วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น มีความรู้ เพิ่มทักษะและสมรรถนะ ที่เอื้อต่อการพัฒนา ทั้งการพัฒนาตนเอง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

ทรัพยากรมนุษย์เริ่มได้รับความสนใจราวๆช่วงปี พ.ศ. 2493 เนื่องจากมีการวิจัยพบว่า การเพิ่มคุณภาพของแรงงานด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

ประกอบกับยุคสมัยของการเป็นอาณานิคมยุติลง ทำให้ประเทศที่ได้รับเอกราชใหม่ๆ ต้องหันมาสนใจเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อทดแทนคนต่างชาติที่เคยประกอบวิชาชีพเหล่านั้น รวมทั้งความต้องการเร่งรัดการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดแรงกดดันให้ประเทศต้องรีบเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ขาดแคลน ตลอดจนสาขาที่มีความต้องการเร่งด่วน

นอกจากนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า ขีดจำกัดของการพัฒนาประเทศ ไม่ได้อยู่ที่เงินเพื่อการลงทุน แต่อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ จึงทำให้เพิ่มความสนใจเรื่องทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น

ทรัพยากรมนุษย์ได้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยค่อยๆเปลี่ยนความสำคัญจากทรัพยากรธรรมชาติและเครื่องจักร มาเป็นทักษะของมนุษย์ที่เป็นรากฐานการผลิต คุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ในแง่ของเศรษฐกิจจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไซมอน คุชเนท(Simon Kuznet) ได้ทำการศึกษาและพบว่า สัดส่วนของรายได้ประชาชาติที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรอื่น ได้ลดลงจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 25 ในขณะที่ทรัพยากรมนุษย์ช่วยสนับสนุนให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 75

นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจแล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีส่วนสำคัญทีทำให้ทรัพยากรมนุษย์กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อฐานะและความก้าวหน้าของประเทศมากขึ้น เพราะถ้าหากทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างดี และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดำเนินไปด้วยดี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

ในเรื่องของการวัดระดับการพัฒนาประเทศก็เช่นกัน ทรัพยากรมนุษย์ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาที่สำคัญ  หากประเทศใดที่ทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาไม่เต็มที่ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา   ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นไม่รู้หนังสือ   ขาดทักษะที่จำเป็๋น มีผลิตภาพต่ำ ความชำนาญเฉพาะด้าน ทั้งด้านอาชีพและด้านการค้ามีจำกัด การสร้างผู้ประกอบการขาดประสิทธิผล ประชากรมีค่านิยมตามประเพณีและสถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม ทำให้การจูงใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงลดลง

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ทรัพยากมนุษย์อย่างมีประสิทธิผลเป็นที่น่าประทับใจ คือ ประเทศเกาหลีใต้ มีผลที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่สูง สำหรับสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะแรกนั้น ประกอบด้วย 

          1. ระบบการศึกษาที่มีการพัฒนาอย่างดี ประสบความสำเร็จในการจัดประถมศึกษาสำหรับทุกคน ประชากรมีความสามารถในการบริหารจัดการและการประกอบการ

          2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกที่เน้นการใช้แรงงานอย่างจริงจัง โดยไม่สนับสนุนการผลิตที่เน้นการใช่ทุน

          3. รักษาระดับค่าจ้างและเงินเดือนของภาคเศรษฐกิจระดับกลางและภาคทันสมัย ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ

          4. ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน พร้อมๆไปกับการปฏิรูปที่ดินและการทำฟาร์มขนาดเล็ก

          5. มีการผลิตกำลังคนที่มีการศึกษาสูง ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผล

ในปีพ.ศ. 2508 การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จัดอยู่ในระดับกลางๆ คืออยู่ระดับที่ 56 จากทั้งหมด 120 ประเทศ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว เท่ากับ 687 ดอลล่าร์สหรัฐ

แต่ในปี พ.ศ.2530 เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาได้สูงสุดประเทศหนึ่ง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีจัดอยูในกลุ่มสูงสุดของโลก คือมีรายได้ 2,690 ดอลล่าร์สหรัฐ จัดอยู่ในกลุ่ม 40 ประเทศที่มั่งคั่ง และเป็นประเทศที่พัฒนาได้ดีที่สุด 5 ประเทศแรก

จะเห็นว่า ทรัพยากรมนุษย์โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาที่สำคัญ สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผล แม้จะไม่เป็นปัจจัยเดียวก็ตาม

จึงสามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง จะต้องใช้วิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการพัฒนาที่มุ่งประชาชน เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนา มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ และนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนในที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ 

ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง พลังงาน ทักษะ และความรู้ของมนุษย์ที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าและ          บริการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม

                                                                       Frederick H. Harbison

*********************************************************************************




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น