วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

ข้อควรพิจารณาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีทางการศึกษา

แม้ว่าการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่การศึกษาก็เป็นได้ทั้งพลังสร้างสรรค์หรือพลังทำลาย

การศึกษาสามารถพัฒนามนุษย์ให้มีทักษะที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์สำหรับการพัฒนา การศึกษาอาจช่วยเลือกผู้นำที่ส่งเสริมความก้าวหน้าหรือสร้างความหยุดนิ่ง การศึกษาอาจสร้างจิตใจที่มุ่งงานหรือมุ่งการพักผ่อน ตลอดจนการศึกษาอาจเพิ่มพลังให้มนุษย์หรือทำลายการริเริ่มก็ได้

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าได้นั้น จะต้องเป็นการศึกษาที่มีการวางแผนเป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพทั้งภายนอกและภายใน

และด้วยเหตุที่การศึกษาเป็นได้ทั้งพลังสร้างสรรค์หรือพลังทำลายดังกล่าวแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีการศึกษา จึงมีข้อที่ควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

1.การจัดการศึกษาในระบบจะเน้นคุณภาพหรือปริมาณ

ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บางครั้งจำเป็นจะต้องเลือกระหว่างการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน กับการจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและระดับมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพสูงสำหรับคนส่วนน้อยที่มีศักยภาพเป็นผู้นำ

หรือจะต้องเลือกระหว่างการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนจำนวนน้อยที่สอนด้วยครูที่มีคุณภาพ กับการสอนนักเรียนจำนวนมากด้วยครูที่ขาดคุณภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ความกดดันทางการเมืองและสังคม ทำให้ต้องเน้นปริมาณ ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเน้นคุณภาพของกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนา

2. การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือจะเน้นนิติศาตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์  

การเลือกระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับนิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษาเป็นความยากอย่างหนึ่งสำหรับประเทศที่ต้องการพัฒนาทุกระดับ

ในแทบทุกประเทศจะขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขาดแคลนครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนขาดแคลนผู้บริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ยุคนี้จะเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการพัฒนา แต่ประเทศก็ยังต้องการศิลปิน นักเขียน นักดนตรี นักกฎหมาย ตลอดจนนักประวัติศสาตร์เช่นกัน หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการเลือกระหว่างการศึกษาที่มีราคาแพงกับการศึกษาราคาถูกลงทุนน้อย

แต่ในความเป็นจริง สังคมและการเมืองมีแนวโน้มที่จะเน้นความสำคัญของศิลปศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เศรษฐกิจและการทหารต้องการที่จะเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า

3. การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะ จะเลือกการฝึกอบรมก่อนมีงานทำหรือการฝึกอบรมในระหว่างประจำการ 

การสร้างทักษะทางเทคนิค โดยเฉพาะระดับช่างฝีมือ ประเทศชาติจะต้องเลือกที่จะให้ความสำคัญด้วยการจัดการฝึกอบรมในระบบการศึกษา หรือจะผลักภาระให้กับสถาบันผู้จ้างงานที่จะร่วมมือกับองค์การแรงงานจัดการฝึกอบรม

ในความเป็นจริง การฝึกอบรมหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่จ้าง ไม่สามารถจะหนีความรับผิดชอบ ในการจัดการฝึกอบรมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งไปได้

ตามอุดมคติ บทบาทของโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษานั้น จะผลิตผู้มีการศึกษาอย่างกว้างๆ ที่พร้อมจะรับการฝึกอบรมต่อไป แต่การฝึกอบรมบ่างอย่าง โรงเรียนจะต้องจัดให้ก่อนที่จะทำงาน หรือเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน

การร่วมมือที่จะอบรมทักษะทางเทคนิค ควรเป็นความร่วมมือระหว่างนายจ้าง สหภาพแรงงาน และสถาบันการศึกษา

4. การสร้างสิ่งล่อใจจะต้องเลือกระหว่างความสำนึกเรื่องโครงสร้างของค่าจ้างและเงินเดือนกับการพึ่งพิงตลาดแรงงาน 

ทุกวันนี้ไม่มีประเทศใดที่สามารถพึ่งตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์ การสร้างสิ่งล่อใจจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนา ในบางกรณีพบว่า สถานภาพและการตอบแทนสำหรับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต่ำไป

เกือบทุประเทศ ครูมีเงินเดือนไม่เพียงพอกับความจำเป็น ค่าจ้างที่จ่ายให้ช่างเทคนิคไม่มากพอที่จะดึงดูดคนงานได้มากพอตามที่ต้อง

ด้วยเหตุนี้ ทุกประเทศจึงต้องกำหนดมาตรการในการจัดสรรกำลังคน มาตรการดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นรูปของการบังคับ จนถึงสิ่งจูงใจที่เป็นเงินและอื่นๆ

5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะพิจารณาถึงความจำเป็นของแต่ละบุคคลหรือความต้องการของรัฐ 

หรืออาจกล่าวอีกแย่างหนึ่งจะได้ว่า จะเลือกผลประโยชน์ของบุคคลหรือผลประโยชน์ของชาติ

ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การจะตอบว่ารัฐอยู่ได้ด้วยบุคคลหรือบุคคลอยู่ได้ด้วยรัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยุทธวิธีการพัฒนาทรัยากรมนุษย์ มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างเสริมเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และคุณค่าของมนุษย์ แต่มนุษย์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันสร้างเศรษฐกิจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเพื่อการดำรงชีวิตที่ได้มาตรฐาน ในขณะเดียวกันมนุษย์จะต้องได้รับการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ในทุกสังคมจะต้องมีประนีประนอม หรือผสมผสานระหว่างผลประโยชน์ของรัฐและของบุคคลเข้าด้วยกัน ซึ่งการผสมผสานนี้จะแตกต่างกันไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองและคุณลักษณะของสังคม

ความจำเป็นสำหรับยุทธวิธีของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือผลสำเร็จของการสร้างความสมดุลในการเลือกนโยบายมาปฏิบัติ ธรรมชาติของความสมดุลขึ้นอยู่กับเป้าหมายของสังคม ระดับของการพัฒนาและความเป็นผู้นำ

ประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการสร้งความสมดุล จะผลิตทรัพยากรมนุษย์ผิดประเภท มีการลงทุนการศึกษาที่ผิด ใช้สิ่งล่อใจที่ผิด และเน้นการฝึกอบรมที่ผิด 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

ไม่ควรมองว่าการศึกษาเป็นเพียงการบริโภค แต่ควรมองว่า เป็นการลงทุนเพื่อการผลิตด้วย เพราะประชากรที่มีการศึกษา ทำให้มีกำลังแรงาน ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

                                                                           Theodore Schultz

*********************************************************************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น