วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โรงเรียนกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน

ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน โดยมีความรู้และทักษะเพื่อการทำงานมากกว่าสถาบันใดๆ

ส่วนครอบครัว ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญมาแต่เดิมนั้น ปัจจุบันไม่อาจสร้างประสบการณ์การทำงานได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป

แต่จากการศึกษาพบว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการผลิตคนเพื่อการทำงาน ทำหน้าที่ได้แค่เพียงการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ทำอะไรไม่ค่อยเป็น หรือไม่ค่อยทำอะไร ตลอดจนรังเกียจงานที่ต้องใช้แรงงาน  แม้แต่การทำงานในสำนักงานก็เป็นพนักงานที่ขาดระเบียบวินัย

นอกจากนั้น การศึกษาในสถาบันการศึกษา ยังก่อให้เกิดผลในลักษณะต่อไปนี้อีกด้วย คือ

               1) การเรียนการสอนไม่ได้สร้างทักษะเพียงพอ

               2) โรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะจบการศึกษาไปโดยปราศจากการฝึกอบรมเพื่อการทำงานอาชีพ

               3) กระบวนการเรียนการสอนตามตำรา ทำให้ได้ผู้จบการศึกษาที่มีทัศนคติชอบการทำงานในสำนักงาน

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่ต้องปรับปรุงระบบการศึกษาในโรงเรียนเสียใหม่ ซึ่งแนวทางการปรับปรุงอาจทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

               1) ควรปรับปรุงหลักสูตรแต่ละระดับ ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ไม่รู้สึกแปลกแยก เมื่อจบการศึกษาจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง และผลที่ได้จากการปรับปรุงหลักสูตรในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและรักท้องถิ่นของตนเองแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นช่องทางที่จะประกอบอาชีพต่อไปภายหน้าอีกด้วย

               2) จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงานในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรในลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้
                    ลักษณะที่ 1 จัดหลักสูตรโดยรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกับการทำงาน เป็นลักษณะการเรียนครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่ง ผู้เรียนต้องเรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป
                    ลักษณะที่ 2 จัดหลักสูตรโดยการเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ เป็นการสอนเฉพาะที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง หรือสอนทุกสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่สอนเพียงเพื่อให้รู้
                    ลักษณะที่ 3 จัดหลักสูตรโดยการกำหนดเนื้อหาจากปัญหาในการปฏิบัติและมีความจำเป็นจะต้องแก้ปัญหานั้น ซึ่งจะต้องเริ่มด้วยการที่โรงเรียนสำรวจปัญหาของชุมชน แล้วหาทางแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

จะเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน มุ่งให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับโลกของการทำงาน

 อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงานมิได้มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำงาน รักงาน มองเห็นช่องทางการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพในภายหน้า

               3) การเรียนการสอนควรเปลี่ยนวิธีการจากการบอก มาให้เด็กปฏิบัติจริง ควรให้เด็กมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ควรลดการป้อนเนื้อหา  ทุกวิชาจะต้องมีการปฏิบัติควบคู่ไปด้วยเสมอ การวัดผลการศึกษาจะต้องวัดทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติควบคู่กันไป การเรียนการสอนครูควรเน้น"การเสนอแนวปฏิบัติ"มากกว่า"ห้าม"

               4) ครูไม่ควรสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับนักเรียน อาจจำเป็นจะต้องจัดอบรมครู เพื่อการเปลี่ยนแปลง แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานเสียใหม่ เพราะหากครูยังมีความคิดแบบดั้งเดิม ย่อมยากที่จะเปลี่ยนความคิดของนักเรียนได้ นอกจากนั้น ควรมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ"การศึกษาเพื่อการทำงาน" ทั้งนี้ เพื่อให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ของวิชา

               5) จัดให้มีการแนะแนวอาชีพทุกระดับชั้น ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นช่องทางการทำงาน ตลอดจนช่วยให้เด็กมีข้อมูลเพียงพอที่จะช่วยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม  การจัดบริการแนะแนวอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ  ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กสนใจการทำงานมากขึ้น

จะเห็นว่า การจะพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ให้มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนการมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม โรงเรียนมีบทบาทสำคัญ หากโรงเรียนมุ่งแต่การให้ความรู้ทางด้านทฤษฎี โดยไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติจริงดังที่ผ่านมา เชื่อได้เลยว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของคนต่างชาติอย่างแน่นอน 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

การเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย เน้นความรู้ เน้นการแข่งขัน การเรียนการสอนในโรงเรียน จึงพยายามปรับปรุงให้สอนความรู้มากขึ้น ให้ดีขึ้น  ครูแต่ละคนต่างก็มีหน้าที่กรอกน้ำของตนลงขวด  โดยไม่สนใจเด็กแต่ละคน(ขวดแต่ละใบ)  จนทำให้เด็กไม่รู้จักหาความรู้ด้วยตนเอง
                                                                              สมาน  แสงมลิ
*****************************************************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น