วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ของคนไทยก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร

ทุกลักษณะของสังคม  มีทั้งก่อให้เกิดผลดีและผลเสีย  ต่างกันที่อยู่ที่ว่าจะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน  ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ของคนไทยก็เช่นกัน   มีทั้งที่ก่อให้เกิดผลดีและผลเสีย

สำหรับผลเสีย อันเนื่องมาจากลักษณะยกย่องผู้มีความรู้ของคนไทย อาจจำแนกได้ดังนี้

ประการแรก   ผู้มีความรู้อาจนำความศรัทธาที่ผู้อื่นมีต่อตน  ไปใช้ในทางที่ผิด  ใช้เพื่อปรโยชน์ของตนเอง  แทนที่จะใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคี  เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร มีความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยไม่มีที่สิ้นสุด

ประการที่ 2   ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ อาจถูกผู้มีความรู้ชักจูงได้ง่าย โดยชักจูงไปในทางที่ผิด ประพฤติตนผิดพลาด ทำให้เกิดภาวะชงักงันทางเศรษฐกิจและการเมืองในส่วนรวมได้

ในปัจจุบันนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย  ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ได้ออกมาชี้นำทางการเมือง ด้วยการทำตัวเป็นแกนนำ ก็มี ตั้งเป็นกลุ่มเพื่อทำงานการเมือง ก็มี บทบาทเหล่านี้ จะต้องนำมวลชนหรือกลุ่มชนให้หลอมรวมไปในทิศทางเดียวกัน แน่นอนว่าผู้มีความรู้เหล่านี้ จำเป็นจะต้องบิดเบือนความรู้ที่เรียนมา หรือตีความไม่เป็นไปตามหลักวิชา  หรือพูดความจริงเพียงบางส่วน  โดยมีเจตนาที่จะนำมวลชนหรือกลุ่มชนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการให้ได้

อีกหลุ่มหนึ่ง ที่จัดว่าเป็นผู้มีความรู้  คือพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือของคนไทยมาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันมีพระสงฆบางส่วน บางรูป บางวัดได้ใช้ไสยศาสตร์ผสมกับพุทธศาสตร์ ทำให้เกิอการสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธเจ้า  เกิดการชี้นำไปในทางที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะไม่ควร เป็นความศรัทธาที่มีพื้นฐานอยู่บนความงมงาย ที่นำไปสู่การมีทรัพย์สินเงินทองของวัดอย่างมากมายมหาศาล

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง  ที่อยากจะบอกว่า อย่าเชื่อตามผู้มีความรู้โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรอง เพราะการชี้นำของผู้มีความรู้ในบางเรื่อง บางลักษณะ ทำให้เกิดการหลงผิดได้  การที่จะเชื่อผู้รู้คนใด  นอกจากจะต้องใช้สติปัญญาไตร่ตรองแล้ว  ยังจะต้องดูอดีตความเป็นมา  การประพฤติปฏิบัติของผู้มีความรู้เหล่านั้น อย่าตัดสินจากสิ่งที่เขาชี้นำเพียงอย่างเดียว เมื่อใช้ปัญญา และเหตุผลแล้ว อาจทำให้เชื่อได้ทั้งหมด เชื่อเพียงบางส่วน หรือไม่เชื่อเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญของผู้ที่ถูกชี้นำเป็นสำคัญ

การเชื่อผู้มีความรู้ทั้งหมด โดยขาดการใช้สติปัญญาของตนประกอบ  อาจนำไปสู่ปัญหาทั้งส่วนตนและของสังคมจนยากที่จะแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม  ผลเสียของลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมอย่างอื่นประกอบด้วย  การมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้เพียงลักษณะเดียว อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยมากน้อยเพียงใด
                                        -----------------------------------------------

                                                                สาระคิด

           ผู้ใดช้าในกาลที่ควรช้า และรีบด่วนในกาลที่ควรรีบด่วน  ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิต

                                                                                             พุทธสุภาษิต
                                                          -----------------

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนไทยกับลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้:ก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ เป็นการยอมรับและศรัทธาผู้มีความรู้  ก่อให้เกิดผลดี  ที่อาจจำแนกได้เป็น 2 ประการ

ประการที่ 1 ก่อให้เกิดผลดีกับตนเอง ในด้านต่างๆ  กล่าวคือ

ด้านเศรษฐกิจส่วนบุคคล  สำหรับผู้มีความรู้เอง สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่  ทำมาหากิน เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน  ส่วนคนที่มีความรู้น้อย อ่อนด้อยในด้านความรู้  ก็จะยอมรับคำแนะนำไปถือปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของแต่ละคนเช่นกัน  มีผลทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลดีขึ้น
 
ด้านสังคม  ผู้ที่มีความรู้จะได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นในสังคม ส่วนผู้ที่มีความรู้น้อย ก็จะเชื่อถือผู้มีความรู้มาก  ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้  สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  มีแนวทางในการดำเนินชีวิตร่วมกัน

ด้านวิทยาการ  เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้  ได้รับการยกย่องจากบุคคลอื่นในสังคม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลที่มีความรู้  เกิดแรงจูงใจศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น  เพื่อรักษาความเป็นผู้มีความรู้ไว้  ในขณะเดียวกัน  ผู้ืั้ที่มีความรู้น้อย  จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้เป็นที่ยกย่องนับถือของคนอื่นๆบ้าง

ประการที่ 2 ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ  ประเทศใดถ้าพลเมืองมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้เป็นลักษณะประจำชาติแล้ว  จะทำให้ประเทศนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ กล่าวคือ
 
ด้านเศรษฐกิจ  การมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้  ทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น  ผู้มีศรัทธาในความรู้จะเป็นผู้มีเหตุผล  มีความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ  มีการเสี่ยงอย่างมีเหตุผล  และส่งผลให้มีการกระจายรายได้ที่ยุติธรรมในที่สุด
 
ด้านการเมือง  การพัฒนาทางการเมือง  หมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  การมีความรู้และการยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้พลเมืองเป็นผู้มีเหตุผล  รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสมอภาค มีขอบเขต มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามระบบและเกณฑ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตกลงกันไว้  อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ด้านสังคม  การยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้สมาชิกในสังคมเป็นผู้มีเหตุผลดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความสามมัคคีในสังคม  เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  และมีเป้าหมายทางสังคมร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ จะเกิดผลดีในลักษณะดังกล่าวได้  ผู้มีความรู้จะต้องใช้ความรู้อย่างมีคุณธรรมกำกับ ไม่ใช้อย่างมีอคติ ลำเอียง หรือใช้ความรู้ในลักษณะบิดเบือนเพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวก  
                                        ----------------------------------------------

                                                             สาระคิด

     ใครก็ตามที่เลือกจะขึ่หลังเสือ  จะต้องยอมรับว่าสักวันหนึ่ง   อาจจะต้องจบชีวิตลงในท้องเสือ

                                                                                   คำอินเดียโบราณ
                                                      ---------------------------

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนไทยกับลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้

การยกย่องผู้มีความรู้  เป็นลักษณะที่มีอยู่ประจำในคนไทย เป็นลักษณะที่มีมานาน แต่จะนานเท่าไรนั้นยากที่จะบอกได้

ถ้าเราอ่านพงศาวดารหรือประวัติชาติไทย  หรือแม้แต่หนังสือนิทานต่างๆ จะพบว่าในสมัยก่อน จะมีนักปราชญ์ราชปุโรหิตประจำราชสำนักคอยถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน คำปรึกษามีทั้งที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ราชประเพณี  จนถึงข้อราชการงานเมือง และปรากฎว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านั้น เป็นที่ยอมรับนับถือของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลาย
 
ปัจจุบันผู้มีความรู้ ยังคงได้รับการยกย่องนับถืออยู่  ที่เห็นได้ชัดเจนคือ  ในชนบทครูเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือกว่าคนอื่นๆในละแวกนั้น มีปัญหาหรือข้อสงสัยใดๆก็มักจะมาหาครูเพื่อขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่าครูเป็นผู้มีความรู้ 

แต่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการมาก   มีสาขาวิชาต่างๆมากมายและแตกต่างกันไป จำนวนคนมีความรู้จึงมีมากกว่าแต่ก่อน   จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปพบปะสนทนาสอบถามหรือทดสอบว่าใครมีความรู้มากกว่าใคร  มีความรู้มากน้อยเพียงใด   คนทั่วไปจึงทึกทักเอาว่าประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร  เป็นเครื่องแสดงว่าใครมีความรู้มากน้อยเพียงใด และมีความรู้ความชำนาญในสาขาใด
 
เลยสรุปเอาว่าใครมีประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรยาวๆมากๆหรือสูงกว่าคนอื่นๆ  ก็ถือว่ามีความรู้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ถ้าประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรนั้น  เขียนด้วยภาษาต่างประเทศที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถเข้าใจ  ก็ยิ่งแสดงว่ามีความรู้มากเป็นทวีคูณ
 
ความเข้าใจเช่นนี้ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะบางครั้งประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร  เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ถึงความยาวนาน  ที่ใช้เวลาในการอยู่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น หาได้แสดงว่า มีความรู้ความสามารถตามประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรแต่อย่างใด จนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกบางคน  ถึงกับต้องประกาศว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจริงๆ  เพราะกลัวสังคมจะไม่เชื่อ
 
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้คนไทย กำลังนิยมยกย่องประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร แทนที่จะยกย่องผู้มีความรู้อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
 
ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้คืออะไร ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้หมายถึงการยอมรับ การให้เกียรติ ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ แสดงออกด้วยการยอมรับ การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้มีความรู้ด้วยความเต็มใจ มีศรัทธา

ผู้มีความรู้ในสังคมไทยหลายคนที่มีอิทธิพลต่อการคิดการกระทำของคนไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันแม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
 
ในปัจจุบันก็มีบุคคลจำนวหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องจากสื่อว่าเป็นราษฎรอาวุโส ออกมาแสดงความเห็นเชิงชี้นำสังคมคมบ่อยๆ  แต่บางคนก็ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควรเพราะมีอคติในการชี้นำสังคม
 
สำหรับคนในชนบทนอกจากจะยอมรับครูว่าเป็นผู้มีความรู้แล้ว ยังจะยอมรับและเชื่อข่าวสารและความคิดเห็นจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เพราะคิดว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ เป็นผู้มีความรู้
 
ในสมัยนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร มีการแย่งกันให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ตนและพรรคพวก การยกย่องผู้มีความรู้หรือเชื่อโดยขาดเหตุผล ขาดการไตร่ตรองพิจารณา อาจจะำไม่เกิดผลดีแก่ตนเองและบ้านเมืองได้
                                             -------------------------------------
                                                             สาระคิด 

                       ไม่มีใครเลี้ยงอาหารใครเปล่าๆ โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน

                                                                  สามก๊ก
                                                          ---------------

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มหาลัยมหาหลอก?

ในหลายปีที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทั้งที่ขยายเป็นวิทยาเขตและตั้งขึ้นใหม่  ประกอบกับมีการยกฐานะสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย  ทำให้ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐรวมทั้งวิทยาเขตที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ  เฉลี่ยโดยประมาณจังหวัดละ 2 มหาวิทยาลัย  และถ้านับมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน จะพบว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมากมายและทั่วถึง  ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความต้องการทางการศึกษาในระดับนี้

หากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่  ทำภาระกิจโดยเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ  เชื่อว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าพิจารณาถึงสาเหตุว่าทำไมจึงมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  เห็นจะตอบได้ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุ  2  ประการ กล่าวคือ  ประการแรก ก็เพื่อขยายโอกาสให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา  โดยเชื่อว่าการศึกษายิ่งมากยิ่งดี เพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ทำให้มนุษย์มีคุณภาพ
ประการที่สอง ก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะการที่นักการเมืองคนหนึ่ง สามารถวิ่งเต้นให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขตขึ้นในจังหวัดของตนได้  แสดงถึงความสามารถอย่างหนึ่งของผู้แทนราษฎร เป็นเครดิตทางการเมือง  เป็นศักดิ์ศรีของจังหวัด  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มหาวิทยาลัยส่วนกลาง ไปตั้งวิทยาเขตในจังหวัดไกลๆ

เมื่ออัตราการเพิ่มของมหาวิทยาลัย  เพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มของผู้เรียน การแข่งขันย่อมจะสูงขึ้นเป็นธรรมดา  จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง จะทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง  อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการศึกษาไทย  ตลอดจนเสนอโครงการต่างๆเพื่อดึงดูดนักศึกษามากขึ้น

ความสำเร็จของผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนนักศึกษา นับตั้งการแข่งขันเพื่อรับนักศึกษาภาคปกติ จนถึงการรับนักศึกษาภาคพิเศษหรือภาคนอกเวลา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้พิเศษที่สำคัญของมหาวิทยาลัย

ที่น่าห่วงในสิ่งที่มหาวิยาลัยกำลังทำอยู่ คือห่วงว่าคุณภาพของบัณฑิตจะลดลง เพราะมีการดำเนินการแทบจะทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาเรียนมากๆ  ถ้าพูดภาษาการตลาด  ก็จะได้ว่ามหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมการขายตลอดเวลา  เพียงแต่ว่าในทางธุรกิจใช้วิธีลด แลก แจก แถม แต่สำหรับมหาวิทยาลัยใช้วิธี ลด หย่อน ผ่อนผัน

โดยเริ่มตั้งแต่กาเปิดสาขาวิชายอดนิยม โดยมากเป็นสาขาทางสังคมศาสตร์และการบริหาร ทั้งการบริหารธุรกิจและการบริหารรัฐกิจ ส่วนสาขาวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทบจะไม่ค่อยมี  ทั้งๆที่ไทยค่อนข้างจะขาดแคลน

การเรียนการสอนก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดในเรื่องคุณภาพ  เข้าลักษณะจ่ายครบจบแน่ ในระดับปริญญาโทนักศึกษาไม่ค่อยจะเลือกเรียนในสาขาวิชาที่กำหนดให้ต้องทำวิทยานิพนธ์  ทั้งที่การวิจัยเป็นกระบวนวิธีที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่  และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็ตาม  หากจำเป็นต้องทำโดยไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น การทำวิทยานิพนธ์ 1 ชื่อเรื่อง บางมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ช่วยกันทำ 2-3 คนหรือช่วยกันถึง 5 คน ก็มี

มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีการให้สัญญาว่าจะให้จบภายในกี่ภาคเรียน ซึ่งยังไม่นับกลยุทธ์อื่นๆ  ที่มีเจตนาจูงใจนักศึกษาให้มาเรียนอีกมากมาย

เงื่อนไขเหล่านี้ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดความด้อยคุณภาพของบัณฑิต จนลืมไปว่าการจัดการศึกษาแบบผิดๆ จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควรสนใจเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น  แต่หากปล่อยปละละเลยอย่างที่เป็นอยู่ โดยอ้างความอิสระทางวิชาการแบบผิดๆ  ก็ไม่แน่ใจว่าผู้จบปริญญาเอกในอนาคต จะได้ปริญญาบัตรระดับปริญญาเอก เพิ่มมาอีก 1 ใบ หรือได้ปริญญาบัตรระดับปริญญาตรีเป็น 3 ใบ

ปริญญาบัตรจะกลายเป็นเครื่องประดับบ้าน มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือใช้ทำมาหากิน  เมื่อถึงจุดนั้น มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นมหาหลอก  หลอกผู้เรียนและสังคมด้วยการเป็นแหล่งผลิดปริญญาบัตรที่ไม่มีศักดิ์และศรีตามใบปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยออกให้
                                            ----------------------------------------------------
                                                                           สาระคิด

       ดวงอาทิตย์ทำให้ทุกสิ่งกระจ่างชัด   แต่เรายังต้องทำความเข้าใจในส่วนที่มืดซึ่งยังคงดำรงอยู่
                                                                                    ขงเบ้ง
                                                                -------------------------


วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาเพื่อปวงชน

จากการจัดการศึกษาที่ไม่ยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม  มีผลทำให้การศึกษาแทนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ   กลับกลายเป็นสาเหตุในการสร้างปัญหาต่อการพัฒนา ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า

การศึกษาที่จัดอยู่ ไม่สนองความต้องการในเชิงพัฒนา  เป็นการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ  และค่านิยม  ที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเพื่อการผลิตในสังคมนั้น  จบการศึกษาแล้วต้องไปทำงานที่อื่น  เพราะโรงเรียนไม่ได้สอนให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคมที่พวกเขามีชีวิตอยู่
ในขณะเดียวกัน  การศึกษาสอนให้เรียน เพื่อต่อบันไดการศึกษาให้สูงขึ้น  เป็นการเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อมัธยมศึกษา และเรียนมัธยมศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัย

การเรียนการสอนใช้วิธีเรียนแบบท่องจำ ขยันเรียนเพื่อสอบ จนทำให้เกิด "โรคประกาศนียบัตร (disease diploma)" เป็นการเรียน ที่พ่อแม่และนักเรียนไม่ตั้งใจจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องนำแนวคิดและวิธีพัฒนามวลชนมาใช้  โดยมุ่งปรับสภาพการดำรงชีวิตของบุคคล ที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับล่าง  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาและเพื่อใช้ทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันไป

สำหรับการศึกษาเพื่อปวงชน  อาจทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เป็นที่ยอมรับว่าคนมีการศึกษานั้น  มีประโยชน์ต่อการพัฒนา เพราะประชากรที่มีการศึกษา  จะมีความตั้งใจและสามารถเข้าร่วมกิจการทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจได้ดี  การศึกษาช่วยให้คนนำความคิดใหม่ๆไปใช้  เป็นการศึกษาที่ไม่เพียงเพื่อรู้หนังสือ แต่เรียนรู้ที่จะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์  ช่วยปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น  การศึกษาสำหรับทุกคน ควรเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะจากการวิจัยพบว่า ในประเทศ บังคลาเทศ เคนยา และโคลัมเบีย ถ้าแม่มีการศึกษา. ลูกจะมีอัตราการตายน้อยลง ในด้านโภชนาการ จากการวิจัยในประเทศบราซิล พบว่าครอบครัวที่แม่มีการศึกษา จะให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่ลูก  และยังพบต่อไปว่า  การศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วยให้ชีวิตมีความสมบูรณ์  รักความ
ยุติธรรมและความอิสระ

ปฏิรูปหลักสูตร  การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน จำเป็นจะต้องปรับทิศทางโปรแกรมการศึกษา  ให้สนองความต้องการของสังคม และตนเอง  ไม่ใช่เรียนด้วยการท่องจำหรือเรียนเพียงเพื่อเรียนต่อสูงขึ้น  การเรียนการสอน จะต้องให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียนการสอน หลักสูตรใหม่จะต้องเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตให้มากที่สุด  มีเนื้อหาทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนใช้ชีวิตอยู่  มีการบรรจุเนื้อหาสาระในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนสร้างให้นักเรียนมีความรู้และทักษะพื้นฐาน ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตและชุมชนให้ดีขึ้น โดยเน้นเรื่องการปรับปรุงสุขภาพ  โภชนาการ  และการประกอบอาชีพในท้องถิ่น

จะเห็นว่าการศึกษาเพื่อปวงชนนั้น จะต้องเป็นการศึกษาสำหรับทุกคน ให้มีความรู้และทักษะ ที่สามารถนำใช้ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่น ที่ตนอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ 
                                                 -----------------------------------------

                                                                       สาระคิด

                         คนที่ไม่เคารพกฎหมาย  ไม่อาจจูงใจให้คนอื่นเคารพกฎหมายได้
                                                               ---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  สำหรับการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  มีลักษณะดังต่อไปนี้

ระบบการศึกษาและหลักสูตร ไม่ควรลอกเลียนหรือนำเข้าจากต่างประเทศ  หรือสังคมที่ต่างวัฒนธรรมออกไป  แต่ควรสร้างขึ้นเอง  เพื่อว่าระบบการศึกษา  จะได้สนองตอบความต้องการ  และแก้ปัญหาที่ปรากฎอยู่ในสังคมนั้นได้มากขึ้น  นั่นคือผู้บริหารการศึกษา  จะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ก่อนจะสร้างหลักสูตรขึ้นมา
          จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม  ที่เราต้องการคืออะไร ทั้งนี้เพื่อสร้าง       หลักสูตรให้สนองความต้องการดังกล่าว
           เราต้องการให้เด็กของเราโตขึ้นเป็นพลเมืองประเภทใด

เป็นระบบการศึกษา  ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจในชุมชน สังคม และประเทศชาติของตน  เป็นการศึกษาที่สร้างความเข้าใจสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  การเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม

ส่วนหนึ่งของหลักสูตร ควรเน้นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด  ปัญหาที่มีส่วนสร้างความทุกข์เข็ญให้กับประชาชนส่วนใหญ่  การศึกษาจะต้องสอนและฝึกฝนทักษะพื้นฐานอันจำเป็น  ต่อการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น ประเทศมีปัญหาเรื่องความยากจน การศึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้ทราบถึงสาเหตุ ตลอดจนแนวทางและทักษะในในการแก้ปัญหาความยากจน  เป็นต้น

เป็นระบบการศึกษา  ที่เกื้อหนุนให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในตนเอง มีศรัทธาในความสามารถของตนเอง (self-reliance) โดยเชื่อว่าตนสามารถจะทำอะไรก็ได้  หากใช้ความพยายาม  เชื่อว่าความสำเร็จของชีวิต  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือพรหมลิขิต

เป็นระบบการศึกษา  ที่ส่งเสริมให้มีการศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง  มีทักษะที่จำเป็นต่อการที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เป็นระบบการศึกษา  ที่มุ่งพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพในการทำงาน เปลี่ยนค่านิยมในการทำงาน รู้จักเลือกงาน สามารถสร้างงาน และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้

เป็นระบบการศึกษา  ที่สร้างบุคลิกภาพเื่พื่อส่วนรวม (collective personality)  คือเป็นผู้ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมควบคู่ไปกับประโยชน์ส่วนตนเสมอ เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม

เป็นระบบการศึกษา  ที่สร้างรูปแบบของพฤติกรรมใหม่ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนา  สถานศึกษาจะต้องขยายขอบข่ายความเข้าใจ และความสนใจของผู้เรียนให้กว้างขวางออกไป  เน้นความคิด กิจกรรม และความเป็นไปได้ใหม่ๆ  นอกจากนั้น  โรงเรียนควรเพิ่มทางเลือกให้แก่นักเรียน ในการทำงาน การเลือกเพื่อน การเรียนต่อ ฯลฯ

เป็นระบบการศึกษา  ที่จัดการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับการทำงาน  ด้วยการรวมการเรียนการสอนให้เข้าเป็นหน่วยเดียวกับโลกของการทำงาน  เน้นเนื้อหาที่สามารถนำไปใช้เพื่อการทำงาน  สอนในสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้  เพื่อว่าผู้จบการศึกษาสามารถทำงานได้ทันที
 
หากการศึกษาไทย จัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้  จะลดปัญหาเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  ตลอดจน  สามารถพัฒนาประเทศชาติอย่างมีเป้าหมาย  นำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้น
                                           --------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด 

       การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม  จะนำความเสื่่อมศรัทธามาสู่ตนเองและองค์กรที่ตนเองสังกัด

                                                              -------------------------

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ดังได้ทราบแล้วว่า การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม  จัดขึ้นเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ให้มีลักษณะที่สังคมต้องการ  ในทางตรงกันข้าม การศึกษาแบบผิดๆก็จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาได้เช่นกัน  สำหรับการศึกษาที่ไม่เอื้อต่การพัฒนา จะมีลักษณะต่อไปนี้

การศึกษาที่นำเข้าหรือลอกเลียนจากสังคมอื่น  โดยมากจะลอกเลียนจากสังคมที่พัฒนาแล้ว  เช่นลอกเลียนจากประเทศตะวันตก  การศึกษาลักษณะนี้  ไม่สนองตอบความต้องการหรือแก้ปัญหาของประเทศได้  เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนขาด ความรู้ ความเข้าใจ  และทักษะที่จำเป็น ต่อการแก้ปัญหาสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่  เกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นในตัวบุคคล  ส่วนผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ  มักจะออกไปประกอบอาชีพในต่างประเทศหรือสังคมอื่น  เพราะที่เล่าเรียนมา ไม่สามารถนำมาใช้ในสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ได้

การศึกษาที่มุ่งให้คนมีลักษณะเหมือนกัน   เป็นการศึกษาที่กำหนด"คนดีในสังคม"ไว้แล้ว  เป็นการกำหนดโดยผู้มีอำนาจหรือชนชั้นสูง และการศึกษาพยายามที่จะผลิตคนให้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้นั้น คนที่จบการศึกษาจะมีลักษณะเหมือนๆกัน หรือพยายามทำตัวไม่ให้แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

การศึกษาที่เน้นเนื้อหาหลักสูตรซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพในอดีต  เป็นสภาพในอดีตของประเทศในยุคสมัยที่รุ่งเรือง หรือเน้นสภาพสังคมที่น่าภาคภูมิใจ  แทนที่จะเน้นการสร้างภาพอนาคตของประเทศ

การศึกษาที่มีระบบการเรียนการสอนซึ่งเน้นการบรรยายและการท่องจำ  เป็นการจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้คนมีความคิดริเริ่ม  การเป็นผู้นำ หรือยอมรับการเปลี่ยนแปลง และในทางตรงกันข้ามกลับสร้างลักษณะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวผู้เรียน  ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆได้ยาก

การศึกษาซึ่งมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไม่สมดุล  ส่วนใหญจะมีกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมระบบใดระบบหนึ่งมากเกินไป เช่น ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางระบบสังคมและเศรษฐกิจ  แต่งดเว้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางระบบการเมือง เป็นต้น

การศึกษาที่ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  จนบางครั้ง ผู้ที่ประสบความล้มเหลวด้านการเรียน กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ในสังคม

สำหรับการศึกษาไทย  จะพบว่า ไม่มีความแตกต่างจากลักษณะที่กล่าวมากนัก คือในสมัยแรกเริ่มที่มีการศึกษาในระบบ ไทยก็ได้ลอกเลียนแบบการศึกษาจากอังกฤษ  และในทุกวันนี้ดูเหมือนจะเลียนแบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่  ส่วนการเรียนการสอนก็เน้นการบรรยายและการท่องจำ กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ และงดเว้นกิจกรรมทางการเมือง  ด้วยเหตุนี้ประชาธิปไตยที่นำเข้าจากตะวันตก เมื่อมาเจอการเรียนการสอนแบบบรรยาย ขาดการจัดกิจกรรมทางการเมือง ประชาธิปไตยของไทยจึงล้มลุกคลุกคลาน จนถึงทุกวันนี้
 
การจัดการศึกษา  ที่ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน  ทำให้การศึกษาของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง  กลายเป็นการศึกษาเพื่อการศึกษา  เป็นการเรียนเพื่อเรียนสูงขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาทบทวนอย่างจริงจัง
                                                           ------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

                                          หากจะพัฒนาการเมือง  เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
                                          จะต้องไม่ผลักกิจกรรมทางการเมืองออกจากสถาบันการศึกษา
                                                                           -------------------

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เพลง ของขวัญจากก้อนดิน

การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาอบรมเป็นกุญแจสำคัญ  ที่ไขไปสู่การพัฒนา เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  หรือการสร้างทุนมนุษย์ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์  ทั้งนี้ เพราะนอกจากการศึกษา  จะช่วยให้มนุษย์มีความรู้และพัฒนาทักษะแล้ว  ยังจะช่วยเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ  ที่มีต่อการทำงานและสังคมอีกด้วย

แต่จากการศึกษาระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา พบว่า ผลการศึกษาของประเทศเหล่านั้น ไม่เป็นไปดังที่กล่าวมา  ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือนอกจากจะผลิตกำลังคนในระดับต่างๆ  ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการแล้ว  ยังพบว่า  ผลผลิตทางการศึกษาที่ได้นั้น  ยังมีแนวความคิด ทัศนคติ และค่านิยม  ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาอีกด้วย

สำหรับการจัดการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา  แต่ละประเทศแตกต่างกันไปในลักษณะต่อไปนี้

 การศึกษาเพื่อการศึกษา  เป็นการจัดการศึกษา  เพื่อให้ประชาชนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น  มีความรู้เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงว่า  ความรู้ที่ได้นั้นสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

การศึกษาเพื่อประเพณี  เป็นการจัดการศึกษา  ที่เน้นสิ่งที่มีคุณค่าในอดีตของสังคม  มุ่งให้ผู้เรียนภูมิใจในชาติกำเนิดของตนเป็นสำคัญ

การศึกษาเพื่อเศรษฐกิจ  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการและเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมกิจการทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การจำหน่าย และการบริโภค เป็นต้น  เมื่อจบการศึกษา ผู้เรียนจะมีความรู้ ทักษะ ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

การศึกษาเพื่อการเมือง  เป็นการจัดการศึกษา  ที่มุ่งจะปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง  เตรียมเข้าสู่ระบบการเมือง  ตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่พึงประสงค์

จะเห็นว่า การจัดการศึกษาแต่ละปะเภทที่กล่าวมานี้ มุ่งเน้นไปคนละอย่าง  ไม่ได้มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าต่อทุกระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนกำลังคน หรือได้กำลังคนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนา ที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษา แต่การพัฒนาในด้านต่างๆ  ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เช่น ศรีลังกา อินเดีย และฟิลิปปินส์  ประเทศศรีลังกาและอินเดียนั้น มีพัฒนาทางการเมืองค่อนข้างสูง  แต่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  ส่วนประเทศฟิลิปปินส์มีรายได้ประชาฃาติสูงกว่าประเทศทั้งสอง  แต่การพัฒนาทางการเมืองยังด้อยกว่า

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา  การจัดการศึกษาของไทยก็ไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  เป็นการจัดการศึกษา ที่ไม่สนองตอบการพัฒนาทุกระบบ ขาดการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาที่ชัดเจน  เช่น ประเทศต้องการกำลังคนระดับช่างฝีมือ  แต่กลับเปิดสอนระดับอุมศึกษาอย่างกว้าง มุ่งผลิตปริญญา จนเกิดมีปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา  เรามีปัญหาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  แต่การเรียนการสอน  มุ่งให้ผู้เรียนเชื่อโดยไม่ต้องคิด เหล่านี้เป็นต้น  จนมีผลทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้ทิศทาง  หากจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง จึงตอบโจทย์การพัฒนาได้
                                            -------------------------------------------------
                                                                     สาระคิด

             ถ้าต้องการเปลี่ยนชีวิต  ต้องลงมือเดี๋ยวนี้  ลงมือทำอย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อยกเว้น

                                                                              William James
                                                           ---------------------------

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เพลงตื่นเถิดชาวไทย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า  การศึกษาเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคม  การเข้าใจการศึกษาอย่างแจ่มแจ้ง  จะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบ  จุดมุ่งหมาย  และระบบการศึกษา  ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยต่อไปนี้

ภูมิศาสตร์  การศึกษาจะต้องช่วยให้มนุษย์สามารถมีชีวิตในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาตร์นั้นๆได้  ไม่ว่าจะมีภูมิอากาศร้อนหรือหนาวจัด  สภาพภูมิศาสตร์จะเป็นป่าเขาหรือทะเล

เศรษฐกิจ  การศึกษาในระบบ  เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์  อย่างสังคมอุตสาหกรรม  ส่วนในสังคมที่มีเศรษฐกิจแบบยังชีพยากที่ประชาชนจะมีเวลาเพื่อการศึกษา นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า  ทำไมประเทศที่ยากจนและด้อยพัฒนาเด็กจึงมีการศึกษาน้อย  ในขณะที่ประเทศอุสาหกรรมสามารถจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนให้กับเด็กอย่างทั่วถึง

ศาสนา   ศาสนามีอิทธิพลต่อกระบวนการการศึกษามาก เพราะศาสนา เข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ ระบบการศึกษาของผู้นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และอิสลาม  จะแตกต่างกันไป  กรณีของไทยคงเคยได้ยินกับคำว่า "บวร" ในการจัดการศึกษา  แสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่าง บ้าน วัด และโรงเรียน  ซึ่งแรกเริ่มโรงเรียนของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัด

การเมือง  อุดมการณ์ทางการเมือง  มีอิทธิพลเหนือการกำหนดจุดมุ่งหมาย  และระบบการศึกษามานาน  การมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย  สังคมนิยม  เผด็จการ หรือคอมมิวนิสต์ จะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างกัน  ชาติที่เป็นเมืองขึ้นก็จะมีระบบการศึกษาที่ไม่แตกต่างจากประเทศผู้ปกครอง  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศผู้ปกครอง  เช่น  ระบบการศึกษาแบบอังกฤษจะปรากฎอยู่ในระบบการศึกษาของอินเดีย เป็นต้น

ทางสังคม  การศึกษาจะสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของสังคมนั้นๆ  การขยายตัวทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี จะกระทบต่อชีวิตและมีปัญหาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้การศึกษาทุกระดับต้องปรับเปลี่ยนตาม

ภาษา  ภาษาเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้การศึกษาเจริญเติบโต ชาติที่มีภาษา
เ้ดียวจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกว่าชาติที่มีหลายภาษา  ไม่ว่ามีภาษาเดียวหรือหลายภาษาล้วนมีผลต่อการจัดการศึกษาไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง

จะเห็นว่า  การจัดการศึกษาจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยต่างๆมากมาย  การจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าวนี้  เป็นการศึกษาที่ไม่มีประโยชน์
                                     ----------------------------------------------
                                                            สาระคิด

                    ปัญหานำมาซึ่งประสบการณ์  และประสบการณ์นำมาซึ่งสติปัญญา

                                                                                 นิรนาม
                                                    -----------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ชีวิตที่สมดุลสำหรับผู้สูงวัย

สมัยนี้รู้สึกว่าผู้คนไม่ค่อยจะยอมแก่  สังเกตได้จาก  อาหารเสริม วิตามิน หรือหนังสือหนังหาเกี่ยวกับวิธีที่ช่วยในการชะลอวัยมักจะขายดี  ตามสวนสาธารณะต่างๆ  มีคนออกกำลังกายมากขึ้น  วิ่งบ้างเดินบ้าง  ตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับตน

เอาเหอะเมื่อไม่อยากแก่  ก็ไม่ต้องแก่ ชีวิตเป็นของเรา เลือกได้

สำหรับผู้สูงวัย  แม้จะยากสำหรับการชะลอวัย แต่การใช้ชีวิตที่สมดุล  จะช่วยทำให้ชีวิตมีคุณภาพ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามควรแก่วัย  ไม่เป็นภาระกับลูกกับหลานมากนัก

หลายคนคงเอาใจใส่เรื่อง  อาหาร  อากาศ  อารมณ์  ออกกำลังกาย  และอุจจาระ  ซึ่งหากถือปฏิบัติอย่างจริงจัง  ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้เหมือนกัน

ส่วนการใช้ชีวิตที่สมดุล  ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่  เพียงแต่เอาคติไทยมาปรับใช้  กล่าวคือคนไทยเรานั้น แบ่งชีวิตออกเป็น 4 วัย คือ วัยเล่น วัยเรียน วัยทำงาน และวัยทำบุญ

วัยเล่น เป็นวัยที่เน้นหนักไปในทำกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ทั้งการเคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหวร่างกาย  เด็กคนไหนไม่เล่นก็จะกลายเป็นเด็กที่แปลก  ผิดปกติ

วัยเรียน เน้นที่การแสวงหาความรู้ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน  เพื่อการทำงานประกอบอาชีพ ใครไม่เรียนก็จะถูกประณามว่าเป็นเด็กขี้เกียจ  ไม่เอาถ่าน

วัยทำงาน ก็มุ่งแต่งานไม่เรียนไม่เล่น ไม่อ่าน ไม่ฟัง จบโรงเรียนออกมาห้าปีขึ้นไปกลับไปโง่เท่าเดิม

วัยทำบุญ  ก็มุ่งแต่ทำบุญเข้าวัดเข้าวา ถือศีลกินเจ มีอะไรก็ถวายวัด หวังจะขึ้นสวรรค์เมื่อตายไป  โดยหารู้ไม่ว่า จริงๆแล้วตอนนี้สวรรค์ค่อนข้างจะเงียบเหงา  กลับไปคึกคักอยู่ที่นรก

ผู้สูงวัยถ้าถือตามคติไทย จะเข้าวัดทำบุญก็เป็นเรื่องที่ควรทำ  แต่ถ้าอยากมีชีวิตที่ดี  จะต้องทั้งเล่น เรียนทำงาน และทำบุญควบคู่กันไป อย่างสมดุล  การละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้ชีวิตเสียสมดุล  ปัญหาต่างๆก็จะเกิดตามมมา  แต่จะเกิดปัญหาเรื่องใดนั้น  ขึ้นอยู่กับว่าขาดดุลในเรื่องใด

ไม่เล่นไม่เคลื่อนไหว ร่างกายก็จะไม่แข็งแรง  ไม่เล่นไม่ทำงาน  แต่ละวันนั่งรอให้พระอาทิตย์ตกดิน  อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า เพราะวันๆคิดแต่เรื่องตัวเอง  ซึ่งนับวันจะแก่เฉาลงทุกที ไม่ทำบุญทำทานเสียเลย ก็จะหลงงมงายอยู่ในวงเวียนชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ใครที่ไม่เคยดูหนังฟังเพลง  หรือออกกำลังกาย ก็ควรทำบ้าง ชีวิตจะได้สดชื่น

ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร  ถ้าไม่ติดตามข่าวสารบ้างจะตกยุค  ถ้าไม่อยากตกยุค ก็ควรแสวงหาความรู้บ้าง  พูดอะไรออกไปลูกหลานจะได้เชื่อถือ อินเตอร์เนตถ้าใช้เป็นก็จะดี เพราะมีทั้งความรู้และเรื่องสนุกสนาน  แต่ระวังอย่าติดเน็ตตอนแก่  จะเสียคน

การทำงานก็เช่นกัน คนที่มีกิจการส่วนตัวก็ทำไป แต่อย่าหักโหมให้มาก ส่วนคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน พ้นวัยทำงานแล้ว ก็ควรหางานทำบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นการทำงานเพื่อเงิน  แต่ทำเพื่อไม่ให้ชีวิตฟุ้งซ่าน  ทำงานอะไรก็ได้ตามที่ชอบ ที่อยากทำซึ่งเมื่อก่อนไม่มีเวลาทำ  หากไม่รู้จะทำอะไร ก็ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านก็ยังดี

ส่วนการทำบุญ แน่นอนว่าทำให้รู้สึกดีๆกับตนเองและคนรอบข้าง  การนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมใครที่ไม่เคยก็น่าจะลอง  เพราะทำให้จิตใจสงบนิ่ง

อย่างไรก็ตาม  การจะเล่น เรียน ทำงาน หรือทำบุญ จะต้องคำนึงถึงวัย และบุคลิกภาพของตน  อย่าให้เกินกำลัง และที่สำคัญต้องทำอย่างสมดุล แล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น

เชื่อไม่เชื่อก็น่าจะลอง ไม่เสียหายอะไรไม่ใช่หรือ
                                        ----------------------------------------
                                                                สาระคำ

คอร์รัปชั่นเชิงนโบาย  หมายถึง  ผู้กำหนดนโบายมีผลประโยชน์ทับซ้อน และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่  หรืออำนาจที่ได้รับมอบหมายเป็นเครื่องมือ  อาจไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม
                                                   ---------------------------

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเมืองที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่ต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง  พลเมืองได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาค  มีความเป็นธรรมในสังคม  และจะต้องไม่สร้างความหลงเชื่อในสิ่งที่ไร้เหตุผล หรือบิดเบือนอุดมการณ์ ปัญหาด้านการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ความรู้พื้นฐานทางการเมืองของประชาชน  ประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และความสนใจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้นำซึ่งเป็นคนส่วนน้อย  ที่ได้รับอำนาจมาโดยการรับมรดกตกทอด  หรือโดยใช้กำลัง  หรือโดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ หรือได้อำนาจมาโดยวิธีการทุจริต  หรืออำนาจอื่นใดที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม  ชนชั้นนำเหล่านี้ มักใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก  มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม  เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ลักษณะทางการเมืองการปกครองลักษณะนี้  ทำให้ประชาชนบางส่วนถูกกีดกัน เกิดการผูกขาดตัดตอน  ประชาชนต้องรับภาระในด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างไร้เหตุผล

การลอกเลียนแบบระบบการเมืองจากต่างประเทศ   ชนชั้นนำของประเทศมีความเชื่อว่า  ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยแสดงถึงความทันสมัย  เป็นการแสดงถึงวิวัฒนาการของระบอบการเมือง ประกอบกับประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น  สื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้น   ทำให้คนจำนวนมากมีส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศมากขึ้น  จึงได้เลียนแบบระบบการเมืองของประเทศที่มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงมาใช้  โดยไม่สนใจว่าคนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบการเมืองนั้นๆหรือไม่ จึงได้นักการเมืองที่ขาดอุดมการณ์ ที่นำอุมการณ์ประชาธิปไตยมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประโยชน์ตน เครือญาติ และพรรคพวก หนังสือพิมพิมพ์ขาดความรับผิดชอบ มีการเขียนข่าวโดยขาดความเป็นธรรม  รัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน  ต้องมีการเลือกตั้งบ่อยๆ ทำให้นโยบายของรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง เศรษฐกิจชงักงันเพราะไม่มีใครกล้าลงทุน

การใช้อำนาจทางการเมือง   เนื่องจากผู้นำทางการเมืองไม่ได้อำนาจมาด้วยการสนับสนุนของประชาชนอย่างสุจริต มีการทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เมื่อมีอำนาจทางกาเมือง  มักจะใช้อำนาจของตนไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในทางทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง  ผลประโยชน์จึงตกแก่ตนและพรรคพวกมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ มีการเบียดบังงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการฉ้อฉลเบียดบังเงินของรัฐและเอกชนนำไปสู่ปัญหาตามมา 2 ประการ คือ  ผู้นำทางการเมืองมักมีผลประโยชน์ในบางบริษัทร่วมกับเอกชน การทำงานจึงพะวงในการหาผลประโยชน์ มากว่าที่จะทำเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจทางเมืองมักจะใช้อำนาจปกป้องคุ้มครองธุรกิจที่ตนมีหุ้นส่วน หรือที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้ตนอยู่  เกิดการผูกขาดแอบแฝง ทำให้ไม่มีการแข่งขันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือการลดต้นทุนการผลิต  ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ไม่เป็นธรรม คนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางการเมืองจะได้เปรียบ ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้เสียประโยชน์

ความมีเสถียรภาพทางการเมือง  เนื่องจากการเมืองขาดเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารประเทศบ่อยครั้ง  ทำให้การบริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง  เมื่อมีผู้นำใหม่ขึ้นมา ก็คิดโครงการใหม่ขึ้นมาแทนที่ผู้นำคนก่อน โครงการเดิมถูกโละทิ้ง ทั้งๆที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ  นอกจากนั้น มีการบิดเบือนเป้าหมายของการพัฒนา เพื่อประโยชน์ตนและผู้นำทางการเมืองอีกด้วย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และนำไปสู้การทุจริตฉ้อฉล

การตัดสินใจของผู้นำทางการเมือง  เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรจำกัด  การตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองจึงมีความสำคัญ  การตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การตัดสินใจเพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง  การตัดสินใจที่เป็นไปตามความเห็นส่วนตัวของผู้นำทางการเมืองโดยไม่อาศัยหลักวิชา  ทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมในที่สุด

 ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การเมืองมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  หากประเทศได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ  และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว  ไม่ลุ่มๆดอนๆอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
                                               ---------------------------------
                                                              สาระคิด 

บางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องถามตัวเองบ้างเหมือนกันว่า  นักการเมืองที่พวกท่านปกป้องคุมครองอยู่ มีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองหรือไม่
                                                    -------------------------  

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รูปแบบของระบบการเมือง

การเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องของรัฐ  อำนาจ และการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  การเมืองเป็นกระบวนการของการใช้อำนาจ  ซึ่งเป็นอิทธิพลเหนือความคิดและพฤติกรรมของคนอื่น  ผลที่ตามมาคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

อริสโตเติลนักปราชญ์ชาวกรีก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองโดยธรรมชาติ  การเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึี่่่่งในสังคมนุษย์              และเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนไปตามลักษณะของสังคมนั้นๆ   ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในเรื่องอำนาจของระบบการเมืองแต่ละระบบจะไม่เหมือนกัน  บางระบบรัฐบาลมีอำนาจมาก  บางระบบประชาฃนมีส่วนอย่างกว้างขวางในการเลือกผู้ปกครอง  ความแตกต่างเช่นนี้  ทำให้สามารถแบ่งประเภทของระบบการเมืองออกได้เป็นรูปแบบต่างๆตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ได้เป็น 2 ระบบ คือระบบการเมืองแบบเผด็จการ และระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย

ระบบเผด็จการ เป็นระบบการเมืองที่ปกครองโดยคนกลุ่มน้อย เป็นระบบการเมืองที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น

ระบบการเมืองแบบอภิชนหรือแบบอภิชนาธิปไตย  เป็นการปกครองโดยชนชั้นนำ  ซึ่งมีสถานะภาพทางสังคมสูง ที่มีสมบัติและมีอำนาจทางการเมือง  เป็นระบบการเมืองของอังกฤษในศตวรรษ ที่ 18 และ 19

ระบการเมืองแบบคณาธิปไตย เป็นการปกครองโดยคนกลุ่มน้อย  ซึ่งอาจเป็นการปกครองโดยคณะทหาร  หรือการปกครองโดยมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ระบอบคณาธิปไตยแตกต่างจากอภิชนาธิปไตย ในแง่ที่ว่า  คณาธิปไตยเป็นการปกครองของคนกลุ่มน้อยที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชนชั้นสูง  แต่อาจเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้อำนาจทางการเมือง  โดยวิธีการต่างๆ  ระบบการเมืองแบบนี้มีอยู่ในประเทศลาติน
อเมริกา และบางประเทศในแอฟริกาและเอเซีย

ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม เป็นระบบการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ในการกำหนดนโยบาย  และผู้ปกครองประเทศไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง   หากมีพรรคการเมืองก็ปราศจากอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง

ระบบการเมืองแบบเผด็จการ  คล้ายคลึงกับแบบอำนาจนิยมมากและมักใช้แทนกันเสมอ  เป็นการปกครองที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง  หรือมีอิทธิพลทางการเมือง  เป็นการปกครองที่เน้นที่ตัวผูนำ ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือกลุ่มคน  โดยเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความฉลาดเพียงพอ

ระบบการเมืองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ  เป็นการปกครองที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  ระบบพรรคเดียวที่เห็นชัดก็คือ ระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ผูกขาดอำนาจทางการเมือง  เป็นระบบการเมืองที่ใช้อำนาจเผด็การอย่างกว้างขวาง  ใช้อำนาจเข้าไปดูแลทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นให้ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์ของรัฐ  และทุกคนจะต้องจะต้องดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับอุดมการณ์นั้น

อย่างไรก็ตามระบบเผด็จการดังกล่าวนี้ บางระบบเลือนหายไปบ้าง  บางระบบก็มีการแปลงรูปหรือซ่อนรูปในแบบประชาธิปไตย  ที่ใช้องค์ประกอบแต่เพียงการเลือกตั้ง  หรือประเทศคอมมิวต์บางประเทศที่ยอมให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจภายใต้การชี้นำของรัฐบาล

ระบการเมืองแบบประชาธิปไตย  เป็ระบบการเมืองที่ปกครองโดยคนส่วนมาก  เป็นระบบการเมืองที่ประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เป็นผู้กำหนดผู้ปกครองและนโยบายของรัฐบาล  โดยส่วนใหญ่แล้วใช้วิธีการเลือกตั้ง  ซึ่งเป็นไปโดยเสรีและเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และให้มีการหมุนเวียนผู้ที่เป็นรัฐบาล  เพื่อมิให้ผูกขาดอำนาจนานเกินไป  องค์ประกอบสำคัญๆของประชาธิปไตยที่เป็นระบบการเมือง คือการเลือกตั้ง  เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน  หลักการปกครองโดยกฎหมาย และการใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์แต่ต้องฟังเสียงข้างน้อย

 เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของระบบการเมืองรูปแบบต่างๆแล้ว ชวนให้สงสัยว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบใดกันแน่  เพราะแม้แต่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นป้ายหาเสียงว่า "ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ" ยังได้รับการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาล  หรือว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ฉลาดเพียงพอ  ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายตามระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
                                   --------------------------------------------------------------
                                                                 สาระคิด 

ใครก็ตามที่เลือกจะขี่หลังเสือ  ย่อมรู้ตัวดีอยู่แล้วว่า  พวกเขาจะต้องจบชีวิตลงในท้องเสืออย่างแน่นอน

                                                                             คำกล่าวของอินเดียโบราณ
                                                    ------------------------------------


วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ระบบการศึกษา

ถ้ามองการศึกษาในเชิงระบบ (System Approach)  จะเห็นว่าระบบการศึกษาประกอบด้วย

ปัจจัยป้อน เป็นส่วนของระบบการศึกษาที่เป็นวัตถุดิบ  เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตทางการศึกษา ปัจจัยป้อนของระบบการศึกษา  ประกอบด้วย ผู้เรียน ครูหรือผู้สอน อาคารเรียน ห้องเรียน สื่อ วัสดุเพื่อการเรียนรู้ งบประมาณ ผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

กระบวนการ เป็นส่วนของระบบการศึกษา  ที่ทำหน้าที่ดำเนินการเอาปัจจัยป้อน มาจัดกระทำให้เกิดผลผลิตตามวัตถุประสงค์  ส่วนที่เป็นกระบวนการ  ประกอบด้วย การเรียนการสอน  การพัฒนาสื่อการเรียน ตารางสอน กิจกรรม การวัดและการประเมินผล  การจัดการ การควบคุมคุณภาพ การวิจัย เป็นต้น

 ส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็นกระบวนการ  จัดเป็นปัจจัยการผลิตของระบบการศึกษา

ผลผลิต  เป็นส่วนของระบบ ที่เป็นผลได้จากการกระทำของระบบการศึกษา  ส่วนที่เป็นผลผลิต เป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ  และมีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้  คือมีคุณสมบัติเหมาะสม ในฐานะที่เป็นบุคคล  สมาชิกในครอบครัว  ผู้ทำงานในระบบเศรษฐกิจ  สมาชิกของชุมชน ผู้สืบทอดวัฒนธรรม และเป็นสมาชิกของชุมชนโลก

จะเห็นว่า ผลผลิตของระบบการศึกษา จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต คือส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็น
กระบวนการ  ถ้าส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็นกระบวนการมีคุณภาพ ผลผลิตคือผู้จบการศึกษา จะมีคุณภาพด้วย  ในทำนองเดียวกัน การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาจะต้องแก้ปัญหาที่ปัจจัยการผลิตของระบบการศึกษาเป็นสำคัญ  จึงจะเรียกว่าแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

จากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ภูมิหลังทางครอบครัวและปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นตัวกำหนด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่สำคัญกว่าตัวแปรภายในโรงเรียน  ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จะสัมพันธ์กับตำราเรียนมากกว่าตัวแปรอื่นๆ

ผลการวิจัยนี้อธิบายได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการศึกษา ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาในแต่ละประเทศย่อมจะแตกต่างกันด้วย   การพยายามที่จะเอาอย่างการจัดการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว  นอกจากไม่อาจสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาได้อีกด้วย

ปัจจุบันนี้ มีการวิพากย์วิจารณ์  ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ ด้อยกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ ก็ควรรับฟัง และหากจะแก้ปัญหาอย่างจริง จะต้องเริ่มที่การตรวจสอบ วิเคราะห์ปัจจัยการผลิตทางการศึกษา แล้วแก้ไขในสิ่งที่พบว่ายังบกพร่องอยู่  มากกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยการเสาะแสวงหาว่า ประเทศอื่นๆเขาจัดการศึกษาอย่างไร แล้วไปลอกเลียนเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทย   เพราะการทำเช่นนั้นไม่อาจแก้ปัญหาคุณภาพของการศึกษาไทยได้
                                    ----------------------------------------------------
                                                               สาระคิด

คนที่ไม่ได้ทำงานเพราะรัก  แต่ทำเพื่อเงิน มักจะไม่สามารถสร้างเงิน และความสุขในชีวิตได้มากนัก

                                                                            Charles Schwab
                                                  ----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รูปแบบการศึกษา

เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องจัดการให้คนในสังคม ได้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพที่จำเป็น  เพื่อประโยชน์ของตนเองและสังคม  ซึ่งวิธีการที่คนในสังคมจะได้ความรู้  ทักษะ และสมรรภาพดังกล่าวนั้น มีหลายวิธี  มีหลายกระบวนการ มีทั้งที่จัดเป็นรูปองค์กรเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยเฉพาะ ก็มี หรือเรียนรู้เอาจากสภาวะแวดล้อม หรือสื่อต่างๆโดยทางอ้อม ก็มี รูปแบบการศึกษาสามารถ จำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

การศึกษาในระบบ (Formal Education)  เป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน วิทยาลัย  และมหาวิทยาลัย  เป็นรูปแบบการศึกษาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะ  เป็นรูปแบบการศึกษาที่มีการกำหนดอายุ มีการเรียนเต็มเวลา  มีการแบ่งการเรียนออกเป็นระดับชั้นต่างๆ โดยมุ่งสู่การได้รับประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร หรือวุฒิบัตรอื่นๆ  เป็นรูปแบบการศึกษาเพื่อคนหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่  ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามรูปแบบนี้สามารถวัดได้ และผู้จบการศึกษาจะมีลักษณะคล้ายๆกัน

ปกติเมื่อพูดถึงการศึกษา คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการศึกษาในระบบนี่เอง  เพราะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ เป็นเครื่องมือในการสร้างชนชั้นนำ เป็นตัวกำหนดความมั่งคั่ง สถานภาพ และอำนาจ  อย่างไรก็ตาม  การศึกษานั้นมีทั้งพลังสร้างสรรค์และพลังทำลาย  จึงเป็นไปได้ที่การศึกษาในระบบจะสร้างลักษณะที่ไม่ดี ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคม

การศึกษานอกระบบ (Informal Education)  เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถือเอาความยืดหยุ่นเป็นสำคัญ  เป็นการศึกษาระบบเปิด ที่จัดการศึกษาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องการรับเข้าเรียน หลักสูตร สถานที่เรียน วิธีสอน และระยะเวลา เป็นการศึกษาที่สร้าง ความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบนั้น มีองค์กรที่รับผิดชอบหลายองค์กรทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชน ค่าใช้จ่าย ผู้เรียน และผู้จบการศึกษา ไม่อาจกำหนดได้แน่นอน บ้างก็เตรียมคนเพื่อการประกอบอาชีพ  บ้างก็เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาสที่พลาดโอกาสจากการการศึกษาในระบบ  ตลอดจนช่วยแก้ไขความผิดพลาดที่การศึกษาในระบบสร้างขึ้น

มีความเข้าใจผิดว่า การศึกษานอกระบบเป็นการศึกษาสำหรับคนจน คนด้อยโอกาส หรือเหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ความเป็นจริง ประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีโปรแกรมและกิจกรรมของการศึกษานอกระบบอย่างกว้างขวางและหลากหลาย  ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม  และเทคโนโลยี

การศึกษาแบบปกติวิสัย(Informal Edcation) หรือการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการศึกษาไม่มีระบบ เป็นกระบวนการศึกษาตลอดชีวิต เป็นการศึกษาที่เป็นอิทธิพลจากทางบ้าน สังคม  สื่อต่างๆ ภาพยนต์ และองค์กรอื่นๆโดยทางอ้อม  บางครั้งก็รับไปโดยไม่รู้ตัว เป็นรูปแบบการศึกษาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งแม้จะไม่ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็ตาม  ทั้งนี้ เพราะการศึกษาแบบปกติวิสัย ช่วยสร้างสม เจตคดิ
ค่านิยม ทักษะ  ความรู้และ ประสบการณ์ที่ได้ในชีวิตประจำวันแต่ละวันนั่นเอง

การศึกษาทั้ง 3 รูปแบบนี้ มีความเหมือนกันและต่างกัน  สำหรับความแตกต่างระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ กับการศึกษาแบบปกติวิสับนั้น จะเห็นได้จากการจัดองค์กรและลักษณะการเรียนรู้ ส่วนการศึกษาแบบปกติวิสัยนั้น จัดขึ้นโดยไม่มุ่งให้เกิการเรียนรู้เฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เป็ผลพลอยได้  เป็นการรับการศึกษาโดยทางอ้อม ส่วนการจัดองค์กรนั้น การศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ มีการจัดองค์กรและกำหนดทิศทางอย่างมีเป้าหมาย  เป็นการจัดการศึกษาแบบตั้งใจ  ส่วนการศึกษาแบบปกติวิสัยนั้นส่วนมากไม่มีการจัดองค์กรที่ชัดเจน  และเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้

มีอย่างไรก็ตาม   เมื่อดูจากรูปแบบของการศึกษาแล้วจะพบว่า สมาชิกในสังคมทุกคนล้วนได้รับการศึกษา เพียงแต่ว่าเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือเป็นการศึกษาแบบปกติวิสัย  แต่ละรูปแบบมีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด รูปแบบเหล่านี้ มีทั้งส่วนที่ทำให้สมบูรณ์ มีส่วนที่ส่งเสริม และมีส่วนที่จูงใจซึ่งกันและกัน
                                                     ---------------------------------------------

                                                                                 สาระคำ

             การเรียนรู้  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเนื่องมาจากการ มีประสบการณ์
             ความรู้  หมายถึง  ผลบวกของประสบการณ์
            ประสบการณ์  หมายถึง  ผลที่ได้จาการการสัมผัส  ด้วยอวัยวะสัมผัส
                                                                          -----------------------

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความมุ่งหมายของการศึกษา

การศึกษาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  โดยพัฒนาความสามารถที่ติดตัวมนุษย์แต่ละคน การเรียนในโรงเรียนก็ดี กระบวนการสอนก็ดี เป็นเพียงวิธีการที่จะนำไปสู่ผล  ฉะนั้น การใดที่ทำให้บุคคลมีความรู้ความสามารถ ความเข้าใจ มีทักษะ และทำให้นิสัยเปลี่ยนไปในทางที่ดีงาม ที่ถูกต้อง ที่สังคมยอมรับ ถือได้ว่าเป็นการศึกษาทั้งสิ้น

การศึกษาก็เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆของมนุษย์ ที่จะต้องมีความมุ่งหมาย   บางครั้งความมุ่งหมายการศึกษาแสดงออกในลักษณะที่คลุมเครือ กว้างขวาง และเป็นนามธรรม  บางครั้งมีลักษณะเป็นคำแถลงการณ์  บางครั้งก็เป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความมุ่งหมายจะมีลักษณะอย่างไร ย่อมจะชี้นำทางการศึกษาทั้งสิ้น
 
โดยปกติประเทศต่างๆ  จะกำหนดความมุ่งหมายเป็นประเด็นกว้างๆ ดังนี้

ด้านบุคคล  การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาอำนาจ  และความสามารถภายในของบุคคล

ด้านเศรษฐกิจ  การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนา ความรู้ ทักษะ  ของแต่ละบุคคล ให้สามารถมีบทบาทที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในฐานะผู้ประกอบอาชีพ

ด้านสังคมและจริยธรรม  การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาค่านิยม  และเจตคติ  อันจะก่อให้เกิดความซื่อสัตย์ และการมีส่วนร่วมอย่างมีความรับผิดชอบต่อชีวิตและสังคม

ด้านการเมือง การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาความรู้สึก  ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ  และสร้างความสำนึกในหน้าที่ต่อส่วนรวม

จากประสบการณ์ของธนาคารโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนทางการศึกษา มานานหลายทศวรรษ พบว่าการศึกษาช่วยสนองตอบความมุ่งหมายต่อไปนี้

            1. สนองความต้องการขั้นพื้นฐานด้านความรู้ของมนุษย์  ช่วยให้มนุษย์มีเครื่องมือและวิธีการ  ที่จะช่วยสนองความต้องการด้านอื่นๆ   ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา

            2. การศึกษาทำให้มีกำลังคนที่มีทักษะที่จำเป็น เพื่อการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจด้านต่างๆ การศึกษาช่วยให้มีวิธีการพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถนะในการผลิตของกำลังแรงงาน  เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเจตคติที่ทันสมัย  และเป็นบุคคลที่มีความหวัง

           3. การศึกษากำหนดรายได้ของบุคคลในปัจจุบัน ช่วยกระจายรายได้และการจ้างงานในอนาคต  ในทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ระดับมัธยมศึกษา ระดับช่างเทคนิคหรืออุดมศึกษาเท่านั้่นที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ  แต่การศึกษาในระดับประถมศึกษา การศึกษานอกระบบ ตลอดจนการฝึกอบรมล้วนมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสิ้น

           4. การศึกษามีอิทธิพลต่อสวัสดิการสังคม  มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ อัตราการเกิด ความยืนยาวของอายุ  ตลอดจนช่วยเพิ่มกำไรในการลงทุนทางสังคม  และทางกายภาพในรูปแบบอื่นๆ

 สรุปได้ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคน มีความมุ่งหมาย เพื่อประโยชน์ของบุคคล  เศรษฐกิจ  สังคม และการเมือง 
                                                   --------------------------------------
                                                                     สาระคำ
การลงทุนทางการศึกษา  เป็นการมองการศึกษาในแง่เศรษฐกิจ โดยถือว่าการศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่ลงทุนไปแล้วได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด  และคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
                                                                ------------------

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของการศึกษา

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปถึงความสำคัญของการศึกษา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ในฐานะที่เป็นเครื่องมือและกระบวนการในการพัฒนามนุษย์  จอห์น เ้อฟ เคนเนดี้ (John F Kennedy) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ได้เคยกล่าวว่า "อารยธรรมเป็นการแข่งขันระหว่างการศึกษากับความหายนะ(Civilization is a race between education and catastrophe)" ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างชัดเจน ทุกวันนี้การศึกษาจึงเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์  การศึกษาเป็นสิ่งหนึ่งในจำนวนสิ่งต่างๆในโลก  ที่ได้รับการยอมรับกันในกลุ่มชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ดี ไพร่ คนรวย หรือคนจน หรือกลุ่มคนที่ประสบความล้มเหลวจากกระบวนการศึกษา

ในส่วนของบุคคล  การศึกษามีบทบาทสำคัญในลักษณะต่อไปนี้

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถ  ความเจริญก้าวหน้า  ช่วยนำเอาศักยภาพและสิ่งที่ซ่อนเร้นในตัวบุคคลออกมา  ช่วยเพิ่มลักษระของมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

การศึกษามีภาะรหน้าที่และบทบาทโดยตรง ในการที่จะต่อสู้กับความโง่เขลาเบาปัญญาของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีทางเลือกในการแก้ปัญหา เพื่อสนองความต้องการ

การศึกษาทำให้มนุษย์ได้ความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคดิ ที่ทำให้เขาเป็นเจ้านายตัวเอง สามารถควบคุมพลังและกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

การศึกษาช่วยให้มนุษย์มีโอกาสก้าวพ้นจากความยากจนค่นแค้น ด้วยการสร้างทัศนคติ ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ

การศึกษามีความสัมพันธ์กับความก้าวหน้า สัมพันธ์กับการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น หลุดพ้นจากการครอบงำของประเพณีดั้งเดิม  ไปสู่การดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่ดีกว่า

การศึกษาเป็นบันไดไปสู่การเลื่อนชั้น เลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคล  เลื่อนจากจากชาวบ้านธรรมดาเป็นชนชั้นปกครอง  เป็นสมาชิกของชนชั้นนำ มีอำนาจทั้งทางด้า่นเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนสถานะทางสังคมของบุคคลที่สำคัญ

การศึกษาช่วยให้มนุษย์ได้ประโยชน์จาการใช้เทคโนโลยี ในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความสุขสบายในชีวิต

ในส่วนของสังคม  การศึกษามีบทบาทสำคัญในลักษณะต่อไปนี้

การศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐาน ในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม  เป็นตัวแปรหลักในการกำหนดรูปแบบของสังคม

การศึกษามีบทบาท และสร้างพลัง  ในการพัฒนาการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

การศึกษาสร้างค่านิยมที่มีอิทธิพลในการทำงาน การร่วมมือกัน ตลอดจนความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

การศึกษาเป็นเครื่องมือปลูกฝังปรัชญาชนชั้น ปรัชญาการเมือง ที่มีอิทธิพลเหนือระบบการเมืองการปกครองของประเทศ  ตลอดจนดำรงค่านิยม ทัศนคติ และวัฒนธรรมของชาติ

การศึกษาช่วยดำรงรูปแบบของสังคม วิธีการปกครองบ้านเมือง    ไม่ว่าจะเป็นการปกครองรูปแบบใด ทุกสังคมย่อมใช้ประโยชน์จากการศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อการนี้ทั้งสิ้น

การศึกษาช่วยในการรวมคน หรือเผ่าพันธุ์ต่างๆ เข้าเป็นชาติเดียวกัน เพราะมนุษย์ำไม่อาจรวมเป็นชาติได้  หากคนเหล่านั้นไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา  สามารถสรุปได้ว่า   การศึกษาเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์ หากขาดการศึกษา ความเป็นมนุษย์ก็จะขาดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
                                       --------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

                   การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัยากรมนุษย์
                                                 -----------------------------------

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฐมบทเรื่องการศึกษา

การศึกษามีมานานนับตั้งแต่เริ่มมีสังคมมนุษย์ แต่ในระยะเริ่มแรก   การศึกษาเป็นแบบง่ายๆ  มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้รู้จักการดำรงชีวิต ความอยู่รอดปลอดภัย และการดำรงอยู่ของหมู่คณะ  เนื้อหาที่นำมาอบรมสั่งสอนส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ ความรู้ที่จะแสวงหาและใช้ปัจจัยสี่  อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค  เป็นการศึกษาที่จัดให้กับสมาชิกใหม่ของสังคมนั้นๆ   คือเด็กและเยาวชน  ทั้งนี้  เพื่อช่วยตระเตรียมสมาชิกใหม่เหล่านั้น ให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ  หรือสมาชิกเก่าได้อย่างดี

ในระยะแรกที่ไม่มีสถาบันการศึกษา   การถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรมและทักษะที่จำเป็น จะทำผ่านสถาบันอื่นๆในสังคม  อันได้แก่  สถาบันครอบครัว  และสถาบันศาสนา  และเมื่อสภาวะทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป  สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น  มีความจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์กับสังคมอื่นๆมากขึ้น เกิดแรงผลักดันให้เกิดสถาบันทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา  เพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยเฉพาะ
สถาับันที่ว่านี้ คือสถาบันการศึกษา  อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาก็ไม่ได้เกิดในทุกสังคมพร้อมๆกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละสังคม

สถาบันการศึกษาในสมัยแรก  เป็นกิจกรรมของกลุ่มผู้นำของสังคม เป็นอภิสิทธิ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง  เื้นื้อหาสาระของการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ศาสนา ปรัชญา วรรณคดี และวัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ จุดเน้นอยู่ที่ความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของตน
 
ต่อมา เมื่อเริ่มมีการขยายการจัดการศึกษาให้กว้างขึ้น จึงจะเปิดโอกาสให้แก่คนนอกแวดวงผู้นำ  แต่ก็มีกฎเกณฑ์มากมาย  เพื่อกลั่นกรองบุคคลให้เข้าสู่ระบบจำนวนแต่น้อย  และเมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไป  จึงได้ทำให้มีการศึกษาสำหรับคนธรรมดาสามัญขึ้น

ปัจจุบัน  ระบบการศึกษาได้มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์  การศึกษากลายเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่สุด  ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในด้านต่างๆ

ต่อคำถามที่ว่า การศึกษาคืออะไร เนื่องจากการศึกษามีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ความหมายของการศึกษาจึงกว้างมากและยากที่จะให้นิยามได้ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการด้านต่างๆ  ได้ให้ความหมายการศึกษา ดังนี้

ดิวดี้ (Dewey)  นักการศึกษาชาวอเมริกัน ให้ความหมายว่า การศึกษา  คือความเจริญงอกงาม เป็นความเจริญเติบโต ทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยมีทิศทางไปในทางที่สังคมปรารถนา

ไนเยเรเร (Nyerere) อดีตประธานาธิบดีของแทนซาเนีย ให้ความหมายการศึกษาว่า การศึกษา คือการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรก็ได้  ที่ช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เรามีชีวิตอยู่   และวิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนและใช้สภาพแวดล้อม  เพื่อปรับปรุงตัวเอง  และการศึกษาจะต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในพลเมืองแต่ละคน 3 ประการคือ (1) มีจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น (2) มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากคนอื่น (3) เป็นสมาชิกที่เท่าเทียมกันของสังคม

ชูลท์ซ (Schultz)  นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน  ให้ความหมายการศึกษาว่า  การศึกษา  คือกิจกรรมในการเรียนการสอนและการเรียนรู้  ที่ทำให้เกิดความสามารถที่มีประโยชน์  สำหรับความสามารถที่มีประโยชน์นั้น ชูลท์ซ อธิบายว่า หมายถึง ความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

สปินเลอร์ (Spindler)  นักมานุษยวิทยา มีความเห็นว่า การศึกษา คือกระบวนการถ่าทอดวัฒนธรรม  ซึ่งประกอบด้วยความชำนาญด้านต่างๆ  ความรู้  ทัศนคติ  ค่านิยม  และรูปแบบของพฤติกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี นักการศึกษาของไทย ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ห้า อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้

เมื่อประมวลความหมายของนักวิชาการสาขาต่างๆดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง  เสริมสร้าง  และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่า  ให้กับสมาชิกของสังคม  เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา
                                         ------------------------------------------------------
                                                                     สาระคิด

           บ้านเมืองวุ่นวาย  เพราะผู้มีอำนาจใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตน  โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

                                                           -------------------------------
           

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

เห็นจะยอมรับความจริงกันได้แล้วว่า  ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเสื้อสี ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ แม้แต่ปัญหานักเรียนตีกัน ล้วนแต่ปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งมีสา่เหตุมาจากการเมือง  เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจ เป็นเรื่องการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  ที่ใดมีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ที่นั่นมีการเมือง  ในครอบครัวก็มีการเมือง ในโรงเรียนก็มีการเมือง มีการรวมกลุ่มกันเมื่อไรเมื่อนั้นก็มีการเมือง

แน่นอนว่า การสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่กรรมการสมาคมฟุตบอล  ก็เป็นการแสวงหาอำนาจทางการเมือง เพื่อจะใช้อำนาจหรือมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ  จัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคมทั้งสิ้น

สิ่งที่มีคุณค่านี้ หมายถึงสิ่งที่คนในสังคมต้องการ อาจจะเป็นตำแหน่งหน้าที่การงาน งบประมาณ บริการสาธารณะสุข ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ  การจ่ายเบี้ยยังชีพ ให้ผู้สูงอายุ  ให้คนพิการ ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี หรือการจำนำข้าว ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่  ก็เป็นการใช้อำนาจทางการเมือง  เป็นผลของการตัดสินใจทางการเมืองทั้งสิ้น

จะเห็นว่าการเมืองนั้น เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของพลเมืองทุกคน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  เมื่อเป็นเช่นนี้ การแสวงหาอำนาจทางการเมือง  การต่อสู้ทางการเมือง  เพื่อใช้อำนาจทางการเมืองจึงเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม

แต่ละครั้งที่มีการแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง จึงมีการต่อสู้อย่างจริงจัง มีการโฆษณาหาเสียง  แสดงถึงว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์  ตั้งใจจะรับใช้ประชา ชน  ซึ่งก็พอจะรับได้  ถึงแม้อุดมการณ์นั้นจะไม่ชัดเจน หรือจำเนื้อหามาจากหนังสือปรัชญาทางการเมือง ก็ตาม แต่ก็มีอีกพวกหนึ่ง  แสวงหาอำนาจโดยใช้วิธีการซื้อเสียง กล่าวร้ายป้ายสี ใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานา เพื่อให้ได้ตำแหน่งทางการเมือง  พวกนี้รับได้ยาก แต่นักการเมืองพวกนี้ก็มีมากอยู่

จะเห็นว่าตำแหน่งทางการเมืองนั้น  มีทั้งพวกที่ได้มาโดยสุจริต  และพวกที่ได้มาโดยใช้วิธีการทุจริต   แน่นอนว่าหากได้ตำแหน่งทางการเมืองโดยสุจริต ไม่ฉ้อฉล  ก็มีความชอบธรรมในการที่จะจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม ในทางกลับกัน หากได้อำนาจมาด้วยวิธีการซื้อเสียง ทุจริตฉ้อฉล จะอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจได้ยาก

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว มักจะอ้างความชอบธรรมว่า ตนเข้าสู่ตำแหน่งตามวิถีทางประชาธิปไตย  ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยเสียงข้างมาก จึงมักจะทำอะไรก็ได้ ที่ตนอยากจะทำ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน

ความจริงความชอบธรรมนั้น  นอกจากจะเกิดจากการได้ตำแหน่งโดยสุจริตแล้ว ยังจะต้องใช้อำนาจโดยสุจริตด้วย  การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จะอ้างความชอบธรรมไม่ได้

ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยนั้นผลประโยชน์ของประชาชนต้องเป็นใหญ่ นักการเมืองที่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง  นอกจะไม่ชอบธรรมแล้ว  ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย 

การใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยทำนองคลองธรรมของนักการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความวุ่นวายทางสังคม ส่งผลกระทบต่อการดำิเนีิินชีวิตของคุนไทยทุกคน

แต่ก็มีคนไทยส่วนหนึ่ง ที่ยังคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง  คนที่ไม่ใช่นักการเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง  ปล่อยให้การเมืองแก้ปัญหาด้วยนักการเมือง เป็นการฝากชะตากรรมของตนและของประเทศไว้กับนักการเมือง และนักการเมืองส่วนใหญ่ก็เชื่อย่างนั้น

การวางเฉยทางการเมือง หรือการไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง  หากถือคติอย่างนี้ต่อไป ปัญหาต่างๆจะยิ่งหนักขึ้นและมากขึ้น จนยากที่จะแก้ไข

จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว  ที่คนไทยจะต้องคิดว่า  การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียว  ทุกคนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเริ่มตั้งแต่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง พูดคุยประเด็นทางการเมือง ชักชวนคนอื่นให้เลือกผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นคนดี เป็นคนดีที่สามรถอธิบายได้ เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ผลักดันการตัดสินใจของรัฐบาล ตลอดจนเสนอตัวทำงานทางการเมือง  แต่จะร่วมในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การติดตามข่าวสารทางการเมือง ทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จะต้องระลึกไว้เสมอว่าสื่อทั้งหลายเป็นธุรกิจ จะต้องเขียนหรือพูด หรือวิจารณ์ในเรื่องที่ไม่กระทบกับธุรกิจที่ตนทำอยู่  จึงมีสื่อเลือกฝ่ายมากมายทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์  ยิ่งวิทยุชุมชนยิ่งไปกันใหญ่  ทุกวันนี้วิทยุชุมชนส่วนหนึ่งกลายเป็นแหล่งปลุกระดมเสื้อสีต่างๆ อย่างชัดเจน จึงต้องใช้ดุลยพินิจในการรับฟังข่าวสารทางการเมืองจากสื่อเหล่านั้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นกระบอกเสียงของนักการเมือง เป็นสาวกของเสื้อสีต่างๆโดยไม่รู้ตัว

หากมีเวลา จึงควรติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับ โทรทัศน์หลายๆช่อง วิทยุหลายๆคลื่น

การเข้าร่วมกิจกรรมทางเมืองแม้จะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน  แต่จะต้องคำนึงถึงกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาของสังคมประกอบด้วย  มิฉะนั้น ภาวะไร้ระเบียบทางสังคมจะเกิดขึ้น และมีผลทำให้เกิดความหายนะในทุกระบบของประเทศในที่สุด 
                                                 ------------------------------------------
                                                                    สาระคิด

                ให้คนถามว่าทำไมไม่ได้เป็นรัฐมนตรี  ดีกว่าให้คนถามว่าทำไมถึงได้เป็นรัฐมนตรี

                                                                                           นิรนาม
                                                        ---------------------------------

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชีวิตที่พอดี:ตอน 2

ในตอนก่อนได้กล่าวถึงเรื่องชีวิตที่พอดี โดยเน้นที่การกระทำหรือพฤติกรรมของคนเรา ว่าจะทำอะไรให้นึกถึงความพอดี คือไม่มากหรือน้อยเกินไป ชีวิตก็จะดำเนินไปได้อย่างปกติสุข และพอดีได้เจอบทความเรื่อง "ความสุขอยู่ที่รู้ว่าความพอดีอยู่ที่ไหน" ซึ่งเขียนโดย "กาแฟดำ" เห็นว่าสอดคล้องกับเรื่อง"ชีวิตที่พอดี" ที่เขียนไว้เป็นตอนแรก  จึงขออนุญาตมาเล่าสู่กันฟัง

กาแฟดำบอกว่าเรื่องที่เขียนได้อ้างอิงจากหนังสือ "เต๋าแห่งสุขภาพ:ปาฏิหารริย์แห่งการฟังร่างกายอยู่เสมอ"  ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการดูแลชีวิต ตามวิถีธรรมชาติด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนโบราณ  เป็นความพอดีที่เน้นเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ  มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

หากโกรธเกินไปมีผลต่อตับ ทำให้เลือดทั้งร่างกายสับสน

หากเศร้าโศกเกินไปจะมีผลต่อปอด ทำให้เจ็บหน้าอก และระบบหายใจกับผิวหนังผิดปกติ

หากสนุกสนานมากเหินไป  จะทำให้หัวใจอ่อนแอ เกิดโรคหัวใจได้

หากกลัวเกินไปทำให้พลังใจเหือดหาย กระดูกสันหลังเสื่อม ระบบกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะเพศได้รับผลกระทบกระเทือน

หากคิดมากเกินไป  จะทำให้ความแจ่มใจของสมองเสื่อมคลาย

หากพูดมากเกินไป  จะทำให้เปลืองพลัง  ทำให้หมดเรี่ยวแรงเอาง่ายๆ

หากจมอยู่กับอดีตมากเกินไป  จะทำให้พลังชีวิตเสื่อมถอย  ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไร

หากรีบเร่งมากเกินไป  จะทำให้ร่างกายสึกหรอเร็วขึ้น

หากนินทาว่าร้ายคนอื่นมากเกินไป  จะทำให้นิสัยและรูปลักษณ์หม่นหมองขุ่นมัวอยู่เป็นอาจิณ

หากพักผ่อนมากเกินไป จะทำลายความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

หากยึดติดกับสิ่งใดหรือเรื่องใดมากเกินไป จะตกอยู่ในสภาพเสพติด แล้วจะกลายเป็นทาสของสิ่งนั้น ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง

หากมีความปรารถนามากเกินไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งรวมทั้งกิจกรรมทางเพศ  จะทำให้สมอง
และจิตวิญญาณสังสนและเสื่อมถอย

นั่นคือ  ความพอดีทั้งความคิดและการกระทำ เป็นวิถีชีวิตที่นำไปสู่ความสุข หากมากหรือน้อยเกินไป จะทำให้ชีวิตเสียสมดุล นำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน
                                     -----------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

ความพอดีเป็นที่ตั้งแห่งชีวิต  ความรอดตาย ความสงบสุข  ทุกคนจงสนใจเรื่องความพอดี  อย่าทำอะไรชนิดที่มันเกินพอดี  แต่เพราะเรามันโง่  มันจึงยากที่จะรู้ว่าอะไรพอดี

                                                                                          พุทธทาสภิกขุ
                                                 ------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชีวิตที่พอดี

ความพอดี หมายถึงความไม่มากไม่น้อยเกินไป  การกระทำใดๆแม้จะเป็นการกระทำที่ดี หากมากหรือน้อยเกินไป สามารถจะก่อให้เกิดปัญหาได้  ไม่เป็นปัญหาของตนก็เป็นปัญหากับคนรอบข้าง

ความพอดีนั้น จะแตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล  แตกต่างไปตาม อายุ สุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานภาพทางสังคม เด็กวัยรุ่นฉลองปีใหม่ตั้งแต่กลางวันยันสว่างก็นับว่าอยู่ในขั้นพอดี  ไม่มีปัญหา แต่ผู้สูงวัยหากทำเยี่ยงเด็กวัยรุ่น ถือว่าเกินพอดี เพราะอาจจะวูบเอาได้

การดำเนินชีวิตโดยขาดความพอดี จะก่อให้ปัญหา ไม่ช้าก็เร็ว  การกระทำหลายๆอย่าง ที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่หากไม่พอดีจะทำให้เกิดปัญหาได้

การพักผ่อน  เป็นเรื่องที่ดี ยิ่งสูงวัยยิ่งควรพักผ่อนให้มาก เพราะครูเคยสอนว่าการพักผ่อนทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กลับดีขึ้น แต่หากพักผ่อนน้อยเกินไป จะมีผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง ในทำนองเดียวกันหากพักผ่อนมากเกินไป  จะดูเป็นคนขี้เกียจ   เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับคนอื่น และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน

การใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบ  เป็นสิ่งที่ดี ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เป็นความเรียบง่ายของชีวิต แต่หากปลีกวิเวกจนเกินพอดี ไม่ยอมพบปะสังสรรค์กับคนรอบข้าง  เพื่อนฝูง  ก็จะกลายเป็นคนเก็บตัว คนอื่นยากที่จะเข้าถึง  อาจนำไปสู่ชีวิตที่ห่อเหี่ยวเงียบเหงา  แต่คนที่อยู่เงียบๆไม่เป็น ก็สร้างความวุ่นวายได้ ก่อให้เกิดปัญหาพอกัน

ความสนุกสนาน  เป็นสิ่งที่ใครๆปรารถนา เพราะก่อให้เกิดความสุขทั้งกับตนเองและคนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนคนที่ไม่มีอารมณ์ขัน หัวเราะไม่เป็น จะสร้างความตึงเครียดให้กับตนเองและครอบครัว  ในขณะเดียวกัน หากสนุกสนานมากเกินไป จะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ   ก่อให้เกิดความรำคาญและสร้างความเจ็บปวดให้กับคนอื่นได้

ความสุขอันเกิดจาการสัมผัส อันได้แก่ การกอด จูบ ลูบ คลำ การนวด และการถูกนวด ก็เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์  ทำให้มีชีวิตชีวา  แต่หากมากเกินไป ก็จะกลายเป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในโลกีย์วิสัย

การติดในรสชาติของอาหาร  เป็นเรื่องที่ดีทำให้เจริญอาหาร  การเบื่ออาหารแสดงถึงความผิดปกติไม่ทางกายก็จิตใจ แต่หากติดในรสอาหารมากเกินไป จะกลายเป็นตะกละ แม้จะไม่ถึงขั้นตะกละ  ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดภาวะอึดอัดได้  การติดในรสชาติของอาหาร อาจนำไปสู่การจุกจิกจู้จี้ในเรื่องการกินอยู่ และอาจเกิดโทษหากติดในรสชาติอาหารที่ไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ

นักวิทยาศาสตร์การอาหารบอกว่า การกินอาหารที่หลากหลายเป็นสิ่งดี แม้รสชาติจะไม่ถูกปาก แต่ได้สารอาหารครบถ้วน

การนับถือตนเอง  ซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่ดี ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีค่า  ผู้ที่นับถือตนเองน้อยเกินไป จะรู้สึกเป็นคนไร้ค่า เป็นคนใจน้อย แต่หากนับถือตนเองมากเกินไป จะกลายเป็นคนถือดี หยิ่ง ฟังคนอื่นไม่เป็น

ความระมัดระวังรอบคอบ ทำให้ไม่เกิดความผิดพลาด คนที่ไม่รู้จักระมัดระวังเป็นคนสะเพร่า ซุ่มซ่าม แต่หากระมัดระวังเกินเหตุ  จะกลายเป็นความวิตกกังวล ซึ่งเป็นความกลัวชนิดหนึ่ง  ที่จะนำไปสู่อาการทางประสาทได้  นอกจากนั้น การระมัดระวังมากเกินเป็น อาจทำให้เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ เป็นคนสมบูรณ์แบบ ผิดเล็กผิดหน่อยก็ไม่ได้

ความรัก ฝรั่งบอกว่าความรักทำให้โลกหมุน  คนที่มีความรัก โลกจะสดใสเป็นสีชมพู คนที่รักใครไม่เป็นจะรักตนเองไม่เป็นเช่นกัน แต่หากรักมากเกินไปจะเกิดอาการปกป้องเกินเหตุ  ความเมตตากรุณาก็เป็นเรื่องที่ดี  มีน้อยก็กลายเป็นคนใจร้าย  แต่หากมากเกินไป จะทำให้คนรอบข้างมองไม่เห็นความสำคัญของตน

การถือหลักความพอดี จะทำให้การดำเนินชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบราบรื่น    เป็นเรื่ิองจำเป็นสำำหรับคนทุกเพศทุกวัย 

อย่างไรก็ตาม หลักความพอดี ไม่อาจใช้กับการกระทำที่ทุจริต ไม่ว่าจะทุจริตมากหรือน้อย ก็ไม่ควรทำ เพราะจะนำพาชีวิตไปสู่ความหายนะไม่ช้าก็เร็ว
                                  -------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                             จงให้ความหวังแก่ตัวเอง แต่อย่ามองข้ามความจริง

                                                                    Sir Winston Churchill
                                               ---------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การบริหารจัดการกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

การบริหารจัดการในภาครัฐ มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การบริหารจัดการที่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้  จะต้องเป็นการบริหารจัดการที่ใช้หลักธรรมาภิบาล  เป็นการบริหารจัดการที่ใช้หลักคุณธรรม  หลักนิติธรรม  หลักความโปร่งใส  หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ซึ่งเป็นหลักที่ใช้ในการบริหารจัดการอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก  สำหรับการแก้ไขปรับปรุงไปสู่การบริหารที่ดีตามหลักธรรมมาภิบาลนั้น สามารถดำเนินการดังนี้

การบริหารจัดการ  จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดของการบริหารจัดการ ในลักษณะต่อไปนี้ กล่าวคือ

            1. ปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้ประชาชนทั่วไป มีสิทธิตรวจสอบการบริหารได้มากขึ้น และเป็นการตรวจสอบที่มีได้ทุกระดับ  โดยให้ข้าราชการหรือนักการเมืองผู้มีอำนาจทำงานโดยรับผิดชอบต่อประชาชน ประชาชนสามรถตรวจสอบได้ การตรวจสอบของประชาชนจะช่วยแก้ปัญหาได้มากขึ้น

            2. ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานในการบริการประชาชนให้น้อยลง  มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

            3. สร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ไม่ให้ถูกรังแกและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ส่วนนักการเมืองผู้มีอำนาจที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ได้รับการยกย่ิองสรรเสริญจากสังคมจนเป็นที่ประจักษ์

            4. การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นไปตามหลักคุณธรรม เลิกระบบพวกพ้องญาติมิตร ตลอดจนระบบอุปถัมภ์ ให้คนดีมีความสามารถ ได้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่

กฎหมาย   กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญของการบริหารจัดการ ให้มีประสิทธิผล  ใช้ในการควบคุมความประพฤติ  ของข้าราชการและนักการเมืองผู้มีอำนาจ  ให้ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและการพัฒนาประเทศ ในการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น จะต้องกระทำในลักษณะต่อไปนี้

            1. ใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอและทั่วหน้ากัน  ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองผู้มีอำนาจเคยชินกับการทำงาน  ที่ยึดหลักกฎหมาย กลายเป็นนิสัยการเคารพกฎหมาย  ปฏิบัติงานโดยยึดกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกัน  หากไม่มีการใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอ เลือกปฏิบัติ   ใช้เฉพาะกับบางกลุ่มบางคน ทำให้เกิดอภิสิทธิ์  เกิดการเอาอย่าง  และพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย ในที่สุดกฎหมายก็ไม่เป็นกฎหมายอีกต่อไป

            2. กฎหมายที่เกี่ยวกับกับการปราบปรามคอร์รัปชั่น จะต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง และไม่มีอายุความ โดยถือว่าการคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายประเทศ  ทำลายสถาบันต่างๆทางสังคม

            3. กระบวนการดำเนินการตามกฎหมาย   มีความรัดกุมและง่ายต่อการปฏิบัติ ที่จะทำให้คนทำผิดได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว  อาจมีศาลสถิตย์ยุติธรรมที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ เป็นศาลที่มีวิธีการและการดำเนินการพิจารณาแตกต่างไปจากศาลสถิตย์ยุติธรรมอื่นๆ

การเมือง  อำนาจทางการเมืองมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น  อาจกล่าวได้ว่าถ้านักการเมืองเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่คอร์รัปชั่น  การคอร์รัปชั่นจะมีน้อยหรือไม่มีเลย  การเมืองที่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น จะต้อง

             1. มีความมั่นคงทางการเมือง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยเกินไป    และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ความมั่นคงทางการเมืองทำให้ประชาชนและข้าราชการเข้าใจในหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย  เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ และพร้อมที่จะรักษาสิทธิและทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ  ความมั่นคงทางการเมืองทำให้นักการเมืองผู้มีอำนาจและข้าราชการมุ่งมั่นที่จะทำงานโดยไม่รอการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เป็นตามกระบวนการประชาธิปไตย  ซึ่งแน่นอนว่าประชาธิปไตยนั้น สามาถตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานทั้งของนักการเมืองและข้าราชการได้

             2. มีการเลือกตั้งที่สุจริต  การทุจริตในการเลือกตั้ง นำไปสู่การทุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน นักการเมืองที่ได้อำนาจมาด้วยการทุจริตฉ้อฉล ด้วยการซื้อเสียง  เกือบทั้งหมดจะคอร์รัปชั่นเพื่อถอนทุนคืน อาจจะทำด้วยตนเอง หรือผ่านลูกน้องบริวาร

             3. นัการเมืองทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ในการทำงานใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เพราะถ้านักการเมืองไม่คอร์รัปชั่น  ข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะถือเอาเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการลดลงด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมา   เป็นเพียงแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ส่วนจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ  นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ว่ามีความจริงจังในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น   มากน้อยเพียงใด
                                                  ----------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                                 ผู้นำที่ดีต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ตาม
                                                               ----------------------------


วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาอบรมกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่ร้ายแรง  ที่ทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆำไม่สามารถก้าวหน้าไปได้อย่างอย่างมีประสิทธิผล หรือในการพัฒนาบางเรื่องทำให้เกิดความถดถอยอันเกิดจาการคอร์รัปชั่นก็มีให้เห็นในสังคมไทย  การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจึงต้องใช้ทั้งวิธีป้องกันและปราบปรามอย่างแท้จริง  ต้องหาทางแก้ที่สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่น  จึงจะทำให้การคอร์รัปชั่นเบาบางหรือหมดไปจากสังคมไทยได้

แนวทางแรกที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น คือการศึกษาอบรม ซึ่งเป็นกระบวนการทางสังคม ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่า ให้กับสมาชิกในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

สังคมต้องการสมาชิกแบบไหน กระบวนการทางการศึกษาอบรม ก็จะต้องพัฒนาให้สมาชิกในสังคมมีลักษณะแบบนั้น หากจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะต้องทำให้คนในสังคมไม่มีลักษณะที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่น

เรามักเข้าใจว่าการศึกษาอบรมเป็นเรื่องของสถาบันการศึกษา  แต่ความจริงแล้วครอบครัวมีบทบาทในการสร้างลักษณะต่างๆได้ไม่แพ้สถาบันการศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะทางจริยธรรมและคุณธรรม ฉะนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจะต้องเริ่มให้การศึกษาตั้งแต่ครอบครัว จนถึงการศึกษาในระบบ

การศึกษาอบรมที่สร้างคนในสังคม  ให้มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ควรอบรมสั่งสอนในลักษณะดังต่อไปนี้

           1. เป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ คือมีความรู้เพียงพอเพียงพอ ที่จะประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือตนเอง เพราะเมื่อทุกคนมีอาชีพช่วยเหลือตนเองได้แล้ว  ภาระที่เคยตกอยู่กับคนหนึ่ีงคนใดก็เฉลี่ยกันไป   ข้าราชการที่เคยรับภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัวก็จะหมดภาระไป  การคิดหาทางคอร์รัปชั่นเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวก็จะหมดไปหรือเบาบางลงได้

           2. เปลี่ยนความเชื่อ ค่านิยม และลักษณะประจำชาติบางประการเสียใหม่  ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ค่านิยม และลักษณะบางประการในสังคม เช่น การยกย่องความดีของคนจากฐานะทางการเงิน ความเชื่อว่างานที่ใช้แรงงานเป็นงานต่ำ การไม่รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การประหยัดเงินที่หามาได้ไม่เป็นสิ่งจะต้องทำ ฯลฯ ในขณะเดียวกันจะต้องสร้างความเชื่อที่ว่าการคอร์รัปชั่นเป็นความชั่วร้ายที่บ่อนทำลายประเทศชาติ การคอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายยิ่งกว่าอาชญากรรมใดๆ  ที่จะต้องกำจัดให้หมดไป  ตัดสินความดีของคนจากคุณธรรมที่เขาประพฤติปฏิบัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ยกย่องบุคคลที่สร้างฐานะของตนด้วยวิธีการอันทุจริตฉ้อฉล  ในการทำงานจะต้องเชื่อว่า งานที่สุจริตทุกชนิดเป็นงานที่มีเกียรติ อย่ามุ่งแต่เลือกงานเบา งานในสำนักงาน  การเรียนการสอน จะต้องสอนให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์  อย่าให้เป็นคนที่เชื่อตามคนอื่นง่ายๆ ชักจูงได้ง่ายๆ

           3. สร้างคุณธรรมและจริธรรมขึ้นมาใหม่  เป็นคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม โดยเฉพาะจริธรรมด้านความซื่อสัตยสุจริต ให้เป็นแนวปฏิบัติของคนในสังคม ที่จะก่อให้เกิดระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่นำไปสู่การใช้หลักธรรมาภิบาล ในการบริหารทั้งภาครัฐและเอกชน

           4. สร้างความเป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลเมืองที่เข้าใจว่าตนเองในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม  มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร  ไม่ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองหรือบุคคลอื่น มีความเชื่อมั่นในตนเองว่าตนเองมีส่วนในการป้องกันและปราบรามการ
ทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมได้

การเสริมสร้างลักษณะดังกล่าวนี้   ครอบครัวจะต้องไม่บ่มเพาะนิสัยทุจจริต  สถาบันการศึกษาจะต้องไม่เป็นแหล่งการเรียนรู้  วิธีการทุจริตฉ้อฉลเพื่อความสำเร็จส่วนตน  หากทำได้เชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไปจากสังคมไทยแน่นอน
                                    ---------------------------------------------

                                                            สาระคิด 

                       เผชิญกับอันตรายครั้งเดียว   ดีกว่าต้องกลัวอย่างไม่สิ้นสุด

                                                                      นิรนาม
                                               -------------------------------

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่นในสังคมไทย:อุปสรรคในการแก้ปัญหา

ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย  ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคดังต่อไปนี้

ความเชื่อและค่านิยมในสังคม   มีคำพูดเป็นที่ประจักษ์ในสังคมทั่วไปว่า เป็นข้าราชการถ้าไม่โกงก็ไม่รวย  ใครทำงานตามอุดมคติกลายเป็นคนโง่  ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสข้าราชการส่วนมากจึงคอร์รัปชั่น เพื่อจะได้เป็นคนมีฐานะเป็นที่ยอมรับในสังคม  สังเกตได้จากคนจำนวนมากที่อยากที่จะเข้าทำงานเป็น ตำรวจ ข้าราชการ กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมสรรพากร และ กรมศุลกากร   ทั้งที่ ทำงานในกรมอื่นก็มีโอกาสก้าวหน้าในวงราชการเท่าเทียมกันหรือก้าวหน้าได้เร็วกว่าด้วยซ้ำไป  และหากเป็นนักการเมือง มีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี ก็เลือกที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการ  กระะทรวงคมนาคม  กระทรวงพาณิชย์ หรือ กระทรวงการคลัง  ซึ่งความเชื่อและค่านิยมที่มุ่งความร่ำรวย โดยขาดความสำนึกชั่วดีในลักษณะดังกล่าว เป็นอุปรรคอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

การศึกษา การเรียนการสอนในโรงเรียน ส่วนใหญ่ครูสอนให้จำ  ไม่สอนให้รู้จักคิด หาเหตุผลด้วยตนเอง ทำให้คนที่จบการศึกษา มองเหตุการณ์ต่างด้วยสายตาที่สั้น ชักจูงง่าย เข้าใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม  เข้าใจสิ่งที่เห็นด้วยตามากกว่าที่จะเห็นจากความคิด  เห็นเรื่องปัจุจบันมากกว่าอนาคต เห็นใครร่ำรวยแม้จากการคอร์รัปชั่นก็ชื่นชมยินดี  ว่าเป็นคนมีบุญมีวาสนา ไม่ได้เห็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ต้องละอาย จับได้ไล่ทันก็แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆว่าโดนกลั่นแกล้ง  สุดท้ายเมื่อไม่มีทางออกที่ดีกว่า ก็รับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าใครๆก็คอร์รัปชั่น

ลักษณะทางสังคม  สังคมไทยเป็นสังคมพรรคพวก  เป็นสังคมเครือญาติ  เมื่อทำผิดก็ช่วยเหลือกัน เพื่อให้หลุดพ้นจากโทษที่จะได้รับ  จนเป็นที่สังเกตว่าใครก็ตามที่ประกาศว่า  ทำเพื่อชาติเพื่อประชาชนบ่อยๆ จนติดปาก  มักจะคอร์รัปชั่นมากที่สุด  และสามารถอยู่ในสังคมอย่างผู้มีเกียรติ ใครๆก็ยกย่อง จะเห็นว่าในบางจังหวัดศาลได้ตัดสินแล้วว่าพ่อมีความผิดฐานคอร์รัปชั่น แต่บรรดาลูกๆ ตลอดวงศาคณาญาติ ต่างก็มีตำแหน่งใหญ่โต ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้เป็นนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น   มีบางตระกูลถูกกล่าวหาว่าโคตรโกง หรือโกงทั้งโคตร แต่ไม่เห็นคนในตระกูลนั้นฟ้องร้องหรือแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด  กลับมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาปกป้องด้วยซ้าไป  แสดงว่าการคอร์ชั่นในสังคมไทยเป็นเรื่องที่สังคมรับได้ ใครโดนจับได้ถือว่าเป็นกรรมของผู้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่สังคมจะต้องตั้งข้อรังเกียจ

ผู้มีอำนาจทางการเมือง   นักการเมืองไทยส่วนใหญ่มักถูกครหาว่า มีอำนาจทางการเมืองขึ้นมาได้  เพราะการทุจริตในการเลือกตั้ง  มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันอย่างกว้างขวาง  แน่นอนว่าคนที่ได้อำนาจทางการเมืองด้วยการกระทำที่ทุจริต  จะต้องมีการถอนทุนคืนด้วยการคอร์รัปชั่น จึงไม่แปลกที่นักการเมืองหลายคนที่ได้รับการเลือกตั้งไม่กี่สมัย มีฐานะร่ำรวยขึ้นเห็นได้ชัดเจน   แน่นอนว่าเมื่อนักการเมืองผู้มีอำนาจคอร์รัปชั่นเสียเอง  การปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  หรือถ้าจะปราบก็ปราบฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าไปเจอพรรคพวกคอร์รัปชั่น ก็มีการช่วยเหลือกันด้วยวิธีการต่างๆ จนหลุดพ้นคดี

อุปสรรคดังกล่าวนี้  หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย
                                      -------------------------------------------------
                                                            สาระคิด

                                   นักการเมืองคำนึงถึงแต่การเลือกตั้งครั้งต่อไป
                                    รัฐบุรุษคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไป

                                                                                        Clark
                                                  -------------------------------