วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์ มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายในความต้องการการเรียนรู้มีสาเหตุมาจาก ความต้องการเรียนเพื่อแสวงหาความรู้ เพื่อการนำความรู้ไปปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสันติสุข และเพื่อให้ตนเองอยู่ได้อย่างอิสระ

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น มนุษย์ต้องการการเรียนรู้อันเนื่องมาจากปัจจัยต่อไปนี้

เศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการค้านานาชาติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆของคนงานหลายล้านคน ซึ่งมีทั้งผู้จัดการ วิศวกร นักวิจัยทางการเกษตรและอุตสาหกรรม

ในหลายปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา มีคนเป็นจำนวนนับล้านที่ต้องสร้างงานใหม่ขึ้นมา และเป็นงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆ คนงานจะต้องมีสมรรถภาพในการแก้ปัญหา และมีมนุษยสัมพันธ์ในฐานะปัจเจกบุคคล รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่ที่แตกต่างวออกไป

ในประเทศอุตสากรรมเอง ก็มีการเพิ่มความต้องการการเรียนรู้มากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะทุกบ้านจำเป็นจะต้องมีเครื่องทุนแรง เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำความสะอาด เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องดูแลรักษาด้วยตนเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ชำนาญในเครื่องมือเหล่านั้น จึงต้องเรียนรู้ทั้งการซ่อมและติดตั้ง

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา รายได้ของครอบครัวเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ที่สำคัญ คือเรียนเพื่อต้องการรายได้เพิ่ม และเรียนเพราะไม่มีโอกาสเรียนในระบบโรงเรียน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน นอกจากนั้นโอกาสการมีงานทำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์

การเมือง เป็นความจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคน ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความรับผิดชอบ ในการที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง เป็นผู้ที่มีความกระจ่างแจ้งและสนใจประเด็นปัญหาต่างๆ ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

อนึ่ง ประชาธิปไตยที่มีประสิทธิผล ต้องการพลเมืองที่ยอมรับว่า ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด ก็โดยการเจรจาต่อรองประนีประนอม และคำนึงถึงประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆที่แตกต่างออกไป

พลเมืองในระบอบประชาธิแปไตย ต้องการการเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า สามารถที่จะเห็นปัญหาของท้องถิ่น ปัญหาของชาติ และปัญหาของโลกในระยะเริ่มแรก เพราะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการอยู่รอด

พลเมืองควรได้รับการศึกษา เพื่อเตรียมตัวที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทาง และย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลง มากกว่าที่จะปรับตัวตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงประการเดียว

สังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ใหม่ๆ เพราะแต่ละบุคคลจำเป็นจะต้องเพิ่ม ทัศนคติ ค่านิยม และทักษะที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เพราะสังคมปัจจุบันกำลังเพิ่มการแบ่งแยกเป็นกลุ่มมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้เพื่อหาวิธีการที่มีประสิทธิผล ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารระหว่างกัน

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือระหว่างชาติ มีผลมาจากการขาดการสร้างและรักษาความพอใจที่จะเกิดจากความสัมพันธ์กับคนอื่น ความไม่เชื่อถือต่อกัน ความเป็นศัตรู และการปฏิเสธ เหล่านี้จะต้องแก้ไขด้วยการเรียนรู้

เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอของเทคโนโลยี การเพิ่มสมรรภาพของการสื่อสารของโลก และกระบวนการผลิตใหม่ๆ ส่งผลกระทบไม่เฉพาะแรงงานที่ทำงานในภาคทันสมัยเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมขนาดย่อม ช่างฝีมือ และประชาชนในภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลทำให้เพิ่มความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆมากขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อการเป็นทรัพยากรมนุษย์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ในการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการการเรียนรู้ จะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศตนเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะลอกเลียนแบบการศึกษาของประเทศอื่น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะจะเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้เกิดการแปลกแยกและเกิดปัญหาต่างๆตามมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                              การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ
                                   แต่การจัดการศึกษาแบบผิดๆ ก็สามารถทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น