วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน

ความคิดและความเชื่อ จะเกี่ยวข้องกับ ความเข้าใจ การรับรู้ ทัศนะ และการยอมรับของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่างๆ  ตามข้อมูลที่บุคคลนั้นมีอยู่

ปกติบุคคลจะได้รับข้อมูลจากการสั่งสอนอบรมทางวัฒนธรรม ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นตัวกำหนดแนวความคิดและความเชื่อต่างๆให้คนในแต่ละสังคม มีโลกทัศน์ การรับรู้ และทัศนะ ที่มีต่อสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน จึงมีผลให้คนในแต่ละสังคมมีพฤติกรรมทางวัฒนธรรมไม่เหมือนกันด้วย

การมีแนวความคิดและความเชื่อที่ต่างกัน ทำให้ความหมายของการทำงานต่างกัน และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการทำงาน จะผันแปรไปตามวัฒนธรรม

ในแทบทุกวัฒนธรรม การทำงานมีความหมายนอกเหนือไปจากการตอบแทนทางเศรษฐกิจ ในสังคมหนึ่งอาจมองว่า "งาน" หรือ "การทำงาน" เป็นเสมือนการลงโทษ เป็นความจำเป็นที่ชั่วร้าย ในขณะที่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เห็นว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน การทำงานเป็นคุณความดี  ความสำเร็จในการทำงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

สำหรับความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน นั้น คนไทยไม่เชื่อว่าการทำงานเป็นความดีในตัวมันเอง ในตรงกันข้าม คนไทยจะให้ความสำคัญอย่างมากกับสิ่งที่ให้ความสนุกสนาน การทำให้เกิดความสนุกสนาน ถ้าทำให้เกิดบ่อยๆได้  ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ความคิดในลักษณะนี้ ทำให้คนไทยขาดความจริงจังที่จะทำงาน เข้าลักษณะ "ทำก็ชาม ไม่ทำก็ชาม"

โดยพื้นฐาน คนไทยเชื่อว่าโลกไม่ได้โหดร้ายต่อมนุษย์ คนไทยจึงมีลักษณะเป็นคนใจเย็น  รวมทั้งใจเย็นต่อการทำงาน ความรับผิดชอบ และความยากลำบาก มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่กระตือรือร้นขวนขวายทำการงาน ทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ไม่คิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ไม่กล้าทำงานเสี่ยงที่ได้ผลไม่แน่นอน แต่ถ้ามีผลประโยชน์มากกว่า คนไทยอาจทำงานได้นาน และทำงานหนักได้ตามเงื่อนไขที่จำเป็น

คนไทยมีปรัชญาชีวิตแบบ "Fatalism" ที่คิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องตายแน่ เป็นการยอมรับชนิดที่ไม่คิดเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือหาทางควบคุม อะไรที่เป็นธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้  คนไทยจึงไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขธรรมชาติ หากแต่พยายามปรับตัวให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ และเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องหา"กำไร" จากชีวิต เพราะยังไงก็ต้องตาย ตายไปแล้วก็ไม่สามารถเอาสมบัติติดตัวไปได้ เงินทองที่หามาได้จาการทำงาน ควรใช้จ่ายเพื่อหาความสุขให้กับชีวิต ความคิดในลักษณะนี้ ทำให้คนไทยขาดการดิ้นรน ขาดลักษณะการประหยัด อันเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนา

คนไทยเชื่อว่า การทำบุญทำให้เกิดความร่ำรวย คนที่มีความร่ำรวยมากแสดงว่าทำบุญมามาก การทำบุญเป็นความเชื่อของคนไทย ใช้อธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน อาทิ ความยากจน สุขภาพอนามัย ความทุกข์ยาก ความสุข ฯลฯคนที่ทำบุญมากจะมีสภาพทางสังคมสูง  คนไทยเชื่อในเรื่องบุญ มากกว่าจะเชื่อในการใช้ความพยายามอย่างมีระบบเพื่อทำงาน เพื่อการสะสมทุน อันนำไปสู่การลงทุนเพื่อการผลิตทางเศรษฐกิจ

คนไทยมีความคิดว่าการใช้แรงกาย หรือสติปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหา ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ความดีหรือความชั่วของมนุษย์ทั้งมวล เป็นผลมาจากความดีความชั่วในอดีต

คนไทยเชื่อว่าชะตาหรือโชคชะตา เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของแต่ละคน ความสำเร็จอันเกิดจากการวางแผนมีน้อยมาก แม้จะวางแผนดีอย่างไรก็ตาม ถ้าโชคไม่ดีบุคคลจะประสบความล้มเหลว ความเชื่อในเรื่องโชคชะตาทำให้คนไทยไม่ดิ้นรน ปล่อยให้ชีวิตไปตามโชคชะตาและบุญกรรม

ความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน สรุปได้ว่า

          1. คนไทยคิดว่าความสุขเป็นกำไรของชีวิต จึงมักจะหาความสุขให้กับชีวิตทุกครั้งที่มีโอกาส แม้ในขณะที่ทำงาน

          2. คนไทยใจเย็น ขาดความกระตือรือร้น จึงทำให้เป็นคนขาดความจริงจังในการทำงาน

          3. คนไทยคิดว่าการทำงานไม่มีความดีในตัวมันเอง คนทั่วไปอาจเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องทำงาน คุณค่าของงานขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่จะได้รับ

          4. คนไทยเชื่อในเรื่องบาปบุญ เชื่อกฎแห่งกรรม และนำความเชื่อเรื่องนี้ไปใช้ในการอธิบายความร่ำรวย ความยากจน ความทุกข์ยาก ตลอดจนความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิต
                                                         (มีต่อ)
                   -----------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 -------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

การทำงานหนักอย่างเต็มที่ตลอดเวลา คนไทยกลับถือว่าเป็นทุกข์ หรือเป็นความลำบากอย่างมาก ใครใช้ชีวิตแบบนี้ ในสายตาของคนไทยถือว่าเป็นคนมีกรรม

                                                                        สนิท  สมัครการ
                              ----------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น