การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2530 (ค.ศ. 1987) เป็นแนวคิดการพัฒนา ที่มุ่งจะแก้กระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งถูกครอบงำโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ มาเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขาในการที่จะสนองตอบความต้องการของเขาเอง
การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่ประกอบด้วยตัวแปรมากมาย ที่ทำให้บุคคลและชุมชนสร้างเอกลักษณ์แห่งตนที่มีลักษณะเฉพาะ และสร้างความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับโลกได้อย่างมีจุดหมายและความภาคภูมิใจ
การพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญในการที่จะแสดงออกและสนองตอบค่านิยมพื้นฐานของมนุษย์ โดยสังคมจะต้องรับผิดชอบและให้การประกันว่า มนุษย์จะต้องมีสวัสดิการระดับพื้นฐานและมีความเสมอภาค
การเปลี่ยนจุดเน้นไปสู่การสนองตอบความต้องการของมนุษย์นี้ ไม่ได้ปฏิเสธการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ เป็นแต่เพียงเชื่อว่า การตอบสนองความต้องการของมนุษย์มีความสำคัญเท่าๆกับการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเน้นการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างกลมกลืนระหว่างบุคคลและชุมชน กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโดยรวม เป็นกระบวนการพัฒนาที่เน้นความเสมอภาคทางเพศ ศาสนา และความเสมอภาคระหว่างรุ่นอายุ
สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนมีกรอบการทำงาน ดังนี้
1. จะต้องมีนโยบายเศรษฐกิจ ภาษี การค้า พลังงาน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และนโยบายอื่นๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
2. จะต้องลงทุนทางการศึกษาและสุขภาพอย่างเพียงพอในรุ่นปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาทางสังคมในรุ่นต่อๆไป
3. จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปในทิศทางที่ไม่สร้างหนี้ทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเกินกว่าที่โลกผลิตทดแทนหรือรับภาระได้
4. จะต้องการความสมดุลย์ระหว่างความจำเป็นในปัจจุบันกับความจำเป็นในอนาคต ระหว่างเอกชนกับรัฐ และระหว่า่งบุคคลกับสังคม
5. จะต้องมีการปรับโครงสร้างของงบประมาณใหม่ จากการใช้จ่ายเพื่อกองทัพ เพื่อรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ มาสู่การลงทุนในมนุษย์ และเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
6. จะต้องให้คนแต่ละยุคได้รับการตอบสนองความต้องการ โดยปราศจากการสร้างหนี้ที่เขาไม่ได้สร้างเอง ซึ่งหมายถึง หลีกเลี่ยงการสะสมหนี้ทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมลพิษหรือการใช้ทรัพยากรจนหมด หนี้งบประมาณด้วยการยืมเงิน หนี้สังคมด้วยการละเลยการพัฒนามนุษย์ หนี้ประชากรโดยปล่อยให้เพิ่มประชากรด้วยการไม่ควบคุม ซึ่งหนี้เหล่านี้ จะปล้นลูกหลานของเราในอนาคต
จะเห็นว่า ความยั่งยืนเป็นความจำเป็นของกระบวนการพัฒนา และจะต้องเป็นความยั่งยืนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนของบุคคล เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ทุกคนจะต้องได้รับโอการที่จะพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต
------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
มนุษย์ไม่ได้เป็นเครื่องมือของการพัฒนา แต่เป็นผลสุดท้ายของการพัฒนา
---------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น