วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนา

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ แต่หากการจัดการศึกษาเพียงเพื่อให้สมาชิกในสังคมมีการศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการศึกษาจะไม่เอื้อต่อการพัฒนา และทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา

สำหรับการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนานั้น เป็นการศึกษาที่จัดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อไปนี้

1. เสริมสร้างความสำนึกทางสังคม การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะสร้างความสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยจัดการศึกษาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการผลิตพื้นฐานกับแง่มุมต่างๆของชีวิตในสังคม ทั้งนี้่ เพื่อให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม เพราะหากปราศจากความสำนึกทางสังคมแล้ว กระบวนการพัฒนาอาจเกิดขึ้นไม่ได้

2. สร้างความตระหนักในความเข้มแข็งและความภูมิใจ คนเราจะเกิดความรู้สึกภูมิใจ เมื่อรู้ว่าตนเองมีข้อดี มีความเข้มแข็ง ซึ่งการศึกษาจะต้องทำให้เกิดลักษณะนี้ขึ้นมา ด้วยการทำให้ผู้เรียนรู้จักคุณค่าของตนเอง

3. สร้างความรู้สึกร่วมและทักษะของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประการหนึ่ง  เพราะความรู้และทักษะของการอยู่รร่วมกันจะช่วยให้ประชาชนร่วมมือกันช่วยตัวเองอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็หาวิธีการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ริเริ่มการทำเพื่อส่วนรวม กิจกรรมที่ร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม เช่น การสหกรณ์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องจะต้องส่งเสริมให้มีขึ้น

5. เน้นการแสวงหาทรัพยากร ทรัพยากรในที่นี้ หมายรวมถึง ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจมีอยู่ในชุมชนนั้นหรือนอกชุมชนนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา

6. เชื่อมโยงการผลิต การศึกษาที่มีความหมายต่อการพัฒนา คือการศึกษาที่มีความหมาย มีประโยชน์ และเพิ่มศักยภาพในการผลิต การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับการผลิต เป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค หาประโยชน์ในการพัฒนาได้น้อย

7. สร้างบรรทัดฐานการลงโทษและกลไกการลงโทษทางสังคม การพัฒนาองค์การและสถาบันต่างๆจะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานการลงโทษที่อาศัยกลไกทางสังคม ซึ่งการศึกษาจะต้องสร้างลักษณะเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

8. สร้างทักษะการจัดการ ทักษะการจัดการเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต จะช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การตลาด ฯลฯ และ สังคม เช่น การจัดการรวมกลุ่มเป็นองค์การเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม เป็นต้น

9. สร้างระบบจัดการ ระบบจัดการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานร่วมกันจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมการจัดสรร  ตลอดจนดูแลติดตามให้คนในชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆอย่างทั่วถึง

10. สร้างสถาบัน หากสถาบันที่มีอยู่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการในการพัฒนา ก็จำเป็นจะต้องมีการสร้างสถาบันใหม่ขึ้นมา รวมทั้งสร้างกระบวนการปรับปรุงสถาบันเดิมให้เอื้อต่อการพัฒนามากยิ่งขึ้น

จะเห้นว่าการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนานั้นจะต้องเป็นการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในลักษณะต่างๆ หากละเลยด้านใดด้านหนึ่ง จะเป็นการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา และจะนำไปสู่ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชนและประเทศได้ อย่างเช่นการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไป จนละเลยการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ทำให้เกิดปัญหาภายในประเทศมากมาย และแทบจะทุกระบบของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

บรรทัดฐาน หรือ ปทัสถาน หมายถึง แบบแผนที่สังคมใช้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

สถาบัน หมายถึง สิ่งที่สังคมจัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของคน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ฯลฯ

********************************************************************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น