วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

การทำงานกับการพัฒนา

การทำงานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา เพราะการทำงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนบุคคล สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ดังรายละเอียดที่แสดงถึงความสำคัญของการทำงานที่มีต่อการพัฒนาดังต่อไปนี้

การทำงานเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการที่จะพัฒนาบุคคลและสังคม ถ้าคนยิ่งมีความสนใจที่จะทำงานมากขึ้นเท่าใด ไม่เพียงแต่จะมีสมรรถภาพในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น แต่จะยิ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย

เพราะการทำงานทำให้เกิดผลผลิต สังคมใดสมาชิกในสังคมทำงานหนัก สังคมนั้นจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาจึงอยู่ที่การทำงานของคน เพราะการทำงานของคน  ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  และการสะสมทุน  นอกจากนั้น การทำงานยังทำให้เกิดองค์การทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ

ประเทศที่พัฒนาในด้านต่างๆ จะประกอบด้วยคนส่วนใหญ่ที่มีความขยันขันแข็งในการทำงาน ในสังคมพัฒนา คนส่วนมากจะมีสมรรถภาพและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง  มีทัศนคติที่ไม่ล้าหลัง เป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย มีความรู้ความชำนาญในหน้าที่การงาน ตลอดจนมีค่านิยมที่เหมาะสม เช่น นิยมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยไม่คำนึงว่างานที่ทำนั้นเหมาะสมกับเกียรติของตนหรือไม่

สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างตัวอย่างประเทศที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การทำงานด้วยความขยันขันแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวหน้ากว่าประเทศที่ประกอบด้วยคนที่ไม่ค่อยจริงจังกับการทำงาน

ส่วนในสังคมด้อยพัฒนา มักจะประกอบด้วยคนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสังคมที่พัฒนา คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน  เห็นว่าการทำงานไม่ใช่สิ่งจำเป็น ขาดระเบียบวินัย ไม่รู้คุณค่าของเวลา ฯลฯ เช่น พวกมองโกเลีย ผู้หญิงเท่านั้นที่ทำงานหนัก ส่วนผู้ชายจะใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการดื่มน้ำชา และพูดคุยกับเพื่อนฝูง คนไทย คนเขมร และคนลาว ชอบการมีอิสระ ไม่ชอบการทำงาน

จากการวิจัยของนักสังคมศาสตร์ ชื่อ แมรี ดักลาส (Mary Douglas) สรุปได้ว่า การมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน มีผลทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

แมรี ดักลาสได้ศึกษาวิจัยคนสองเผ่าในทวีปแอฟริกา คือเผ่าเลเล (Lele) และเผ่าบูชอง (Bushong) โดยทั้งสองเผ่าอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ใกล้เคียงกัน  โดยมีถิ่นฐานอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำเคไซ (Kasai River)

จากการศึกษาพบว่าทั้งสองเผ่ามีความแตกต่างในระดับการพัฒนามาก คือ เผ่าเลเลนั้นมีความยากจนอย่างเห็นได้ชัด แต่เผ่าบูชองมีระบบเศรษฐกิจที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างดี มีทรัพย์สินมากมาย แมรี ดักลาส สรุปว่า ลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันของคนสองเผ่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให่ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองเผ่าแตกต่างกันออกไป

เผ่าบูชอง ถือหลักเสมอภาคทางเพศ ชายหญิงเท่าเทียมกัน มีการแบ่งงานกันทำอย่างมีระบบ นิยมการทำงานที่เพิ่มผลผลิตให้แก่สังคม มีการแข่งขันกัน การมีทรัพย์สินมากถือว่าเป็นของดี เพราะทรัพย์สินนำไปสู่การมีอำนาจ

ส่วนเผ่าเลเลผู้ชายที่มีอายุเลยวัยกลางคนเล็กน้อย(อายุ 56 ปีขึ้นไป) จะได้รับประโยชน์จากสังคมมากมาย โดยไม่ต้องทำงาน มีภรรยาและลูกเขยทำงานแทน หญิงชาวเลเลต้องทำงานหนักกว่าชาย งานที่ทำได้แก่ งานบ้าน งานเกษตรกรรม หาของป่า ตักน้ำ เป็นต้น ผู้ชายชาวเลเลจะแต่งงานได้ต่อเมื่ออายุเกิน 30 ปี เมื่อแต่งงานแล้วจึงจะเริ่มสร้างครอบครัวและทำงานเกษตรกรรม ซึ่งเป็นงานที่เพิ่มผลผลิตให้แก่สังคม แต่ชาวเลเลก็ไม่นิยมทำงานเกษตร เพราะเห็นว่าเป็นงานที่มีเกียรติน้อยกว่าการล่าสัตว์  แต่เกษตรกรรมเป็นงานที่จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีอะไรจะกิน จึงจำใจต้องทำ โดยทำเพียงปีละครั้ง ผลผลิตจึงได้น้อย ไม่พอกับความต้องการของคนในเผ่า ความอดอยากจึงเกิดขึ้น

กรณีของประเทศมาเลเซีย ก็แสดงให้เห็นเช่นเดียวกันว่า การมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้สมาชิกในกลุ่มสังคมเดียวกันนั้น มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่างกัน คือ ประเทศมาเลเซียประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีเชื้อสายต่างกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีเชื้อสายมาเลย์ จีน และอินเดีย คนเชื้อสายมาเลย์เป็นคนพื้นเมืองเดิม ส่วนคนจีนและคนอินเดียเพิ่งจะอพยพเข้ามาในตอนหลัง คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ ต่างก็ทำงานอยู่ในสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆเหมือนๆกัน แต่เนื่องจากการมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกัน ผลจึงปรากฎว่า แทนที่จะเป็นคนมาเลย์ กลับเป็นคนจีนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปัจจุบัน

จากตัวอย่างจะเห็นว่า ความสำเร็จของการพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมหัศจรรย์ หรืออำนาจลึกลับอะไรทั้งสิ้น หากขึ้นอยู่กับพลังการทำงานของคนส่วนใหญ่ในสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 นั่นคือ การทำงานนอกจากจะเป็นการกระทำที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์แล้ว ยังเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้า่นต่างๆอีกด้วย
---------------------------------------------------------------------------------

                                               สาระคำ

การทำงานของมนุษย์แตกต่างไปจากการกระทำตามสัญชาตญาณของสัตว์ การทำงานของมนุษย์นั้นจะมีผลิตผลปรากฎในสมองก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ

                                                                  John W. Donahue
******************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น