วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล

โรงเรียนจะมีประสิทธิผลได้  จะต้องปัจจัยเด่นๆ  ดังต่อไปนี้

มีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ ความสามารถในการเรียนของนักเรียน  ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน  การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ง่าย  ถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ เช่น ครูดูแลนักเรียนให้เข้าชั้นเรียนตามตารางสอนที่กำหนดไว้  สิ่งอำนวยความสะดวกต่างมีความสะอาด และได้รับการซ่อมแซมเป็นอย่างดี  โรงเรียนมีห้องเรียนที่ครูปรับแต่งและได้รับความสนใจจากนักเรียน  ครูรักษาวินัยด้วยการเริ่มและเลิกสอนตรงเวลา ตลอดจนมีการประเมินการทำงานของนักเรียนเป็นระยะๆ

มีเป็าหมายที่ชัดเจนและมีความคาดหวังสูง  ความคาดหวังแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการปฏิบัติของโรงเรียน  เป้าหมายเป็นลักษณะพึงประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและตัวผู้เรียน  โรงเรียนที่มีความคาดหวังต่ำแสดงว่ามีมาตรฐานต่ำ  โรงเรียนที่มีมาตรฐานสูงแสดงว่ามีความคาดหวังสูง ฉะนั้น โรงเรียนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความหวังสูง จึงเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

มีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีสำนึกของชุมชน  โรงเรียนที่มีประสิทธิผลจะต้องมีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข็มแข็ง อุทิศเวลาให้กับการบริหาร มีความใกล้ชิดกับการเรียนการสอนของครู นอกจากนั้น  ผู้นำที่มีประสิทธิผล ยังก่อให้เกิดการร่วมมือระหว่าครูและชุมชน และการบริหารแบบมีส่วนร่วมย่อมจะมีประสิทธิผลมากกว่าแบบอัตตานิยม

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล นอกจากจะช่วยให้สามารถบรรลุพันธกิจของโรงเรียนแล้ว ยังทำให้เด็กทีจบการศึกษาออกไปมีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์อีกด้วย
             ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคำ

ประสิทธิภาพ หมายถึง  ขีดความสามารถในการผลิต  หรือการให้บริการที่สามารถลดความสูญเสีย ค่าใช้จ่าย แรงงาน หรือความพยายาม

ประสิทธิผล หมายถึง ขีดความสามารถในการบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย  ไม่เน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรมากหรือน้อย  งานที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิผลด้วย
                                        ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะคนทันสมัย

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นได้  เมื่อระบบสังคมและกระบวนการทางสังคมมีความทันสมัย และประเทศจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนา ก็ต่อเมื่อประชาชนมีทัศนคติ ค่านิยม  และความเชื่อที่ทันสมัย

สำหรับคนที่ทันสมัยนั้นจะมีคุณลักษณะดังนี้

          1. เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ

          2. มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

          3. ตระหนักถึงความหลากหลายทางทัศนคติและความคิดเห็น ตลอดจนสามารถสร้าง หรือมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองได้

          4. มีความกระตือรือร้นที่จะหาข้อเท็จจริงและข้อมูล  เพื่อเป็นพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็น

          5. เป็นคนมุ่งปัจจุบันและอนาคต

          6.มีความเชื่อว่าบุคคล  สามารถมีอิทธิพลเหนือสภาพแวดล้อมของตัวเองได้

          7. มุ่งการวางแผนระยะยาว  ทั้งในเรื่องกิจการสาธารณะและชีวิตส่วนตัว

          8. มีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า ภาวะแวดล้อม มนุษย์ และสถาบันต่างๆ  สามารถใช้เพื่อสนองความต้องการของตนได้

          9. ให้คุณค่าสูงกับทักษะทางเทคนิค  และใช้เป็นพื้นฐานในการให้รางวัล

          10. ให้คุณค่ากับการศึกษาในระบบ   และหวังจะเรียนให้สูงขึ้นเพื่อการอาชีพ

          11. นับถือศักดิ์ศรีของคนอื่น

          12. เข้าใจตรรกะที่รองรับการผลิตและอุตสาหกรรม

การเป็นคนทันสมัยยังจะต้องประกอบด้วยอีก 2 มิติ คือ

ความเป็นสากล คือ คนที่ทันสมัย  เชื่อว่ากฎหรือบรรทัดฐานทางสังคม  ควรให้ทุกคนเสมอภาคกัน โดยไม่คำนึงถึงอายุ  เพศ มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์ที่มีต่อกันเป็นส่วนตัว

การมองโลกในแง่ดี  คือ คนที่ทันสมัย จะต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี  เกี่ยวกับความสามารถที่จะควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมาย  และไม่ถูกควบคุมด้วยความเชื่อเรื่องพรหมลิขิต หรือการที่จะต้องยอมรับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

สำหรับประเทศที่ทันสมัยนั้น  ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สนใจอย่างจริงจัง  ในกิจการสาธารณะ   และปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่  ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน มากกว่าที่จะปฏิบัติต่อกันในฐานะของความเป็นญาติ  หรืออยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ส่วนสถาบันที่ทันสมัยนั้น   ต้องการบุคคลที่รักษาเวลา ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์  และตัดสินใจตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
            ------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

           การศึกษาจะต้องฝึกสอนให้คนรู้จักแก้ปัญหา  และรู้จักหาทางออกจากความทุกข์
                                                                 พระราชวรมุนี
                                           ----------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การใช้ทรัพยากรมนุษย์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ:กรณีเกาหลีใต้

ทรัพยากรมนุษย์ เป็นความรู้ ทักษะ และความสามารถของมนุษย์ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจจำแนกความหมายออกได้ดังนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสะสมทุนมนุษย์ และความมีประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรมนุษย์พัฒนาเศรษฐกิจ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นการเตรียมพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เมื่อเติบโตเป็นผู็ใหญ่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นการช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่นคง ติดยึดกับประเพณีที่ล้าหลังน้อยลง

จากความหมายทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การทรัพยากรมนุษย์นั้น  มิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

ในทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายใกล้เคียงกับ กำลังคน ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ในรูปปัจจัยการผลิต

ประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิผลที่เป็นตัวอย่างได้อย่างดี ก็คือ สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ที่มีนโยบายใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิผล จนทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะเริ่มแรก โดยเกาหลีใต้ได้ดำเนินนโยบายในลักษณะต่อไปนี้ คือ

          1. พัฒนาระบบการศึกษาอย่างดี จนประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน ตลอดจนพัฒนาให้ประชากรมีความสามารถในการบริหารจัดการและการประกอบการ

          2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออก  ที่เน้นการใช้แรงงานอย่างจริงจัง  โดยไม่สนับสนุนการผลิตที่เน้นการใช้ทุน

          3. รักษาระดับค่าจ้างและเงินเดือนของภาคเศรษฐกิจระดับกลางและภาคทันสมัย ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ

          4. ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรรมที่เน้นใช้แรงงงาน  พร้อมๆไปกับการปฏิรูปที่ดินและการทำฟาร์มขนาดเล็ก

          5. ผลิตกำลังคนที่มีการศึกษาสูง  ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2540 เกาหลีใต้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต้องเข้าโปรแกรมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund  หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อย่อว่า IMF) เช่นเดียวกับประเทศไทย

จึงสอดคล้องกับความคิดที่ว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว  

แต่จากการที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเกาหลีใต้ได้รับการพัฒนาอย่างดีดังกล่าวแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีความก้าวหน้าอย่างที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
                         -----------------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

 การศึกษาไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว  ที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ แต่ต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ควบคู่ไปด้วย
                                                 ----------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์ทางการศึกษา

การศึกษาเป็นระบบอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน เป็นระบบที่ใช้เงินภาษีมากที่สุดเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างและเงินเดือน
 
การศึกษายังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับขึ้นได้ด้วยตนเอง  การขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาทำให้เกิดแรงกดดันที่จะต้องขยายระดับมัธยมศึกษา เพิ่มผู้จบระดับมัธยมศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดอุดมศึกษามากขึ้น และเมื่อขยายระดับอุดมศึกษาทำให้เกิดบัณฑิตศึกษามากขึ้น  กลายเป็นความต้องการที่ไม่รู้จักพอ  เพราะการศึกษาทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษา
  
การศึกษายิ่งเจริญเติบโตมากเท่าไร  ประชาชนจะยิ่งต้องการการศึกษามากขึ้นเท่านั้น แต่การเจริญเติบโตทางการศึกษาแบบเดิมๆ  ทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษา เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดจากระบบการศึกษาเอง ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะ

ผลผลิตของระบบการศึกษา ในระยะแรกของการพัฒนา  เกือบทุกประเทศต่างก็ให้ความสำคัญที่การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา  เพื่อผลิตกำลังคนเป็นจำนวนมาก  แต่พบว่าการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ผลิตคนได้ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ จนเกิดปัญหาว่าจะขยายการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำอย่างรวดเร็ว  หรือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างช้าๆ  แต่พบว่า ส่วนใหญ่จะเลือกประการแรก  ที่จะจัดการศึกษาให้เด็กด้วยครูที่ไม่มีคุณภาพ  ขาดตำราเรียน และมีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมไม่เพียงพอ ทั้งนี้  เพราะเกิดจากความกดดันทางการเมืองเป็นสำคัญ

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา พบว่า แทบทุกประเทศ เด็กในเมืองมีโอกาสที่จะเรียนในโรงเรียนดีๆกว่าเด็กในชนบท  ในกรณีที่มีการเก็บค่าเล่าเรียน เด็กจากครอบคัวที่ร่ำรวยจะได้ประโยชน์กว่า ตราบใดที่การศึกษาในระบบ เป็นหนทางไปสู่ความมั่งคั่ง เกียรติยศ ชื่อเสียงและอำนาจ การศึกษาก็จะเป็นระบบสำหรับคนส่วนน้อยโดยค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่

จุดมุ่งของการศึกษา ในแทบทุกประเทศจุดมุ่งของการศึกษาไม่ชัดเจน ว่าจะจัดสอนอะไร จะเน้นเรื่องอะไร จะเรียนในสาขาใดสำคัญที่สุด โดยมากจะมุ่งจัดการศึกษาตามค่านิยม  เพราะการได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย มีผลอย่างสำคัญต่อการมีรายได้สูง มีตำแหน่งสูง ตลอดจน การมีอำนาจ  สถาบันอุดมศึกษาจึงพอใจที่จะสอนวิชาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย  และสังคมศาสตร์  มากกว่าที่จะเปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มีการผลิตแพทย์ วิศวกร  และบุคลากรเกี่ยวกับเทคนิคน้อยมาก แต่มีนักกฎหมายและนักสังคมศาสตร์มากเกินพอ  และยังพบว่า  ระดับมัธยมศึกษาเองก็ไม่สามารถเตรียมนักศึกษา  เพื่อเรียนในสาขาวิชาที่มีคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นฐานได้อีกด้วย

การจัดงบประมาณ พบว่า ประเทศกำลังแทบทุกประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เพิ่มการศึกษาในระบบมากขึ้น เพราะมีอัตราผู้เข้าเรียนเพิ่ม โดยเฉพาะแรงกดดันให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความรุนแรงมาก  มีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ  ที่จัดสรรให้ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นธรรม โดยมีการจัดสรรให้สถาบันการศึกษาในชนบทน้อยกว่าจัดให้สถาบันการศึกษาในเมือง หรือสถาบันที่มีชื่อเสียง  จนก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษา

ข้อจำกัดขององค์การและคน   ความจริงในการจัดการศึกษา ทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญมาก มากกว่าข้อจำกัดทางการเงิน การขาดครูอาจารย์และผู้บริหาร เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การศึกษาไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ จนอาจกล่าวได้ว่า การขาดครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีสมรรถนะ ทำให้ยากที่จะพัฒนาการศึกษาในยุคสารสนเทศได้

ปัญหาแลวิกฤตการณ์ทางการศึกษาที่กล่าวมานี้  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ยกเว้นระบบการศึกษาของไทย หากไม่มีการแก้ไขอย่างรีบด่วนจะนำไปสู่วิกฤตชาติอย่างแน่นอน
                  ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                     การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัพยากรมนุษย์
                                          ------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การศึกษามีหน้าที่อย่างไร

ทุกคนมีการศึกษามากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป  แต่มีน้อยคนนักที่รู้ว่าการศึกษาในฐานะที่เป็นระบบและสถาบันมีหน้าที่อย่างไร  ทุกวันนี้การศึกษาได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

ในฐานะที่เป็นระบบและสถาบันทางสังคม  การศึกษามีหน้าที่ดังต่อไปนี้

การศึกษาทำให้ชีวิตดีขึ้น  การศึกษาทำให้บุคคลได้ตระหนัก รู้จักโลก รู้จักชุมชน ตลอดจนความเป็นมนุษย์  การศึกษาถูกมองว่าเป็นสิทธิมนุษยชน  แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่เอื้อมไม่ถึงก็ตาม    การศึกษายังเป็นเครื่องคัดเลือกขนาดใหญ่  ที่กำหนดความมั่งคั่ง สถานภาพและอำนาจ เป็นพลังสำคัญในการสร้างชนชั้น   นอกจากนั้น  การศึกษายังกระตุ้นให้เกิดกำแพงปิดกั้นคนที่มีการศึกษาน้อยไม่ให้เข้าสู่กระบวนการไปสู่ความทันสมัยอีกด้วย

การศึกษาช่วยสร้างค่านิยม  การศึกษามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในชาติ ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์  การทำงาน การร่วมมือกัน การมีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งในชุมชน ประเทศ และระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ประเทศที่ยังด้อยพัฒนาอยู่  เกิดจากการมึค่านิยมที่ด้อยพัฒนา นั่นคือ  ถ้าอยากให้ประเทศพัฒนา  การศึกษาจะต้องสร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่  เป็นค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนา

การศึกษาเป็นเครื่องมือปลูกฝังระบบความเชื่อและปรัชญาทางการเมือง ระบบการศึกษาของทุกชาติทุกประเทศ  ล้วนแต่ปลูกฝังความเชื่อทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย  การศึกษาเป็นตัวการ  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองของประเทศ  เป็นตัวกำหนดความเชื่อและปรัชญาพื้นฐานทางการเมือง นั่นคือ  หากต้องให้ประเทศมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย  การศึกษาจะต้องสร้างความเชื่อและปรัชญาประชาธิปไตย ตลอดจนสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและปรัชญาประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

การศึกษาเป็นเครื่องมือการพัฒนาความรู้และสมรรถนะของคน  การศึกษาจะต้องสร้างความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่ช่วยให้บุคคลสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

หน้าที่ของการศึกษาที่กล่าวมา  สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่า การศึกษาของไทยได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ ยังขาดหน้าที่ใด  และจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์
                                     ---------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

                    ประชาธิปไตยจะพัฒนาไม่ได้  ถ้าไม่สร้างพื้นฐานประชาธิปไตยที่ถูกต้องในสถาบันการศึกษา
                                                         -----------------------------------

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ระบบวัฒนธรรม

วัฒนธรรม  หมายถึง  วิถีการดำเนินนชีวิตของคนในสังคมหนึ่งๆ  อันเกิดจาการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังตนอีกรุ่นหนึ่ง  วัฒนธรรมเป็นระบบที่มีการจัดการและมีความกลมกลืนกันระบบหนึ่ง

นักวิชาการได้แบ่งระบบวัฒนธรรมออกเป็น 3 ระบบย่อย ดังนี้

ระบบเทคโนโลยี ประกอบด้วย  เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุ จักรกล ตลอดจนสารเคมีต่างๆ รวมทั้งเทคนิคในการใช้สิ่งต่างๆเหล่านั้น ระบบย่อยนี้หมายรวมถึงเครื่องมือในการผลิต วิธีการดำรงชีวิต วัสดุ  อุปกรณ์ที่ใช้สร้างที่อยู่อาศัย  ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้เพื่อการต่อสู้และป้องกันตัวเองด้วย

ระบบเทคโนโลยี เป็นระบบย่อยที่นักวิชาการให้ความสำคัญมากกว่าระบบย่อยอื่นๆ เพราะเป็นระบบย่อยที่แสดงบทบาทเบื้องต้นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ต้องการอาหาร ต้องมีวิธีป้องกันตัวเองจากศัตรู และต้องรู้จักรักษาบำบัดตนเองทางด้านสุขภาพอนามัย มนุษย์จึงจะอยู่รอดได้  เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้ เป็นระบบที่มีความสำคัญสูงสุด

ระบบสังคมวิทยา ประกอบด้วย  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ซึ่งแสดงออกในรูปของแบบแผนของพฤติกรรมของส่วนรวมหรือของแต่ละบุคคล  ระบบย่อยนี้หมายรวมถึงลักษณะทางสังคมต่างๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติ เศรษฐกิจ จริยธรรม การเมือง การทหาร การศาสนา อาชีพ และสันทนาการ

ระบบสังคมวิทยา เป็นระบบที่มีความสำคัญรองลงมา  ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมระบบเทคโนโลยีอีกต่อหนึ่ง  เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของระบบเทคโนโลยี  เป็นตัวแปรตามระบบเทคโนโลยี  ระบบเทคโนโลยีจึงเป็นตัวกำหนดรูปแบบของระบบสังคมวิทยา

ระบบอุดมการณ์ ประกอบด้วย  แนวความคิด ความเชื่อ ความรู้  ซึ่งแสดงออกด้วยภาษาพูดและใช้สัญลักษณ์ในรูปแบบอื่นๆ  ระบบย่อยนี้ ประกอบด้วยนิยายลึกลับมหัศจรรย์ต่างๆ ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ความรู้พื้นบ้าน และความรู้แบบสามัญสำนึก

ระบบอุดมการณ์ เป็นระบบที่เปลี่ยนตามระบบเทคโนโลยีเช่นเดียวกับระบบสังคมวิทยา

จะเห็นว่า  ระบบย่อยเหล่านี้จะสอดคล้องกลมกลืนกันพอสมควร   การเปลี่ยนแปลงในระบบย่อยหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอื่นๆด้วย  แต่มากน้อยไม่เท่ากัน

แต่หากจะพิจารณาระบบวัฒนธรรม โดยแยกเป็นชั้นๆตามลำดับสูงต่ำแล้ว  จะพบว่า ระบบเทคโนโลยีอยู่ชั้นต่ำสุด  ระบบอุดมการณ์อยู่ชั้นสูงสุด ส่วนระบบสังคมนิยมอยู่ชั้นกลางๆ
                         -------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่ไม่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ  คำตอบส่วนหนึ่ง ก็คือว่าประเทศเหล่านั้นมีวัฒนธรรมต่างกัน
                                                         --------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะการเมืองที่พัฒนา

ระบบการเมืองก็เหมือนระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ที่มีทั้งด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว เพียงแต่ว่า การเมืองจะพัฒนาได้ต้องมีการ พัฒนาทางกฎหมาย พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมและความสามารถในการบริหารการพัฒนา ควบคู่ไปด้วย การพัฒนาทางการเมืองจึงจะบรรลุเป้าหมายสู่การเมืองที่พัฒนาแล้ว

สำหรับการเมืองที่พัฒนานั้น จะมีลักษณะร่วมดังต่อไปนี้

ความเสมอภาค  ซึ่งดูได้จาก
          1. ประชาชนมีความสนใจที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
          2. ใช้กฎหมายบังคับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของแต่ละบุคคล
          3. บุคคลแต่ละคน  มีโอกาสที่จะได้รับการเลือกสรรเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน โดยยึดความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเป็นเกณฑ์สำคัญ ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติดั้งเดิมที่ได้มาแต่กำเนิด
การพัฒนาทางด้านนี้จะเกี่ยวกับการพัฒาวัฒนธรรมทางการเมือง

ความสามารถของระบบการเมือง หมายถึง ความสามารถที่จะสนองความต้องการด้านต่างๆ ของระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจ  รวมทั้งความสามารถของรัฐบาลในการปฏิบัติงาน  และการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ  มีระบบบริหารที่ยึดหลักเหตุผล  เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความชำนาญในวิชาชีพและการปฏิบัติงาน
การพัฒนาส่วนนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างอำนาจรัฐ

การแบ่งงานตามความรู้ความสามารถ หมายถึง การกระจายโครงสร้าง  และการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม  มีการแบ่งงานกันทำตามความรู้ความสามารถ  หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ชัดเจน  ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาทางด้านนี้  จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ให้สัมพันธ์กับโครงสร้างทางการเมืองอย่างไร

ลักษณะร่วมทั้งหมดที่กล่าวนี้ ระบบการเมืองที่พัฒนาจะต้องมีครบถ้วนทุกประการ หากขาดลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นระบบการเมืองที่พัฒนา อย่างมากก็เป็นได้แค่กำลังพัฒนา

เห็นจะไม่ต้องถามว่าการเมืองไทยพัฒนาแล้วหรือยัง?
                          -----------------------------------------------------------------

                                                           สาระคำ

ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง  การเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ และค่อนข้างจะเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนไปตามลักษณะของสังคมนั้นๆ

                                                               อริสโตเติล
                                             --------------------------------

วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปทัสถานที่พึงประสงค์ของสังคมไทย

ปทัสถาน  หมายถึง มาตรฐานของพฤติกรรมของคนในสังคม เป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ สมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานของสังคม
  
ประเทศชาติจะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งเกิดจากปทัสถานทางสังคม ว่าเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

หากพิจารณาถึงปทัสถานของสังคมไทย พบว่ามีปทัสถานทางสังคมหลายอย่างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา  เช่น การไม่มีวินัย การเชื่อในอำนาจภายนอก เหล่านี้เป็นต้น

นักวิชาการได้ทำการศึกษาและสรุปว่า สังคมไทยควรมีการปรับเปลี่ยนปทัสถานของสังคมใหม่ ให้เอื้อต่อการพัฒนามากขึ้น ในลักษณะต่อไปนี้คือ

          1. การยึดหลักการและบุคคล โดยปกติคนไทยนั้นยึดบุคคลมากกว่าหลักการ  จึงควรเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญกับหลักการมากกว่าบุคคลบ้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างหลักการกับบุคคลเกิดขึ้น  จะต้องให้หลักการสำคัญกว่าบุคคลเสมอ

           2. นิยมในการทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และมีความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้ เพราะคนไทยมีการเลือกงานค่อนข้างสูง ไม่นิยมงานที่ต้องใช้แรง ตลอดจนมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในแทบทุกวงการ  หากมีการเลือกงานและทุจริตกันต่อไป  แน่นอนว่าความหายนะจะเกิดขึ้นในสังคมแน่นอน

           3. นิยมยกย่องบุคคลหรือกลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม  และประณามหรือลงโทษผู้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม  โดยวิธีการที่เฉียบขาดและพร้อมเพรียงกัน โดยเลิกนิสัยธุระไม่ใช่

           4. นิยมการออมเพื่อการลงทุน  ลดการบริโภคในทางฟุ่มเฟือยลง

           5. ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิชาการชั้นสูงต่างๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อความรู้ต่างๆจะได้ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่มบางพวก

           6. ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นระเบียบ การเคารพกฎหมาย และเคารพในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

           7. สร้างแนวความคิดเกี่ยวกับสาธารณสมบัติ  อันเป็นสมบัติของส่วนรวมและสังคมให้ลึกซึ้งและถูกต้องยิ่งขึ้น

            8.ลดการเชื่ออำนาจภายนอกให้น้อยลง  และศรัทธาในความสามารถของตนเองมากขึ้น สร้างความเชื่อที่ว่าตนเองสามารถทำได้ ถ้าใช้ความพยายามเต็มที่ ขณะเดียวกัน ลดการเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติให้น้อยลง

            9.เพิ่มลักษณะการมุ่งอนาคตให้มากขึ้น และลดการมุ่งปัจจุบันให้น้อยลง  อันจะนำไปสู่การทำงานอย่างมีแผน แทนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปทัสถานดังกล่าวนี้  จะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ จะต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างปทัสถานทางสังคม ให้สมาชิกของสังคมมีปทัสถานที่พึงประสงค์
                          --------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

   ธรรมะช่วยให้เรามีชีวิตอย่างถูกต้อง  สิ่งที่เรียกว่าบาป หรือโชคร้าย ย่อมไม่มีแก่ผู้ประพฤติธรรม

                                                                        พุทธทาสภิกขุ
                                           ----------------------------------------