วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

บุคลิกภาพมนุษย์ตามทฤษฎีของจุง

บุคลิกภาพ(personality) หมายถึง แบบแผนของพฤติกรรมที่มีลักษณะคงที่ เป็นพฤติกรรมที่ขึ้นอยู่กับรากฐานของความคิด ความรู้สึก และการรับรู้

จุง(Carl G. Jung) จิตแพทย์ชาวสวิส ซึ่งศึกษาและพัฒนาจิตวิทยาจิตวิเคราะห์ ได้แบ่งบุคลิกภาพของมนุษย์ออกเป็น บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (introvert) และ บุคลิกภาพแบบแสดงตัว(extravert)

บุคลิกภาพแบบเก็บตัว เป็นบุคลิกภาพที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบมีเพื่อนมาก ยึดมั่นความรู้สึกของตัวเอง บางขณะจะรู้สึกว้าเหว่า ชอบอยู่ตามลำพัง สันโดษ ชอบอ่านหนังสือ เหงา จิตใจไม่มั่นคง รุนแรง ชอบคิดแต่เรื่องเกี่ยวกับตนเอง เก็บความรู้สึกได้เก่ง ไม่ชอบทำตัวเด่นเมื่อออกสังคม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบทำอะไรตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม มีหลักการที่แน่นอนในการที่จะควบคุมตนเอง มีความเชื่อมั่นตนเองสูง ในสายตาของคนอื่นเห็นว่ามีลักษณะเย็นชา กล่าวโดยสรุปผู้มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัว มีลักษณะดังนี้

                     +ชอบทำงานเงียบๆคนเดียว ไม่ชอบปรึกษาหารือ และทำงานได้ดี

                     +มีความวิตกเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น กลัวคนนินทาว่าร้าย กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ เป็นต้น

                     +ชอบสนใจข่าวลือ

                     +ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น

                     +ชอบเขียนมากกว่าพูด

                     +ชอบนั่งเฉยๆ นั่งคิดอยู่คนเดียว

                     +ชอบให้ยกยอ ยุขึ้น ชอบคำชมเชย

                     +ถือตนเองเป็นศูนย์กลาง คนอื่นเป็นตัวประกอบเท่านั้น

บุคลิกภาพแบบแสดงตัว เป็นลักษณะของบุคคลที่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลภายนอก มีเป้าหมายที่เป็นจริงมาก ชอบหาประสบการณ์ด้วยตนเอง ชอบเข้าสังคม ชอบมีเพื่อนมาก ชอบพูดมากกว่าฟัง ช่างพูด จิตใจมั่นคง ร่าเริงแจ่มใส ปรับตัวได้ดี แสดงคว่ามก้าวร้าวได้รุนแรง ขาดการควบคุมอารมณ์ ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจ เปลี่ยนแปลงความเคยชินหรือลักษณะนิสัยของตนเองได้ง่าย  กล่าวโดยสรุป ผู้มีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว มีลักษณะดังนี้

                     +ถือสังคมเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำอะไรตามใจตัว

                     +ชอบทำงานเป็นหมู่พวก เป็นนักประชาธิปไตย

                     +คิดและทำตามหลักความจริง ตามข้อมูลต่างๆที่ได้มาจริงๆ

                     +ไม่สนใจตัวเองมากนัก

                     +เป็นคนทันสมัย พร้อมที่จะเปลี่ยน ไม่ดึงดันยึดมั่นในอุดมการณ์เก่าๆ

                     +มีอารมณ์ดี สนุกสนาน ไม่เครียดกับการใช้ความคิด

                     +ทำอะไรทำจริงจัง ทุ่มเททุกอย่าง

                     +ชอบคิดถึงอดีต

                     +ชอบหยอกล้อ

ส่วนพวกที่อยู่กลางๆ จะมีบุคลิกภาพแบบกลางๆ(ambivert) เป็นพวกที่ไม่เก็บตัวหรือแสดงตัวมากเกินไป

ในปี พ.ศ.2464  จุงได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "รูปแบบทางจิตวิทยา(psychological Types)" ในหนังสือเล่มนี้ เขาได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

          1. พวกช่างคิด เป็นพวกที่รู้จักจำแนกแยกแยะข้อเท็จจริง สนใจศีลธรรมปรัชญา พวกนี้มีความคิดดี พยายามค้นคว้าหาความรู้ใส่ตน

          2. พวกชอบแสดงออกตามความรู้สึก เป็นพวกที่ชอบแสดงออกตามความเป็นจริง มีอารมณ์รุนแรง

          3. พวกสนใจแต่ความรู้สึกของตน เป็นพวกที่ไม่เคร่งครัดระเบียบ ไม่มีวินัยในตนเอง เป็นประเภทนึกเอาเอง และมักมีพฤคิกรรมที่คิดไม่ถึง

          4. พวกรู้สึกเร็ว เป็นพวกที่แสดงกิริยาตอบรับเร็ว ไม่ค่อยมีปรัญาชีวิต ทำอะไรลงไปตามอำนาจความรู้สึกมากกว่าใช้ความคิด

 ทฤษฎีบุคลิกภาพของจุงที่กล่าวมานี้ เป็นทฤษฎีที่มีมานาน แต่ยังนิยมใช้อ้างอิงกันอยู่ เพราะช่วยให้ทุกคนเข้าใจบุคลิกภาพของมนุษย์ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจโครงสร้างทางจิตวิทยาอย่างลึกซึ้ง

อย่างก็ตาม บุคลิกภาพของมนุษย์ที่กล่าวมา ไม่ได้บอกว่าบุคลิกภาพใดดีกว่า เพียงแต่ต้องการจำแนกให้เห็นถึงความแตกต่างของบุคลิกภาพมนุษย์เท่านั้นเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ

                      การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส ด้วยอวัยวะสัมผัส

*********************************************************************************




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น