วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แนวทางการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

การจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศนั้น ควรเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพและปัญหาของประเทศ แม้ว่าแต่ละประเทศอาจมีแนวทางจัดการศึกษาแตกต่างกันไป แต่ควรเป็นการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสร้างลักษณะดังต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน

          1. เสริมสร้างความสำนึกทางสังคม การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะสร้างความสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม เพราะหากขาดความสำนึกทางสังคมแล้ว กระบวนการพัฒนาประเทศอาจเกิดขึ้นไม่ได้

          2. สร้างความตระหนักในความเข้มแข็งและความภูมิใจในตนเอง คนเราจะเกิดความรู้สึกภูมิใจ เมื่อรู้ว่าตนเองมีข้อดีและมีความเข้มแข็ง ซึ่งการศึกษาจะต้องทำให้เกิดลักษณะนี้ขึ้นมา ด้วยการให้ผู้เรียนรู้จักคุณค่าของตัวเอง รู้ว่าตนเองมีดีและมีความเข้มแข็ง

          3. สร้างความรู้สึกร่วมและทักษะของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศประการหนึ่ง เพราะความรู้สึกร่วมและมีทักษะของการอยู่ร่วมกัน จะช่วยให้ประชาชนร่วมมือกันช่วยตัวเองอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็หาวิธีการที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น ทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          4.รู้จักริเริ่มการกระทำเพื่อส่วนรวม การศึกษาจะต้องจัดให้มีกิจกรรมที่มีการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม เช่น การสหกรณ์ ซึ่งกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา การศึกษาจะต้องส่งเสริมให้มีกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นมาในสถาบันการศึกษา

          5. รู้จักการแสวงหาทรัพยากร ทรัพยากรในที่นี้หมายรวมถึงทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจมีอยู่ในชุมชนนั้น หรือนอกชุมชนนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา

          6. เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการผลิต การศึกษาที่มีความหมายต่อการพัฒนา คือการศึกษาที่มีความหมาย มีประโยชน์ และเพิ่มศักยภาพในการผลิต การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับการผลิต เป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค หาประโยชน์ในการพัฒนาได้น้อย

          7. สร้างบรรทัดฐานการลงโทษและกลไกการลงโทษทางสังคม การจะพัฒนาองค์กรและสถาบันต่างๆได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาบรรทัดฐานของการลงโทษ และการลงโทษโดยอาศัยกลไกทางสังคม ซึ่งการศึกษาจะต้องสร้างลักษณะเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน

          8. สร้างทักษะการจัดการ ทักษะการจัดการเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การตลาด ฯลฯ ส่วนประโยชน์ทางสังคม เช่น การจัดการการรวมกลุ่มเป็นองค์การเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม

          9. สร้างระบบจัดการ ระบบการจัดการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานร่วมกันจำเป็นจะต้องมีระบบควบคุมการจัดการ ตลอดจนดูแลติดตามให้คนในชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆอย่างทั่วถึง

          10. สร้างสถาบัน สถาบันทางสังคมมีหลากหลาย หากสถาบันที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนา ก็จำเป็นจะต้องมีการสร้างสถาบันใหม่ขึ้นมา รวมทั้งมีกระบวนการปรับปรุงสถาบันเดิมให้เอื้อต่อการพัฒนามากยิ่งขึ้น

ในการจัดการศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในลักษณะดังกล่าว ผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษา จะต้องศึกษาวิเคราะห์ระบบการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของประเทศ ไม่ใช่จัดการศึกษาโดยการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศหรือจัดตามคำสั่งของผู้มีอำนาจทางการเมือง เพราะการจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศ เป็นการศึกษาที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ
---------------------------------------------------------------------------------

                                           สาระคิด

การทำดี คือหนทางที่แน่นอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะนำไปสู่ความสุข
******************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น