วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

ข้อคิดเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษา

ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา ได้ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า การศึกษาที่ดีกว่าและมีคุณภาพสำหรับทุกคนเท่านั้น ที่จะทำให้ความยากจนหมดไปและทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาเหล่านี้ ไม่อาจจัดการศึกษาในลักษณะที่มากขึ้นแต่เหมือนเดิม( more of the same) ได้อีกต่อไป แน่นอนว่าเมื่อสังคมให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการศึกษามากชึ้น การวิจารณ์การศึกษาในแง่มุมต่างๆจึงเกิดขึ้นตามมา

มีผู้วิจารณ์ว่าการศึกษาสมัยนี้เสื่อมลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งผู้วิจารณ์ประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่มองแต่เรื่องดีๆในอดีต ในช่วงที่ผู้วิจารณ์กำลังเรียนหนังสืออยู่ เช่น วิจารณ์ว่าสมัยก่อนหลักสูตรมีเนื้อหาที่เป็นแก่นสาร ครูทุ่มเทในการสอน ครูมีความสำนึกต่อหน้าที่ ครูเป็นผู้รักษาวินัย และเรียกร้องเรื่องมาตรฐาน นักเรียนเองก็เรียนอย่างจริงจัง ทำงานหนักและมีความรู้ที่แน่นกว่าเด็กสมัยนี้ คำวิจารณ์ลักษณะนี้ตั้งอยู่บนความคิดของคุณภาพที่หยุดนิ่งอยู่กับที่

เป็นความคิดที่ผูกติดอยู่กับมาตรฐาน ซึ่งผู้วิจารณ์ถือว่าเป็นความจริงอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นความคิดที่ผู้วิจารณ์ยึดถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงามและถูกต้องทุกสมัย ทุกสถานที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและกฎเกณฑ์ที่ยึดถือมาตั้งแต่ดังเดิมจึงเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง ความคิดลักษณะนี้เป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาโดยความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน สัมพันธ์ในแง่ของเวลา ผู้เรียน และสถาพแวดล้อม อะไรเป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาในฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือไทย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แน่นอนว่าไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันหรือผู้เรียนในคริสต์ศตวรรษที่ 21

การตัดสินว่าระบบการศึกษาใดมีคุณภาพหรือไม่ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าเป็นการศึกษาเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร จึงเป็นความผิดพลาดที่เปรียบเทียบเรื่องคุณภาพการศึกษา ระหว่างระบบการศึกษาของประเทศที่แตกต่างกัน หรือแม้ประเทศเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก็ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้

นอกจากนั้น มักจะเข้าใจผิดว่าการจัดการศึกษามากๆจะเป็นการศึกษาที่แย่ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะการศึกษาเพื่อมวลชนย่อมจัดการได้ยากกว่าการจัดการศึกษาเพื่อชนชั้นสูง แต่ไม่ได้หมายความว่า การศึกษาเพื่อมวลชนจะทำให้มีคุณภาพไม่ได้

การประเมินการปฏิบัติงานของโรงเรียนเช่นกัน มักจะมีแนวโน้มที่จะประเมินปัจจัยภายในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ราวกับว่าโรงเรียนอยู่ในสูญญากาศทางสังคม จริงอยู่ปัจจัยภายในโรงเรียนมีความสำคัญมาก แต่ปัจจัยภายนอกก็มีความสำคัญต่คุณภาพและมาตรฐานของสถาบันการศึกษาเช่นกัน

ปกติปัญหาคุณภาพการศึกษาเกิดจากเหตุเบื้องต้น 2 ประการ คือ

      1. เกิดจากความแข็งตัวของระบบการศึกษา ที่ไม่ปล่อยให้หลักสูตรและเนื้อหาวิชาได้ก้าวหน้า ในขณะที่โลกแห่งความรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปในอัตราที่รวดเร็ว

      2. เกิดจากการที่ประเทศกำลังพัฒนานำรูปแบบการศึกษามาจากประเทศพัฒนา ซึ่งไม่เหมาะกับความต้องการ สภาพแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศอย่างอย่างแท้จริง

เหล่านี้เป็นสาเหตุเบื้องต้น ที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

นั่นคือ การจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เป็นการศึกษาเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร ไม่ใช่คิดแต่จะลอกเลียนระบบการศึกษาจากประเทศพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ จนนำไปสู่การสูญเปล่าทางการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

                           The enemy of the best is often the good.

                                                                           Stephen R.Covey.

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น