วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย มีทั้งประชาธิปไตยในความหมายที่แคบ และประชาธิปไตยในความหมายที่กว้าง

ประชาธิปไตยในความหมายที่แคบ หมายถึง ระบบการเมือง รูปแบบการปกครอง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ
          1. ผู้ปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง
          2. ผู้ใต้ปกครองจะต้องมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว  โดยผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อำนาจแทนปวงชน ไม่ใช่เป็นเจ้าของอำนาจ
          3.สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง

ส่วนประชาธิปไตยในความหมายที่กว้าง หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต อันประกอบด้วยคุณธรรม 3 ประการ คือ คารวะธรรม หมายถึง การเคารพซึ่งกันและกันตามสถานะภาพของแต่ละบุคคล ปัญญาธรรม หมายถึง การใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล และสามัคคีธรรม หมายถึง การให้ความสำคัญกับส่วนรวมพอๆกับความสำคัญส่วนตน เพื่อประโยชน์ของสังคม

กรณีประเทศไทย การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่นำเข้าจากชาติตะวันตก โดยคนกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนบัดนี้นับได้ 70 กว่าปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีการทำรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว มีรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ แต่ก็ไม่เหมาะที่จะใช้กับนักการเมืองไทยสักฉบับ มีการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างบิดเบือน เพื่อประโยชน์ตนและหมู่คณะ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ

          1. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย ไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ
               1.1. คนไทยมีลักษณะอิสระนิยม ชอบเสรี ทำได้ตามใจคือไทยแท้ บางครั้งเสรีมากจนขาดความรับผิดชอบ ลักษณะเสรีนิยมทำให้คนไทยทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกันไม่ได้. การรวมเป็นพรรคการเมืองจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
               1.2. คนไทยมีลักษณะปัจเจกชนนิยม เป็นลักษณะที่ยึดตนเองเป็นสำคัญมากกว่าคำนึงถึงส่วนรวม สนใจผลประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าส่วนรวม แม้เชื่อว่ากฎหมายและอุดมการณ์เป็นเรื่องสำคัญ  แต่จะปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าปฏิบัติก็จะคำนึงถึงประโยชน์ของตนก่อน
               1.3. คนไทยมีลักษณะอำนาจนิยม คนไทยชอบมีอำนาจ แสวงหาอำนาจ เพราะอำนาจทำให้สถานะภาพทางสังคมสูงขึ้น คนไทยไม่ชอบให้ใครมาใช้อำนาจกับตน แต่ตนเองชอบใช้อำนาจกับคนอื่น ในขณะเดียวกัน คนไทยยกย่อง เกรงกลัวผู้มีอำนาจ เพราะอำนาจนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจ
               1.4. คนไทยมีลักษณะยึดตัวบุคคลมากกว่าหลักเกณฑ์หรือหลักการ เพราะเชื่อว่ากฎเกณฑ์เป็นเรื่องที่บุคคลสร้างขึ้น จึงสามารถลบล้างได้ คนไทยจึงทำงานตามความสัมพันธ์กับบุคคลมากกว่าทำตากฎเกณฑ์หรือหลักการ

          2. ขาดการเรียนรู้หลักการของประชาธิปไตยที่ถูกต้องครบถ้วน ให้ความสำคัญแต่เพียงเรื่องเสรีภาพ ภราดรภาพ และมาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายและคุณธรรมประชาธิปไตย

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น หากมีความต้องการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้อย่างจริงจัง ครบถ้วนการหลักการ จะต้องให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไป  ในลักษณะต่อไปนี้

          1. โรงเรียนควรเป็นสถาบันทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับครู ครูกับนักเรียน ไม่ควรจะมีความสัมพันธ์แบบอัตตาธิปไตย นักเรียนควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในการตัดสินเกี่ยวกับนโยบายเท่าที่วุฒิภาวะของนักเรียนจะอำนวย

           2. โรงเรียนควรจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อาจจัดเป็นหลักสูตรโดยเฉพาะ หรือสอดแทรกในวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆเท่าที่เห็นสมควร สำหรับเนื้อหาและกิจกรรมในหลักสูตรหรือที่สอดแทรกในวิชาต่างๆ ควรเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ
               2.1. พัฒนาด้านบุคลิกภาพที่เกี่ยวโยงกับประชาธิปไตย อันได้แก่ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ที่มีผลต่อพฤติกรรมตามหลักประชาธิปไตย
               2.2. การเรียนรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยเฉพาะ โดยเรียนรู้เกี่ยวกับ
                    2.2.1. การเรียนรู้ในเรื่องบทบาทของการเป็นพลเมืองดี เช่นการผูกพันกับพรรคการเมือง การมีอุดมการณ์ทางการเมือง การมีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมทางการเมือง
                    2.2.2. การเรียนรู้บทบาทในฐานะที่อยู่ใต้อำนาจกฎหมายของบ้านเมือง เช่น ความจงรักภักดีต่อชาติ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ
                    2.2.3. การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการในการเลือกสรรบุคคลเข้าทำงานด้านการเมือง

เมื่อจัดการศึกษาให้มีการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักการดังกล่าว เชื่อว่าประชาธิปไตยของไทยจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                    สาระคิด
                    
ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

                                                                                 พุทธทาสภิกขุ
****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น