วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดี

สุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกาย ถ้าสุขภาพจิตดีสุขภาพกายมักจะดีด้วย ในทางศาสนายังให้ความสำคัญกับจิต  ถึงกับสอนว่าจิตมีอิทธิพลเหนือกาย  หากจิตดีกายจะดีแน่นอน

ในทางจิตวิทยา  การจะดูว่าสุขภาพจิตเป็นอย่างไร ให้ดูจากพฤติกรรมและเจตคติของบุคคล ว่าแสดงออกในลักษณะอย่างไร มีดุลยภาพหรือไม่

ในทางจิตวิทยา คนที่มีสุขภาพจิตดี  มีลักษณะดังนี้

          1. มีแนวโน้มที่จะเป็น"ผู้ทำ" มากกว่าที่จะเป็น"ผู้พูด" อย่างไรก็ตาม ทั้งลักษณะผู้พูดและผู้ทำจะต้องมีดุลยภาพ   หากไม่พูดเสียเลยหรือพูดน้อย อาจมีปัญหาในเรื่องมนุษยสัมพันธ์

          2. มีความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะจัดการกับปัญหา แม้ในขณะที่เผชิญกับความล้มเหลวและชีวิตถดถอย สามารถที่จะบอกตัวเองว่า "ฉันล้มเหลว ฉันจะพยายามและทำงานหนักกว่าเดิม" คนที่ล้มเหลวแต่พยายามทำ จะมีอารมณ์มั่นคงกว่าคนที่ไม่พยายามทำอะไรเลย และคนที่พยายามทำเพื่อแก้ไขปัญหา  ส่วนใหญ่มักจะประสบความสำเร็จ

          3. มีค่านิยมและหลักการที่มั่นคง และพยายามปกป้องค่านิยมและหลักการของตน แม้ในขณะที่เผชิญกับความคิดเห็นต่างของกลุ่มบุคคลที่เข้มแข็ง แต่หากพบว่าผิดพลาด มีประสบการณ์และหลักฐานใหม่  ก็มีความยืดหยุ่น สามารถยอมรับประสบการณ์และหลักฐานใหม่ได้

          4. มีความรู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่นๆในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน ไม่รู้สึกว่าเด่นหรือด้อยกว่า  ไม่คำนึงถึงความแตกต่าง  เรื่องความสามารถเฉพาะ ภูมิหลังทางครอบครัว หรือเจตนคติของคนอื่นที่มีต่อตน สามารถที่จะยอมรับทักษะและความสามารถของคนอื่น โดยไม่ลดคุณค่าหรือสถานภาพของตนลง

          5. มีความตั้งใจ และสามารถที่จะรับผิดชอบชีวิตของตน ไม่มองหาคนอื่นเพื่อตำหนิความผิดพลาดของตน เป็นคนที่ตระหนักว่าตนเองเป็นใคร ทำอะไร และอยู่ที่ไหน

         6. เป็นผู้ที่สามารถรับแนวคิดของคนอื่นที่แตกต่างได้

         7. สามรถเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคนส่วนมาก แต่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น เกิดจากความคิดของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากแนวคิดของคนอื่น

         8. ยอมรับว่า สามารถทำให้ชีวิตของตนสำเร็จได้  เมื่อมีความมุ่งมั่น

         9. ในการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น สามารถยอมรับได้ว่า เป็นการยากที่จะหาความสุขจากคนอื่น ถ้าหาความสุขในตัวเองไม่พบ

         10. สามารถหาความสุขให้กับตนเองจากกิจกรรมอันหลากหลาย  ไม่ว่าจะด้วยการทำงาน การเล่น ฯลฯ

         11. รู้จักรักตนเอง มองเห็นสิ่งดีๆของคนอื่น ตลอดจน มองโลกและชีวิตในแง่ดี

         12. มีการเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าให้กับชีวิตของตน

ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดี  ที่สามารถนำมาใช้ในการสำรวจตนเอง ว่าสุขภาพจิตของตนอยู่ในลักษณะใด  ผลทีได้จากการสำรวจ สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาสุขภาพจิตของตนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้
                 ---------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                โดยพื้นฐานมนุษย์เป็นคนดี มีเหตุผล  และชอบสังคม
                                                                         จิตวิทยามนุษยนิยม
                                            ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา:เครื่องมือการพัฒนาที่ด้อยคุณค่า

ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะแวดล้อมที่ด้อยพัฒนา คือ มีการสอนอย่างหยาบๆ ขาดการวางแผนล่วงหน้า  โรงเรียนมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย เป็นแหล่งของอำนาจวาสนาทางสังคม

การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา  ได้สร้างทัศนคติที่กระตุ้นให้ผู้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนต่อสูงขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย มุ่งสร้างชนชั้นนำเป็นสำคัญ

จากการศึกษาพบว่า สภาพทั่วไปของการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

          1.การวางแผนการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงและความต้องการของสังคม ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้มีจุดมั่งหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามความจำเป็นของประเทศนั้นๆ  เป้าหมาย เนื้อหาวิชา และแม้แต่สื่อการศึกษา ล้วนได้มาจากสังคมและวัฒนธรรมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก  สถาบันการศึกษาจึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้

          2. ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นระบบการศึกษาที่นำรูปแบบมาจากแหล่งอื่น  จึงเป็นระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับระบบสังคมวัฒนธรรม ระบบครอบครัว  ระบบเศรษฐกิจ และระบบค่านิยม เป็นระบบที่ขาดบูรณาการระหว่างการศึกษาในระบบโรงเรียนและชีวิตการทำงาน ผลที่ตามมาก็คือ ความล้มเหลว เพราะทั้งการศึกษาและเศรษฐกิจไม่ได้สนองตอบความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการสนองตอบความต้องการของคนในเมืองใหญ่ เป็นคนกลุ่มเล็กที่มีอิทธิพล ซึ่งควบคุมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร นอกจากนั้น ระบบการศึกษาที่นำเข้าจากแหล่งอื่น เน้นการศึกษาระดับอุดมศึกษา  เป็นระบบการศึกษาที่มุ่งสนองความต้องการทางด้านบริหารและการค้า แทบจะไม่สนใจปัญหาชนบท รูปแบบการศึกษาที่ลอกเลียนมานั้น นอกจากไม่สามารถนำมาประยุกย์ใช้ให้เข้ากับความต้องการที่แท้จริงของประเทศกำลังพัฒนาได้เท่านั้น ยังทำให้เกิดภาวะพิการ  ขยายความด้อยพัฒนาให้กว้างขวางออกไป

          3. หลักสูตรของประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากจะเน้นหนักแต่ทางด้านวิชาการ โดยสะท้อนให้เห็นถึงสภาพในอดีตของประเทศที่เจริญแล้ว มากกว่าที่จะเห็นภาพอนาคตของประเทศตัวเอง เป็นหลักสูตรที่ไม่ให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวกับสภาพที่สับสนวุ่นวายของชีวิตแบบเมือง กลับเน้นการเตรียมตัวเพื่อเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นมากเกินไป จนทำให้ผู้เรียนที่พลาดการเรียนในระดับหนึ่งๆ   กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ของสังคม ระบบการศึกษากลายเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่นำไปสู่ความแปลกแยกระหว่างผู้เรียนกับชีวิตจริง

          4. ระบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะผลิตกำลังคนเพื่อทำงานในเมือง ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตของผู้เรียน  ตลอดจนความต้องการพัฒนาสังคมที่ผู้เรียนอาศัยอยู่  นอกจากนั้น ยังพบว่าเป้าหมายการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามุ่งสร้างชนชั้นกลาง  เพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การได้ออกจากชีวิตในชนบทถูกใช้เป็นเครื่องจูงใจของการศึกษาอย่างหนึ่ง  ลักษณะการดูถูกงานที่ทำด้วยมือถูกสร้างให้เกิดขึ้นจากระบบการศึกษา

นความเป็นจริง  เป้าหมายของการศึกษาน่าจะมีอยู่ 2 ประการ คืออำนวยความสะดวกเพื่อก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือและยกระดับทักษะทางเทคนิคให้สูงขึ้น ประการหนึ่ง กับส่งเสริมความเท่าเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการศึกษา อีกประการหนึ่ง แต่ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถตอบเป้าหมายดังกล่าวได้ จึงมีผลทำให้ การศึกษาเป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ด้อยคุณค่า
                 ---------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

                                        ผลที่ได้จาการเรียนการสอนแบบท่องจำ คือ

                                        1. มีความจำที่ถูกต้องและแน่นอน มีความเชื่อฟังต่อระเบียบวินัย
                                        2. มีจิตใจที่จะเก็บรักษาสิ่งต่างๆได้ดี มีสติปัญญาตามรูปแบบ
                                        3. มีลักษณะยอมรับอดีต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
                                        4. มีความพอใจที่ได้เรียนรู้เรื่องในอดีตเพื่อประโยชน์ของอดีต

                                                                                Lawrence G. Thomas
                                 -----------------------------------------------------------------------                        

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

คุณสมบัติที่พึงประสงค์ 10 ประการสำหรับคนไทย

สังคมไทยปัจจุบัน  ไม่ได้เป็นสังคมสารสนเทศเหมือนกันทั้งประเทศ  สังคมไทยมีทั้งที่เป็น สังคมเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมบริการ และสังคมสารสนเทศ 

ฉะนั้น  ในการจัดการศึกษาจะให้ความสำคัญกับสังคมลักษณะหนึ่งลักษณะใดมากเกินไป จะทำให้การจัดการศึกษาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยทั้งหมด  เป็นการศึกษาที่ไม่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ซ้ำร้ายอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

แต่การจะจัดการศึกษา  ที่สามารถพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติสอดคล้องครบถ้วนตามลักษณะของสังคมดังกล่าว จัดเป็นการศึกษาที่ยอดเยี่ยมแต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก  ฉะนั้น ในการกำหนดคุณสมบัติของคนไทยที่พึงประสงค์ จึงควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ และความจำเป็นที่ต้องพัฒนาลักษณะนั้นๆขึ้นมา

สำหรับคุณสมบัติของคนไทยที่พึงประสงค์ในยุคปัจจุบัน ที่การศึกษาต้องพัฒนาขึ้นมา ควรมีลักษณะดังนี้

          1. มีความรู้ความสามารถทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน เพราะการทำงานนำไปสู่ความสำเร็จ ผู้ที่ไม่ทำงานนอกจากไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้แล้ว ยังเป็นภาระกับบุคคลอื่นและสังคมอีกด้วย  เท่าที่ปรากฎการศึกษาไทยจะเน้นเรื่องความรู้ แต่ค่อนข้างจะละเลยเรื่องทักษะและทัศนคติ

          2. มีวินัย คนไทยส่วนใหญ่ ค่อนข้างจะขาดวินัยในเกือบทุกเรื่อง  แต่สังคมสมัยใหม่โดยเฉพาะสังคมอุตสาหกรรมและสังคมสารสนเทศ ต้องการคนที่มีวินัยอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นเรื่องการสร้างวินัยในหมู่คนไทย

          3. ความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อสัตย์สุจริตของคนไทย เป็นเรื่องที่สงสัยกันมานาน สื่อมวลชนของไทยและของต่างประเทศ  กล่าวถึงความไม่ซื่อสัตย์ของตนไทยบ่อยๆ  เมื่อใดที่องค์การระหว่างประเทศประเมินความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส ประเทศจะได้คะแนนเกือบต่ำสุดทุกครั้งไป  และขณะนี้พบว่าความไม่ซื่อสัตยได้ปรากฎให้เห็นในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน ครูบาอาจารย์ ไม่เว้นแม้แต่วงการพระสงฆ์

          4. ความประหยัด คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างจะฟุ่มเฟือย มีการออมน้อย ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุน เพราะการประหยัด จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับตนเองและสังคมได้ดี

           5. ความพากเพียร คนไทยส่วนใหญ่ทำชอบทำงานที่ สนุก สะดวก และสบาย ไม่ค่อยจริงจังกับการทำงาน  โดยเฉพาะงานที่ยากและซับซ้อน  การมีความพากเพียรจึงมีความจำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันอย่างมาก

           6. ความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม การทำงานในอนาคต จะเป็นงานที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการจะทำงานให้สำเร็จจะต้องร่วมมือกัน แต่คนไทยไม่ชอบทำงานเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกัน เห็นได้จากความล้มเหลวของพรรคการเมืองและกิจการสหกรณ์

           7. ความสามารถในการแข่งขัน โลกในอนาคตมีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบก็ตาม หากไม่ยอมแข่งขันจะตกอยู่ในกลุ่มล้าหลัง ฉะนั้น การศึกษาจะต้องสร้างคนไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยใชัคุณธรรมและสารสนเทศเป็นองค์ประกอบสำคัญ

           8. รู้จักวิเคราะห์มีเหตุผล การไหลบ่าของสารสนเทศในปัจจุบันและอนาคต  จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องรู้จักวิเคราะห์ รู้เลือกที่จะรับ มิฉะนั้นจะจมอยู่ในกระแสสารสนเทศ

           9. การนับถือตน ลักษณะนี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักช่วยตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง ก่อนที่จะร้องของความช่วยเหลือจากคนอื่น การนับถือตนเองทำให้มีศักดิศรีและไม่เป็ภาระกับคนอื่น

           10 การมีน้ำใจ คุณสมบัติข้อนี้มีมานานในสังคมไทย แต่ปัจจุบันค่อนข้างจะหายไป เพราะลักษณะทางสังคมเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องสร้างลักษณะนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อลดความรุนแรงของวัตถุนิยม

คุณสมบัติทั้ง 10 ประการนี้  เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นในคนไทย ด้วยวิธีการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท เท่าที่สังเกตการศึกษาไทย จะเน้นการสร้างลักษณะนิสัยในระดับมัธยมศึกษาลงไป ไม่ค่อยสนใจกับผู้ที่เรียนในระดับอุดมศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว  รู้ว่าอะไรควรไม่ควร  ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก
                  ---------------------------------------------------------------------------------------------
                                                                      สาระคิด

                                     ลูกผู้ชายเมื่อบ้านเมืองมีปัญหา  อย่าเอาแต่ทอดถอนใจ
                                           ควรคิดเข้าแก้ไข ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดินให้เจริญ
                                                                                               สามก๊ก
                                      -----------------------------------------------------------------



วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาอุดมศึกษาไทย

ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก" ได้ศึกษาวิจัยอุดมศึกษาไทย พบว่า

1. สภาสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย มีบทบาทในการพัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของสถาบันนั้นๆ พบว่าสภาสถาบันมีปัญหา ดังนี้
                     1.1 องค์ประกอบของกรรมการสภาในบางสถาบัน ทำให้เกิดปัญหาการครอบงำทางความคิดของบุคคลในสถาบัน
                      1.2 สถาบันเลือกบุคคลภายนอกมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงจำกัด โดยเลือกเฉพาะบุคคลที่รู้จักและมีชื่อเสียง
                      1.3 การประชุมสภาใช้เวลาส่วนใหญ่พิจารณาแต่เรื่องภายในสถาบัน โดยไม่ใช้เวลาพูดถึงนโยบายหรือแนวทางในการพัฒนาสถาบัน
                      1.4 สภาไม่ใช้อำนาจออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าของสถาบัน

2. การแบ่งส่วนราชการและโครงสร้างการบริหาร  โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยถอดแบบมาจากตะวันตก คือแบ่งเป็น ภาควิชา คณะ สถาบัน เป็นต้น  พบว่ามีการแบ่งภาควิชา และคณะมากเกินจำเป็น ทำให้เกิดการแบ่งแยก ยากที่จะ ประสานความร่วมมือ ประสานวิชา และประสานหลักสูตร

3. ผู้บริหาร ผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาไทยเกือบทุกระดับ และเกือบทั้งหมดไม่ได้เรียนมาทางด้านบริหาร การบริหารในมหาวิทยาลัยจึงใช้ประสบการณ์เป็นหลัก  ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริหารมีดังนี้
                           3.1 การสรรหาผู้บริหาร ใช้ระบบเลือกตั้งเป็นหลัก ทำให้เกิดความแตกแยก ขาดความร่วมมือที่จะพัฒนาสถาบันให้ก้าวหน้า
                           3.2 ผู้บริหารไม่มีระบบ มักจะถูกชักนำจากข้าราชการชั้นผู้น้อย
                           3.3 การบริหารจัดการไม่ดี ใช้กำลังคณาจารย์เกินความจำเป็น และไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งแต่งตั้งรองอธิการบดีถึง 15 คน และพบว่า ได้สูญเสียอาจารย์ไปทำหน้าที่บริหารมากว่าร้อยละ 30
                           3.4 สถาบันอุดมศึกษามีความอ่อนแอภายใน เนื่องจากมีความขัดแย้ง และขาดความสามัคคี
                           3.5 ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่อธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการหน่วยงาน ตลอดจนหัวหน้าภาควิชา ไม่สามารถจัดการหรือกำกับดูแลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพได้

4. หลักสูตร หลักสูตรโดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายคลึง และค่อนข้างจะซ้ำซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรมีดังนี้
                            4.1 หลักสูตรขาดความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเลียนแบบซึ่งกันและกัน  มีความคล้ายคลึงกัน
                            4.2 หลักสูตรขาดความยืดหยุ่น ไม่เปิดโอดาสให้นักศึกษาเลือกเรียนได้อย่างเสรีเพียงพอ
                            4.3 หลักสูตรจำนวนมากลอกเลียนหรืออ้างอิงจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย
                            4.4 หลักสูตรไม่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดความคิดเชิงบูรณาการ
                            4.5 หลักสูตรล้าสมัย อาจารย์ไม่เข้าใจการปรับหลักสูตร  ให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

5. คุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอน คุณภาพของอาจารย์ คือคุณภาพของการเรียนการสอน เกี่ยวกับคุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอนมีดังนี้
                            5.1 อาจารย์มีคุณภาพด้านการสอนและผลงานวิจัยมีจำนวนน้อย
                            5.2 ตำราอันเป็นสื่อการสอนหลักมีคุณภาพต่ำ
                            5.3 การลงทุนการวิจัยมีน้อย  ทำให้องค์ความรู้ไทยมีน้อย
                            5.4 อาจารย์มีวิธีสอนแบเดิมๆ คือถ่ายทอดความรู้ มากว่าการสร้างวิจาณญาณและคิดสร้างสรร ยิ่งมีจำนวนนักศึกษามากขึ้น มีแนวโน้มว่าคุณภาพจะด้อยลง
                            5.5 ขาดกลไกการพัฒนาคุณภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

6. การวิจัย รัฐลงทุนเพื่อการวิจัยต่ำ  ทำให้สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถปฏิบัติภาระกิจด้านการวิจัย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ

ความจริงปัญหาอุดมศึกษาไทยดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่คนในวงการอุดมศึกษารับรู้เป็นอย่างดี  แต่ไม่พบว่ามีการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้ น่าจะมีเหตุจาก การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารที่ไม่เหมาะสม ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และมีการใช้เสรีภาพทางวิชาการในลักษณะที่บิดเบือน 
                            ----------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

                                         คนมีปัญญาที่เห็นแก่ตัว  สู้คนโง่ที่ทำเพื่อส่วนรวมไม่ได้
                                                                                            สามก๊ก
                                         -----------------------------------------------------------------


วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย

เกี่ยวกับปัญหานี้ มีผู้ให้ความสนใจศึกษาหลายราย อาทิ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต  นายแพทย์ประเวศ วะสี พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นต้น และได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย  ว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย  ยังมีปัญหาเรื่องความเสมอภาคในโอกาสของผู้รับบริการ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ความด้อยโอกาสในที่นี้ หมายถึง ความด้อยโอกาสในการที่จะได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

          2. การเรียนการสอนมุ่งเน้นการท่องจำ มากกว่าที่จะให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งไม่สามารถปลูกฝังการรักที่จะเรียนรู้ต่อไป  อันเป็นคุณสมบัติสำคัญในยุคสารสนเทศ

         3. สัดส่วนเวลาเรียน เนื้อหาทางวิชาการและทักษะต่างๆในหลักสูตร  ยังไม่เหมาะสม วิชาพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ  มีเวลาเรียนน้อยเกินไป จึงมีแนวโน้มว่าพื้นฐานการศึกษาด้านนี้จะต่ำลง มีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต  ค่อนข้างน้อย  เนื่องจากครูขาดความรู้ความเข้าใจ

         4. ด้านการเรียนการสอน ซึ่งมีครูเป็นปัจจัยสำคัญ  ที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน แต่พบว่าขาดแคลนครูในบางสาขาวิชา โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี และภาษาต่างประเทศ นอกจากนั้น สถานะภาพของอาชีพครูตกต่ำ  มีรายได้ต่ำแต่มีภาระงานมาก กระบวนการผลิตครูไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ  คนเก่งๆไม่เรียนครู

         5. เป็นการศึกษาที่เน้นการท่องจำจากตำรา ซึ่งจำยากเข้่าใจยาก ทำให้การเรียนเป็นเรื่องยาก ไม่สนุกน่าเบื่อ เมื่อหมดเงื่อนไขบังคับ จะหยุดเรียน  ทำให้ไม่รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  ครูใช้วิธีสอนตามหนังสือมากว่าการปฏิบัติจริง  การเรียนการสอนยังยึดครูเป็นศูนย์กลาง

         6. เนื้อหาสาระที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในโลกแห่งอนาคต อันได้แก่ ความรู้ด้านการจัดการ ภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ยังไม่เพียงพอ

         7. การศึกษาทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชนหรือท้องถิ่นของตน ความแปลกแยกนี้ อาจจะรุนแรงถึงกับทำให้เกิดการดูถูกวิถีชีวิตของชุมชน  ไม่มีความภูมิใจในท้องถิ่นของตน ในวัฒนธรรมของตน ภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกละเลย

          8. รัฐผูกขาดการจัดการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ระบบบริหารการศึกษาเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ โรงเรียนขาดอำนาจการตัดสินใจที่จะจัดการศึกษา  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น  ประชาชนมิได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง  และรับผิดชอบการศึกษาในท้องถิ่นของตน  การศึกษายังไม่เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน คนเก่งๆจะทิ้งท้องถิ่นของตนไป ตลอดจนก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า

          9. การศึกษาดึงคนชนบทเข้าสู่เมือง เพื่อเข้ารับราชการหรือเพื่อรับใช้ระบบอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปัญหาว่างงานขึ้นในเมือง ในขณะที่เกิดการขาดแรงงานในชนบท

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา หากไม่มีการแก้ไข หรือทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง เชื่อว่าการศึกษาจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแน่นอน
                     ------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

                               ผู้ที่ไม่เคารพตนเอง  ย่อมเป็นที่ดูแคลนของผู้อื่น
                                                                  สามก๊ก
                               ---------------------------------------------------------