วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทยเป็นอย่างไร

นักมานุษยวิทยายอมรับว่า ค่านิยมมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ค่านิยมเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ทำหน้าที่กำหนดวิถีการดำเนินชีวิต เป็นแกนของระบบสังคม เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับบุคคลในสังคมที่จะเข้าใจ และรับรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ในสังคม

ค่านิยมเป็นมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของมนุษย์ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก เป็นตัวกำหนดว่า  อะไรถูก  อะไรเหมาะ  ที่จะปฏิบัติ    ที่จะเชื่อ ค่านิยมจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกของบุคคล ตลอดจน บอกให้ทราบถึงความต้องการและเป้าหมายของบุคคลและสังคม

ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากคนเราจะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญที่จูงใจคนเราให้ทำงานคือค่านิยม

วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดค่านิยมในการทำงานให้แตกต่างกัน และเนื่องจากแต่ละสังคมมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน

สำหรับค่านิยมเกี่ยวกับการทำงาน จากการศึกษาพบว่า ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทยมีลักษณะ ดังนี้

ระบบค่านิยมแบบไทย มีแนวโน้มในทางส่งเสริมพฤติกรรมทางจิตและสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางจิตใจ  อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเจริญแก่จิตใจมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีค่า อะไรที่มีค่าต่อจิตใจมาก คนไทยจะนิยมมาก การเน้นคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ค่านิยมทางวัตถุลดความสำคัญลง ซึ่งจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ทำให้การทำงานมีความสำคัญน้อยลงเช่นเดียวกัน

สังคมไทยมีค่านิยมที่เน้นการวางเฉย คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น วางเฉยต่อสถานการณ์ทุกอย่าง ลักษณะการวางเฉยทำให้เกิดลักษณะการทำงานที่เน้นอิสระ ขาดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน และลักษณะการวางเฉยทำให้ขาดความกระตือตือร้นที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ

คนไทยมีค่านิยมต้องการความสนุก การดำเนินชีวิตแบบไทยจึงเน้นความสนุกเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงอนาคตมากนัก คนไทยจะหลีกเลี่ยงการกระทำหรือกิจกรรมที่ไม่สนุก กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมาก หรือที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสมำ่เสมอ เป็นกิจกรรมที่ไม่สนุก คนไทยจึงไม่ต้องการจะทำ

ความสนุกเป็นค่านิยมของคนไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก เป็นค่านิยมที่ต้องการความพอใจและความสุข ไม่ว่าในขณะพักผ่อนหรือทำงาน คนไทยอาจหยุดปฏิบัติภาระหน้าที่ที่มีประโยชน์ ถ้าการปฏิบัตินั้นไม่ทำให้เกิดความพอใจหรือสนุก

คนไทยถือว่า ความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงต่างๆเป็นกำไรของชีวิต ถ้าขาดสิ่งเหล่าสนี้ ชีวิตก็เหลือแต่ทุนหรือขาดทุน ซึ่งหมายถึงชีวิตต้องอยู่ในสภาพเคร่งขรึมเอาจริงเอาจังตลอดเวลา อยู่อย่างเงียบๆเหงาหงอย ซึ่งแน่นนอนว่าค่านิยมในลักษณะนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงาน อันเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม

คนไทยนั้นให้ความสำคัญของค่านิยมส่วนบุคคล จึงทำให้เกิดลักษณะปัจเจกชนนิยม คนไทยจึงแทบจะไม่ผูกมัดกับเป้าหมายของสังคม เกิดการวางเฉย ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่จำเป็นสำหรับสังคมที่จะเข้าไปสู่ภาวะทันสมัย

คนไทยยังมีค่านิยมค่อนข้างสูงสำหรับผู้ที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ได้รวดเร็ว  แต่ไม่ค่อยนิยมคนที่สร้างโอกาสด้วยความยากลำบาก หรือร่วมมือกับคนอื่นๆเพื่อใช้ความพยายามทำอะไรสักอย่างหนึ่ง

คนไทยชอบฟังคำสั่งมากกว่าจะริเริ่มเอง ถ้าไม่สั่งก็ไม่ทำ ชอบปะทะคารม แต่ไม่ชอบการทำงาน ไม่ค่อยรับผิดชอบในการทำงาน แต่ชอบเงิน  ชอบลงทุนในกิจกรรมสนุกมากกว่ากิจกรรมพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

คนไทยไม่นิยมขวนขวายต่อสู้ดิ้นรนทำงานหนักเพื่อความสำเร็จในชีวิต คนไทยชอบทำงานเบาๆที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ชอบมีฐานะขึ้นอยู่กับคนอื่น มีเงินเดือนกิน ไม่นิยมทำงานที่ใช้มือใช้แรงงาน และการใช้ความสามารถที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ

คนไทยไม่นิยมเป็นพ่อค้า ถ้าจะดำเนินงานทางธุรกิจ คนไทยจะยึดความโก้เก๋ในการดำเนินงานมากกว่าเนื้อหาของงานที่แท้จริง งานที่เป็นกำไรจากประสิทธิภาพและความยืนนานของกิจการนั้นๆ

คนไทยเลือกงานเป็นอันมาก ไม่ชอบเดินทางในที่ห่างไกลความเจริญหรือห่างครอบครัว คนไทยต้องการทำงานที่เป็นเจ้าใหญ่นายโต ไม่ชอบประกอบธุรกิจด้วยตนเองให้เป็นล่ำเป็นสัน  แต่ชอบทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่น ไม่ชอบเสี่ยง หนักไม่เอาเบาไม่สู้

สังคมไทยนั้นมีค่านิยมในความสะดวกสบาย เป็นค่านิยมที่แพร่หลายและปลูกฝังกันโดยไม่รู้สึกกัน นอกจากนั้น คนไทยยังมีค่านิยมที่จะทำกิจกรรมแต่พอเสร็จ ไม่มุ่งความเยี่ยมยิ่ง นิยมอภัยความบกพร่องกันง่ายๆ ในครอบครัวไทยทั่วๆไป มีค่านิยมที่ไม่ต้องทำอะไรให้เรียบร้อยบริบูรณ์ เด็กๆเห็นการกระทำเช่นที่ว่านี้บ่อยๆ  เกิดความเคยชินกับความไม่เรียบร้อยบริบูรณ์

นักศึกษาเรียนระดับปริญญา เพราะต้องการทำงานที่มีรายได้สูง มีสถานภาพในสังคม นักศึกษาไทยมีค่านิยมสูงสุดกับความมั่นคง  นักศึกษาชอบเป็นข้าราชการ ซึ่งให้ทั้งความมั่นคงและสถานภาพมากกว่าทำงานธุรกิจที่ต้องเสี่ยง แม้ว่างานธุรกิจนั้นจะมีโอกาสที่จะมีรายได้มากกว่า

เมื่อถามถึงความต้องการของแม่ พบว่าแม่ต้องการให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน อยากให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ เพื่อจะได้ออกไปรับราชการ หรือประกอบอาชีพนั่งโต๊ะ ซึ่งถือว่าเป็นงานมีเกียรติไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ตลอดจน แสดงความปรารถนาให้ลูกมียศฐาบรรดาศักดิ์และมีอำนาจ ดังที่แม่คนหนึ่งบอกถึงความต้องการของตนว่า "อยากให้ลูกเรียนเยอะๆ อยากให้มันเป็นนายร้อยนายพัน ข้าหลวง ทำราชการ มีงานเบา เรียนเยอะๆมันจะได้ไม่ต้องไปไถนา"

จากทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่า คนไทยต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ไม่ต้องรับผิดชอบ มีความมั่นคง เป็นงานที่มีอิสระ  เป็นงานสบายๆไม่เครียด ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา หากต้องการพัฒนาให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเสริมสร้าง ค่านิยมเหล่านี้ให้เป็นค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนา
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                          ระบบค่านิยมเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนา

                                                                        Eliezer  B. Ayal
 ****************************************************************




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น