วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

หลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา

เป็นที่ยอมรับกันว่า การพัฒนาประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน จะต้องพัฒนาคน ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนา

แต่มีหลายประเทศ ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษามากเพียงใด การศึกษาก็ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งเกิดจากขาดหลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ Louis Malassis ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Rural World : Education and Development. สรุปได้ว่า ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนา มีหลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาดังนี้

1.เป็นระบบการศึกษาเพื่อทุกคน

ระบการศึกษาเพื่อทุกคน เป็นระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ระบบการศึกษาเพื่อทุกคนจะต้องจัดให้มีการศึกษาพื้นฐานที่เหมือนกัน และเป็นการศึกษาที่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ในขณะเดียวกันจะต้องเตรียมผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เป็นความรับผิดชอบที่ต้องรับภาระเพื่อการพัฒนาสังคม

2. มีความเท่าเทียมกันในโอกาส

ความเท่าเทียมกันในโอกาสเป็นคำที่กล่าวถึงกันมากแต่ยากที่จะปฏิบัติ  ความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ความจริงแล้ว ความไม่เท่าเทียมกันเป็นผลผลิตของสังคม แต่ความไม่เท่าเทียมกันนี้จะถูกทำให้คงอยู่เรื่อยไปโดยระบบการศึกษา หรือในทางตรงกันข้าม ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้อาจทำให้ลดลงโดยระบบการศึกษา ด้วยการเพิ่มความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา ดังนี้

           2.1 ขยายการศึกษาก่อนวัยเรียน

          2.2 ปฏิรูปสถาบันการศึกษา

          2.3 การจัดการศึกษาตลอดชีวิต

การปฏิรูปสถาบันการศึกษา อาจทำได้ด้วยการเลิกระบบคัดเลือกก่อนเวลาอันสมควร โรงเรียนควรทดสอบเฉพาะความสำเร็จทางการเรียนเท่านั้น ส่วนการทดสอบเพื่อการประกอบอาชีพควรเป็นหน้าที่ของสังคม

3. มีวิธีสอนที่สะท้อนให้เห็นถึงแผนสำหรับสังคม

การเปลี่ยนแปลงวิธีสอน ไม่เพียงแต่มีเหตุผลจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การประดิษฐ์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงวิธีสอนควรมีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เป็นสังคมที่มุ่งพัฒนาโครงสร้าง วิธีสอนควรกระตุ้นการทำงานเป็นทีม การทำงานเป็น
กลุ่ม การจัดการด้วยตนเอง และการจัดการร่วมกัน

4. ใช้การเรียนรู้เพื่อชีวิตและเป็นตัวแทนการพัฒนา

การพัฒนาสามารถบรรลุเป้าหมายได้หลายทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการทางประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ และปรัชญาสังคมการเมือง ตลอดจนขึ้นอยู่กับประชาชนที่ได้รับการศึกษาอบรมทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและเทคนิค โดยจะต้องเป็นผู้มีสมรรถนะเฉพาะทาง

การศึกษาพื้นฐานจะต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การศึกษาอบรมจะต้องเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ จะต้องให้มีการเรียนรู้ในลักษณะพหุวิทยาการ การสอนจะต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นทีมและเตรียมตัวเพื่อใช้สหวิทยาการในการทำงาน

ทั้งหมดเป็นหลัการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่ผู้มีอำนาจทางการศึกษาจะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง หากต้องการจะให้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธผล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                                   ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการศึกษา

                     และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็อาจทำให้ลดลงได้ด้วยระบบการศึกษาเช่นเดียวกัน

*********************************************************************************.

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนา

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ แต่หากการจัดการศึกษาเพียงเพื่อให้สมาชิกในสังคมมีการศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการศึกษาจะไม่เอื้อต่อการพัฒนา และทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา

สำหรับการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนานั้น เป็นการศึกษาที่จัดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อไปนี้

1. เสริมสร้างความสำนึกทางสังคม การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะสร้างความสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยจัดการศึกษาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการผลิตพื้นฐานกับแง่มุมต่างๆของชีวิตในสังคม ทั้งนี้่ เพื่อให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม เพราะหากปราศจากความสำนึกทางสังคมแล้ว กระบวนการพัฒนาอาจเกิดขึ้นไม่ได้

2. สร้างความตระหนักในความเข้มแข็งและความภูมิใจ คนเราจะเกิดความรู้สึกภูมิใจ เมื่อรู้ว่าตนเองมีข้อดี มีความเข้มแข็ง ซึ่งการศึกษาจะต้องทำให้เกิดลักษณะนี้ขึ้นมา ด้วยการทำให้ผู้เรียนรู้จักคุณค่าของตนเอง

3. สร้างความรู้สึกร่วมและทักษะของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประการหนึ่ง  เพราะความรู้และทักษะของการอยู่รร่วมกันจะช่วยให้ประชาชนร่วมมือกันช่วยตัวเองอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็หาวิธีการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ริเริ่มการทำเพื่อส่วนรวม กิจกรรมที่ร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม เช่น การสหกรณ์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องจะต้องส่งเสริมให้มีขึ้น

5. เน้นการแสวงหาทรัพยากร ทรัพยากรในที่นี้ หมายรวมถึง ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจมีอยู่ในชุมชนนั้นหรือนอกชุมชนนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา

6. เชื่อมโยงการผลิต การศึกษาที่มีความหมายต่อการพัฒนา คือการศึกษาที่มีความหมาย มีประโยชน์ และเพิ่มศักยภาพในการผลิต การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับการผลิต เป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค หาประโยชน์ในการพัฒนาได้น้อย

7. สร้างบรรทัดฐานการลงโทษและกลไกการลงโทษทางสังคม การพัฒนาองค์การและสถาบันต่างๆจะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานการลงโทษที่อาศัยกลไกทางสังคม ซึ่งการศึกษาจะต้องสร้างลักษณะเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

8. สร้างทักษะการจัดการ ทักษะการจัดการเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต จะช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การตลาด ฯลฯ และ สังคม เช่น การจัดการรวมกลุ่มเป็นองค์การเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม เป็นต้น

9. สร้างระบบจัดการ ระบบจัดการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานร่วมกันจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมการจัดสรร  ตลอดจนดูแลติดตามให้คนในชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆอย่างทั่วถึง

10. สร้างสถาบัน หากสถาบันที่มีอยู่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการในการพัฒนา ก็จำเป็นจะต้องมีการสร้างสถาบันใหม่ขึ้นมา รวมทั้งสร้างกระบวนการปรับปรุงสถาบันเดิมให้เอื้อต่อการพัฒนามากยิ่งขึ้น

จะเห้นว่าการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนานั้นจะต้องเป็นการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในลักษณะต่างๆ หากละเลยด้านใดด้านหนึ่ง จะเป็นการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา และจะนำไปสู่ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชนและประเทศได้ อย่างเช่นการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไป จนละเลยการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ทำให้เกิดปัญหาภายในประเทศมากมาย และแทบจะทุกระบบของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

บรรทัดฐาน หรือ ปทัสถาน หมายถึง แบบแผนที่สังคมใช้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

สถาบัน หมายถึง สิ่งที่สังคมจัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของคน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ฯลฯ

********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทุนนิยมกับสังคมนิยมมีแนวทางการพัฒนาต่างกันอย่างไร

ในทางปฎิบัติการพัฒนาประเทศแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมกับแนวทางการพัฒนาแบบสังคมนิยม

ซึ่งแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมกับแนวทางการพัฒนาแบบสังคมนิยม มีข้อแตกต่างที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. การมองสภาพการด้อยพัฒนา 

ในการมองสภาพการด้อยพัฒนา ทุนนิยมจะมองว่า ปัญหาการด้อยพัฒนาอยู่ที่บุคคล จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาที่กลุ่มบุคคลที่ยังไม่พัฒนา

ส่วนสังคมนิยมมองว่าปัญหาการด้อยอยู่ที่โครงสร้างของระบบ แม้ว่าบุคคลจะดิ้นรนต่อสู้เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเองเพียงใดก็ตาม หากโครงสร้างไม่เอื้ออำนวย ก็จะถูกครอบงำโดยโครงสร้างต่อไป

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนา 

ในด้านความเจริญทางวัตถุนั้น ทุนนิยมมองที่ประสิทธิภาพของความเจริญ ในขณะที่สังคมนิยมมองที่ความเสมอภาคของความเจริญ

ในด้านเสถียรภาพและความเรียบร้อยของสังคม ทุนนิยมพึ่งกฎระเบียบของรัฐเป็นหลัก ส่วนสังคมนิยมเห็นว่ากฎหมายของรัฐไม่อาจเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อความเป็นกลาง ดังนั้น จึงใช้เครื่องมือที่อยู่นอกเหนือระเบียบของรัฐ คือ ความยุติธรรมทางสังคม

ในด้านเสรีภาพ ทุนนิยมมองว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์จะขาดเสียมิได้ ส่วนสังคมนิยมเห็นว่า เสรีภาพจะต้องคู่กัยวินัยและเงื่อนไขตามความเป็นจริงของฐานะบุคคล

3. วิธีการพัฒนา 

ทุนนิยมมองว่า เสรีภาพและการแข่งขันเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา จึงส่งเสริมบทบาทของเอกชนที่จะเข้ามาช่วยดำเนินการพัฒนาให้กับสังคม โดยรัฐเข้าควบคุมแซกแซงในเรื่องที่จำเป็นและเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี

ส่วนสังคมนิยมไม่เชื่อว่าจะมีการแข่งขันเสรีตลอดไปได้ เพราะตัวการแข่งขันเอง เมื่อดำเนินไปถึงขั้นตอนหนึ่งจะหนีการผูกขาดไม่พ้น

ซึ่งความแตกต่างระหว่าการพัฒนาแบบทุนนิยมและสังคมนิยมที่กล่าวมา ทำให้เกิดอคติว่าแนวทางหนึ่งดีกว่าอีกทางเลือกหนึ่งในทุกกรณี ในที่สุดเกิดการหลงทาง  ทางที่ดีก่อนจะเลือกหรือกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขของการพัฒนา ควรจะได้วิเคราะห์ปัญหาของสังคมนั้นๆอย่างละเอียดก่อน แล้วจึงจะกำหนดยุทธศาสตร์และวิธีการพัฒนา

หากมองทั้ง 2 แนวทางอย่างไม่มีอคติ จะเห็นว่าแนวทางการพัฒนาทั้งสองแนวทาง มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ในการนำแนวทางใดแนวทางหนึ่งมาใช้ จึงมีทั้งที่ก่อให้เกิดปัญหาและส่งเสริมการพัฒนา ฉะนั้น การนำแนวทางพัฒนาทั้ง 2 แนวทางมาใช้ในลักษณะผสมผสาน จะเป็นทางออกที่ดี ก่อให้เกิดผลดีกับการพัฒนาประเทศมากที่สุด แต่ทั้งนี้ จะต้องนำสภาพและปัญหาของสังคมของประเทศมาประกอบการตัดสินใจด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคำ

ยุทธศาตร์ คือ ทิศทาง นโยบาย และกระบวนการ ที่ตัดสินใจเลือกเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้สามารถสนองตอบความต้องการ และความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีอนาคตเป็นตัวกำหนด

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

คำถามที่จะบอกว่าประเทศพัฒนาหรือไม่อย่างไร

การจะบอกว่าประเทศหรือสังคมพัฒนาเพียงใดหรือไม่ นอกจากจะวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมายการพัฒนาแล้ว ยังจะดูได้จากความยากจน การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกัน ว่าได้ลดลงหรือไม่ และลดลงมากน้อยเพียงใด ตามทัศนะของเชียร์ส(Dudley Seers)

ส่วนคำถามที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่คำตอบที่จะบอกว่าประเทศพัฒนาหรือไม่อย่างไร เป็นคำถามตามทัศนะของ โทเดโร (Michael P. Todaro) ได้แก่

1. ระดับการครองชีพ ความยากจนสัมบูรณ์  ความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ ระดับการมีงานทำ ธรรมชาติและคุณภาพของการศึกษา สุขภาพ และการบริการทางสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือไม่

2. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ได้ส่งเสริมให้บุคคลนับถือตนเอง นับถือกลุ่มบุคคลในประเทศของตนเองและของประเทศอื่นหรือไม่

3. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ขยายทางเลือกของประชาชน ประชาชนมีอิสระจากการพึ่งพิงสังคมภายนอกอื่นๆ  ตลอดจน ความรู้สึกเป็นทาสของบุคคลและสถาบันอื่นๆหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนการพึ่งพิงจากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง  เช่น เปลี่ยนจากการพึ่งพิงทางวัฒนธรรม เป็นการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ

คำถามทั้ง 3 ข้อนี้ หากได้คำตอบว่า"ใช่"ทั้งหมด ก็เชื่อได้ว่าเป็นคำตอบที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประเทศใดที่มีลักษณะดังกล่าวครบ จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยไม่ต้องสงสัย

แต่ถ้ามีเพียงคำถามข้อแรกเท่านั้นที่ได้รับคำตอบในทางบวก  ส่วนอีก 2 ข้อที่เหลือได้รับคำตอบในทางลบ กล่าวได้ว่า ประเทศนั้นเป็นประเทศพัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจมากกว่า แต่ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาตามความหมายพื้นฐานการพัฒนา จึงเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ร่ำรวย แทนที่จะเรียกว่าประเทศพัฒนา

ส่วนการจะตัดสินว่าเป็นประเทศพัฒนาหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์จากสังคม การเมือง และวัฒนธรรมประกอบด้วย

และหากสังคมใดที่คำถามข้อ 2 และข้อ 3 ได้รับคำตอบในทางลบ เช่น ประชาชนมีความนับถือตนเองและการยอมรับศักดิ์ศรีของตนน้อย ตลอดจน เสรีภาพในการที่จะเลือกถูกจำกัด แม้ว่าประเทศนั้นจะมีเครื่องยังชีพเพียงพอ ระดับการครองชีพได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ตาม ก็ไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้

นั่นคือ การจะบอกว่าประเทศใดพัฒนาแล้วหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่ดูเพียงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูปัจจัยทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม  ในแง่ของการนับถือตนเอง การยอมรับศักดิ์ศรีของตน ความอิสระจากการพึ่งพิงสังคมภายนอก ตลอดจน เสรีภาพในการที่จะเลือกของประชาชนถูกจำกัดหรือไม่ประกอบด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

ความยากจนสัมบูรณ์ หรือความยากจนข้นแค้น หมายถึง บุคคลที่ขาดความต้องการที่จำเป็นพื้นฐาน ได้แก่ น้ำจืดและอาหารที่สะอาด โภชนาการ การสาธาณสุข การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย

การนับถือตนเอง หมายถึง บุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง มีความซื่อสัตย์ มีความภูมิใจในความสำเร็จของตน

*********************************************************************************