ในปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ปรมาจารย์ทางด้านบริหาร ได้เขียนหนังสือชื่อ Post Capitalist Society หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไว้ดังนี้
1. โลกในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ความเชื่อ โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนโลกทัศน์ ซึ่งในยุคปัจจุบันคาดไม่ถึง โดยมีความรู้เป็นทรัพยากรและเป็นรากฐานที่สำคัญ
2. สังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมยุคหลังทุนนิยม เป็นสังคมที่ต้องใช้ความรู้ในการทำงาน ผู้บริหารที่มีความรู้ จะนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการผลิต แบบเดียวกับที่นายทุนเคยใช้ทุนให้เกิดประโยชน์ ความรู้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตควบคู่ไปกับทุนและแรงงาน
3. ผลิตภาพของความรู้ เป็นตัวกำหนดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และสังคม ของแต่ละประเทศ
4. การปฏิวัติด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเเรียนการสอน และจะเปลี่ยนแปลงไปจนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจและระบบการศึกษา
5. ในสังคมแห่งความรู้ ผู้คนจะต้องเรียนรู้ที่จะเรียน สังคมยุคหลังทุนนิยมต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้ มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ถ้าปราศจากความรู้พื้นฐานแล้ว จะไม่สามารถมีสมรรถภาพระดับสูงในสังคมหลังทุนนิยมและสังคมแห่งความรู้ได้
ทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์ อัลวิน ทอฟเฟลอร์ และปีเตอร์ ดรัคเกอร์ ที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่ามีแนวคิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจแตกต่างในรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม จากทัศนะของนักอนาคตวิทยาทั้ง 3 ท่าน สามารถสรุปแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ได้ดังนี้
1) สังคมในอนาคต เป็นสังคมแห่งความรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมสารสนเทศ
2) เทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างของครอบคัว การทำงาน และการเรียนรู้เปลี่ยนไป
3) ความรู้ สารสนเทศ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิต และเป็นที่มาของอำนาจ
4) ความรู้ทางศาสนาได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ สตรีเป็นผู้นำมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และมีการพึ่งตนเองมากขึ้น
5) มีเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจเสรี เป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน มีการแข่งขันแบบเสรีทั่วโลก
6) การบริหารจัดการ มีการกระจายอำนาจ มีความสัมพันธ์แบบเครือข่าย และมีการตัดสินใจร่วมกัน
7) การปกครองจะเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
8) สถาบันการศึกษาและรูปแบบการศึกษา จะมีความแตกต่างไปจากปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเห็นได้ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ส่วนอัตราการเปลี่ยนแปลงจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ธรรมะคือ หน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
พุทธทาสภิกขุ
-------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น