเคราะห์สังคมไทยจะพบว่า มีหลายลักษณะของคนไทยที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ คนไทยไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ให้ความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง ไม่รู้จักประหยัดการใช้จ่าย และไม่ค่อยจะบากบั่นทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งล้วนเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ซึ่งผลของการวิเคราะห์สอดคล้องกับผลของการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ที่พบว่า คนไทยมีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะต่อไปนี้ คือ

1 แนวความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน มีดังนี้ (1)การทำงานเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความดีในตัวมันเอง (2) การทำงานและการหาความสนุกเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ (3)การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเอาชนะสภาพแวดล้อมเป็นการกระทำที่เป็นไปได้ยาก (4) การทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (5) การสะสมทรัพย์อันหามาได้จากการทำงานไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ

2. ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทย มีดังนี้ (1) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ (2)ต้องการทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (3) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องเสี่ยง (4) ต้องการทำงานที่มีอิสระ

3.พฤติกรรมการทำงานของคนไทย มีดังนี้ (1) ไม่มีการวางแผนในการทำงาน (2). มีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว (3) ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม (4)ไม่มีวินัยในการทำงาน

4.การฝึกอบเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก มีลักษณะดังนี้ (1) ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง (2)ไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ

จะเห็นว่า วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย อันได้แก ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมการทำงาน และการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก  มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของคนไทยตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยความรับผิดชอบอย่างจริงจังของสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา  เศรษฐกิจไทยจึงจะพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน   
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มของผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ
*********************************************************************************