วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน

นักมานุษยวิทยายอมรับว่า ค่านิยมมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของคน กล่าวคือ ค่านิยมเป็นมาตรฐาน ที่ใช้ในการประเมินว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ทำหน้าที่กำหนดวิธีการดำเนินชีวิต เป็นแกนของระบบสังคม เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับบุคคลในสังคม ที่จะเข้าใจและรับรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ในสังคม

ค่านิยมเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใดมีค่าควรเลือก สถานการณ์ใดควรเลือกสิ่งใดจึงจะเหมาะ ค่านิยมจึงมีอิทธิพล ต่อการเลือกวิธีการ และเป้าหมายของการกระทำที่คนในสังคม อยากจะเป็น อยากจะทำ เป็นตัวกำหนดว่า อะไร "ถูก" อะไร "เหมาะ"ที่จะปฏิบัติ  ที่จะเชื่อ

ในแง่เศรษฐกิจ ค่านิยมทำหน้าที่ 2 ประการ ประการแรก ค่านิยมทำให้เกิดเป้าหมายส่วนบุคคลและสาธารณะ  ค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมการผลิต จริงอยู่เป้าหมายสูงสุดอาจจะไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจโดยตรง  แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดนั้น เป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็น การมีอำนาจ เกียรติ สวัสดิการ ฯลฯ ประการที่สอง ค่านิยมทำให้เกิดนิสัยชอบ  หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ความต้องการเป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยม  ไม่ว่าความต้องการนั้นจะเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน หรือเป็นความต้องการขั้นสูง และไม่ว่าความต้องการนั้นทำให้เกิดความกดดันมากหรือน้อย

ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากมนุษย์จะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญ ที่จูงใจให้คนเราทำงานคือค่านิยม ค่านิยมมีอิทธิพลเหนือวิธีการทำงาน  การปฏิบัติต่อนายจ้าง ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาในการทำงาน และยังพบต่อไปว่า ค่านิยมยังเป็นตัวกำหนดคุณค่าในการทำงานให้แตกต่างกัน และค่านิยมที่เกี่ยวกับการทำงานในแต่ละสังคมจะแตกต่างกัน

ระบบค่านิยมของสังคมไทย มีแนวโน้มส่งเสริมพฤติกรรมทางจิต และสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางจิต  ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเจริญแก่จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่า  อันไหนที่มีคุณค่าทางจิตใจมาก คนไทยจะนิยมมาก การเน้นคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ค่านิยมทางวัตถุลดความสำคัญลง  มีผลทำให้การทำงานน้อยลงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะการทำงานเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่การได้วัตถุ

สังคมไทยนิยมการวางเฉย คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น รวมทั้งวางเฉยต่อสถานการณ์ต่างๆ ลักษณะการวางเฉย ทำให้ขาดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจน ทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

คนไทยมีค่านิยมสนุก จะเห็นได้จากการกระทำของคนไทยในหลายกรณี ในการดำเนินชีวิตแบบไทย จะเน้นความสนุกเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงอนาคตมากนัก คนไทยจะหลีกเลียงการทำงานที่ไม่สนุก  เช่นการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมาก หรือเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ คนไทยอาจจะหยุดปฏิบัติการกระทำตามภาระหน้าที่ ถ้าพบว่างานนั้นไม่สนุก

คนไทยเน้นความสำคัญของค่านิยมส่วนบุคคล ทำให้เกิดลักษณะปัจเจกชนนิยม คนไทยจึงแทบจะไม่ผุกพันกับเป้าหมายของสังคม เกิดความเฉย ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่จำเป็นสำหรับสังคมที่จะเข้าไปสู่ภาวะทันสมัยทางอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น คนไทยยังให้คุณค่าค่อนข้างสูงกับคนที่รู้จักฉวยโอกาส แต่ไม่ค่อยให้คุณค่ากับคนที่สร้างโอกาสด้วยความยากลำบาก

คนไทยชอบฟังคำสั่งมากกว่าริเริ่มเอง  ถ้าไม่สั่งก็ไม่ทำ ชอบปะทะคารม แต่ไม่ชอบทำงาน ไม่ค่อยรับผิดชอบในการทำงานแต่ชอบเงิน  ชอบลงทุนในกิจกรรมที่สนุกมากกว่ากิจกรรมที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

คนไทยไม่นิยมขวนขวายต่อสู้ดิ้นรนทำงานหนักเพื่อความสำเร็จในชีวิต ชอบทำงานเบาๆที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ชอบมีฐานะที่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น มีเงินเดือนกิน ไม่นิยมการทำงานที่ใช้มือ ใช้แรงงาน ไม่นิยมเป็นพ่อค้า  ถ้าจะดำเนินงานธุรกิจจะยึดความโก้เก๋ในการดำเนินงานมากกว่าเนื้อหาของงาน

ส่วนคนที่จบจากต่างประเทศต้องการที่จะเป็นหัวหน้างาน ไม่พยายามที่จะร่วมกันทำงานเพื่อเสริมสร้างสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น แต่พยายามใช้ประโยชน์จากการที่เคยอยู่ต่างประเทศเพื่อหาตำแหน่งที่ตนพอใจ

คนไทยเลือกงานมาก ไม่ชอบทำงานที่ห่างไกลความเจริญหรือห่างครอบครัว ต้องการทำงานที่จะเป็นเจ้าใหญ่นายโต ไม่ชอบเสี่ยง  หนักไม่เอาเบาไม่สู้ นิยมทำกิจการต่างให้พอเสร็จ ไม่มุ่งความเยี่ยมยิ่ง นิยมอภัยความบกพร่องกันง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยในระยะที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนไทยนิยมเรียนบริหารธุรกิจในอเมริกามากขึ้น  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะหนีจากการเป็นข้าราชการ  เตรียมทำงานเพื่อเงินมากขึ้น
                                 -----------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 -------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

ค่านิยมแบบปัจเจกชนนิยมผสมกับค่านิยมเล็งผลปฏิบัติ มีส่วนทำให้คนไทยเปลี่ยนงาน จนกว่าจะได้งานที่ทำง่ายและมีรายได้ดี ถ้างานนั้นหนัก คนไทยจะกลับไปทำงานที่ง่าย แม้รายได้จะน้อยกว่า  ระหว่างงานรายได้ดีแต่หนักกับงานที่มีรายได้ต่ำแต่เป็นงานที่ง่าย คนไทยจะเลือกทำงานหลัง

                                                                       อดุล  วิเชียรเจริญ
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น