วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาไทย พ.ศ.2517

การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2517ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา"

คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่พิจารณาการศึกษาทั้งระบบและกระบวนการเพื่อตรวจสอบปัญหา พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง ให้การศึกษาสามารถสนองตอบความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระบอบประชาธิปไตย และเหมาะสมแก่กาลสมัย

คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอเอกสารชื่อ "แนวทางปฏิรูปการศึกษาสำหรับรัฐบาลในอนาคต"  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. สาเหตุที่ต้องปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการเห็นว่าควรมีการปฏิรูปการศึกษา ด้วยสาเหตุต่อไปนี้

          1.1 ปัญหาอันเกิดจากการเปลียนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ คือสภาพสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่การศึกษาไม่ได้จัดเพื่อปรับปรุงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น ตลอดจนไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพและการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างทางฐานะ เศรษฐกิจ และละทิ้งคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรให้ล้าหลัง

          1.2 ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้แนวความคิดของคนไทยเปลี่ยนไป เกิดแนวคิดเรื่องชนชั้น ความเสมอภาคในสังคม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ แนวคิดเหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รู้จักใช้เหตุผลพิจารณาปัญหาอย่างลึกซึ้ง

          1.3 ปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาเอง คือจุดมุ่งหมายการศึกษาของไทยมุ่งสร้างคนเพื่อรับราชการ และต่อมาเพื่อสร้างแรงงานชั้นสูงและชั้นกลาง เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ส่วนแนวคิดใหม่ทางการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างของระบบการศึกษาใหม่เป็นระบบเปิด หลักสูตรควรสอดคล้องกับวุฒิภาวะของเด็ก และตั้งอยู่บนความจริงของแผ่นดินไทย

2. แนวทางการปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาเสนอแนะไว้ดังนี้

          2.1 ลักษณะการศึกษาที่พึงประสงค์ จะต้องเป็นการศึกษาที่เสริมสร้างความรู้ ความคิด และความชำนาญ ให้คนไทยทุกคนรู้จักตนเอง รู้จักชีวิตและเช้าใจสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ตนร่วมอยู่ เพื่อให้สามารถครองชีวิตและประกอบกิจการงานได้ด้วยความรู้เท่าทัน แก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมได้ดีขึ้นอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

         2.2 ความมุ่งหมายการศึกษาที่พึงประสงค์ ได้แก่

               1) จะต้องสร้างสำนึกของความเป็นไทย และเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ

               2) ปลูกฝังให้บุคคลยึดมั่นในความสามารถ ความยุติธรรม รักอิสรภาพ รักการแสวงหาความจริง เคารพกฎหมาย และเคารพความเสมอภาคในสังคม

               3) ช่วยให้บุคคลเข้าใจและกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรับผิดชอบตอ่สังคมและตนเอง

               4) เสริมสร้างความรู้ความสามารถแก่บุคคลในสังคมเดียวกัน ให้สื่อสารเข้าใจกัน

               5) เสริมสร้างบุคคลให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ มีศีลธรรม มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดริเริ่ม และรู้จักใช้ความสามารถของตนให้เกิดผลดีต่อสังคม

               6) เสริมสร้างความรู้ความชำนาญ ความนิยมนับถือในงานอาชีพต่างๆ สามารถประกอบกิจการงานด้วยความรอบรู้เท่าทันและแก้ปัญหาได้

               7) เสริมสร้างให้บุคคลมีความรู้ความซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรม และวิทยาการต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์

          2.3 ผู้ที่ควรได้รับความสนใจและได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดการศึกษาของรัฐ รัฐจะต้องจัดการศึกษาเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน และมีโอกาสเท่าเทียมกันในการรับการศึกษา

          2.4 แนวทางในการบริหารจัดการศึกษา มีดังนี้

               1) จะต้องเน้นความเสมอภาคทางการศึกษา

               2) จะต้องจัดให้มีเอกภาพในการบริหารการศึกษา

               3) จะต้องเลือกสรรทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ

               4) จะต้องจัดให้มีการประสานสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาในโรงเรียนกับการศึกษานอกโรงเรียน

               5) จะต้องจัดให้มีสาระ กระบวนการเรียนรู้ มีความผสมผสานความงอกงามทางคุณภาพ จริยธรรม และปัญญา กับความเจริญทางวัตถุ

               6) จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทฐานะของครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

               7) จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดเวลา

3. เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการปฏิรูปการศึกษา มี 2 ประการ คิอ

          3.1 จะต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งในหลักการ ระบบ และกระบวนการ มีการกำหนดเวลาและขั้นตอนให้เหมาะสม

          3.2 จะต้องปฏิรูประบบแลโครงสร้างอื่นที่สัมพันธ์กับการศึกษา โดยให้เกื้อกูลซึ่งกันและกันกับการจัดการศึกษาตามแนวใหม่

จะเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2517 มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดลอม ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทย และปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาเอง และด้วยเหตุจากการเปลี่ยนแปงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และการศึกษาเพื่อชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคำ

                                          คนชั่วไม่เพียงทำลายผู้อื่น แต่ทำลายตัวเองด้วย

                                                                                             โสเครตีส

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น