วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ลักษณะการบริหารจัดการองค์กรทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ความสำเร็จขององค์กรทางธุรกิจคือกำไร  มีกำไรมากประสบความสำเร็จมาก มีกำไรน้อยประสบความสำเร็จน้อย

การที่องค์กรทางธุรกิจจะสำเร็จได้  ก็โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการ คือมีผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้า กับการบริหารจัดการทีมีประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการที่นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ มีลักษณะดังต่อไปนี้

          1.มีการสื่อสารทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ทั้งองค์กรมีการสื่อสารกันทุกระดับ คือ มีการสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน และพนักงานกับพนักงานด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความพยายาม ความสามารถพิเศษ และพลังสร้างสรรค์ การสื่อสารอาจใช้ทั้งที่เป็นระบบและไม่เป็นระบบ ทั้งด้วยการประชุม  พบปะสนทนา หรือจัดชั่วโมงทางสังคมอื่นๆ

          2. มีโครงสร้างที่เป็นทางการน้อย การเพิ่มการสื่อสารและอำนวยความสะดวกเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่โครงสร้างที่เป็นทางการตามลำดับชั้นไม่สามารถเพิ่มการสื่อสารได้ จึงจำเป็นที่องค์กรจะต้องจัดให้มีกลุ่มย่อยๆเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องคุณภาพ

          3. มีการมอบอำนาจอย่างเหมาะสม องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการมอบหมายงาน ตามระดับการทำงานที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละคนได้ริเริ่มและมีการสร้างสรรค์ โดยผู้บริหารระดับอาวุโสมุ่งเฉพาะเรื่องสำคัญๆ นอกจากนั้นการมอบอำนาจ ยังช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรมากว่าการใช้อำนาจสั่งการ

          4. มีการตรวจสอบทุกระดับ  การตรวจสอบจะต้องมีควบคู่กับการมอบอำนาจ  การตรวจสอบทำให้ทุกคนเกิดความรับผิดชอบ และสนับสนุนองค์กรได้เต็มที่ นอกจากนั้น การตรวจสอบส่งเสริมการไว้เนื้อเชื่อใจ และกระตุ้นความรับผิดชอบมากขึ้น  การตรวจสอบอาจจะเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการก็ได้

          5. มีการยอมรับความพยายามของพนักงาน กล่าวคือ พนักงานทุกคนต้องการการยอมรับในความพยายามและความสำเร็จ และการยอมรับยังทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร  องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการเสริมแรงในเชิงบวกในการปฏิบัติงาน หาทางแสดงถึงความรู้สึกขอบคุณพนักงานที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ

          6. มีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน  กลยุทธ์ขององค์กรจะต้องเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของตลาด วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์จะต้องเน้นการทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือ ไม่มุ่งกำไรโดยลดคุณภาพ ไม่มุ่งสนองตอบผู้ถือหุ้นโดยไม่สนใจลูกค้า  และไม่คำนึงถึงเฉพาะปริมาณโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านคุณภาพ

          7. มีการส่งเสริมความคิดและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์  องค์กรที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมุ่งที่การเพิ่มผลิตภาพด้วยผลงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลงานของพนักงาน    ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและพนักงาน โดยแสดงให้พนักงานเห็นว่า จะเพิ่มผลิตภาพได้อย่างไร  ในขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้องให้ความสะดวก สร้างขวัญ กำลังใจ ความมุ่งมั่น และเอกลักษณ์ของพนักงานแต่ละบุคคล  ตลอดจน กระตุ้นให้แต่ละคนได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ตามวัตถุประสงค์ขององค์กร

          8. มีวัฒนธรรมของความร่วมมือ องค์กรทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีวัฒนธรรมของความร่วมมือไม่ใช่ต่างคนต่างทำ คือทุกคนในองค์กรนับตั้งแต่ผู้บริหารตลอดจนพนักงานทุกระดับ จะต้องมี ความคิด ความเชื่อ และ ค่านิยม ในการที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และมีการร่วมมือปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างจริงจัง

ลักษณะการบริหารองค์กรทางธุรกิจดังกล่าวนี้ หากองค์กรใดนำไปใช้และร่วมกันปฏิบัติอย่างจริงจัง เชื่อว่าองค์กรนั้นจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
               ---------------------------------------------------------------------

                                                สาระคิด

จากการศึกษาพบว่า ประมาณร้อยละ 85 ของความสำเร็จทางธุระกิจ เกิดจากการมีทักษะเกี่ยวกับคน และอีกร้อยละ 15  เกิดจากความรู้ทางเทคนิค
                                --------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิต

ความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา  แต่ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของตนเอง ในการที่จะสร้างปัจจัยต่างๆ  ให้เอื้อต่อการที่จะก้าวไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จ

จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตของคนเราประกอบด้วย

          1. เจตคติในเชิงบวก เจตคติเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง และความสำเร็จทั้งหมด เจตคติเป็นตัวกำหนดทีท่าที่มีต่อโลก ต่อข่าวสาร และต่อตัวเราเอง

เจตตติเชิงบวกจะนำจะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ส่วนเจตคติเชิงลบจะนำชีวตไปสู่ความล้มเหลว

คนที่มีเจตคติในเชิงบวก คือผู้ที่มองเห็นโอกาสในทุกปัญหา ส่วนผู้ที่มีเจตคติในเชิงลบเป็นผู้มองเห็นปัญหาและอุปสรรคในทุกโอกาส

          2. เชื่อในตนโดยไม่มีข้อสงสัย หากต้องการจะประสบความสำเร็จ บุคคลจะต้องเชื่อมั่นในตน  เชื่อในความสามารถของตน  เพราะคนเราจะเป็นอย่างที่เราคิด

อย่างไรก็ตาม  จะต้องคิดในสิ่งที่เชื่ออย่างรอบคอบ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด จะมีผลให้ บุคคลทำงานสำเร็จได้ต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริง

ความเชื่อมั่นในตน  จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในที่ๆเหมาะสม และช่วยการกำหนดเป้าหมายที่มีความหมายและท้าทาย

          3. เป้าหมายที่ใหญ่และท้าทาย  คนซึ่งกิน ดื่ม สูบบุหรี่ ขะโมย เสพยาเสพติด ฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เป็นคนที่ขาดทิศทางของชีวิต ดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะมีเป้าหมายเฉพาะว่าชีวิตต้องการอะไร

การมีเป้าหมายชีวิต มีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น มีความหมายมากขึ้น การมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ชีวิตมีทิศทางที่ชัดเจน

จาการศึกษาผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในชีวิต พบว่า ทุกคนเริ่มด้วยการมีเป้าหมายและมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายนั้น อาจเป็นเป้าหมายเกี่ยวกับ ทางกายภาพ ทางจิตใจ หรือทางจิตวิญญาณ หรืออาจเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวกับทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว พ่อแม่ หรืออาชีพ

          4. ความรับผิดชอบ ถ้าต้องการจะประสบความสำเร็จ จะต้องมีความรับผิดชอบ ปกติมนุษย์จะรับผิดชอบในสิ่งที่ทำได้ดี และไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ทำได้ไม่ดี และเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบ มนุษย์จะตำหนิและวิจารณ์คนอื่นเพื่อการแก้ตัว ความจริงแล้ว คนเราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการวิจารณ์คนอื่น หรือมีอารมณ์ในทางลบครอบงำจิตใจ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ความไม่รับผิดชอบ

          5. การบริหารจัดการเวลา เวลาเป็นสิ่งเดียวที่มีการจัดสรรให้ทุกๆคนเท่ากันหมด ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ผู้หญิงหรือผู้ชาย คนฉลาดหรือคนโง่ แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าที่แท้จริงของเวลา โดยใช้เวลาอย่างเปล่าประโยชน์

การรู้จักบริหารจัดการเวลา จะเกี่ยวข้องกับการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต การทำให้ตนเองมีวินัย และเป็นการบริหารจัดการตนเองอย่างแท้จริง

การรู้จักบริหารจัดการเรื่องเวลา จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

          6. การพัฒนาตน ถ้าต้องการจะประสบความสำเร็จ จะต้องคิดถึงการพัฒนาตน เพราะการพัฒนาตนเป็นการเพิ่มการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าให้กับชีวิต

ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งของคนเราไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าได้  ถ้ามีการพัฒนาตนอยู่เสมอ

จากการศึกษาบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะพบว่า มีหลายคนที่สามารถจะประสบความสำเร็จได้เมื่อมีอายุเกิน 45 ปี คนเหล่านี้ล้วนแต่ประสบความสำเร็จได้ด้วยการพัฒนาตน

จงจำไว้ว่า ถ้าต้องการเจิญก้าวหน้า ไม่ว่าจะประกอบอาชีพหรือทำงานใดๆ การพัฒนาตนเท่านั้น ที่สามารถช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้

          7. สุขภาพ ถ้าต้องการจะประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องไม่ละเลยเรื่องสุขภาพ ทางกาย ทางจิตใจ และทางจิตวิญญาณ เว้นแต่อยากจะเสี่ยง  เพราะการมีสุขภาพไม่ดี นำไปสู่ ความเจ็บป่วย เจ็บปวด เก็บกด และหมดหวัง

บุคคลจะต้องดูแลเรื่องสุขภาพอย่างจริงจัง ด้วยการดุแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลย์เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

          8. ความคิดสร้างสรรค์ หากต้องการจะประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ เพราะการคิดอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น ที่สร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้

          9. การบริการ  การบริการเป็นกฎของสาเหตุและผลของการกระทำที่แท้จริง
ทั้งนี้เพราะการกระทำทุกอย่าง จะได้รับการมีปฏิกริยาโต้กลับในลักษณะที่เท่าเทียมกัน  ยิ่งเราบริการคนอื่นมากเท่าไร เราจะได้รับการบริการมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

การบริการจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ของผู้ที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในชีวิต

ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต คนจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องถึงพร้อมด้วยปัจจัยเหล่านี้ โดยไม่อาจจะละเลยปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดได้ 
                     ------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

                   Forty is the old age of youth; fifty is the youth of old age.
                                     ------------------------------------------
                 

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ความเชื่อมั่นในตน : หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

นักจิตวิทยาเชื่อว่า บุคลิกภาพของคนเรามีผลกระทบจาก 2 ด้าน คือด้านที่คนอื่นมีอิทธิพลต่อเรา กับด้านที่เรามีอิทธิพลต่อคนอื่น

ด้านที่ปล่อยให้คนอื่นมีอิทธิพลต่อเรา จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อความไม่สงบภายใน ความสุข และความสามารถของเรา

แต่ในการทำสิ่งสำคัญๆ ตลอดจนความสำเร็จในชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากด้านที่เรามีอิทธิพลเหนือคนอื่น

คนที่มีประสิทธิผล คือคนที่สามารถทำให้คนอื่นทำตามที่เราต้องการ

การจะมีอิทธิพลเหนือคนอื่นได้ จะต้องเริ่มด้วยมีความเชื่อมั่นในตนและความสามารถของตน

ความเชื่อมั่นในตน คือความเชื่อว่าตนสามารถทำได้สำเร็จในสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ ความเชื่อมั่นในตนไม่ใช่ความหยิ่งยะโส ความอวดดี หรือการยึดตนเองเป็นศุนย์กลาง

ความเชื่อมั่นในตน จะสร้างความแตกต่างระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลว

ผู้ที่สงสัยในตนและความกลัวความล้มเหลว จะเป็นศัตรูสำคัญต่อความเชื่อมั่นในตน

คนที่เชื่อมั่นในตน มุ่งที่จะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย มากกว่าที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่

คนที่เชื่อมั่นในตน จะร่าเริงในภาวะที่ยากจะร่าเริง อดทนในสิ่งที่ยากจะอดทน และก้าวไปข้างหน้าในขณะที่ต้องการจะยืนอยู่กับที่

คนที่เชื่อมั่นในตน ยินดีต้อนรับการต่อสู้และการต่อต้าน  เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่ทำให้เกิดความกล้าและความีใจกว้าง

กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนคือการมีวินัยในตนเอง  เพราะทุกสิ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราสามารถควบคุมตัวเองได้

หลักการต่อไปนี้ จะช่วยให้บุคคลสามารถสร้างความเชื่อมั่นในตนได้สำเร็จ กล่าวคือ

          1.ตัดสินใจให้ได้ว่าข้อจำกัดใดที่ต้องยอมรับข้อจำกัดใดที่ต้องต่อต้าน เพราะเป็นความผิดพลาดที่สรุปว่า ข้อจำกัดทั้งหมดเป็นการบังตนให้ต้องยอมรับ

          2. สนใจแต่เฉพาะความแข็งแกร่งที่สุดของตน เพราะความแข็งแกร่งทำให้สามารถทำในสิ่งที่ต้องการจะทำได้

          3. ปลูกฝังความศรัทธาในตน เรียนรู้ที่จะบันทึกความสำเร็จและชัยชนะของตน  เพราะการกระทำดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตน

          4. เรียนรู้จากความผิดพลาดและความล้มเหลว  คนที่เชื่อมั่นในตนจะต้องรู้จักเรียนรู้ถึงสิ่งที่มีคุณค่าจากความล้มเหลวหรือความผิดพลาดในแต่ละครั้ง อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวทำให้ตนเกิดความพ่ายแพ้

          5.เรียนรู้ที่จะยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์และไม่รับรู้การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์นอกจากจะช่วยให้การปฏิบัติงานดีขึ้นแล้วยังช่วยให้เรามีความเชื่อมั่นในตนเพิ่มขึ้น ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดจากความอิจฉา หรือในเชิงลบอันเกิดจาการที่เราประสบความสำเร็จ ไม่ควรจะรับรู้ เพราะไม่ช่วยให้เราปฏิบัติงานได้ดีขึ้น

          6. เมื่อสามารถทำสิ่งใดได้ดีที่สุดควรมีการให้รางวัลตนเอง ที่ใช้ความพยายามและทำได้สำเร็จ

          7. รู้จักการถ่อมตน คนซึ่งหยิ่ง หรือภูมิใจในตนเองมากเกินไป ไม่เร็วก็ช้าจะล้มทั้งยืนเพราะความล้มเหลว การยอมรับความผิดพลาด ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความถ่อมตน

หากบุคคลปฏิบัติได้ตามแนวทางดังกล่าวนี้ เชื่อได้ว่าความเชื่อมั่นในตนจะเกิดขึ้นและแล้วความสำเร็จในชีวิตจะตามมา ทั้งนี้เพราะ ความสำเร็จในชีวิตของคน จะต้องเริ่มด้วยการมีความเชื่อมั่นในตน  เพราะความเชื่อมั่นในตนจะทำให้เรามีอิทธิพลเหนือคนอื่น และมีผลทำให้คนอื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่านั่นคือความสำเร็จในชีวิตของบุคคล
             -------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                                 You can, if you believe you can.
                            ---------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สมรรถนะเฉพาะมนุษย์

สมรรถนะ หมายถึง ความสามารถที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ 

จาการศึกษาของนักจิตวิทยาพบว่า สมรรถนะต่อไปนี้ มนุษย์เท่านั้นที่มี สัตว์อื่นไม่มีซึ่งได้แก่

          1. ความสามารถที่จะคิด ในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย มนุษย์เท่านั้นที่สามารถที่จะคิด มีเหตุผล เก็บความรู้ไว้ได้ รู้จักพัฒนาปัญญา รู้จักคิด รู้จักตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร  แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า มนุษย์ได้ใช้สมรรถนะทางด้านนี้น้อยมาก แม้แต่ Einstein, Socrates และ Edison ได้ใช้สมรรถนะของสมองเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น  อย่างไรก็ตามจะต้องคิดอย่างมีเป้าหมาย จึงจะเกิดประโยชน์

          2. ความสามารถที่จะสร้างสรรค์  แม้ว่ากายมนุษย์จะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง  แต่จิตและวิญญาณของมนุษย์ สามารถมีอิสระในการที่จะสร้างสรรค์

ศัตรูที่สำคัญต่อพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์ คือความพอใจกับความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ เป็นความพอใจผลงานที่เกิดจากการใช้ความสามารถน้อยกว่าความสามารถที่มีอยู่จริงๆ

ในความเป็นจริง ทุกคนไม่มีความสมบูรณ์ในทุกเรื่อง แต่ทุกคนสามารถปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการสร้างสรรค์ ตลอดจนรู้จักปรับปรุงความสามารถในการสร้างสรรค์ให้ดีและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          3. ความสามารถที่จะรัก มนุษย์มีทั้งสมรรถนะในการที่จะรัก ต้องการที่จะรัก และต้องการให้คนอื่นรัก ความสามารถนี้มีตั้งแต่มนุษย์เริ่มหายใจ

ในบรรดาความสามารถของมนุษย์ทั้งหมด ความรักเป็นสิ่งที่สูงส่งที่สุด และสามารถทำให้สูงขึ้นได้มากที่สุด ความรักเป็นสิ่งที่มีพลังมากที่สุดในจักรวาล

ความรักทำให้เกิดการสร้าสรรค์ รู้จักคิด และทำให้กายปฏิบัติเช่นเดียวกับความเกลียด  ความรักทำให้ความสำเร็จมีคุณค่า เพียงแต่รักและถูกรัก ทำให้สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพในฐานะที่เป็นมนุษย์

          4. ความสามารถที่จะหัวเราะและร้องไห้ เท่าที่ทราบ มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวในจักรวาลที่มีโครงสร้างทางอารมณ์ ที่ทำให้สามารถหัวเราะและร้องไห้ได้  ทั้งหัวเราะและร้องไห้จำเป็นต่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพของมนุษย์

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความเครียด การมีอารมณ์ขันเป็นการป้องกันไม่ให้คนเราเกิดความเครียดมากเกินไป  บุคคลที่สามารถหัวเราะได้บ่อยๆและมีอารมร์ขัน แม้ในสถานการณ์ที่เครียดมากๆ ก็สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

การร้องไห้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของมนุษย์ อันเกิดจากการสูญเสียคนรัก การพ่ายแพ้ การผิดหวังอย่างแรง ตลอดจนมีกรณีแวดล้อมอื่นๆ ที่นำความโศกเศร้ามาให้

กุญแจเพื่อสุขภาพทางอารมณ์ของมนุษย์ ก็คือการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเศร้า บุคคลที่มีปฏิกิริยาต่อความเศร้าโศกด้วยการโกรธ จะเป็นคนที่ขมขื่น กระด้าง และชอบเยาะเย้ยถากถาง

          5. ความสามารถที่จะตัดสินโดยใช้คุณธรรมและจริยธรรม สัตว์อื่นตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยแรงขับภายใน แต่มนุษย์มีสมรรถนะที่จะตัดสินและตอบสนองโดยใช้คุณธรรมและจริยธรรม ที่เรียกว่ามโนธรรม

          6. ความสามารถที่จะรับและทิ้งมรดกไว้เบื้องหลัง สัตว์ถ่ายทอดมรดกโดยผ่านทางพันธุกรรมเท่านั้น แต่มนุษย์สามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ และความเฉลียวฉลาดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

มนุษย์สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ ก็โดยอาศัยความฉลาดของคนรุ่นก่อนที่ส่งต่อกัน มาให้เราหลายชั่วอายุ  อาจกล่าวได้ว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆในยุคของเรา เกิดขึ้นได้เพราะการต่อสู้และการสร้างสรรค์อย่างมีอัจฉริยะของคนรุ่นก่อน หรืออาจพูดได้ว่าสิ่งเราทำในวันนี้ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในหลายศตวรรษข้างหน้า

สมรรถนะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นสมรรถนะของมนุษย์ที่ไม่มีในสัตว์อื่น หากมนุษย์รู้จักใช้สมรรถนะเหล่านี้อย่างเต็มที่ อย่างมีเป้าหมาย จะเกิดประโยชน์แก่มนุษย์เองทั้งในปัจจุบันและอนาคต
                      ------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

การหัวเราะเป็นของขวัญที่ควรจะแบ่งให้กับทุกๆคน แต่น้ำตาควรเก็บไว้คนเดียวเป็นการดีที่สุด
                                    --------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อะไรทำให้คนเราเป็นผู้ชนะและประสบความสำเร็จในชีวิต

ถ้าศึกษาประวัติบุคคล จะพบว่ามีคนจำนวนมากที่ทุกข์ทรมาน เนื่องจากความพิการอย่างรุนแรง มีสติปัญญาด้อยกว่าคนอื่นที่อยู่รอบข้าง บางครั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุด ประสบความพ่ายแพ้เป็นประจำ  แต่สุดท้ายกลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เป็นผู้ชนะในชีวิต

ทำไมและมีอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ  ในเมื่อมีคนรอบข้างล้มเหลว มีคนอื่นที่ฉลาดกว่า มีโอกาสมากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า คำตอบคือ คนเหล่านั้นไม่มีข้อจำกัดที่สร้างขึ้นมาเอง แต่มีทัศนคติของผู้ชนะ

ข้อจำกัดที่สร้างขึ้นเอง  เป็นข้อจำกัดที่แท้จริงที่ตนเองสร้างขึ้นมา ถ้าตนเองไม่แก้ไข คนอื่นไม่สามารถช่วยเหลือได้ ข้อจำกัดที่สร้างขึ้นเอง ประกอบด้วย
                      มีทัศนะต่อชีวิตในเชิงลบ
                      มีคำแก้ตัวตลอด
                      ใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์
                      ใจแคบ
                      ไม่ยืดหยุ่น
                       สงสารตัวเอง
                       มีความวิตกกังวล
                       ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
                       ความขี้เกียจ
                       ไม่มีวินัยในตนเอง
                        มีนิสัยไม่ดี
แต่ข้อจำกัดที่ตัวเองสร้างขึ้นมานี้ จะหมดไป ถ้าบุคคลมีทัศนคติของผู้ชนะ

ทัศนคติคืออะไร  ทัศนคติ หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อสิ่งหนึ่งใด บุคคลหนึ่งบุคคลใด สถานที่หนึ่งสถานที่ใดฯลฯ ในลักษณะที่ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็แสดงว่ามีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้น ถ้าไม่ชอบก็แสดงว่ามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งนั้น

ทัศนคติของผู้ชนะ ก็คือ เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดี ต่อการที่ตนเองมีชัยชนะเหนือปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

หากศึกษาจะพบว่า ผู้ชนะกับผู้แพ้จะมีความคิดที่แตกต่างกันในลักษณะต่อไปนี้
                        ผู้ชนะ                                        ผู้แพ้
             มีแนวความคิดเสมอ                      มีข้อแก้ตัวเสมอ
             พูดเสมอว่า"ฉันจะทำ"                   พุดเสมอว่า"มันไม่ใช่งานของฉัน"
             เห็นคำตอบทุกๆปัญหา                  เห็นปัญหาทุกๆคำตอบ
             พูดเสมอว่า"ฉันทำได้"                   พูดเสมอว่า"ฉันทำไม่ได้"
             หาวิธีการที่จะทำ                            หาวิธีการที่จะไปให้พ้น
จะเห็นว่า การคิดแบบผู้แพ้โอกาสที่จะชนะแทบจะไม่มี

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของผู้ชนะ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่จะต้องสร้างขึ้นมา ซึ่งการ
สร้างทัศนคติของผู้ชนะ มีหลักการดังนี้

          1. มีความมุ่งมั่นและจริงจัง  ในการที่จะใช้ชีวิตและความเฉลียวฉลาดที่มีอยู่เพื่อแสวงหาความสำเร็จ  อันเกิดจากความพยายามที่ดีที่สุดของตน ผู้มีทัศนคติของผู้ชนะ รู้ว่าชื่อเสียงและโชคลาภไม่ใช่สิ่งที่บอกถึงความสำเร็จ แต่ความสำเร็จอยู่ที่การเอาชนะความกลัว โดยเฉพาะความกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

          2. มีความมุ่งมั่นและจริงจัง ในการที่จะใช้สิ่งที่ตนมีและตนเป็นทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ความสำเร็จ ไม่ใช่ความเฉลียวฉลาด ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ความกระตือรือร้น แต่เป็นความมุ่งมั่นไม่ลดละ ความเพียรพยายามและการตัดสินใจที่แน่วแน่ ผูัประสงค์จะสร้างทัศนคติของผู้ชนะ จะต้องมีความมุ่งมั่นที่เข้มแข็ง ไม่ถอย และใช้ความพยายามทั้งหมดที่มี ที่เป็นอยู่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้เลือกแล้ว

          3. มีความมุ่งมั่นและจริงจัง ในการที่จะสร้างเข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุศักยภาพที่สูงสุดในฐานะที่เป็นมนุษย์ ในการตัดสินใจทุกครั้ง  ผู้มีทัศนคติของผู้ชนะ จะต้องทำหรือเป็นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเท่าที่จะเป็นได้

นั่นคือ ถ้าอยากเป็นผู้ชนะ จะต้องสร้างทัศนคติของผู้ชนะขึ้นมาให้ได้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หากสร้างไม่ได้ แน่นอนว่าโอกาสที่จะชนะไม่มี และจะเป็นผู้แพ้ตลอดไป
                  -------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

ไม่ว่าท่านจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว แทบจะไม่เกี่ยวกับกรณีแวดล้อม  แต่เกี่ยวข้องอย่างมากกับทัศนคติของท่านเอง
                               --------------------------------------------------


วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เป้าหมายเพื่อความสำเร็จในชีวิต

เป้าหมายมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การมีเป้าหมายที่เหมาะสมแก่ตนจะก่อประโยชน์แก่บุคคลได้หลายทาง ผู้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน

การมีเป้าหมายทางอาชีพ และชีวิตส่วนตัวที่ชัดเจนและแน่นอน   ทำให้เกิดความ
เพียรพยายาม  เกิดความก้าวหน้าในชีวิต

คนที่มีเป้าหมาย แม้จะมีภาระการงานมากมาย ก็สามารถจัดการลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง  และรู้จักใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์

มีผู้กล่าวว่า มีวิธีเดียวที่มนุษย์จะดูแลชีวิตของตนได้ ก็โดยการกำหนดเป้าหมายและดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้น เพราะการมีเป้าหมายทำให้สุขภาพดีขึ้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ลดความเครียด ความสับสน และความกลัว เพราะการมีเป้าหมายช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวก

เป้าหมายคืออะไร เป้าหมาย  คือจุดหมายปลายทาง หรือผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ

เป้าหมายที่เหมาะสมกับตน คือเป้าหมายที่เกิดจากความต้องการ และสอดคล้องกับศักยภาพของตน

การฝันกลางวันเกี่ยวกับเป้าหมาย ไม่สามารถช่วยให้บุคคลไปถึงที่หมายได้ ทางที่ดีควรเขียนเป้าหมายเป็นลายลักอักษร เพราะทำให้มั่นใจได้ว่า ท่านมีองค์ประกอบของเป้าหมายครบถ้วน การเขียนเป้าหมายจึงเป็นเหมือนการวางแผน

เป้าหมายที่ดีมีลักษณะอย่างไร เป้าหมายที่ดีจะต้อง SMART ซึ่งย่อมาจาก
S=Specific เป้าหมายที่ดี จะต้องมีลักษณะจำเพาะเจาะจง มีรายละเอียดหรือมีจุดเน้น ที่จะบอกว่าต้องการบรรลุอะไร
M=Measurable เป้าหมายที่ดี จะต้องสามารถวัดได้ มีมาตรฐานในการเปรียบเทียบ ตลอดจนมีวิธีการไปสู่ลักษณะจำเพาะที่กำหนดได้
A=Action - oriented เป้าหมายที่ดี จะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้
R=Realistic เป้าหมายที่ดี  จะต้องเป็นไปได้ และทำได้จริง
T=Time - concious เป้าหมายที่ดี จะต้องมีข้อกำหนดเรื่องเวลา

อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่เป้าหมายได้ บุคคลต้องทำตามแผนปฏิบัติ และต้องใช้เวลา ซึ่งวิธีการต่อไปนี้จะช่วยให้บุคคลก้าวไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ กล่าวคือ

          1. มุ่งทำตามแผนปฏิบัติการทุกวัน  วิธีการหนึ่งที่สร้างความมั่นใจได้มากที่สุด สามารถหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลและความกลัว ว่าจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่  ก็คือการทำอะไรเล็กๆน้อยๆทุกวัน เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติ

          2. สร้างระบบเตือนตน มีระบบเตือนตนที่แสดงถึงความก้าวหน้า เช่น ปฏิทิน กราฟ หรือตาราง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าได้ก้าวไปข้างหน้า ระบบจะเป็นตัวชี้นำการปรับตัว เมื่อพบว่าความก้าวหน้าในระยะยาวช้าเกินไป หรือมีเป้าหมายใดที่กำลังจะเป็นไปไม่ได้

          3. ขอความร่วมมือจากเพื่อน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้อยู่ในแนวทางที่กำหนด ก็คือการบอกเป้าหมายให้เพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจทราบ เพื่อจะช่วยกระตุ้นหรือช่วยเหลือในคราวที่จำเป็น แต่การเลือกเพื่อนจะต้องใช้สามัญสำนึกหน่อยหนึ่ง ว่าเป็นผู้เหมาะสมเพียงใด

          4. มีวินัยในตนเอง เพื่อความก้าวหน้าตามเป้าหมาย จำเป็นจะต้องมีวินัยในตนเอง รู้ว่าอะไรควรทำอะไรหรือไม่ควรทำ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น

          5. กำหนดระบบการให้รางวัลตนเองเพื่อเป็นแรงจูงใจ  จริงอยู่เป้าหมายเองก็เป็นรางวัลอยู่แล้ว แต่การให้รางวัลเป็นระยะๆตลอดเวลา จะเป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง รางวัลจะต้องให้ในจุดที่ประสบความสำเร็จเป็นขั้นๆ  และต้องมีวินัย หากไม่ถึงจุดที่กำหนด อย่าให้รางวัลตนเองเป็นอันขาด

          6. ควบคุมไม่ให้เกิดความล้มเลิกกลางคันโดยการจัดลำดับความสำคัญและทำจุดเน้นให้แคบลง คนจำนวนมากคิดว่า โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมาย คือการทำทุกอย่างพร้อมกัน ในทุกเรื่อง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง การจะมีแผนปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรทำก่อนหลัง และกำหนดจุดแห่งความสำเร็จเป็นช่วงสั้นๆและแคบลง ง่ายต่อการที่จะไปถึงเป้าหมายระยะสั้นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมาย นอกจากจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอนตามลักษณะของเป้าหมายที่ดีแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวินัยตนเองที่จะดำเนินตามเป้าหมายอย่างเครงครัดสม่ำเสมอ การบรรลุเป้าหมายจึงจะเกิดขึ้นได้
            -----------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

      ถ้าไม่มีเป้าหมายเพื่อเป็นทิศทางแล้ว   จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไปทางไหน
      ถ้าไม่มีเป้าหมายเพื่อบอกถึงความก้าวหน้าแล้ว   จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน
      ถ้าไม่มีเป้าหมายเพื่อบอกถึงผลสำเร็จแล้ว   จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไปถึงเมื่อไร
                     -------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อคิดสำหรับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาเป็นกิจกรรมพัฒนามนุษย์และสมรรถภาพของมนุษย์ ที่สัมพันธ์กับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ เป็นการลงทุนเพื่อให้มนุษย์มีความสามารถและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การศึกษาเกี่ยวข้อง ทั้งการบริโภค และการผลิต ที่มุ่งไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ความรู้ในการผลิตของมนุษย์ จะช่วยยกศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพิ่มทางเลือกและเสรีภาพของมนุษย์

พบว่า ปัญหาพื้นฐานของประเทศด้อยพัฒนาส่วนมาก ไม่ได้เป็นเพราะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นเพราะความด้อยพัฒนาของทรัพยากรมนุษย์

หากไม่พัฒนาศักยภาพของมนุษย์  การพัฒนาจะเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางวัตถุ เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม

ฉะนั้นในการพัฒนา ภาระกิจแรกที่ต้องทำ คือการปรับปรุงการศึกษา ซึ่งในเรื่องนี้
 Myers และ Hanson ได้ให้ข้อคิดสำหรับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ดังนี้

          1. มีความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาการศึกษาของประเทศ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

          2. การศึกษาเพียงลำพัง ไม่เป็นเครื่องประกันที่เพียงพอว่าประเทศจะมั่งคั่ง อย่างกรณีของอียิปต์ อินเดีย และประเทศไทย ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับสูง แต่มีรายได้ต่อหัวต่ำ

          3. การลงทุนทางการศึกษา จะต้องปรับให้อยู่ในภาวะที่สมดุลย์ เหมาะสมกับความต้องการ และระดับของการพัฒนา  มิฉะนั้นจะดำเนินไปสู่ความลำบาก  และในการจัดการศึกษาจะต้องเลือกว่า
                3.1. จะเน้นเรื่องคุณภาพ หรือปริมาณ
                3.2. จะเปิดสอนเน้นหนักไปทางวิทยาศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์
                3.3. การฝึกอบรมด้านอาชีพจะอบรมในสถาบันการศึกษา  หรือในระหว่างทำงาน โดยความรับผิดชอบของภาคธุระกิจและอุตสาหกรรม
                3.4. จะกำหนดเงินเดือนโดยรัฐ หรือโดยตลาดแรงงาน
                3.5. จะให้ความสำคัญกับความต้องการของแต่ละบุคคล หรือความต้องการของรัฐ

         4. การลงทุนและเป้าหมายทางการศึกษา จะต้องปรับให้ตรงกับความเป็นจริงและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ

          5. จะต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษาอย่างรุนแรง และผลักดันที่จะได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น กล่าวคือ การพัฒนาประถมศึกษาจะเพิ่มอุปสงค์ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

แม้ว่าการศึกษาจะเป็นการลงทุนเพื่อให้มนุษย์มีความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม  แต่หากแผนการศึกษากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่ไปด้วยกัน  การพัฒนาเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก
                ---------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

การลงทุนทางการศึกษา จะต้องปรับโปรแกรมให้สมดุลย์  เหมาะสมกับความต้องการของคนและระดับการพัฒนา มิฉะนั้นจะพบกับความยากลำบาก
                                                                  Harbison
                         ------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาระดับอุมศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนระดับสูง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างจะรวดเร็ว กลับมีคำถามถึงผลผลิตของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถตอบสนองสังคมได้คุ้มค่ากับทุนที่ลงไปหรือไม่เพียงใด

จากการศึกษาพบว่า การอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามีลักษณะและปัญหาที่สำคัญดังต่อไปนี้

          1. เป็นระบบอุดมศึกษา ที่มีความหลากหลาย จัดตั้งโดยการประยุกต์ใช้ทั้งตัวแบบอังกฤษและอเมริกา บางครั้งจึงไม่อาจสนองตอบความต้องการของท้องถิ่นได้

          2. เป็นระบบอุดมศึกษา ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความกดดันให้ขยายต่อไปเรื่อยๆ เป็นการขยายตัวที่ขาดการวางแผน และไม่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่

          3. เป็นระบบอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับกับการเปิดสอนสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พอๆกับกับการเปิดสอนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยี

          4. การบริหารมหาวิทยาลัยขาดประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพภายในต่ำ ไม่มีกระบวนการที่เหมาะสม ในการตรวจสอบเนื้อหาในกระบวนวิชาต่างๆ  ตลอดจนการสอนและการประเมินคุณภาพ

          5. มีจำนวนนักศึกษามากเกินไป ขาดแคลนอาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพไม่เหมาะสม ห้องสมุดมีคุณภาพที่แย่ และมีอุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ

          6. มีหลักสูตรและวิธีสอนที่ล้าสมัย  ธรรมชาติการสอนในห้องเรียนมีลักษณะอำนาจนิยม ทำให้นักศึกษาไม่กล้าคิดอย่างอิสระ วิธีสอนใช้วิธีอ่านเนื้อหาคำสอนที่เตรียมไว้เพื่อการบรรยาย โดยมีการถ่ายสำเนาเพื่อขายนักศึกษา และข้อสอบส่วนใหญ่มีข้อคำถามตามสำเนาที่ขายนักศึกษานั่นเอง โดยที่นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือตำราค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม

          7. ในส่วนของอาจารย์ พบว่ามีปัญหาดังต่อไปนี้
                  (1) เกิดปรากฏการณ์สมองไหล อาจารย์ลาออกไปทำงานในมหาวิทยาลัยอื่น หรือไม่ก็มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  หรือธุรกิเอกชนที่มีสภาพการทำงานและให้ผลตอบแทนดีกว่า
                  (2) มีอาจารย์ส่วนหนึ่ง ใช้เวลางานทำธุรกิจส่วนตัว หรือทำกิจกรรมอื่นเพื่อหารายได้  แทนที่จะพยายามปรับปรุงคุณภาพการสอนการวิจัยให้ดีขึ้น
                  (3) มีอาจารย์จำนวนหนึ่ง อุทิศเวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยทำงานกับพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน โดยอ้างความเป็นนักวิชาการ

ทั้งหมด เป็นลักษณะและปัญหาของการอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษา ว่า มีทักษะทางวิชาชีพที่พร้อมจะใช้ในการทำงานหรือไม่ มีคุณธรรมจริยธรรมและคุณภาพส่วนบุคคลเป็นที่ต้องการหรือไม่ คุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไปหรือไม่

         -------------------------------------------------------------------------------

                                           สาระคิด

         คุณภาพของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย และคุณภาพของอาจารย์
                                    คือคุณภาพของบัณฑิต
                                -------------------------------------

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความเป็นผู้นำกับความมีประสิทธิผลของสถานศึกษา

ความเป็นผู้นำ หมายถึง ความสามารถในการใช้ให้ผู้อื่นกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้นำอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้นำโดยตำแหน่ง และผู้นำที่เกิดจากการยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ คือผู้นำที่เป็นโดยตำแหน่งและเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน

โดยพื้นฐานความเป็นผู้นำ จะลักษณะร่วมดังต่อไปนี้
          - มีทักษะเกี่ยวกับคน รู้ธรรมชาติของคน และรู้จักใช้คน
          - มีความปรารถนาที่จะมีอิทธิพลเหนือคนอื่น ซึ่งเป็นอิทธิลในทางที่ดี
          - มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ทั้งความรู้วิชาชีพ และความรู้ทั่วไป
          - มีนิสัยการทำงานที่ดี และ
          - มีทักษะเกี่ยวกับองค์การ รู้โครงสร้าง สายบังคับบัญชาและอำนาจขององค์การ
รวมทั้งจะต้องมี ลักษณะต่อไปนี้ อันเป็นลักษณะที่จำเป็นควบคู่ไปกับความเป็นผู้นำ กล่าวคือ
          - เป็นผู้มองโลกในแง่ดี มองเห็นโอกาสของทุกปัญหา ไม่ใช่มองเห็นปัญหาในทุกโอกาส
          - มีความกล้า กล้าที่จะคิด กล้าที่จะริเริ่ม กล้าที่จะตัดสินใจ และ
          - มีวินัยในตนเอง เป็นผู้ที่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร

ในเรื่องของการศึกษา มีคำกล่าวว่า "ไม่เคยเห็นสถานศึกษาที่ดีที่มีหัวหน้าสถานศึกษาที่แย่ หรือไม่เคยเห็นสถานศึกษาที่แย่ที่มีหัวหน้าสถานศึกษาที่ดี" ทั้งนี้เพราะความเป็นผู้นำ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสถานศึกษาธรรมดากับสถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ

จากการศึกษาวิจัยพบว่า สถานศึกษาจะมีประสิทธิผลหรือไม่  ขึ้นอยู่กับ ความเป็นผู้นำของหัวหน้าสถานศึกษา ในลักษณะต่อไปนี้

          1. มีความปรารถนาที่จะนำ มีความตั้งใจที่จะกระทำด้วยความกล้าหาญ และด้วยความมั่นคง แม้ในสถานะการณ์ที่ยุ่งยาก

          2. เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม และเป็นผู้ที่คิดอย่างมีข้อมูล

          3. ทำงานโดยมุ่งไปที่เป้าหมาย  โดยมีเป้าหมายขององค์การที่ชัดเจนและหลักแหลม

          4. เป็นตัวอย่างที่ดี โดยที่ตนเองทำงานหนัก

          5. ยอมรับเอกลักษณ์ของครูอาจารย์ ที่แตกต่างเกี่ยวกับ รูปแบบ ทัศนคติ ทักษะ และมุ่งหมายของการสอน ตลอดจน ยอมรับความแตกต่างของวิธีสอนเหล่านั้น

          6. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จ  และกระตุ้นให้บุคคลากรทำงานเพื่อทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง

          7. มีความคาดหวังสูง ทั้งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และการปฏิบัติงานของ
บุคคลากร ตลอดจน มีการตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าเป็นระยะๆ

          8. มีการสังเกตการสอนของครูอาจารย์  และให้ข้อมูลป้อนกลับในเชิงบวกและสร้างสรรค์

          9. กระตุ้นให้ใช้เวลาสอนอย่างมีประสิทธิภาพ  และกำหนดกรรมวิธีดำเนินการเรียนการสอนให้เกิดความยุ่งยากน้อยที่สุด

          10. ใช้วัสดุและและทรัพยากรบุคคลอย่างสร้างสรรค์

จะเห็นว่า สถานศึกษาจะมีประสิทธิผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับ วิสัยทัศน์ การอุทิศตน และความมีพลัง ของผู้นำของสถานศึกษานั้นๆ
                 -------------------------------------------------------------------

                                                    สาระคิด

         ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้พร้อมที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก
                                     ----------------------------------------

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า สังคมกำลังเปลียนแปลงอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของชีวิต  จนกระทบกระเทือนต่อปัจเจกบุคคล ทั้งในฐานะคนทำงานและในฐานะพลเมือง ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว คือการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้ เทคโนโลยี และรูปแบบทางสังคม

ในด้านอาชีพ มีเพิ่มเครื่องมือเครื่องใช้ที่อัตโนมัติมากขึ้น  เพิ่มทักษะในการสื่อสาร ความสามารถในการวางแผน ความสามารถในการแสวงหาและเพิ่มทักษะ ตลอดจนสมรรถภาพในการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น คนทำงานในยุคปัจจุบันจะต้องมีความสามารถในการประยุกต์และความยืดหยุ่น

นอกจากนั้น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ยังส่งผลต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกด้วย

นักจิตวิทยาชื่อ Karl Menninger กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ค่านิยมด้านคุณธรรมและความสำนึกที่รับผิดชอบทางสังคมหายไป อันนำไปสู่การเกิดปัญหาทางสังคมที่สำคัญๆ เช่น ปัญหาคอรัปชั่น ความรุนแรงทางสังคม ฯลฯ เขาเห็นว่า บ้าน ชุมชน โรงเรียน และองค์กรอื่นๆ จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างการพึ่งตนเองกับความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น

จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันทางสังคม ที่จะต้องพัฒนาด้านคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในลักษณะต่อไปนี้

ในขอบเขตของเศรษฐกิจ คนทำงานจะต้องเพิ่มการมีสมรรถนะในการแก้ปัญหาและในฐานะปัจเจกบุคคล จะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่หรือเตรียมตัวเพื่อทำงานที่แตกต่างออกไป ในด้านมนุษยสัมพันธ์ บุคคลจำเป็นจะต้องมีทักษะมนุษยสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการเพิ่มจำนวนของงานบริการ ได้แก่ งานสอน  งานที่ต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม งานเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม งานที่เกี่ยวกับสันทนาการ งานรัฐบาล ฯลฯ

ในขอบเขตของการเมือง  การเปลี่ยนแปลงทำให้พลเมืองทุกคน ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องตระเตรียมเพื่อมีส่วนร่วมด้วยความรับผิดชอบ และในการแก้ปัญหาวิฤตการณ์ทางสังคม  ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้อย่างดี ก็โดยการเจรจาต่อรอง ประนีประนอม  รวมทั้งคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ในฐานะพลเมืองจะต้องเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า มองถึงปัญหาของท้องถิ่น ปัญหาของชาติ และปัญหาของโลก พลเมืองที่มีการศึกษาควรได้รับการเตรียมตัวที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางทางการเมือง มากกว่าการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว

ในขอบเขตของสังคม บุคคลแต่ละคนจะต้องเพิ่ม ทัศนคติ ค่านิยม และทักษะที่จำเป็น สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ อันมีผลมาจากความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกเป็นศัตรู และการปฏิเสธความแตกต่าง สังคมที่มีประสิทธิผล ต้องการคนหลายๆกลุ่มทำงานร่วมกัน เพื่อสนองความต้องการร่วมกัน ทั้งในเรื่อง การศึกษา การทำงานอาชีพ การขนส่ง สันทนาการ การบริการส่วนบุคคล และความปลอดภัยทางกายภาพ

ในขอบเขตของบุคคล บุคคลจำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพ จะต้องเรียนรู้ที่จะอดทน เพื่อทนต่อความกดดันของสังคม ความไม่ลงรอย และความไม่แน่นอน บุคคลจะต้องเข้าใจและอดทนที่จะทำงานกับคนอื่น หรือการจัดการกับสังคมที่ซับซ้อน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน กุญแจสำคัญในการพัฒนาบุคคล ก็คือการปล่อยให้เกิดค่านิยม ความสนใจ และรูปแบบของการจัดการปัญหาส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่หลากหลาย เพราะสังคมในยุคปัจจุบัน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีเสรีภาพในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นหน้าที่ของสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทุกระดับ  จะต้องช่วยกันพัฒนาคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเินนชีวิต ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
                ---------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                     You can't get lost if you don't know where you're going.
                           ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การบริหารจัดการโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล หมายถึงโรงเรียนที่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกิจ จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยไม่คำนึงว่าใช้ทรัพยากรทางการศึกษามากหรือน้อยเพียงใด

จากการศึกษา พบว่าการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีประสิทธิผลมียุทธวิธีดำเนินการ ดังต่อไปนี้

          1. ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นโรงเรียนที่พยายามสนองตอบนักเรียนทั้งหมด มีการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือนักเรียน ยอมรับความแตกต่างของนักเรียน ให้ความสำคัญกับความจำเป็นและสวัสดิการของนักเรียนเป็นอันดับแรก โรงเรียนจะใช้อาสาสมัครของชุมชน ผู้ปกครอง ครู และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล  ตลอดจนมีบรรยากาศของความไว้วางใจที่สร้างขึ้นระหว่างนักเรียนและครู

          2. มีโปรแกรมทางวิชาการให้เลือกหลากหลาย การพัฒนานักเรียนและการจัดโปรแกรมทางวิชาการที่หลากหลาย เป็นเป้าหมายที่สำคัญของโรงเรียน หลักสูตรมีเนื้อหาที่ลุ่มลึก  มีโปรแกรมเสริมหลักสูตร และมีการติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนอย่างเหมาะสม

          3. มีการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนที่มีประสิทธิผล มีโครงสร้างที่สนับสนุนการสอนที่โดดเด่น  ครูและผู้บริหารเชื่อในความสามารถของตนเอง ว่ามีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และเชื่อว่านักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ มีการปรับปรุงการสอนให้สนองความต้องการของนักเรียน โดยใช้ยุทธวิธีการสอนหลายอย่าง ตลอดจน ยอมรับและให้รางวัลนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ

          4. มีบรรยากาศในเชิงบวก โรงเรียนที่มีประสิทธิผล จะมีโครงสร้างที่ชัดเจน ด้วยการะบุพันธกิจ เป้าหมาย ค่านิยม และมาตรฐานของการปฏิบัติงาน ที่ได้รับการสนับสนุนจากครูอย่างสม่ำเสมอ ครูและหัวหน้าสถานศึกษาอุทิศตนเพื่อการนำไปสู่ความเสมอภาค สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่เป็นมิตร สร้างวินัยนักเรียนโดยใช้วิธีการในเชิงบวก โดยมีพฤติกรรมของผู้บริหารเป็นตัวแบบที่สำคัญ

          5. ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน มีการสร้างสภาพแวดล้อมทางวิชาชีพที่อำนวยความสะดวกให้การทำงานประสบความสำเร็จ  ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ครูมีอิสระในการทำงาน  แต่มีการควบคุมอย่างมีเหตุผล โดยครูทำงานร่วมกันเพื่อวางแผนหลักสูตรและการสอน

          6. มีการพัฒนาบุคลากรอย่างกว้างขวาง  ระบบการประเมินผลครู จะถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยให้ครูได้ปรับปรุงทักษะให้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเทคนิคการสอน มีการฝึกอบรมเพื่อสนองความต้องการเฉพาะของครูแต่ละคน  ใช้การฝึกอบรมในการสร้างสภาพแวดล้อมของความร่วมมือ  ครูและผู้บริหารจะต้องจัดการฝึกอบรมในระหว่างประจำการ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาอย่างกว้างขวางต่อไป

          7. มีการใช้ความเป็นผู้นำร่วมกัน ความเป็นผู้นำในเชิงสร้าสรรค์  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหัวหน้าสถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่  แต่เกิดจากผู้บริหารโรงเรียนใช้ท่าทีของความเป็นผู้นำอย่างเหมาะสม คือแก้ปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือ มีการใช้ทีมหรือกลุ่มตัดสินใจ  มีการมอบอำนาจ ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ทั้งของครูและนักเรียน ใช้ความเป็นผู้นำเพื่อสร้างความร่วมมือในการกำหนดทิศทางของโรงเรียน ให้ความสะดวกในการทำงานของครู ตลอดจนให้ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่น การสร้างเป้าหมาย พันธกิจ เป็นต้น

          8. สนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ครูในโรงเรียนที่มีประสิทธิผลไม่จำนนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นเรื่องท้าทาย และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ นอกจากนั้น ครูจะทำงานด้วยความรับผิดชอบ สร้างสรรค์ สม่ำเสมอและอย่างมืออาชีพ ทรัพยากรต่างๆ เช่น เวลา สิ่งอำนวยความสะดวก ความเชี่ยวชาญ ฯลฯ ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการเรียนการสอน

          9. เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนที่มีประสิทธิผลจะมีผู้ปกครองนักเรียนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ โรงเรียนมีวิธีหลายอย่างที่จะสื่อสาร ตลอดจนทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน และกระบวนการตัดสินใจ โดยถือว่าผู้ปกครองและชุมชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยขยายขอบเขตการทำงานของโรงเรียน ในลักษณะที่ โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนสนับสนุนกันและกัน

จะเห็นว่า  โรงเรียนที่มีประสิทธิผล ไม่ได้เกิดจากผู้บริหารโรงเรียนแต่เพียงผู้เดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นสำคัญ โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
            -----------------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคำ

การเรียนรู้ หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเนื่องมาจากการมีประสบการณ์
                          ----------------------------------------------------------------                  

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2530 (ค.ศ. 1987) เป็นแนวคิดการพัฒนา ที่มุ่งจะแก้กระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งถูกครอบงำโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ มาเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขาในการที่จะสนองตอบความต้องการของเขาเอง

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่ประกอบด้วยตัวแปรมากมาย ที่ทำให้บุคคลและชุมชนสร้างเอกลักษณ์แห่งตนที่มีลักษณะเฉพาะ และสร้างความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับโลกได้อย่างมีจุดหมายและความภาคภูมิใจ

การพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญในการที่จะแสดงออกและสนองตอบค่านิยมพื้นฐานของมนุษย์ โดยสังคมจะต้องรับผิดชอบและให้การประกันว่า มนุษย์จะต้องมีสวัสดิการระดับพื้นฐานและมีความเสมอภาค

การเปลี่ยนจุดเน้นไปสู่การสนองตอบความต้องการของมนุษย์นี้  ไม่ได้ปฏิเสธการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ  เป็นแต่เพียงเชื่อว่า การตอบสนองความต้องการของมนุษย์มีความสำคัญเท่าๆกับการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเน้นการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างกลมกลืนระหว่างบุคคลและชุมชน กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม   และการเมืองโดยรวม เป็นกระบวนการพัฒนาที่เน้นความเสมอภาคทางเพศ ศาสนา และความเสมอภาคระหว่างรุ่นอายุ

สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนมีกรอบการทำงาน ดังนี้

          1. จะต้องมีนโยบายเศรษฐกิจ ภาษี การค้า พลังงาน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และนโยบายอื่นๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

          2. จะต้องลงทุนทางการศึกษาและสุขภาพอย่างเพียงพอในรุ่นปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาทางสังคมในรุ่นต่อๆไป

          3. จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปในทิศทางที่ไม่สร้างหนี้ทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเกินกว่าที่โลกผลิตทดแทนหรือรับภาระได้

          4. จะต้องการความสมดุลย์ระหว่างความจำเป็นในปัจจุบันกับความจำเป็นในอนาคต ระหว่างเอกชนกับรัฐ และระหว่า่งบุคคลกับสังคม

          5. จะต้องมีการปรับโครงสร้างของงบประมาณใหม่ จากการใช้จ่ายเพื่อกองทัพ เพื่อรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ มาสู่การลงทุนในมนุษย์ และเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

          6. จะต้องให้คนแต่ละยุคได้รับการตอบสนองความต้องการ โดยปราศจากการสร้างหนี้ที่เขาไม่ได้สร้างเอง ซึ่งหมายถึง หลีกเลี่ยงการสะสมหนี้ทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมลพิษหรือการใช้ทรัพยากรจนหมด  หนี้งบประมาณด้วยการยืมเงิน หนี้สังคมด้วยการละเลยการพัฒนามนุษย์  หนี้ประชากรโดยปล่อยให้เพิ่มประชากรด้วยการไม่ควบคุม ซึ่งหนี้เหล่านี้ จะปล้นลูกหลานของเราในอนาคต

จะเห็นว่า ความยั่งยืนเป็นความจำเป็นของกระบวนการพัฒนา และจะต้องเป็นความยั่งยืนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนของบุคคล เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ทุกคนจะต้องได้รับโอการที่จะพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต
               ------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

      มนุษย์ไม่ได้เป็นเครื่องมือของการพัฒนา แต่เป็นผลสุดท้ายของการพัฒนา
                                 ---------------------------------------------------------




วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

องค์ประกอบที่จำเป็นต่อการพัฒนามนุษย์

ความเชื่อเรื่องการพัฒนามนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นความเชื่อและการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และถือว่าเป็นยุทธวิธีที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะเล็งเห็นว่ามนุษย์เป็นส่วนสำคัญในทุกกระบวนการของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

การพัฒนามนุษย์นั้น สามารถทำได้หลายวิธี มีทั้งให้การศึกษา  การให้บริการสาธารณะสุข การให้สวัสดิการ การปรับปรุงภาวะโภชนาการ  และการย้ายถิ่น แต่จะใช้วิธีการใดก็ตาม จะต้องยึดองค์ประกอบของการพัฒนาดังต่อไปนี้

          1. ความเสมอภาค การพัฒนามนุษย์ จะต้องเป็นการขยายทางเลือกให้กับมนุษย์  และมนุษย์จะต้องมีความเสมอภาคในโอกาส การพัฒนาที่ปราศจากความเสมอภาค เป็นการจำกัดทางเลือกของบุคคลในสังคม

ความเสมอภาคในโอกาส ไม่ได้เกี่ยวกับผลที่ได้รับ ความเสมอภาคในโอกาสไม่ได้หมายความว่า จะมีทางเลือกหรือหรือผลที่ได้รับคล้ายกัน ความเสมอภาคในโอกาสนำไปสู่การได้รับผลที่ไม่เท่าเทียมกันก็ได้

ความเสมอภาคในโอกาส ทางเศรษฐกิจและการเมือง  เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

          2. ความยั่งยืน ความยั่งยืนในที่นี้ หมายถึง ความยั่งยืนของทุนทุกรูปแบบ  ได้แก่ ความยั่งยืนทางกายภาพ ทุนมนุษย์ การเงินการคลัง ตลอดจนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติทุกสิ่งไว้ตามสภาพเดิมๆ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยสร้างสิ่งทดแทนทรัพยากรธรรมชาติได้ และถ้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ จะทำให้ทางเลือกของมนุษย์ในอนาคตมีความยิ่งยืน  โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยโลกให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ความยั่งยืน เป็นการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ต้องรักษาไว้อย่างยั่งยืน คือโอกาสของชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ใช่ความยากลำบากของมนุษย์

          3. ผลิตภาพ องค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการพัฒนามนุษย์อีกประการหนึ่ง คือความสามารถในการผลิต ความสามารถที่จะผลิตได้เต็มศักยภาพ เป็นผลิตภาพในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้พัฒนา ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการพัฒนา

          4. ความมีอำนาจ การพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่เป็นการให้การเลี้ยงดูหรือการจัดสวัสดิการให้เต็มที่ แต่มุ่งพัฒนาให้มนุษย์มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนา ที่จะปรับปรุงชีวิตของตนให้ดีขึ้น

นโบายที่แย่ที่สุด ก้คือการทำให้คนยากคนจน อยู่ในความดูแลของรัฐตลอดไป

ความมีอำนาจ หมายถึง การพัฒนาให้มนุษย์มีความสามารถที่จะเลือกตามที่ตนต้องการได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางเศรษฐกิจหรือการเมือง

ซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการพัฒนามนุษย์ดังกล่าวนี้ จะครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ  ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม ในการพัฒนามนุษย์จะต้องตรวจสอบเสมอว่า เป็นการพัฒนาที่ยึด ความเสมอภาค ความยั่งยืน ผลิตภาพและความมีอำนาจหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่ จัดว่าเป็นการพัฒนามนุษย์ที่ล้มเหลว นำไปสู่ปัญหาในอนาคต
                     -------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

สังคมด้อยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการด้อยพัฒนา ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนเกิดจากมนุษย์ที่ด้อยพัฒนาทั้งสิ้น
                                       ------------------------------------------


วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางการเมือง

การเมืองก็เหมือนกับระบบอื่นๆ ถ้าต้องการจะแสดงถึงความชัดเจนว่ามีการพัฒนาไปมากน้อยเพียงใด เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ก็ต้องมีดัชนีชี้วัด

สำหรับดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางการเมืองมี 4 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย

          1. การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) หมายถึง เสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วม ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

          2. ปกครองโดยกฎหมาย (Rule of law)  มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายคุ้มครองสิทธิของแต่ละบุคคลในการมีชีวิตอยู่ ความมีอิสระภาพ และความมั่นคง

          3. เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression) บุคคลมีเสรีภาพในการแสวงหา รับ และหรือเผยแพร่ สารสนเทศและแนวความคิด ทั้งโดยวาจา การเขียน หรือโดยอาศัยสื่ออื่นๆ  โดยปราศจาการกำหนดของรัฐ  เว้นแต่เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบของสาธาณะ สุขภาพของสาธารณะ หรือเพื่อปกป้องสิทธิ หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

          4. ไม่มีการจำแนก (Non-discrimination) บุคคลมีความเสมอภาคในโอกาส โดยไม่คำนึงถึง เพศ ศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ ถิ่นกำเนิด ภาษา หรือ ฐานะ

แต่จากการศึกษา พบว่า ไม่มีประเทศใดในโลก ที่ประชาชนมีเสรีภาพเต็มร้อย 

สำหรับประเทศไทย ถ้าศึกษาจากการบริหารบ้านเมืองในยุคสมัยที่อ้างว่าเป็นการบริหารประเทศโดยระบอบประชาธิปไตย เป็นที่น่าสงสัยว่า มีการใช้เสรีภาพตามดัชนีชี้วัดหรือไม่ เพราะเริ่มตั้งแต่เข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง เมื่อมีอำนาจก็มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ เริ่มตั้งแต่การสรรหาจนถึงการทำหน้าที่ เพื่อให่เกิดประโยชน์ตนและพวกพ้อง มีการใช้กฎหมายเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้าม มีการแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตนและพวกพ้อง มีการปลุกระดมมวลชนเพื่อห้ำหั่นผู้ที่มีความคิดต่าง ไม่เปิดให้ผู้มีความคิดต่างได้ใช้สื่อของรัฐ ตลอดจนมีการเอื้อประโยชน์ให้กับสื่อที่สนับสนุนฝ่ายตน ฯลฯ

จึงขอถามว่า ที่ผ่านมาการใช้เสรีภาพทางการเมืองของไทย เป็นไปตามดัชนีชี้วัดทั้ง 4 กลุ่มหรือไม่ มีการใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าไม่จะต้องแก้ไขกันอย่างไร? 
                -----------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

              เสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ นำไปสู่ความหายนะทางการเมือง
                                   -------------------------------------------------



วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

สมรรถนะ พื้นฐานของทักษะ และคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จำเป็นต่อการทำงาน

ในยุคปัจจุบันการจะทำงานให้สำเร็จจะต้องอาศัย สมรรถนะ พื้นฐานของทักษะ และคุณลักษณะส่วนบุคคลเป็นสำคัญ หากขาดปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงานดังกล่าวเหล่านี้ ชีวิตการทำงานก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. สมรรถนะ  คนทำงานที่มีประสิทธิผล ก็คือ ผู้ที่สามารถใช้สิ่งต่อไปนี้เพื่อการผลิต ได้แก่

          1.1. ทรัพยากร เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ เวลา เงิน วัสดุ ที่ว่าง และเพื่อนร่วมงานที่ได้รับการจัดสรรให้ทำงานด้วยกัน

          1.2. ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นผู้มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม การสอนบุคคลอื่น การบริการลูกค้า การนำ การเจรจาต่อรอง ตลอดจนการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน

          1.3. สารสนเทศ  เป็นผู้มีความสามารถในการแสวงหาข้อมูลและการประเมินผลข้อมูล การจัดและการเก็บรักษาแฟ้มเอกสาร การแปลความหมายและการสื่อสาร ตลอดจนการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจัดกระทำข้อมูลสารสนเทศ

          1.4. ระบบ ในการทำงานจำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องระบบ อันได้แก่ ระบบสังคม ระบบองค์การ และระบบสารสนเทศ การเข้าใจระบบจะช่วยให้สามารถติดตาม  แก้ไขปัญหาการปฏิบัติงาน ตลอดจนออกแบบหรือการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น

          1.5. เทคโนโลยี เป็นผู้มีความสามารถในการเลือกอุปกรณ์และเครื่องมือ การประยุคต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อภาระกิจเฉพาะ ตลอดจนการรักษาและแก้ปัญหาเทคโนโลยี

2. พื้นฐานของทักษะ  ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนทักษะ ได้แก่

          1.1. ทักษะขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การอ่าน การเขียน เลขคณิต การพูด และการฟัง

          1.2. ทักษะการคิด ได้แก่ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเข้าใจความแตกต่างของจิตใจ การรู้วิธีเรียน และการใช้เหตุผล

          1.3. คุณภาพส่วนบุคคล ได้แก่ ความรับผิดชอบ การนับถือตนเอง ความสามารถทางสังคม การจัดการเกี่ยวกับตนเอง และการบูรณาการ

3. คุณลักษณะส่วนบุคคล หมายถึง ลักษณะทั้งหมดของบุคคล เช่น ความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ การริเริ่ม ความสามารถที่จะทำงานคนเดียวและทำงานเป็นกลุ่ม การนับถือตนเอง ความร่วมมือ ความถ่อมตน ความพากเพียร ความมีหลักการ เป็นต้น

สมรรถนะ พื้นฐานของทักษะ และคุณลักษณะส่วนบุคคล ดังกล่าว มีความจำเป็นสำหรับคนทำงานในยุคนี้ โดยสถานศึกษามีบทบาทสำคัญในการสร้างขึ้นมา ส่วนจะสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ผู้แทนจากอุตสาหกรรม ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา

แต่น่าเสียดายที่พบว่า ในเรื่องคุณลักษณะส่วนบุคคล ยิ่งเรียนสูงระบบการศึกษายิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลง อันน่าจะส่งผลในเชิงลบต่อการทำงานอย่างแน่นอน
            -----------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

          To learn is to change. Education is a process to change the learners.
                           -------------------------------------------------------



วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ทีมงานเพื่อคุณภาพเป็นอย่างไร

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ นอกจาผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีเป้าหมายแล้ว การทำงานเป็นทีมก็เป็นสิ่งจำเป็น และต้องเป็นทีมงานที่มีประสิทธิผลในทุกระดับ

สำหรับทีมงานงานที่มีประสิทธิผล ทำงานเพื่อคุณภาพ ทำงานให้ประสบความสำเร็จ มีลักษณะดังนี้

          1. เป้าหมาย จะต้องมีความชัดเจน เป็นเป้าหมายที่สร้างร่วมกัน และแสดงถึงความสำคัญของแต่ละบุคคลในทีม

          2. การมีส่วนร่วม ทุกคนในทีมจะต้องมีความกระตือรือร้น และรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

          3. การแสดงความรู้สึก เป็นไปโดยอิสระ และได้รับการตอบสนองจากเพื่อนร่วมทีม

          4. ปัญหาของกลุ่ม ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในการทำงาน ถือว่าเป็นปัญหาของกลุ่ม ที่จะต้องได้รับการวินิจฉัย ได้รับการดูแลและได้รับการแก้ไขตามสาเหตุ

          5. ความเป็นผู้นำ ผู้นำจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการตรวจสอบ อำนาจ และความรับผิดชอบ

          6. การตัดสินใจ ในการทำงานเป็นทีม การตัดสินใจเกิดจากการเห็นพ้องต้องกัน และมีการให้ความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจให้ดีขึ้น

          7. ความไว้วางใจ สมาชิกในทีมจะต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน สามารถแสดงปฏิกริยาในทางลบโดยปราศจากความกลัวเกรง

          8. ความคิดสร้างสรรค์ ทีมงานจะต้องแสวงหาวิธีการใหม่และดีกว่าอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ในการทำงานเป็นทีมเพื่อคุณภาพ ทีมงานจะต้องดำเนินงานในลักษณะต่อไปนี้

            (1) ทีมงานจะต้องให้สมาชิกเข้าใจบทบาทที่ชัดเจน

            (2) ทีมงานจำเป็นจะต้องมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ชัดเจน

            (3) ทีมงานจำเป็นจะต้องมีทรัพยากรพื้นฐานเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งได้แก่ คน เวลา สถานที่ และพลังงาน

            (4) ทีมงานจต้องรู้ถึงการต้องถูกตรวจสอบ และข้อจำกัดของอำนาจ

            (5) ทีมงานจำเป้นจะต้องมีการวางแผนเพื่อการทำงาน

            (6) ทีมงานจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการทำงาน

            (7) ทีมงานจำเป็นจะต้องรู้จักใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อจัดการกับปัญหาและมีความสามารถในการแก้ปัญหา

            (8) ทีมงานจะต้องสร้างพฤติกรรมของทีมที่มีประโยชน์และมีคุณค่า

เมื่อดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมานี้ องค์การจะได้ทีมงานที่มีคุณภาพ ทำงานเพื่อคุณภาพ สามารถบริหารจัดการในเชิงคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิผล
          -------------------------------------------------------------------------------

                                              สาระคิด

                   People learn best when they feel the need to know.
                          ------------------------------------------------
   

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

วิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผลเป็นอย่างไร

การจะบรรลุเป้าหมายขององค์กรใดๆก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์หรือการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเริ่มด้วยการระบุ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมที่ชัดเจน

วิสัยทัศน์เป็นภาพในอนาคตขององค์การ  ว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าองค์การจะมีลักษณะอย่างไร 

วิสัยทัศน์นำไปสู่การกำหนดพันธกิจ เป้าหมาย วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และการคุกคาม อันเป็นกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์

วิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล จึงมีความจำเป็นต่อการดำเนินการไปสู่เป้าหมายขององค์การ

สำหรับวิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล จะมีลักษณะดังนี้

          1.ท้าทาย เป็นวิสัยทัศน์ที่มีภาพในอนาคตชัดเจน แต่ไม่ยากจนเกินความรู้ความสามารถของคนในองค์การ ที่จะดำเนินการไปสู่ภาพในอนาคตนั้น

          2. ชัดเจน เป็นวิสัยทัศน์ที่คนในองค์การเข้าใจความหมายตรงกัน  ไม่เปิดให้มีการแปลความหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

          3. สามารถจำได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่มีข้อความไม่ควรยาวเกิน 20-25 คำ

          4. มีส่วนร่วม เป็นวิสัยทัศน์ที่คนในองค์การมีส่วนร่วม และสามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่

          5. สอดคล้องกับค่านิยม เป็นวิสัยทัศน์ที่ผุกพันกับวิธีการดำเนินงานหรือวัฒนธรรมขององค์การ ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นในองค์การ

          6. มองเห็นได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่สามารถแสดงได้ด้วยภาพให้เห็นได้ว่า เมื่อการดำเนินการตามพันธกิจแล้ว อนาคตขององค์การเป็นอย่างไร

          7. ขับเคลื่อนได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยการร่วมมือ และสนองตอบจากทุกคนในองค์การ

          8. เป็นแนวทาง เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นแนวทาง ที่ทุกคนเกี่ยวข้องกับองค์การ สามารถประเมินได้ ว่ามีวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

          9. เชื่อมต่อกับความต้องการของลุกค้าหรือผู้ใช้บริการ เป็นวิสัยทัศน์ที่สัมพันธ์กับความต้องการ และความพอใจของลุกค้าหรือผู้ใช้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบขั้นสูงสุดของความมีประสิทธิผลของวิสัยทัศน์

กล่าวโดยสรุปจะได้ว่า ถ้าวิสัยทัศน์มีภาพในอนาคตชัดเจน ทุกคนในองค์การมีส่วนร่วม ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการพอใจ ถือได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล
                --------------------------------------------------------------------------

                                              สาระคิด

      จะต้องระลึกเสมอว่า ความมุ่งมั่นในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความสำเร็จไม่เคยสมบูรณ์
                         ---------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การในสถาบันการศึกษา

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถสนองตอบความต้องการ และความคาดหวัง ของผู้ใช้บริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

คุณภาพทั้งองค์การ จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะการยัดเยียด หรือการตรวจสอบ แต่เกิดจากการทำครั้งแรกให้ถูกต้องและทำให้ถูกต้องทุกๆครั้ง  และทุกคนในสถานศึกษาต่างก็เป็นผู้จัดการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การเดิมใช้ในวงการธุรกิจ ซึ่งการศึกษากับธุรกิจมีความแตกต่างกัน เพราะสถาบันการศึกษาไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม นักเรียนนักศึกษาไม่ใช่ผลผลิต แต่การศึกษาของนักเรียนนักศึกษาเป็นผลผลิต ความสำเร็จ ความสมบูรณ์ของผลผลิต  จะต้องได้รับความร่วมมือจากนักเรียนนักศึกษาในฐานะผู้จัดการร่วมในกระบวนการเรียนรู้

นอกจากนั้น ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรม  การจัดการคุณภาพทั้งองค์การจะต้องระบุลูกค้าอย่างชัดเจน แต่ในวงการศึกษาลูกค้ามีมากมาย ที่ได้ประโยชน์จากผลผลิต ซึ่งได้แก่ ตัวนักเรียนนักศึกษาเอง พ่อแม่  นายจ้างในอนาคต และสังคมโดยทั่วไป

หากสถาบันการศึกษายังมีวิธีทำงานแบบเดิม พบว่ายากที่จะจัดการกับความกดดันอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการจัดการคุณภาพทั้งองค์การเพื่อให้สามารถจัดการกับความกดดัน อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงได้

สถาบันการศึกษาที่มีการจัดการคุณภาพทั้งองค์การ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องต่อไปนี้

     1. วัฒนธรรมขององค์การจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม  คำว่า วัฒนธรรม ในที่นี้ หมายถึง รูปแบบ ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และการกระทำที่สมาชิกขององค์การมีร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้าง การกระทำ บทบาท พฤติกรรม ทัศนคติ บรรทัดฐาน และค่านิยม

     2. องค์การมีความกะทัดรัดและมีโครงสร้างที่เรียบง่าย  ความจริง ไม่มีรูปแบบขององค์การสำหรับการจัดการคุณภาพทั้งองค์การโดยเฉพาะ แต่มีหลักว่าโครงสร้างขององค์การจะต้องเหมาะสม และสะดวกต่อการจัดการคุณภาพทั้งองค์การ เช่น มีลำดับขั้นตอนน้อยลง มีความเชื่อมโยงภายในองค์การ มีความเรียบง่าย กะทัดรัด และสร้างขึ้นมาจากทีมงานที่แข็งแกร่ง

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำไปสู่การจัดการคุณภาพทั้งองค์การในสถาบันการศึกษา ให้เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการนักเรียนนักศึกษา โดยที่ทุกส่วนทุกระบบขององค์การจะต้องยึดโยงเข้าด้วยกัน มีสายบังคับบัญชาสายเดี่ยวและง่าย และทุกส่วนจะต้องสัมพันธ์กับนักเรียนนักศึกษา

สำหรับสถาบันการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ตามทัศนะของการจัดการคุณภาพทั้งองค์การ มีดังนี้

          1. ทุกหน่วยงาน ทุกโปรแกรม และทุกแผนก จะต้องปฏิงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทุกฝ่ายมีความชัดเจน และมีการกำหนดมาตรฐานภายในเพื่อการปฏิบัติงาน

          2. สมาชิกในสถาบันการศึกษาทุกคน เข้าใจทิศทาง และพันธกิจของสถาบัน

          3. ไม่มีการแข่งขันระหว่างหน่วยงาน โปรแกรมหรือแผนก แต่ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายและความต้องการของฝ่ายอื่นในสถาบัน และสามารถใช้เป็นกลไกอย่างมีประสิทธิภาพกับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

          4.  หลักสูตรหรือการบริหาร จะต้องมีแผนภูมิและการจัดการที่ได้จาการวิเคราะห์ ข้อมูลที่ได้จากการถามลูกค้า  ถึงความต้องการ มาตรฐาน และความคาดหวังอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักเสมอว่า การจัดการคุณภาพทั้งองค์การในสถาบันการศึกษา จะเกี่ยวข้องกับทุกคนในองค์การ นับตั้งแต่หัวหน้าสถานศึกษา ครูอาจารย์ จนถึงพนักงานในแผนกต่างๆ  ที่จะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้  เพื่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาเป็นสำคัญ
               ---------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

บ้านแห่งคุณภาพ จะต้องมี หลังคา เสา พื้น และรากฐานที่มีคุณภาพ จึงจะดำรงความเป็นบ้านแห่งคุณภาพอยู่ได้ ฉันใด การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ ก็เป็นไปฉันนั้น
                         -----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ เป็นการทำงานของทุกคนในองค์การ  เพื่อปรับปรุงภาระหน้าที่ขององค์การในทุกๆด้านให้ดีขึ้น

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ เป็นการจัดการที่ทุกคนในองค์การมีส่วนร่วม ผู้บริหารมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ตรงกับที่ลูกค้าต้องการ

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ ครอบคลุมทุกกระบวนการ ครอบคลุมทุกงาน และครอบคลุมทุกๆคน

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ  เป็นระบบจัดการที่มุ่งไปสู่วัตถุประสงค์ขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ  ประกันความพอใจของลูกค้า คุ้มค่าเงิน ซึ่งจะสำเร็จได้ก็โดยมีการปรับปรุงระบคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Total Quality Management มักเรียกกันย่อๆว่า TQM.

Total หมายถึง Every person in the firm is involved. (including customers and suppliers) 

Quality หมายถึง Customer requirements are met exactly.

Management หมายถึง Senior executives are fully committed

จะเห็นว่า การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ เป็นระบบการจัดการที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความพอใจของลูกค้า

สำหรับหลักการเบื้องต้นของการจัดการคุณภาพทั้งองค์การ ประกอบด้วย ความเป็นผู้นำ ความมุ่งมั่น ความพอใจของลูกค้า การศึกษาและการฝึกอบรม ความเป็นเจ้าของปัญหา  รางวัลและการยอมรับ การป้องกันความผิดพลาด และการทำงานเป็นทีม

ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้  เป็นสิ่งประกันว่า เมื่อนำ TQM ไปใช้จะประสบความสำเร็จแน่นนอน

สำหรับคุณลักษณะที่เป็นแกนของการจัดการคุณภาพทั้งองค์การ ประกอบด้วย
          - การให้ความสำคัญกับลูกค้าและการค้นหาความต้องการของลูกค้า
          - การกำหนดมาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
          - การควบคุมกระบวนการ และการปรับปรุงความสามารถของกระบวนการให้ดีขึ้น
          - การจัดตั้งระบบเพื่อคุณภาพ
          - ความรับผิดชอบของการจัดการ ในการกำหนดนโยบายคุณภาพ จัดให้มีการจูงจูงใจโดยผ่านการเป็นผู้นำ และติดเครื่องมือให้กับบุคคลในองค์การเพื่อให้บรรลุคุณภาพ
           - ให้อำนาจกับบุคคลในองค์การทุกระดับ เพื่อที่จะปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น

อนึ่ง จะต้องระลึกเสมอว่า การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดขึ้น เพราะมีการกำหนดวิธีการทำงานในองค์การที่เป็นไปตามหลักการท่ามกลางวัฒนธรรมขององค์การที่เอื้ออำนวย ทุกคนในองค์การมีความมุ่งมั่น และมีการสื่อสารที่ชัดเจนเข้าใจตรงกัน
               -------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

                                   Modelling is better than words.
                             --------------------------------------------------------


วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการวิจารณ์เพื่อนร่วมงานอย่างสร้างสรรค์

การวิจารณ์เป็นการประเมินคนอื่นในเชิงลบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่บางครั้งอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ขององค์การโดยรวม  จึงจำเป็นจะต้องมีการวิจารณ์เพื่อนร่วมงานบ้าง

อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์เพื่อนร่วมงาน จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง  เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยมีเทคนิคการวิจารณ์ ดังนี้

          1. จะต้องแน่ใจว่า ในสถานการณ์นั้นจำเป็นจะต้องวิจารณ์อย่างแท้จริง หลีกเลี่ยงไม่ได้

          2. จะต้องวิจารณ์ด้วยภาษาที่สุภาพนุ่มนวล ไม่วางอำนาจ หรือทำตนเหนือกว่าผู้ถูกวิจารณ์

          3. เลือกเวลาและสถานที่ให้เหมาะสม ไม่ใช่วิจารณ์ที่ไหน เวลาใดก็ได้

          4. วิจารณ์อย่างมีข้อมูลและหลักฐาน ไม่ใช่วิจารณ์เพราะคิดเอาเองว่าผู้ถูกวิจารณ์ไม่ได้ทำหรือทำในสิ่งที่ถูกต้อง

          5. ในการวิจารณ์จะต้องเสนอทางเลือกให้ผู้ถูกวิจารณ์ด้วยเสมอ

          6. วิจารณ์ด้วยความเป็นมิตร

          7. ถ้าเป็นไปได้ ใช้การยกย่องควบคู่ไปกับการวิจารณ์ โดบยกส่วนที่ดีที่ถูกต้องออกมาพูดด้วย

          8. วิจารณ์เฉพาะสิ่งที่เขาสามารถปรับปรุง  หรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้ การวิจารณ์ในสิ่งที่ผู้ถูกวิจารณ์แก้ไขไม่ได้ เป็นการสูญเปล่า

          9. วิจารณ์ครั้งละ 1 ประเด็น  การวิจารณ์หลายๆประเด็นในคราวเดียวกัน เป็นการตำหนิ  มากกว่าการวิจารณ์ด้วยความเป็นมิตร

          10. หลังการวิจารณ์  มีการให้ข้อมูลป้อนกลับในทางบวกด้วยเสมอ

การวิจารณ์เพื่อนร่วมงานในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์การแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่เสื่อมถอย กลับทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ เพราะผู้ถูกวิจารณ์มองเห็นถึงเจตนาดีของผู้วิจารณ์นั่นเอง
              -------------------------------------------------------------------------------

                                                    สาระคิด

                        เมื่อมีเมตตาต่อกัน ย่อมคิดจะเกื้อกูลกันให้มีความสุข

                              สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
                          -----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อุปสรรคของการสื่อสารระหว่างบุคคล

การสนทนาเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน  แต่มีบ่อยครั้งที่การสนทนาไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากมีอุปสรรคเกิดขึ้นในระหว่างสนทนา ซึ่งอุปสรรคที่เกิดขึ้นและพบบ่อยได้แก่

1. การรับรู้ คือการแปลความหมายจากการสัมผัส  ซึ่งในการจะแปลความหมาย จำเป็นจะต้องมีความสนใจ มีอวัยวะสัมผัสที่รับสัมผัสได้ชัดเจนถูกต้อง  และที่สำคัญจะต้องมีประสบการณ์ในเรื่องที่พูดนั้น อุปสรรคสำคัญระหว่างผู้ฟังและผู้พูด ก็คือการที่ผู้ฟังไม่สนใจในบุคคลหรือเรื่องที่พูด  มีอวัยวะสัมผัสที่รับสัมผัสไม่ดี และขาดประสบการณ์ในเรื่องที่คนอื่นกำลังพูดอยู่

2. การฟังเฉพาะเรื่องที่ต้องการฟัง เป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้ฟังจะฟังเฉพาะเรื่องที่ต้องการจะฟัง เพราะเรื่องนั้นตรงกับ ความต้องการ ทัศนคติ ค่านิยม ฯลฯ ของผู้ฟัง และเมื่อใดที่คนอื่นพูดในสิ่งที่ตนไม่ต้องการฟัง จะไม่ได้ยินในสิ่งนั้น จนกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารในที่สุด

3. การฟังที่ลำเอียง เกิดจากการมีประสบการณ์ในเชิงลบกับบุคคลที่ต้องการสื่อสาร เป็นการนำประสบการณ์ในอดีตมากำหนดการฟังในปัจจุบัน การลำเอียงมีแนวโน้มมาจากการบิดเบือนข่าว  จากข่าวในเชิงบวกมาเป็นข่าวในเชิงลบ  จนทำให้มีการใช้อารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องในการฟัง จนขาดประสิทธิผลในการฟัง

นอกจากนั้น  ยังพบว่า พฤติกรรม 12 ประการต่อไปนี้ ทำให้เกิดการสื่อสารที่ล้มเหลว ซึ่งได้แก่

          1. การประเมินการกระทำหรือทัศนคติคู่สนทนาในเชิงลบ

          2. การตั้งฉายาให้คู่สนทนาในเชิงลบ

          3. การวิเคราะห์คู่สนทนา ว่าทำไมคู่สนทนาจึงมีความประพฤติหรือพฤติกรรมอย่างนั้น โดยทำตัวเป็นจิตแพทย์

          4. ยกย่องจนเกินความจริง เช่น คู่สนทนาแก้ปัญหาง่ายๆได้สำเร็จ ก็ยกย่องว่าเป็นผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศเกินมนุษย์

          5. การสั่งให้คู่สนทนาทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ

          6. พยายามควบคุมความประพฤติของคู่สนทนา โดยตักเตือนว่าจะเกิดผลในทางลบตามมาอย่างไร

          7. การบอกคู่สนทนาว่า อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นการอบรมสั่งสอนให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องในเชิงคุณธรรม

          8. ตั้งคำถามที่ไม่เหมาะสมจนเลยเถิด หรือเป็นคำถามแบบปลายปิด ที่ตอบได้ไม่กี่คำ เช่น ใช่ หรือไม่ใช่

          9.  บอกวิธีแก้ปัญหาให้คู่สนทนา ทั้งๆที่เป็นปัญหานั้นเป็นปัญหาส่วนตัวของเขา และเขาไม่ได้บอกให้ช่วยเหลือ

          10. การทำให้เขว ด้วยการผลักปัญหาของคู่สนทนาให้พ้นไป ยกเอาเรื่องอื่นมาพูดแทน

          11. การพยายามขัดจูงให้เห็นข้อเท็จจริง โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยทางอารมณ์ของคู่สนทนา

          12. การพยายามที่จะหยุดไม่ให้คู่สนทนามีความรู้สึกหรือมีอารมณ์ในเชิงลบ โดยอ้างประสบการณ์ของตน

ทั้งหมดที่กล่าวมา   ถือว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการสื่อสารระหว่างบุคคล เพราะมีผลทำให้เกิดการตอบสนองที่เสี่ยง การสื่อสารขาดประสิทธิผล และส่งผลต่การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
               --------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

   ทรัพยากรที่มีพลังที่สุดที่ท่านมี   สำหรับการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
                                  คือความสนใจของท่านที่มีต่อคนอื่น
                             ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ ความขัดแย้งนับเป็นโอกาส  แต่เป็นโอกาสที่อันตราย ในแง่ที่ว่า อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต้องพังทลายลง

ความขัดแย้งสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด กล่าวคือ

     1. ความขัดแย้งทางอารมณ์ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากสถานการณ์หรือเหตุการณ์ หรือการกระทำ ที่ทำให้เกิดจากความรู้สึกไม่พอใจ

     2. ความขัดแย้งทางค่านิยม เป็นความขัดแย้งที่เกิดจาก การเห็นความสำคัญหรือคุณค่า หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ต่างกัน

     3. ความขัดแย้งทางความต้องการ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการที่ต่างกัน จะเป็นความต้องการเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้

เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เพื่อไม่ให้ลุกลามใหญ่โตจนเสียความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกัน

สำหรับวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งสามารถทำได้ดังนี้

          1. ปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยการยอมรับ เป็นการให้การยอมรับคนอื่นด้วยกริยาท่าทางอ่อนน้อมสุภาพ ระมัดระวังในการใช้เสียง รู้จักเลือกใช้คำ ตลอดจนเป็นคนมีเหตุผล

          2. ฟังจนกระทั่งเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่แย่งพูดหรือพูดแทรกขึ้นมา ทั้งๆที่ฟังยังไม่จบเนื้อหากระบวนความที่อีกฝ่ายต้องการจะบอก จนทำให้จับเนื้อหาผิดพลาด

          3. แสดงให้เห็นถึงทัศนะ ความต้องการ และความรู้สึกของตน เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจถึงความต้องการ อารมณ์ หรือค่านิยมที่แท้จริงของตน

ความขัดแย้งสามาถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว บางครั้งเป็นความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งความขัดแย้งในลักษณะนี้  สามารถจะแก้ไขได้ด้วยการเจรจาต่อรอง

ซึ่งการเจรจาต่อรองทำได้ ใน 3 ลักษณะ กล่าวคือ

            1. แบบนุ่มนวล เป็นการเจรจาต่อรองที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และหาข้อยุติให้เร็วที่สุด แต่คู่เจรจาจะต้องยอมเสียประโยชน์บ้าง

            2. แบบยืนยัน เป็นการเจรจาต่อรองที่หวังจะเอาชนะทั้ง 2 ฝ่าย แต่วิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างรุนแรง

            3. แบบหลักการ เป็นการเจรจาต่อรอง ที่ต้องการให้เกิดการตัดสินที่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนมาตรฐานที่ยุติธรรม

จะเห็นว่า  เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจะต้องมีการแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ง่ายที่สุด คือการคุยหรือเจรจรจากัน ด้วยความสุภาพ ใช้เหตุผล และตั้งอยู่บนมาตรฐานที่ยุติธรรม
                ---------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                                   Treat others as you would have them treat you.
                      -------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการฟังและการเป็นผู้ฟังที่ดี

การฟังเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น การรู้จักใช้เทคนิคในการฟัง  นอกจากจะช่วยให้ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ยังทำให้ผู้พูดเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและมีคุณค่า

สำหรับเทคนิคในการฟังมีดังต่อไปนี้

          1.ก่อนที่จะถาม วิจารณ์ หรือให้ข้อเสนอแนะ  ให้เรียบเรียง คำถาม คำวิจารณ์ หรือข้อเสนอแนะเป็นคำพูดของตนเองเสียก่อน เพื่อแสดงว่าสามารถจับใจความในสิ่งที่เขาพูดได้

          2. ใช้ถามด้วยคำถามปลายเปิด เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง

          3. เมื่อต้องการความชัดเจนในสิ่งที่คนอื่นพูดว่าผิด หรือพูดไม่ตรงกับความเป็นจริง จะต้องขอร้องให้เขาอธิบายให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่สรุปว่าถูกหรือผิด และในการวิจารณ์จะต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ ไม่แสดงอาการคุกคาม

          4. ในช่วงเวลาที่เครียดหรือเกิดความขัดแย้ง ให้ใช้การบอกแทนการถาม เพราะการถามในขณะที่เครียดหรือขัดแย้ง อาจทำให้คนอื่นเห็นว่าเป็นการโจมตีมากกว่าที่จะเป็นคำถามธรรมดา

         5. ให้มองตาผู้อื่น เพื่อส่งสัญญาณว่ากำลังพูดอยู่ ส่วนผู้ฟังนอกจากมองผู้พูดแล้วยังจะต้องพยักหน้าไปด้วยเป็นครั้งคราว

          6. จดบันทึกในเรื่องที่คนอื่นพูด เพื่อแสดงว่าสนใจในเรื่องที่กำลังพูด

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะใช้เทคนิคดังกล่าวแล้ว ผู้ฟังจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยการปฏิบัติตนดังนี้

             1. มีใจเปิดกว้าง

             2. เริ่มฟังตั้งแต่ประโยคแรก

             3. หลีกเลี่ยงการขัดจังหวะ

             4. ถามคำถามที่กระตุ้นให้เขาพูด

             5. แสดงออกทางใบหน้าและภาษากาย เพื่อแสดงถึงความสนใจและเข้าใจ

             6. อย่ามีปฏิกริยาเกินเหตุ ด้วยการใช้คำกล่าวหาที่รุนแรง หรือคำที่แสดงอารมณ์

             7. ฟังทุกคน อย่าฟังเฉพาะคนที่ชอบหรือคนที่ยอมรับ

             8. เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น แม้ตนเองจะไม่เห็นด้วย

             9. คอยจนกว่าจะเข้าใจชัดเจนว่าเขาถามอะไร ก่อนที่จะตอบ

            10.หลีกเลี่ยงที่จะตอบปัญหาแทนคนอื่น

การมีเทคนิคในการฟังและการเป็นผู้ฟังที่ดี นอกจากจะช่วยให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ยังทำให้คนอื่นยกย่องว่าเป็นผู้ฟังที่มีมรรยาทอีกด้วย

                  ----------------------------------------------------------------
                                             สาระคิด

                         การฟังที่ดี เป็นอาวุธลับในการจัดการกับคนอื่น
                            ------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กฎการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

ความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  เพราะเกือบทุกเรื่องในชีวิตจะเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงาน แทบจะไม่มีงานไหนในปัจจุบันที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะการทำงานในปัจจุบันมีลักษณะเน้นคนเพิ่มขึ้น ทุกตำแหน่งจะต้องติดต่อกับคนมากขึ้น

ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถในการสร้งความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น  กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จในแทบทุกตำแหน่ง

ในส่วนของความล้มเหลว พบว่าร้อยละ 80 ของคนที่ล้มเหลวในการทำงาน เกิดจากความไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการ พยาบาล เลขานุการ ช่างไม้ กรรมกร อัยการ แพทย์ เสมียน หรือรัฐมนตรี ล้วนจะต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นทั้งสิ้น

ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีกฎดังนี้
          1. ยกย่องคนอื่น
          2. เป็นผู้ฟังที่ดี
          3. รู้จักกาละเทศะ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดหรือควรทำอะไร
          4. เป็นผู้ให้ไม่ใช่เป็นผู้แสวงหาความเชื่อถือ ตำหนิเมื่อตนเองทำผิดพลาด  และไม่เอาเครดิตเสียเองเมื่อทำสำเร็จ
          5. เป็นคนสม่ำเสมอ รู้จักควบคุมอารมณ์ เสมอต้นเสมอปลาย
          6. ยอมเสียหน้า เมื่อทำผิดยอมรับผิด
          7. มีอารมณ์ขัน
          8. เป็นตัวอย่างที่ดี
          9. เป็นคนน่ารัก ปฏิบัติตนในสิ่งที่คนอื่นชื่นชอบ
          10 ริเริ่มแนะนำตนเองก่อนในทุกโอกาส
          11.เรียกชื่อคนอื่นให้ถูกต้อง
          12. อย่าหวังว่าคนอื่นจะเป็นคนสมบูรณ์ ยอมรับข้อแตกต่างและข้อจำกัดของมนุษย์
          13. หาคุณลักษณะที่น่าพอใจของบุคคลอื่น
          14. ในการสนทนารู้จักกระตุ้นให้คนอื่นพูด
          15. เป็นคนสุภาพอ่อนโยน

บุคคลใดที่สามารถปฏิบัติได้ ตามกฎการสร้างความสัมพันธ์ที่กล่าวมานี้ เชื่อได้ว่าจะเป็นผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  และประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างแน่นนอน
     ------------------------------------------------------------------------------------

                                              สาระคิด

             มิตรภาพ คือศิลปะของการมองข้ามความล้มเหลวของคนอื่น
                         ---------------------------------------------------------