วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาหรือสร้างทุนมนุษย์ในประเทศใดประเทศหนึ่ง  ก่อนจะเริ่มการพัฒนาจำเป็นจะต้องมีการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อทราบปัญหาและความต้องการกำลังคนที่แท้จริง โดยจะต้องชัดเจนว่า ต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าไร  ตลอดจนจะพัฒนาด้วยวิธีการใด เมื่อชัดเจนแล้วจึงจะดำเนินการพัฒนา 

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1.การให้การศึกษา  เป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถและทักษะให้กับมนุษย์โดยตรง ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น

           1.1 การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือสถานศึกษา  เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จัดกันอย่างแพร่หลาย เป็นวิธีการที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจำแนกเป็น
                  1.1.1.  การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เน้นความรู้ทั่วๆไป  ตลอดจนเป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับสูงและการประกอบอาชีพ
                   1.1.2. การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพโดยตรง เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ

             1.2. การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน  เป็นการศึกษาที่จัดให้ผู้อยู่นอกวัยเรียนเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้กำลังทำงาน เป็นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ  แต่ก็มีเหมือนกันที่เรียนเพื่อเรียนต่อในระดับสูงขึ้น แบ่งออกได้เป็น
                     1.2.1. การฝึกอบรมในระหว่างประจำการ เป็นการฝึกอบรมผู้ที่กำลังทำงานอาชีพอยู่  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้น อาจเป็นความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างหรือความรู้สามารถทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
                      1.2.2. การพัฒนาตนเอง  เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหาความรู้  ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง  ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ  เช่นจากการอ่าน เรียนจากตำรา  วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนอื่นๆ  ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. การจัดให้มีบริการสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดี เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีสุขภาพดีขึ้น  อันจะทำให้สมรรถภาพในการทำงานดีขึ้นด้วย  ทำการผลิตได้นานและผลิตได้มากขึ้น

3. การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในขณะปฏิบัติงาน เพื่อจะได้เป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ดีและมีแรงจูงใจที่จะทำงาน

4. การปรับปรุงภาวะโภชนการ  เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานรู้จักรับประทานอาหารที่มีคุณค่า อันส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นในที่สุด

5. การอพยพย้ายถิ่น เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้กำลังแรงงานมีประสบการณ์ใหม่ๆ   และเป็นการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการผลิดในระบบเศรษฐกิจ

จากวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าว จะเห็นว่าวิธีการให้การศึกษาเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด จัดกันมากที่สุด เพียงแต่จะต้องเป็นการจัดการศึกษา ที่สามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนอย่างแท้จริง  ไม่ใช่เป็นแค่การจัดการศึกษาเพื่อการศึกษา
                                       ---------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

กำลังแรงงาน (Labour force) หมายถึง ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งผู้ที่มีงานทำและไม่มีงานทำ แต่ประสงค์จะทำงานและสามารถทำงานได้
                                                         ---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น