วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับเศรษฐกิจ

หากมองว่าสังคมเป็นระบบใหญ่ การศึกษาและเศรษฐกิจจะเป็นระบบย่อย ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยความสามารถในทางการศึกษาและความสามารถในทางเศรษฐกิจจะมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกต่อกัน

สังคมใดที่มีเศรษฐกิจดี แสดงว่าระบบเศรษฐกิจในสังคมนั้นประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะก่อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วแน่นอนว่าจะช่วยให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย

ผลที่ได้จาการศึกษาเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพราะบุคคลผู้มีการศึกษาเหล่านั้นนอกจากจะเป็นกำลังแรงงานแล้ว ยังเป็นผู้ตัดสินใจในการนำปัจจัยการผลิตอื่นๆมาลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นผู้เลือกวิธีการในการดำเนินการทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาจะทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำหน้าที่สร้างทุนมนุษย์ของระบบเศรษฐกิจ

อาจกล่าวได้ว่า ในระบบเศรษฐกิจ มนุษย์มีความสำคัญที่สุด เนื่องจ ากในบรรดาปัจจัยผลิตทั้ง 4 ประการ อันประกอบด้วย ที่ดินและทรัยากรธรรมชาติ แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการนั้น มนุษย์เป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตถึง 2ใน 4 คือเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ

การศึกษาได้สร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เพื่อสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการอันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  จนกล่าวได้ว่าโครงการทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือขนาดเล้ก จะต้องมีการศึกษาสนับสนุนจึงจะประสบความสำเร็จ

ประเทศเปรู มีโครงการปฏิรูปการเกษตร แต่ในการทำโครงการต้องประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้เพราะโครงการเหล่านั้นไม่มีการศึกษาและการฝึกอบรมสนับสนุน

นอกจากนั้น มนุษย์ยังเป็นผู้สร้างอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าและบริการ ที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตขึ้นได้ และความต้องอันไม่จำกัดของมนุษย์นี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญ ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหาทางตอบสนองให้เพียงพอ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และให้ได้ผลผลิตสูงสุด

จะเห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากทุนทางกายภาพเท่านั้นแต่เกิดจากทุนมนุษย์ด้วย  ฉะนั้นในขณะที่มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังแรงงานควบคู่ไปด้วย

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีประเทศใดที่ประชากรอ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้ จะมีระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย และไม่มีประเทศใดที่ทำให้มีผลผลิตต่อหัวสูงด้วยแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ

นอกจานั้นยังพบว่า การศึกษามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะต่อไปนี้

          1. ช่วยเพิ่มผลผลิต การเพิ่มความชำนาญให้แก่แรงงาน จะช่วยให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นจึงมีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

          2. ช่วยลดต้นทุน การที่คนมีการศึกษาสูงขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ลดการกระทำผิด ลดความจำเป็นในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

          3. ช่วยยกระดับรายได้ การที่คนมีความรู้และทักษะในการผลิตสูงขึ้น จะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น  มีผลทำให้รายได้สูงขึ้น

          4. ช่วยเพิ่มสวัสดิภาพของประชาชน การที่คนมีรายได้สูงขึ้น มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม จะทำให้ประชาชนมีสวัดิภาพมากขึ้น

ะเห็นว่า ประสิทธิภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์  และประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการศึกษา และหากเกิดความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ย่อมสรุปได้ว่า เป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพของระบบการศึกษาเป็นสำคัญ การศึกษาและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจึงเป็นส่ิ่งสำคัญควบคู่กันไป และในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคม การศึกษาก็อาจทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงได้เช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                             การพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม  นำไปสู่ปัญหาการว่างงาน

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น