วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สถาบันการศึกษาจะฝึกอบรมเด็กไทยให้รู้จักการทำงานได้อย่างไร

สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน ให้เป็นผู้มีความรู้ และทักษะ เพื่อการทำงาน มากกว่าสถาบันใดๆในสังคม

สถาบันครอบครัว ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญแต่เดิมนั้น ปัจจุบันนี้ไม่อาจสร้างประสบการณ์ ทักษะการทำงาน ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป ภาระอันนี้จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

แต่พบว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการผลิตคนเพื่อการทำงานได้ทุกประเภท มีความสามารถเฉพาะการผลิตคนเพื่อทำงานนั่งโต๊ะ และเป็นผู้ทำงานนั่งโต๊ะที่ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน เนื่องจากสถาบันการศึกษาได้สร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องให้กับผู้เรียน

ดังน้้น เพื่อเป็นการฝึกอบรมเด็กไทบให้รู้จักการทำงาน สถาบันการศึกษาจะต้องปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่ ให้เป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการทำงาน โดยใช้แนวทางและวิธีการดังนี้

หลักสูตร ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทุกระดับชั้น ปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ ไม่เกิดความรู้สึกแปลกแยกเมื่อจบการศึกษา ตลอดจนเป็นการช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนไปใช้ได้จริง

ผลที่ได้จากการปรับปรุงหลักสูตรในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและรักท้องถิ่นของตนแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นช่องทางที่จะประกอบอาชีพต่อไปภายหน้าอีกด้วย

ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ควรมมีหลักสูตร "การศึกษาเพื่อการทำงาน" เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับโลกของการทำงาน สร้างแนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างจริยธรรมของการทำงานไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพื่อการทำงาน มิได้มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน แต่ต้องการให้ผู้เรียน เห็นคุณค่า และความสำคัญของการทำงาน รักงาน และเห็นช่องทางการทำงานที่จะทำเพื่อเลี้ยงชีวิตในภายหน้า

การเรียนการสอน ควรเปลี่ยนวิธีสอนจาการบอก เป็นการให้เด็กปฏิบัติจริง ให้เด็กมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ควรลดการป้อนเนื้อหา ทุกๆวิชาจะต้องมีการปฏิบัติควบคู่ไปด้วยเสมอ การวัดผลการศึกษาจะต้องวัดทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป การเรียนการสอนควร"เสนอแนวปฏิบัติ" มากกว่า"ห้าม"

การฝึกงาน ถ้าเป็นไปได้ทุกโรงเรียนควรมีโรงฝึกงาน เป็นโรงฝึกงานที่เหมาะกับระดับชั้นของผู้เรียน ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทำงาน เป็นโรงฝึกงานที่มีเครื่องมือครบครัน และมีมากพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกงานอย่างทั่วถึง

นอกจากนั้น ควรมีระบบการฝึกงานให้ผู้เรียนได้ออกไปฝึกงานในโรงงานหรือสถานประกอบการในฐานะลูกมือ ทั้งนี้เพื่อจะได้สัมผัสชีวิตการทำงานที่แท้จริง และ ถ้าเป็นโรงเรียนในชุมชนที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก ก็ควรให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานในท้องไร่ท้องนาจริงๆ

ครู ต้องยอมรับความจริงว่ามีครูจำนวนมาก ที่สร้างทัศนคติไม่ถูกต้องให้กับผู้เรียน ครูจึงควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยม เกี่ยวกับการทำงานเสียใหม่ เพราะหากครูมีความคิดแบบดั้งเดิม ย่อมยากที่จะเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของนักเรียน

นอกจากนั้น ครูควรได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับ"การศึกษาเพื่อการทำงาน" ทั้งนี้เพื่อให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ของวิชา

การแนะแนวอาชีพ จะต้องจัดให้มีทุกระดับการศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เห็นช่องทางการทำงาน ตลอดจนมีข้อมูลเพียงพอ ที่จะช่วยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับการแนะแนวอาชีพในปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารเท่าที่ควร การดำเนินการจึงขาดงบประมาณ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การจัดบริการแนะแนวให้มีประสิทธิผลก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้เด็กสนใจการทำงานมากขึ้น

มหาวิทยาลัย นอกจากจะเปิดสอนคณะวิชาให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนที่ถึงพร้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างมีคุณภาพแล้ว ควรจะมีหน่วยงานเพื่อการวิจัยและพัฒนาการทำงาน  ทำหน้าที่วิจัยเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมการทำการทำงานของคนไทย ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เป็นการวิจัยเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพก็ได้ และผลการวิจัยควรได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง มีระบบและมีความสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานต่อไป

แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อให้เด้กไทยรู้จักการการทำงานดังที่กล่าวมา จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกระดับ ตั้งแต่ ครู ผู้ปกครอง  ผู้บริหารการศึกษา และรัฐบาล เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา จากการเรียนเพื่อเรียนต่อสูงขึ้น เป็นเรียนเพื่อการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความคิดความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมการทำงาน ที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยน้ำมือของคนไทย
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

ระบบการประถมศึกษา มีส่วนสร้างความรู้สึกรังเกียจการใช้แรงกายอย่างชัดเจน ไม่มีงานปฏิบัติในโรงเรียนประถมศึกษา หรือเรียนรู้ทักษะชนิดที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียน ภายหลังที่ออกจากโรงเรียน หลักสูตรเน้นวิชาการมากเกินไป ไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิบัติ
                                                                                                                                                                                             นิโคลัส เบนเนตต์
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น