วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ครอบครัวจะฝึกอบรมเด็กไทยให้รู้จักการทำงานได้อย่างไร

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางบุคลิกภาพของเด็กมาก ลักษณะของพ่อแม่ทั้งในทางดีและไม่ดี จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังตัวเด็ก โดยผ่านการอบรมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เกี่ยวกับการทำงานก็เช่นกัน ชีวิตภายในบ้านเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์การทำงานให้แก่คนในวัยเด็ก การให้เด็กมีประสบการณ์และคุ้นเคยกับการทำงาน เด็กจะได้รับการปลูกฝังค่านิยม และนิสัยการทำงานโดยไม่รู้ตัว

ฉะนั้น ถ้าต้องการให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยม และนิสัยการทำงานที่ดี ควรเริ่มให้การศึกษาอบรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มที่ครอบครัว

แต่จากการวิจัย*พบว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง พ่อแม่จะแสดงความรักลูกด้วยการช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ยอมให้ลูกทำอะไร ถนอมลูกเกินไป ไม่ยอมให้ลูกลำบาก

ซึ่งการอบรมในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เด็กจะไม่สามารถจะทำงานช่วยตัวเองได้แล้ว ยังทำให้เด็กมีลักษณะมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ยอมผุกพันตัวเองกับกฏเกณฑ์ของสังคมอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เด็กมี แนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม เอื้อต่อการพัฒนา ครอบครัวควรจะมีการฝึกอบมเด็กไทยในลักษณะต่อไปนี้

อบรมเลี้ยงดูเด็กให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยตัวเอง งานใดที่เด็กทำได้ก็ให้เด็กทำ อย่าช่วยเหลือเด็กจนเด็กทำอะไรไม่เป็น อบรมให้เด็กรู้จักทำงานที่เป็นภาระหน้าที่ของตน เช่น รู้จักเก็บรักษาสิ่งของเครื่องใช้ของตน ซักรีดเสื้อผ้า จัดเก็บที่หลับที่นอน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การจะให้เด็กทำงานเพื่อช่วยตัวเองในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัยของเด็กด้วย การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ จะช่วยใหเด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่คิดที่จะพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

ฝึกอบรมเพื่อเดรียมตัวประกอบอาชีพ ความจริงการให้ความรู้และทักษะเพื่อการทำงานนั้น สถาบันครอบครัวไม่อาจจะทำหน้าที่ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงานได้ทุกเรื่อง

การฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพในที่นี้ จึงเป็นเพียงการสร้างความคิด ความเชื่อ และค่านิยม เกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสม เช่น ให้เด็กมีแนวความคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ผู้ทำงานสุจริตทุกชนิดเป็นผู้มีเกียรติ มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จถ้ามีความพยายาม การทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นต้น

 ขณะเดียวกันก็ฝึกอุปนิสัยของผู้ทำงานที่ดี ให้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพในปัจจุบัน รู้จักการหางานทำ รู้จักใช้จ่ายเงินที่หามาได้ ฯลฯ

สำหรับประสบการณ์ในการทำงาน ควรเริ่มด้วยการให้เด็กทำงานง่ายๆจนถึงงานที่ยาก และเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานทุกชนิด

การให้เด็กทำงานนั้น อย่าให้เด็กทำเพราะเป็นการแบ่งเบาภาระ แต่ให้เด็กทำเพื่อการฝึกงาน ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เด็กทำงาน จึงต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำด้วยเสมอ

การอบรมเลี้ยงดูเด็กไม่ควรตามใจหรือ"โอ๋"เด็กมากเกินไป จะทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญเหนือคนอื่น ฉะนั้น อย่ากลัวเด็กลำบาก อย่ามุ่งแต่จะสร้างความพอใจให้แก่เด็กเป็นสำคัญ เพราะลักษณะการเลี้ยงดูเช่นนั้น เป็นการทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ไม่ยึดถือระเบียบกฏเกณฑ์ ไม่ยอมผูกพันตนเองเพื่อรับผิดชอบสังคม ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยิ่ง

หลีกเลี่ยงการกระทำหรือการชี้แนะที่ทำให้เด็กมีความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น เชื่อในเรื่องโชคชตา  อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ เรื่องอำนาจบุญกรรมแต่ปางก่อน ฯลฯ เพราะความเชื่อในลักษณะเช่นนั้น มีผลทำให้เด็กเชื่ออำนาจภายนอกมากกว่าที่จะเชื่อในความสามารถของตนเอง(self-reliance) คนที่เชื่อในอำนาจภายนอกมักจะมีบุคลิกภาพเฉื่อย(passive) ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของบุคคลและสังคม

ด้วยเหตุที่ครอบครัวไทยไม่ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมในลักษณะที่กล่าวมา เด็กไทยจึงโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ และหากครอบครัวไทยยังคงมีการอบรมเด็กแบบเดิมๆ ก็เชื่อได้ว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคนต่างชาติอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ดังที่เริ่มปรากฎให้เห็นเป็นตัวอย่างบ้างแล้วในปัจจุบัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ ข้อมูลการวิจัย*จาก: วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ ของไพศาล ไกรสิทธิ์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                             สาระคิด

                  เด็กไทยไม่ได้รับการสอนให้พึ่งตนเองตามประสาเด็ก
           แต่ค่อนข้างจะสอนให้พึ่งคนอื่น เพื่อสนองความต้องการของตน

                                                                        Niels  Mulder
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น