วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

การทำงานกับการพัฒนา

การทำงานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา เพราะการทำงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนบุคคล สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ดังรายละเอียดที่แสดงถึงความสำคัญของการทำงานที่มีต่อการพัฒนาดังต่อไปนี้

การทำงานเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการที่จะพัฒนาบุคคลและสังคม ถ้าคนยิ่งมีความสนใจที่จะทำงานมากขึ้นเท่าใด ไม่เพียงแต่จะมีสมรรถภาพในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น แต่จะยิ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย

เพราะการทำงานทำให้เกิดผลผลิต สังคมใดสมาชิกในสังคมทำงานหนัก สังคมนั้นจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาจึงอยู่ที่การทำงานของคน เพราะการทำงานของคน  ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  และการสะสมทุน  นอกจากนั้น การทำงานยังทำให้เกิดองค์การทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ

ประเทศที่พัฒนาในด้านต่างๆ จะประกอบด้วยคนส่วนใหญ่ที่มีความขยันขันแข็งในการทำงาน ในสังคมพัฒนา คนส่วนมากจะมีสมรรถภาพและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง  มีทัศนคติที่ไม่ล้าหลัง เป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย มีความรู้ความชำนาญในหน้าที่การงาน ตลอดจนมีค่านิยมที่เหมาะสม เช่น นิยมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยไม่คำนึงว่างานที่ทำนั้นเหมาะสมกับเกียรติของตนหรือไม่

สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างตัวอย่างประเทศที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การทำงานด้วยความขยันขันแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวหน้ากว่าประเทศที่ประกอบด้วยคนที่ไม่ค่อยจริงจังกับการทำงาน

ส่วนในสังคมด้อยพัฒนา มักจะประกอบด้วยคนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสังคมที่พัฒนา คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน  เห็นว่าการทำงานไม่ใช่สิ่งจำเป็น ขาดระเบียบวินัย ไม่รู้คุณค่าของเวลา ฯลฯ เช่น พวกมองโกเลีย ผู้หญิงเท่านั้นที่ทำงานหนัก ส่วนผู้ชายจะใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการดื่มน้ำชา และพูดคุยกับเพื่อนฝูง คนไทย คนเขมร และคนลาว ชอบการมีอิสระ ไม่ชอบการทำงาน

จากการวิจัยของนักสังคมศาสตร์ ชื่อ แมรี ดักลาส (Mary Douglas) สรุปได้ว่า การมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน มีผลทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

แมรี ดักลาสได้ศึกษาวิจัยคนสองเผ่าในทวีปแอฟริกา คือเผ่าเลเล (Lele) และเผ่าบูชอง (Bushong) โดยทั้งสองเผ่าอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ใกล้เคียงกัน  โดยมีถิ่นฐานอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำเคไซ (Kasai River)

จากการศึกษาพบว่าทั้งสองเผ่ามีความแตกต่างในระดับการพัฒนามาก คือ เผ่าเลเลนั้นมีความยากจนอย่างเห็นได้ชัด แต่เผ่าบูชองมีระบบเศรษฐกิจที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างดี มีทรัพย์สินมากมาย แมรี ดักลาส สรุปว่า ลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันของคนสองเผ่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให่ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองเผ่าแตกต่างกันออกไป

เผ่าบูชอง ถือหลักเสมอภาคทางเพศ ชายหญิงเท่าเทียมกัน มีการแบ่งงานกันทำอย่างมีระบบ นิยมการทำงานที่เพิ่มผลผลิตให้แก่สังคม มีการแข่งขันกัน การมีทรัพย์สินมากถือว่าเป็นของดี เพราะทรัพย์สินนำไปสู่การมีอำนาจ

ส่วนเผ่าเลเลผู้ชายที่มีอายุเลยวัยกลางคนเล็กน้อย(อายุ 56 ปีขึ้นไป) จะได้รับประโยชน์จากสังคมมากมาย โดยไม่ต้องทำงาน มีภรรยาและลูกเขยทำงานแทน หญิงชาวเลเลต้องทำงานหนักกว่าชาย งานที่ทำได้แก่ งานบ้าน งานเกษตรกรรม หาของป่า ตักน้ำ เป็นต้น ผู้ชายชาวเลเลจะแต่งงานได้ต่อเมื่ออายุเกิน 30 ปี เมื่อแต่งงานแล้วจึงจะเริ่มสร้างครอบครัวและทำงานเกษตรกรรม ซึ่งเป็นงานที่เพิ่มผลผลิตให้แก่สังคม แต่ชาวเลเลก็ไม่นิยมทำงานเกษตร เพราะเห็นว่าเป็นงานที่มีเกียรติน้อยกว่าการล่าสัตว์  แต่เกษตรกรรมเป็นงานที่จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีอะไรจะกิน จึงจำใจต้องทำ โดยทำเพียงปีละครั้ง ผลผลิตจึงได้น้อย ไม่พอกับความต้องการของคนในเผ่า ความอดอยากจึงเกิดขึ้น

กรณีของประเทศมาเลเซีย ก็แสดงให้เห็นเช่นเดียวกันว่า การมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้สมาชิกในกลุ่มสังคมเดียวกันนั้น มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่างกัน คือ ประเทศมาเลเซียประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีเชื้อสายต่างกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีเชื้อสายมาเลย์ จีน และอินเดีย คนเชื้อสายมาเลย์เป็นคนพื้นเมืองเดิม ส่วนคนจีนและคนอินเดียเพิ่งจะอพยพเข้ามาในตอนหลัง คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ ต่างก็ทำงานอยู่ในสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆเหมือนๆกัน แต่เนื่องจากการมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกัน ผลจึงปรากฎว่า แทนที่จะเป็นคนมาเลย์ กลับเป็นคนจีนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปัจจุบัน

จากตัวอย่างจะเห็นว่า ความสำเร็จของการพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมหัศจรรย์ หรืออำนาจลึกลับอะไรทั้งสิ้น หากขึ้นอยู่กับพลังการทำงานของคนส่วนใหญ่ในสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 นั่นคือ การทำงานนอกจากจะเป็นการกระทำที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์แล้ว ยังเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้า่นต่างๆอีกด้วย
---------------------------------------------------------------------------------

                                               สาระคำ

การทำงานของมนุษย์แตกต่างไปจากการกระทำตามสัญชาตญาณของสัตว์ การทำงานของมนุษย์นั้นจะมีผลิตผลปรากฎในสมองก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ

                                                                  John W. Donahue
******************************************************

วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

การทำงานกับการสร้างสัมพันธภาพทางสังคมของมนุษย์

คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า การทำงานมีบทบาทสำคัญเฉพาะบทบาททางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพราะการทำงานก่อให้เกิดผลผลิตทั้งสินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการการบริโภคของมนุษย์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานไม่ได้มีบทบาทแค่การผลิตสินค้าและบริการ แต่การทำงานมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์หลายๆด้านรวมทั้งด้านสังคม และเป็นบทบาทที่สำคัญไม่น้อยกว่าบทบาททางเศรษฐกิจ

ส่วนที่ว่าการทำงานมีบทบาทสร้างสัมพันธภาพทางสังคมของมนุษย์อย่างไรนั้น ประการแรกจะต้องเข้าใจว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม การได้พบปะกับบุคคลอื่น ที่ได้จากการทำงานในลักษณะต่างๆ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ทำให้บุคคลสามารถสร้างสัมพันธภาพทางสังคมได้เป็นอย่างดี

การทำงาน สถานที่ทำงานเป็นสถานที่ที่ช่วยให้บุคคลได้พบปะสนทนากับบุคคลหลากหลาย สร้างความเป็นมิตรต่อกัน แลกเปลี่ยนทักษะและความรู้กันและกัน

การทำงาน สถานที่ทำงานเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการประเมินผลตนเอง ช่วยให้มนุษย์รู้ถึงสมรรถวิสัยของตน เป็นสถานที่ที่ช่วยให้บุคคลได้รู้ว่าตนเองอยู่ระดับไหน ทำงานได้ดีหรือไม่ ประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว ซึ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่้งกำหนดว่ามนุษย์มีค่าหรือไม่เพียงใด

การทำงาน รูปแบบของการทำงานเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ทำงานและครอบครัว เช่น สังคมอเมริกันซึ่งเป็นสังคมอุตสาหกรรม อาชีพของบิดาจะเป็นตัวกำหนดสถานภาพทางสังคมที่สำคัญ เป็นตัวกำหนดชนชั้นของครอบครัวและที่อยู่อาศัย กำหนดสถานทีที่บุตรจะต้องเรียนหนังสือ และยังกำหนดว่าใครเป็นกลุ่มบุคคลที่ครอบครัวควรจะติดต่อสัมพันธ์ด้วย

การทำงาน ช่วยสร้างกฎเกณฑ์ให้แก่ชีวิต สร้างรูปแบบของชีวิต ช่วยกำหนดจังหวะ และแนวทางการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน และแต่ละปี ถ้าบุคคลปราศจากรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม บุคคลจะเกิดความสับสนในการใช้เวลา

การทำงาน ทำให้โลกมีระเบียบ มีโครงสร้างที่แน่นอน การไม่มีงานทำหรือการไม่ทำงาน ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะการมีเวลาว่างเท่านั้น แต่หมายถึงว่าบุคคลกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่มีระเบียบ เป็นภาวะที่ไม่สามารถวางแผน เป็นภาวะที่ไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้ได้

การทำงาน ช่วยให้มนุษย์รู้จักตัดสินใจที่จะทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมได้สำเร็จ และยังเป็นตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการร่วมมือกันอย่างเด่นชัด และการทำงานยังช่วยให้มนุษย์รู้จักตัดสินใจ

การทำงาน อัตราที่บุคคลอุทิศตนทำงาน ถูกมองว่ามีส่วนทำให้คนมีศีลธรรมสูงขึ้น เป็นส่วนที่บอกให้ทราบถึงค่านิยมทางคุณธรรม และมีส่วนในการพัฒนามนุษย์ให้มีลักษณะที่แข็งแกร่ง

จากที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า การทำงานเป็นรากฐานของชีวิตสังคม เป็นเหตุและปัจจัยให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ต่อกัน และถ้าปราศจากการทำงานความเจริญต่างๆ ในแทบทุกมิติของสังคมมนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
---------------------------------------------------------------------------------

                                       สาระคิด

การทำงานเป็นวิธีการสำคัญที่มนุษย์จะเอาชนะและควบคุมธรรมชาติ

                                                      Walter S. Neff
******************************************************

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

หน้าที่ของการศึกษา

การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม มีหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่พึงปรารถนา

หากจะมองลึกลงไปถึงรายละเอียด จะพบว่าการศึกษามีหน้าที่ดังต่อไปนี้

          1. พัฒนาความรู้และสติปัญญาของคนในสังคม ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูงยิ่งขึ้น

          2. ช่วยให้คนสามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          3. ทำหน้าที่เตรียมสมาชิกที่ดีให้แก่สังคม ตามที่สังคมพึงปรารถนา

          4. ช่วยพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคล เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างปกติสุข และมีประสิทธิภาพทางอาชีพการงาน

          5. ช่วยในการเตรียมกำลังคนหรือกำลังแรงงาน ให้สอดคล้องกับงานในสาขาต่างๆ ตามที่สังคมและประเทศชาติต้องการ

          6. ปลูกฝังความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และอุดมการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ตามความประสงค์ของสังคมนั้นๆ

          7. สร้างกลุ่มพลังทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกสรร ชนชั้นนำ ชนชั้นสูง หรือ ชนชั้นปกครองของประเทศ

          8. สร้างค่านิยม ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนในชาติ ที่มีต่อการทำงาน การร่วมมือกัน และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน

          9. ให้การฝึกอบรมแก่บุคคลให้รู้จักคุณค่าของตนเอง เกิดความประจักษ์ใจแก่ตนเองว่า ตนรู้อะไร สันทัดอะไร และถ้าจะเลือกประกอบอาชีพ จะเลือกประกอบอาชีพประเภทใด การศึกษาจะต้องฝึกอบรมให้มีทัศนคติพื้นฐาน ความคิด และพฤติกรรม ที่เหมาะสมกับอาชีพนั้นๆพอสมควร

          10. สร้างคุณภาพทางปัญญา โดยพยามให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาเข้าใจในความหมายของการมีชีวิตอยู่ในสังคม ในขณะเดียวกันก็สามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อื่นๆ

หน้าที่ของการศึกษาที่กล่าวมานี้ อาจจะมีเนื้อหาสาระแตกต่างกันบ้าง ตามความแตกต่างของ ระบอบการเมือง  ระบอบเศรษฐกิจ ระบอบสังคม และระบอบวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ได้สมาชิกที่สังคมนั้นๆพึงปรารถนา
---------------------------------------------------------------------------------

                                                 สาระคิด

                               เรื่องน่าคิดเกี่ยวกับการให้ทาน:

ผลที่กำลังปรากฎ ทำให้ภิกษุซึ่งไม่มีธุระกิจอะไร ก็มีของกินของใช้ เหมือนคนที่เหน็ดเหนื่อยแทบตาย

                                                               พุทธทาสภิกขุ
*****************************************************

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

ความแตกต่างระหว่างจุดมุ่งหมายการศึกษาในระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา ฉะนั้นประเทศที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันย่อมจะมีจุดมุ่งหมายการศึกษาต่างกัน

รัฐที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย พลเมืองทุกคนมีความสำคัญ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนได้รับการศึกษาในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นต่ำ ไม่ว่าจะมีสภาพเศรษฐของบิดามารดาจะเป็นอย่างไร จะได้รับการศึกษาในลักษณะที่เท่าเทียมกัน

ในระบอบประชาธิปไตย การศึกษาจะเน้นความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลเมือง เน้นการให้เกียรติของการใช้แรงงาน การริเริ่ม ความอุตสาหะ การมีความศรัทธาในตนเองฯลฯ  การศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงมีจุดมุ่งหมายในลักษณะต่อไปนี้

          1. ผู้เรียนทุกคนควรได้รับการพัฒนาให้มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน

          2. สังคมทัศน์ของผู้เรียนควรได้รับการพัฒนา

          3. ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาความสามารถในการที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์

          4. ควรพัฒนาให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพในการที่จะกลั่นกรองเอาความถูกต้องออกจากความผิดพลาด ข้อเท็จจริงออกจากการโฆษณาชวนเชื่อ รู้จักปฏิเสธอันตราย อันเกิดจากความคลั่งไคล้และอคติ

          5. ผู้เรียนควรได้รับการฝึกอบรม ในเรื่องความมีเกียรติของการใช้แรงงาน

          6.ทุกคนควรมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน

          7. ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้เทิดทูนความยุติธรรมในสังคม โดยตระหนักถึงความชั่วร้ายของสังคมและการตักตวงเอาผลประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอกว่า

          8. ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้รู้จักรักและยอมรับคนอื่น และเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์

          9. ควรสอนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ควรพยายามสอนให้มีลักษณะเหมือนๆกัน

          10. ผู้เรียนควรได้รับการกระตุ้นให้มีการริเริ่ม รู้จักประดิษฐ์คิดค้น

          11. การศึกษาควรสร้างทางเลือกด้านอาชีพอย่างกว้างขวาง

ส่วนระบอบการปกครองเผด็จการนั้น การศึกษาจะจัดโดยรัฐและเพื่อรัฐ ครูจะต้องโฆษณาชวนเชื่อและปลูกฝังสิ่งที่ชนชั้นผู้ปกครองกำหนด ปรัชญาการศึกษาจะคล้ายๆกับทฤษฎีทางการเมือง ผู้เรียนไม่ได้รับการส่งเสริมให้รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ จุดมุ่งหมายการศึกษาในระบอบการปกครองแบบเผด็จการจึงลักษณะต่อไปนี้

          1. ผู้เรียนแต่ละคนได้รับการศึกษาอบรมเพื่อให้ยอมรับว่าประโยชน์ของตนมีความสำคัญรองจากประโยชน์ของรัฐ

          2. ผู้เรียนทุกคนจะต้องฝึกให้มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด

          3. ผู้เรียนจะต้องติดตามแนวทางที่ผู้มีอำนาจกำหนด

          4. รัฐให้ความสำคัญกับการพลศึกษาและการศึกษาอบรมเพื่อเป็นทหาร

          5. ผู้เรียนจะต้องถูกกระทำให้ตระหนักถึงค่านิยมและความสำคัญของการเชื่อฟัง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม คำว่า ประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ เป็นคำที่ดี ผู้มีอำนาจทางการเมืองแทบทุกประเทศต่างก็อ้างว่าประเทศของตนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่การจะตรวจสอบว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ อาจดูได้จากจุดมุ่งหมายการศึกษานี่เอง
---------------------------------------------------------------------------------

                                            สาระคิด

เทคโนโลยีซึ่งกำลังบูชากันนักหนา กำลังกลายเป็นเครื่องขุดหลุมฝังคน ฝังมนุษย์ ให้จมอยู่ภายใต้วัตถุนิยม
                                                                                                                                                                         พุทธทาสภิกขุ
******************************************************