วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะของคนที่รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น

ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น เป็นความรู้สึกที่แสดงถึงบุคคลไม่นับถือตนเอง หรือเป็นความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไม่มีคุณค่า เป็นความรู้สึกที่เกิดจาการประเมินคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับ ความดี ความมีคุณค่า และความสำคัญตน ด้วยตนเอง

ความรู้สึกที่ว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น จะส่งผลในลักษณะต่อไปนี้

เป็นคนที่ไม่ยอมรับว่าตนเองมีค่า จะแสดงออกถึงความคับข้องใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เป็นคนที่พยามชดเชยความรู้สึกที่ด้อยความสามารถ ด้วยการกระทำที่แสดงถึงการมีปมด้อย และมีผลในเชิงลบต่อบุคลิกภาพ

เป็นคนที่อาจทำให้ตนเองด้อยลงอย่างต่อเนื่อง แม้ตนเองจะประสบความสำเร็จก็ตาม

เป็นคนที่อาจจะมีความทุกข์ อันเกิดมาจากอาการทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่น วิตกกังวล กลัว นอนไม่หลับ ปวดหัว กัดเล็บ ใจสั่น ฯลฯ

เป็นคนที่รู้สึกตื่นกลัว ไม่สบายเมื่อยู่ในสังคม และทำทุกอย่างเพื่อกลบเกลื่อนความอาย และต้องการการยอมรับจากสังคมอย่างมาก

เป็นคนที่มีแนวโน้มที่จะชักจูงได้ง่าย และมีความโน้มเอียงที่จะทำตัวให้เหมือนคนอื่น

เป็นคนที่มีทัศนคติที่ทำให้ตนเองพ่ายแพ้  เกิดความรู้สึกไร้ค่า

นอกจากนั้น ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับสติปัญญา อารมณ์ การจูงใจ พฤติกรรม และความไม่มีระเบียบ

สำหรับสัญญาณและอาการ  ที่บ่งบอกถึงความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น มีดังนี้

หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคำวิพาษ์วิจารณ์เป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตน ที่ทำให้ตนเกิดความเจ็บปวด

ตอบสนองต่อการยกย่องเกินจริง เพราะการยกย่องสรรเสริญทำให้คนที่รู้สึกด้อย มีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ชอบการวิจารณ์คนอื่นจนเกินเหตุ เพราะการวิจารณ์คนอื่นเป็นการป้องกันตัวและเบนความสนใจไปที่อื่น การวิจารณ์คนอื่นเป็นอาการของความก้าวร้าว ใช้เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกด้อย

มีแนวโน้มที่จะตำหนิคนอื่น เพราะการตำหนิทำให้คนอื่นต่ำลง ขณะเดียวกันก็เป็นการยกตัวเองให้สูงขึ้น

มีความรู้สึกว่าตนถูกกลั่นแกล้ง เป็นความเชื่อ ที่เชื่อว่าคนอื่นกำลังทำให้ตนต่ำ เช่น ถ้าครูให้เกรดต่ำ ก็คิดว่าครูไม่ชอบหน้าตน

มีความรู้สึกเกี่ยวกับการแข่งขันในเชิงลบ แม้อยากจะเป็นผู้ชนะเหมือนคนอื่นๆ แต่กลับมองการแข่งขันในแง่ไม่ดี โดยมองว่าเป็นการสร้างความแตกแยก หรือที่คนอื่นชนะเพราะโชคดี เพราะเป็นคนโปรด และหากมีทัศนคติในเชิงลบต่อการแข่งขันสูง ก็จะปฏิเสธการแข่งขันในทุกเรื่องไปเลย

มีแนวโน้มที่จะถูกชักจูงและยอมรับอิทธิพลได้ง่าย เพราะการทำตามความเห็นของคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

มีแนวโน้มที่จะแยกตัวขี้อายและขี้ตื่น  ความรู้สึกด้อยปกติจะคู่กับความกลัวระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น  จึงชอบทำตัวลึกลับ เพราะหากไม่มีใครเห็นหรือได้ยิน จะทำให้รู้สึกปลอดภัย

มีความต้องการทางประสาทเพื่อการเป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นมากเกินเหตุ  พยายามปรับปรุงตนเองเต็มที่เพราะกลัวความล้มเหลว และการวิพากษ์วิจารณ์ที่จะตามมา ซึ่งเป็นความต้องการในลักษณะที่เป็นอาการทางประสาท(neurotic perfectionist) คือ แม้ว่าตนเองจะทำดีที่สุดแล้ว แต่ไม่เคยเห็นว่าดีพอ อย่างน้อยก็ในสายตาของตัวเอง

ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น  จะแตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่วนจะมากหรือจะน้อยขึ้นอยู่กับการคิดของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ลองสำรวจตัวเองดูสิว่า ตนเองได้รับรู้ถึงสัญญาณและอาการดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ควรจะต้องหาทางแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำเนินชีวิต วิธีง่ายๆที่ใช้แก้ไขความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยการคิดในเชิงบวก และการมองโลกในแง่ดี แค่นี้ก็จะช่วยแก้ไขความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นได้มาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                             สาระคิด

    All your behavior is shaped by who and what you think you are.

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น