การพัฒนาประเทศ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ ด้านวัฒนธรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผน มีเป้าหมาย และมีทิศทางที่แน่นอน
ซึ่งยุทธวิธีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้มีดังนี้
ยุทธวิธีการปฏิบัติด้วยเหตุผล ยุทธวิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและจะทำตามเหตุผลที่ตนคิดว่าถูกต้อง ฉะนั้นการ เปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกในสังคมมีความเห็นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลง จะก่อให้เกิดความพึงพอใจและดีกว่าเดิม ด้วยความคิดที่มีเหตุผลในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของมนุษย์ อันนำไปสู่การเปลี่ยนสังคมโดยรวม
ยุทธวิธีตามข้อนี้ มีหลักการคือ การวิจัยและการแสวงหาความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า การเลือกสรรบุคคลให้เหมาะกับงาน ตลอดจนการจัดการทำงานอย่างเป็นระบบ
ยุทธวิธีการสร้างปทัสถานใหม่ ยุทธวิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า ทุกสังคมมีปทัสถานที่มีอิทธิพลต่อแบบแผนของพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ โดยที่ปทัสถานทางสังคมได้รับอิทธิพลจากทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคม ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงแบบแผนของพฤติกรรมของคนในสังคม จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงปทัสถานจากแบบเดิมไปสู้แบบใหม่ สร้างปทัสถานขึ้นมาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และระบบความสัมพันธ์ที่สำคัญๆด้วย
ยุทธวิธีตามข้อนี้ อาศัยอิทธิพลจากภายนอกในการที่จะสร้างปทัสถานใหม่ โดยอาศัย การปรับปรุงความสามารถในการแก้ปัญหาในระบบสังคม ปรับปรุงกระบวนการและเทคนิควิธีและนำหลักการแก้ปัญหาโดยวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเลี่ยนแปลง
ยุทธวิธีการใช้อำนาจบังคับ ยุทธวิธีนีี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ถ้าหากมีการใช้อำนาจบางอย่าง เช่น อำนาจทางการเมืองการปกครองและอื่นๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ อำนาจดังกล่าว ปกติมักจะอาศัยการบังคับด้วยกฎหมาย ยุทธิวิธีนี้เป็นงานระดับชาติ มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการวางแผน และตรากฎหมายเพื่อบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่กำหนดไว้
ยุทธวิธีตามข้อนี้ ดำเนินการในลักษณะที่ไม่ใช้มาตรการที่รุนแรง แต่อาจใช้วิธีต่อต้านอย่างสงบหรือการอภิปรายถกเถียง โดยพยายามชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ต่อจากนั้น จะใช้สถาบันการปกครองเพื่อให้บรรลุถึงการเปลี่ยนแปลง โดยตราเป็นกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา
จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องวิชาความรู้และเทคโนโลยี หรือการใช้กฎหมายแต่เพียงประการเดียว แต่จะต้องพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปทัสถาน ค่านิยม ทัศนคติและความเชื่อของคนในสังคมประกอบด้วย ควบคู่กันไป การเปลี่ยนแปลงจึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
-----------------------------------------------------------------
สาระคำ
ปทัสถาน (Norm) หมายถึง กฎ หรือ แบบแผน หรือ มาตรฐานของพฤติกรรมของคนในสังคม
------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น