วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นดรรชนีชี้วัดการพัฒนา  ที่ตรงกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือกว่าดรรชนีอื่นๆแต่เพียงตัวเดียว

เป็นที่ยอมรับกันว่า ประเทศด้อยพัฒนาเพราะประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา ไม่มีโอกาสขยายศักยภาพและสมรรถภาพ เพื่อทำงานพัฒนาและบริการสังคม

ด้วยเหตุนี้ หากประเทศใดขาดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบต่างๆดังกล่าวแล้วจะเป็นไปได้ยาก 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คืออะไร  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการเพิ่ม ความรู้ ทักษะ และสมรรถวิสัย ให้กับมนุษย์ในสังคม 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสร้างสมทุนมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมคนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่งคั่ง มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติที่เหมาะสม

นอกเหนือจากการใช้การศึกษาแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถทำได้ด้วยการจัดให้มีบริการสาธารณะสุขและการแพทย์ที่ดี การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงภาวะโภชนาการ และการอพยพย้ายถิ่น

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่บทบาทสำคัญกว่าวิธีการอื่นๆ  การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สามารถใช้ได้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการพัฒนาตนเอง

การศึกษาในระบบ หมายถึง การศึกษาในระบบโรงเรียน โดยเริ่มตั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นอุดมศึกษา ปกติเมื่อพูดถึงการศึกษา คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการศึกษาในระบบนี่เอง

การศึกษานอกระบบ หมายถึง การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบเปิด เป็นการศึกษาที่ช่วยสร้างความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพ ให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและบริการด้านอื่นๆ

การพัฒนาตนเอง เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหา ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ เป็นการศึกษาที่เกิดจากอิทธิพลทางบ้าน สังคม และสื่อต่างๆ

ในการวางแผนเพื่อจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน จำเป็นจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจน

          1. การจัดการศึกษาภาคบังคับ ควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ หรือ ปริมาณ

          2. ระดับอุดมศึกษา  จะให้ความสำคัญกับการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ จะให้ความสำคัญกับ วิชา นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์

          3. การพัฒนาทักษะ  จะพัฒนาก่อนทำงาน หรือ จะพัฒนาในระหว่างทำงาน

          4. การสร้างแรงจูงใจทางการศึกษา จะใช้โครงสร้างของค่าจ้างและเงินเดือน หรือ ปล่อยให้เป็นเรื่องของตลาดแรงงาน

          5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ควรเป็นไปเพื่อสนองความต้องการและความปรารถนาของแต่ละบุคคล  หรือ สนองความต้องการและความปรารถนาของรัฐ

การตอบคำถามดังกล่าว จำเป็นจะต้องคำนึงถึง งบประมาณ ทรัยากรทางการศึกษา ลักษณะของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของแต่ประเทศ หากตอบผิด การศึกษาจะก่อให้เกิดปัญหาต่อไปนี้คือ

          1. ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนา

          2. ปัญหาเรื่องกำลังคนเหลือเฟือ ที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่ผลิตได้ไม่เต็มที่

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในการสร้งหลักสูตรหรือโปรแกรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศหนึ่งประเทศใด จะต้องมีการประเมินในเรื่องต่อไปนี้

          1.ความต้องการกำลังคนในระดับต่างๆ เป็นการคาดคะเนการใช้กำลังคนในอนาคต ว่าต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าใด

          2. การศึกษาในระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีมากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร

          3. สถาบันสำหรับการฝึกอบรมระหว่างประจำการ และการศึกษาผู้ใหญ่ มีมากน้อยเพียงใด

          4.โครงสร้างของแรงจูงใจให้บุคคลเข้ารับการศึกษาเหมาะสมหรือไม่ และการใช้ประโยชน์จากกำลังคนระดับสูงมากน้อยเพียงใด

จะเห็นว่าการใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น  ใช่เพียงแค่เปิดสถานศึกษาหรือให้บริการศึกษาเพียงพอเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความต้องการกำลังคนที่สอดคล้องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประกอบด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                 สาระคิด

you cannot teach a man anything. You can only help him discover it within himself.
                                                              Galileo Galilei
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น