วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คุณสมบัติทางเศรษฐกิจของสถาบันการศึกษา

ในทางเศรษฐศาสตร์ สถาบันการศึกษาเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งผลิตบริการทางการศึกษา โดยใช้ทรัพยากรพิเศษชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ครูอาจารย์ ผู้บริหาร อาคารเรียน หลักสูตร  และอุปกรณ์ต่างๆ

บริการการศึกษาที่สถาบันการศึกษาจัดขึ้นนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่ได้เป็นการให้บริการฟรี เพราะการให้บริการทางการศึกษาต้องมีค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต และต้องมีอุปทานทางการศึกษา

ในการผลิตบริการเพื่อสนองความต้องการทางการศึกษา จะต้องจำแนกให้ชัดเจนว่า การศึกษานั้นเป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค การศึกษาเพื่อการลงทุน หรือ เป็นการศึกษาทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุน

ถ้ามองว่าการศึกษาเป็นการบริโภค เราต้องศึกษาพฤติกรรมของพลเมืองในฐานะผู้บริโภค แต่ถ้ามองว่าการศึกษาเป็นการลงทุน เราต้องจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงผลตอบแทน และการสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในฐานะที่สถบันการศึกษาเป็นหน่วยเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ผลิตบริการทางการศึกษา สถาบันการศึกษาจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วย

          1. จะต้องตัดสินใจว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดผลิตอะไร ผลิตกำลังคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร หรือจะผลิตบริการอะไร จึงจะสนองความต้องการทางการศึกษา ที่สังคมเห็นว่าสำคัญและจำเป็น ทั้งนี้ เพราะสถาบันการศึกษาไม่อาจผลิตบริการทางการศึกษาให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่สมาชิกในสังคมต้องการได้

          2. จะต้องตัดสินใจว่า จะผลิตอย่างไร ใช้วิธีการผลิตอย่างไร จึงจะประหยัดที่สุดเท่าที่ประหยัดได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำนวนจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และได้กำลังแรงงานที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด

          3. จะต้องตัดสินใจว่า จะจำแนกแจกจ่ายสินค้าและบริการที่ผลิตนั้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้รับสินค้าและบริการนั้นๆ ในจำนวนเท่าใด และรับบริการอย่างไร ในแง่ของการศึกษาสถาบันการศึกษาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะให้บริการกับใคร  จำนวนเท่าใด และจะรับบริการได้อย่างไร และเมื่อได้รับบริการการศึกษาแล้ว จะไปก่อให้เกิดผลิตภาพต่อไปอีกได้อย่างไร

เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ สถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี้

          1. กฎอุปสงค์และอุปทาน ในทางการศึกษาอุปสงค์เป็นความต้องการที่จะใช้กำลังคน ส่วนอุปทานเป็นความต้องการที่จะผลิตกำลังคน  สถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงกฎข้อนี้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย เป็นต้นว่า ปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา อันเกิดจากการผลิตกำลังคนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ

          2. ค่าเสียโอกาส สถาบันการศึกษาจะต้องคำนึงว่า การที่ผู้เรียนต้องเรียนในเรื่องหรือโปรแกรมนั้นๆ ผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปเท่าไร และคุ้มกับประโยชน์ที่ต้องเสียไปหรือไม่  นอกจากนั้น ปัจจัยการผลิตทุกชนิดต่างก็มีต้นทุนแห่งค่าเสียโอกาส  กล่าวคือ เมื่อนำปัจจัยการผลิตไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการอย่างหนึ่ง ก็ย่อมจะหมดโอกาสที่จะนำไปใช้อย่างอื่น  จะต้องคำนวณผลตอบแทนให้กับปัจจัยการผลิตนั้นด้วย

          3. การจัดบริการหลายประเภท  การจัดบริการทางการศึกษาก็เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ คือสินค้าและบริการนั้นควรจะมีความแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือก เกี่ยวเรื่องนี้ สถาบันการศึกษาจำเป็นจะต้องให้มีบริการหลายชนิด เพื่อสนองความต้องการของบุคคลและตลาดแรงงาน

          4. ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือสถาบันการศึกษาจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเพิ่มขนาดการผลิต โดยไม่ต้องเพิ่มทุนแลค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เป็นการทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง  เพราะการผลิตจำนวนมากทำให้ประหยัดโดยอาศัยขนาด

 จะเห็นว่า สถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยผลิตบริการการศึกษา จะต้องตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและหลักเศรษฐศาสตร์ เช่นเดียวกับหน่อยผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปโดยใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนองความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคำ

อุปสงค์ (Demand) หมายถึง ความต้องการสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคต้องการจะซื้อภายในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้า หรือบริการชนิดนั้น(ความต้องการซื้อ)

อุปทาน (Supply) หมายถึง ความต้องการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้ผลิตต้องการผลิตในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น(ความต้องการขาย)

*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น